ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐบาลจัดชุดใหญ่เยียวยาไวรัสโควิด – “แจกเงิน 2,000 บาท-สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ-ลดหย่อนภาษี”

รัฐบาลจัดชุดใหญ่เยียวยาไวรัสโควิด – “แจกเงิน 2,000 บาท-สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ-ลดหย่อนภาษี”

6 มีนาคม 2020


เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) โดยภายหลังการประชุม 3 ชั่วโมง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า พวกเราคงทราบดีอยู่แล้วว่าเรื่องไวรัสโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรง ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่ไปถึงทั่วโลกแล้วและยังไม่ถึงจุดสูงสุดด้วยซ้ำไป ฉะนั้นผลกระทบขณะนี้ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว แต่กระทบในทุกภาคส่วน เรื่องของการผลิตและการบริการ และในสถานการณ์เช่นนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้หารือและติดตามมาตลอด

“ตอนนี้คิดว่าถึงเวลาที่ควรจะมีมาตรการออกมาเป็นชุดที่หนึ่ง หมายความว่าไม่ใช่ออกมาแล้วจบ คือชุดแรกก็จะประเมินดูว่าตรงไหนยังขาดตรงไหนที่มีประสิทธิผลมากกว่าก็จะมีตามออกมาเรื่อยๆ การใช้เงินต่างๆก็จะใช้อย่างระมัดระวังและพยายามให้ครอบคลุมหลายส่วน แต่ขณะนี้สิ่งที่สำคัญมากคือผู้ประกอบการทั้งหลายกำลังได้รับผลกระทบค่อนข้างมากทีเดียว โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และเมื่อการผลิตและการบริการถูกกระทบ ก็ไปถึงการจ้างงานและประชาชนทั่วไป ดังนั้นในชุดแรกที่ได้หารือกันระหว่างรัฐและเอกชนก็ได้ออกมาวันนี้ในหลักการ ในเรื่องตัวเลขท่านนายกรัฐมนตรีไม่อยากให้พูดออกมา เพราะอาจจะมีการปรับปรุงอีกครั้ง” ดร.สมคิด กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการแถลงข่าวดำเนินไปสักครู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินเข้ามาชี้แจงทำความเข้าใจในช่วงแรกถึงความเป้าหมายและความตั้งใจของรัฐบาลในการออกมาตรการดังกล่าวว่า ขอเกริ่นนำอย่างนี้ว่าวันนี้เป็นการประชุมของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามานำเสนอมาตรการที่เกี่ยวข้อง สิ่งแรกที่อยากจะเรียนคืออย่าเอาประเด็นของการให้เงินช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวในระยะเวลา 2 เดือนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่ามีอีกหลายประเด็นไม่ว่าจะภาคประชาชน ผู้ประกอบการ เรื่องมาตรการภาษี การเงินการคลังต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเตรียมความพร้อมเอาไว้

“วันนี้ต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือมาตรการเร่งด่วนชั่วคราว 2 เดือน ดังนั้นบางส่วนอยู่ในการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้วในการบริหารโครงการต่างๆ อย่าลืมว่ามีหลายอย่างด้วยกัน แต่มาตรการครั้งนี้เป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด เรามีมาตราการที่จะรองรับอีกอันคือเรื่องภัยแล้งอะไรด้วย ต้องพิจารณาโดยรวมทั้งหมดอะไรที่จะส่งผลทางตรงทางอ้อม ในส่วนของการให้เงินประชาชนต่างประเทศก็ทำแต่เราไม่ได้ทำมากขนาดนั้น ฉะนั้นสิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องมีขึ้นบัญชีทะเบียนใหม่อีกในส่วนของประชาชนกลุ่มอื่นด้วย ให้มันครบถ้วนมากบ้างน้อยบ้างก็ต้องยอมรับกับว่าสองเดือนนี้มันเป็นปัญหา”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องการท่องเที่ยวซบเซาลงไปพอสมควร เราก็ต้องไปช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง เรื่องการจัดการประชุมตามโรงแรมต่างๆ การกู้เงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ขอให้แยกแยะให้ออกถ้าโจมตีทุกเรื่องไปไม่ได้หมดทุกอัน เข้าใจหรือไม่ว่านี่เป็นมาตรการระยะสั้น 2 เดือนเท่านั้น ไม่ได้แจกเงินเรื่อยเปื่อย ไม่ใช่รัฐบาลนี้ดีแต่แจกเงิน แต่ต้องเห็นใจคนมีรายได้น้อยในช่วงนี้ด้วย เพราะเขาไม่มีรายได้

“ประชุมกันตั้งแต่เช้ากี่ชั่วโมงแล้ว ไม่ง่ายนักหรอก ไม่ใช่รัฐบาลทำอะไรไม่เป็นนอกจากแจกเงิน คนละเรื่องเลย ไปถามประชาชนที่เขาเดือดร้อนบ้าง เมื่อวานผมพบปะประชาชนทุกภาคส่วนเกือบทุกกลุ่ม มาตรการวันนี้ก็ออกมารวมกันไปก่อนสองเดือน ถ้ายังมีปัญหาอีกก็ต้องว่ากันต่อไปเป็นระยะ ไว้ใจกันบ้างสิจ๊ะ นายกรัฐมนตรีพร้อมจะนำพาประเทศไทยของเราให้ผ่านวิกฤตเหล่านี้ไปได้ ผมยืนยันอย่างแท้จริงว่าผมและครม.ทุกคนก็พร้อมที่จำนำพาพวกเราผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆในประเทศไทยเวลานี้ไปให้จงได้ ขอให้ทุกคนร่วมมือกัน สิ่งหนึ่งเมื่อวานนี้มีอยู่อันหนึ่งคือว่าประชาชนบอกว่าสื่อที่ลงพาดหัวอะไรร้ายแรงก็ให้เบาลงหน่อย เขาก็ห่อเหี่ยวไปเหมือนกัน คนไม่ไปซื้อของเขา เขาพูดมาแบบนี้นะ ผมไม่ได้จะทะเลาะกับท่านเลย”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ดร.สมคิด กล่าวต่อไปว่า ขอเรียนทุกท่านอย่างนี้ว่าไม่มีการถามเบี่ยงประเด็น งานนี้ไม่มีการแจกเงิน ถ้าท่านฟังให้ครบท่านจะรู้ว่าการให้เงินช่วยเหลือเป็นแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้นเอง ฉะนั้นกรุณาอย่าไปเขียนให้มันเลอะเทอะ ภาวะยามนี้เป็นภาวะยามที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหา ฉะนั้นพวกเราทุกคนต้องร่วมกัน เรียนท่านเลยว่าเอกภาพของคลัง ธปท. และทุกฝ่าย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด วาระที่เข้ามาวันนี้ผ่านการกลั่นกรอง ผ่านการพูดคุยจากทุกสถาบันเรียบร้อย และไม่ใช่ออกไปแล้วจบ เป็นแค่ชุดที่หนึ่งออกมาในช่วงเวลาที่มีขณะนี้ ต่อไปข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นเราไม่สามารถยืนยันได้ พวกเราต้องช่วยกัน

เมื่อวานดูข่าวว่ามีการแจกเงินแสนล้านบาท ผมก็ไม่รู้ว่าเอาข่าวมาจากไหน เมื่อข่าวยังไม่ยืนยันแล้วไปเขียนได้อย่างไร ประเทศไม่ใช่ของเล่นนะ ผมขอเรียนว่าวันนี้เราเอาเรื่องเหล่านี้เข้ามาในครม.เศรษฐกิจแล้ว ผมจะขอให้คลังพูดส่วนที่เกี่ยวข้องกับคลัง และผู้ว่าการ ธปท.จะพูดส่วนของตนเองต่อไป” ดร.สมคิด กล่าว

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รายละเอียดมาตรการที่นำเสนอเพื่อดูแลเยียวยาให้ครอบคลุมที่สุด โดยใช้หลักการว่าเราออกชุดมาตรการ เราร่วมกันคิดชุดมาตรการที่ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย ให้มีน้ำหนัก และชั่วคราวเท่าที่จำเป็น ที่บอกว่าครอบคลุมคือ 2 กลุ่มหลัก อันแรกคือ กลุ่มผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ใช่แต่ท่องเที่ยว แต่ว่าหลายกลุ่มที่กระทบ กลุ่มที่สองคือประชาชน เราต้องการแบ่งเบาภาระในตอนนี้ที่ถูกกระทบทั้งรายได้และรายจ่ายที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง 

4 มาตรการการเงิน

1) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan โดยจะเปิดกว้างในทุกลุ่มธุรกิจไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเท่านั้น โดยดร.สมคิด กล่าวเสริมว่า กลไกจะให้ธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ที่ 0.01% และนำไปปล่อยสินเชื่อต่อกับผู้ประกอบการที่ 2%

2) มาตรการพักชำระเงินต้น ปรับลดดอกบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้ของสถาบัรการเงินเฉพาะกิจ

3) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหา โดยดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวเสริมว่าเรื่องสำคัญในขณะนี้คือ ต้องเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการให้สามารถทำธุรกิจได้ต่อเนื่องในช่วงที่ประสบปัญหา โดยธปท.มีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ในแต่ละราย เช่นการยืดเวลาชำระหนี้ ซึ่งสามารถยืดออกไปสูงสุด 12 เดือน การลดดอกเบี้ย การเปลี่ยนประเภทวงเงินให้เป็นสินเชื่อระยะยาวขึ้น การลดค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยจะครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และบุคคลทั่วไปในกลุ่มของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตที่จะลดการจ่ายชำระขั้นต่ำจาก 10% ของหนี้เหลือเพียง 5% 

ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้จะให้ปรับได้ตั้งแต่ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียและยังไม่เป็นแต่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต โดยในกลุ่มลูกหนี้เอ็นพีแอลจะนับลูกหนี้ที่เป็นตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งจากสงครามการค้าและความเสี่ยงด้านอื่นๆ และมีปัญหาลุ่มๆดอนๆมาสักพักอยู่แล้ว เมื่อมาเจอปัญหาไวรัสโควิด-19 อีกจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

“ทั้งนี้ ธปท.ได้ออกประกาศหนังสือเวียนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจกับธนาคารพาณิชย์เรื่องเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องจากตอนแรกที่มีความกังวลว่าอาจจะขัดกับประกาศ ตอนนี้ธปท.ก็ชัดเจนว่าจะผ่อนเกณฑ์บางอย่างชั่วคราว เพื่อให้การปรับโครง สร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงกฎเกณฑ์ต่างๆที่เคยระมัดระวังอย่างมากในยามปกติก็ผ่อนปรนลง เช่น เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อใหม่ต่างๆ หรือตอนนี้ก็มีโครงการจากธนาคารออมสินที่ให้รีไฟแนนซ์จากหนี้บัตรเครดิตมาเป็นหนี้ระยะยาว หรือ Term Loan ซึ่งช่วยให้ภาระดอกเบี้ยลดลงไปได้มาก” ดร.วิรไท กล่าว

ดร.วิรไท ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ลดดอกเบี้ยไปล่วงหน้าแล้วในการประชุมครั้งที่ผ่านมา 0.25% แต่ในครั้งต่อไปในวันที่ 25 มีนาคม 2563 จะทำข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการการระบาดของโรค รวมไปถึงการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย ขณะที่จีดีพีคาดว่าจะต้องปรับประมาณการณ์ลดลงจากสถานการณ์ปัจจุบัน

ดร.สมคิด กล่าวเสริมว่า การปรับโครงสร้าหนี้ถ้าจะให้เข้าใจง่ายก็คือ การช่วยสร้างความยืดหยุ่นของผู้ประกอบการในระยะสั้นและเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงระยะนี้

4) สินเชื่อประกันสังคม ซึ่งเสนอขึ้นมาจากสำนักงานประกันสังคมจากเงินสะสมที่มีอยู่ แต่ยังต้องหารือในรายละเอียดต่อไป

5 มาตรการภาษี

    1) คืนสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโดยจะปรับลดการหักภาษี ณ ที่จ่ายลง
    2) ลดดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ โดยจะให้นำรายจ่ายดอกเบี้ยไปหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ โดยจะให้เฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้ามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และทำมาตรฐานบัญชีเดียว
    3) ส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้นายจ้างนำค่าใช้จ่ายเงินเดือนที่จ่ายให้กับลูกจ้างไปหักจากเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีนิติบุคคลจำนวน 3 เท่า โดยมีระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 เมษายน – 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อดูแลให้ลูกจ้างยังมีงานทำในช่วงเวลาดังกล่าว
    4) เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยหากยื่นแบบขอคืนภาษีออนไลน์จะได้คืนภายใน 15 วันและหากยื่นแบบปกติจะได้คืนภายใน 45 วัน

5มาตรการอื่นๆ

    1) ให้หน่วยราชการอื่นไปหารือถึงมาตรการที่อาจจะปรับลดค่าธรรเนียม ค่าเช่า หรือผลประโยชน์อื่นๆที่เก็บจากเอกชนชั่วคราว
    2) บรรเทาค่าน้ำค่าไฟฟ้า โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานรับผิดชอบในรายละเอียด
    3) ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง โดยต้องหารืออีกครั้งว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด
    4) เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของรัฐบาล โดยจะไปปรับขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้สะดวกรวดเร็วขึ้น
    5) สร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จะเป็นกลไกชั่วคราวในการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) โดยจะปรับเพิ่มสัดส่วนการถือครองหรือลงทุนหลักทรัพย์จดทะเบียนของกองทุนรวมเป็นมากกว่า 65% และให้ประชาชนสามารถซื้อเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้ในจนถึงเดือนมิถุนายน แต่รายละเอียดสัดส่วนวงเงินที่จะลดหย่อนได้จะต้องรอตัดสินใจอีกครั้งในการประชุมครม. โดยยังมีระยะเวลาถือครอง 10 ปีเช่นเดิม

มาตรการดูแลประชาชน

    1) มาตรการอุดหนุนเงินโดยตรงให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย เกษตรการ และอาชีพอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ โดยจะให้เป็นวงเงินเดือนละ 1,000 บาท เพียง 2 เดือน หรือรวมจะได้เงินสด 2,000 บาท ส่วนการจ่ายเงินจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากเคยมีประสบการณ์กับโครงการลักษณะนี้มาก่อนแล้ว นอกจากการจ่ายเงินอุดหนุนแล้วทางภาครัฐเองก็จะได้ประโยชน์ในเรื่องของข้อมูลด้วย
    2) มาตรการเสริมทักษะของแรงงาน โดยดร.สมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ได้หารือกับสำนักงบประมาณว่าจะจัดตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมาและทำหน้าที่รองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ต่างๆในอนาคตด้วย เช่น ต้องฝึกอบรมแรงงานที่ตกงานในอนาคตจากวิกฤต ซึ่งรวมไปถึงวิกฤตอื่นๆด้วยในอนาคต ก็อาจจะหันมาใช้เงินจากกองทุนนี้ได้ แต่เบื้องต้นยังต้องหารือในเรื่องของกฎระเบียบต่างๆว่าจะสามารถตั้งได้หรือไม่อย่างไร

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการเกี่ยวกับทางด้านคมนาคมเข้ามาด้วย ได้แก่ มาตรการลดค่าใช้จ่ายของสายการบินต่างๆ เช่นการลดค่าบริการสนามบิน การลดค่า Air Navigation Service Charges ต่ออายุลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินที่เคยออกไปก่อนหน้านี้ การอำนวยความสะดวกต่างๆ การลดค่าเช่าของผู้ประกอบการในสนามบิน การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอาจจะยังต้องรอให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตของการระบาดไปก่อน

“สำหรับการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้ปรับจาก Worst Case ขึ้นมาเป็น Baseline Case แล้ว จากเดิมเราคาดว่าจะจบได้ภายใน 3 เดือนแล้วใช้เวลาฟื้นฟูอีก 3 เดือน แต่ตอนนี้คาดว่าอาจจะจบลงได้ใน 6 เดือนและช่วงฟื้นกลับมาจะเป็นช่วงไตรมาสที่สี่พอดี ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวพอดี แต่ตอนนี้ได้หารือกับสภาพัฒน์อาจจะทำการประเมินเศรษฐกิจในลักษณะของ Scenario ด้วยว่าในแต่ละกรณีจะกระทบเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด แต่ตอนนี้จากตัวเลขในเดือนมกราคมก็คิดว่าจะต่ำต่อเนื่องจากไตรมาสสี่ของปีที่แล้ว ทางรัฐบาลเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะในไตรมาสแรกของปีนี้จะฟื้นตัวได้คงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่สำหรับในไตรมาสต่อๆไปอาจจะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว