ThaiPublica > คนในข่าว > สัมภาษณ์พิเศษ “บัณฑูร ล่ำซำ” เจาะลึกประสบการณ์และบทเรียน 15 ปี วิกฤติ 2540

สัมภาษณ์พิเศษ “บัณฑูร ล่ำซำ” เจาะลึกประสบการณ์และบทเรียน 15 ปี วิกฤติ 2540

23 กันยายน 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัวและได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นายบัณฑูร ล่ำซำ(ขวา)และอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์
นายบัณฑูร ล่ำซำ(ขวา)และอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์

วิกฤติ 2540 ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่าเป็นวิกฤติที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง และสร้างความเสียมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจไทย

ความเจ็บปวดครั้งนั้น “สร้างบาดแผลและบทเรียน”ให้กับหลายคน หนึ่งในนั้นคือ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งยอมรับว่า มีส่วนรวมก่อให้เกิดวิกฤติครั้งนี้ และวิกฤติที่เกิดขึ้นคือ “ครั้งแรก” ของชีวิต ไม่เคยเจอมาก่อน และตอนเรียนหนังสือก็ไม่เคยมีใครสอน

“บัณฑูร ล่ำซำ”เล่าประสบการณ์และถ่ายทอดบทเรียนครั้งสำคัญในชีวิต รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร และทำอย่างไรถึงฝ่าวิกฤติครั้งนั้นมาได้ โดยมี “ปกป้อง จันวิทย์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ถามถอดประสบการณ์ โดยเนื้อหาแบ่งเป็น 9 ตอน ดังนี้ (บทสัมภาษณ์นี้ถอดเทปจากคลิปวีดีโอ ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บัณฑูร ล่ำซำ” กสิกรไทยรอดเพราะ “ฝีมือ” หรือ “โอกาส” และนายแบงก์-แบงก์ชาติคุยอะไรกันตอนตี 4)

ตอนที่ 1: ครั้งแรกของชีวิต

“บัณฑูร” ชี้วิกฤติ 2540 เป็นครั้งแรกของชีวิตทุกคนตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาถึงคนเดินเท้า ระบุ โจทย์ใหญ่วันนั้นที่ต้องเร่งแก้ไขคือ “ระบบการเงินล้ม”

ปกป้อง: วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2540 ผ่านไปเกือบ 15 ปีแล้ว ธนาคารกสิกรไทยเรียนรู้บทเรียนอะไรจากวิกฤตการณ์ 2540 บ้าง

ก็ยังนึกว่าธนาคารใหญ่จะไม่เป็นไรแล้ว ขนาดที่กำลังมีความเสี่ยงจนถึงขั้นอาจจะไม่รอดก็ได้

ปกป้อง: วันนั้นคิดไหมว่าจะใหญ่ขนาดนั้น

ก็เป็น “ครั้งแรกในชีวิตของทุกคนในขณะนั้น” ที่ต้องจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจระดับชาติ ซึ่งไม่มีใครในเวลานั้นจะพูดได้ว่าเคยมีประสบการณ์มาก่อน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาถึงคนเดินเท้า ทุกคนเจอลักษณะการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นครั้งแรกทั้งนั้น แล้วหาทางทำความเข้าใจกับโจทย์ที่ตรงนั้น แล้วก็หาทางแก้ ก็แก้กันมาได้ขั้นหนึ่ง

ปกป้อง: อะไรคือโจทย์ใหญ่ในวันนั้น

โจทย์ในวันนั้นก็คือว่า “ระบบการเงินล้ม” ไม่ใช่ประเด็นเรื่องของทาง ธปท. ไปบริหารจัดการทุนสำรองเกิดความเสียหายอันนั้นก็ส่วนหนึ่ง ก็เป็นส่วนสำคัญ อีกส่วนคือระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดได้ปล่อยสินเชื่อไปในธุรกิจซึ่งในที่สุดพิสูจน์แล้วว่าจะไม่สามารถเอาทุนคืนได้ เพราะว่าธุรกิจกู้เงินไปเกินความเป็นจริง แล้วก็ออกไปสร้างราคาซึ่งในที่สุดแล้วไม่มีใครซื้อในราคาตามนั้น เพราะฉะนั้น เงินกู้ที่เอาไปจะสูญจำนวนไม่น้อย

หมายความว่าทุนของระบบทางการเงินเปลี่ยนก็ถูกทำลายไปจนหมด ก็แบ่งเป็น 2 พวก คือ พวกที่ “บาดเจ็บจนกระทั่งไม่รอด” ทุนหมดโดยสิ้นเชิง กับพวกที่ “บาดเจ็บสาหัสแต่ว่าในที่สุดกระเสือกกระสนรอดมาได้” เช่น ธนาคารกสิกรไทย และก็อีกหลายแห่งเป็นลักษณะอย่างนั้น ในระหว่างทางธุรกิจก็ล้มระเนระนาด ผู้คนก็ตกงาน สินค้าแพงขึ้นเพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนพุ่งขึ้นพรวดไปถึงเกือบ 50 บาทต่อดอลลาร์ คือ ทั้งประเทศจน

นั่นก็ถือเป็น “ความตกใจ ยังไม่เคยคิดกันมาก่อนว่าประเทศไทยจะเป็นได้ถึงขนาดนี้”

อ่านต่อตอนที่ 2: บันทึกเหตุการณ์ 2 กรกฎาคม 2540