ThaiPublica > คนในข่าว > ชีวิตที่ 2 ของ “บัณฑูร ล่ำซำ” หลังเกษียณอาชีพนายแบงก์… คืนชีวิตสู่ผืนป่า

ชีวิตที่ 2 ของ “บัณฑูร ล่ำซำ” หลังเกษียณอาชีพนายแบงก์… คืนชีวิตสู่ผืนป่า

9 เมษายน 2020


การประกาศลาออกจากการเป็นนายแบงก์ของ “บัณฑูร ล่ำซำ” เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ด้วยวัย 68 ปี อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่คนเราถึงเวลาที่จะใช้ชีวิตที่ 2 ที่ไม่ใช่อาชีพ “นายแบงก์” ที่ทำมาตลอด 40 ปี ตั้งแต่เรียนจบเพื่อมาสืบทอดภารกิจของตระกูลล่ำซำ

แต่จากนี้จะมี “ล่ำซำ” รุ่นต่อไปมาเป็นผู้บริหารกสิกรไทยหรือไม่ “บัณฑูร” บอกว่า “ไม่รู้ ไม่ใช่ลูกผมแน่ ส่วนลูกคนอื่นหรือเปล่า ผมไม่ทราบ แต่ไม่ค่อยมีแล้ว ‘ล่ำซำ’ แยกย้ายกันไปทำเรื่องต่างๆ ความเป็นเจ้าของโดยจำนวนหุ้นน้อยเต็มที ละลายหายไปกับวิกฤติเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีแต่ชื่อนามสกุลที่ทิ้งไว้เท่านั้น”

ก่อนมีข่าวการลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย “บัณฑูร” ได้ออกข่าว “กสิกรไทย” แบงก์ไทยรายแรกร่วมรับ “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” UN Principles for Responsible Banking เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน

  • “กสิกรไทย” แบงก์ไทยรายแรกร่วมรับ “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” UN Principles for Responsible Banking
  • แชร์กรอบความคิด “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร – ขัตติยา อินทรวิชัย” สองผู้นำหญิงกสิกรไทย
  • “น่านแซนด์บ๊อกซ์” แก้ปัญหาพื้นที่ทำกินรูปแบบคนอยู่กับป่า โจทย์ที่ต้องทำให้แจ้ง-ชาวบ้านต้องอยู่รอด ถ้าแพ้…ทุกอย่างพังเหมือนเดิม
  • โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” สร้างป่า สร้างรายได้… “สิ่งดีดีกำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน”
  • ในขณะที่บทบาทส่วนตัวของ “บัณฑูร” ได้ลงมาเล่นบทแกนนำคนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนในจังหวัดน่าน เพื่อพลิกฟื้น “ภูโกร๋น” คืนผืนป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญของประเทศมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี โดยโครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

    แม้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 แต่ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารได้พิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ในการประกาศยกย่อง โดยมอบฉายา “ประธานกิตติคุณ (chairman emeritus)” ให้แก่นายบัณฑูร ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า “ฉายา” นี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของธนาคารใดๆ ทั้งสิ้น

    “ฉายาไม่ต้องมีงานทำ ประธานกิตติคุณเขายกย่อง ก็ขอบคุณที่ยกย่อง แต่ผมก็ ไปๆ มาๆ ธนาคารกสิกรไทยจะปรึกษาอะไร ก็ปรึกษาได้ ผมไม่ได้อยู่ร่วมในคณะบริหารอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้อยู่ในคณะจัดการ คนรุ่นใหม่ก็ทำกันไป”

    ตำแหน่งประธานกิตติคุณ เป็นการยกย่องให้เกียรติที่นายบัณฑูรได้ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยเป็นเวลา 40 ปี ได้สร้างคุโณปการอย่างอเนกอนันต์ให้กับธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้นำองค์กรให้เจริญก้าวหน้า มั่นคงอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีธรรมาภิบาล สามารถนำธนาคารผ่านวิกฤติสำคัญของประเทศและของโลกได้หลายครั้ง จนทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบที่เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    การลงจากตำแหน่งในภาวะวิกฤติครั้งนี้ นายบัณฑูรกล่าวว่า…

    “การลงในภาวะวิกฤติ ดี แสดงว่าเชื่อมั่นในฝ่ายบริหารจัดการอย่างยิ่ง ลงตอนที่กำลังวุ่นวายเป็นการทดสอบทีมใหม่อย่างดีที่สุด รับมือกับจังหวะนี้ได้ ก็สอบผ่านรับมือภาวะต่อไป จังหวะนี้ดีที่สุดแล้ว”

    “คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ว่าผมไม่ได้ทำงานมาตั้งนานแล้ว เพราะว่างานประจำวัน คนอื่นทำหมดแล้ว ทีมงานทำมาได้ดี ทำให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วถึงได้ทิ้งไป ส่วนเหตุผลที่คณะกรรมการเลือกคุณกอบกาญจน์ (วัฒนวรางกูร) ขึ้นมาเป็นประธานกรรมการ เพราะเป็นคนเก่ง และคณะกรรมการกสิกรไทยเต็มไปด้วยบุคลากรที่เก่ง มีคุณภาพจากหลายแวดวงมาชุมนุมกัน ทำงานร่วมกันได้ดี คุณกอบกาญจน์เป็นคนที่มีประสบการณ์ด้านภาคธุรกิจ ภาครัฐ ทำให้มีมุมมองหลากหลาย เป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับในความมีคุณธรรม มีจริยธรรม จึงได้มีความมั่นใจว่าจะเป็นประธานกรรมการกสิกรไทยคนต่อไป

    ส่วนคุณขัตติยา (อินทรวิชัย) เป็นคนเก่งในแวดวงของการบริหาร ทำงานกันมาเป็นเวลานาน เป็นคนใจดี มีเมตตากับคนทั้งหลาย ผู้คนรัก มีความเฉียบคมในเทคนิคความรู้ทางการเงิน การจัดการ ก็เป็นเวลาของเธอที่ต้องรับโจทย์อันยากนี้ต่อไป และเชื่อว่าจะทำได้ดี”

    และการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน มีวางหมากในใจมานาน จัดชิ้นส่วนต่างๆ ให้ครบองค์ประกอบ จึงสามารถส่งต่อได้ด้วยความสบายใจ ไม่ใช่เพียงทั้งสองท่าน แต่คณะกรรมการ ทีมงาน ของธนาคารกสิกรไทยทุกระดับมีความพร้อมที่จะทำงานนี้ได้ต่อไป

    ที่ผ่านมาการทำงานต่างยึดหลักการ 4 ข้อ อย่ามั่ว อย่าไม่คำนวณ อย่าชุ่ย อย่าเหยียบตีนกัน

    • อย่ามั่ว เพราะมั่วคือความไม่ชัดเจน ตกลงกันอย่าง ออกไปทำอีกอย่าง ก็แก้ปัญหาไม่ได้
    • อย่าไม่คำนวณ ทุกอย่างมีตัวเลขกำกับ พูดลอยๆ เป็นนามธรรม ตัวเลขไม่ถึง ก็ไม่ได้ผล เหมือนเรื่องแก้ปัญหาป่า รายได้ประชาชนต่อไร่ไม่ถึง จะพูดอย่างไรก็แก้ปัญหาป่าไม่ได้ ถ้าพูดโดยไม่มีตัวเลขก็แก้ปัญหาไม่ได้
    • อย่าชุ่ย ทุกอย่างต้องมีความระมัดระวัง
    • อย่าเหยียบตีนกัน คือการรักษาสัมพันธภาพของคนอยู่ในทีมเป็นเรื่องใหญ่ ทะเลาะกันตลอดเวลาแก้ปัญหาไม่ได้
    เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา เป็นอีกวันหนึ่งที่คณะทำงาน “โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์” ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนจากชุมชนต่างๆ ของน่านทั้งจังหวัด ได้มาพบปะหารือกันอีกครั้งเพื่อแจ้งถึงความคืบหน้าของการแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ทำมาหากิน ที่บ้านนายบัณฑูร ล่ำซำ จ.น่าน

    ชีวิตที่ 2 หลังเกษียณ คืนชีวิตสู่ผืนป่า

    “บัณฑูร” เปิดใจว่าการลาออกในครั้งนี้ …เป็นมิติใหม่สำหรับผม เป็นการเริ่มต้นอีกฉากหนึ่งของชีวิต ฉากการเป็นนายธนาคาร ทำเต็มที่แล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอะไรมากกว่านี้ ทีมงานที่รับช่วงต่อไม่ว่าระดับคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ ผมมีความมั่นใจ 100% เพราะเป็นคนเก่งด้วยกันทั้งนั้น คนอายุมากก็หันไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่ก็ยังอิงธนาคารกสิกรไทยอยู่ ในฐานะที่จะสนับสนุนโครงการที่เลือกที่จะทำ

    “วันนี้พูดได้เต็มปากว่าทำแบงก์มา 40 ปี พอสมควรแก่เวลา ถือว่าส่งต่อได้อย่างดี ผมไม่มีความกังวลอะไร นอกจากไม่กังวลแล้วยังมีความสุข ไม่ต้องทำซ้ำแบบเดิม หาของใหม่ที่น่าสนใจทำ แต่ทุกอย่างทำด้วยกัน ใครมีกำลังมากก็ช่วย สถาบันการเงินมีทรัพยากรเงิน มีทรัพยากรบุคลากร ก็ช่วยได้ หลายคนก็ทำอย่างนี้”

    “ดังนั้นในวันนี้ต้องถือว่าจบฉากเดิมค่อนข้างสบายใจทีเดียว ลูกบอกว่า พ่อไม่ต้องทำแบงก์แล้ว ทำอย่างอื่นบ้าง ทำเรื่องทรัพยากรต่างๆ ทุกคนช่วยกันตามความถนัด ผมก็เลือกที่จะมาทำด้านนี้ ก็ยังป้วนเปี้ยนอยู่ที่กสิกรไทย เพราะต้องใช้ทรัพยากรแบงก์ ไปช่วยงานขั้นหนึ่ง ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิตผม”

    พร้อมกล่าวว่า “สิ่งใหม่ที่จะทำ เป็นอาชีพหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่งานนี้เป็นงานที่ท้าทาย เป็นโลกกว้างของการจัดการ หลากมิติมาก กว่าเดิมเยอะ แต่เป็นสิ่งที่อยากจะทำ การที่รัฐเปิดโอกาสให้หาทางแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำน่าน ก็สามารถใช้ประสบการณ์ที่ทำงานกับธนาคาร เอาไปมองโจทย์ที่กว้างออกไปเพื่อวางยุทธศาสตร์ หาองค์ความรู้ หาคนประเภทไหนมาช่วยงาน เช่น สร้างอาชีพในระดับท้องถิ่นที่ต้องไปโยงกับป่า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ”

    เมื่อถามถึงแรงจูงใจที่มาทำเรื่องนี้ บอกว่า…

    มองว่าต้องทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ ชีวิตถึงจะมีความหมาย นั่งเฉย ชีวิตหงอยเหงา ทำอะไรที่ยังทำได้ ในช่วงสุขภาพดีอยู่ ก็ทำไป มีกำลังที่จะคิดหาความรู้ใหม่

    โจทย์ของป่าต้นน้ำน่านที่จะต้องทำให้คนอยู่กับป่าให้ได้ จะต้องมีองค์ความรู้ของการทำมาหากินแบบใหม่ ปลูกพืชแบบเดิม ขายของแบบเดิมรับรองไม่พอกิน พอไม่พอกิน ก็ต้องกลับไปทำลายป่า กลายเป็นโจทย์วนเวียนอยู่แบบนี้ ผมก็ไม่รู้องค์ความรู้ใหม่คืออะไร ก็ต้องไปหา หาเองด้วย หาคนที่มีความรู้มาช่วยกัน อันนี้เป็น โจทย์สำคัญอย่างยิ่งของมนุษย์ ถ้าโจทย์แบบเดิม แก้ปัญหาแบบเดิม ก็คือแก้ไม่ได้ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมหลายๆ ที่ ย่ำทำแบบเดิมอยู่

    ดังนั้นจึงเป็นการเผชิญกับความท้าทายของบริบทใหม่ในการทำมาหากินของประชาชน ในเรื่องการสร้างอาชีพแบบใหม่ การแบ่งปันของผลประโยชน์เศรษฐกิจแบบใหม่ เกลี่ยกันไป เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้ ไม่งั้นคนอยู่ไม่ได้

    นายบัณฑูร ล่ำซำ พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องโครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์

    ยิ่งประสบปัญหาโรคระบาดเช่นนี้ นี่คือโจทย์ใหญ่ ตอนนี้ทุกคนแตกสลาย ตกงานกันไป กลับไปต่างจังหวัด หลังโรคระบาดจะทำมาหากินอะไร หรือจะทำแบบเดิม ประเทศนี้จะหาวิชาชีพแบบใหม่ให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ดีกว่าเดิม หนีไม่พ้นจากการมีความรู้ใหม่ ความรู้เดิมไม่พอ เพราะโลกมีการแข่งขันกันมาก ต้องหาความรู้ใหม่ ความรู้ใหม่จากระบบการศึกษา จากการวิจัยต่างๆ ที่ต้องทำขึ้นมา ประเทศที่ไม่มีการพัฒนาความรู้ ไม่มีทางสู้ใครเขาได้ ไม่มีทางที่ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวมจะดีขึ้นได้

    ต้องพร้อมรับพายุเสมอ

    ในห้วงเวลานี้ซึ่งเป็นเวลาแห่งความตึงเครียด ความเดือดร้อนกันทั่วหน้าในวิกฤติของโรคระบาดนั้น ผมก็อดไม่ได้ที่จะหวนคิดกลับในช่วง 20 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยและคนไทยทั้งประเทศเผชิญกับวิกฤติอีกแบบหนึ่ง คือวิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดความล่มสลายกันทั้งประเทศเช่นกัน

    ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนั้น ทุกคนพยายามแก้ปัญหาอันสืบเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งนั้น ผมจำได้ว่าในทุกวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีในช่วงเวลานั้น พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออกที่ศาลาดุสิตาลัย หนึ่งวันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อพระราชทานพระราชดำรัส ให้กับคนไทยทั้งประเทศ ดูกันทั้งประเทศถ่ายทอดทางทีวี แต่ผมโชคดีได้ไปนั่งในที่นั้น ในศาลาดุสิตาลัย เป็นบุญหู บุญตา บุญปัญญา ที่ได้ฟังจากพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง ถึงปัญหาต่างๆ และทางออกต่างๆ ที่คนไทยจะคำนึงถึง

    พระเจ้าอยู่หัวที่อยู่บนฟ้าทรงกระทำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ด้วยความมีพระเมตตามหาศาลกับคนไทยทั้งประเทศที่เผชิญปัญหาต่างๆ

    ในครั้งนั้นที่มีพระราชดำรัส ผมจำได้เป็นเวลาที่ทรงเริ่มแนะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยเข้าใจ ก่อนหน้านั้นไม่มีปัญหา คนจะคิดว่าอะไรๆ ก็ดีไปหมด จนกระทั่งเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ทำให้คนรู้สึกว่าความเสียหายเกิดขึ้นได้

    ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระเจ้าอยู่หัวที่อยู่บนฟ้าพระราชทานให้คนไทย ก็คือเรื่องที่มาพูดกันในสมัยใหม่ว่า sustainability ความยั่งยืน คือ ทำอย่างไร อยู่ต่อได้ ชีวิตมนุษย์อยู่ได้อย่างดี ไม่ล่มสลายไปกับพายุที่จะพัดเข้ามา น่าจะเป็น sustainability และ philosophy practice มากกว่า ทำอย่างไรให้ชีวิตโดยรวมทั้งคน ทั้งองค์กร รวมทั้งประเทศชาติด้วยไม่ล่มสลายได้ง่าย

    ในครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า “ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้แน่ใจว่า ถ้าวันหนึ่งพายุมา ก็อย่าถึงกับล่ม” หมายความว่า อย่าทำจนสุดโต่งเกินไป ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการ เพราะโลกมนุษย์มีความผันแปรด้วยปัจจัยต่างๆ มากมายซึ่งเรานึกไม่ถึง ถ้าไม่เตรียมการ ไม่ระวังในมิติต่างๆ เมื่อวิกฤติมา เมื่อพายุมา ก็จะเกิดความเสียหายได้ เหมือนกับ 20 ปีที่แล้ว ก็ล่มสลายกันโดยถ้วนหน้า

    พระราชดำรัสนั้นยังก้องในหู ในวิญญาณของผมจนทุกวันนี้ว่า ครั้งต่อไปที่พายุมา ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน ในรูปแบบวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง ในรูปแบบของโรคระบาด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็น พายุใหญ่พัดทั้งโลก ทั้งที่เศรษฐกิจยังเดินได้ดีอยู่ กลายเป็นว่าไม่ดีชั่วข้ามคืน เพราะคนไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ

    พายุที่อาจจะมาในรูปแบบการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานที่ดีของชีวิต ที่ดีของโลกมนุษย์ ดิน น้ำ ลมไฟ ปัจจัยที่คนถือเอาว่ายังดีอยู่ แต่ความจริงแล้วมีความเสียหายเกิดขึ้น แม้กระทั่งพายุรูปแบบความไม่สงบทางสังคม ความเห็นต่าง ร่ำรวย ยากจน ต่างกัน จนในที่สุดไม่สามารถอยู่กันแบบสงบสุข ล้วนเป็นพายุของมนุษย์ทั้งนั้น

    คำถามคือ เราเตรียมการอะไรให้แน่ใจว่า เมื่อพายุนั้นมา วิกฤติเศรษฐกิจก็ดี โรคระบาดร้ายแรงก็ดี การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติก็ดี ผู้คนพูดกันไม่รู้เรื่องก็ดี ทะเลาะกันจึงขั้นล่มสลายไหม เป็นอะไรที่วนเวียนอยู่ในหัวสมองตลอดเวลาในแต่ละวันทำงานแบงก์

    ในช่วงหลังวิกฤติครั้งนั้น ผ่านมา 20 ปีแล้ว เศรษฐกิจดีขึ้นมากว่าเดิม ผู้คนมั่งคั่งขึ้นมากว่าเดิมเยอะ ทำให้ดูเหมือนว่าจะลืมๆ กันไปว่า พายุจะมาได้อีกรอบ ซึ่งก็มาให้เห็นแล้วในรอบนี้ ในรูปแบบโรคระบาด และจะมีพายุมาอีกในรูปแบบอื่นๆ

    คำถามก็คือ มนุษย์ โดยเฉพาะในประเทศไทย สามารถรับมือกับพายุได้หรือไม่ รู้ไหมว่าจะต้องเตรียมการอะไรบ้าง เวลาที่เกิดเรื่องขึ้น ก็ทำนายลำบาก ช่วงเวลาที่ดีๆ ก็จะรู้สึกไม่เป็นอะไร

    เอาเรื่องของธนาคารก่อนก็ได้ ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าฟื้นจากความเสียหายครั้งนั้น ทุกอย่างเป็นด้วยดี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ผมได้พูดในหลายเวที รวมทั้งกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยว่า ความเสี่ยงมีตลอดเวลา ความเสี่ยงเกิดจากมนุษย์ โดยผ่านกลไกของระบบการเงิน มีการลงทุนอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ใช่ สำหรับการทำมาหากิน แต่ความเสี่ยงหากทำเกินตัวจะเกิดผลเสียหาย หวังว่ามาตรการต่างๆ ที่ใส่ไว้ จะกันไม่ให้เราไปถึงจุดนั้น

    “ผมจำได้ในปี 2540 เรานึกไม่ถึงว่า พายุจะมาทีเดียว ล่มเลย”

    ครั้งนี้ดูเหมือนว่าใส่มาตรการต่างๆ ไว้ขั้นหนึ่ง แต่คำถามว่าใส่ครบไหม ไม่แน่ใจ เพราะพายุยังมาไม่ถึง ถ้าพายุมาใหญ่ มาตรการต่างๆ ที่เตรียมไว้ก็อาจจะไม่พอ แต่ก็โชคดีที่โรคระบาดครั้งนี้แม้กระทบเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างความมั่นคง สถาบันการเงินได้ตุนเสบียงสำรองไว้พอสมควร ครั้งนี้แม้ก่อให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากคนทำงานไม่ได้ ค้าขายไม่ได้ตามปกติ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังรับได้ ก็คงสูญเสียกำไรกันไป ไม่ใช่เรื่องใหญ่ รับได้ แต่ถ้าไม่มีทุนสำรองไว้เลย ก็จะเดือดร้อน

    ดังนั้นตอนนี้ การฟื้นฟู รัฐบาลก็จะเยียวยาช่วยผู้ประสบความเดือดร้อนทั้งผู้ประกอบการและประชาชน ก็สามารถที่พิงระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้ขั้นหนึ่ง ตราบใดที่ไม่ยังไม่พิงจนล้มทั้งหมด ก็น่าจะพอยังรับได้ แต่ก็ต้องดูว่าโรคระบาดลากยาวแค่ไหน ยิ่งลากยาว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็มาก ก็หวังว่ามาตรการที่ทำอยู่และเข้มข้นมากขึ้นทุกวันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายแพทย์…ดูเหมือนว่าจะมีความหวัง

    นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเราเตรียมการไว้ขั้นหนึ่ง มีเสบียงรองรับไว้ขั้นหนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้กู้เงินมากเกินไป ครั้งนี้พอจำเป็นที่จะกู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ ก็พอที่จะมีช่องให้ทำได้ แต่ก็ตึงๆ หลังจากนี้อยู่บ้าง รัฐบาลก็จะตึง ธนาคารก็จะตึง ระบบการเงินก็จะตึง

    แต่ยังเชื่อว่ารับได้ แต่ต้องคิดว่า ตอนจบต้องกลับมาทำมาหากินกันอีก ไม่ใช่แค่เยียวยากันไปแล้วไม่เป็นไร คราวนี้ก็คิดกันหนักว่าจะทำมาหากินอะไร เงินลงทุน เงินสินเชื่อพอหาได้ แต่จะให้ประชาชนคนไทยทำมาหากินอะไร เป็นเรื่องขององค์ความรู้

    “ผมว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เป็นพายุที่ก่อตัวอีกแบบ คือพายุที่ไม่มีสามารถที่จะแข่งขันกับเขาได้ในโลกนี้ ความรู้ใหม่ต้องสร้างขึ้นมา เพราะความรู้เดิมใช้ไม่ได้”

    แม้กระทั่งช่วงหลังได้ยินว่าสืบเนื่องงบประมาณจำกัด งบการสนับสนุนการวิจัยต่างๆ ถดถอยไป ประเทศจะไม่มีการวิจัยอะไรเลยไม่ได้ ต้องมี รัฐต้องทำในส่วนของรัฐ เอกชนทำได้ขั้นหนึ่ง บริษัทใหญ่สามารถลงทุนในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ สถาบันวิจัยที่มาจาการสร้างของเอกชนก็มี ตัวอย่าง สถาบันวิทยสิริเมธี ของ ปตท. ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้าง วันนี้เป็นประโยชน์ ได้คิดค้นเครื่องมือทดสอบไวรัส ทันการณ์ ทันเวลาที่จะใช้ ด้านอื่นๆ อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ธนาคารกสิกรไทยก็มีความคิดที่จะทำเช่นนั้นเช่นกัน ต้องช่วยกันในทุกภาคส่วนของประเทศ

    เมื่อพูดถึงองค์ความรู้ ผมจะมุ่งในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผมคือ ความรู้เกี่ยวกับการเกษตร เพราะโยงกับการรักษาทรัพยากรป่าของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สนใจเป็นการส่วนตัว แต่ดึงกสิกรไทยมาเกี่ยวข้องด้วยใน ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะป่าต้นน้ำแห่งใหญ่ของประเทศที่จังหวัดน่าน เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ฝ่ายรัฐ เอกชน ที่ร่วมมือกันเพื่อหาทางการแก้ไขความสูญเสียป่าต้นน้ำน่านที่ไม่น้อยเลย ในครรลองของความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ทั้ง ประชาชนที่มีที่ทำกินถูกต้องตามกฎหมาย ให้ทั้งป่าที่ถูกทำลายเอาไปทำพืชไร่ต่างๆ กลับคืนมาได้

    องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ความรู้ใหม่ของการทำมาหากินเกษตร ซึ่งต้องหาให้ได้ทันการณ์ทันเวลา มิฉะนั้น คนที่ทำมาหากินไม่ได้ ก็จะไม่สามารถรักษาป่ารักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้ ไม่ใช่แค่ปลูกป่าเพียงอย่างเดียว

    เหล่านี้คือเป้าหมายของมนุษย์คนหนึ่งที่พึงทำได้ และจะทำต่อไป…