ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Business Forum อาเซียนจะอยู่รอดและเติบโตอย่างไร ใต้แรงกดดันสองขั้วอำนาจสหรัฐฯ กับจีน

ASEAN Business Forum อาเซียนจะอยู่รอดและเติบโตอย่างไร ใต้แรงกดดันสองขั้วอำนาจสหรัฐฯ กับจีน

15 พฤศจิกายน 2019


วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ธนาคารกรุงเทพจัดสัมมนาใหญ่ประจำปี AEC Business Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ “2020: The Age of ASEAN Connectivity” นำเสนอความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของอาเซียน พร้อมเจาะลึกทิศทางการเติบโต รวมถึงเทรนด์ด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยได้เปิดมุมมองเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนธุรกิจในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และเร่งปรับตัวเข้าสู่ตลาดระดับภูมิภาคอย่างมั่นคง

โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารบริษัทชั้นนำระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงผู้บริหารจากธนาคารกรุงเทพ ร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ผ่านการเสวนาในหัวข้อต่างๆ

การเชื่อมโยงกุญแจสู่ความมั่งคั่งและเติบโต

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ระยะเวลาเพียง 4 ปีนับจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก่อให้เกิดผลลัพธ์และความก้าวหน้าอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างภูมิภาคอาเซียนที่ขยายตัวขึ้นกว่า 10% จีดีพีของภูมิภาคที่เติบโตถึง 5.2% ในปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

นอกจากนี้ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ท่าเรือ สะพาน สนามบินและทางรถไฟ และการสร้างโครงข่ายไฟฟ้าและเครือข่ายดิจิทัล ก็ได้ส่งเสริมการเติบโตของภูมิภาคและการเชื่อมโยงกันของประเทศต่างๆ ตลอดจนช่วยเชื่อมธุรกิจและผู้บริโภคเข้ากับโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั้งนี้ การยกระดับการเชื่อมโยงระหว่างกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จะเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การเติบโตและความมั่งคั่ง จากการประสานพลังและการพัฒนาอาเซียนบนความหลากหลายทางเศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ความหลากหลายและจุดแข็งที่โดดเด่นของแต่ละประเทศจะเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้นการเสริมสร้างการเชื่อมโยงจะเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตสูงและความรุ่งเรืองของอาเซียน

นายชาติศิริกล่าวว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในทิศทางเดียวกัน และประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 3.4% และลดคาดการณ์เศรษฐกิจอาเซียนลงมาที่ 4.6% ในปีนี้และ 4.8% ในปีหน้า

การเติบโตเศรษฐกิจอาเซียนยังมาจากปัจจัยทางโครงสร้าง ได้แก่ ข้อแรก ประชากรที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด 640 ล้านคนอยู่ในวัยต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งไม่ได้มีผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เร่งตัวขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวดเร็ว

ในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ 4 ใน 5 ประเทศสมาชิกอาเซียนจากที่แทบไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต กลับกลายเป็นประเทศที่มีการเชื่อมโยงทางดิจิทัลสูงสุดในโลก โดย 90% ของประชากร 360 ล้านคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นใช้อินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือ

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวรวดเร็ว โดยเศรษฐกิจดิจิทัลในมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เติบโตราว 20-30% ต่อปี และมากกว่า 40% ในเวียดนามและอินโดนีเซีย ปัจจัยนี้ทำให้มีสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์นเกิดขึ้นในอาเซียนจำนวนมาก เช่น Grab, Go-jek, SEA, Lazada และ Tokopedia ซึ่งได้พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการในภูมิภาค

ในขณะที่ความเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาคได้ก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ มากมาย เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าด้านดิจิทัล เช่น Enterprise Blockchain สำหรับบริการทางการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศและการโอนเงินระหว่างประเทศ บริการ e-wallet การนำ eKYC มาใช้ในบริการธนาคารดิจิทัล และการชำระเงินผ่าน QR Code เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ลดภาระงานเอกสาร ลดข้อจำกัดด้านการค้า ตลอดจนลดต้นทุนการทำธุรกรรมแบบข้ามพรมแดนลงอย่างมาก

การพัฒนาเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้นก็มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน โดยในรอบ 15 ปีจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางของอาเซียนจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 80 ล้านคนเป็น 160 ล้านคน และมีผลต่อเนื่องกับการเติบโตของเมือง โดยภายในปี 2050 ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียนจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV)

การขยายตัวของเมืองนำไปสู่ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่สูงขึ้น ทั้งระบบไฟฟ้า ที่พักอาศัย รวมทั้งสินค้าและบริการ เช่น บริการด้านสุขภาพ บันเทิงและการศึกษา รายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้นหมายถึงความต้องการเงินออมและการที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น

นับตั้งแต่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลเมื่อ 4 ปีก่อน AEC มีความคืบหน้าในการรวมตัว การลดอุปสรรคการทำธุรกรรมข้ามแดนและลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี รวมทั้งมีการยกระดับและเชื่อมโยงการเครือข่ายการคมนาคม ทำให้โลจิสติกส์ไร้รอยต่อ ความสามารถในการแข่งขันและเสริมห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีผลให้ธุรกิจย้ายฐานการผลิตมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นจากการย้ายฐษนการผลิตของซัมซุงจากจีนไปยังเวียดนาม และโซนีย้ายมาไทย

จากความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ทางการค้าโลกในอนาคต อาเซียนควรร่วมมือและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เปิดกว้างโปร่งใสและเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสมาชิกรวมทั้งกับประเทศในเอเชียอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าทางที่สำคัญ เช่น ระบบอัตโนมัติ ที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของฐานการผลิตอื่น อาเซียนจำเป็นต้องเร่งการพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับทิศทางการเติบโตในอนาคต การพัฒนาศักยภาพแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการ และการส่งผ่านเทคโนโลยีไปสู่ธุรกิจระดับกลางและเล็ก

การผลิตเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของภูมิภาคในปีที่แล้วประมาณ 670 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 21% ฐานการผลิตของภูมิภาคซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตรุ่นใหม่และความท้าทายในการสร้างแรงงานที่ต้องการ

แม้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงมีสัดส่วนในเศรษฐกิจอาเซียนเล็กน้อย ปัจจุบันมีเพียง 7% ซึ่งตามหลังสหรัฐฯ จีน และยุโรป

นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อให้มั่นใจว่ามีเงินทุนเพียงพอสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และคาดว่าภูมิภาคอาเซียนจะต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานใหม่ในเมืองและการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวในอีก 15 ปีข้างหน้าถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์

ในปีที่แล้วการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 5% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 155 พันล้านดอลลาร์ มาจากการลงทุนที่ไหลเข้าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ในภาคการผลิตและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเงิน การค้าปลีกและค้าส่ง และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัลดึงดูดการลงทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคมากที่สุด

แม้การลงทุนระหว่างกันภายในอาเซียนจะลดลง 3% ในปีที่แล้ว แต่มีมูลค่าสูงถึง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคและการขยายธุรกิจ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกของประเทศไทยหรือ EEC ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นประตูสู่ภูมิภาค และเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้รับความสนใจอย่างมากจากนานาชาติ และหลังจากที่โครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ข้อสรุปแล้ว การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

แต่การก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจเราจะต้องตอบคำถามสำคัญๆ เช่น เราจะอยู่รอดและขี่คลื่นแห่งความเป็นเมืองและการทำให้เป็นดิจิทัลได้อย่างไร เราจะจับโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคของอาเซียนได้อย่างไร และเราจะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของเราให้สามารถแข่งขันได้เมื่อเผชิญกับเทคโนโลยีที่ก่อกวนได้อย่างไร

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า อาเซียนในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่เริ่มเปิด AEC เป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการและนักลงทุนจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ตลอดจนศึกษาถึงปัจจัยที่ควรต้องระวัง ซึ่งธนาคารกรุงเทพในฐานะธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน ที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศอาเซียน และมีบริการทางการเงินครบวงจร พร้อมช่วยให้คำแนะนำในการปรับตัว และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสการลงทุนที่เปิดกว้างในอาเซียน โดยได้จัดตั้งศูนย์ AEC Connect ที่ให้คำแนะนำด้านการค้าและการลงทุนสำหรับผู้ที่สนใจดำเนินธุรกิจใน AEC ผ่านกิจกรรมต่างๆ หลายด้าน เช่น การจัดงานสัมมนาประจำปี AEC Business Forum โครงการ AEC Business Leader และงานสัมมนา AEC Investment Clinic

อาเซียนต้องหาที่ของตัวเองให้ได้ใต้แรงกดดันขั้วอำนาจ

ดร.ซ่ง เฉิง จือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Avanda Investment Management

การจัดงานครั้งนี้ ดร.ซ่ง เฉิง จือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Avanda Investment Management ที่ปรึกษาด้านการลงทุนของกระทรวงการคลังสิงคโปร์และธนาคารกลางในสิงคโปร์ นอร์เวย์ และไทย และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร MIT Endowment กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘ASEAN Economy in a Multi-Polar World & Investment Implications’

ดร.ซ่ง เฉิง จือ กล่าวว่า อาเซียนได้ประโยชน์จากการพัฒนาของโลกนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 50 ปีก่อน จากเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ มีการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ ประชากรหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน มากกว่าครึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียนกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

ในรอบ 30 ปีนี้จีนมีการเติบโตที่มากขึ้น จีนมีที่ตั้งไม่ไกลจากอาเซียน กลายเป็นคู่ค้าการลงทุนที่สำคัญของอาเซียน และนับเป็นมหาอำนาจที่ทวีความสำคัญในพื้นที่ที่สหรัฐฯ เคยมีบทบาทมาก่อน ซึ่งสหรัฐฯ ก็อยู่เฉยไม่ได้ จึงต้องหาทางลดบทบาทของจีนที่กำลังมีมากขึ้นในภูมิภาคนี้ด้วยการก่อตั้งการรวมกลุ่ม Indo-Pacific เพื่อถ่วงดุล

“ประเทศในภูมิภาคนี้จึงต้องหาทางที่จะรักษาสมดุลระหว่างสองฝ่าย โดยที่ยังคงได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเติบโตของจีน แต่ในขณะเดียวกันต้องรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสหรัฐฯ และผลประโยชน์ที่ได้จากสหรัฐฯ ในรูปของความมั่นคง”

“อาเซียนถูกบีบทั้งสองด้าน แต่ก็เป็นการยากที่จะรักษาความสมดุลสำหรับอาเซียน และการรักษาความสมดุลเปรียบเสมือนกับการไต่อยู่บนเส้นลวด เพราะหลายประเทศอาเซียนเผชิญกับแรงกดดันให้ต้องเลือกข้าง”

สิงคโปร์ได้ส่งสารถึงประเทศสมาชิกอาเซียนมาเป็นระยะๆ ก่อนหน้านี้ว่าเราต้องเลือก นี่คือ ความเคลื่อนไหวใหม่ที่มีผลกระทบกับอาเซียน ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจจะผ่อนคลายลงบ้างเล็กน้อย แต่อาเซียนก็ต้องเตรียมตัวเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและการแข่งขันทางการเมืองของสองมหาอำนาจ

ดร.ซ่ง เฉิง จือ กล่าวว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และคาดว่าจะขึ้นเป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2030 อาเซียนยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอีก เพราะประเทศเศรษฐกิจใหญ่ 5 อันดับแรกของอาเซียนยังคงขยายตัว ส่วนสมาชิกอาเซียนที่มีระดับการพัฒนารองลงมาก็ยังขยายตัวในอัตราสูง และจะทำให้ช่องว่างของประเทศใหญ่ 5 อันดับแรกหรืออาเซียน 5 กับประเทศขนาดรองลงมาแคบลงในระยะต่อไป

โครงสร้างเศรษฐกิจของอาเซียนมีความหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่การเติบโตของประเทศสมาชิกอาเซียนมาจากการบริโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการขยายตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ยังมีส่วนต่อการเติบโต การพึ่งพาการส่งออกสุทธิก็ยังมีความสำคัญต่อหลายประเทศในภูมิภาค และทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจการเงินปี 1997

อาเซียนซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจ เป็นพันธมิตรสำคัญของการค้าการลงทุนของหลายประเทศและในภูมิภาคอื่นของโลก ทั้งสหรัฐฯ จีน ยุโรป สหราชอาณาจักร รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าของเอเชียตะวันออกคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน และการค้าภายในอาเซียนก็เติบโตอย่างรวดเร็ว

อาเซียนยังดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากมีศักยภาพและมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และคาดว่าเงินลงทุนจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ยังไหลเข้าต่อเนื่อง

ส่วนจีนนั้นเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจหลักของอาเซียน ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) และการเป็นความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนและจีน จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์เพราะมีที่ตั้งไม่ห่างกัน

ในระยะสั้นเศรษฐกิจอาเซียนยังคงขยายตัว ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคในประเทศ

นอกจากนี้ ในขณะที่โลกกำลังประสบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำและดอกเบี้ยติดลบ ธนาคารกลางของภูมิภาคซึ่งมีบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในปี 1997 ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบ macroprudential policy (นโยบายที่ใช้เพื่อดูแลและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ) ธนาคารกลางจึงมีขีดความสามารถในการที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยขณะเงินเฟ้อยังต่ำ หรือผ่อนคลายนโยบายการเงิน หากจำเป็นต้องกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ

ส่วนฐานะการคลังก็ยังมีความแข็งแกร่ง มีขีดความสามารถที่จะใช้กระตุ้นความต้องการในประเทศได้ เพราะแม้ภาระหนี้ของประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สูงเท่ากับประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า ยกเว้นสิงคโปร์ที่หนี้สาธารณะเกิน 100% แต่กฎหมายห้ามรัฐบาลกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รัฐบาลสิงคโปร์จึงใช้กลไกตลาดทุน หรือผ่องถ่ายความเสี่ยงไปให้กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติซึ่งมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน เป็นฐานะที่ไม่เหมือนประเทศใดในภูมิภาค

การค้าการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาคยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อย่างไรก็ตาม แม้การค้าภายในอาเซียนไม่มีการเรียกเก็บภาษีระหว่างกัน แต่ยังมีมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี การลดอุปสรรคที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีจะช่วยให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจได้ประโยชน์มากขึ้น และลดการพึ่งพาประเทศอื่นท่ามกลางการกีดกันทางการค้าที่มากขึ้น

การประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อสองสัปดาห์ก่อนถือว่าประสบความสำเร็จ แม้มี 15 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม RCEP ออกแถลงการณ์ร่วมยกเว้นอินเดีย ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการส่งออกของอินเดียส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ แต่ RCEP มุ่งไปที่การค้าสินค้าเป็นหลักและอื่นๆ รวมทั้งการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ซึ่งอินเดียมองว่าหากเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาแล้วภาคธุรกิจ เช่น SME ที่เปราะบางจะได้รับผลกระทบ และคาดว่าโอกาสที่อินเดียจะเข้าร่วม RCEP มีน้อยมากเพราะประเด็นใน RCEP มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจในประเทศของอินเดียอย่างมาก

ดร.ซ่ง เฉิง จือ กล่าวว่า เมื่อดูโครงสร้างการเติบโตของอาเซียนแล้ว โครงสร้างประชากรมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมาก มีประชากรในวัยที่ทำงานอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวนมาก แม้อัตรา dependency ratio เพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ (dependency ratio คือ อัตราส่วนของประชากรที่ไม่ได้ทำงานเชิงเศรษฐกิจต่อประชากรที่ทำงานเชิงเศรษฐกิจ 100 คน) และต่ำกว่าที่อื่นในโลก

“อาเซียนมีประชากรวัยทำงานสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ประกอบกับที่ตั้งที่ไม่ไกลจากจีนก็ยังคงทำให้อาเซียนเป็นฐานการผลิต และการที่แรงงานที่มีทักษะในอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายอย่างเสรีทำให้เศรษฐกิจจะยิ่งขยายตัว เพราะจีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากภาคการผลิตไปยังภาคบริการและจากความต้องการภายนอกมาเป็นความต้องการในประเทศ”

การที่มีประชากรในวัยแรงงานซึ่งไม่หยุดนิ่ง ทำให้การพัฒนาของความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นเพราะประชากรกลุ่มนี้โยกย้ายมาหางานทำในเมือง และคาดว่าภายในปี 2015-2025 จะมีคน 70 ล้านคนจะย้ายจากชนบทเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองเพื่อโอกาสทางการศึกษาและการทำงานที่ดีกว่า ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือ การจัดหาที่อยู่อาศัยและการจัดการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานต้องขยาย ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินอีก 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในการลงทุนหรือราว 5% ของจีดีพีต่อปีในช่วงปี 2016-2030 และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้อาเซียนเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อผ่านเส้นทางทางบก ทางรถไฟ ทางอากาศและทางเรือ

การที่เมืองขยายตัวก็มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลาง ซึ่งแนวโน้มนี้ได้เห็นแล้วในจีนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภคที่จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง หรือ mass affluent จะมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 ของประชากร (หรือ 30-65%) ของแต่ละประเทศสำคัญในอาเซียน อีกทั้งผู้บริโภคที่เกิดในช่วงยุค 90 ก็ต้องการสินค้าในประเทศซึ่งเป็นโอกาสของแบรนด์สินค้าในประเทศที่จะนำเสนอสินค้าคุณภาพที่มีราคาสูงให้กับกลุ่มนี้

สำหรับด้านเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ ดร.ซ่งกล่าวว่า อาเซียนไม่ใช่ผู้นำในทั้งสองด้านนี้ และก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำ แต่ต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อสร้างการเติบโตและสร้างนวัตกรรม

“จากข้อเท็จจริงที่อาเซียนเป็นมิตร และรักษาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งถือว่าอยู่ในสถานะที่ดี และเป็นโอกาสดีที่จะขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ของภูมิภาค และการเปลี่ยนโฉมของภูมิภาคก็จะเริ่มขึ้น เป็นแนวโน้มที่น่าสนใจ”

ฐานผู้บริโภคที่ชื่นชอบเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือ โครงสร้างพื้นฐานที่ดีทำให้สามารถขนส่งสินค้าจากร้านค้าส่งถึงที่อยู่ปลายทางลูกค้าโดยตรง หรือ last mile delivery รวมทั้งระบบชำระเงินอีเพย์เมนต์ที่ดี และกฎหมายรองรับจะช่วยให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัว มีผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจขยายตัว

ทางด้านบรรยากาศทางธุรกิจ ดร.ซ่ง เฉิง จือ กล่าวว่า อาเซียนมีความคืบหน้าไปมากในการสร้างบรรยากาศทางธุรกิจด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบ มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ดังจะเห็นจากรายงาน Ease of Doing Business ที่อาเซียนหลายประเทศมีอันดับดีขึ้น

สำหรับด้านระบบการเงิน หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินอาเซียนได้เรียนรู้ และสร้างเสริมเสถียรภาพทางการเงิน เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนมาก ธนาคารมีอัตราความเพียงพอของเงินกองทุนในระดับสูง สินเชื่อมีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็สามารถเปิดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่มาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีได้ และคาดว่าจะรับมือกับความท้าทายใหม่ได้

ธนาคารพาณิชย์ที่ฐานะการเงินมั่นคงในกลุ่ม ASEAN 5 จะสามารถใช้โอกาสจากการรวมตัวของอาเซียนได้อย่างดี

ดร.ซ่ง เฉิง จือ กล่าวว่า อาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีพลัง สามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของจีนได้ โดยใช้คำว่า “a warrant on China’s growth” จีนเดิมเคยเป็นคู่แข่งของอาเซียนในตลาดส่งออก แต่ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของอาเซียน และยังเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของอาเซียน ตลอดเทคโนโลยีและโนว์-ฮาวทางเทคโนโลยีด้วย

เมื่อแยกย่อยลงเป็นรายประเทศ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ต่างมีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก ส่วนลาว เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ก็อุดมไปด้วยทรัพยากรและแรงงานราคาถูกจำนวนมาก

เงินลงทุนโดยตรงจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะจีนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ขณะที่อาเซียนยังคงได้ประโยชน์จากแรงงานอายุน้อยและมีจำนวนเพิ่มขึ้น

การบริโภคในอาเซียนขยายตัว จากกลุ่มชนชั้นกลางและการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งส่งผลต่อการเติบโตต่ออาเซียน

การขยายตัวของเมืองจะกระตุ้นการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิผล ขณะเดียวกันการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 อินเทอร์เน็ตออฟทิงในอาเซียนจะทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เมื่อผสมผสานดับการเพิ่มขึ้นของประชากรอายุน้อย ชนชั้นกลางที่ชื่นชอบเทคโนโลยีแล้วการบริโภคในอาเซียนจะเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโอกาสใหม่ของการเติบโตจากภาคธุรกิจในด้านการเอาต์ซอร์ซกระบวนการดำเนินงาน (business process outsourcing) และฟินเทค

“อาเซียนมีสถานะที่ดีที่จะรับมือกับความท้าทายได้ เพราะประชากรในอาเซียนให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก และพัฒนาตนเองตลอดเวลา”

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีความเสี่ยงและความเปราะบาง โดยระยะสั้นจากมาตรการกีดกันทางการค้า สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่ไปคนทาง ที่อาจนำไปสู่การต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัวพร้อมกัน

ส่วนระยะปานกลาง 10-20 ปีข้างหน้า ได้แก่ การตกอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ประเทศไทย เพราะไม่ได้พยายามมาก ทำเฉพาะเป้าหมายที่บรรลุได้ง่าย อีกทั้งกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย การที่จะยกระดับไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง ต้องปฏิรูปโครงสร้างและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

ความเสี่ยงระยะยาว คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change อาเซียนเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความเสี่ยงจาก climate change มากที่สุด และ climate change จะมีผลต่อประเทศขนาดเล็กและมีรายได้ต่ำ และหวังว่าอาเซียนจะดำเนินการภายใน เพื่อจัดการกับปัญหา