ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > รัฐบาลเคาะ7,500 ล้าน หลังสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง “เยียวยาแรงงาน-ชดเชยร้านอาหาร 6 จว.”

รัฐบาลเคาะ7,500 ล้าน หลังสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง “เยียวยาแรงงาน-ชดเชยร้านอาหาร 6 จว.”

28 มิถุนายน 2021


28 มิถุนายน 2564 นายกรัฐมนตรีแถลงหลังการประชุมเรื่อง การเยียวยาประชาชนจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 25 เตรียมงบ 7,500 ล้านเยียวยาธุรกิจก่อสร้าง-แคมป์คนงาน และผู้ประกอบการร้านอาหาร พร้อมจ่ายชดเชย 50% ของรายได้ให้กับแรงงานในระบบ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) มีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำนวน 697,315 รายใน 6 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการและสมุทรสาคร

โดยรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณรวม 7,500 ล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังจากออกประกาศ ซึ่งจะสิ้นสุดช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 โดยงบประมาณดังกล่าวมาจากงบเงินกู้ของรัฐบาลประมาณ 4,000 ล้านบาท และงบจากองทุนประกันสังคมอีก 3,500 ล้านบาท 

“สิ่งที่หารือกันและเห็นชอบในที่ประชุมวันนี้ จะนำเข้าครม.วันอังคารหน้า รัฐบาลดูแลทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ถามทำไมเราต้องปิดคลัสเตอร์แรงงาน เพราะมีการแพร่ระบาดตรงนั้นเยอะ อีกเรื่องคือแรงงานหลายคนทยอยหนีกลับบ้าน ตั้งแต่เช้าวันเสาร์ผมก็ต้องสั่งการทหาร ตำรวจ และพลเรือนลงไปหลายที่เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายกลับบ้าน ทหารหลายคนก็ได้รับความเสี่ยงสูง” พลเอกประยุทธ์กล่าว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ซ้าย) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (กลาง) และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ขวา)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า “การออกมาตรการมีผลกระทบทำให้ประชาชนไม่สะดวกสบาย แต่รายละเอียดเรื่องการเตรียมการรอบนี้จะจำกัดพื้นที่ตามประกาศ วันนี้เป็นมาตรการพิเศษให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 6 จังหวัด ซึ่งนอกจากจะเป็นพี่น้องผู้ใช้แรงงานโดยตรง ยังครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ แม้กระทั่งผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมก็สามารถเข้าร่วมได้ โดยทีมงานจะรับเข้าระบบประกันสังคม แม้ร้านอาหารที่ไม่มีลูกจ้างก็จะมีมาตรการเยียวยา”

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงมาตรการเยียวยาว่า สำนักงานประกันสังคมได้เตรียมมาตรการเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มที่อยู่ในประกันสังคมและไม่ได้อยู่ในประกันสังคม

นายดนุชาให้ข้อมูลว่า ลูกจ้างในประกันสังคมจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งประกันสังคมจะจ่ายในกรณีเหตุสุดวิสัย 50% ของฐานเงินเดือนให้กับลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือน ส่วนนายจ้างได้รับเงินช่วยเหลือธุรกิจ 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน กรณีผู้ที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคมจะต้องไปลงทะเบียน ‘เข้าระบบ’ เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท และนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างในองค์กร แต่ทั้งนี้ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างเนื่องจากกฎหมายระบุให้ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนจึงจะได้รับสิทธิดังกล่าว

ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ จะต้องไปลงทะเบียนกับแอปพลิเคชั่น ‘ถุงเงิน’ เพื่อรับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานในระบบภายใน 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากประกาศราว 6.9 แสนราย แต่ยังไม่สามารถประมาณการแรงงานที่อยู่นอกระบบได้ โดยเบื้องต้นกระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินช่วยเหลือ 2,000 บาททั้งแรงงานไทยและต่างด้าว ส่วนการจ่ายชดเชย 50% ของรายได้โดยเฉพาะแคมป์คนงานก่อสร้าง ทางกระทรวงจะมีการเบิกจ่ายให้ทุก 5 วัน แต่ยังไม่กำหนดวันที่แน่ชัด