ThaiPublica > คนในข่าว > ตอนที่ 8: วิพากษ์เศรษฐกิจ-การเมืองไทย

ตอนที่ 8: วิพากษ์เศรษฐกิจ-การเมืองไทย

23 กันยายน 2012


นายบัณฑูร ล่่ำซำ
นายบัณฑูร ล่่ำซำ

“บัณฑูร” ประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโตระดับปานกลาง ต้องรักษาให้ต่อเนื่อง แนะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3 ด้าน “การศึกษา-คมนาคม-กฎหมาย” ห่วงการเมืองไม่นิ่งทำเศรษฐกิจสะดุด ชี้รัฐบาลแก้ปัญหาทุกอย่างพร้อมกันไม่ได้ ต้องจัดลำดับความสำคัญ

ปกป้อง: คุณปั้นชวนเราคุยถึงประสบการณ์ของกสิกรไทย พูดถึงประสบการณ์ของระบบสถาบันการเงินไทย ผมชวนคุยต่อไปถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้น คือ เรื่องของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาค ด้วยความสัมพันธ์ของธนาคารกับระบบกำกับดูแลกับ ธปท. ภูมิทัศน์เหล่านี้เปลี่ยนไปแค่ไหน อย่างไร เมื่อ 15 ปีผ่านไป ตอนนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าเข้มแข็งขึ้นไหม หรือว่าอ่อนแอลงกว่าเดิม

เศรษฐกิจไทยก็เข้มแข็งตามสภาวะ คือ เอเชียฟื้น เมื่อ 15 ปีที่แล้วทุกคนล้มหมด ตอนนี้ทุกคนก็ฟื้น ถามว่าเรา “แข็งแกร่ง” กว่าคนอื่นไหม ก็กลางๆ การเจริญเติบโตของประเทศไทยเศรษฐกิจที่ไทย 5-6% ก็เป็นอัตราการเจริญเติบโตแบบกลางๆ แต่ว่ากลางอยู่ได้ไหม ก็พออยู่ได้ อยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับทรัพยากรต่างๆ อย่างไร

ปกป้อง: เราทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ไหม

ทำดีขึ้นทุกคนก็พูดได้ทั้งนั้นแหละครับ ทุกคนก็มีข้อบกพร่องข้อที่ไม่สมบูรณ์ด้วยกันหมดทั้งนั้น แต่ว่าทำยังไงมันถึงจะดีอย่างต่อเนื่อง “ไม่ใช่ดีแบบวูบวาบ” เพราะโตแบบพรวดพราดแล้วไปล้ม เราทำมาหนหนึ่งแล้ว ไม่อยากต้องเจออย่างนั้นอีก “มันเจ็บปวดนะเวลามันล้ม”

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าโตเร็วเกินไป แม้กระทั่งในประเทศจีนก็ยังชะลอ ไม่สามารถที่จะเหยียบ “เต็มเกจ์” อย่างนั้นได้ตลอด มันก็ต้องมีวันหยุดพักบ้าง มีการปรับโครงสร้างให้มั่นใจว่าระบบมันแน่น แล้วเราก็หวังว่าประเทศไทยควรจะเดินไปในทิศทางนั้น มีการพัฒนาเศรษฐกิจโดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความหมายต่อการสร้างเศรษฐกิจ และก็มีการควบคุมความเสี่ยงไม่ให้มีการขับรถลงเหวเหมือนที่ผ่านมา

ปกป้อง: ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทย คิดว่าอะไรเป็นจุดแข็งที่สุด คิดว่าอะไรเป็นจุดอ่อนที่สุด

ที่แข็งก็เพราะประเทศไทยอยู่ในจุดที่คนมาสะดวก และคนก็อยากจะมาโดยสภาพแวดล้อมโดยรวม สิ่งหนึ่งที่ประเทศเจริญมาถึงทุกวันนี้ก็เพราะว่ามีการ “ลงทุน” จากต่างชาติ ถ้าไม่มีการลงทุนก็ไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ก็ต้องเดินไปในเส้นนี้ แต่ก็ต้องมีรูปแบบที่วิวัฒนาการไปพัฒนาไปให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนไปของตลาดของภูมิภาคนี้

ปกป้อง: รูปแบบใหม่ที่ว่า

รูปแบบใหม่ก็คือว่า เราก็ต้องสามารถไปลงทุนในที่อื่นได้ด้วย เราต้องสามารถปรับตัวให้อยู่กับค่าแรงต่ำสุด ไม่ใช่เรามีเศรษฐกิจแบบนั้นอีกแล้ว แต่ค่าแรงสูงไม่ได้แปลว่าจะชนะถ้าความรู้ไม่ตามมาด้วย ความมีประสิทธิภาพในการผลิตในการให้บริการต้องมาพร้อมๆ กับค่าแรงที่สูงขึ้น ถึงจะเรียกว่า “มีความกินดีอยู่ดีขึ้น” ไม่อย่างนั้นมันก็มีแต่เงินเฟ้อ และมีแต่ต้นทุนขึ้น แต่สินค้าไม่ได้มีค่ามากขึ้นตามก็เป็นเงินเฟ้อ ไม่ได้กินดีอยู่ดีจริง

เพราะฉะนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจก็คือ

“โครงสร้างทางการศึกษา” เพราะเศรษฐกิจมันอยู่กับความสามารถของมนุษย์ในการทำงาน

“โครงสร้างทางระบบคมนาคม” โทรคมนาคม การสื่อสารพวกนี้สำคัญ

และอันที่สามที่คนมักลืมคือ “โครงสร้างทางกฎหมาย” คือเศรษฐกิจจะพัฒนาได้ดีกฎหมายต้องชัดเจน ถ้ากฎหมายมันออกมาแล้วทุกคนงงไปหมดว่า “ไอ้นี่มันทำผิดหรือทำถูก” สักพักมันจะเป็นตัวชะลอไม่ให้เศรษฐกิจดี

ปกป้อง: คุณปั้นมองรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มองธนาคารแห่งประเทศไทยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คิดว่าในช่วงใกล้ๆ ของเรา 4-5 ปีที่ผ่านมา เราตีโจทย์ถูกไหม เราดำเนินนโยบายได้ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างที่คุณปั้นหวังไว้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

อันนี้ก็เริ่มถามคำถามอันตรายมากขึ้น ลักษณะที่ไม่อยากจะตอบ แต่ว่าตอบกว้างๆ ถามว่าโดยรวมก็แก้ปัญหากันมาขั้นหนึ่ง ทั้งภาครัฐบาลทั้งภาคธนาคารแห่งประเทศไทยก็รู้โจทย์กันดี และก็มาแปลงเป็นนโยบายที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับอนาคต

ส่วนมันจะเหมาะสมที่สุดหรือไม่ที่สุด ยังเร็วเกินไปใช่ไหม แต่ละคณะที่เข้ามาก็มีแนวคิดของตัวว่าประเทศควรจะพัฒนาแบบนี้ แต่มันยังไม่ถึงที่สุดว่า นโยบายต่างๆ นั้นตกลงมันดีที่สุดสำหรับประเทศหรือเปล่า

อันนี้มันอาจจะใช้เวลาอีกสักพัก แต่ว่าอันนี้มันก็เป็นไปตามครรลองของการปกครองประเทศ แต่ละช่วงแต่ละยุคสมัยประชาชนก็เลือกคณะหนึ่งขึ้นมาแล้วคณะนั้นก็มาเสนอว่าฉันจะทำอย่างนี้อย่างนี้ ก็ต้องลองทำดู ส่วนผลเป็นยังไงมันเร็วเกินไป ประเมินไม่ได้ มีปัญหาก็แก้กันไป

ปกป้อง: นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งบอกว่าตอนนี้ประเทศไทยตกอยู่ในกับดักสองกับดัก อันที่ 1 คือ กับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง คือ middle income track อีกกับดักหนึ่งก็คือ กับดักประชานิยม แล้วเราจะออกไปจากกับดักสองอันนี้ยังไงถ้าเห็นว่าเป็นปัญหา

คำว่า “ประชานิยม” ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร เพราะมันเป็นการใช้พูดเหมือนกับว่าใช้ด่ากัน เลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันแปลว่าอะไร ผมเลยไม่กล้าใช้เพราะว่าไม่รู้มันแปลว่าอะไร

แต่ถ้าพูดถึงว่ารายได้ก็มีส่วนนะครับ คือ ส่วนหนึ่งเราก็ไม่ถึงกับว่าค่าแรงต่ำสุด ฉะนั้นความได้เปรียบอันนี้ ซึ่งเมื่อก่อนมันเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย ความได้เปรียบนี้จะค่อยๆ หายไป ก็ต้องมาควบคู่ว่า ถ้าค่าแรงไม่ต่ำสุด จะมีความสามารถในการผลิตสอดคล้องกับค่าแรงที่สูงขึ้นไหม ถ้ามีก็เอาตัวรอด

ปกป้อง: ไทยพร้อมไหม

พร้อมไหม ก็พร้อมบ้างไม่พร้อมบ้าง การศึกษา ระบบต่างๆ โครงสร้างต่างๆ ก็พร้อมขั้นหนึ่ง แต่ยังไม่พร้อมที่สุด เรื่องภาษาก็อาจเป็นประเด็นหนึ่ง เพราะคนไทยไม่พูดภาษาอะไรก็พูดภาษาไทย จะเดือดร้อนหนักที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ว่าโลกสมัยใหม่ต้องพูดภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ได้ด้วย ถึงจะมีอำนาจต่อรองสูง อันนี้ก็เป็นโจทย์ข้อหนึ่ง

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ โครงสร้างมันต้องเป็นโครงสร้างที่ “แน่น” และ “นิ่ง” ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างระบบโทรคมนาคม คมนาคม ระบบการศึกษา และโครงสร้างทางกฎหมาย

สามตัวนี้ผมพูดมาตลอดว่า ถ้ามันไม่ได้คุณภาพ การต่อยอดไปเป็นเศรษฐกิจที่มีความหมายมันจะทำได้ลำบากยิ่งขึ้น ไม่ต้องพูดถึงว่าประเด็นทะเลาะกันจนกระทั่งบ้านเมืองไม่สงบสุข อันนั้นก็พอดีไม่ต้องมีการจัดการอะไรทั้งสิ้นเพราะมัวแต่ทะเลาะกัน อันนั้นเป็น “ตัวสะดุด” อย่างยิ่ง

ปกป้อง: กสิกรไทยอยู่ด้านหน้า ได้สัมพันธ์กับธุรกิจเอกชน เป็นคนปล่อยกู้ให้เขา ประเมินความสามารถ ประเมินฝีมือของภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศไทยยังไง

ก็คนที่เก่งก็มีเยอะนะ ที่สามารถดิ้นไปหาตลาดใหม่ได้ ที่สามารถผลิตสินค้า บริการใหม่ๆ ออกมาได้ แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่อยู่กลางๆ ก็มีความสามารถขั้นหนึ่ง มีแรงต้านทานขั้นหนึ่งต่อความผันผวนของตลาด ธนาคารพาณิชย์จะดีไปกว่าระบบการผลิตการค้าขายของประเทศเป็นไปไม่ได้ ธนาคารพาณิชย์เป็นที่รวมของการค้าขายการผลิตทั้งหลาย เอามารวมอยู่ทางนี่ ฉะนั้น ถ้าระบบการแข่งขันในธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะออกมาในผลของระบบการเงิน

ปกป้อง: เราเด่นอะไร ภาคเศรษฐกิจจริงของไทยที่เด่นๆ ที่พอจะชูธงเป็น fact sheet ประเทศไทยได้

ก็เราก็ยังมีโครงสร้างพื้นฐานดีขั้นหนึ่งนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย ก็สร้างมาเป็น 20-30 ปีแล้ว ที่เอื้ออำนวยให้มีการลงทุนจากต่างชาติต่อยอด แล้วก็สามารถสร้างงานสร้างอะไรให้ประเทศนี้ได้ ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่คนอยากจะมา ทั้งอยากมาลงทุน อยากมาเที่ยว ก็ไม่ใช่ทุกประเทศที่พูดอย่างนี้ได้

ปกป้อง: คุณปั้นมองเศรษฐกิจไทยตอนนี้นี่เห็นความเสี่ยงอะไรไหมครับ ที่เศรษฐกิจไทยจะเดินไปสู่วิกฤติ อาจจะเป็นวิกฤติที่แตกต่างจากวิกฤติปี 40 แต่น่ากลัวไม่แพ้กัน

ยังไม่เห็นอะไรที่ดูแล้วเป็น “ไฟแดง” วาบๆ อย่างนั้นนะครับ แต่ว่าทุกระบบมันก็เผชิญความผันผวนไปต่างๆ นานา และตัวอย่างที่มันเกิดขึ้นในซีกโลกอื่นก็ควรเป็นตัวอย่างที่ทุกคนศึกษาอย่างใกล้ชิดว่า เอ๊ะ! มันเดินยังไงมันถึงไปอยู่ตรงนั้นได้ ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ 3-4 ปีก่อนหน้านี้ก็พูดดีไปหมดทุกอย่าง แล้วเดินมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่เสียหายที่จะไปศึกษา แล้วก็อย่าดันเดินไปตามแบบที่เขาเดิน

ปกป้อง: วิกฤติการเมืองจะพาเราไปยังไง และมันจะพาเศรษฐกิจไทยลงเหวไปขนาดไหน

คำว่า “วิกฤติการเมือง” แปลว่าอะไร ถ้าวิกฤติการเมืองก็คือว่า บ้านเมืองไม่มีเวลาที่จะมาจัดการกับเรื่องทั้งหลายที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศ อันนั้นคือวิกฤติอย่างยิ่ง คือประเทศไม่มีการจัดการ

ปกป้อง: ทุกวันนี้มันเรียกว่าวิกฤติได้ไหม

ปัจจุบันก็ครึ่งๆ บางอย่างก็ยังมีการจัดการ บางอย่างก็เสียเวลาไปกับการถกกันว่าใครควรจะมีอำนาจ ใครจะผิด ใครควรจะถูกอะไรอย่างนี้

ปกป้อง: ยังมีอะไรที่เราควรทำและยังไม่ทำอีกบ้าง

เราคือใคร

ปกป้อง: รัฐบาล ผู้บริหารประเทศ

คงไม่มีวันทำครบถ้วนทุกอย่างหรอก โจทย์อะไรมันก็เกินทุกรัฐบาลด้วยกันทั้งนั้น คนก็มีทุกข์ที่ไปหารัฐบาลให้แก้ไข มันก็เหนือวิสัยที่เขาจะแก้ไขได้ทุกอย่างทันการณ์ทันเวลาและทุกคน ก็ต้องเลือกเอา อันไหนสำคัญก่อนก็ทำก่อน อันไหนกระทบคนมากก็ทำก่อน

อ่านต่อ ตอนจบ: “บัณฑูร” เปรียบการใช้ชีวิตเหมือนเล่นไพ่