ThaiPublica > Sustainability > Contributor > บทบาทของซูเปอร์มาร์เกตในช่วงวิกฤติโควิด-19

บทบาทของซูเปอร์มาร์เกตในช่วงวิกฤติโควิด-19

20 มีนาคม 2020


รายงานโดย วีระพงษ์ ประภา ที่ปรึกษานโยบายอาวุโส ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน องค์การ Oxfam America
twitter @artprapha

ที่มาภาพ: AP Photo https://www.twincities.com/2020/03/17/us-life-with-covid-19-a-state-by-state-patchwork-of-rules/

บทบาทของซูเปอร์มาร์เกตในช่วงวิกฤติโควิด-19 ความท้าทายในการปรับตัว ทั้งความต้องการสินค้าของผู้บริโภค และแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่ต้องทำงานเผชิญความเสี่ยงทั้งจากการติดโรคและความไม่แน่นอนของการจ้างงานในอนาคตด้วย

โลกของเรากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติครั้งใหญ่จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ในอนาคตทำให้เกิดปรากฏการณ์ซื้ออาหารและสินค้าจำเป็นมาสำรองกักตุนไว้อย่างขนานใหญ่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซูเปอร์มาร์เกตทั่วโลกต่างเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤติไปพร้อมๆ กับผู้บริโภค ในภาวะวิกฤติแบบนี้ แน่นอนว่าการตอบสนองต่อความต้องการสินค้าของผู้บริโภคเป็นสิ่งจำเป็น แต่เราต้องไม่หลงลืมแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่ต้องทำงานเผชิญความเสี่ยงทั้งจากการติดโรคและความไม่แน่นอนของการจ้างงานในอนาคตด้วย ซูเปอร์มาร์เกตควรมีนโยบายอย่างไรต่อคนกลุ่มนี้?

บทความนี้ขอเปิดประเด็นตั้งคำถามและนำเสนอข้อคิดเห็นเพื่อเป็นจุดตั้งต้นของการสนทนาในประเด็นนี้ต่อไป

สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 และการปรับตัวของซูเปอร์มาร์เกต

ซูเปอร์มาร์เกตในหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ต่างมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันเรียกได้ว่าในช่วงข้ามคืน ซูเปอร์มาร์เกตในหลายประเทศมีมาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุ (ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส และเสี่ยงต่ออาการรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ในการออกมาซื้อของในซูเปอร์มาร์เกต โดยหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียจัดเวลาช่วงเช้าก่อนเปิดบริการปกติให้เฉพาะผู้สูงอายุเข้ามาซื้อสินค้าได้ก่อนบุคคลทั่วไป

ท่ามกลางภาวะวิกฤติที่ประชากรนับล้านต้องอยู่ที่บ้านไม่สามารถดำเนินชีวิตในที่สาธารณะได้ตามปกติ ซูเปอร์มาร์เกตและธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ เช่น Amazon เป็นสิ่งจำเป็นมาก ภาคธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ต่างพยายามรับมือและรีบหาสินค้า รวมไปถึงการจัดจ้างคนงานเพิ่มเติมเพื่อให้ทันต่อการจัดแพ็คสินค้าและนำส่งสินค้าสู่ผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม วิธีการตอบสนองต่อความต้องการสินค้ามีผลต่อแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของซูเปอร์มาร์เกตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซูเปอร์มาร์เกตและธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่าไปกว่าการรีบจัดหาสินค้าให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค (ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของซูเปอร์มาร์เกตอยู่แล้ว) ความรับผิดชอบของซูเปอร์มาร์เกตต่อลูกจ้างแรงงานและต่อสังคมแบ่งออกได้ 3 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้

ที่มาภาพ : https://www.zdnet.com/article/amazon-to-hire-100000-employees-to-cope-with-covid-19-demand/

ประการแรก การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นไม่ได้หมายความว่างานเหล่านี้จะเป็นงานที่ดีและมั่นคงต่อลูกจ้าง ตัวอย่างเช่น Amazon ประกาศวางแผนจ้างแรงงานใหม่หนึ่งแสนคนเพื่อจัดส่งสินค้าตามบ้าน อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็น Amazon ออกมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงของลูกจ้างที่จะติดเชื้อไวรัสจากการทำงานและลูกค้า ทั้งๆ ที่คนส่งของเหล่านี้ต้องพบปะและมีโอกาสสัมผัสร่างกายกับผู้คนเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน (เช่น การยื่นถุงของ การจับลูกบิดประตูราวบันได การให้ลูกค้าเซ็นชื่อด้วยมือผ่านทางโทรศัพท์มือถือขอคนส่งของ) ความเสี่ยงในการทำงานของแรงงานเหล่านี้มีไม่น้อย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทจะมีมาตรการที่ช่วยลดความเสี่ยงนี้ รวมทั้งให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับการต้องทำงานในภาวะเสี่ยงสูงทั้งต่อตนเองและครอบครัว และที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ตักตวงหาผลประโยชน์จากสภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่อาจกดดันให้คนจำนวนมากยอมทำงานที่เสี่ยงเพื่อความอยู่รอด

นอกจากนี้ ในช่วงหลังการระบาดคลี่คลายลงแล้ว ซูเปอร์มาร์เกตควรหาหนทางให้แรงงานเหล่านี้ได้มีงานทำต่อหรือช่วยเหลือหาหนทางเปลี่ยนถ่ายงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเลิกจ้างฉับพลัน เมื่อเร็วๆ นี้ เครือภาพยนตร์ Major Group ซึ่งต้องปิดทำการชั่วคราวใช้วิธีการปลดคนงานพาร์ทไทม์ทันทีรวมทั้งลดเงินเดือนพนักงานประจำจำนวนมาก กรณีนี้แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับซูเปอร์มาร์เกตโดยตรง แต่ก็เป็นเครื่องชี้ที่ดีว่า

แรงงานมักจะเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจขนาดใหญ่ โดยที่แรงงานเหล่านี้มีอำนาจในการต่อรองน้อยมาก ในกรณีของซูเปอร์มาร์เกตก็เช่นกัน ความมั่นคงในงานหลังภาวะวิกฤติผ่านพ้นไปแล้วเป็นประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะการให้ออกจ้างงานแบบไม่ทันตั้งตัวหรือลดค่าจ้างในขนาดที่มากจะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมเป็นอย่างสูง

ประการที่สอง ซูเปอร์มาร์เกตต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อแรงงานและผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก ซูเปอร์มาร์เกตทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมหาศาลจากประเทศผู้ผลิต เช่น ไทย อินเดีย บราซิล และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา แรงงานและเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตอาหารเหล่านี้ต่างเผชิญกับความเสี่ยงต่อวิกฤติไวรัสไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ ที่สำคัญไปกว่านั้น พวกเขายังต้องดำเนินชีวิตเพื่อหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากแรงงานและเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ มักมีฐานะยากจน และอาศัยอยู่ในประเทศที่รัฐบาลไม่สามารถให้เงินสนับสนุนได้หากขาดรายได้

ซูเปอร์มาร์เกตควรรีบเร่งหารือกับผู้ค้าในประเทศเหล่านี้ เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันวิกฤติและหาทางช่วยเหลือป้องกันไม่ให้แรงงานและเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงจากการติดเชื้อระหว่างการทำงาน เราต้องไม่ลืมว่า หากพวกเขาไม่สามารถทำงานและผลิตอาหารส่งขายยังประเทศอื่นๆ ได้แล้ว โลกจะพบกับสภาวะขาดแคลนอาหารได้ในทันที ซึ่งที่ผ่านมาซูเปอร์มาร์เกตในฐานะผู้ซื้อยังมีระบบในการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ไม่เพียงพอ

ประการที่สาม ผู้เขียนขอเสนอให้ซูเปอร์มาร์เกตวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมของโควิด-19 ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจตนเองและมีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม ซูเปอร์มาร์เกตในฐานะผู้ซื้อมีอำนาจอย่างมากต่อพฤติกรรมของคู่ค้ารายย่อยที่ขายสินค้าให้ซูเปอร์มาร์เกต หากซูเปอร์มาร์เกตแสดงให้เห็นว่าตนจริงจังกับผลกระทบต่อสังคมไม่ว่าจะเป็นรายได้ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้างในธุรกิจของตน รวมไปถึงถึงแรงงานและเกษตรกรรายย่อยในห่วงโซ่อุปทาน จะเป็นแรงผลักดันให้คู่ค้ารายย่อยดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมเช่นกัน ผู้บริโภคและนักลงทุนก็จะสบายใจได้ว่าการซื้อสินค้าและการลงทุนในซูเปอร์มาร์เกตไม่ได้เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และไม่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระยะยาว

ภาวะวิกฤติโควิด-19 นอกจากจะเป็นวิกฤติทางด้านสุขภาพระดับโลกแล้ว ยังเผยให้เราเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทานอาหารทั้งในระดับประเทศและระดับสากล การพัฒนาทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ดำเนินธุรกิจอย่างไม่ยั่งยืน มีโครงการ CSR เพียงเพื่อต้องการสื่อสารโฆษณาทางสังคมเท่านั้น ภาวะวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสที่คงไม่เกิดขึ้นบ่อยนักที่ภาคเอกชนขนาดใหญ่อย่างซูเปอร์มาร์เกตไทยและสากลจะได้ทบทวนนำผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ยังไม่มีใครรู้ว่าโลกหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน แต่แน่นอนว่าธุรกิจสามารถมีบทบาทร่วมสร้างแบบแผนทางธุรกิจแบบใหม่ไปพร้อมๆ กับผู้บริโภค แรงงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน