ThaiPublica > สู่อาเซียน > ผลสำรวจ Global Times ชาวจีนมองสัมพันธ์จีน-อาเซียนเป็นมิตร

ผลสำรวจ Global Times ชาวจีนมองสัมพันธ์จีน-อาเซียนเป็นมิตร

16 พฤษภาคม 2022


ผลสำรวจล่าสุดจากโกลบอลไทมส์ (Global Times) พบว่า 90% ผู้ตอบแบบสอบถามชาวจีน ถือว่าความสัมพันธ์จีน-อาเซียนเป็นมิตร และมากกว่า 75% มีทัศนคติที่ดีต่ออนาคตของความสัมพันธ์

การสำรวจได้ดำเนินการร่วมกันโดยศูนย์วิจัย Global Times (Global Times Research Center) และศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์ต่างประเทศของจีน (Centre for Chinese Foreign Strategy Studies) และมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน (Renmin University of China) ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม ถึง 15 เมษายน ใน 31 มณฑล ภูมิภาค และเขตเทศบาลของจีน ในหมู่ประชาชนทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 69 ปี และนักศึกษาวิทยาลัย โดยมีแบบสอบถามที่ใช้ได้ 2,012 ชุดจากประชาชนทั่วไปและ 1,150 ชุดจากนักศึกษาวิทยาลัย

ประมาณ 61.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขามีความประทับใจที่ดีต่ออาเซียน และผู้ที่เคยไปเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้คะแนนความประทับใจเกี่ยวกับภูมิภาคนี้สูง โดยเฉลี่ยแล้วระดับความรู้สึก (affection) ของคนจีนที่มีต่ออาเซียนด้วยคะแนน 3.8 นั้นสูงกว่ากลุ่มและประเทศอื่นๆ มาก

ทั้งนี้ นักศึกษาวิทยาลัยส่วนใหญ่ประทับใจในทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์และวัฒนธรรมของอาเซียน รวมทั้งมีความรู้สึกที่ดีมาก

“ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าจีนและอาเซียนได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา” หลู่เซียง นักวิจัยจากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) กล่าวกับโกลบอลไทมส์ ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นทางการทูตของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มมากขึ้น

การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนหนึ่งจะมีความเห็นที่แตกต่างกับจีนในบางประเด็น เช่น เรื่องทะเลจีนใต้ แต่ความขัดแย้งเหล่านั้นอยู่ภายใต้การควบคุม และไม่ได้กลายเป็น “กระแสหลัก” สำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคี ประชาชนชาวจีนสนับสนุนและไว้วางใจนโยบายของจีนและความสัมพันธ์กับอาเซียน หลู่กล่าว

ที่มาภาพ: https://www.globaltimes.cn/page/202205/1265295.shtml

แนวโน้มเชิงบวก

แม้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่จีนก็จัดการความสัมพันธ์กับสมาชิกทั้งหมดได้ดีทีเดียว ทั้งจากความพยายามทางการทูตหรือความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative ที่จีนเสนอ ซึ่งทั้งหมดได้วางรากฐานสำหรับแรงผลักดันเชิงบวกในจีน-อาเซียน จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 90% กล่าวว่า สนใจอาเซียน และเกือบ 2 ใน 3 มีความสนใจสูงมาก ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมและศิลปะของภูมิภาคนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของชาวจีน ขณะที่ธุรกิจและการค้า เทคโนโลยี ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และกีฬาของภูมิภาคนี้ดึงดูดความสนใจผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 40%

ในบรรดานักศึกษาที่ทำการสำรวจนั้น 54.3% ตอบว่า รู้จักอาเซียนและมากกว่า 50% ตอบว่ารู้เรื่องการเมือง ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของภูมิภาค

ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 90.4% ตอบว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซียน “เป็นมิตร” และกว่า 2 ใน 3 ถือว่า “เป็นมิตรมาก” และ “ค่อนข้างเป็นมิตร”

“ผลการสำรวจเหล่านี้สอดคล้องกับการรับรู้วัตถุประสงค์ของชาวจีน เกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียน” สวี หลีผิง นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่ Chinese Academy of Social Sciences ในปักกิ่งกล่าวกับ Global Times เมื่อเร็วๆ นี้

ในทางการทูตกับประเทศที่ใกล้จีน อาเซียนอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญมาก สวีกล่าว โดยชี้ว่าชาวจีนทั่วไปจะมีความชอบใจและมีความใกล้ชิดในระดับสูงกับอาเซียน

“นี่แสดงให้เห็นอย่างแท้จริงว่า มีแรงผลักดันภายในที่แข็งแกร่งในการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียน และการเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนอย่างเป็นมิตรจะยังคงเป็นกระแสหลักของความสัมพันธ์ทวิภาคี” สวีกล่าว

ในการตอบคำถามว่า “จีนและอาเซียนสามารถจัดการกับปัญหาทะเลจีนใต้ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่” ผู้ตอบแบบสอบถาม 26.9% กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายจัดการได้ดีเสมอ ขณะที่ 67.3% เชื่อว่า ถึงแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วก็สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังหมายความว่า 94.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีทัศนคติที่ดีต่อทั้งสองฝ่ายที่จัดการกับปัญหาทะเลจีนใต้ได้ดี

ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและอาเซียน รองลงมาคือภาคสาธารณสุข ส่วนในอุตสาหกรรมใหม่ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับพลังงานและความร่วมมือในการพัฒนาสีเขียว

อาเซียนและจีนตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นตามความตกลงหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-จีน (Comprehensive Strategic Partnership — CSP) ที่จัดทำขึ้นในปี 2564 ขณะที่เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายได้เข้าพบในการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือร่วมอาเซียน-จีน ครั้งที่ 23 (23rd ASEAN-China Joint Cooperation Committee Meeting) ในเดือนเมษายน 2565

ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาในอาเซียนและจีน และความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของความร่วมมือในปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในด้านต่างๆ ของแผนปฏิบัติการอาเซียน-จีน 2564-2568 (ASEAN-China Plan of Action 2021-2025) เช่น การค้า ไอซีที เศรษฐกิจดิจิทัล การศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรมและข้อมูล สื่อ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน และการลดช่องว่างการพัฒนา

ในภาคการศึกษา 88.4% ของนักศึกษาที่สำรวจมีทัศนคติที่ดีต่อกิจกรรมแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและศิลปะถือเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดย 61.6% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้กล่าวถึง รองลงมาคือกิจกรรมการเรียนภาษา

Nanning International Convention and Exhibition Center สถานที่จัดงานChina-ASEAN Expo and China-ASEAN Business และ Investment Summit ในจีน ที่มาภาพ: https://www.globaltimes.cn/page/202205/1265295.shtml

สิงคโปร์ได้รับความสนใจสูงสุด

ในขณะที่ชาวจีนมีความสนใจต่อสมาชิกอาเซียน สิงคโปร์ได้กลายเป็นประเทศที่ดึงดูดความสนใจมากที่สุด คะแนนเฉลี่ยของความรู้สึกและความสนใจสำหรับสิงคโปร์สูงกว่า 4 โดยมีคะแนนสูงสุด 5 คะแนน รองลงมาคือมาเลเซียและไทย ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ได้คะแนน 3.8

สิงคโปร์ดึงดูดความสนใจจากนักศึกษาชาวจีนมากที่สุด ตามด้วยไทยและมาเลเซีย

“ความสนใจในสิงคโปร์สอดคล้องกับการรับรู้ทั่วไป” หลู่กล่าวและชี้ว่า ในสังคมที่มีคนจีนเป็นส่วนใหญ่ สิงคโปร์มีความคล้ายคลึงกับจีนหลายด้าน

อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.6 ของการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ขณะที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่สองและสาม ตามข้อมูลล่าสุดของศุลกากรจีนที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (9 พ.ค.)

การค้าระหว่างจีน-อาเซียนมีมูลค่ารวม 1.84 ล้านล้านหยวน (274.5 พันล้านดอลลาร์) ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน 2565 เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยเป็น 3 ประเทศที่ถือว่าเป็นมิตรกับจีนมากที่สุด จากผลการสำรวจของ Global Times และพบว่าเกือบ 96% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่า พวกเขาสนับสนุนจีนและอาเซียนในการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร ชาวจีนจะเข้าใจประเทศเหล่านั้นได้ดีขึ้นด้วยการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับจีนมากขึ้น และไม่แปลกที่ชาวจีนจะสนใจใน 3 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ระบุข้างต้น เนื่องจากแพ็คเกจทัวร์ของทั้ง 3 ประเทศเป็นแพ็กเกจที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจีน ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น

“เชื่อกันว่าด้วยการพัฒนาต่อเนื่องของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ชาวจีนจะรู้จักสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ดีขึ้น ด้วยทัศนคติที่ชื่นชอบมากขึ้น” หลู่กล่าว