ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อาเซียนร่วมตั้งกองทุนรับมือโควิด-19 ฟิลิปปินส์กู้ธนาคารโลก 500 ล้านดอลล์สู้ไวรัส

ASEAN Roundup อาเซียนร่วมตั้งกองทุนรับมือโควิด-19 ฟิลิปปินส์กู้ธนาคารโลก 500 ล้านดอลล์สู้ไวรัส

18 เมษายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 12-18 เมษายน 2563

  • อาเซียนร่วมตั้งกองทุนอาเซียนรับมือโควิด-19
  • ฟิลิปปินส์กู้ธนาคารโลก 500 ล้านดอลล์สู้โควิด-19
  • เวียดนามหันกลับมาส่งออกข้าว
  • กัมพูชาสร้างสนามบินนานาชาติเพิ่ม 3 แห่ง
  • อาเซียนร่วมตั้งกองทุนอาเซียนรับมือโควิด-19

    ผู้นำอาเซียนประชุมผ่านระบบออนไลน์ ที่มาภาพ: https://www.japantimes.co.jp/news/2020/04/14/asia-pacific/politics-diplomacy-asia-pacific/asean-virtual-meeting/#.XprYxcgzY2w
    เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในฐานะประธานอาเซียน จะเป็นประธานการประชุม

    การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศและประเทศคู่เจรจาบวกสาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี จะนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมาใช้จัด การประชุมหารือกันผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและคืนความเป็นปกติสุขกลับสู่ภูมิภาค

    โดยที่ประชุมจะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ การเสริมสร้างขีดความสามารถระดับประเทศและภูมิภาคในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข การให้ความช่วยเหลือคนในชาติของประเทศอาเซียนบวกสาม การส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและการต่อต้านข่าวปลอม การรักษาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยเฉพาะการไหลเวียนของสินค้าและบริการที่จำเป็น ยาและอุปกรณ์การแพทย์ การหารือเกี่ยวกับมาตรการร่วมกันเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรที่พอเพียงเพื่อรับมือกับโควิด-19

    พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ สรุปสาระสำคัญดังนี้

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผล กระทบต่อทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยสถาบันวิจัย เอกชนชั้นนำอย่างแม็กคินซีย์ได้คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีโลกในปีนี้อาจจะติดลบถึงร้อยละ 1.5 และหากวิกฤติโควิด-19 ยืดเยื้อต่อไป ก็อาจจะติดลบไปถึงร้อยละ 4.7 ซึ่ง UNDP ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยอาจสูญเสียรายได้กว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ประเทศไทยเห็นว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ตลอดจนหาแนวทางร่วมกันในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน โดยเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทย จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 และจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้ความสำคัญกับการรับมือและแก้ไขปัญหา ทั้งต้นทาง ที่เน้นควบคุมการเดินทางและคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ กลางทาง โดยการรณรงค์มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และปลายทาง ให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วย และเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้สนับสนุนการวิจัยเชิงรุกเพื่อพัฒนาและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 และการพัฒนาระบบสนับสนุนโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้

    นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามนี้ได้โดยลำพัง พร้อมเสนอแนวทางที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้

    1. อาเซียนต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม พร้อมเสนอให้อาเซียน และประเทศบวกสามร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19” โดยจัดสรรเงินที่มีอยู่แล้วเท่าที่สามารถตกลงกันได้ มาใช้ในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการจัดซื้อชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนเพื่อการศึกษาวิจัยคิดค้นยาและวัคซีน ให้อาเซียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

    2. อาเซียนควรต้องร่วมกันในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การผ่านพิธีการศุลกากร และการค้าชายแดนระหว่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคของเราได้เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าที่จำเป็นในช่วงวิกฤติอย่างเพียงพอและทันท่วงที

    3. เราควรสนับสนุนให้อาเซียนใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ๆ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคให้มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดการเชื่อมโยงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการใช้มาตรฐานรหัสคิวอาร์ที่เชื่อมโยงกันได้ ให้การค้าภายในภูมิภาคของเรามีความ คล่องตัวมากขึ้น

    4. ขอเสนอให้อาเซียนถอดบทเรียนและประสบการณ์จากการต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับ ความท้าทายต่างๆ ที่อาจคุกคามชีวิตของประชาชนในอนาคต โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายในและการพึ่งพาตนเองของภูมิภาคในระยะยาวให้มากขึ้น

    5. เราควรเสริมสร้างบทบาทของท่านเลขาธิการอาเซียนในการเป็นผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมถึงสถานการณ์วิกฤติอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบ และทันเหตุการณ์

    นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณเลขาธิการอาเซียนที่ได้ช่วยจัดการหารือระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน พร้อมย้ำว่า อาเซียนควรใช้โอกาสนี้มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม โดยเน้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภายในอาเซียน และกับภาคีภายนอกใน วันนี้เราต้องรอด วันหน้าเราต้องเข้มแข็ง

    ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนที่มีบทบาทในการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนในการตอบสนองต่อโควิด-19 อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเข้าสู่ครอบครัวอาเซียนอีกด้วย

    ทางด้านนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดในศตวรรษ จึงจำเป็นที่อาเซียนต้องรวมพลังกันต่อสู้เพราะอาเซียนทุกประเทศเชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งปลอดภัยเว้นเสียแต่ว่าทั้งภูมิภาคปลอดภัย

    ฟิลิปปินส์กู้ธนาคารโลก 500 ล้านดอลล์สู้โควิด-19

    เจ้าหน้าที่ใช้รถดับเพลิงฉีดยาฆ่าเชื้อในกรุงมะนิลา ที่มาภาพ: https://www.todayonline.com/world/philippine-president-orders-coronavirus-lockdown-manila

    รัฐบาลฟิลิปปินส์โดยกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในสัญญากู้เงินจากธนาคารโลกมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 25.2 พันล้านเปโซ เพื่อนำไปใช้ในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19

    นายคาร์ลอส โดมินเกซ ที่ 3 ปลัดกระทรวงการคลัง ตัวแทนรัฐบาลฟิลิปปินส์ และนายอาคิม ฟ็อค รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มประเทศที่ดูแลมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและบรูไน ได้ร่วมลงนามใน Risk Management Development Policy Loan ฉบับที่ 3 เพื่อใช้ในโครงการเยียวยาความเสียหายและฟื้นฟูจากการระบาดของไวรัส

    รัฐบาลฟิลิปปินส์จะชำระคืนเงินกู้ในเวลา 29 ปี และมีระยะปลอดเงินต้น 10.5 ปี

    นายโดมินเกซกล่าวว่า จะเบิกเงินกู้ได้ในวันที่ 30 เมษายนนี้ และเป็นเงินกู้ภายใต้โครงการนี้ครั้งที่ 3 ที่ได้รับจากธนาคารโลก ก่อนหน้านี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ขอกู้เงินเพื่อใช้ฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากไต้ฝุ่นโยลันดา หรือไห่หนานในปี 2013

    “เงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์นี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลายความช่วยเหลือที่ฟิลิปปินส์ได้รับจากธนาคารโลกในช่วงวิกฤติสาธารณสุขโลก ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลที่นำโดยนายดูแตร์เต สามารถให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดได้ทันที และเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพของฟิลิปปินส์” นายโดมินเกซกล่าว

    ธนาคารโลกระบุว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์จะใช้เงินกู้ไปใน 3 ด้าน คือ 1) การดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูและการฟื้นฟูจากภัยพิบัติแบบรวมศูนย์ 2) การส่งเสริมการวิเคราะห์ความเสี่ยงและภัยต่างๆ แบบองค์รวม ในการวางแผนทางกายภาพและเพื่อสนับสนุนการพัฒนานโยบาย 3) การพัฒนาแผนการลงทุนต่อเนื่องสำหรับการลดความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวและการดัดแปลงอาคารของรัฐบาลที่สำคัญ 4) การดำเนินการภายใต้โปรแกรมการโอนเงินสดฉุกเฉิน

    เงินกู้ก่อนหนึ่งเป็นเงินก้อนใหม่นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือโควิด-19 เร่งด่วนจำนวน 100 ล้านดอลลาร์ที่ฟิลิปปินส์ได้กู้ไปในเดือนมีนาคม

    เวียดนามหันกลับมาส่งออกข้าว

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.org.vn/business/item/8564702-vietnamese-pm-allows-resumption-of-rice-export.html
    นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้อนุญาตตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเสนอให้กลับมาส่งออกข้าวในเดือนเมษายน แต่ย้ำว่าต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร

    ทั้งนี้คาดว่าเวียดนามจะส่งออกข่าว 400,000 ตันในเดือนนี้

    นายเหงียน ซวน ฟุก ย้ำว่า การส่งออกข้าวจะต้องไม่กระทบความต้องการในประเทศ โดยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและการระบาดของโควิด-19

    นายเหงียน ซวน ฟุก ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ประเมินแผนการส่งออกในเดือนพฤษภาคมและรายงานกลับมาก่อนวันที่ 25 เมษายน เพื่อที่จะประเมินสถานการณ์การควบคุมตลาดข้าว หากการระบาดของไวรัสยังยืดยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้

    ในวันที่ 6 เมษายน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเสนอขอส่งออกข้าว 800,000 ตันสำหรับเดือนเมษายนและพฤษภาคม น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 40% และย้ำว่าจะส่งออกไปก่อน 400,000 ตันเท่านั้น ส่วนการส่งออกเดือนพฤษาคม จะพิจารณาตัดสินใจในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของไวรัสและการพิจารณาของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

    กัมพูชาสร้างสนามบินนานาชาติเพิ่ม 3 แห่ง

    สนามบินนานาชาติพนมเปญ ที่มาภาพ: https://www.vinci-airports.com/en/news/cambodia-newly-expanded-runway-inaugurated-phnom-penh-international-airport

    กัมพูชากำลังก่อสร้างสนามบินนานาชาติเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่งและวางแผนจะสร้างรวมทั้งปรับปรุงเพิ่มอีก 4 แห่ง

    เมื่อรวมกับสนามบินแห่งใหม่ 7 แห่งนี้ กัมพูชาจะมีสนามบินทั้งหมด 10 แห่งทั้งสนามบินในประเทศและสนามบินนานาชาติ

    สนามบินที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ ที่ตั้งในจังหวัดกันดาล และจังหวัดตาแก้ว ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2022 สนามบินนานาชาติดาราสะกอร์ ที่จังหวัดเกาะกง กำหนดเสร็จก่อนปี 2020 และสนามบินนานาชาติเสียมเรียบแห่งใหม่ ในจังหวัดเสียมเรียบ

    สำหรับสนามบินอีก 4 แห่งที่อยู่ในแผน ได้แก่ สนามบินที่จังหวัดเกาะกง เมืองปอยเปต ในจังหวัดบันเตียเมียเจย จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดมณฑลคีรี

    สำนักงานการบินพลเรือน (State Secretariat of Civil Aviation: SSCA) ระบุว่า สนามบิน 4 แห่งใหม่นี้จะเป็นสนามบินในประเทศ

    โฆษก SSCA นายสิน จันสรีวุธา กล่าวว่า การลงทุนในสนามบินใหม่จะส่งเสริมการขนส่งทางอากาศในอนาคต เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามามากขึ้นหลังจากนี้

    ปัจจุบันกัมพูชามีสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง คือ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ และสนามบินนานาชาติสีหณุวิลล์ ซึ่งบริหารโดยกัมพูชาแอร์พอร์ต บริษัทลูกของวินชีกรุ๊ป (VINCI Group) บริษัทฝรั่งเศส

    จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10.2% ในปี 2019 จากปี 2018 เป็น 11.6 ล้านคน