ThaiPublica > เกาะกระแส > จากหนังสือ How Democracies Die กับวิกฤติประชาธิปไตยในอเมริกา

จากหนังสือ How Democracies Die กับวิกฤติประชาธิปไตยในอเมริกา

11 มกราคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ผู้ประท้วงที่สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/united-states/2021-01-07/it-happened-america

การเลือกตั้งถือเป็นหัวใจของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเสรี เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาแล้ว คนที่แพ้การเลือกตั้งก็เต็มใจที่จะพ้นจากตำแหน่ง ส่วนคนที่ได้รับชัยชนะ ก็มีความชอบธรรมที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทน การเปลี่ยนโอนอำนาจจึงเป็นไปอย่างสันติ ในสังคมที่มีความขัดแย้งแบ่งขั้วระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ประชาธิปไตยจึงเป็นวิธีการแบบสันติในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยทำหน้าที่แทนวิธีการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

แต่ในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา คนทั่วโลกได้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อฝูงชนที่สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าไปโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อประท้วงและปฏิเสธความชอบธรรมของนายโจ ไบเดน ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 กลุ่มผู้ประท้วงเชื่ออย่างที่ทรัมป์บอกพวกเขาว่า มีการโกงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมา

ข้อพิพาทเรื่องการเลือกตั้ง

บทความชื่อ It Happened in America ใน foreignaffairs.com กล่าวว่า การประท้วงการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติในโลก ข้อพิพาทเรื่องการเลือกตั้งจะเป็นเรื่องความไม่ชอบธรรมของคนที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งต่อกระบวนการเลือกตั้ง หรือต่อผลของการเลือกตั้ง แต่นักรัฐศาสตร์เห็นว่า ความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้งมักจะเกิดขึ้นเป็นปกติวิสัย ในประเทศที่มีระบอบการเมืองแบบ “อำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง” (electoral autocracy)

ประเทศที่มีระบอบการเมืองแบบนี้ รัฐบาลที่ครองอำนาจ จะออกแบบระบบการเมืองที่เลือกเอาบางสิ่งบางอย่างที่มาจากระบอบประชาธิปไตยมาใช้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจิตวิญญาณ หรือที่เป็นกระบวนการประชาธิปไตย การประท้วงการเลือกตั้งก็จะมักเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่เสถียรภาพทางการเมือง มีสงครามการเมือง หรือเป็นรัฐล้มเหลว เช่น อัฟกานิสถาน เคนยา หรือไนจีเรีย

แต่เหตุการณ์ประท้วงผลการเลือกตั้ง ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศตะวันตก เพราะประเทศเหล่านี้ล้วนมีธรรมเนียมการปกครองด้านประชาธิปไตยมายาวนานหลายศตวรรษ

ในประเทศตะวันตกนั้น การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งจะมีการดำเนินการผ่านกระบวนการทางกฎหมาย เช่น ผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลยุติธรรม ข้อพิพาทในการเลือกตั้งระหว่างจอร์จ บุช กับอัล กอร์ ในปี 2000 ก็ไม่ได้จบลงที่การก่อการจลาจล

ที่มาภาพ : texastribune.org

การพังทลายของประชาธิปไตย

หลายปีที่ผ่านมา ในแวดวงรัฐศาสตร์ได้ผลิตหนังสือออกมาหลายเล่ม เพื่อเตือนถึงการพังทะลายของระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่จะเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ อย่างเช่นหนังสือ How Democracies Die (2018) ที่ตั้งคำถามว่า…

ประชาธิปไตยในสหรัฐฯ อยู่ในภาวะอันตรายหรือไม่ ในเมื่อที่ผ่านมามีนักการเมืองสหรัฐฯ พูดในสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่เรารู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นว่า สิ่งนี้คือสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า

How Democracies Die กล่าวว่า ความกังวลต่อชะตากรรมของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ เกิดขึ้นจากหลายกรณี เช่น นักการเมืองอเมริกันปฏิบัติต่อนักการเมืองคู่แข่งว่าเป็นศัตรู ข่มขู่สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อย่างอิสระ และพูดขู่ที่จะไม่ยอมรับผลของการเลือกตั้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ นับครั้งแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา ที่ในปี 2016 โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งหน้าที่ของรัฐมาก่อน ทรัมป์ไม่เคยแสดงออกถึงความเชื่อที่จะเคารพต่อสิทธิทางรัฐธรรมนูญ และมีแนวโน้มชัดเจนว่าเป็นนักการเมืองแบบอำนาจนิยม

ที่มาภาพ : https://erpinnews.com/how-democracies-die-summary

ที่ผ่านมาคนทั่วไปมักจะคิดว่า ประชาธิปไตยล้มตายไป หรือพังทลายลง เพราะเกิดจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น รัฐประหาร หรือการระงับใช้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีอีกหนทางหนึ่ง ที่ประชาธิปไตยจะพังทลายลงได้เช่นเดียวกัน คือจากนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำการเมือง แล้วก็หาทางบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตย อย่างเช่นวิธีการของฮิตเลอร์ หลังจากเกิดไฟไหม้ตึกรัฐสภา (Reichstag) ของเยอรมันในปี 1933

จุดทดสอบต่อประชาธิปไตย

ในโลกยุคปัจจุบัน ที่ระบบเผด็จการแบบฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ และการปกครองโดยทหาร แทบจะหายสาญสูญไปแล้ว ประชาธิปไตยก็ยังอาจจะล้มตายไปด้วยวิธีการอื่น ทุกวันนี้ แทบทุกประเทศในโลกต่างก็จัดให้มีการเลือกตั้งเป็นระยะๆ การผุกร่อนของประชาธิปไตย ที่เกิดจากนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา จึงเป็นเรื่องที่คนทั่วไปมองไม่เห็น

นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มักจะไม่แสดงออกให้เห็นถึงการเป็นพวกอำนาจนิยม จนกว่าจะมีอำนาจขึ้นมา แต่ก็มีนักการเมืองบางคน ที่แสดงลักษณะนี้ออกมาก่อนที่จะมีอำนาจ หนังสือ How Democracies Die กล่าวถึงพฤติกรรมชี้วัด 4 อย่าง ที่เป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกเรื่องนักการเมืองประเภทอำนาจนิยม ซึ่งได้แก่

    (1) ปฏิเสธกฎกติกาทางประชาธิปไตย หรือทำให้กติกาอ่อนแอลง
    (2) ปฏิเสธความชอบธรรมของนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม เช่น กล่าวหาเป็นว่าเป็นสายลับต่างชาติ
    (3) ส่งเสริมความรุนแรง
    (4) พร้อมที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของฝ่ายตรงกันข้าม และสื่อมวลชน

แม้จะมีรากฐานทางประชาธิปไตย ที่เข้มแข็งกว่าประเทศที่มีผู้นำแบบเผด็จการ อย่างเช่น เวเนซุเอลาหรือตุรกี แต่คำถามมีอยู่ว่า สหรัฐฯ มีความเสี่ยงและจุดอ่อนหรือไม่ ที่จะเกิดการถดถอยทางประชาธิปไตย การหาคำตอบกับคำถามดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความคิดที่กว้างขวางออกไป โดยได้มาจากบทเรียนของประเทศอื่นๆ

How Democracies Die กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งที่เป็นและไม่เป็นประชาธิปไตย มักจะมีนักการเมืองที่อาศัยวิธีการปลุกระดมความรู้สึกของประชาชนแทนการใช้เหตุผล (demagogue) ดังนั้น จุดทดสอบที่เป็นด่านแรกของระบอบประชาธิปไตยอยู่ที่ว่า ผู้นำการเมืองและพรรคการเมือง ได้ดำเนินการป้องกันไม่ให้นักการเมืองดังกล่าวมีอำนาจขึ้นมาหรือไม่ หากว่านักการเมืองดังกล่าวสามารถเข้าสู่กระแสหลักของระบอบการเมืองได้แล้ว ประชาธิปไตยก็เริ่มที่จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น

หากนักการเมืองแบบอำนาจนิยมเกิดมีอำนาจขึ้นมา ประชาธิปไตยจะเผชิญกับด่านทดสอบที่สำคัญครั้งที่สอง คือ ผู้นำการเมืองแบบอำนาจนิยมจะหาทางทำลายสถาบันประชาธิปไตย หรือว่าจะยอมรับการถูกจำกัดอำนาจจากสถาบันเหล่านี้ ลำพังสถาบันประชาธิปไตยอย่างเดียว ยังไม่พอที่จะยับยั้งนักการเมืองแบบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญต้องได้รับการสนับสนุนและปกป้องจากพรรคการเมือง กลุ่มประชาสังคม และธรรมเนียมปฏิบัติทางประชาธิปไตย

How Democracies Die กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายน 2016 อเมริกาล้มเหลวในการทดสอบครั้งแรก เมื่อคนอเมริกันเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่เป็นคนที่ไม่ได้ศรัทธาในธรรมเนียมปฏิบัติทางประชาธิปไตย ชัยชนะของทรัมป์ไม่ได้มาจากความไม่พอใจของคนอเมริกันที่มีต่อสภาพการเมืองที่เป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังมาจากความล้มเหลวของพรรครีพับลิกัน ที่จะป้องกันไม่ให้นักการเมืองแบบอำนาจนิยม และนิยมปลุกกระแสความรู้สึกของประชาชนแบบสุดขั้ว ก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรค

ที่ผ่านมา ประชาธิปไตยของอเมริกา ที่มีลักษณะการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ (check and balance) สามารถผ่านวิกฤติมาได้หลายครั้ง เช่น สงครามกลางเมือง ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และสงครามเย็น แต่ประชาธิปไตยจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น และอยู่ได้ยาวนานมากขึ้น ก็เมื่อรัฐธรรมนูญได้แรงเกื้อหนุนจากธรรมเนียมปฏิบัติทางประชาธิปไตย ที่ไม่มีการเขียนเป็นรายลักษณ์อักษร

How Democracies Dies กล่าวว่า ธรรมเนียมปฏิบัติทางประชาธิปไตยดังกล่าวมีอยู่ 2 อย่าง คือ (1) นักการเมืองให้การยอมรับซึ่งกันและกัน (mutual toleration) ซึ่งมีความหมายความว่า พรรคการเมืองที่แข่งขันทางการเมือง ต่างยอมรับว่า อีกฝ่ายหนึ่งคือคู่แข่งขันที่ชอบธรรม สิ่งนี้ทำให้การถ่ายโอนอำนาจเกิดขึ้นอย่างสันติ และ (2) นักการเมืองใช้เอกสิทธิ์อย่างมีการยับยั้งชั่งใจ หมายความว่า เมื่อมีอำนาจทางการเมือง ก็ไม่ใช้เอกสิทธิ์ดังกล่าวเพื่อประโยชน์มากที่สุดให้กับพรรคตัวเอง หรือกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเอง

ที่มาภาพ : dw.com2

How Democracies Die ยังบอกว่า ธรรมเนียมปฏิบัติทางประชาธิปไตย 2 อย่าง คือ การยอมรับกันและกัน กับการยับยั้งชั่งใจในการใช้อำนาจ ช่วยทำให้ประชาธิปไตยในอเมริกา สามารถหลีกเลี่ยงการต่อสู้ทางการเมืองแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อพรรคการเมืองหรือเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับการเมืองของยุโรปในช่วงทศวรรษ 1930 หรือในแถบอเมริกาใต้ ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970

แต่หลายปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมประชาธิปไตย 2 อย่างดังกล่าวของอเมริกาอ่อนแอลง เมื่อบารัก โอบามา ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นักการเมืองของพรรครีพับลิกันหลายคนสงสัยต่อความชอบธรรมในชัยชนะของคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต และหันไปใช้ยุทธวิธีทุกอย่างที่จะเอาชนะฝ่ายตรงกันข้าม

ความอ่อนแอของวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสหรัฐฯ มีรากลึกที่มาจากการแบ่งขั้วทางการเมือง ความขัดแย้งเดิมของกลุ่มการเมือง ที่เป็นเรื่องทางด้านนโยบาย ได้ขยายตัวไปสู่ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ สีผิวและวัฒนธรรม โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใช่ต้นเหตุของความขัดแย้งแบ่งขั้ว ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น แต่ทรัมป์เป็นเพียงตัวเร่งของกระบวนการแบ่งขั้วนี้

เอกสารประกอบ
How Democracies Die, Steven Levitsky & Daniel Ziblatt, Crown Publishing Group, 2018.
It Happened in America, Pippa Norris, January 7, 2021, foreignaffairs.com