ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” สร้างป่า สร้างรายได้… “สิ่งดีดีกำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน”

โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” สร้างป่า สร้างรายได้… “สิ่งดีดีกำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน”

21 พฤษภาคม 2019


การบรรยายเรื่อง “สิ่งดีดีกำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย [

ด้วย “โจทย์ที่ต้องทำให้แจ้ง” ของ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ผลักดันภายใต้โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ในการทำให้ป่ากลับคืนมาของจังหวัดน่าน แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะทำให้แจ้งได้ต้องใช้เวลาทำการบ้านเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

ที่ผ่านมาหลายกลุ่มหลายหน่วยงานหลายองค์กรต่างยื่นมือเข้ามาเพื่อ “ฟื้นฟูน่าน” ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน เป็นหนึ่งในลำน้ำสายหลักที่ไหลมารวมกับแม่น้ำสายอื่นเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำที่หล่อเลี้ยงประเทศไทยมายาวนาน

ปิง วัง ยม น่าน เป็นชื่อแม่น้ำที่เราท่องจำมาตั้งแต่ชั้นประถม ที่รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดย 40% เป็นปริมาณน้ำของลำน้ำน่าน สะท้อนถึงความสำคัญว่าทำไมจึงต้องรักษาป่าต้นน้ำน่านอย่างจริงจัง เพื่อไว้ให้คนรุ่นต่อๆ ไป

การฟื้นฟูน่าน ที่เป็น “ภูโกร๋น” ให้กลับมาเป็นป่าอีกครั้ง พร้อมแนวทางให้คนอยู่กับป่าได้ ไม่ใช่แค่โจทย์ของชาวน่าน แต่เป็นโจทย์ของประเทศ

วันนี้แนวทางการฟื้นฟูป่าน่าน จึงเป็นการนำร่องด้วย “น่านแซนด์บ๊อกซ์” ในการพัฒนาโมเดล “สร้างป่า สร้างรายได้” ให้ทำได้จริง

ด้วยโจทย์คือพื้นที่ป่าที่เสียไป จะกลับมาพร้อมๆ กับการกินดีอยู่ดีของประชาชนในจังหวัดนี้ เพื่อกอบกู้วิถีคนอยู่กับป่า ให้ประชาชนในพื้นที่อยู่รอดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง

การดำเนินการต่างๆ ภายใต้โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” มีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้อำนวยการโครงการ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทัพบก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจังหวัดน่าน โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนและประสานงานโครงการ มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะแสวงหาความร่วมมือในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุน ให้ประชาชนคนน่านได้ประกอบสัมมาอาชีพที่สร้างสรรค์และพอเพียง ทำให้สามารถดำรงชีพที่มีคุณภาพร่วมอยู่กับป่าได้ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนน่าน ให้รับช่วงต่อไปในการรักษาทรัพยากรอันเป็นสมบัติแผ่นดินสืบไปในภายภาคหน้า

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 มีการจัดสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 4 มีหน่วยงานที่ร่วมในโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ได้นำเสนอความคืบหน้า และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานในรอบสองปีที่ผ่านมา โดยการสัมนนาเริ่มจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง “สร้างป่า สร้างรายได้” และตามด้วยการบรรยายเรื่อง “สิ่งดีดีกำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ต่อด้วยการเสวนาเรื่อง “วิถีคนน่านอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน” โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิการบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นางฑิฆัมพร กองสอน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย และนายถนัด ใบยา รองประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน

สำหรับการเสวนาเรื่อง “สิ่งดีดีกำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉาย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

นายบัณฑูรได้เกริ่นนำว่าจากการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อให้สอดคล้องและสามารถมาช่วยแก้ปัญหาได้จริงจัง จากจุดนั้นหากไม่มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่ได้เสนอปัญหาต่อรัฐบาลแล้ว ก็ป่วยการที่จะจัดเสวนารักษ์ป่าน่านครั้งที่ 4 แต่ในทางเป็นจริง เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีดี คือภาครัฐมีมาตรการแก้ไขในเรื่องนี้

จากนั้นนายวิจารณ์ได้กล่าวในรายละเอียดว่า สิ่งที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับภาคเอกชนและพี่น้องจังหวัดน่านได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในที่นี้เรากำลังให้หัวข้อว่า “สิ่งดีดีที่กำลังจะเกิดขึ้นที่จังหวัดน่าน”

“พื้นที่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบ มี 2 พื้นที่คือพื้นที่อนุรักษ์ อยู่ในการดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในพื้นที่ จ.น่านเรามีอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง เรามีพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอยู่ 1 แห่ง 12.83 ล้านไร่ อีกพื้นที่คือพื้นป่าสงวนแห่งชาติ อยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ มีพื้นที่ 3.22 ล้านไร่”

ปัญหาที่ผ่านมาคือพื้นที่ป่าของจังหวัดน่าน มีการบุกรุกพื้นที่ป่า สิ่งที่ตามมาคือภูเขาหัวโล้น ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลังที่ผ่านมา เรามีปัญหาฝุ่นละออกงขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดน่าน

ในขณะเดียวกันการพังทลาย การชะล้างในพื้นที่ น้ำที่ออกจาก จ.น่านเป็นสีเหลืองขุ่น มีตะกอนจำนวนมาก ไม่ได้อยู่เฉพาะที่น่าน และลงไปถึงปลายน้ำที่กรุงเทพฯ ออกสู่ทะเล นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่

นายวิจารณ์กล่าวว่า “สำหรับภาพรวมในพื้นที่ทั้งหมด 7.58 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 6 ล้านไร่ พื้นที่ สปก. 5 แสนไร่ พื้นที่ที่มีสิ่งปลูกสร้าง 1 ล้านไร่ พื้นที่ป่าเรามีเกือบ 80 % แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าที่มีสภาพป่าแค่ 4.5 ล้านไร่ พื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย 1.6 ล้านไร่ ตัวเลข 1.6 ล้านไร่เป็นตัวเลขที่เราจะบริหารจัดการอย่างไร”

ตามกรอบกฎหมายที่กระทรวงทรัพย์ฯ ดูแล เราจะมีพื้นที่อนุรักษ์ที่ถูกบุกรุกหรือพื้นที่อุทยานฯ ที่ถูกบุกรุก 2 แสนไร่ พื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุก 1.3 ล้านไร่ และยังมีพื้นต้นน้ำที่ถูกบุกรุกอีก

โดยพื้นที่ลุ่มน้ำที่จัดสรร เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่เป็นลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 และลุ่มน้ำที่ถัดลงมา 3-4-5 แต่พื้นที่เหล่านี้ เราไม่สามารถบริหารจัดการตามทฤษฎีได้เพราะว่าพี่น้องประชาชนอยู่ค่อนข้างเต็มพื้นที่ต้นน้ำ ในพื้นที่สูงชัน ดังนั้นการบริหารจัดการในพื้นที่จึงยุ่งยาก

“คนที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ เป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกประมาณ 1 ล้านไร่ เป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการ ดังนั้นสิ่งดีดีที่ได้คุยกับคุณบัณฑูร ล่ำซำ ว่าเราจะขับเคลื่อนอย่างไร ในอดีตที่ผ่านมากฎหมายต่างๆ ไม่เอื้อให้เราเข้าไปบริหารจัดการได้”

นายวิจารณ์กล่าวว่า สิ่งดีๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นประเด็นแรกคือ สิทธิทำกินในเขตพื้นที่ป่า คนที่อยู่ในพื้นที่ป่าจะมีสิทธิทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร ตอนนี้กระทรวงทรัพย์ฯ ดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ทั้ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

หลักการของกระทรวงทรัพย์ฯ คือ กฎหมายที่มีอยู่ที่ประชาชนไม่สามารถอยู่กับป่าได้ ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนสามารถอยู่ในพื้นที่ป่าได้ แต่อยู่โดยเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะการดูแลระบบนิเวศน์ การส่งเสริมให้ปลูกไม้มีค่า เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง ที่ผ่านมาแม้จะปลูกก็ตัดไม่ได้ ก็มีการแก้กฎหมายว่า ไม้มีค่าที่ปลูกในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ สามารถตัดได้ ในขณะเดียวกัน แม้กระทั่งที่ดินที่รัฐจัดให้ หากปลูกไม้มีค่าก็สามารถตัดได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเสริมในสิ่งที่เราจะขับเคลื่อนต่อไป

ในส่วน พ.ร.บ.ปราชญ์ชุมชน กำลังจะออกมาเสริมให้คนอยู่กับป่า จะแบ่งเป็น 2 ส่วน พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ใช้ประโยชน์ ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถตั้งกรรมการขึ้นมาดูแลการใช้ประโยชน์จากป่าได้ ในแนวทางการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่น การหาของป่า หาเห็ด หาแมลง หาผักป่า สามารถที่หาได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย

“อีกประเด็นทำอย่างไรให้เกษตรกรพื้นที่สูงมีรายได้ จากที่ได้ทำงานกับคุณบัณฑูรว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร โดยปลูกในพื้นที่น้อยแต่ให้รายได้สูง จะทำอะไร ซึ่งพระองค์ท่าน (กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) ได้เอาตัวอย่างสร้างป่าสร้างรายได้ หลายพื้นที่ที่ทำได้ จะขยายผลอย่างไร จะถอดบทเรียนอย่างไร”

ในส่วนประเด็นการอยู่ในพื้นที่ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตรงนี้มี พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เนื้อหาสาระสำคัญ จะจัดที่ดิน กระจายที่ดินให้พี่น้องประชาชนอย่างไร โดยมีนโยบายให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะป่าเสื่อมโทรม จะอยู่อย่างไรให้ถูกกฎหมาย สำหรับพื้นที่ในจังหวัดน่าน หากแบ่งพื้นที่ออกไปเป็น 4 ส่วน คือ

“ตอนนี้การถือครองที่ดินเรายึดตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ ชาวบ้านมีสิทธิในการครอบครองที่ดินได้ แต่อย่างไรก็ตาม มติ ครม. 2541 เวลาพิสูจน์ก็มักจะมีภาพถ่ายทางอากาศมาใช้ประกอบคือภาพถ่ายปี 2545 ซึ่งใช้ได้ และเข้ากับหลักมติ ครม.อีกส่วนคือที่ลุ่มน้ำ ที่ติดลุ่มน้ำที่ 1-2 จะอยู่อย่างไร แล้วที่ดินที่ติดกับลุ่มน้ำที่ 3-4-5 จะอยู่อย่างไร”

ในกรณีที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้นที่ 1-2 ถ้าอยู่มาก่อนและอยู่หลัง ตอนนี้ตามคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะพี่น้องผู้ยากไร้ สามารถที่จะอยู่และใช้ประโยชน์ได้ รายละเอียดจะอยู่อย่างไร กระทรวงทรัพย์ฯ จะรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนอีกทีว่าจะอยู่อย่างไร

ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำ 3-4-5 เรามีคณะกรรมการจัดที่ดินให้ชุมชน ได้มีการจัดแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดน่านได้ดำเนินไปแล้วกว่า 50% ในส่วนที่เข้ามาครอบครองหลังปี 2557 จะทำอย่างไร ได้ดำเนินการในหลายพื้นที่โดยการอนุมัติอนุญาตของอธิบดีกรมป่าไม้ หรืออุทยาน ทางเขตควบคุม ในพื้นที่ภาพรวมเราแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ที่น่าตกใจกลุ่มที่เยอะที่สุดคือกลุ่มที่ครอบครองหลังปี 2557 กลุ่มนี้มีกว่า 40% เราบริหารจัดการโดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยอนุรักษ์ดินและน้ำ สร้างป่าสร้างรายได้ ตามที่พระองค์ได้เรียนในที่ประชุมแล้ว

“นี่คือรถไฟ 4 ขบวนที่กระทรวงทรัพย์ฯ พยายามจะสื่อสารให้เข้าใจง่าย ในคน 4 กลุ่ม จะขึ้นรถไฟขบวนนี้กันอย่างไร ถามว่ารถไฟ 4 ขบวนต้องขึ้นไหม ถามว่าไม่ขึ้นได้ไหม ถ้าไม่ขึ้นท่านจะไม่ได้รับสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินที่กระทรวงทรัพย์ฯและหน่วยของรัฐดูแล อย่างกรณีกลุ่มที่ 1 ที่เราจัดที่ดินให้ชุมชน จะมีแนวทางว่ารถไฟแต่ขบวนจะวิ่งแนวไหน อย่างไร กฎระเบียบอย่างไร ซึ่งเรากำลังทำงานขับเคลื่อนกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดน่านเราเตรียมกำหนดพื้นที่ที่อยู่ก่อนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 มีพื้นไหน ก็ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนด้วยดี อยู่ในระหว่างการขับเคลื่อน”

ประเด็นที่สอง เราจะรักษาสมดุลระบบนิเวศน์ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างไร ใช้ประโยชน์โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรากำหนดโซนนิ่งที่ชัดเจน รายละเอียดต้องคุยกับพี่น้องประชาชนในหลายๆ พื้นที่ว่าจะปลูกอะไรที่สามารถสร้างรายได้และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่สูง

ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่เป็นส่วนกลางจะกำหนดว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร ในหลายพื้นที่ชัดเจนแล้ว หลายพื้นที่กำลังหารือกัน ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับพี่น้องในระดับหมู่บ้าน อำเภอ ส่วนไหนพร้อมก็จะสามารถขับเคลื่อนไปโดยมีภาคเอกชนมาสนับสนุนบางส่วน ผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

ประเด็นที่สาม กรณีไม้หวงห้ามไม้หายากที่เดิมแม้จะเป็นเจ้าของที่ดินก็ตัดไม่ได้ ตอนนี้เอื้ออำนวยสามารถตัดได้ในพื้นที่กำหนดไว้ ก็เป็นแนวทางส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนสามารถปลูกต้นไม้ยืนต้นเหล่านี้ในพื้นที่ต้นน้ำ สามารถตัดได้ โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯพร้อมที่จะให้การสนับสนุน

ประเด็นที่ 4 พ.ร.บ.ป่าชุมชน ต่อไปพี่น้องประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้ อันนี้ได้ดำเนินการกับชุมชนไปแล้ว 381 ป่า 381 ชุมชน พื้นที่ 2 แสน 3หมื่นไร่ ได้ดำเนินการแล้ว ถ้าชุมชนไหนพร้อม ทางเราก้พร้มที่จะขับเคลื่อนไปกับพี่น้องประชาชนในกรณีที่ต้องดำเนินการตามพรบ.ป่าชุมชน ทั้งในพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ใช้ประโยชน์ ที่จะไม่ทำลายป่าไม้เดิม

ประเด็นที่ 5 สร้างรายได้เพิ่มจะทำอย่างไร ปลูกป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สร้างป่าสร้างรายได้ สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือทำอย่างไรให้ครอบคลุมขยายทุกพื้นที่ในจังหวัดน่าน ปลูกป่าเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน กระทรวงทรัพย์ฯ มีงบประมาณส่วนหนึ่งที่สนับสนุน ตาม พ.ร.บ.สวนป่าฯ

“ในพื้นที่จังหวัดน่านก็มีหลายพื้นที่ที่กำลังสร้างป่าสร้างรายได้ซึ่งเกิดผลแล้วในหลายพื้นที่ และคุณค่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนปีที่เพิ่มขึ้น ป่าเศรษฐกิจกรมป่าไม้สนับสนุนต่อไร่ในช่วง 5 ปี เรื่องกล้าไม้ หากประชาชนที่มีที่ดินของตนเอง สนใจจะปลูก มาขอพันธุ์กล้าไม้ได้”

สิ่งที่ทำได้แล้ว อย่างอำเภอสันติสุข 3 ปีที่แล้ว เป็นภูเขาหัวโล้น กระทรวงทรัพย์ฯได้ขอคืนพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพด แล้วมาร่วมกันปลูกป่า จากปี 2559-2562 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดผล ภาพได้เปลี่ยนไป หากเราร่วมกันทำ เราทำได้ในพื้นที่ต้นน้ำ เราจะขับเคลื่อนและจัดที่ดินให้พี่น้องมีที่ทำกิน

นายบัณฑูรได้กล่าวเสริมว่า จากการที่ภาครัฐได้ประเมินปัญหาและแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่จังหวัดน่าน ทำให้ภาคประชาชน ภาครัฐมีการคุยกันอย่างเป็นรูปธรรม ทุกคนมีกำลังใจที่จะหาวิธีการใหม่ที่จะแก้ปัญหา หาพืชใหม่ๆ หาวิธีการผลิต เป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งของการผลักดันร่วมกัน

แต่อย่างไรก็ยังมีโจทย์ที่ต้องทำ เพราะว่าคณิตศาสตร์ของการทำมาหากินของภาคเกษตรโดยทั่วไปก็ยากอยู่แล้ว แต่พื้นที่จังหวัดน่านยากขึ้นไปอีกเพราะเป็นพื้นที่ภูเขา น้ำไม่มี ดังนั้น การที่จะทำอะไรก็ตาม ต้องคำนวณใช้ชัดเจน คณิตศาสตร์การทำมาหากินว่าจะปลูกอะไร ต้นทุนเท่าไหร่ ขายได้ไหม ค่าขนส่ง จนถึงมือผู้บริโภค มีรายได้เท่าไหร่ หากไม่เป็นบวกก็ต้องไปคิดใหม่ หากทำไปอย่างเดิม ที่ดินที่จัดสรรไปให้ก็จะมีปัญหาเดิมๆ ไม่มีวันงอกได้

สิ่งที่ได้พูดจากการสัมมนาคราวที่แล้วคือการเรียนรู้ ความรู้ต่างๆ จากทุกภาคส่วน ถึงจะได้ชื่อว่าแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ตอนจบสิ่งที่จะต้องทำคือตอนจบต้องส่งความรู้นี้ให้เยาวชน เผื่อจะได้ผนวกความรู้ใหม่ๆ เข้าไป เป็นการส่งต่อความยั่งยืนในอนาคตซึ่งเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังนั้นจากนี้ไปก็จะส่งต่อความรู้ต่อไป

  • “น่านแซนด์บ๊อกซ์” แก้ปัญหาพื้นที่ทำกินรูปแบบคนอยู่กับป่า โจทย์ที่ต้องทำให้แจ้ง-ชาวบ้านต้องอยู่รอด ถ้าแพ้…ทุกอย่างพังเหมือนเดิม
  • “บัณฑูร ล่ำซำ” แก้โจทย์ธุรกิจแบงก์กิงกับโลกใหม่ – เศรษฐกิจในสถานการณ์ “ฝีแตก” พร้อมงัดตำราเจ้าสัวทวงคืนผืนป่าน่าน
  • “บัณฑูร ล่ำซำ” ชี้ “น่าน” เล่นแพ้ในระบบทุนนิยม – รัฐต้องกล้าแก้โจทย์ที่ต่างจากเดิมๆ
  • ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ
  • ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ (จบ)
  • “ความซับซ้อนของภูโกร๋น”