การลงจากตำแหน่งประธานกรรมการของนายบัณฑูร ล่ำซำ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงสองคนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของแบงก์กสิกรไทยตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563
คนหนึ่งเป็นกรรมการอิสระมานานพอสมควร ก่อนจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานกรรมการ ขณะอีกคนเป็นลูกหม้อที่อยู่แบงก์มายาวนาน ไต่เต้าจนมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นับเป็นตำแหน่งสูงสุดที่ไม่ใช่ตระกูล “ล่ำซำ” ในฐานะผู้ก่อตั้งแบงก์กสิกรไทยมาตั้งแต่ต้น
การเปิดตัวในเวที HER TALK ของ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย และ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จึงได้ปรากฎขึ้นในวันที่ 7 เมษายน 2563 เป็นการพูดคุยกับสื่อมวชนผ่านออนไลน์ ถึงแนวทางการทำงานและขับเคลื่อนองค์กรหลังจากนี้ไป
นางกอบกาญจน์ เคยร่วมงานในฐานะกรรมการอิสระมาแล้วในปี 2554 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อพ้นจากตำแหน่งได้กลับมาร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยอีกครั้งเดือนเมษายน 2561 ในฐานะรองประธานกรรมการและประธานกรรมการอิสระ ควบคู่กับประธานกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ต่อมาเดือนตุลาคม 2561 ได้ทำหน้าที่ประธานกรรมการกากับความเสี่ยงเพิ่มเติม ขณะที่ยังทำหน้าที่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และเป็นที่ปรึกษา หอการค้าไทย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี (สถาปัตยกรรมศาสตร์) Rhode Island School of Design สหรัฐฯ
ด้านนางสาวขัตติยา เริ่มทำงานกับธนาคารในปี 2530 สำเร็จการศึกษา ปริญญาโท (บริหารธุรกิจ-การเงินและการลงทุน) University of Texas at Austin สหรัฐฯ จากการเป็นนักเรียนทุนธนาคารกสิกรไทย หลังจากสำเร็จปริญญาตรี (บริหารธุรกิจ-การตลาด) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ด้านสินเชื่อ ยทธศาสตร์องค์กร การตลาด การเงิน เทคโนโลยีทรัพยากรบุคคล ผ่านเหตุการณ์สำคัญมาตั้งแต่ยุค re-engineering ปี 2553 ผ่านวิกฤติการเงินปี 2540 และ K-Transformationปี 2550
แชร์หลักการทำงาน
นางกอบกาญจน์กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของเราทั้งสองคนในฐานะตำแหน่งใหม่ที่ได้มาพบปะกับสื่อมวลชน เพื่อเล่าให้ฟังถึงการดำเนินงานของธนาคารกสิกรไทยว่าจะก้าวไปทางไหน ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ โดยในฐานะประธานกรรมการขอเริ่มจากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ และการกำหนดทิศทางของธนาคารกสิกรไทย
นางกอบกาญจน์กล่าวว่า ในฐานะคณะกรรมการ บทบาทของของเรามีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และกำกับดูแล เพื่อให้ธนาคารดำเนินการให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและบริหารความเสี่ยงให้พอเหมาะ สิ่งสำคัญที่เราจะทำ อย่างแรก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการกับฝ่ายจัดการ ซึ่งจะต้องเป็นความสัมพันธ์ที่มีอิสระต่อกัน แต่ทำงานร่วมกัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการมีความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ในการดำเนินธุรกิจประจำวันของธนาคาร ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การดำเนินการ การตัดสินใจ การปฏิบัติการ
คณะกรรมการมีหน้าที่ในการให้ข้อคิดเห็น กับแผนปฏิบัติที่เสนอมา เสนอกลยุทธ์ติดตามดูแลผลงานและการปฏิบัติการของธนาคารให้เป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ให้มีประสิทธิภาพ ดุแลให้การดำเนินธุรกิจต่อเนื่องในระยะยาว และที่สำคัญ แผนพัฒนาพนักงานและแผนสืบทอดตำแหน่งของผู้บริหารหรือ succession plan ด้วย
ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับการสรรหาบุคคลชั้นนำ ที่มีการพัฒนาทักษะ มีความรู้ความสามารถหลากหลาย รวมทั้งมิติความหลากหลายทางเพศด้วย เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการธนาคาร เพื่อให้มีส่วนผสมครบทุกมุมมอง หลากหลาย กว้างไกล ครอบคลุมในทุกมิติ
“ปัจจุบันคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยมีสัดส่วนผู้หญิงมากถึง 41% มีจำนวน 7 คน จาก 17 คน เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในระบบธนาคารไทย เรามีกรรมการอิสระถึง 9 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ แสดงว่าเราเน้นการเป็นธนาคารที่ทำงานอย่างมืออาชีพ” นางกอบกาญจน์กล่าว
นางกอบกาญจน์กล่าวว่า หลักการทำงานที่ถือปฏิบัติอยู่เสมอในการทำงานเป็นผู้บริหารธุกรกิจองค์กรเกือบ 40 ปี รวมทั้งการเป็นกรรมการกสิกรไทยมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สำคัญที่อยากจะฝากไว้มี 3 เรื่อง
หนึ่ง สร้างคน สร้างคนให้มีแรงบันดาลใจ ดึงสิ่งที่ดีของเขาออกมา เพื่อให้เขากล้าคิด กล้าคิดนอกกรอบ กล้าทำ
สอง ทำให้คนเก่งเหล่านั้นร่วมมือกันในทิศทางเดียวกัน เราอาจจะมีคนเก่งจากหลายมิติ แต่เราต้องใจเดียวกัน ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน เราถึงจะมีพลังขับเคลื่อนองค์กรของเราไปสู่ฝันที่เราตั้งไว้
สาม สำคัญที่สุดในฐานะผู้นำ เราต้องเข้มแข็ง ต้องมีสติ ต้องมีวินัย มีความนึกคิดในการตัดสินใจ ตั้งมั่นในการทำงานบนความถูกต้อง ความเสมอภาค ทำให้เราเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป
“ขอถือโอกาสนี้แนะนำคนรุ่นใหม่ที่เริ่มการทำงานและการใช้ชีวิต ทำอย่างไรจะให้ประสบความสำเร็จ และมีความสุข ต้องมีจุดยืน ต้องมีปรัชญาในการดำรงชีวิต ปรัชญาในการทำงาน เพื่อที่ว่าจะได้แน่วแน่ไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ ของดิฉันเองคือ การนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” นางกอบกาญจน์กล่าว
การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่สำคัญว่าจบอะไรมา หรือประสบความสำเร็จในอดีต วันนี้และวันข้างหน้าสำคัญกว่า อะไรที่อยู่ในตำราวันนี้อาจจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญคือเท้าติดดิน รับฟังความเห็นของผู้อื่น ความรู้ไม่ได้มาจากตำราแล้ว ในโลกอนาคต เราต้องกล้าที่จะรับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้าง
พระอาทิตย์จะขึ้นใหม่เสมอ
และสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องเก่งคน “การเก่งคน” เป็นสิ่งที่ยากที่สุด ทรัพยากรคนมีคุณค่ามากกว่าเงินที่เรามี มากกว่าเทคโนโลยี มากกว่าเครื่องจักรที่เรามี ทำอย่างไรที่เราจะสามารถครองใจคนของเรา เพื่อที่ให้เขาทุ่มเทชีวิตของเขาทำงานไปกับเราเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย
“ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากให้ก้าวต่อไป หนึ่ง ขอให้คิดว่า ทุกคนมีโอกาส อย่างเช่น คุณขัตติยา โอกาสจะมาเมื่อไรบอกไม่ได้ แต่ขอให้เชื่อมั่น สอง ขอให้ตั้งใจพัฒนา ทำทุกวันให้ได้ดีที่สุด รักในสิ่งที่ทำ เป็นได้ว่าเราถูกให้ทำในสิ่งที่เราไม่รักในตอนต้น แต่เรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่เราต้องทำได้ เพราะเมื่อเราทำด้วยความรัก เราจะทำด้วยใจ และเมื่อเราทำด้วยใจเราจะทำด้วยศรัทธา ถ้าเรามีใจรักศรัทธาในสิ่งที่เราทำ เราล้มกี่รอบก็แล้วแต่ เราจะมีพลังลุกขึ้นมาใหม่ เพราะนั่นคือชีวิตของเรา” นางกอบกาญจน์กล่าว
พร้อมกล่าวย้ำว่า…
ต้องเชื่อมั่นในประเทศ เชื่อในจังหวัดที่เราอยู่ เชื่อมั่นในธุรกิจที่ทำ เรามักจะมองสนามหญ้าหน้าบ้านคนอื่นเขียวกว่าเรา เราบางทีคิดว่าธุรกิจเราพระอาทิตย์หรือเปล่า ถ้าเผื่อเราปล่อยตก ก็จะตกทันที แต่เราเห็นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ ซึ่งดิฉันคิดว่าในทุกๆ ที่มีสิ่งดีๆ อยู่ เรากล้าหาญสร้างสรรค์ พระอาทิตย์จะขึ้นใหม่เสมอ ในธุรกิจของเรา ในจังหวัดของเรา และในประเทศของเรา
นางกอบกาญจน์กล่าวว่า คุณขัตติยาเองก็ได้พัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง ก็ขอให้คุณขัตติยาเล่าถึงการพัฒนาตัวเองเพื่อแบ่งปันประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่
คำว่า “โชคดี” ไม่มีจริง
นางสาวขัตติยากล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่า…
คำว่า “โชคดี” ไม่มี แต่มีคำหนึ่ง คือ life is what happens when preparation meets opportunity หมายถึง ทุกอย่างเราต้องเตรียมพร้อม เราต้องเสริมสร้างพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาสเข้ามาเราจะผสมกับความพร้อมของเราบวกกับโอกาส สร้างสิ่งใหม่ๆ ดีๆ ได้
“เราไม่ควรจะหยุดเรียนรู้ เราควรจะพัฒนทักษะใหม่ๆ ไม่มีใครแก่เกินจะเรียน ดิฉันเองยังเรียนหนังสืออยู่ ผ่านระบบออนไลน์ เรื่อง design thinking เพราะเป็นทักษะใหม่ในวันนี้ รวมทั้งได้เริ่มเรียนภาษาจีนเพื่อรองรับกับการเป็นธนาคารในภูมิภาค” นางสาวขัตติยากล่าว
นางสาวขัตติยากล่าวว่า กสิกรไทยเป็นองค์กรที่ให้โอกาส ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมไว้ บางครั้ง unlearn สิ่งที่เราเรียนมาแล้ว และ relearn สิ่งใหม่ๆ เข้าไป ในโอกาสที่กสิกรไทยให้กับทุกครั้ง คือการ เปิดโอกาสให้แสดงความสามารถ และจะผสมผสานคนแต่ละรุ่น ความเก่งในหลายมุมที่เรียกว่า multi-disciplinary เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่คนเก่งหลากหลายมุมทำงานร่วมกันได้ ให้ประสบการณ์ต่างๆ ผสมผสานกัน สร้างสิ่งดีไปในอนาคต
สำหรับหลักการทำงาน มองไปข้างหน้า ก็ต้องบริหารเวลาให้ดีขึ้น ทำในสิ่งที่ซีอีโอสามารถทำได้ งานชิ้นอื่นที่คนอื่นทำได้ก็ให้คนอื่นทำ และมาดูว่าประธานเจ้าหน้าที่บริหารต้องทำอะไร ก็จะไปมุ่งตรงนั้น
นอกจากนี้ การที่จะเพิ่มอำนาจให้ลูกค้าได้ เราต้องเพิ่มอำนาจให้ทีม ต้องเชื่อมั่นในทีมงานของเรา และต้องดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้งานสะดุด
สุดท้าย เป็นเรื่องความสุข ความสมดุลในชีวิต คนมักจะพูดถึง work-life-balance ในประสบการณ์ของตัวเอง เมื่อเราทำงานหนัก ต้องหาเวลาพัก ซึ่งการพักของเรา หรือการเติมพลัง อยู่ที่ว่าสิ่งที่เติมพลังของเราคืออะไร อาจจะเป็นครอบครัว คนที่รัก การออกกำลังกาย ในการทำงานเราหาความสุข หรือพัฒนาตัวเองได้ด้วย เมื่อเหนื่อยแล้วกลับไปเติมพลัง และกลับไปทำงานใหม่ ไม่ใช่การแบ่งเวลาการทำงานและแบ่งเวลาให้ครอบครัว แต่เป็นการเสริมกัน ทำให้มีพลังและกลับมาทำงานใหม่ได้
จับมือฝ่าวิกฤติโควิด
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของธนาคาร นางกอบกาญจน์กล่าวว่า ในปีที่ผ่านเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวจากหลายปัจจัย สิ่งสำคัญคือ ดิสรัปชันของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทำให้สะเทือนทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจของธนาคาร จะต้องปรับตัวอย่างเข้มข้น ธนาคารเองต้องทำตัวให้มีความหมาย ทำให้ผู้บริโภค ซึ่งคือลูกค้าของธนาคารใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ และทำให้ลูกค้าธุรกิจสามารถต่อยอดและขยายธุรกิจต่อไปได้ด้วยมือของเขาเอง
เศรษกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความยากลำบากจากการระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อคนทุกชนชั้น ในประเทศไทยการติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวออกมาในบางช่วงเวลา กระทบการใช้ชีวิตของคนอย่างกว้างขวาง ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 5% หากสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ภายในไตรมาสสอง แต่ยังมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ การลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัว 3% แต่รัฐต้องเร่งผลักดันการลงทุนออกมาในปีนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนบอบช้ำพอสมควรน่าจะติดลบ 5%
โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภค อย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องช่วยกันร่วมฝ่าฟันภาวะวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้ สิ่งแรกคือ ต้องมีความเชื่อมั่น เราต้องเชื่อมั่นในประเทศไทย เราต้องเชื่อมั่นในรัฐบาล เชื่อมั่นในสาธารณสุขไทย พวกเราทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ปฏิบัติตนอย่างคร่งครัดในกติกาที่รัฐบาล ราชการ ออกมา และองค์กรที่เราสังกัดอยู่ เพื่อให้สถานการณ์จบโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ความสามัคคีของคนไทย เราอาจจะมีความคิดที่แตกต่างกันไปได้ แต่ ณ วันนี้เราไม่มีเวลา ต้องก้าวไปข้างหน้า ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ให้บุคลการทางแพทย์ทำงานให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
การช่วยเหลือกันของประเทศไทยของชนทุกชั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การพึ่งพาความช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างเดียวบางครั้งไม่ทันและไม่เพียงพอ แต่เราต้องทำให้วิกฤติเป็นโอกาส เป็นโอกาสให้เราได้หยุด ได้คิด ตั้งสติ ทบทวนกับสิ่งที่เกิดขึ้น การทำธุรกิจของเรา เพื่อวางแผนไปข้างหน้า ให้บทเรียนนี้ทำให้เราเติบโตไปอย่างมั่นคงแข็งแรง โดยตระหนักว่า ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เราต้องร่วมมือกันดูแล เข้าใจและรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีกว่าที่ผ่านมา
ทิศทางของธนาคารกสิกรไทย จะเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือลูกค้า พร้อมทั้งมาตรการหนุนทางเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อลดทอนผลกระทบทางธุรกิจภายในประเทศ ธนาคารเป็นตัวจักรสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากฝ่าวิกฤติโควิด-19 ธนาคารกสิกรไทยจะต้องยืนหยัดเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศที่จะสร้างความเข้มแข็งและแข็งแกร่งต่อไป เพื่อรองรับสิ่งท้าทายใหม่ที่จะเกิดในอนาคต
ในฐานะประธานกรรมการได้ประเมินฝ่ายบริหาร พื้นฐานศักยภาพของธนาคารแล้ว ยังมั่นใจว่าเรายังคงแข็งแกร่ง และมั่นใจว่าเราจะยังคงความแข็งแกร่ง และที่สำคัญเชื่อมั่นในฝ่ายจัดการว่า จะบริหารจัดการให้ก้าวพ้นโจทย์วิกฤติโควิด-19 ไปพร้อมๆ กับการสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรองรับการดิสรัปชันและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอนาคตได้
นางสาวขัตติยากล่าวถึงความรู้สึกในการรับตำแหน่งใหม่ว่า การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้สถานการณ์ขณะนี้มีความท้าทายมาก ทั้งภัยแล้ง ทั้งถดถอย ดิสรัปชัน และโควิด-19 ธนาคารมีหลายบทบาทด้วยกัน อย่างแรก ต้องดำเนินธุรกิจ เราต้องพยายามทำให้ผลประกอบการดี ในขณะเดียวกันเราต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด อย่างสอง ธนาคารที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภายใต้ความยากลำบากนี้เรายังต้องทำให้ระบบการเงินการธนาคารของประเทศฝ่าฟันไปได้
เป้าหมายเรายังเหมือนเดิม แต่ภายใต้เหตุการณ์นี้ บริบทได้เปลี่ยนไป เป้าหมายของเราคือ Empower Every Customer’s Life and Business เพิ่มอำนาจให้กับทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า และในการที่จะทำให้อย่างนี้ได้ เราต้อง Pioneer for the Better and Step Ahead Forever ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องไปดักทาง อ่านทางไปก่อนเพื่อที่จะได้พาลูกค้า ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วย ซึ่งธนาคารได้ประกาศ 8 เส้นทางสู่การยกระดับองค์กร หรือ 8 Transformation Journeys ไว้ก่อนหน้านี้
ในช่วงแห่งความท้าทายนี้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ ต้องทำให้คนไทย ลูกค้า และธนาคารผ่านวิกฤติไปด้วยกัน การปรับโครงสร้างหนี้ที่ต้องทำให้เร็ว เข้าถึงคนที่ลำบากจริง ลดต้นทุนการทำงาน เพื่อให้เข้าถึงคนที่ธนาคารยังไม่เคยให้บริการมาก่อน รวมทั้งช่วยผลักดันมาตรการภาครัฐให้ถึงคนที่ใช่ให้เร็วที่สุด ให้ถึงคนจำนวนมากที่สุด และในระบบธนาคาร ให้ระบบการชำระเงินของประเทศยังเดินไปได้
“เป็นความท้าทายที่หนักทีเดียว แต่หากเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ครั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแล้ว ภาระหนี้ต่างประเทศไม่สูง ไม่มีการเก็งกำไรในหุ้นหรือในอสังหาริมทรัพย์เหมือนในครั้งต้มยำกุ้ง และครั้งนี้มาตรการความช่วยเหลือต่างของรัฐมาเร็วกว่าคราวก่อน แต่ครั้งนี้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การเติบโตเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยเติบโตมาระยะหนึ่งแล้ว หนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง เมื่อมาเจอโควิด-19 เหตุการณ์นี้เป็นโจทย์ของทั้งโลก ทุกประเทศ และทุกบริษัท”
กสิกรไทยและทุกธนาคาร เชื่อมั่นว่ามีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง กสิกรไทยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 มากกว่า 16% เราตระหนักว่าเงินกองทุนเป็นสิ่งสำคัญ จึงร่วมกับกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหาร ติดตามอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ non-performing loan (NPL) ภายใต้เหตุการณ์แบบนี้ NPL ย่อมเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่อยู่ในระดับที่จัดการได้ เพราะมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และมีทีมงานที่มีการจัดการอย่างดี
“เราไม่มีนโยบายลดพนักงาน จะดูแลพนักงานทุกคน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เรารู้ว่าสุขภาพของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ก็จะดูแลพนักงาน เพราะฉะนั้นจะมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อให้พนักงานและลูกค้าที่มาใช้บริการปลอดภัย โดยรวมเชื่อมั่นว่าจะผ่านไปได้” นางสาวขัตติยากล่าว
นางสาวขัตติยากล่าวอีกว่า ภายใต้ความท้าทาย โจทย์เร่งด่วน นอกเหนือจากการทำธุรกิจและให้ธนาคารผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ต้องพาลูกค้าพาประชาชนและระบบการเงินของทั้งประเทศผ่านไปได้ เพราะเราเป็นธนาคารหลักแห่งหนึ่งของประเทศ และจะเป็นธนาคารหลักของภูมิภาคนี้ด้วย
Infinite Game มุ่งมั่นในเป้าหมาย
สำหรับการวางแผนธุรกิจหลังผ่านวิกฤติ นางสาวขัตติยากล่าวว่า กสิกรไทยหวังว่าเราจะเป็นองค์กรที่ใหญ่ คล่องตัว ได้ยินลูกค้าต้องการอะไร ก่อนที่ลูกค้าจะคิดว่าต้องการอะไร มองไปดักทางได้ว่าลูกค้าต้องการอะไร นอกจากนี้ต้องการที่ตอบโจทย์ stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อที่ว่า เราจะได้เป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ส่วนคู่แข่งจะยังมีมากและเก่งในสิ่งที่เขาทำ แต่เราก็มีดี
ในการทำธุรกิจไม่มีวันจบ เป็น infinite game มีบางจังหวะเรานำ บางจังหวะที่ตาม
แต่เนื่องจากเกมไม่มีวันจบเราจึงพยายามมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย ที่ชัดเจนคือ Empower Every Customer’s Life and Business ซึ่งเชื่อว่าทำสำเร็จแน่นอน เพราะเราแบ่งเป็น 2 ทีม ทันหนึ่งจัดการโจทย์ปัจจุบัน อีกทีมจัดการโจทย์อนาคต ดังนั้นเมื่อพ้นวิกฤตินี้ไปเราพร้อมที่จะวิ่ง
นางสาวขัตติยากล่าวว่า ธนาคารจะเดินตามยุทธศาสตร์ 8 Transformation Journeys ที่ร่วมกันจัดทำกับทีมผู้บริหารหลังจากวิกฤตินี้ แต่จะทำให้สำเร็จให้เร็วขึ้น ด้วยอัตราเร่งที่เติบโตได้มากขึ้น ทำด้วยต้นทุนที่ถูกลงอย่างมาก เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการของเราได้
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แนวคิด หรือ mindset ขององค์กรของพนักงาน สำคัญมาก คือ ต้องพร้อมกับการเปลี่นแปลง ต้องไปดักทาง เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต รูปแบบธุรกิจ (business model) ที่ใช้อยู่และประสบความสำเร็จในวันนี้ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในอนาคต เราต้องฟังและเข้าใจลูกค้า ต้องกล้าลองสิ่งใหม่
ในการลองสิ่งใหม่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่เราจะ fail fast, fail cheap, fail forward และเราจะเรียนรู้ไปได้อย่างเร็ว
“และเราเชื่อว่าความยั่งยืน (Sustainability) เป็นข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจของเรา ฉะนั้นในการทำธุรกิจจะคำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะพิจารณาในครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านลูกค้า ด้านนวัตกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม พิจารณาความเสี่ยงให้ดี ดูแลพนักงานและทำผลประกอบการให้ดี” นางสาวขัตติยากล่าว
ธนาคารกสิกรไทยได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้านสินเชื่อไปแล้ว 115,000 ราย ยอดสินเชื่อ 124,000 ล้านบาท และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและลูกค้าบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เป้าหมายสำคัญในการฝ่าวิกฤตินี้ คือ พนักงานปลอดภัย สามารถส่งมอบบริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าให้ได้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศต่อไป ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ธนาคารอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่างๆ โดยจะมีการทบทวนแผนธุรกิจและเป้าหมายปี 2563 อย่างชัดเจน หลังจากเห็นผลประกอบการของไตรมาสแรก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลำดับถัดไป