ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “น่านแซนด์บ๊อกซ์” คนอยู่กับป่า โจทย์ต้องทำให้แจ้ง-ชาวบ้านต้องรอด ถ้าแพ้…ทุกอย่างพังเหมือนเดิม

“น่านแซนด์บ๊อกซ์” คนอยู่กับป่า โจทย์ต้องทำให้แจ้ง-ชาวบ้านต้องรอด ถ้าแพ้…ทุกอย่างพังเหมือนเดิม

11 กุมภาพันธ์ 2019


นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการภาคเอกชน โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์

“ภูโกร๋น” เป็นภาวะภูเขาหัวโล้นที่ปรากฏไปทั่วในหลายอำเภอของจังหวัดน่าน ทุกภาคส่วนจึงไหลมารวมกันที่เมืองน่านเพื่อร่วมกันแก้ปัญหานี้ นั่นคือรักษาป่าต้นน้ำน่าน ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำสายหลักของชาติอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กำลังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง

แล้วจะสกัดกั้นอย่างไร

หลายทีมทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ ยื่นมือเข้ามา หลายโครงการทำกันย่อมๆ ตามกำลังที่หวังว่าจะช่วยพลิกฟื้นได้

การดำเนินการต่างๆ อยู่บนพื้นฐานของการลงพื้นที่สำรวจ การบอกเล่าจากเสียงประชาชนในชุมชน การเก็บข้อมูลที่ต่างคนต่างทำ และลงมือทำโครงการเป็นจุดๆ เพื่อหาโมเดลนำร่อง

“บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งที่ได้ริเริ่มการทวงคืนผืนป่าน่านเมื่อ 4-5 ปีก่อนนี้ บัณฑูรเคยบอกว่า…โจทย์ของการรักษาป่าน่านคือตามป่าคืนมา และถ้าจะทวงคืนต้องทวงคืนพร้อมๆ กันทั้งจังหวัด

พร้อมระบุต้นตอของป่าที่ถูกทำลายว่า “จริงๆ แล้วก็คือว่า คนจำนวนมากของประเทศนี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างพอกินได้ เพราะความรู้หรืออาชีพที่ใช้มันสู้กับต้นทุนไม่ได้ เป็นโจทย์ที่ต้องแก้กันแม้จะเลยรัฐบาลนี้ไปแล้ว ถ้าคนที่มารับอาสาจะบริหารประเทศในอนาคตไม่ละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องมี คือต้องแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานจริงๆ”

  • “บัณฑูร ล่ำซำ” แก้โจทย์ธุรกิจแบงก์กิงกับโลกใหม่ – เศรษฐกิจในสถานการณ์ “ฝีแตก” พร้อมงัดตำราเจ้าสัวทวงคืนผืนป่าน่าน
  • “บัณฑูร ล่ำซำ” ชี้ “น่าน” เล่นแพ้ในระบบทุนนิยม – รัฐต้องกล้าแก้โจทย์ที่ต่างจากเดิมๆ
  • ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ
  • ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ (จบ)
  • “ความซับซ้อนของภูโกร๋น”
  • ด้วยปัญหาที่ใหญ่เกินกำลังที่จะขับเคลื่อน ดังนั้น การจะสู้ในเรื่องนี้ บัณฑูรย้ำว่า “ต้องทำโจทย์ให้แจ้ง”…

    ด้วยเหตุนี้ 4-5 ปีก่อน จึงเป็นการทำชุดข้อมูลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา และข้อมูลนี้ต้องเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน โดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้มาตอบว่า พื้นที่ป่าที่ถูกทำลายแต่ละปีเป็นเท่าใด และ ณ ปัจจุบันเหลืออยู่เท่าไหร่ รวมทั้งความร่วมมือของชุมชนในการจัดทำข้อมูลการครอบครองที่ดินที่ใช้ทำมาหากินในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ อยู่ในชื่อของใคร จำนวนเท่าไหร่ พร้อมเจาะลึกไปถึงสภาพความเป็นอยู่ครอบครัวว่าเขากินดีอยู่ดีหรือไม่อย่างไร แค่ไหน

    วันนี้ “โจทย์ที่ต้องทำให้แจ้ง” มีคำตอบพร้อมเป็นเครื่องมือที่นำไปเจรจาหารือกับรัฐบาลซึ่งเป็นกลไกหลักในการแก้โจทย์สำคัญนี้

    เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา เป็นอีกวันหนึ่งที่คณะทำงาน “โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์” ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนจากชุมชนต่างๆ ของน่านทั้งจังหวัด ได้มาพบปะหารือกันอีกครั้งเพื่อแจ้งถึงความคืบหน้าของการแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ทำมาหากิน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกระบุว่าอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนและเขตพื้นที่อุทยาน ว่าจะทำอย่างไรให้ “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถอยู่รอด ใช้วิถีชีวิตที่อยู่ดีกินดีได้

    และครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้ถูกกฎหมาย พร้อมการจัดสรรให้สิทธิในการทำมาหากินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมทั้งจังหวัด ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่งอย่างที่เคยเป็นมา

    “บัณฑูร ล่ำซำ” ชี้แจงถึงความคืบหน้าว่า “สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการบริหารระหว่างรัฐและประชาชน ที่สามารถบรรลุข้อตกลงในหลักการเบื้องต้นในการจัดจัดสรรที่ดินทำกินและแก้ปัญหาป่าต้นน้ำน่าน ไม่เคยปรากฏอย่างนี้มาก่อนในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ที่ทำอย่างนี้ได้เพราะผู้คนร่วมมือและก้าวเข้ามาทำโครงการ วันนี้มาสรุปว่าทำไปถึงไหนแล้วมีอะไรที่ต้องทำต่อ การที่เราบรรลุเพราะทุกคนก้าวมาร่วมกันหาทางออก โดยแนวทางที่เราเรียกว่า “น่านแซนด์บ๊อกซ์”

    พร้อมกล่าวต่อว่า…ภาพจำของจุดเริ่มต้นทั้งหลายทั้งปวงคือการที่ตระหนักว่า จังหวัดน่านที่มีป่าต้นน้ำหมายเลขหนึ่งของประเทศไทย กำลังมีปัญหาในเรื่องการดูแลรักษาป่า แต่มีปัญหาในการดูแลให้ประชาชนมีที่ทำมาหากินที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีวิถีที่จะทำมาหากินที่จะทำให้ชีวิตอยู่รอดได้อย่างไร เป็นประเด็นเราต้องแก้ใน “น่านแซนด์บ๊อกซ์” เอาไปหารัฐบาลช่วยแก้ไขว่าโจทย์แบบนี้จะแก้ปัญหาและมีทางออกอย่างไร ซึ่งทางออกคือการตั้งคณะทำงานน่านแซนด์บ๊อกซ์ ประกอบด้วยภาคประชาชนและภาครัฐมาทำงานด้วยกัน

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดน่าน และร่วมประชุมที่บ้านนายบัณฑูร ล่ำซำ

    ดังนั้น โจทย์คือพื้นที่ป่าที่เสียไป จะกลับมาพร้อมๆ กับการกินดีอยู่ดีของประชาชนในจังหวัดนี้ วิถีประชาชนที่จะอยู่รอดได้ ทั้งหมดมาจากการที่เราเอาเรื่องที่ศึกษาร่วมกันมาไปหารือนายกรัฐมนตรี เมื่อ 2 ปีมาแล้ว นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นายกฯ ลงพื้นที่ปฏิบัติราชการที่ จ.น่าน ที่ใต้ถุนบ้านหลังนี้ ได้พบปะกับประชาชนเพื่อรับทราบปัญหาจริงๆ และปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขง่ายๆ แต่อย่างน้อยทางภาครัฐยังยอมให้มีการมีการหาทางในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และหนึ่งปีที่ผ่านมาที่เขายอมให้ทดลองหารูปแบบ ก็ทำมาได้ขั้นหนึ่งแล้ว

    ขณะนี้ได้บรรลุความสำเร็จในขั้นหนึ่ง วันนี้มีคำตอบว่ารูปแบบที่จะแก้ปัญหาได้… มี แต่จะต้องทำอะไรเพิ่มเติม โดยโจทย์แรกคือทำให้ทุกคนมีที่ทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีใครผิดกฎหมายอีกต่อไป จากที่เป็นปัญหามายาวนาน และประชาชนข้องใจกับปัญหาคาราคาซังที่รู้สึกว่ารัฐแก้ไขปัญหาให้ได้หรือไม่ได้ วันนี้มีรูปแบบที่บอกได้ว่ามีคำตอบที่สามารถทำได้ แต่ต้องมีงานที่ต้องทำเพิ่มเติม

    กล่าวคือพื้นที่ 100% ที่เป็นป่าสงวนของจังหวัดน่านนั้นรวมพื้นที่ป่าชั้น 1 คือลุ่มน้ำชั้นหนึ่งที่มีกฎกติกาที่เข้มมาก เราจะจัดการในส่วนที่เป็นพื้นที่ 28% ที่พ้นจากการเป็นป่าไปแล้ว จะจัดสรรกันใหม่ให้ทุกคนมีสิทธิที่ทำกินถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นป่าสงวน ก็ให้กันออกมาเป็นโฉนดที่เป็นกรรมสิทธิ์ แต่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนตัว แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น …ไม่ใช่มีพื้นที่เท่านั้น การมีพื้นที่เป็นตัวปัจจัยหนึ่ง ไม่ได้ยืนยันว่ามีพื้นที่เท่านั้นเท่านี้ไร่แล้วจะอยู่รอด แต่ต้องให้ทุกคนมีความสามารถในการทำมาหากินในพื้นที่นั้น นี่คือโจทย์ที่ใหญ่ที่สุด ถ้าเป็นชุมชนเกษตร สามารถปลูกได้ในปริมาณและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขายได้ราคาดีๆ

    แต่อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญต้องแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องพื้นที่ก่อน ในพื้นที่ที่กว่า 28% ที่ไม่มีต้นไม้แล้ว แบ่งเป็น 18% จะอนุญาตให้ปลูกต้นไม้ตามที่ป่าสงวนควรมี แต่อีก 10% ไม่ต้องปลูกก็ได้ มีเอกสารยืนยันจากรัฐว่าถูกต้องแล้ว เป็นวิธีการที่สามารถพบกันได้ คุยมาในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

    พร้อมกล่าวต่อว่า…ที่ผ่านมาเงินงบประมาณ องค์ความรู้ที่จะมาช่วย จากที่ไหนก็เข้าไม่ได้ เพราะพื้นที่ผิดกฎหมาย เราต้องไม่ลืมประเด็นนี้ แต่จากนี้ไปอยู่ในวิสัย และภาครัฐก็พร้อมเต็มที่ที่จะจัดสรรงบประมาณลงที่จังหวัดน่าน เพื่อให้สำเร็จ และ “น่านแซนด์บ๊อกซ์” เป็นโครงสร้างที่รัฐกับประชาชน ผู้นำชุมชน ต้องเจอกันในเวทีชีวิตอันนี้ รัฐกับประชาชนต้องคุยกันได้ ไม่งั้นก็แพ้กันหมด และประเทศไทยก็แพ้เป็นคนสุดท้าย นี่คือเวทีที่เรามาถกกัน ทีมงานเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้นำชุมชนมาคุยกัน ก็ได้ข้อสรุปว่ารับกันได้ ส่วนจะทำได้แค่ไหนต้องมาร่วมกันทำ

    เมื่อมีข้อสรุปเบื้องต้นว่ามีข้อตกลงระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ เราต้องทำให้มันมีอำนาจรัฐ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันนี้ได้ ต้องไปที่สูงสุดของรัฐบาล ถ้ามาทั้งจังหวัดเราก็ไปเจรจาได้ เราไปเจรจากับรัฐบาลเมื่อสามสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าทั้งจังหวัดตกลงกันได้แบบนี้แล้ว รัฐจะโอเคไหม และรัฐบาลตกลง ก็ต้องทำให้เกิด กลไกของรัฐมีหน้าที่จัดสรรพื้นที่ตามกฎหมายที่มีการปรับปรุงมาให้ขั้นหนึ่งแล้ว ความอะลุ่มอล่วยในการใช้พื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติเกิดขึ้นได้ ถ้าสมมติไม่มีการแก้กฎหมายก็ทำไม่ได้ โชคดีที่ภาครัฐได้ปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรามีกลไกทางนิติศาสตร์และทำให้อยู่ในวิสัยที่จะให้ข้อตกลงนี้เป็นไปได้ แต่ก็ต้องตกลงลงมือทำในแต่ละตำบล อำเภอ โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) คือใช้กลไกของรัฐมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับแต่ละพื้นที่กับประชาชน

    “ตอนนี้ไฟเขียวในระดับนโยบายมีแล้ว ไม่เคยมีจังหวัดไหนในประเทศไทยทำแบบนี้ได้ ที่ผ่านมามีเป็นหย่อมๆ นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่แก้ปัญหาให้ประชาชน ตัวเลขพื้นที่จังหวัดน่านเป็นตัวเลขที่ยาก มีทั้งลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 และจะจัดตัวเลขให้ลงตัวที่ 72-18- 10 ได้อย่างไร มีการวิเคราะห์ว่าอยู่ในวิสัยที่จะจัดการได้ แต่ต้องมาลงรายละเอียดแต่ละพื้นที่ว่าจะจัดสรรอย่างไร

    …ผมเสนอเรื่องนี้นายกฯ ให้ยอมรับว่านี่คือข้อตกลงที่รัฐบาลควรตกลงตามนี้”

    เราได้เก็บข้อมูล คำถาม คำตอบ ที่เก็บมาระหว่างทาง คนมีข้อข้องใจ แต่เราหาทางตอบให้มีทางไปกันได้ ออกมาเป็นคู่มือชุมชน และมีการเก็บข้อมูลว่าใครมีพื้นที่เป็นแบบไหน มีฐานเป็นอย่างไร หนี้สินเท่าไหร่ เก็บเป็นรายบุคคล รายแปลง ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่จะมำให้เกิดขึ้นจริงๆ เขาจะได้ตามสิทธิ ที่นี่ร่วมกันจัดทำขึ้นมา มาจากการที่ภาคประชาชนแต่ละตำบล ภาครัฐร่วมกันทำในกรอบของ “น่านแซนด์บ๊อกซ์”

    เราจะทำให้การจัดสรรที่ดินที่น่านเป็นจริงขึ้นมา

    ชาวบ้าน 99 ตำบลร่วมกันทำประชารัฐ

    บัณฑูรกล่าวต่อว่า…สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดโดยอัตโนมัติ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราทำงานต่อกัน เราต้องร่วมกันทำต่อไปในกรอบ “น่านแซนด์บ๊อกซ์” ก่อนอื่นต้องชี้แจงว่าประชารัฐไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ ที่นี่ไม่เกี่ยวการเมือง คนละเรื่องกับการเมือง ที่นี่มุ่งแก้ปัญหาประชาชนตรงนี้ ประชารัฐในที่นี้คือประชาชนกับรัฐสามารถทำงานร่วมกันได้ และไม่มีทางจะแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น หากรัฐและประชาชนทำงานด้วยกันไม่ได้ ก็ไม่มีวิธีอื่นที่จะแก้ปัญหาได้

    ขณะที่หลักการใหญ่ๆ เราตกลงกันได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นพรุ่งนี้ เรายังต้องทำงานต่อไป ปี 2561 เจรจาจัดสรรพื้นที่ ปี 2562 ทำให้บรรลุผลออกมาให้ได้ อย่างน้อยเรามีข้อตกลงจาก คทช. รัฐระบุว่ากลไก คทช. สามารถทำได้อย่างเร็วที่น่าน เรามีข้อมูลครบแล้ว และนัยความเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาว่ารัฐกับประชาชนร่วมกันแก้ปัญหาได้ ทรัพยากรภาครัฐจะลงมาตรงนี้เป็นพิเศษ ให้การแก้ปัญหาได้ภายใน 2 ปี ไม่ใช่ 20 ปี ต้องให้เสร็จภายในปีสองปีให้ได้

    บัณฑูรกล่าวต่อว่า…แต่การให้ประชาชนเปลี่ยนวิถีการทำมาหากินแบบเดิมมาทำอะไรใหม่ จากปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกต้นไม้ ก็ไม่มีรายได้ ต้องมีเงินมาช่วยในการเปลี่ยนผ่าน จึงไปเสนอรัฐบาล เงินนี้จะเอางบรัฐบาล จะยุ่งยากมาก เป็นประเด็นการเมือง และงบหลวงจะชดเชยให้ประชาชน คนนั้นเท่านั้นเท่านี้ คุ้มกับการเปลี่ยนวิถีเดิมหรือไม่ ก็จะยุ่งยาก จึงต้องหาเงินจากข้างนอกที่เขายินดีจะช่วยป่าต้นน้ำน่าน โดยจะเข้าบัญชีมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ของสมเด็จพระเทพรัตนฯ เป็นองค์ประธาน เพื่อรับเงินทั้งหลายที่จะเป็นเงินกองทุนให้ประชาชนเปลี่ยนผ่านจากการปลูกพืชเดิมๆ มาปลูกแบบใหม่ แต่ตอนนี้ยังไม่รีบใช้ ต้องเจรจาจัดสรรพื้นที่ให้เรียบร้อย ตรงไหนจะปลูกอะไร และเงินต้องไม่ขาดมือในการเลี้ยงชีวิต ประคองไปจนกว่าจะมีการหากินรูปแบบใหม่ได้

    ประเด็นแรก จัดสรรพื้นที่ให้ได้แล้ว ประเด็นที่สอง ต้องหาทางพาชุมชนในจังหวัดน่านได้ทำมาหากินในระดับสูงขึ้น ด้วยพื้นที่จำกัด ต้องหาพืชที่สร้างมูลค่าเพิ่ม โจทย์นี้ยังอีกไกลที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น แต่เราก็มาไกลกว่าที่คิดแล้วตอนนี้ มาไกลกว่าจังหวัดไหนที่เคยเดินมา ยังต้องเดินไปอีกไกล และต้องออกแรงหาความรู้ใหม่ๆ

    พร้อมย้ำอีกว่า…ณ ขณะนี้ ผมมารายงานผลการทำงานของ “คณะทำงานน่านแซนด์บ๊อกซ์” ที่รัฐบาลให้ไฟเขียวแล้วว่าทำได้ กลไกของภาครัฐพร้อม ข้อมูลพร้อม ต้องไปข้างหน้า เราจะไม่ปล่อยให้เราแพ้ เราต้องเดินต่อไป

    ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    ปรับปรุงกฎหมายใช้ “แนวคิดคนอยู่กับป่า”

    ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า …คทช. กับน่านแซนด์บ๊อกซ์ทำเรื่องเดียวกัน อะไรที่คลาดเคลื่อนมาคุยกัน แนวคิดคือทำอย่างไรให้ชุมชนอยู่รอด โครงการนี้ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน แต่ไม่ใช่พื้นที่เท่ากัน อย่าไปคิดว่าการจัดสรรที่ดินทำกิน คนนี้ได้ 30 ไร่ คนนี้ได้ 10 ไร่ ที่ที่รัฐบาลจัดสรรให้คือให้สิทธิทำกิน ท่านไม่มีสิทธิในที่ดิน ที่ต้องย้ำคือความอยู่รอดว่าจะปลูกอะไรในที่ดิน เป็นก้าวที่จะต้องไปให้ได้ ที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไม่สามารถเข้าไปได้เพราะการใช้สิทธิในที่ดินยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต่อไป น้ำ ไฟ จะเข้าไป จะได้ทำเกษตรให้สอดคล้องกัยศักยภาพของพื้นที่

    เรื่องของที่ดินต้องให้ได้ข้อสรุป หลังจากนั้นให้ชุมชนเข้าไปอยู่ พัฒนาอาชีพอย่างไร อยู่อย่างไร จะเปลี่ยนอย่างไร ช่วงเปลี่ยนผ่านจะชดเชยอย่างไร ส่วนไหนยังติดขัดก็จะมีเจ้าหน้าที่ทรัพยากรจังหวัด (ทสจ.) ทำงานในพื้นที่จะมาดูแล เดิมทีพื้นที่ในป่าสงวน อุทยาน อยู่ไม่ได้ ตอนนี้แนวทาง “คนอยู่กับป่า” จะออกมา ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้ เป็นแนวทางที่ขับเคลื่อนอยู่

    นายวิจารย์กล่าวว่า “…ปกติเราใช้เวลา 20 ปีในการทำข้อมูลเรื่องพื้นที่ แต่ชาวบ้านมีข้อมูลฐานเดิมอยู่แล้ว ทางกรมป่าไม้เอาข้อมูลมาใช้ ตามแผนเราจะเร่งรัดให้เสร็จภายในปี 2563 ไม่มีที่ไหนทำเสร็จทั้งจังหวัด มีที่นี่ที่เดียว ก็เป็นตัวอย่างสำหรับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”

    พร้อมกล่าวว่า “ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยฯ เรากำลังปรังปรุง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ แนวคิดคือคนอยู่กับป่า จะให้อยู่ที่ไหน อย่างไรที่ได้ทั้งสิ่งแวดล้อม ประชาชนอยู่ได้ เป็นแนวทางเดียวกับพื้นที่ป่าสงวน กล่าวคือ คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ให้ชุมชนลักษณะแปลงรวมซึ่งกำลังออกมา ถามว่าจะมีโฉนดชุมชน ไม่มี ต้องดูสาระในกฎหมาย ท่าน (ประชาชนในพื้นที่) ต้องตัดสินใจ มีมติ ครม. และกฎหมายออกมารองรับ นับว่าเป็นบุญของคนที่อยู่ที่นี่ เป็นโอกาสและจังหวะที่ดีของพี่น้องชาวน่าน ถ้าตกลงเรื่องที่ดินแล้ว จัดคนลง ต่อไปก็ทำเรื่องน้ำ ไฟ โครงสร้างพื้นฐาน จะจัดงบประมาณมาสนับสนุนแต่ละพื้นที่”

    นายบัณฑูร ล่ำซำ (ซ้าย) นายวิจารย์ สิมาฉายา(ขวา)

    ส่วนบัณฑูรกล่าวย้ำอีกว่า…ในที่สุดทุกคนมีพื้นที่ แต่ไม่ใช่คำถามสุดท้าย แต่ท่านมีพื้นที่แล้ว ตอนรอดไม่ว่าท่านจะมีพื้นที่เท่าไหร่ก็ตาม ตอนจบจะรอดไหม ไม่ได้ตัดสินที่จำนวนที่ดิน แต่ตัดสินที่การทำมาหากินบนที่ดินผืนนั้น ที่เราให้สิทธิทำมาหากิน หากให้ไปแล้ว ท่านรอดไหม… ยังไม่รอด… ทุกอย่างก็พังเหมือนเเดิม

    …เราย้ำกับรัฐบาลว่า ควรดีใจขั้นหนึ่ง รายการนี้ยังไม่จบ หากในที่สุดเรายังไม่สามารถพาประชาชนในจังหวัดน่านไปสู่การอยู่รอดในการทำมาหากินได้ การจัดสรรที่ดินก็เท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นเราจะไม่ปล่อยให้ใครแพ้ในการทำมาหากินเหมือนที่ผ่านมา ต้องหาองค์ความรู้ใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ ของการสนับสนุนเพื่อให้อยู่รอดได้ ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ร่วมกันไปทีละขั้น ไม่มีใครเคยทำแบบนี้มาก่อน อย่าเพิ่งแตกแถวไปไหน

    “น่านแซนด์บ๊อกซ์”

    การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน “พื้นที่จังหวัดน่าน” ดำเนินงานโดย คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการภาครัฐ นายบัณฑูร ล่ำซำ เป็นประธานกรรมการภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นรองประธานกรรมการ และคณะกรรมการอีก 23 ท่าน ร่วมด้วยอนุกรรมการด้านจัดทำชุดข้อมูลและแผนที่ และอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์

    เป้าหมายและวัตถุประสงค์
    1. แก้ไขปัญหาด้านที่ดิน-ป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ถูกต้องตามกฎหมาย และปรับคืนพื้นที่มาเป็นสภาพป่า
    2. จัดหาเงินทุนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตทางการเกษตรและการเลี้ยงชีพในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน
    3. ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การผลิตหรืออาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรายได้เพียงพอ และยกระดับคุณภาพชีวิต

    พื้นที่ดำเนินงาน: ทั้งจังหวัดน่าน 15 อำเภอ 99 ตำบล 924 หมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวน คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1, 2, 3, 4, และ 5

    หน่วยประสานงานหลัก: องค์การบริหารส่วนตำบล โดยความร่วมมือของผู้นำชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานสภาองค์กรชุมชน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรีตำบล และนายอำเภอ