ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไทย – เทศ” เยียวยา COVID – 19

“ไทย – เทศ” เยียวยา COVID – 19

6 มีนาคม 2020


รวมมาตรการเยียวยา COVID-19 ระบาด ฮ่องกงแจกเงินหัวละ 40,000 บาท – สิงคโปร์แจก 3,000-7,000 บาท – ไทยแจก 2,000 บาท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 หรือโควิด-19) ในขณะนี้ ที่กำลังขยายผลกระทบเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของทุกประเทศทั่วโลกอย่างรุนแรง เริ่มจากภาคการท่องเที่ยว ลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง คนไม่กล้าไปเดินห้างสรรพสินค้า หลีกเลี่ยงหรือหยุดทำกิจกรรมร่วมกับคนหมู่มาก กำลังซื้อถดถอย ยอดขายตก โรงงานปรับลดกำลังการผลิต เกิดปัญหาคนตกงานตามมา กระทบความสามารถในการผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงิน ทำให้หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ต่างระดมมาตรการการเงินและการคลังเข้าไปการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณวงเงินหลายล้านล้านบาทเข้าไปบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ยกตัวอย่าง รัฐบาลจีนจัดงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท เข้าไปสนับสนุนและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนธนาคารกลางแห่งประเทศจีน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดเงิน 1.2 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 5.4 ล้านล้านบาท

ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่น จัดสรรงบประมาณเข้ามาแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวม 15,300 ล้านเยน (ประมาณ 4,500 ล้านบาท) แต่ที่น่าสนใจ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศฮ่องกงวงเงิน 120,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 4.86 แสนล้านบาท หนึ่งในมาตรการชุดนี้มีการแจกเงินให้กับชาวฮ่องกงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ประมาณ 7 ล้านคน คนละ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ คนละ 40,500 บาท เท่ากันทุกคน รวมทั้งปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และประกาศพักชำระหนี้เงินต้นสำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อการค้า

ขณะที่ประเทศสิงคโปร์จัดงบประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 36,000 ล้านบาท) แจกเงินให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป คนละ 100-300 ดอลลาร์สิงคโปร์ (3,000 ถึง 7,000 บาท) ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้ ผู้ที่มีรายได้ 28,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ได้รับเงิน 300 ดอลลาร์สิงคโปร์, ผู้ที่มีรายได้ 28,001-100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ได้รับเงิน 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือมีทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งแห่ง จะได้รับ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี จ่ายเงินสดเพิ่มอีก 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทั้งประกาศพักชำระหนี้เงินต้นให้ SMEs เป็นเวลา 6-12 ปี และจัดงบประมาณวงเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มบริษัทให้มีสภาพคล่องเพียงพอ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ฯ ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด – 19 ประกอบด้วย
มาตรการการเงิน 4 มาตรการ ดังนี้

    1) จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ “Soft Loan” ให้กับผู้ประกอบการ โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ที่ 0.01% และนำไปปล่อยสินเชื่อต่อกับผู้ประกอบการที่ 2%

    2) มาตรการพักชำระเงินต้น ปรับลดดอกบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

    3) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหา เช่น การยืดเวลาชำระหนี้สูงสุด 12 เดือน การลดดอกเบี้ย การเปลี่ยนประเภทวงเงินให้เป็นสินเชื่อระยะยาวขึ้น การลดค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยจะครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ SMEs และบุคคลทั่วไป ส่วนในกลุ่มของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตที่จะลดการจ่ายชำระขั้นต่ำจาก 10% ของมูลหนี้เหลือเพียง 5% รวมทั้งผ่อนผันหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้บางรายการเป็นการชั่วคราว

    4) สินเชื่อประกันสังคม ซึ่งเสนอขึ้นมาจากสำนักงานประกันสังคมจากเงินสะสมที่มีอยู่ แต่ยังต้องหารือในรายละเอียดต่อไป

มาตรการการคลัง 5 มาตรการ มีรายละเอียดดังนี้

    1) มาตรการคืนสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ โดยจะปรับลดการหักภาษี ณ ที่จ่ายลง

    2) มาตรการลดดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ โดยจะให้นำรายจ่ายดอกเบี้ยไปหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ โดยจะให้เฉพาะธุรกิจ SMEs ที่เข้ามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และทำมาตรฐานบัญชีเดียว

    3) มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้นายจ้างนำค่าใช้จ่ายเงินเดือนที่จ่ายให้กับลูกจ้างไปหักจากเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีนิติบุคคลจำนวน 3 เท่า โดยมีระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 เมษายน – 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อดูแลให้ลูกจ้างยังมีงานทำในช่วงเวลาดังกล่าว

    4) เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยหากยื่นแบบขอคืนภาษีออนไลน์จะได้คืนภายใน 15 วันและหากยื่นแบบปกติจะได้คืนภายใน 45 วัน

มาตรการอื่นๆ 5 มาตรการ มีดังนี้

    1) ให้หน่วยราชการอื่นไปหารือถึงมาตรการที่อาจจะปรับลดค่าธรรเนียม ค่าเช่า หรือผลประโยชน์อื่นๆที่เก็บจากเอกชนชั่วคราว

    2) มาตรการบรรเทาค่าน้ำค่าไฟฟ้า โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานรับผิดชอบในรายละเอียด

    3) มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง โดยต้องหารืออีกครั้งว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด

    4) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของรัฐบาล โดยจะไปปรับขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้สะดวกรวดเร็วขึ้น

    5) มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ผ่านกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) โดยจะปรับเพิ่มสัดส่วนการถือครอง หรือ ลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 65% และให้ประชาชนสามารถซื้อเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้ในจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ส่วนรายละเอียดสัดส่วนวงเงินที่จะนำไปลดหย่อนภาษีจะเสนอที่ประชุมครม.พิจารณาอีกครั้ง

ส่วนมาตรการดูแลประชาชน มีดังนี้

1) มาตรการอุดหนุนเงินโดยตรงให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ โดยจ่ายเป็นเงินสดเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 2,000 บาท

2) มาตรการเสริมทักษะของแรงงาน โดยการจัดตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมาและทำหน้าที่ฝึกอบรมแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆในอนาคต ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในประเด็นข้อกฎหมายกับสำนักงบประมาณ

  • รัฐบาลจัดมาตรการชุดใหญ่เยียวยาไวรัสโควิด “แจกเงิน 2,000 บาท-สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ-ลดหย่อนภาษี”