ThaiPublica > เกาะกระแส > เส้นทางลักลอบค้าตัวนิ่มทั่วโลก ส่งตลาดบริโภคหลัก เวียดนาม จีน ฮ่องกง

เส้นทางลักลอบค้าตัวนิ่มทั่วโลก ส่งตลาดบริโภคหลัก เวียดนาม จีน ฮ่องกง

4 กันยายน 2019


ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/42/Pangolin_borneo.jpg/512px-Pangolin_borneo.jpg

Traffic กลุ่มที่ติดตามการค้าสัตว์ป่าให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ว่าตัวนิ่มกำลังจะสูญพันธุ์

ข้อมูลสถิติระบุว่า มีการลักลอบค้าตัวนิ่มและชิ้นส่วนในปริมาณ 20 ตันต่อปี โดยใช้เส้นทางหลากหลายถึง 159 เส้นทางระหว่างปี 2010-2015 ซึ่งจีนและเวียดนามเป็นสองประเทศหลักของตลาดบริโภคตัวนิ่ม คาดว่ามีการลักลอบค้าตัวนิ่มราว 1 ล้านตัวในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่มีการบริโภคตัวนิ่มและผลิตภัณฑ์ตัวนิ่มมีหลายประการขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศและแต่กลุ่มผู้บริโภค ในเวียดนาม จีนแผ่นดินใหญ่ และฮ่องกง มีความเชื่อว่าเกล็ดตัวนิ่มจะช่วยลดอาการเมาค้าง ทำให้ตับดีขึ้นและช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ที่เพิ่งคลอด ขณะที่เนื้อตัวนิ่มถือว่ามีคุณค่าสูง เป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มชนชนั้นกลางที่มีเงินและผู้บริหารธุรกิจระดับสูง และยังแสดงฐานะทางการเงินและทางสังคม

ความต้องการตัวนิ่มมีสูงกว่าจำนวนตัวนิ่มอย่างมาก ทำให้เป็นปัจจัยหลักในการก่อให้เกิดอาชญกรรมข้ามชาติ ที่มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการอนุรักษ์

ตัวนิ่มเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการลักลอบค้าอย่างผิดกฎหมายมากที่สุดในโลก เพราะมีความเชื่อว่าเนื้อมีคุณค่า มีการนำเกล็ดมาใช้ในการผลิตยาแผนโบราณ และหนังก็นำไปฟอกใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนังได้

ตัวนิ่มทั้ง 8 สายพันธุ์ได้บรรจุไว้ในรายชื่อสายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคามอย่างหนักของ IUCN Red List แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของสถานการณ์โดยรวมของความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์

รายงาน THE GLOBAL TRAFFICKING OF PANGOLINS: A comprehensive summary of seizures and trafficking routes from 2010–2015 ที่ได้วิจัยเจาะลึกเกี่ยวกับเส้นทางค้าตัวนิ่มทั่วโลก และเผยแพร่เดือนธันวาคม 2017 คาดว่า ระหว่างปี 2000-2013 มีการลักลอบขนตัวนิ่มราว 1 ล้านตัว และมีการจับกุม 1,270 กรณี คิดเป็นน้ำหนักตัวนิ่ม 20,749 กิโลกรัม พร้อมชิ้นส่วนตัวนิ่มที่ชำแหละแล้วอีก 7,154 ชิ้น รวมน้ำหนัก 55,251 กิโลกรัม เกล็ด 5,613 เกล็ด มีจำนวนตัวนิ่มที่ยังไม่ถูกชำแหละ 46,760 รวมน้ำหนัก 44,475 กิโลกรัม

ในแต่ละปีมี 33 ประเทศและเขตปกครองพิเศษเกี่ยวข้องในการลักลอบค้าตัวนิ่ม และเฉลี่ยแล้วมีเส้นทางการค้าใหม่เกิดขึ้นอย่างน้อย 27 เส้นทางทุกปี

ที่มาภาพ: https://www.traffic.org/what-we-do/species/pangolins/

การจับกุมเกิดขึ้นใน 67 ประเทศและเขตปกครอง ใน 6 ภูมิภาค แสดงให้เห็นว่ามีการลักลอบค้าตัวนิ่มทั่วโลก ไม่เฉพาะเอเชียหรือประเทศในกลุ่มแอฟริกา

รายงานพบว่า จีนและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศปลายทางของการค้าตัวนิ่มในระดับโลกในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา จีนเป็นแหล่งใหญ่ของการรับซื้อเกล็ด การขนส่งแต่ละครั้งเป็นลอตใหญ่ มีน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป แต่หากยังเป็นตัวครบสมบูรณ์ทุกประการจะลอตละ 500 ขึ้นไป ส่วนสหรัฐฯ เป็นแหล่งใหญ่ของการรับซื้อชิ้นส่วนลอตใหญ่ราว 100 กิโลกรัมขึ้นไป

ขณะที่ยุโรปเป็นทางผ่านหลัก ส่วนใหญ่เป็นตัวนิ่มสายพันธุ์แอฟริกา ที่เป็นชิ้นส่วนชำแหละกับชิ้นส่วนแปรรูป เพื่อส่งต่อไปยังเอเชีย เส้นทางหลักผ่านเยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม ยกเว้นเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของการขนส่งชิ้นส่วนช่วงตัวจากจีนและเกล็ดจากยูกานดา

การลักลอบค้าตัวนิ่มระหว่างประเทศส่วนใหญ่มีขึ้นในเอเชีย ทั้งในแง่กรณีการจับกุมและปริมาณ ประเทศและเขตปกครองที่ติด 10 อันดับแรกที่มักจะจับกุมการลักลอบได้เป็นเอเชีย 7 ประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฮ่องกง ไทย ลาว และอินโดนีเซีย ที่เหลืออีก 3 แห่งคือสหรัฐฯ ไนจีเรีย และเยอรมนี

ชิ้นส่วนส่วนช่วงตัว (รวมทั้งชิ้นส่วนแปรรูปหรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น หนัง ผลิตภัณฑ์หนังตัวนิ่ม และยา) มักจะมาจากตัวนิ่มสายพันธุ์เอเชียมากกว่าการค้าในรูปแบบอื่น แต่การขนส่งชิ้นส่วนช่วงลำตัวมักจะไม่ค่อยมีรายงานมากนัก

จากการวิเคราะห์การขนส่งลอตใหญ่พบว่า ราว 80% ของการลักลอบค้าชิ้นส่วนช่วงตัวมาจากจีนและเวียดนาม มายังปลายทางเป้าหมายคือ สหรัฐฯ มีอยู่กรณีหนึ่งที่ปลายทางคือเนเธอร์แลนด์

การลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มมักจะมาจากประเทศต้นทางแอฟริกา มีการขนส่งทางอากาศมากกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น จากการวิเคราะห์การขนส่งลอตใหญ่พบว่า 55% ของการขนส่งมาจากแอฟริกา เช่น แคเมอรูน ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน และยูกานดา

การขนส่งเกล็ดลอตใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับน้ำหนักของการขนส่ง แต่การจับกุมก็สูงขึ้นตามสำหรับตัวนิ่มสายพันธุ์แอฟริกา จีนเป็นประเทศปลายทางรายหลักของการขนส่งเกล็ดลอตใหญ่ ส่วนปลายทางอื่นๆ ได้แก่ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม

การขนส่งตัวนิ่มที่เป็นตัวสมบูรณ์มักใช้เส้นทางถนนมากกว่าการขนส่งแบบอื่น และการขนส่งตัวนิ่มที่เป็นตัวสมบูรณ์ลอตใหญ่มีการค้ากันภายในเอเชียเท่านั้น โดยประเทศต้นทางของการขนส่งลอตใหญ่คืออินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยมาเลเซียเป็นทั้งประเทศปลายทางและประเทศเส้นทาง

ส่วนประเทศปลายทางของการขนส่งตัวนิ่มที่เป็นตัวสมบูรณ์ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ที่มาภาพ: https://www.traffic.org/what-we-do/species/pangolins/

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องในการลักลอบค้าตัวนิ่มอย่างผิดกฎหมายควรที่จะทบทวนและแก้ไขกฎหมายในส่วนที่จำเป็น โดยเฉพาะกฎหมายการคุ้มครองสัตว์ป่า และส่วนที่เกี่ยวข้องกับ CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์) บังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองทั้ง 8 สายพันธุ์จากการค้า

นอกจากนี้ ควรมีการคุ้มครองที่ครอบคลุมสำหรับตัวนิ่มทุกสายพันธุ์ ทั้งตัวนิ่มพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์จากถิ่นอื่นด้วยกฎหมายการคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ และเครื่องมือทางกฎหมายอื่นที่บังคับ CITES และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีการปราบปรามเข้มงวดขึ้นและมีโทษหนักขึ้น เพราะทุกสายพันธุ์ตัวนิ่มขึ้นบัญชีแนบท้าย 1 ที่ห้ามทำการค้าระหว่างประเทศ

หน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (รวมทั้งกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานด้านสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้อง) ในประเทศที่มีชื่อไว้ในรายงานนี้และเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าตัวนิ่มข้ามประเทศควรที่จะเฝ้าระวังการค้าผิดกฎหมายที่ยังมีอยู่

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ต้องเร่งให้มีการบังคับตามกฎหมายคือประเทศที่มีปริมาณการจับกุมการลักลอบตัวนิ่มน้อย แต่อยู่บนเส้นทางการลักลอบนำเข้า จากข้อมูลพบว่า ได้แก่ ลาว ไนจีเรีย เมียนมา แคเมอรูน กิอานา เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ไลบีเรีย สาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี โกตดิวัวร์ เอธิโอเปีย เคนยา สิงคโปร์ โมซัมบิก และโตโก

หน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าตัวนิ่มควรทำงานอย่างวิเคราะห์เจาะลึก เพื่อการตรวจสอบ แยกแยะ และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการค้าตัวนิ่ม เพราะฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งผู้ดักจับ ผู้ขาย ไปจนถึงบริษัทขนส่งและผู้นำเข้า ตลอดจนผู้ค้า ผู้รับซื้อ และผู้ใช้ชิ้นส่วนและผลิตภัณ์ตัวนิ่ม

การดำเนินการนี้จะมีประโยชน์มากต่อประเทศและเขตปกครองที่เกี่ยวข้อกับการขนส่งปริมาณมากหรือลอตใหญ่ ทั้งแคเมอรูน จีน กินี ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เซียร์ราลีโอน สิงคโปร์ ไทย ยูกานดา สหรัฐฯ และเวียดนาม

ประเทศในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส และเบลเยียมก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะมีการระบุว่าเป็นศูนย์กลางขนส่งตัวนิ่มสายพันธุ์แอฟริกาโดยเฉพาะ

นอกจากนี้การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ และปริมาณการจับกุม จะเป็นประโยชน์ต่อการจำแนกรูปแบบการกระทำทางอาญา เครือข่ายเบื้องหลังการขนส่งและการบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกัน

การวิเคราะห์เจาะลึกควรที่จะแยกแยะออกเป็นแหล่งที่มา การขนส่งและเป้าหมายปลายทาง เครือข่ายการขนส่งข้ามประเทศที่ผิดกฎหมายมักมีความคล่องตัว และมีเส้นทางใหม่เกิดขึ้นทุกปี

แนวทางการบังคับใช้กฎหมาย อาจจะต้องตอบสนองให้ทันอยู่ตลอดเวลา อาจจะเป็นลักษณะเดียวกับแนวทางที่ใช้ในการจำกัดการค้างาช้างและนอแรดจากแอฟริกามาเอเชีย

ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน (รวมทั้งกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานด้านสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้อง บริษัทด้านการขนส่ง) ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ระหว่างประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศเป้าหมายปลายทาง ควรที่จะเน้นการจัดการกับเครือข่ายอาชญากรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้าตัวนิ่มข้ามแดน

อัยการและผู้พิพากษาในประเทศที่เกี่ยวข้องกับตัวนิ่มในทุกด้านและประเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง ควรสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่นำไปใช้ได้และเครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อนำไปดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญา รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมายและสิ่งแวดล้อมของการค้าตัวนิ่มผิดกฎหมาย เพื่อแสดงว่าให้ความสำคัญกับอาชญากรรมด้านการค้าตัวนิ่ม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การดำเนินคดีประสบความสำเร็จและมีโทษที่หนักขึ้น

การใช้แนวทางของนิติวิทยาศาสตร์เพื่อจำแนกที่มาของตัวนิ่มและชิ้นส่วนในการค้าควรที่จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นแรงสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายและการเจาะลึกเครือข่ายการค้า

ประเทศที่จับกุมการลักลอบได้ควรจัดให้มีกระบวนการตรวจ DNA เพื่อให้สามารถจำแนกสายพันธุ์ตัวนิ่มที่จับกุมได้ แนวทางนี้ควรนำไปใช้ให้มากขึ้นกับการจับกุมในอนาคต เพื่อให้ประเมินความเสี่ยงของตัวนิ่มแต่ละสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาที่ถูกคุกคามมากขึ้น

เกล็ดตัวนิ่มที่จับกุมได้ที่ด่านศุลกากรกวางโจว ปี 2010 ที่มาภาพ: https://www.traffic.org/what-we-do/species/pangolins/

การติดตามและการรายงาน

ผู้บริหาร CITES ได้ร่วมกับหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายในทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้าตัวนิ่มที่ผิดกฎหมาย ทั้งชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์แปรรูปควรปรับปรุงการายงานการจับกุมทุกกรณี ไปยังสำนักเลขาธิการ CITES ตามข้อกำหนดการรายงานการค้าผิดกฎหมายประจำปีข้อใหม่ รวมทั้งมีการนำข้อกำหนดมาปฏิบัติใช้ในแนวทางมาตรฐาน ตลอดจนมีการให้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และการวิจัยด้านอาชญาวิทยา เพื่อเสริมการบังคับใช้กฎหมายและเป็นแนวทางการรวบรวมข้อมูล

รายงานการจับกุม ครอบคลุมการดำเนินการแบบเบ็ดเสร็จและผลลัพธ์ ที่ระบุถึงการจับกุม รายละเอียดการดำเนินการมีความจำเป็นเพื่อทำให้แต่ละประเทศสามารถวิเคราะห์การค้าสัตว์ป่าและแนวโน้มได้ และจะทำให้เข้าใจการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายได้ดีกว่าเดิม การติดตามและการรายงานการลักลอบค้าตัวนิ่มโดยผู้บริหาร CITES, NGOs และนักวิจัยอิสระควรมีอย่างต่อเนื่อง และขยายไปยังประเทศที่ยังขาดข้อมูลการค้าที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ต้องมีการปรับปรุงการติดตามและการรายงานด้วยการจัดลำดับความสำคัญแก่ 1) ปริมาณ 2) บทบาทของประเทศที่เกี่ยวข้อง และ 3) วิธีการขนส่งที่ใช้ในการจัดส่ง อีกทั้งความร่วมมือระหว่างบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อในกระบวนการความเคลื่อนไหวของการจัดส่งตามเส้นทางการค้าก็เป็นสิ่งจำเป็น ต้องส่งเสริมบริษัทเหล่านี้แบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเกี่ยวกับวิธีการที่ปกปิดการลักลอบและเส้นทางที่ใช้เป็นพิเศษ รวมทั้งข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่จะทำให้การสืบสวนทางกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยในการประเมินระดับการค้าที่ผิดกฎหมาย การตรวจจับการค้าที่เริ่มต้นขึ้นและมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิบัติงานในการอนุรักษ์และการตัดสินใจ

การลดความต้องการและการสร้างความตระหนักรู้

ต้องมีการดำเนินการมากขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจและลดความต้องการผลิตภัณฑ์ตัวนิ่มที่ได้จากการค้าผิดกฎหมายในประเทศซึ่งเป็นผู้บริโภค ด้วยการสร้างการตระหนักรู้และการให้ข้อมูลที่ดี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

โดยที่การดำเนินการนั้นต้องรวมไปถึงการปรับปรุงการวิเคราะห์การใช้ผลิตภัณฑ์จากตัวนิ่มที่จับกุมได้ก่อนที่จะนำไปส่งผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อที่จะทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและนำไปสู่การริเริ่มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย

หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในประเทศที่ถูกระบุในลำดับต้นของรายงานนี้ ควรเสริมสร้างให้เจ้าหน้าที่ตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญและการค้าที่ผิดกฎหมายที่มีมาก เพื่อที่จะสามารถแยกแยะผลิตภัณฑ์ตัวนิ่มและเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจจับและการตัดตอนการจัดส่ง

โดยทั่วไปจะรู้กันดีว่าความต้องการตัวนิ่มในเอเชียมาจากอะไร แต่ความต้องการจากประเทศนอกเอเชีย โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับเนเธอร์แลนด์ ยากที่จะเข้าใจ

การวิจัยต่อยอดจากองค์กรด้านอนุรักษ์ สถาบันวิจัย และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะช่วยถอดรหัสได้ว่า สาเหตุหลักของการค้าที่ผิดกฎหมายในประเทศเหล่านี้ และจะช่วยให้จำแนกบทบาทของประเทศที่ไม่ใช่เอเชียในฐานะศูนย์กลางความต้องการตัวนิ่มที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายได้