ThaiPublica > Sustainability > CSR Movement > สำรวจ “นวัตกรรมฉุกเฉิน” สู้วิกฤติโควิด-19 ของภาคธุรกิจ รับมือระบาดระยะ 3

สำรวจ “นวัตกรรมฉุกเฉิน” สู้วิกฤติโควิด-19 ของภาคธุรกิจ รับมือระบาดระยะ 3

2 เมษายน 2020


นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เยี่ยมชมการทำงานของเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา ณ ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา

สัปดาห์เดียวกับการประกาศตัวของโคคา โคลา ประเทศไทย ในการ “ขอหยุดโฆษณาชั่วคราว” ผ่านทางโซเชียล มีเดีย อย่างเป็นทางการของโคคา โคลา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563  เพื่อนำงบประมาณไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในการสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

เอสซีจี ได้ประกาศมอบนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ประกอบด้วยห้องคัดกรองผู้ป่วย ชุดอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกล 70 ชุดและอุปกรณ์ทางการแพทย์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด ให้กับ 7 โรงพยาบาลมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และเพื่อรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสและผู้เสี่ยงติดเชื้อที่มีจำนวนมากขึ้น

เดินหน้าลุยหา-สร้างนวัตกรรมการแพทย์

ก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ศิริราช ปตท. ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาชุดตรวจไวรัสโควิด-19 ที่ต้นทุนไม่ถึง 500 บาทต่อชุดและได้ผลรู้เร็วเหมือนการตรวจหญิงตั้งครรถ์ที่จะสามารถรู้ผลตรวจภายใน 30-45 นาที ขณะที่ปัจจุบันกว่าจะรู้ผลใช้เวลา 30-45 วัน และเป็นคณะแรกๆ ในโลกที่ทำสำเร็จ ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการทดสอบทางคลินิก และหากได้รับการยืนยันการทดสอบ จะสามารถผลิตชุดตรวจได้วันละ 100,000 ชุดต่อเดือน สถาบันวิทยาสิริเมธีระบุว่า ชุดตรวจนี้ เมื่อผลิตได้เป็นจำนวนมากจะช่วยให้คนไทยรับมือกับการระบาดของไวรัสระยะที่ 3 ได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีราคาถูกมาก ใช้เวลาตรวจสั้น มีความเร็วสูงและผลิตได้เองภายในประเทศ

ล่าสุดเช้าวันนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) ได้ส่งมอบ “เครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19” ที่เกิดจาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 15 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา เครื่องแรกในไทยมูลค่า 15 ล้านบาท ที่จะช่วยตรวจวิเคราะห์เชื้อได้คราวละมากๆ และเป็นระบบอัตโนมัติลดความเสี่ยงบุคลากรแพทย์จากการติดเชื้อ

ดร. นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ยิ่งเราทราบหรือวินิจฉัยผู้ติดเชื้อได้เร็วเท่าใดยิ่งดี จะทำให้เกิดการป้องกันได้เร็ว ลดการแพร่เชื้อ ลดการแพร่ระบาดได้อีกทางหนึ่ง”

โดย “เครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19” นี้เพิ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็นเครื่องมือที่สามารถตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19  ได้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 เครื่องตรวจฯ ดังกล่าว ใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์แบบ real-time PCR ซึ่งเป็นเทคนิคมาตรฐาน ที่รองรับการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถึงวันละ 1,440 ราย ช่วยลดระยะเวลาการวินิจฉัยโรค มีความแม่นยำในการประเมินผลสูงถึง 99.8% และด้วยระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ จึงช่วยลดการปนเปื้อนและความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

“ทางทีม TCP มีความพยายามประสานงานที่จะเจรจาซื้อและติดตั้งเครื่องให้ได้ในเวลาที่เร็วที่สุด ซึ่งไม่ง่ายเพราะในเวลาเดียวกันกับที่เราต้องการซื้อและติดตั้งเครื่อง มีความต้องการเช่นเดียวกันจากประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาด” แหล่งข่าวกล่าว

ประเทศไทยในวันที่เข้าใกล้ระยะ 3

ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่เดือนที่ 3  หลังจากประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ปัจจุบัน (1 เมษายน 2563)  มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 120 คน มีผู้ป่วยสะสม 1,771 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,343 ราย และเสียชีวิต 12 ราย มีจังหวัดที่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว 62 จังหวัด การระบาดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นและขยายพื้นที่กว้างขึ้น ทำให้โจทย์ของการสนับสนุนการระบาดจากภาคส่วนต่างๆ มีโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นายอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้ง Socialgiver แพลตฟอร์มการให้เพื่อสังคมในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการให้ กล่าวกับ “ไทยพับลิก้า” ว่า ตอนนี้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้รับมือการระบาดไวรัสโควิด-19 หลายอย่างขาดแคลน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มการขาดแคลนขึ้น ทั้งในแง่ของอุปกรณ์ป้องกัน รวมไปถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง และต้องใช้เพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป เช่น เครื่องช่วยหายใจ

“ชุดป้องกันเชื้อโรค PPE ก็โอเวอร์ดีมานด์มากๆ ในหลายประเทศ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Socialgiver ก็ระดมทุนเพื่อรับบริจาคชุด PPE ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด แต่การสั่งซื้อในประเทศทำได้ยาก จึงพยายามจะนำเข้าชุด PPE จากต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเพิ่มซัพพลายในประเทศ แต่ไม่ง่ายนักสำหรับการดำเนินการในขณะนี้”

“การที่มีความต้องการพร้อมๆ กันทั่วโลกทำให้อุปกรณ์หลายอย่างขาดแคลนมาก ซัพพลายของหมดและราคาขึ้นพร้อมกันทั่วทั้งโลก ตอนนี้หลายประเทศจึงมีทั้งภาคเอกชน ที่ออกมาสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์เอง รวมทั้งมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อรับมือการระบาดในระยะถัดไป อย่างการสร้างเครื่องช่วยหายใจ ที่ในออสเตรเลีย หน่วยงานสาธารณสุขที่นั่น ร่วมมือกับบริษัทรถยนต์เพื่อผลิตสิ่งนี้” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วันนี้ได้เห็นความพยายามในการร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การรับมือการระบาดที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต อย่างความเคลื่อนไหวของ ปตท. และพีทีทีจีซี ได้ร่วมกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาลในการพัฒนาหมวกและชุมคลุมอัดอากาศความดันบวก PARR (powerd air-purify respirator) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับสูง และเป็นอุปกรณ์ที่ขาดแคลนมากที่สุดของแพทย์ทางเดินหายใจและวิสัญญีแพทย์ในห้องปฏิบัติการกับผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง ปัจจุบันมีเพียง 40 ชุดทั่วประเทศ โดยจะสามารถผลิตและส่งมอบได้ 500 ชุดภายในเดือนเมษายน

ขณะที่ในไลน์ผลิตในโรงงานของหลายบริษัทในประเทศไทย ได้เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าปกติ มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ของแบรนด์นีเวียในประเทศไทย การเปลี่ยนผลิตหน้ากากผ้าอนามัยของแบรนด์วาโก้ ฯลฯ

จากความเข้าใจปัญหาสู่การพัฒนานวัตกรรมอย่างตอบโจทย์

ห้องตรวจหาเชื้อ (modular swab unit) จะแยกคนไข้มาอยู่ในห้องปรับความดันอากาศ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจาย พร้อมใช้แสงยูวีเข้มข้นสูง ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของการสร้างเปลี่ยนแปลงระดับที่นำไปสู่การนวัตกรรมใหม่ๆ ในธุรกิจ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์ นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เล่าว่า “เราใช้เวลาลงไปคุยกับแพทย์และดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหน” และเป็นที่มาของการพัฒนาห้องคัดกรองผู้ป่วย ห้องตรวจหาเชื้อของเอสซีจี ที่แต่ละห้องใช้เวลาติดตั้งเพียง 2 วัน

ห้องคัดกรองผู้ป่วย (modular screening unit)  นวัตกรรมของเอสซีจี ห้องแรกพึ่งติดตั้งแล้วเสร็จที่โรงพยาบาลราชวิถีไปเมื่อวานนี้ ห้องดังกล่าวพัฒนามาจากนวัตกรรมของ SCG HEIM และ Living Solution พัฒนามาเป็นห้องคัดกรองและตรวจผู้เสี่ยงติดโควิด-19  จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของแพทย์และสามารถรับมือกับการระบาดของโรคที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยห้องคัดกรองจะมีระบบป้องกันไวรัส มีประตู 2 ชั้น ป้องกันอากาศด้านนอกเข้ามาปนเปื้อนด้านใน มีระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม มีการแยกพื้นที่ของทีมแพทย์ออกจากพื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ การแยกพื้นที่ห้องคัดกรอง โดยทีมแพทย์จะแยกอยู่ในห้องอีกห้องหนึ่งในห้อง positive pressure คนไข้จะนั่งอยู่ในห้องอีกห้องหนึ่งที่เป็นห้อง semi-negative pressure ที่มีการเพิ่ม UV เพื่อช่วยฆ่าไวรัส

  • มูลนิธิเอสซีจี มอบนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ให้ 7 โรงพยาบาล
  • ติดเกราะให้หมอ เสริมความปลอดภัยคนไข้ สู้โควิด-19 ด้วย Tele-Monitoring
  • ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มอบ “อุปกรณ์ป้องกันเชื้อฟุ้งกระจาย” 9 รพ.ในระยอง
  • พลังไทยสู้วิกฤติ Covid-19
  • “หลังจากที่ทีมงานได้ศึกษาความต้องการและสังเกตการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล ที่โรงพยาบาล ทำให้สามารถพัฒนาห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง ที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด กล่าวคือ นอกจากโครงสร้างกว่าร้อยละ 70-80 จะถูกประกอบขึ้นรูปภายในโรงงาน ที่มีการควบคุมคุณภาพและความสะอาดตลอดกระบวนการผลิตแล้ว ภายในห้องยังถูกออกแบบให้มีระบบและความดันที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องที่ป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์” วชิระชัยกล่าว

    จากการบริจาคสู่การสร้างนวัตกรรมของธุรกิจ

    จากความเคลื่อนไหวในการสนับสนุนการสู้วิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาของธุรกิจ นายอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SBDi) มองว่า การบริจาคยังเป็นสิ่งสำคัญของภาคธุรกิจในการสนับสนุนสังคมในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ระบบและโครงสร้างไม่เพียงพอและไม่สามารถทำได้ทันต่อความต้องการ ถือเป็นการช่วยเหลือเพื่อทำให้สังคมไม่ล่มสลายได้เป็นอย่างดีที่สุด ดังนั้น “การบริจาค” จะไม่มีวันหายไป เพียงแต่ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าของวิกฤติการระบาดโควิด-19 ในระยะต่อไป   คือการตอบสนองความต้องการของสังคมด้วยความสามารถหลักที่องค์กรมีอยู่ ซึ่งคำว่า ความสามารถนี้หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน ความรู้ บุคลากร ฯลฯ ตามแนวคิด “การให้อย่างมีกลยุทธ์” หรือ “strategic philanthropy” ซึ่งจะนำไปสู่จุดของการที่เราเห็นบริษัทต่างๆ พัฒนานวัตกรรมใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ ทั้งการปรับจากนวัตกรรมที่มีอยู่เดิมหรือการสร้างนวัตกรรมขึ้นใหม่

    Strategic Philanthropy model, Bianchi, 2016

    “สิ่งต่างๆ ที่บริษัทมีอาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการในภาวะวิกฤติแต่เหตุการณ์นี้เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้หลายบริษัทถ้าต้องการตอบสนองความต้องการต่างต้องพยายามใช้ความสามารถของตัวเองสร้างนวัตกรรมใหม่จาก เช่น การใช้วัตถุดิบ (Wacoal ผลิตหน้ากาก) ปรับผลิตภัณฑ์ใหม่ (Nivea ผลิตเจลล้างมือ) สร้างความร่วมมือ (Tesla และ GM ผลิตหน้ากากและเครื่องช่วยหายใจ) ฯลฯ” นายอนันตชัยกล่าว

    หน้ากากอนามัย Wacoal

    ทั้งนี้การปรับตัวของธุรกิจในเรื่องนวัตกรรมในภาวะวิกฤติสอดคล้องกับสิ่งที่ “ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว” เคยสำรวจบริษัททั่วโลกและพบว่า บริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ที่จะมีความสามารถทางการเงินจะดีขึ้นได้ต้องมีความสัมพันธ์กับการสร้างนวัตกรรมเท่านั้น สิ่งที่เราเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้จะตอบความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต

    อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน เขาเสนอว่า หลังจากนี้เราคงได้เห็นแนวทางการบริหารจัดการที่หลายธุรกิจคงต้องมองหาการปรับเปลี่ยนเพื่อฟื้นฟูจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

    นักวิชาการด้านความยั่งยืนของไทยเสนอว่า  ในระยะยาวนอกจากความช่วยเหลือที่ทำอยู่ ภาคเอกชนสามารถสร้างความร่วมมือโดยใช้แนวทาง collective impact ในการบูรณาการแพลตฟอร์มความร่วมมือในการร่วมกันวางแผน ซึ่งเป็น “การทำในสิ่งที่แตกต่างแต่อยู่บนเป้าหมายรวมเดียวกัน”  เพื่อสนับสนุนให้การแก้ปัญหาในมิติต่างๆ ประสบความสำเร็จ ทั้งเป้าหมายทางสังคม ด้านสุขภาพ  เป้าหมายทางเศรษฐกิจ จากการแก้ปัญหา คนตกงาน รวมถึงเป้าหมายสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะติดเชื้อ ฯลฯ ได้สำเร็จ เพราะจากนี้ไปยังมีผลกระทบที่จะตามมาอีกมากที่ต้องใช้ทรัพยากรที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการแก้ปัญหา