ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่ เมื่อความสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูญหายไป

วาระสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่ เมื่อความสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูญหายไป

21 เมษายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.nytimes.com

ในการไปเยือนลาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้กล่าวถึงภาวะแห้งแล้งที่สุดของภูมิภาคแม่น้ำโขงว่า จีนเองก็ประสบปัญหาภาวะแห้งแล้งเช่นเดียวกัน ภาวะแห้งแล้งได้ดูดซับน้ำออกไปจากแม่น้ำโขง แม่น้ำที่ถือกันว่ามีผลิตภาพมากที่สุดของโลกสายหนึ่ง

แต่รายงานการศึกษาที่เพิ่งเผยแพร่ชื่อ Monitoring the Quality of Water Flowing Through the Upper Mekong Basin Under (Unimpeded) Condition (10 April 2020) กล่าวว่า จีนไม่ได้ประสบปัญหาความยากลำบากจากความแห้งแล้งแบบเดียวกับประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การที่ระดับน้ำของแม่น้ำโขงมีปริมาณที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ เป็นเพราะวิศวกรจีนจำกัดการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน

นายอลัน บาซิสต์ (Alan Basist) ที่เขียนรายงานดังกล่าวให้กับองค์กร Eyes on Earth กล่าวกับ New York Times ว่า…

“ข้อมูลจากดาวเทียมจะไม่บิดเบือนโกหก มีน้ำเป็นจำนวนมากในที่ราบสูงทิเบต แม้แต่ประเทศอย่างกัมพูชาและไทยล้วนตกอยู่ในภาวะที่ถูกบีบคั้นมาก มีปริมาณน้ำจำนวนมากที่ถูกกักเก็บไว้อยู่ในจีน”

อัตลักษณ์ของแม่น้ำโขง

หนังสือชื่อ Last Days of the Mighty Mekong ของ Brian Eyler กล่าวว่า แม่น้ำโขงมีความยาว 4,300 กิโลเมตร ไหลผ่านหรือไหลกั้นพรมแดนระหว่างประเทศ เช่น จีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ต้นน้ำมาจากที่ราบสูงทิเบต ความยาวครึ่งหนึ่งหรือ 2,100 กม.ของแม่น้ำโขงไหลอยู่ในดินแดนจีน ประชากรที่อาศัยอยู่ตามริมน้ำโขงในส่วนของจีน ไม่แออัด ยกเว้นเมืองจิงหง ที่มีประชากร 5 แสนคน เนื่องจากจีนควบคุม “ส่วนที่เป็นต้นน้ำ” ในช่วงฤดูแล้ง พื้นที้“ส่วนที่เป็นปลายน้ำ” ต้องอาศัยน้ำจากจีนถึง 70%

ที่มาภาพ : goodreads.com

หลังจากไหลพ้นจากดินแดนจีน แม่น้ำโขงกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่ราบลุ่มในหลายประเทศ เช่น พื้นที่ส่วนใหญ่ของลาว ยกเว้นทางภาคเหนือ พื้นที่ครึ่งหนึ่งของไทย และพื้นที่ทั้งหมดของกัมพูชา คนจำนวนมากกว่า 66 ล้านคน อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งประกอบด้วย ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้ริมน้ำโขง จะอยู่เป็นหมู่บ้านและเมืองเล็กๆ ยกเว้นพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำโขงในเวียดนาม ที่มีคนอยู่อย่างแออัด รายได้ต่อคนในแถบลุ่มน้ำโขงตกประมาณปีละ 800 ดอลลาร์ ที่มาจากการจับปลาและปลูกข้าว ประชาชนตามที่ราบลุ่มน้ำโขงบริโภคทรัพยากรที่ได้จากแม่น้ำ และจากที่ดินที่อยู่ติดริมน้ำ นอกเหนือจากการซื้อจากตลาดสด คนเขมรได้โปรตีน โดย 60% มาจากปลาในแม่น้ำโขง

หนังสือ Last Days of The Mighty Mekong กล่าวว่า จนถึงช่วงเมื่อไม่นานมานี้ แม่น้ำโขงมีอัตลักษณ์อยู่ 3 อย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยมีอิทธิพลกำหนดสภาพการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับแม่น้ำ และคนกับที่ดินที่อยู่รอบข้าง อัตลักษณ์ดังกล่าวได้แก่

(1) การอยู่อย่างโดดเดี่ยว นักสำรวจชาวฝรั่งเศสชื่อ Henri Mahout เขียนไว้เมื่อกลางศตวรรษที่ 19 ว่า เดินทางทางบกจากเมืองไซ่ง่อนไปยังหลวงพระบาง ใช้เวลานานกว่าโดยสารเรือจากไซ่ง่อนไปปารีส การอยู่อย่างโดดเดี่ยว ทำให้ในอดีต ไทย เวียดนามและเขมร แทบไม่ค้าขายระหว่างกันและกัน

(2) วัฏจักรระดับน้ำที่เป็นไปตามฤดูกาล ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของแม่น้ำโขง ผู้คนที่อาศัยตามที่ราบลุ่มน้ำโขง ต้องพึ่งพิงภาวะน้ำท่วมบ่าตามฤดูกาล เป็นวิธีการกระจายน้ำและแร่ธาตุจากน้ำ ให้ไหลลงสู่พื้นที่การเพาะปลูก

และ (3) ความหลากหลายด้านเผ่าพันธุ์ พันธุ์ไม้ และพันธุ์สัตว์ ในมลฑณยูนานของจีน มีชนกลุ่มน้อย 26 กลุ่ม ส่วนลาวเองมีชนกลุ่มน้อยที่ลงทะเบียน 149 กลุ่ม นักวิจัยด้านประมงพบว่า ปลาในแม่น้ำโขงมีกว่า 1,000 สายพันธุ์ท้องถิ่น และกว่า 700 สายพันธุ์เป็นปลาแบบย้ายถิ่นฐาน ความสมบูรณ์ของปลาในแม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำโขงเป็นแหล่งปลาน้ำจืดใหญ่ที่สุดของโลก แต่ละปี มีการจับปลากว่า 2 ล้านตัน

แต่ในปัจจุบัน อัตลักษณ์ 3 อย่างที่เคยพึ่งพิงกันและกันในแม่น้ำโขง เกิดภาวะชะงักงันและเปลี่ยนแปลงไป เนื่องมาจากพลวัตกระบวนการพัฒนาให้เกิดความทันสมัย การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และการเกิดขึ้นมาของกรอบความร่วมมือภายในภูมิภาค ที่ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และการเชื่อมโยงกันและกัน

ประเทศตามลุ่มแม้น้ำโขงล้วนหาหนทางที่จะครอบงำพลังอำนาจการผลิตของแม่น้ำโขง โดยการควบคุมการขึ้นลงของระดับน้ำในแต่ละปี รวมทั้งการขุดทรายจากแม่น้ำ ทุกประเทศในแม่น้ำโขงล้วนหาทางที่จะสร้างเขื่อน เขื่อนจะควบคุมวัฏจักรตามธรรมชาติของปริมาณน้ำของน้ำโขง เพื่อนำไปใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า จีนเปิดดำเนินงานเขื่อนตามแม่น้ำโขงไปแล้ว 10 แห่ง และอีก 9 แห่งจะสร้างเสร็จในปี 2030 ส่วนลาวมีแผนสร้างเขื่อน 9 แห่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย”

เขื่อนแม่น้ำโขงในดินแดนจีน

หนังสือ Last Days of the Mighty Mekong กล่าวว่า ในระยะ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มข้นของจีน ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานของจีน หมดลงอย่างรวดเร็ว แหล่งสำรองด้านถ่านหิน น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ก็อยู่ห่างจากพื้นที่ที่มีความต้องการพลังงาน ทำให้ทุกวันนี้ บริษัทน้ำมันจีนออกไปทำธุรกิจโพ้นทะเล อยู่ทุกจุดในโลก

จีนเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่สุดของโลก ขณะเดียวกัน จีนก็แสดงพันธะกรณีที่จะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงปารีสปี 2015 จุดนี้ทำให้จีนต้องหันไปอาศัยแหล่งพลังงานจากน้ำ ที่อยู่ในดินแดนของจีนเอง หรือที่อยู่ใกล้พรมแดน ทำให้พลังงานจากน้ำที่จะมาจากแม่น้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ กลายเป็นทางออกด้านพลังงานที่สะอาด และเป็นทรัพยากรมีอยู่ในประเทศ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำกลายเป็นวาระแห่งชาติของจีน

ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ที่มาภาพ : หนังสือ Last Days of the Mighty Mekong

แผนงานของจีนในการเพิ่มความสามารถด้านพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ มาจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง แม่น้ำสาระวิน และแม่น้ำแยงซี กรณีแม่น้ำโขง แผนงานในตอนแรก จะมีการสร้างเขื่อน 9 แห่ง ผลิตไฟฟ้า 15 กิกะวัตต์ ต่อมาเพิ่มเป็น 20 เขื่อน ที่ผลิตไฟฟ้า 30 กิกะวัตต์ แต่เมื่อมาถึงปี 2015 ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในมลฑณยูนานเพิ่มเป็น 50 กิกะวัตต์ เทียบกับสหรัฐฯที่มีกำลังการผลิต 100 กิกะวัตต์ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากน้ำของยูนาน สามารถป้อนพลังงานให้กับเมืองที่มีประชาชนประมาณ 10 ล้านคน ได้ 5 เมือง

มีการศึกษาจำนวนมากที่ระบุว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงจะส่งผลเสียหายต่อแบบแผนการย้ายถิ่นฐานของปลา ต่อชีวิตของคนจับปลาในท้องถิ่น การสร้างเขื่อนจึงเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงต่อแหล่งปลาน้ำจืดที่ใหญ่สุดของโลก และต่อความมั่นคงด้านอาหารของคนหลายล้านคน ที่มีชีวิตอยู่กับแม่น้ำโขง และอาศัยปลาเป็นแหล่งโปรตีน การสร้างเขื่อนทำให้ผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานออกจากที่ทำกิน มีการคาดการณ์กันว่า ในลาว การสร้างเขื่อนทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของคนในประเทศเป็นจำนวนมากที่สุด

หนังสือ Last Days of the Mighty Mekong กล่าวว่า การพัฒนาของจีนในโมเดลแบบทุนนิยมที่อาศัยการลงทุนเป็นตัวนำ และการสั่งการจากระดับสูงสุดลง ทำให้ชุมชนและความหลากหลายทางธรรมชาติ กลายเป็นฝ่ายเสียหายหรือเสียประโยชน์ แน่นอนว่า การพัฒนาให้ทันสมัยและการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค มีส่วนนำประโยชน์มาให้แก่คนในแถบแม่น้ำโขง ผู้คนมีสุขภาพ การศึกษา และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็หันไปมีวิถีชีวิตตามแบบเมืองที่เป็นศูนย์กลางสมัยใหม่ มากกว่าการมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และในแบบธรรมชาติ

Brian Eyler ผู้เขียนหนังสือกล่าวว่า คำว่า “ความเชื่อมโยง” (Connectivity) คือสิ่งที่อธิบายว่า ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงทำงานอย่างไร เป็นการมองแม่น้ำว่า เป็นระบบความเชื่อมโยง จากแม่น้ำสาขา สู่แม่น้ำใหญ่ สู่ดินแดนที่อยู่ข้างเคียง และสู่มหาสมุทร ความเชื่อมโยงยังเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการและการอนุรักษ์แม่น้ำ

นักอนุรักษ์แม่น้ำโขงชาวเวียดนามชื่อ Doung Van Ni บอกกับ Brian Eyler ว่า…

“ตัวแม่น้ำเองไม่มีสิ่งที่เรียกว่าแม่น้ำโขงส่วนบนหรือส่วนล่าง ระบบของแม่น้ำเป็นอันหนึ่งเดียวกัน ผมเปรียบแม่น้ำเหมือนต้นไม้ ลำต้นไม่ได้โตขึ้นมาเอง แต่โตจากราก หากรากถูกตัด ลำต้นก็จะตายลง ดังนั้น หากเราจะอนุรักษ์แม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่นี้ เราจะต้องแลทุกส่วนของแม่น้ำ ที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว”

ดังนั้น หากเราทุกส่วนไม่เริ่มต้นจากวันนี้ ที่จะมองแม่น้ำและดินแดนที่อยู่ข้างเคียงว่าเป็นระบบที่มีความเชื่อมโยงกันและกัน และดำเนินการร่วมกันที่จะอนุรักษ์สิ่งนี้ วาระสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่ คงจะมาถึงแล้ว

เอกสารประกอบ

Last Days of the Mighty Mekong, Brian Eyler, Zed Book, 2019.
China Limited the Mekong’s Flow. Other Countries Suffered a Drought, April 13, 2020, nytimes.com