ThaiPublica > เกาะกระแส > สหรัฐอเมริกาช่วยอาเซียนต่อสู้โควิด-19 มอบเงินแล้ว 18.3 ล้านเหรียญ

สหรัฐอเมริกาช่วยอาเซียนต่อสู้โควิด-19 มอบเงินแล้ว 18.3 ล้านเหรียญ

1 เมษายน 2020


ที่มาภาพ: https://asean.usmission.gov/chairmans-statement-of-the-7th-asean-united-states-summit/

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 สำนักงานโฆษก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ที่มอบให้กับอาเซียเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศ มีใจความว่า

ในฐานะผู้นำด้านสาธารณสุขโลกและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้การสนับสนุนมิตรประเทศอาเซียนของเราในการต่อสู้กับโควิด-19 นับตั้งแต่มีการระบาด รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินและด้านมนุษยธรรมไปแล้ว 18.3 ล้านเหรียญแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน

ณ วันที่ 26 มีนาคม 2563 สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเกือบ 274 ล้านเหรียญ ด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินและด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศที่ขาดแคลน นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลลก และองค์การยูนิเซฟ

เงินที่ได้ช่วยเหลือไปนี้รวมถึงเงินจำนวน 100 ล้านเหรียญเพื่อความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินผ่านกองทุนสำรองเพื่อการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินระดับโลก (Global Health Emergency Reserve Fund) ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และ 110 ล้านเหรียญสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยชนผ่านบัญชีความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติระดับสากล (International Disaster Assistance) ของ USAID ซึ่งจะนำไปมอบให้กับประเทศที่กำลังเผชิญความเสี่ยงสูงจากภัยคุกคามของการระบาดทั่วโลก

นอกจากนี้ สำนักงานกิจการประชากร ผู้ลี้ภัย และการโยกย้ายถิ่น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จะมอบเงิน 64 ล้านเหรียญให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยชนเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ภายใต้วิกฤติด้านมนุษยธรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุดของโลก

เงินก้อนใหม่เพื่อช่วยเหลือแก่อาเซียนในการต่อสู้โควิด-19

สหรัฐอเมริกาได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศอาเซียนเพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  • เตรียมห้องปฏิบัติการสำหรับการทดสอบโควิด-19 ในวงกว้าง
  • การป้องกันการติดเชื้อและการควบคุม
  • การสื่อสารถึงความเสี่ยง
  • ใช้แผนฉุกเฉินด้านสาธารณสุขสำหรับจุดผ่านแดน
  • ใช้การค้นหาผู้ที่ติดเชื้อและการเฝ้าระวังตามเหตุการณ์สำหรับการเจ็บป่วยที่คล้ายไข้หวัดใหญ่
  • อบรมและเตรียมเจ้าหน้าที่ตอบสนองรวดเร็วในการสืบสวนและการตตรวจสอบเส้นทางการติดต่อ
  • อัปเดตข้อมูลการอบรมสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ
  • หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เป็นแนวหน้าในการตอบสนองระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ, USAID, ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) กำลังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดสรรเงิน ที่คำนึงจากพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงและความเปราะบาง สหรัฐอเมริกายังประสานงานกับผู้บริจาครายอื่นๆ เพื่อเสริมความช่วยเหลือ และหลีกเลี่ยงการทำงานซ้ำซ้อน

    การสนับสนุนชั้นนำของอเมริกาต่อสาธารณสุขอาเซียน

    การให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินนี้ เป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาที่ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน 3.5 พันล้านเหรียญมาตลอดกว่า 20 ปี สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำด้านการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขของโลก ด้วยเงินจำนวนมากกว่า 9.5 พันล้านเหรียญที่จัดสรรให้ในปี 2562 เพื่อสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินจำนวนนี้ได้รวมถึงเงินที่มอบให้เพื่อการต่อสู้กับภัยคุกคามจากการระบาด โรคติดเชื้อเอชไอวี HIV/AIDS ไข้มาลาเรีย วัณโรค และสาธารณสุขด้านอื่นๆ ที่จำเป็น

    ตั้งแต่ปี 2552 ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันได้มีน้ำใจสนับสนุนเงินจำนวนมากกว่า 100 แสนล้านเหรียญในการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและเกือบ 70 พันล้านเหรียญให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลก ประเทศของเรายังคงเป็นผู้บริจาครายใหญ่รายเดียวด้านสาธารณสุขและด้านมนุษยธรรม ทั้งเพื่อการพัฒนาระยะยาวและเพื่อเสริมขีดความสามารถแก่พันธมิตร และความสามารถในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นอีก เงินจำนวนนี้ได้ช่วยชีวิต คุ้มครองกลุ่มคนที่เปราะบางต่อโรค สร้างสถาบันด้านสุขภาพ และส่งเสริมความมั่นคงของประชาคมและประเทศต่างๆ

    การให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินของสหรัฐอเมริกาต่ออาเซียนในการรับมือโควิด-19

    สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและด้านการเงินแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนเบื้องต้นจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นเงิน 18.3 ล้านเหรียญ ดังต่อไปนี้

    บรูไน
    กระทรวงต่างประเทศได้ตอบสนองต่อการร้องขอต่อบริษัทสหรัฐฯ จากบรูไนในการจัดหาเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หลังจากที่ได้ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการในสหรัฐฯ

    กัมพูชา
    ได้มอบเงิน 2 ล้านเหรียญเพื่อความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยรัฐบาลกัมพูชาให้เตรียมระบบห้องปฏิบัติการ การค้นหาผู้ติดเชื้อและการเฝ้าระวังตามเหตุการณ์ รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญสำหรับการตอบสนองและการเตรียมการ และอื่นๆ

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือกัมพูชาในด้านการจัดการทางคลีนิคกับผู้ที่สัมผัสโรค ห้องปฏิบัติการทดสอบ การเฝ้าระวัง และการควบคุมการติดเชื้อ

    แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health: NIH) ได้ให้คำปรึกษาด้านคลินิก และวางแนวทางการดูแลทางคลินิก ให้แก่โรงพยาบาลโรยัลพนมเปญ ซึ่งจัดเป็นสถานที่รักษาโควิด-19

    สหรัฐอเมริกาได้ลงทุนระยะยาวในกัมพูชา ให้ความช่วยเหลือกว่า 730 ล้านเหรียญด้านสาธารณสุขและให้ความช่วยเหลือโดยรวมมากกว่า 1.6 พันล้านเหรียญมากว่า 20 ปี

    อินโดนีเซีย
    ได้มอบเงิน 2.3 ล้านเหรียญเพื่อช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่รัฐบาลอินโดนีเซียในการเตรียมห้องปฏิบัติการสำหรับการทดสอบ การค้นหาผู้ติดเชื้อและการเฝ้าระวังตามเหตุการณ์ ผู้เชี่ยวชาญสำหรับการตอบสนองและการเตรียมการ และอื่นๆ

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอินโดนีเซีย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (Armed Forces Research Institute of Medical Sciences: AFRIMS) ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งประจำอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ได้มอบน้ำยาเพื่อการทดสอบเพิ่มเติม 500 ชุดในเดือนมีนาคม

    สหรัฐอเมริกาได้ลงทุนในอินโดนีเซียกว่า 1 พันล้านเหรียญด้านสาธารณสุขและให้ความช่วยเหลือโดยรวมมากกว่า 5 พันล้านเหรียญมากว่า 20 ปี

    ลาว
    ได้มอบเงินช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเกือบ 2 ล้านเหรียญซึ่งจะช่วยรัฐบาลลาวในการเตรียมห้องปฏิบัติการสำหรับการทดสอบ การค้นหาผู้ติดเชื้อ และการเฝ้าระวังตามเหตุการณ์ ผู้เชี่ยวชาญสำหรับการตอบสนองและการเตรียมการ และอื่นๆ และกระทรวงกลาโหมยังกำลังเตรียมความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ทดสอบเพิ่มเติม

    ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ จำนวน 6 รายได้เดินทางไที่ลาวเพื่อให้การอบรมรับมือการระบาดครั้งใหญ่ การเฝ้าระวังและการใช้ห้องปฏิบัติการ

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ และกระทรวงกลาโหมได้นำฝึกการซ้อมแผนบนโต๊ะและจำลองสถานการณ์ร่วมกับรัฐบาลลาว ในเดือนมีนาคมในการสกัดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งครอบคลุมการซ้อมจำลองเหตุการณ์การเตรียมพร้อมสำหรับโควิด-19 และและทีมผู้ตอบสนองที่สนามบินวัดไตวันที่ 19-20 มีนาคม

    การให้ความช่วยเหลือและการอบรมยังมีต่อเนื่องจากหน่วยงานป้องกันและลดภัยคุกคาม (Defense Threat Reduction Agency: DTRA) ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะโครงการลดภัยคุกคามทางชีวภาพ เพื่อเสริมขีดความสามารถในการทดสอบโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขลาวให้ดีขึ้น

    สหรัฐอเมริกาได้ลงทุนในลาวเกือบ 92 ล้านเหรียญด้านสาธารณสุขและให้ความช่วยเหลือโดยรวมมากกว่า 348 ล้านเหรียญมากว่า 20 ปี

    มาเลเซีย
    กระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้กำหนดให้บริษัทสหรัฐฯ ที่มีความสามารถจัดส่งเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) หลังจากที่จัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการในสหรัฐฯ

    กระทรวงต่างประเทศกำลังพยายามเชื่อมโยงสถาบันวิจัยทางการแพทย์ของมาเลเซีย กับบริษัทและหน่วยงานที่เหมาะสมเพื่อให้ความช่วยเหลือในการทดสอบความไวต่อยาต้านเชื้อ และการฝึกอบรมการพัฒนาวัคซีน

    เมียนมา
    ได้มอบเงินราว 3.8 ล้านเหรียญด้านสาธารณสุขและด้านมนุษยธรรมเพื่อจัดหาน้ำและอุปกรณ์สุขาภิบาล การบริหารผู้ป่วยโควิด-19 การเฝ้าระวังตามเหตุการณ์ ความร่วมมือ และอื่นๆ

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ช่วยเหลือกระทรวงสาธารณสุขและกีฬาในการเปิดให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโควิด-19 ผ่านระบบทางไกลออนไลน์ทั่วประเทศ ซึ่งช่วยให้บุคลลากรสาธารณสุขที่ทำงานอยู่แนวหน้าได้รับคำปรึกษาทันการณ์ ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการระบาดในสถานที่กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ยังให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเกี่ยวกับการระบาดครั้งใหญ่ การเฝ้าระวังและการค้นหาการติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ แก่ศูนย์ระบาดวิทยากลางของเมียนมาและห้องปฏิบัติการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมกับจัดให้มีคำปรึกษาไปสองรอบแล้ว

    สหรัฐอเมริกาได้ลงทุนในเมียนมากว่า 176 ล้านเหรียญด้านสาธารณสุขและให้ความช่วยเหลือโดยรวมมากกว่า 1.3 พันล้านเหรียญมากว่า 20 ปี

    ฟิลิปปินส์
    ได้มอบเงินช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเกือบ 4 ล้านเหรียญซึ่งจะช่วยรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการเตรียมระบบห้องปฏิบัติการสำหรับการทดสอบ การค้นหาผู้ติดเชื้อและการเฝ้าระวังตามเหตุการณ์ ผู้เชี่ยวชาญสำหรับการตอบสนองและการเตรียมการ การสื่อสารถึงความเสี่ยง การป้องกันการติดเชื้อและการควบคุม และอื่นๆ

    สหรัฐอเมริกาได้ลงทุนในฟิลิปปินส์กว่า 582 ล้านเหรียญด้านสาธารณสุขและให้ความช่วยเหลือโดยรวมเกือบ 4.5 พันล้านเหรียญมากว่า 20 ปี

    หน่วยงาน DTRA กระทรวงกลาโหมยังจัดหาชุด PPE ในประเทศ การอบรมและการซักซ่อมแผนและอุปกรณ์และวัสดุห้องปฏิบัติการ

    ไทย
    ได้มอบเงินช่วยเหลือด้านสาธารณสุขประมาณ 1.2 ล้านเหรียญซึ่งจะช่วยรัฐบาลไทยในการเตรียมระบบห้องปฏิบัติการสำหรับการทดสอบ การค้นหาผู้ติดเชื้อและการเฝ้าระวังตามเหตุการณ์ ผู้เชี่ยวชาญสำหรับการตอบสนองและการเตรียมการ การสื่อสารถึงความเสี่ยง การป้องกันการติดเชื้อและการควบคุม และอื่นๆ

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติในสหรัฐฯ และผ่านทีมประเทศไทยที่ประจำสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศในกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความช่วยเหลือด้านห้องปฏิบัติการและให้ความช่วยเหลือในการกระบวนการนำคนไทยกลับออกจากอู่ฮั่นในจีน

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ ยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสื่อสารถึงความเสี่ยง การจัดทำรายงาน ข้อมูลของมาตรการด้านสาธารณสุขที่ไม่ใช่มาตรการทางการแพทย์ และกระบวนการคัดกรองที่จุดเข้าประเทศตรงท่าเรือ

    หน่วยงาน DTRA กระทรวงกลาโหมยังได้มอบข้อมูลลำดับพันธุกรรมเพื่อการวินิจฉัย การเฝ้าระวัง และมอบชุด PPE ที่จัดหาในประเทศ

    การให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อไทยนั้นรวมเป็นเงินมากว่า 213 ล้านเหรียญด้านสาธารณสุข และมากกว่า 1 พันล้านเหรียญโดยรวมตลอดกว่า 20 ปี

    เวียดนาม
    ได้มอบเงินช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเกือบ 3 ล้านเหรียญ ซึ่งจะช่วยรัฐบาลเวียดนามในการเตรียมระบบห้องปฏิบัติการสำหรับการทดสอบ การค้นหาผู้ติดเชื้อและการเฝ้าระวังตามเหตุการณ์ ผู้เชี่ยวชาญสำหรับการตอบสนองและการเตรียมการ การสื่อสารถึงความเสี่ยง การป้องกันการติดเชื้อและการควบคุม และอื่นๆ

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ยังได้อบรมโรงพยาบาล 15 แห่งด้วยความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก และอมรบเจ้าหน้าที่ใน 63 จังหวัดในการเฝ้าระวัง การรายงาน และการสุ่มตรวจ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเพื่อการวางแนวทางของประเทศสำหรับการป้องกันและการควบคุมการติดเชื้อโควิด-19

    รัฐบาลเวียดนามได้ขอให้สนับสนุนน้ำยาตรวจทดสอบโควิด-19 ซึ่งกำลังจัดหาด้วยความร่วมมือของ DTRA จากแหล่งในประเทศ

    ตลอดกว่า 20 ปี สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข 706 ล้านเหรียญ และความช่วยเหลือโดยรวมมีจำนวนกว่า 1.8 พันล้านเหรีญ

    อาเซียนโดยรวม
    โครงการแลกเปลี่ยนของสหรัฐฯ ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งความเชี่ยวชาญให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำการต่อสู้โควิด-19 แพทย์กว่า 1,400 รายจากอาเซียนได้เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแพทย์ราว 1,000 จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศิษย์เก่าของโครงการแลกเปลี่ยนเฉพาะด้านที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ

    ทั่วทั้งภูมิภาค สหรัฐอเมริกาผ่านสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ มีบทบาทในการสนับสนุนการวิจัยในประเทศอาเซียนซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการรับมือกับการระบาด รวมทั้งการรักษา การคิดค้นวัคซีน และมาตรการทางแพทย์ เห็นได้จากความร่วมมือของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ กับประเทศอาเซียนในการป้องกันและรักษาไข้มาลาเรีย สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาว และงานวิจัยอื่นเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

    สหรัฐอเมริกา ผ่าน USAID และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ มีโครงการสำหรับภูมิภาคเพื่อเสริมขีดความสามารถของประเทศอาเซียนในการเตรียมพร้อมกับการระบาดและขีดความสามารถในการวิวินิจฉัยของห้องปฏิบัติการ ซึ่งครอบคลุม

  • ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ยกระดับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการและการปลอดเชื้อทางชีวภาพทั่วอาเซียนโดยการรับรองตู้ปลอดเชื้อมาตรฐานสูง
  • จัดคอร์สอบรมสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง (เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย) ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ เพื่อการรับมือกับภัยคุกคามโรคไข้หวัดใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2562
  • การสนับสนุนที่ยาวนานต่อเนื่องของ USAID ผ่าน โครงการ One Health Workforce ซึ่งเป็นโครงการสำหรับคนรุ่นใหม่ในอาเซียน รวมถึงอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ก่อนที่จะกลายเป็นภัยคุกคามของการระบาดที่รุนแรง โครงการนี้มวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนโฉมบุคลากรทางสาธารณสุขและหลักสูตรสาธารณสุขของมหาวิทยาลัย นับตั้งปี 2557 มีนักเรียนและมืออาชีพกว่า 10,000 รายเข้าร่วมโครงการเพื่อรับการอบรมเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia One Health University Network: SEAOHUN)
  • USAID ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยในการสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาค (RPHL) แบ่งปันข้อมูลและแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นทั่วอาเซียนตั้งแต่เปิดตัวเครือข่ายในเดือนพฤศจิกายน 2562