ThaiPublica > คนในข่าว > “ผอ.สำนักงบฯ” แจงทุกปมร้อน งบสู้วิกฤติโควิด-19 รัฐควักจาก “กระเป๋า”ไหนบ้าง!!

“ผอ.สำนักงบฯ” แจงทุกปมร้อน งบสู้วิกฤติโควิด-19 รัฐควักจาก “กระเป๋า”ไหนบ้าง!!

22 เมษายน 2020


นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “งบประมาณที่รัฐบาลจะนำมาจ่ายเป็นเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนนั้น ตอนนี้มีเงินเหลือพร้อมที่จะจ่ายได้แค่เดือนเดียว ที่เหลือต้องรอ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท” ถูกจับมาขยายผลจนกลายมาเป็นประเด็น “รัฐบาลถังแตก” แล้วเชื่อมโยงไปถึงแฮชแท็กร้อนๆ #รัฐบาลขอทาน จากประเด็นจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีไทยช่วยวิกฤติโควิด-19

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รัฐบาลถังแตกจริงหรือไม่ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำประเด็นนี้ไปสอบถามนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ในฐานะกระเป๋าเงินของรัฐ พร้อมอธิบายถึงกระบวนการหาเงินในภาวะฉุกเฉิน เร่งด่วน รัฐบาลมีช่องทางอย่างไร ต้องปลดล็อกกฏระเบียบอะไรบ้าง

รัฐบาลถังแตกจริงหรือ?

เริ่มจาก รัฐบาลถังแตกจริงหรือ? นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า “เป็นคนละเรื่องกันเลย การจัดเก็บรายได้นั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องพยายามจัดเก็บให้ได้ตามประมาณการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายได้อื่นๆ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562-กุมภาพันธ์ 2563) นั้นเก็บได้เกินเป้าหมายเล็กน้อย ส่วนครึ่งปีหลังนั้นคงต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง”

แหล่งเงินที่รัฐบาลนำมาจ่ายเป็นเงินเยียวยาให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบประกันสังคม คนละ 5,000 บาทต่อเดือนนั้น ส่วนนี้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ในหมวดงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมีวงเงินรวมอยู่ที่ 96,000 ล้านบาท

ก่อนที่จะเริ่มทำโครงการนี้ เดิมทีนั้นกระทรวงการคลังกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับเงินเยียวยามีประมาณ 3 ล้านคน จ่ายคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ก็คิดเป็นวงเงินรวมก็ประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ให้ใช้เงินจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ต่อมา กระทรวงการคลังไปรับโอนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 จากสำนักงบประกันสังคมมาดูแล ทำให้จำนวนผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคนเป็น 9 ล้านคน หากผ่านการคัดกรองคุณสมบัติทั้งหมด ต้องใช้งบ 45,000 ล้านบาท งบกลางที่ตั้งไว้มีเหลือจ่ายได้แค่เดือนเดียว ประเด็นที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์น่าจะหมายถึงงบกลาง ที่จะนำมาใช้ในการจ่ายเงินเยียวยาตั้งไว้แค่นี้ ไม่ได้หมายความถึงภาพรวมของการใช้จ่ายเงินงบประมาณ หรือฐานะการคลังแต่ประการใด ซึ่งท่านนายกฯ ก็ยืนยันว่ารัฐบาลสามารถจ่ายเงินเยียวยาให้ได้ทุกคน แต่ขอให้ยอดผู้ที่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยานิ่งก่อน (วันที่ 21 เม.ย.มติครม.อนุมัติเพิ่มผู้มีสิทธิรับเงิน 5,000 บาท เป็น 14 ล้านคน :ไทยพับลิก้า)

  • “ประยุทธ์” นัดหารือผ่อนปรนสถานการณ์ฉุกเฉิน 28 เม.ย.นี้ – มติ ครม. เพิ่มผู้มีสิทธิรับ 5 พันเป็น 14 ล้านคน
  • ตามหางบฉุกเฉินสู้วิกฤติโควิด-19 วงเงิน 96,000 ล้านบาท
  • เงินภาษีเรา เขาเอาไปทำอะไร “งบกลาง” ค้างท่อเกือบ 3 แสนล้านบาท
  • ประเด็นถัดมา ในช่วงที่จัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ตั้งงบกลางไว้ที่ 96,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้วไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงตั้งงบกลางไว้แค่นี้ ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคม 2563 โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักจนรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน สถานประกอบการถูกปิด คนตกงานเป็นจำนวนมาก รัฐบาลได้จัดงบกลาง 45,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของวงเงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นที่มีอยู่ เข้าไปเยียวยาคนละ 5,000 บาท รวมกับก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางก้อนแรกไปแก้ปัญหาโควิดฯ และภัยแล้ง 17,000 ล้านบาท โครงการชิมช้อปใช้ และบ้านหลังแรก ก็ใช้เงินจากงบกลางในหมวดนี้ ปัจจุบันแทบจะไม่เหลืองบกลางให้อนุมัติอีกแล้ว และคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลางจนหมดไม่เกินเดือนมิถุนายน 2563

    รัฐใช้เงินเยียวยากี่กระเป๋า

    คำถามว่ารัฐบาลตั้งวงเงินงบกลางไว้สำหรับจ่ายเงินเยียวยาแค่ 45,000 ล้านบาท พอจ่ายแค่เดือนแรกเดือนเดียว แล้วเดือนที่สองและที่สามจะใช้เงินจากแหล่งไหนมาจ่าย นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า ตามแผนงานที่รัฐบาลจัดเตรียมเอาไว้ หลักๆ จะมีอยู่ 2 แหล่งใหญ่ด้วยกัน คือ 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว หรือ 2. หากยังกู้เงินไม่ได้ ก็สามารถใช้จ่ายจาก “เงินทุนสำรองจ่าย” ของกระทรวงการคลังได้ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ซึ่งระบุว่า “กรณีงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีไม่พอจ่าย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจ่ายจาก “เงินทุนสำรองจ่าย” จำนวน 50,000 ล้านบาท โดยอนุมัติจาก ครม. เมื่อจ่ายไปแล้วให้ตั้งงบประมาณมาชดใช้”

    “วิธีนี้ผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้เงินทุนสำรองจ่ายได้ แต่ถ้ากระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรกู้เงินได้ครบตามวงเงินที่กำหนดในแผนงาน ก็ไม่ต้องไปใช้เงินทุนสำรองจ่าย ขณะนี้สำนักงบได้สอบถามกระทรวงการคลังไปแล้วว่าเงินทุนสำรองจ่ายส่วนนี้มาจากไหน โดยหลักการเข้าใจว่าจะเป็นเงินคงคลัง สำหรับเหตุการณ์เงินในงบกลางที่ตั้งไว้มีไม่พอจ่าย เคยเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2529 ขณะนั้นก็ได้มีการเบิกจากเงินทุนสำรองจ่ายมาใช้ก่อนได้”

    โดยสรุปนอกจาก 1.งบกลางในรายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่อนุมัติจ่ายไปแล้ว 96,000 ล้านบาท 2.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาท และ 3.ทางสำนักงบประมาณได้จัดเตรียมแหล่งเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาโควิดฯ โดยใช้วิธีการบริหารงบประมาณรายจ่ายปี 2563 และปี 2564 ซึ่งจะอธิบายต่อไป

    หั่นงบปี 63 ลง 10% โปะงบกลางเพิ่มแสนล้าน

    “สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ผมไม่อยากให้ใช้คำว่า “โยกงบ” กล่าวคือ ก่อนหน้านี้สำนักงบได้ขอความร่วมมือส่วนราชการที่ได้รับจัดสรรงบปี 2563 ให้ช่วยปรับลดรายการใช้จ่ายเงินที่ไม่จำเป็นลง 10% เพื่อที่จะโอนงบดังกล่าวนี้เข้ามาไว้ที่งบกลาง สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ ช่วงที่จัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ไม่ได้เตรียมงบไว้รองรับการแพร่ระบาดของโควิด เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้

    สำหรับรายการที่สำนักงบได้ขอความร่วมมือไปยังส่วนราชการให้ช่วยพิจารณาปรับลดงบลง ได้แก่ งบเดินทางไปราชการต่างประเทศ ฝึกอบรม สัมมนา จัดอีเวนต์ต่างๆ ฯลฯ เนื่องจากในช่วงนี้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านเป็นหลัก หากจะจัดสัมมนา อบรม หรือเดินทางไปต่างจังหวัด ต่างประเทศในช่วงปีนี้ ก็คงจะไม่มีใครอยากมาร่วมงาน หรือเดินทางไปต่างประเทศก็คงไม่มีประเทศไหนต้อนรับ ดังนั้น งบประเภทนี้จึงหมดความจำเป็น ขอให้ส่วนราชการปรับลดและโอนงบดังกล่าวมาไว้ที่งบกลาง

    นอกจากนี้ ยังมีงบลงทุนบางรายการที่ไม่ใช่งบก่อสร้าง เช่น งบจัดซื้อครุภัณฑ์ทดแทน หรือ งบเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถโอนมาได้ รวมแล้วในปี 2563 คาดว่าปรับลดงบและโอนมาไว้ในงบกลางได้ประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท

    ขณะนี้สำนักงบได้ยกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เสร็จเรียบร้อย คาดว่าจะเสนอที่ประชุมรัฐสภาได้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 หากผ่าน 3 วาระรวด ก็ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ด้วย ยังไม่มีผลบังคับใช้ได้ทันที

    กลาโหมชะลอซื้อเรือดำน้ำ

    ส่วนกรณีมีนักวิชาการหลายท่านเสนอปรับลดงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมลงนั้น นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้สังคมและสื่อโซเชียลทั้งหลายกำลังจับตาดูอยู่ ทุกกระทรวงก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมที่จะโอนงบที่สามารถชะลอได้หรือหมดความจำเป็น อย่างเช่นกระทรวงกลาโหม ก็ชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือออกไปแล้ว

    ถามว่าสามารถยกเลิกสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำกับต่างประเทศได้หรือไม่ ประเด็นนี้ผมตอบไม่ได้ ต้องไปถามกระทรวงกลาโหม ที่ผ่านมาเราซื้อเรือดำน้ำมา 1 ลำแล้ว ตามแผนงานปีนี้ต้องซื้ออีก 2 ลำ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ปีนี้ไม่ซื้อ ปีหน้า หรือปีถัดไปจะซื้อหรือไม่ ต้องไปถามกระทรวงกลาโหม

    ถามว่ามีกระทรวงไหนไม่ถูกปรับลดงบเลย นายเดชาภิวัฒน์ตอบว่ามีกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบรักษาพยาบาลปีละ 350,000 ล้านบาท อันนี้ไม่ตัด เพราะต้องดูแลค่ารักษาพยาบาล บุคลากรการแพทย์ ทั้งในส่วนของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และสวัสดิการข้าราชการส่วนกลางและท้องถิ่นด้วย

    ปรับปี’64 ลดงบประจำลง 25% โยกงบลงทุน 50% แก้โควิดฯ

    นอกจากการปรับลดงบประมาณปี 2563 แล้ว งบประมาณปี 2564 ก็ต้องปรับปรุงด้วย ซึ่งสำนักงบฯ เสนอ ครม. เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 หลักการคล้ายๆ กับการปรับปรุงงบปี 2563 โดยสำนักงบฯ ได้ขอความร่วมมือส่วนราชการต่างๆ ปรับลดงบประมาณ รายการเดินทางไปดูงาน ฝึกอบรม สัมมนาในต่างประเทศลง 25% ของวงเงินงบประจำในปี 2564 แต่ขอเฉพาะ 1 ไตรมาสแรกเท่านั้น คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 ไม่ได้ตัดทั้งหมด ทุกส่วนราชการยังมีงบประเภทนี้เหลืออยู่อีก 75% สามารถนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเดินทางได้ หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกได้ยุติลงแล้ว ขอย้ำว่าไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย

    ส่วนงบลงทุนก็ขอให้ส่วนราชการปรับลดลง 50% แต่เอาเฉพาะงบจัดซื้อครุภัณฑ์ประเภททดแทนของหมดอายุหรืองบเพิ่มประสิทธิภาพ ที่ไม่ใช่งบก่อสร้าง เพราะถ้าไปดึงงบก่อสร้างออก อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ผู้รับเหมางานไม่ได้งาน ลูกจ้างก็ตกงาน

    ตอบคำถามหนี้สาธารณะ-วินัยการคลัง

    ล่าสุดที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายปี 2564 เพิ่มอีก 100,000 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 523,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 623,000 ล้านบาท

    การเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลปีนี้ ยังอยู่ภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ กำหนดเพดานวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสูงสุด 740,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นการรักษาวินัยการคลัง ไม่ได้ใช้จ่ายเงินเกินตัว

    “ขอย้ำว่าวงเงินงบประมาณปี 2564 ยังคงไว้ที่ 3,300,000 ล้านบาทเท่าเดิม แต่สาเหตุที่ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มอีก 100,000 ล้านบาทนั้น เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 กระทรวงการคลังคาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีนี้น่าจะปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้งบขาดดุลเพิ่มขึ้น”

    ส่วนงบปี 2563 ก็ไม่มีปัญหา ปีนี้กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไว้ที่ 469,000 ล้านบาท แต่กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลตามกฎหมายหนี้สาธารณะให้กู้สูงสุดถึง 711,000 ล้านบาท

    “คำว่างบประมาณแบบขาดดุล หมายถึง รัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่าย ต้องไปกู้เงินมาใช้จ่าย ตามกฎหมายให้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลได้สูงสุดถึง 711,000 ล้านบาท แต่เราจะกู้ 469,000 ล้านบาท หากกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ยังมีช่องว่างให้รัฐบาลกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลได้กว่า 2 แสนล้านบาท แต่ถ้ากระทรวงการคลังเก็บภาษีได้ตามเป้าฯ ก็ไม่ต้องกู้เพิ่ม”

    ถามว่างบปี 2563 ยังมีเพดานการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเหลือกว่า 2 แสนล้านบาท ทำไมไม่จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า “ตอนนี้รัฐบาลตัดสินใจออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้จ่ายเงิน หากจะใช้วิธีจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี ต้องยกร่างเป็น พ.ร.บ. เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุมัติ กว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้เกรงว่าจะไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องกู้เงินอยู่ดี แต่กู้ได้แค่ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่ถ้าออกเป็น พ.ร.ก. กู้ได้ 1 ล้านล้านบาท เร็วด้วย”

    นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

    “งบกลาง” มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

    ผอ.สำนักงบฯกล่าวต่อว่า”คราวนี้มาถึงเรื่องวินัยการเงินการคลัง ผมขอชี้แจงเรื่องงบกลางก่อน หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าไม่มีประเทศไหนตั้งงบกลางน่ะ มีเฉพาะประเทศไทยที่เดียว”

    “งบกลาง” เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 มีผลบังคับใช้ โดยกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งมาเก็บไว้ในงบกลาง โดยเฉพาะรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต่อมา พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 มีผลบังคับใช้ ได้กำหนดให้ตั้งงบกลางกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ 2-3.5% ของวงเงินงบประมาณ ตามวิสัยทัศน์ของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ หากได้รับการจัดสรรงบกลางส่วนนี้ไปแล้วไม่ใช้หรือใช้ไม่หมด ต้องส่งคืนคลังทั้งหมด

    ขอยกตัวอย่างข้อดีของงบกลางให้เห็นกันชัดๆ คือ ในช่วงปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ รัฐบาลขณะนั้นก็มีการเบิกจ่ายเงินจากงบกลางเอาไปใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก จากนั้นประเทศไทยก็มีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ก็มีการใช้งบกลางเข้าไปแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่หนักที่สุดคือปีนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด ผลกระทบเริ่มจากภาคการท่องเที่ยว ลุกลามไปยังภาคเศรษฐกิจจริง เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวเกือบหยุดนิ่ง ยกเว้นเว้นตัว G หรือ การใช้จ่ายเงินของภาครัฐที่ยังทำงานอย่างเต็มที่

    นี่คือข้อดีของงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

    ช่วงเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทุกปี ได้ยินกันบ่อยๆ คือ ประเด็นการตั้งวงเงินงบกลาง เปรียบเสมือนการตีเช็คเปล่า ไม่ได้กำหนดรายการใช้จ่ายเงิน แต่มาถึงวันนี้เป็นอย่างไร ขอให้สำนักงบเพิ่มวงเงินงบกลาง แต่ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องความโปร่งใส ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กำหนดให้รายงานผลการใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ต่อที่ประชุมรัฐสภา ใช้จ่ายอะไรไป ตรวจสอบได้ทั้งหมด แต่ถ้าใช้ไม่หมด ก็ส่งคืนคลัง

    ปลดล็อกวินัยการคลัง สู้โควิด 2 ปี

    คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า ทำไมรัฐบาลต้องแก้ไขประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า เป็นผลสืบเนื่องจากการที่สำนักงบประมาณยกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 คาดว่าจะได้เงินประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท มาใส่ไว้ในงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เดิมตั้งไว้ที่ 96,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินก้อนใหม่ที่จะโอนเข้าอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท มันก็จะเกินสัดส่วน 3.5% ของวงเงินงบประมาณปี 2563 ตามที่กฎหมายกำหนด

    ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบานการเงินการคลังของรัฐที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงมีมติให้ขยายสัดส่วนการจัดตั้งงบกลางขึ้นเป็น 7.5% ของวงเงินงบประมาณเป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลบังคับใช้เฉพาะในปีงบประมาณ 2563 และขอเผื่อไปถึงปี 2564 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยังไม่จบ หลังจากนั้นให้กลับไปใช้กรอบเดิมคือ 2-3.5% ของวงเงินงบประมาณ ทั้งนี้ เพื่อรองรับการโอนงบประมาณปี 2563 เข้ามาไว้ในงบกลางได้สูงสุดถึง 240,000 ล้านบาท ปี 2564 ตั้งงบกลางได้สูงสุด 247,000 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงในปี 2564 เราตั้งงบกลางไว้แค่ 99,000 ล้านบาทเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วน 3% ของวงเงินงบประมาณ หากสถานการณ์โควิดยังไม่จบ ก็โอนงบประมาณปกติมาเป็นงบกลางได้ต่อไป

    ลดสัดส่วนงบใช้หนี้เหลือ 1.5% โยกโปะงบกลาง

    ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติปรับลดสัดส่วนงบชำระคืนต้นเงินลง จากเดิมกำหนดให้รัฐบาลต้องตั้งงบมาชำระหนี้ไม่ต่ำกว่า 2.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ปรับลดเหลือ 1.5% บังคับใช้เฉพาะปีงบประมาณ 2563 ปีเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง คาดว่าจะได้เงินอีก 30,000 ล้านบาทนำเข้าสมทบกับงบกลางปีนี้ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด

    นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

    สรุปแหล่งเงินที่รัฐบาลนำมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ในเบื้องต้นใช้จ่ายจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แต่ตอนนี้ใช้ไปเกือบหมดแล้ว แหล่งเงินส่วนที่ 2 ได้มาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว และแหล่งเงินส่วนที่ 3 ได้มาจาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เข้ามาเพิ่มในงบกลางอีก 80,000-100,000 ล้านบาท

    ตามปฏิทินการทำงานของสำนักงบจะเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ ให้ที่ประชุม ครม. อีกครั้งในวันอังคารที่ 21 เมษายน 2563 จากนั้นก็จัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 หากผ่าน 3 วาระรวด ก็คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

    จากนั้นก็จะต้องเร่งนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ฉบับปรับปรุงใหม่ โดยโอนงบประจำและงบลงทุนบางส่วนที่ไม่จำเป็นมาใช้แก้ปัญหาโควิด ส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาต่อไป หากเหตุการณ์ปกติ ไม่มีอะไร คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป

    ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็คือแผนการจัดหาแหล่งเงินให้รัฐบาลนำมาใช้ต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 ในช่วงปีงบประมาณ 2563 และ 2564