ThaiPublica > Sustainability > CSR Movement > ฟอร์บส์ รวบรวม “พลังการให้” ของมหาเศรษฐีโลก รวมใจสู้วิกฤติโควิด-19(ตอน1)

ฟอร์บส์ รวบรวม “พลังการให้” ของมหาเศรษฐีโลก รวมใจสู้วิกฤติโควิด-19(ตอน1)

3 เมษายน 2020


ล่าสุดฟอร์บส์ จัดอันดับเศรษฐีไทยปีล่าสุดออกมาแล้ว ผลปรากฏว่า ทรัพย์สินรวมของ 50 เศรษฐีไทย ลดลงกว่า 28,000 ล้านเหรียญ หรือลดลงประมาณ 9.34 แสนล้านบาท เรียกได้ว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ก็ได้รับผลกระทบขนาดหนักจากสงครามการค้า และวิกฤตโควิด

อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤติ จะตามมาด้วยการร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤติใหญ่ครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์โลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา กระทบทั้งธุรกิจใหญ่ กลาง เล็ก จนหลายแห่งปิดกิจการ กระทบคนทุกระดับตั้งแต่หาเช้ากินค่ำ ไม่ว่ารวย หรือจน

แต่ปรากฏการณ์ “การให้” เป็นพลังสำคัญที่แต่ละภาคส่วนทำได้ ทั้งโลกจึงได้เห็นพลังอันยิ่งใหญ่ ด้วยศักยภาพของบรรดาธุรกิจทุกภาคส่วนทั่วโลก ที่พร้อมใจกันหยิบยื่นความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ทั้งการบริจาคเงิน อุปกรณ์ สถานที่พักพิง การผลิต การช่วยคิดค้นนวตกรรมที่หลากหลายเพื่อรับมือกับโควิด-19 อย่างเร่งด่วนจนกลายเป็นพลังร่วมสำคัญของแต่ละประเทศในการต่อสู้วิกฤตโควิด-19

รายงานว่าล่าสุดเว็บไซต์ FORBES.COM ได้เผยแพร่บทความ Billionaire Tracker: Actions The World’s Wealthiest Are Taking In Response To The Coronavirus Pandemic โดยนำเสนอให้เห็นว่าบรรดามหาเศรษฐีชั้นนำได้เข้ามาช่วยโลกรับมือวิกฤตโควิด-19 และพยุงเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน

บิลล์ เกตส์

มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีของโลกอย่าง “บิลล์ เกตส์” ที่เคยออกมาเตือนถึงโรคระบาดครั้งใหญ่ได้บริจาคเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยสนับสนุนการผลิตวัคซีนและวินิจฉัยโรค เช่นเดียวกับมหาเศรษฐีทุกวงการในสหรัฐฯ และทั่วโลก ซึ่งฟอร์บส์ได้รวบรวมมาว่ามหาเศรษฐีชั้นนำทั่วโลกได้ออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างไรบ้างในยามวิกฤตนี้ มีตั้งแต่การบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ถุงมือยาง เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือวินิจฉัยและตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไปจนถึงปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตสินค้ามาร่วมเดินเครื่องจักรผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนอย่างเร่งด่วนแทน อาทิ กลุ่มธุรกิจแบรนด์แฟชั่นดัง LVMH , กลุ่มธุรกิจยานยนต์ Ford และบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง GE และอีกหลายธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต่างกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัสกันอย่างเร่งด่วน

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

สำหรับคนไทยฟอร์บส์ รายงานว่านายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ได้เปิดตัวโครงการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสังคมจากวิกฤตโควิด-19 หลายโครงการและถือเป็นแนวคิดริเริ่มครั้งแรกไม่ว่าจะเป็น การทุ่มงบประมาณสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีให้ทุกคน โดยตั้งเป้าจะเร่งผลิตให้ได้วันละ 100,000 ชิ้น หรือเดือนละ 3 ล้านชิ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะเดียวกันได้มอบชุดป้องกันการติดเชื้อเพื่อแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาล ตลอดจนมีโครงการจัดส่งอาหารฟรีให้บุคลากรโรงพยาบาลรัฐกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักบริเวณ รวมทั้งการประกาศว่าจะไม่มีการขึ้นราคาสินค้าในสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ นอกจากนี้ได้มีการรวบรวมโครงการเพื่อสังคมที่กลุ่มซีพีได้ดำเนินการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมากว่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินบริจาคเงินและอาหารยามวิกฤติน้ำท่วม ทุนการศึกษา โครงการผิงกู่ และการลงทุนให้สังคมด้านการศึกษา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ฟอร์บส์ได้รวบรวมและรายงานกลุ่มธุรกิจมหาเศรษฐีชั้นแนวหน้าของโลกที่ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังเพื่อร่วมกู้วิกฤตโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรมจำนวนเกือบร้อยคน นอกจาก “บิลล์ เกตส์” แล้วยังมี “แจ็ก หม่า” ผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักร Alibaba ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบเงิน 14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และเขายังบริจาคชุดทดสอบโรค 500,000 ชุด หน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้นให้กับประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้ส่งเวชภัณฑ์และชุดทดสอบโรคไปยังอิตาลี และประเทศอื่น ๆ ทั่วแอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชีย และล่าสุดได้จัดตั้ง Global MediXchange สำหรับการรวมองค์ความรู้โควิด-19 เพื่อแบ่งปันข้อมูลกับแพทย์ทั่วโลก ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างการแพร่ระบาด

ขณะที่เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่ง LVMH เจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ได้แปลงโรงงานผลิตน้ำหอมสามแห่งมาผลิตเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคแจกจ่ายให้กับหน่วยงานของฝรั่งเศสและระบบโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปฟรี ทั้งยังจัดหาหน้ากากอนามัยอย่างน้อย 40 ล้านชิ้นให้กับฝรั่งเศสโดยจ่ายเงินประมาณ 5.4 ล้านดอลลาร์ (5 ล้านยูโร) สำหรับการจัดส่งในสัปดาห์แรก

เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่ง LVMH ที่มาภาพ: https://www.forbes.com/sites/hayleycuccinello/2020/03/17/billionaire-tracker-covid-19/#85237757e697

ส่วนเฟซบุ๊ก “มาร์ค ซักเคอเบิร์ก” ได้นำมูลนิธิของเขาทำงานร่วมกับ UC San Francisco และ Stanford University เพื่อเร่งวินิจฉัยโรค ตลอดจนซื้อเครื่องตรวจวินิจฉัยที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA นอกจากนี้ยังประกาศมอบเงิน 100 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ และได้บริจาคเงิน 20 ล้านดอลลาร์ให้กับสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ขณะเดียวกันยังประกาศจะบริจาคเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อซื้อหน้ากากจำนวน 720,000 ชิ้น ให้กับเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ และจะทำงานเพื่อหาแหล่งบริจาคอีกนับล้านต่อไป

ขณะที่ “เจฟฟ์ เบโซส” เจ้าของแอมาซอน ลงทุนจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการ AWS Diagnostic Development Initiative เพื่อสร้างชุดการทดสอบโควิด-19 รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการจ้างงานเต็มเวลาและพาร์ทไทม์ 100,000 ตำแหน่งทั่วสหรัฐอเมริกา ตลอดจนเพิ่มค่าจ้างรายชั่วโมงในอเมริกาและทั่วโลก โดยแอมาซอนยังบริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนฉุกเฉินโควิด-19 ในวอชิงตัน ดี.ซี. และสร้างกองทุนบรรเทาทุกข์ 5 ล้านดอลลาร์สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และบริจาค 1 ล้านดอลลาร์ให้กับมูลนิธิซีแอตเทิลใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสระบาดด้วย

ด้าน “ลี กา-ชิง” นักลงทุนผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในเอเชียบริจาคเงิน 13 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือเมืองอู่ฮั่น เป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโรค ขณะเดียวกันมูลนิธิของเขายังได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยจำนวน 250,000 ชิ้น ให้กับองค์กรสวัสดิการสังคมและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในฮ่องกง

ตระกูลวอลตัน เจ้าของกิจการห้างวอลมาร์ท ประกอบด้วยอลิซ แอนน์ คริสตี้ จิม ลูคัส และร็อบ ได้ประกาศในวันที่ 23 มีนาคมว่าจะเพิ่มค่าจ้างรายชั่วโมงให้กับพนักงานที่คลังสินค้าอีก 2 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ก่อนหน้านี้วอล์มาร์ทได้ประกาศจัดสรรเงิน 550 ล้านดอลลาร์ให้กับพนักงานที่ทำงานรายชั่วโมงและจ้างงานเพิ่มชั่วคราวอีก 150,000 ตำแหน่ง วอล์มาร์ทและมูลนิธิของบริษัทยังได้บริจาคเงิน 25 ล้านดอลลาร์ โดยที่ 10 ล้านดอลลาร์ให้กับธนาคารอาหาร โครงการอาหารโรงเรียน และองค์กรการกุศลอื่นที่ช่วยเหลือด้านอาหารแก่กลุ่มคนเปราะบาง บริษัทยังได้ยกเว้นค่าเช่าพื้นที่แก่ร้านค้าที่เปิดในพื้นที่ของห้าง เช่น ร้านทำเล็บร้านตัดผม และแฟรนไชส์ร้านอาหารสำหรับค่าเช้าเดือนเมษายน

ทาดาชิ ยานาอิ และครอบครัว เจ้าของบริษัทฟาสตรีเทลลิ่ง บริษัทแม่ของยูนิโคลและธีออรี บริจาคหน้ากากอนามัย 10 ล้านชิ้นให้กับถาบันแพทย์ในญี่ปุ่นและต่างประเทศ โดย 1.05 ล้านชิ้นมอบให้กับโรงพยาบาลในยิวยอร์ก

อิริก หยวน ผู้ก่อตั้งซูม วิดีโอ เทคโนโลยีส์ แอปพลิเคชันประชุมทางไกล ได้เปิดให้ใช้ซอฟต์แวร์ฟรีอย่างไม่จำกัดสำหรับโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งใน จีน ญี่ปุ่น อิตาลี และสหรัฐฯ

โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีรัสเซีย เจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซีในอังกฤษ จะออกค่าใช้จ่ายให้กับบุคลลากรทางการแพทย์ที่พักอยู่ที่โรงแรมสแตมป์ฟอร์ด บริดจ์ มิลเลนเนียม ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลเวสมินเตอร์

จิโอจีโอ อาร์มานี แห่งอาร์มานีกรุ๊ป เป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆที่ใช้มาตรการสกัดการระบาดของไวรัส ด้วยการตัดสินจัดงานแฟชั่นโชว์มิลานแฟชั่นวีค ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ แบบปิด ในวันที่ 26 มีนาคม อาร์มานีกรุ๊ปได้ปรับโรงงานผลิตในอิตาลีให้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียว อาร์มานีได้บริจาคเงิน 2 ล้านยูโรหรือ 2.2 ล้านดอลลาร์ ให้กับโรงพยาบาล ในมิลาน โรม เบอร์กาโม และแวร์ซิลลา และหน่วยงานป้องกัน

ซิลวีโอ แบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีสามสมัยของอิตาลีและปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาสหภายุโรป ได้บริจาค 10.7 ล้านดอลลาร์ หรือ 10 ล้านยูโร ให้กับแคว้นลอมบาเดียร์ เพื่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ในพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าเฟียร่า มิลาโนที่มิลาน

ปาตริซิโอ แบร์เต็ลลี่ กับ มิอัซก้า ปราดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของปราดา ประกาศวันที่ 19 มีนาคมจะบริจาค ห้องไอซียู 2 ห้องแก่ วิตตอเร บุซซี่ เมืองซัคโค และโรงพยาบาลซาน ราฟาเอล ที่มิลานแ่หงละ 1 ห้อง

Miuccia Prada แห่งปราดา ที่มาภาพ: https://www.forbes.com/sites/hayleycuccinello/2020/03/17/billionaire-tracker-covid-19/#85237757e697

ฟร็องซัวส์ เบตเต็นคอร์ต เมเยอร์ และครอบครัว แห่งลอรีอัลที่ก่อตั้งในรุ่นปู่ ได้บริจาคเงิน 1 ล้านยูโรหรือ 1.1 ล้านดอลลาร์ ให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไรทั่วยุโรป โดยจำนวน 260,000 ดอลลาร์มอบให้กับองค์กรด้านบรรเทาความอดอยากฟีดดี้งอเมริกา(Feeding America) และ 720,000 ดอลลาร์เพื่อร่วมเยียวยาผลกระทบในจีน รวมทั้งได้เริ่มผลิตเจลล้างมือ ในยุโรปละอเมริกาเหนือ เพื่อแจกฟรีให้กับพนักงาน พันธมิตรและบุคคลากรด้านสาธารณสุข ลอรีอัลยังได้มอบหน้ากากอนามัย N95 ให้โรงพยาบาลใกล้โรงงานใน นอร์ท ลิตเตติล ร็อค อาร์คันซอ และแฟรงกลิน นิวเจอร์ซีย์ และระงับการรับเงินจากธุรกิจขนาดเล็กในเครือจัดจำหน่ายของบริษัท เช่น ร้านเสริมสวย จนกว่าธุรกิจจะกลับมาดำเนินการตามปกติ

แมสซิมิเลียนา ลันดินี อาเลอ็อตติ กับลูกอีกสามคนซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจยาที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี ประกาศเมื่อวันที่ 19 มีนาคมว่าจะปรับไลน์การผลิตที่โรงงานในฟลอเรนซ์ให้เป็นเจลฆ่าเชื้อ และจะแจกฟรีแก่หน่วยงานที่ดูแลประชาชน

อานิล อการ์วัล มหาเศรษฐกิจอินเดีย เจ้าของธุรกิจเหล็กและเหมืองภายใต้ในชื่อ เวดานตา รีซอร์สเซส ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอนได้มอบเงิน 13.1 ล้านดอลลาร์เพื่อการต่อสู้กับไวรัส

อนิล อการ์วัล มหาเศรษฐกิจอินเดีย ที่มาภาพ: https://www.vedantaresources.com/Pages/Home.aspx

มูเกซ อัมบานี มหาเศรษฐีอินเดียอีกราย มูลนิธิการกุศลของธุรกิจน้ำมันและก๊าซ บริษัทรีไลอันซ์ อินดัสตรีส์ ได้ก่อตั้งศูนย์โควิด-19 แห่งแรกในอินเดียมีจำนวน 100 เตียงที่โรงพยาบาลเซเว่น ฮิลล์ ในมุมไบ

อนันต์ มหินทรา ทางยาทรุ่นสามของมหินทราแอนด์ มหินทรา ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 22 มีนาคมว่า บริษัทจะเริ่มผลิตเครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งเสนอให้ใช้รีสอร์ตของบริษัทเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว และเขาจะบริจาคเงินเดือนเพื่อตั้งกองทุนสำหรับธุรกิจขนาดย่อมและของผู้มีอาชีพอิสระ

เชลดอน อเดลสัน เจ้าของธุรกิจคาสิโน ลาสเวกัส แซนด์ คอร์ป ได้ปิดคาสิโน เวเนเชียนและพาลาซโซ่ ไปจนถึงวันที่ 1 เมษายน และประกาศว่าจะไม่ปลดพนักงาน หรือลดคน และจะจ่ายให้กับพนักงานทุกคนในช่วงที่ปิดชั่วคราว

ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของสหรัฐที่นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีคนแรกได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติวันที่ 13 มีนาคม หลังจากที่ออกมาย้ำหลายครั้งว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่รุนแรงและดำเนินการล่าช้ากว่าจะออกคำสั่งให้ทดสอบหาการติดเชื้อ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังปฏิเสธที่จะรับผิดชอบใด ๆ สำหรับการทดสอบที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเขาได้ปลดพนักงานที่ทำงานกับโรงแรมของเขาที่นิวยอร์ก ลาสเวกัส และวอชิงตัน ดี.ซี. วันที่ 23 มีนาคม รวมทั้งยังจะเสนอให้ผ่อนคลายข้อห้ามเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาดำเนินการตามปกติภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แทนที่จะเป็น 3-4 เดือนตามที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขแนะนำเพื่อรักษาชีวตของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อ่านต่อตอนที่ 2