ThaiPublica > คนในข่าว > “บัณฑูร ล่ำซำ” แก้โจทย์ธุรกิจแบงก์กิ้งกับโลกใหม่ – เศรษฐกิจในสถานการณ์ “ฝีแตก” พร้อมงัดตำราเจ้าสัวทวงคืนผืนป่าน่าน

“บัณฑูร ล่ำซำ” แก้โจทย์ธุรกิจแบงก์กิ้งกับโลกใหม่ – เศรษฐกิจในสถานการณ์ “ฝีแตก” พร้อมงัดตำราเจ้าสัวทวงคืนผืนป่าน่าน

17 มกราคม 2016


ชื่อ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงเป็นเจ้าสัวใหญ่ของค่ายกสิกรไทยที่ขับเคลื่อนภารกิจในฐานะนายแบงก์และบริษัทในเครือ แม้วันนี้ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยภาครัฐในฐานะกรรมการของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งบทบาทในการเป็นคนเมืองน่านที่อาสาขอทวงผืนป่าคืนสู่แผ่นดิน เพื่อรักษาป่ารักษาน้ำ ให้เป็นป่าต้นน้ำน่านต่อไป

“บัณฑูร” สวมหมวกหลายใบ แต่ละใบล้วนเกื้อกูลการทำงานทั้งด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม สู่การขับเคลื่อนในการปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ระยะหลังน่านกลายเป็นบ้านหลังแรกของ “บัณฑูร” ที่ต้องมาบริหารจัดการภารกิจเพื่อสังคม จากการตัดไม้ทำลายป่าที่เมืองน่าน จนเป็นภูโกร๋น ที่บัณฑูรมองว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจากการที่ชาวบ้านไม่รู้จะทำมาหากินอะไร คนจำนวนมากของประเทศนี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างพอกินได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงบอกกล่าวว่าจะอุทิศตนในการทวงผืนป่าเมืองน่านคืน โดยใช้ความรู้ที่สั่งสมจากการเป็นนายแบงก์มาบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาปากท้องที่นี่ เมื่อทุนนิยมทำให้ป่าหมดไป ก็จำเป็นต้องใช้ทุนนิยมในการแก้ปัญหา เพราะนั่นคือต้นตอของเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวธนาคารกสิกรไทย ปี 2559
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
แถลงข่าวธนาคารกสิกรไทย ปี 2559

การแถลงข่าวทิศทางธนาคารกสิกรไทยปี 2559 จึงต้องมาที่เมืองน่าน เดินป่าตามไปดูต้นน้ำน่าน งานเลี้ยงบ้านเจ้าสัวและอนาคตที่บ้านหลังนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์เรื่องเล่าเกี่ยวกับบัณฑูร ล่ำซำ

“บัณฑูร” เปิดประเด็นการแถลงข่าวด้วยภาพการอาบน้ำของตนในบริเวณน้ำตกสปัน ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำน่าน โดยเล่าว่าเป็นธรรมเนียมของเจ้าเมืองน่านมานานหลายร้อยปีแล้ว เป็นครั้งคราวจะต้องลงไปอาบน้ำในแม่น้ำน่าน หรือต้นน้ำให้แร่ธาตุอันบริสุทธิ์ที่อยู่ในต้นแม่น้ำนั้นชำระล้างคุณไสยมนต์ดำออกไป

มิติธุรกิจ-สังคม ทวงคืนผืนป่า

พร้อมเกริ่นว่า “จากที่หลายคนถามผมว่า โจทย์ของการรักษาป่าน่าน ที่มากกว่านั้นคือตามป่าคืนมา มันเป็นภาพสะท้อนโจทย์ของการจัดการเศรษฐกิจของประเทศ และของการจัดการประเทศโดยรวมด้วย เพราะว่าปัญหาที่เป็นและเห็นอยู่กับการที่เราสูญเสีย 25% ของป่าสงวนที่ จ.น่านนี้ไป เราสูญเสียป่าที่เป็นต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ลงรากลึก ที่รากจะไปยึดน้ำและผิวดินเอาไว้ได้ ข้อมูลนี้วัดจากดาวเทียมไทยโชตว่าป่าเสียไป 25% แล้ว มันเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของการจัดการ ส่วนหนึ่งมาจากการทำมาหากินของประชาชน อย่างน้อยที่ตรงนี้ที่ จ.น่าน ส่วนที่อื่นอาจจะมีประเด็นอื่นอีก ที่ไม่เหมือนกัน”

แต่ตรงนี้ทั้งหมดพูดได้เลยว่า นายทุนรุกป่าเป็นประเด็นที่มีอยู่น้อยตรงนี้ ตรงนี้ชาวบ้านเป็นเจ้าของ เป็นคนที่อยู่ใน จ.น่าน ที่ไม่มีทางเลือกในการทำมาหากิน จริงๆ ก็เป็นบ้านของเขา แต่ประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนปี 2507 ทำให้หลายอำเภอ หลายตำบล ในจังหวัดน่าน ทั้งหมด 100% เป็นป่าสงวน ชาวบ้านอยู่ดีๆ ก็มีชีวิตในป่าสงวน ซึ่งพวกเขา ปู่ ย่า ตา ทวด อยู่กันมาก่อนประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนด้วยซ้ำไป แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่อยู่ดีๆ จะลุกมาตัดป่าไม่มีจบสิ้น ไม่อย่างนั้นป่าต้นน้ำจะหมดไป และทุกวันนี้ป่าก็ยังถูกตัดอยู่

จากป่า 100% มาเหลือ 75% ส่วนใหญ่เกิดขึ้น 10 ปี ที่ผ่านมา 10 ปี ที่ป่าต้นน้ำ จ.น่านถูกละเลยโดยสิ้นเชิงจากฝ่ายบริหารจัดการของประเทศไทย มองไม่เห็นเลย ไม่เคยสนใจไปดูเลย นโยบายที่ประกาศในรัฐสภา ไม่มีใครพูดถึงเลย ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม ที่จะพูดถึงการรักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งสำหรับ จ.น่านเป็นประเด็นระบบเศรษฐกิจคือ ชาวไร่ ชาวบ้าน ไม่รู้จะทำมาหากินอะไร มันก็เหมือนภาพสะท้อนใหญ่ของประเทศ

รัฐบาลปัจจุบันจับพลัดจับผลูเข้ามา ก็ต้องแก้ปัญหาที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นคนทำ และไม่ได้เตรียมพร้อมเท่าไหร่ที่จะเจอปัญหา ทุกอย่างมาแตกโพละในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้แรงงานที่ผิดกติกาสากล ถ้าไม่ได้แก้อย่างที่แก้กันมา จนกระทั่งฉิวเฉียด เขาให้ใบแดงเมื่อไหร่อุตสาหกรรมประมงไทยก็ล้มทั้งยืน จะขายใครก็ไม่ได้ เพราะทำผิดกติกา ซึ่งจริงๆ แล้วทำผิดกันมาโดยตลอด ไม่ใช่ว่าเพิ่งมาค้นพบ คือทุกคนสนุกสนาน คนที่ไม่สนุกคือคนที่ใช้แรงงาน ตอนนี้ฝีมันแตกแล้ว มันต้องแก้

ถ้าไม่แก้สินค้าประมงซึ่งเป็นการส่งออกใหญ่ของไทย หากได้ใบแดงก็ทำอะไรไม่ได้ เศรษฐกิจไทยก็จะวิกฤติไปยิ่งกว่าที่เป็นอยู่

บัณฑูร ล่ำซำ พาสื่อมวลชนมาดูต้นน้ำน่าน ชมน้ำตกสปัน
บัณฑูร ล่ำซำ พาสื่อมวลชนมาดูต้นน้ำน่าน ชมน้ำตกสปัน

หรือแม้แต่เรื่องการบินไทยเกือบโดนใบแดง อีกนิดเดียวสายการบินไทยจะบินไปไหนไม่ได้เลย ก็เป็นความละเลยของรัฐบาลที่ผ่านมาๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่ารัฐบาลไหน ซึ่งจริงๆ กติกาและมาตรฐานสากลพวกนี้มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่มี มันเป็นบรรทัดฐานที่เห็นอยู่ แต่ไม่ทำ ทำไมถึงไม่ทำ เพราะสนุกกับการมีอำนาจ ละเลย ถลุงกันไปซ้าย/ขวา แล้วให้คนปัจจุบัน (รัฐบาล) เจอเข้า ของเก่าก็ต้องแก้ ของใหม่คือความถดถอยของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทั้งโลกเป็นอย่างนี้ มีไม่มีกี่ประเทศที่ฟ้าใส ที่เหลือฟ้ามืดทั้งนั้น ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่ขณะนี้เป็นประเด็นที่เห็นชัดแล้วว่าดึงทุกคนลงมาหมด เขาก็ต้องแก้ปัญหาเขาเหมือนกัน

แต่ของไทย รัฐบาลนี้ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ทุกมาตรการ แต่หลักๆ คือเรื่องการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ทำให้ประเทศไทยไม่หลุดไปจากสายตาของเงินทุนที่เข้ามาลงทุน เป็นสูตรมาตรฐานของการฟื้นเศรษฐกิจของทุกระบบ รวมทั้งไทยได้ทำการลงทุนในส่วนของตัวด้วย เรื่องระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิรถไฟ ที่สำคัญที่สุดการลงทุนในภาคเอกชนต้องมาด้วย ถึงจะมีการฟื้น

ในขณะเดียวกันต้องปรับโครงสร้างเรื่องใหญ่ของการทำมาหากิน ภาพสะท้อนของม็อบสวนยาง นี่ก็เป็นภาพสะท้อนของความล้มเหลวของโครงสร้างเศรษฐกิจ ก็คือว่าคนจำนวนมากในระดับล่างของระบบเศรษฐกิจไม่สามารถมีการทำมาหากินที่พอกินได้

เมื่อราคายางตก ก็ไม่รู้จะโทษใคร มันตกตามภาวะของโลก ตกทั้งโลก สินค้าคอมมอดิตี้ ตั้งแต่ราคาน้ำมันดิ่งลงทั้งโลก สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่ขายกันทั่วโลกราคาตกหมด รวมทั้งข้าวโพดราคาตกลง จากที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความมั่งคั่งของ จ.น่าน

“จริงๆ แล้วก็คือว่า คนจำนวนมากของประเทศนี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างพอกินได้ เพราะความรู้หรืออาชีพที่ใช้มันสู้กับต้นทุนไม่ได้ เป็นโจทย์ที่ต้องแก้กัน แม้จะเลยรัฐบาลนี้ไปแล้ว ถ้าคนที่มารับอาสาจะบริหารประเทศในอนาคตไม่ละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องมี คือต้องแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานจริงๆ”

“ขณะนี้รัฐบาลนี้ก็ปาดซ้ายปาดขวา ตื่นเช้าขึ้นมาก็ไม่รู้ทำอะไรก่อน เปิดทุกก๊อก ใช้ทุกมาตรการ ซึ่งไม่มีอะไรผิด เพียงแต่ว่าไม่ได้ดังใจ ท่านนายกฯ เคยถามว่าแล้วจะให้ผมทำอะไรอีก ผมก็บอกว่าท่านนายกฯ ทำทุกอย่างแล้ว ของพวกนี้ต้องใช้เวลา ระบบเศรษฐกิจที่มันทรุดลงไป ถ้าเป็นคนก็เป็นโรคหนัก ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทั้งนั้น จะฟื้นทันทีก็ฟื้นไม่ได้ ปั๊มยาช่วยกระตุ้นหัวใจ ให้ยาแก้รักษาโรค สำคัญที่สุดคือเรื่องปากท้องของประขาชน คือคนระดับล่างที่สุดของสังคม”

ขณะเดียวกัน ระบบธนาคารพาณิชย์ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องช่วยแก้ปัญหา เพราะระบบธนาคารพาณิชย์คือระบบหมุนเวียนเงินออมของประเทศ ให้สินเชื่อไป มีการลงทุนที่งอกเงย เป็นคำพูดที่ง่ายแต่ทำยาก ทำอย่างไรให้งอกเงย ถ้าไม่ปล่อยเลย มันก็ไม่งอกเงยแน่นอน ถ้าปล่อย บางทีก็ลงเหวไปด้วย ดังนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจทำท่าจะพะงาบๆ อย่างที่ประเทศไทยและหลายๆ ประเทศเป็น การปล่อยสินเชื่อเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก จะปล่อยอย่างไรจึงจะใช้เงินออมของประเทศหรือเงินฝากของประชาชนอย่างมีความหมาย นำไปสู่การกระตุ้นให้มีการค้าขายอย่างมีความหมาย ไม่ใช่ตอบโจทย์ (รัฐบาล) แต่กลายเป็นหนี้เสียหมด ประเทศเสียหายนะ ไม่ใช่ธนาคารเสียอย่างเดียว เพราะระบบเงินออมของประเทศมันเสียหายหมด

บ้านเจ้าสัว บัณฑูร ล่ำซำ
บ้านเจ้าสัว บัณฑูร ล่ำซำ

นี่เป็นความท้ายทายของตัวธนาคารพาณิชย์เอง และเป็นความท้าทายของภาครัฐที่จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นประเด็นสำคัญของการจัดการของประเทศ จะอยู่คนละฝั่งกันไม่ได้ มันต้องอยู่ฝั่งเดียวกันคือฝั่งของประเทศไทย คือร่วมมือกัน นโยบายอะไรที่รัฐบาลเปิดมา เอกชนต้องขานรับอย่างจริงจัง ไม่ใช่ขานรับเพียงแค่เอาหน้า แต่ขานรับโดยที่มาตรการต่างๆ สอดคล้องกันไป แล้วอะไรที่เป็นประเด็นที่ต้องถกกันก็ต้องถกกัน ไม่มีใครรู้ทุกอย่างหมด ความเสี่ยงมีอยู่ตลอดเวลา การลงทุนที่ผิดพลาด การเดินมาตรการที่ผิดพลาด มันก็ความเสียหายด้วยกันทุกคน

แต่ว่าอันนี้เป็นบริบทของการจัดการการทำมาหากินของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการของผู้บริหารระดับสูงของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องเอาประโยชน์โดยรวมของประเทศเป็นตัวตั้ง แล้วทำอย่างไรที่จะจัดสรรผลประโยชน์นั้นได้ เห็นได้ชัดเลยว่าการจัดสรรผลประโยชน์คือความมั่งคั่งในทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นมีปัญหา คนจำนวนหนึ่งก็รวยมากๆ คนจำนวนหนึ่งตามไม่ทัน เพราะโครงสร้างไม่เอื้ออำนวยให้หารายได้ได้ โครงสร้างความรู้ที่น้อย โครงสร้างของการไม่มีช่องทางที่จะเอาสินค้าที่ผลิตไปสู่ตลาด ในราคาที่ตัวเองพอจะมีเหลือกินเหลือใช้บ้าง นี่เป็นโจทย์ที่สะท้อน ที่เห็นอยู่

แม้กระทั่งโจทย์ที่เจออยู่ในจังหวัดน่าน คือคนที่อยู่ในระดับล่างที่สุดไม่สามารถที่จะทำตัวเองให้มีกินมีใช้ได้ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการตัดป่า เป็นตัวแปรตัวเดียวที่อยู่ในอำนาจของชาวบ้าน เพราะเขาอยู่ตรงนั้น อยู่ในป่าอยู่แล้ว ปีนี้จะตัดป่าเพิ่มอีกสักไร่จะเป็นอะไรไป ก็ต้องพูดอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะพื้นที่เดิมที่เขาปลูกมันไม่พอ

นี่คือประเด็นที่ผมพูดกับรัฐมนตรีหลายกระทรวงด้วยกัน ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ รัฐมนตรีเกษตรฯ รัฐมนตรีการท่องเที่ยว และข้าราชการหลายหน่วยงานด้วยกัน ที่ให้รู้ว่าประเด็นไม่ได้ที่ว่าการไปจับคนที่บุกป่า เพราะนั่นเป็นปลายทาง มันต้องไปดูที่ต้นเหตุจริงๆ คือความไม่พอกิน

นี่คือภาพสะท้อนของการจัดการของประเทศ

โครงสร้างกสิกรไทย-มิติเทคโนโลยีกับธุรกรรมทางการเงิน

ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นจักรกลตัวสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ต้องเข้าถึงความสามารถที่จะช่วยให้มีการค้าขายได้อย่างมีความหมาย รวมทั้งต้องร่วมมือกับภาครัฐ รวมทั้งประเด็นที่จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย อย่างที่กระทรวงการคลังมีนโยบายมาว่าจะใช้เงินสดให้น้อยลง ทุกคนต้องขานรับ เพราะโลกในอนาคตจะเป็นอย่างนี้

ความอุ้ยอ้ายของเงินสดมันก็คือการสูญเปล่าของระบบ การมี e-payment ในรูปแบบต่างๆ เป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ ภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำความเข้าใจ ที่จะจัดระบบนี้อย่างมีประสิทธิภาพให้ได้จริงตามทฤษฎีและมีความปลอดภัย เงินไม่หายไปไหน เพราะเดี๋ยวนี้คนทำธุรกรรมโมบายแบงกิ้งมากขึ้น

ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกสะดวกที่จะใช้ทำธุรกรรมการทางการเงินได้โดยเงินไม่สูญหาย เพราะถ้าจิ้มผิด ตายแล้ว… จะไปตามเงินจากใคร ดังนั้น ภาคธนาคารพาณิชย์ต้องทำระบบให้มั่นคง เป็นระบบที่ตอบได้ ถ้าสมมติทำธุรกรรมแล้วเกิดพลาด เงินหายไปแล้ว โทรมาหาแบงก์ มีคนตอบรู้เรื่อง นี่คือตัวที่สำคัญที่สุด ในการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที เป็นประเด็นสำคัญของระบบการเงินของประเทศเลย กับการให้มีระบบที่มั่นคง ระบบที่สามารถเขียนโปรแกรมให้พลิกแพลงได้ ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ของตลาดการเงิน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ทำในช่วงที่ผ่านมา

โดยการปรับโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีครั้งใหญ่และกำลังปรับโครงสร้างของการบริหารที่จะเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ถึงได้แยกออกไปเป็นหน่วยงานที่เรียกว่า “กสิกรบิสซิเนสเทคโนโลยีกรุ๊ป” เป็นบิสซิเนสเทคโนโลยี เพื่อสะท้อนว่าเราไม่ได้ทำธุรกิจเรื่องไอที แต่เราเอาไอทีเพื่อมาใช้เพื่อทำธุรกิจทางการเงินให้ได้ผล คือให้บริการทางการเงินที่ทันสมัยต่อระบบการเงินของประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสิทธิภาพและเอื้ออำนวยให้เกิดการค้าขายและการลงทุน

การที่แยกหน่วยงานนี้ออกไป เพราะว่าลักษณะการบริหารงานเทคโนโลยีมีวัฒนธรรมองค์กรหรือดีเอ็นเอที่ไม่เหมือนแบงเกอร์ตามปกติ ถึงได้แยกออกไปเป็นกิจจะลักษณะ และมีความสำคัญถึงระดับกรรมการผู้จัดการไปกำกับดูแเพื่อรายงานตรงกับคณะกรรมการของธนาคารถึงความคืบหน้าของการพัฒนาในด้านต่างๆ นี่เป็นเรื่องที่ทำเสร็จแล้ว

“ก่อนที่ทำเรื่องนี้ต้องไปชี้แจงกับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าทำไมเราต้องแบบนี้ ทำไมต้องมีบริษัท 1-2-3-4 (บริษัทลูกหลายบริษัท) ซึ่งมีลักษณะไม่เหมือนกันทีเดียวนัก จนกระทั่งไปถึง think tank แบบใหม่ที่นั่งคิดเรื่องทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่เหมือนเดิม โดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบไอที พวกนี้จะทำอย่างไร ก็เป็นการเตรียมรับการบริหารจัดการของธนาคาร รับมือกับโลกที่จะมาถึง

มิติอาเซียนบวก3

นอกจากนี้ มีเรื่องการขยายตลาดออกไปนอกประเทศไทย หมายความว่าตลาดมันมาถึงแล้ว ตลาดที่ใหญ่ขึ้นของเอเชียและที่เกี่ยวกับประเทศไทยคือตลาดอาเซียนบวกมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 3 อำนาจ ทางเหนือที่มีบทบาทอย่างมากทางการค้าการลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ดังนั้น โครงสร้างของการบริหารจัดการของธนาคารกสิกรไทยคือรองรับความเป็นจริงของตลาดในเรื่องนี้ จึงแยกออกมาเป็นกิจจะลักษณะ เป็นทั้งภูมิศาสตร์ที่มีความโยงใยต่อกัน ธนาคารกสิกรไทยต้องการที่จะเป็นผู้ที่ความสามารถให้บริการทางการเงิน สามารถนำเงินทุน การค้าในภูมิภาคนี้ ให้ลูกค้าไปทำธุรกิจในหลายๆ ประเทศได้ โดยเฉพาะลูกค้าไทย โดยธรรมชาติ โดยวัฒนธรรม ไม่ค่อยอยากจะไปไหน บริษัทของไทยที่จะออกไปต่างประเทศได้ด้วยความสบายใจมีน้อยมาก ที่เหลือไม่กล้าไป ไม่อยากไป เพราะอยู่ประเทศไทยสบายดี ไม่ต้องพูดภาษาอังกฤษ ไม่ต้องศึกษากฎกติกา วัฒนธรรม แต่ต่อไปจะยืนไม่อยู่ ในโลกของการแข่งขันทางค้า ที่จะทำแบบนั้น

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จะต้องสามารถช่วยเหลือลูกค้าตัวเองให้ทำเช่นนั้นได้ ก็จะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาธุรกิจต่างๆ ของประเทศไทย ถึงได้จัด (หน่วยงาน) ออกมาเป็นการเฉพาะ และต้องหาคนรุ่นใหม่ๆ ที่กล้าเรียนภาษาใหม่ๆ ต่อไปต้องเรียนรู้อย่างน้อย 3 ภาษา

นี่เป็นโจทย์ของการเตรียมการเออีซีบวก 3 เป็นโจทย์ของการเตรียมการเรื่องคนรุ่นใหม่ ธุรกรรมทางการเงินไม่ยากหรอก โอนไปโอนมา แต่คนรุ่นใหม่ที่สามารถไปเจอโจทย์ใหม่ๆ ในบริบทของวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ไทยอย่างเดียว ในประเทศไทยหาไม่ได้ง่ายและไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ต้องมีการดึงดูด ต้องมีการปลุกระดมความคิด ปลุกระดมกำลังใจให้พัฒนาคนขึ้นมาเป็นคนที่ฝึกได้ สายงานด้านนี้ของธนาคารกสิกรไทยเรียกว่า world bussiness ไม่มีคนแก่ เพราะคนแก่อยู่ไม่ได้ มีคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่จะมาจับงานนี้ให้เป็นชิ้นเป็นอันได้”

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ

มิติความเสี่ยงด้านต้นทุน

อีกด้านหนึ่งที่ต้องทำให้ดีคือการบริหารต้นทุน ธุรกิจทุกธุรกิจ ถ้าไม่ระวังสักพักต้นทุนจะแซงไปได้ และต้นทุนมาด้วยความแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่รายได้ไม่เคยมา 100 เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นสิ่งที่ถ้าไม่ระวัง ทุกธุรกิจสักพักจะสังเกตว่าต้นทุนจะขึ้นตามมาเร็วกกว่ารายได้ ดังนั้น การจัดการเรื่องต้นทุนเป็นเรื่องที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจไม่ได้ ต้องมีการลงไปในหลายมิติ เรื่องการใช้คนเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะคนอยู่แล้วไม่ได้ เพราะการเพิ่มคนหนึ่งหรือคนเกษียณไปหนึ่งคน จะทดแทนต่อไปนี้ไม่ใช่ออโตเมติก เราต้องคิดโจทย์ทุกครั้งไปว่าคนๆ นี้เขาทำอะไร เขาขายของอะไรได้ เขามาช่วยจัดการอะไรที่ให้งานดีขึ้น ไม่งั้นมันจะเป็นข้ออ้าง และต้นทุนคนจะเป็นส่วนสำคัญขององค์กรใหญ่ๆ

รีเอ็นจีเนียริ่งแบบไม่จบสิ้น-คนรุ่นเก่าส่งแล้วต้องลุก

อีกอย่างหนึ่งของกระบวนการที่ธนาคารกสิกรไทยได้ยกมาเป็นเรื่องนำร่อง คือเรื่องความอุ้ยอ้าย ที่ต้องมีรีเอ็นจีเนียริ่งตลอดเวลา ไม่มีวันจบสิ้น เพราะกระบวนการทำงานอะไรก็ตาม อยู่ไปสักพักก็ใช้ไม่ได้ ต้องมีการคิดใหม่ จะล้าหลัง เป็นธรรมชาติของมนุษย์ จึงต้องมีการประเมินเป็นครั้งคราว ก็เขย่ากันอีกรอบ ทั้งหมดนี่ดูเสมือนว่าเป็นของธรรมดาๆ หากทำไม่สำเร็จธุรกิจจะถดถอย โดยเฉพาะเรื่องระบบบ้านเรา การที่จะยกเลิกการจ้างคนเป็นพันๆ คนทำไม่ได้ ดีที่สุดต้องไม่ถึงจุดที่ต้องทำเช่นนั้น

ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินตัวเองตัวเองตลอดเวลาว่ากระบวนการการทำงานต่างๆ มีประสิทธิภาพหรือไม่ และการใช้เงินแต่ละบาท ไม่ว่าเงินลงทุน การใช้จ่ายในการโฆษณา ผลตอบแทนในการโฆษณาแต่ละบาทเป็นอย่างไร คนที่คุมกระเป๋าเงิน คุมการตัดสินใจ เป็นเรื่องที่ยาก จึงเป็นเรื่องละเลยไม่ได้

และสุดท้าย ที่เป็นประเด็นมากๆ สำหรับธนาคารกสิกรไทย วันหนึ่งผมก็ต้องโบกมือลา นี่ก็พยายามมาอาบน้ำในต้นแม่น่าน ไม่ชรา(หัวเราะ) แต่ความป็นจริงของมนุษย์คือวันหนึ่งก็ต้องมีวันเปลี่ยนรุ่น และสิ่งที่เป็นอันตรายสำหรับองค์กรที่สุดคือซีอีโอรุ่นเก่าที่ประสบความสำเร็จ นี่คือสิ่งอันตรายที่สุด ที่ทำให้คนรู้สึกว่าไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ แต่ในความเป็นจริงมันต้องเปลี่ยนได้ ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่มองโจทย์ที่คนรุ่นเก่าไม่มีทางแก้ได้ ของบางอย่างที่จะเป็นความเจริญของธุรกิจในอนาคต รุ่นที่ส่งมาถึงแล้ว ส่งแล้วต้องลุก แม้จะเป็นโจทย์ที่ยังไม่เกิดขึ้นวันสองวันนี้ แต่ตัวเลขมากขึ้นๆ ทุกวัน

“โจทย์ใหญ่อันหนึ่ง ที่ไม่ใช่เฉพาะของผมเป็นการส่วนตัว แต่เป็นของคณะกรรมการด้วย คือมองรุ่นต่อไปของผู้บริหารที่จะสามารถรับมือกับความท้ายทายของอนาคตได้ และนำพาองค์กรไปสู่ความเจริญได้ ในขณะที่รุ่นชราแล้ว วันหนึ่งก็ต้องหลบไป”

นี่คือสาระของการจัดการของธนาคารกสิกรไทยที่อยู่ตรงหน้าในวันนี้ จะได้เข้าใจโจทย์ คือมันไปผูกกันหมดกับของประเทศ ไม่มีองค์กรไหนที่จะทำงานโดยไม่สัมผัสกับโครงสร้างใหญ่ของประเทศหรือตลาดโลกได้ ดีที่สุดคือต้องตื่นตัวกับความท้าทายใหม่เหล่านี้และเดินเรื่องโดยไม่ชักช้า

“สิ่งหนึ่งที่ธนาคารกสิกรไทยที่ทำได้ดีคือการมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ที่สามารถสื่อความได้กับคนในองค์กร เพราะองค์กรมีคน 2 หมื่นคน พูดไม่ได้ยิน คนจำนวนมากอย่างนี้จะทำงานไปในทิศทางเดียวกันและมีความร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ จะต้องมีความเข้าใจว่าองค์กรนี้มีไว้เพื่อทำอะไร และมีแนวคิด แนวทางเดินในการทำงานอย่างไร ถึงจะได้คนเก่งๆ จำนวนมากมาอยู่กับกสิกรไทยที่จะร่วมมืออย่างมีความหมายได้ แล้วก็ทำเรื่องต่างๆ ที่ควรต้องทำ โดยที่ไม่ชักช้าจนเกินไป

ดูเพิ่มเติม

บ้านเจ้าสัวบัณฑูร ล่ำซำ
บ้านเจ้าสัวบัณฑูร ล่ำซำ

บ้านเจ้าสัวบัณฑูร-1

บ้านเจ้าสัวบัณฑูร-2