ThaiPublica > เกาะกระแส > ความคืบหน้าข้อตกลง “ไซเตส” – พร้อมกระบวนการลักลอบขนตัวนิ่มเส้นทางมาเลเซีย-ไทยส่งขายจีน คนมีสีมีเอี่ยว

ความคืบหน้าข้อตกลง “ไซเตส” – พร้อมกระบวนการลักลอบขนตัวนิ่มเส้นทางมาเลเซีย-ไทยส่งขายจีน คนมีสีมีเอี่ยว

3 กันยายน 2019


ที่มาภาพ : https://www.fws.gov/international/cites/cop18/us-submissions.html

ในช่วงวันที่ 17-28 สิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุม CITES CoP 18 หรือภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora:CITES)

เอกสารข่าวเผยแพร่หลังเสร็จสิ้นการประชุมระบุว่าที่ประชุมได้ทบทวนกติกาการค้าที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิดซึ่งกำลังมีความเสี่ยงจากการลักลอบค้าที่เกี่ยวพันกับการเก็บเกี่ยวที่มากเกินไป การประมงที่มากเกินไป และการล่าที่มากเกินไป ตั้งแต่ปลาที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์ พันธุ์ไม้ ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สวยงาม เช่น ยีราฟ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลาน ที่มีการขายเป็นสัตว์เลี้ยงที่แปลกใหม่

ที่ประชุมยังได้พิจารณาเพิ่มพันธ์ุฉลามเข้าไว้ในบัญชีแนบท้าย 2(Appendix 2) อีก 18 สายพันธุ์ เนื่องจากแนวโน้มการค้าภายใต้โควต้าและการอนุญาตเพื่อส่งเสริมการค้าประมงที่ยั่งยืนของ CITES เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปลาฉลามโรนิน ที่ครีบมีราคาแพงและกำลังจะสูญพันธุ์ รวมทั้งปลาฉลามมาโกครีบสั้นและครีบยาว และปลาโรนันยักษ์

สัตว์น้ำสายพันธุ์อื่นซึ่งที่ประชุมหยิบยกมาพิจารณาได้แก่ ปลาไหล ปลิงทะเล หอยสังข์ เต่าทะเล ปะการัง ปลาสเตอร์เจียน และม้าน้ำ รัฐบาลประเทศสมาชิกตกลงจะตรวจสอบการจำหน่ายปลาสวยงาม เพื่อประเมินว่าจะนำหลักเกณฑ์ของ CITES มากำกับการค้าปลาสวยงามนี้ได้อย่างไร

นอกจากนี้การทำป่าไม้ก็ยังพบว่ามีการจำหน่ายสัตว์ป่าที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์สูง CITES จึงได้ขยายการอนุญาตให้ครอบคลุมไม้อัดและผลิตภัณฑ์อื่น หลังจากที่ความต้องการไม้สักอัฟริการจากอัฟริกาตะวันตกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มต้นซีดาร์ ต้นไม้ประจำชาติมาลาวี และต้นโรสวู้ดสายพันธุ์หนึ่งที่เติบโตช้าในอัฟริกาใต้และตะวันออกเข้าในบัญชีแนบท้ายด้วย ส่งผลให้ทุกสายพันธุ์ของต้นซีดาร์ในอัฟริการอยู้ในบัญชีแนบท้ายทั้งหมด

ที่ประชุมได้แก้ไขรายชื่อต้นโรสวู้ดในบัญชีแนบท้ายและต้นไม้ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่ว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กเช่น เครื่องมือดนตรี ชิ้นส่วน และของประดับสามารถส่งผ่านข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องขอนุญาต CITES

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาจำนวนยีราฟได้ลดลง 36-40% เนื่องจากถิ่นที่อยู่ถูกทำลายและจากสาเหตุอื่น ที่ประชุมจึงได้เพิ่มยีราฟลงในบัญชีแนบท้าย ขณะที่ย้ายตัวนากขนเรียบสายพันธุ์เอเชีย ซึ่งถิ่นที่อยู่ถูกทำลายเช่นกันและมีความเสี่ยงที่จะถูกจับไปจำหน่าย ออกจากบัญชีแนบท้าย 2 ไปอยู่ในบัญชีแนบท้าย 1 ซึ่งเป็นรายชื่อสัตว์ป่าที่ห้ามทำการค้าเชิงพาณิชย์

CITES ยังได้เพิ่มกิ้งก่า ตุ๊กแก และเต่าอีกหลายสายพันธุ์เข้าในบัญชีแนบท้ายเพิ่มเติมเพราะแนวโน้มความต้องการที่จะนำสัตว์ป่าหายากมาเป็นสัตว์เลี้ยงมีมากขึ้น

ที่ประชุมยังได้ตกลงก่อตั้ง CITES Big Cat Task Force ขึ้นเพื่อให้การบังคับใช้หลักเกณฑ์ การจัดการกับการค้าผิดกฎหมาย และการส่งเสริมความร่วมมือในการอนุรักษ์เสือ สิงห์โต เสือชีตาห์ เสือจากัวร์ และเสือดาว

จากความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากร สัตว์ป่าตระกูลอูฐหรือ บิกุญญา (vicuña) อย่างยั่งยืนในโบลิเวีย เปรูและบางส่วนของอาร์เจนติน่า ที่ประชุมจึงปรับบิกุญญาในอาร์เจนติน่า ให้ไปอยู่ในบัญชีแนบท้าย 2 จากบัญชีแนบท้าย 1 พร้อมๆกับ ประชากรจระเข้อเมริกาในเม็กซิโก ซึ่งการอนุรักษ์ประสบความสำเร็จ

หลายประเทศภาคีสมาชิกและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้าน CITES ยังขาดความสามารถด้านนโยบายและด้านการเงินในการที่จะอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ที่ประชุมจึงส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถและกิจกรรมด้านอื่นที่จะเสริมความเข้มแข็งในการจัดการและปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำกับด้านการค้าภายใต้อนุสัญญา CITES

นอกจากนี้ที่ประชุมตระหนักถึงบทบาทนำของชุมชนพื้นเมือง และท้องถิ่นในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการจัดการอย่างยั่งยืน และความจำเป็นในการหารายได้และการเลี้ยงชีวิต จึงได้ขอให้ภาคีสมาชิกคำนึงถึงการนำชุมชนพื้นเมือง และท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของอนุสัญญา แต่ในขณะเดียวกันก็คำนึงกลุ่มคนที่ต้องอาศัยสัตว์ป่าที่มีชื่อในทะเบียน CITES เพื่อการดำรงชีพด้วย

ที่ประชุมตรวจสอบความคืบหน้าในการนำมาตรการต่างๆมาใช้ เพื่อการอนุรักษ์และการจัดการอย่างยั่งยืนกับพืช และสัตว์ป่าสายพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ เช่น ปลาไหลสายพันธุ์ยุโรป ฉลาม ต้นโรสวู้ด ลิงในวงศ์ลิงใหญ่ และนกกลุ่ม songbirds เพื่อให้ข้อมูลทันเหตุการณ์ ทั้งจำนวน การค้าและแผนปฏิบัติการของแต่ละสมาชิก

ไทยหลุดพ้นการค้างาช้าง

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ค กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช https://www.facebook.com/DNP1362/posts/2316296298685265?__tn__=K-R

สำหรับประเทศไทย เฟซบุ๊กเพจทางการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่า ไทยหลุดพ้นจากการเกี่ยวข้องกับการค้างาช้างผิดกฎหมายเนื่องจากความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำทีมผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม CITES CoP18 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-28 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุม Palexpo, นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ผลจากการประชุมตอกย้ำความสำเร็จของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมาย จากการพิจารณาในวาระการรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการค้าช้าง (ETIS Report) โดยประเทศไทยไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายในรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการค้าช้าง (ETIS Report) ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยหลุดพ้นจากการที่จะต้องเป็นประเทศที่ต้องพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ ทั้งนี้ เป็นผลจากการไม่มีคดีงาช้างล็อตใหญ่ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าจะมีตลาดงาช้างภายในประเทศแต่ก็มีกฎหมายภายในประเทศและมาตรการในการควบคุมดูแลอย่างรัดกุม

ในรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการค้าช้าง (ETIS Report) เป็นการเสนอรายงานองค์กร TRAFFIC ผู้จัดทำรายงานนี้ต่อ CITES ได้แบ่งกลุ่มประเทศที่มีความน่ากังวลเกี่ยวกับการค้างาช้างออกเป็น 3 กลุ่ม โดยใช้ข้อมูลในปี พ.ศ. 2558-2560 ประกอบด้วย

กลุ่ม A (เดิมคือ Primary Concern) เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายมากที่สุด (most affected) ประกอบไปด้วย มาเลเซีย โมซัมบิก ไนจีเรีย และเวียดนาม

กลุ่ม B (เดิมคือ Secondary Concern) เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างชัดเจน (markedly affected) ประกอบไปด้วย เคนยา แทนซาเนีย ยูกันดา จีน และฮ่องกง

กลุ่ม C (เดิมคือ Importance to watch) เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมาย (affected) ประกอบไปด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC Congo) สาธารณรัฐคองโก (Congo) แอฟริกาใต้ คาเมรูน กาบอง ซิมบับเว แองโกลา สหรัฐอาหรับเอมิเรต เอธิโอเปีย เขมร สิงคโปร์ ลาว ตุรกี และบุรันดี

ในโอกาสการเข้าร่วมการประชุม CoP18 ครั้งนี้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวอีวอนเน่ ฮิกัวโร่ (Ivonne Higuero) เลขาธิการ CITES ในวันที่ 19 สิงหาคม 2562 เพื่อหารือการดำเนินการตามอนุสัญญาไซเตสของประเทศไทย

ประเด็นสำคัญคือ ประเทศไทยได้มีการปรับปรุงกฎหมายระดับชาติ คือพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับล่าสุดซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกอนุบัญญัติเพื่อกำหนดรายะเอียดแนวทางปฏิบัติต่อไป ซึ่งเชื่อว่ากฎหมายใหม่จะช่วยให้การปฏิบัติตามอนุสัญญา CITES มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดชนิดพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองที่สอดคล้องกับอนุสัญญา CITES และบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นอันจะช่วยควบคุม ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้ดียิ่งขึ้น

เลขาธิการไซเตส ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่ได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างในการปฏิบัติตามอนุสัญญา CITES ซึ่งมีผลการดำเนินการที่ดีและสามารถเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ หลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องที่ยาก และใช้เวลาในการดำเนินการ ทั้งเรื่องการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้าง จนกระทั่งไทยสามารถออกจากกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้างและแสดงให้เห็นว่าเป็นประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย หรือการแก้ไขกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า รวมทั้งการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่อง การป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย ซึ่งไทยมีบทบาทอย่างชัดเจนในการเป็นผู้นำในภูมิภาค และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประเทศอื่นต่อไป และขอให้ไทยดำรงบทบาทการเป็นผู้นำในภูมิภาคซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของอนุสัญญา CITES ต่อไป

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม CoP18 วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ถึงผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่อง การป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า เมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์เชียงใหม่ของรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบการดำเนินงานตามอนุสัญญา CITES และการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่านั้น กรอบนโยบายจากแถลงการณ์เชียงใหม่จะนำไปสู่การปฏิบัติโดยประเทศไทยและอาเซียนจะดำเนินการร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวต่อไป

ขับเคลื่อนอนุสัญญายกระดับสู่ออนไลน์

ที่มาภาพ: www.cites.org/eng/news/ r/Closing_remarks _CITES_Secretary-General-COP18_ 28082019

นางสาวอีวอนเน่ ฮิกัวโร่ เลขาธิการ CITES กล่าวว่าปิดการประชุมว่าภาคีสมาชิก ประสบความสำเร็จในวงกว้าง ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินงานในอีกปีต่อๆไป โดยในด้านแรกภาคีสมาชิกได้ขับเคลื่อนอนุสัญญาที่ก่อตั้งมาเมื่อ 45 ปีก่อนอย่างเข้มเข็งและเป็นฐานในการทำงานสำหรับอนาคต

การที่ภาคีสมาชิกยอมรับวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์หลังปี 2020 (CITES Strategic Vision Post-2020) แสดงให้เห็นว่า ภาคีสมาชิกมีมุมมองร่วมกันว่า CITES ต้องเป็นผู้นำในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในการอนุรักษ์และจัดการธรรมชาติ เน้นไปที่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งวิสัยทัศน์บ่งชี้ถึงบทบาทนำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)ปี 2030

ข้อเสนอหลายข้อซึ่งที่ประชุมยอมรับจะเสริมความเข้มแข็งของภาคีสมาชิกในการอนุรักษ์ ขณะที่การนำชุมชนท้องถิ่นและชุมชนพื้นเมืองเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งถือว่าเป็นแถวหน้าในการอนุรักษ์และจัดการสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ก็จะมีส่วนในการดำเนินการของ CITES ประสบความสำเร็จ แม้แนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมจะแตกต่างกันไป

ด้านที่สอง ภาคีสมาชิกได้เพิ่มขีดความสามารถในการปราบปรามการค้าที่ผิดกฎหมาย ผู้ค้าที่ผิดกฎหมายยังเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไข อีกทั้งได้ยกระดับไปสู่การค้าออนไลน์ ซึ่งที่ประชุมตระหนักดีถึงปัญหาเหล่านี้ เช่น การเพิ่มความพยายามในการจัดการกับการค้าผิดกฎหมายในอัฟริกากลางและอนุภูมิภาคตะวันตก ซึ่งการค้าผิดกฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับ งาช้าง สัตว์ป่าหลายพันธ์ เช่น ตัวนิ่ม นกแก้วและต้นโรสวู้ด

ที่ประชุมยังเห็นว่า การทำงานขององค์กรนานาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมด้านสัตว์ป่า International Consortium on Combating Wildlife Crime มีความคืบหน้า มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือภาคีสมาชิกในการนำอนุสัญญาไปปฏิบัติและการต่อต้านอาชญากรรมด้านสัตว์ป่า

ที่ประชุม CoP 18 ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของภาคีสมาชิกในการทำงานร่วมกันตั้งแต่ประเทศต้นทาง ประเทศเส้นทางขนส่งและประเทศปลายทาง ซึ่งจากการปฏิบัติงานภายใต้โครงการ Operation Thunderball ที่มีภาคีสมาชิก 109 ประเทศ ส่งผลให้จับกุมการลักลอบได้ถึง 1,800 คดี ผู้ต้องสงสัยเกือย 600 ราย

อย่างไรก็ตามยังต้องมีการทำงานต่อเนื่องในการช่วยเหลือภาคประเทศสมาชิกในการเสริมความเข้มแข็งกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการต่อต้านอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าบนระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยียุคใหม่

CITES ได้พัฒนาระบบออนไลน์เพื่อให้การกำกับการค้าที่ถูกกฎหมายและการต่อต้านการค้าผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้ร่วมมือกับองค์การศุลกากรโลก(World Customs Organization) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันรวมทั้งการอนุญาต ซึ่งจะทำให้การควบคุมบริเวณชายแดนมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการใช้ระบบปฏิบัติที่ทันสมัย ครอบคลุมการตรวจสอบเป้าหมาย

ด้านที่สาม ภาคีสมาชิกได้นำบัญชีแนบท้ายมาส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประชุมได้รับ 46 ข้อเสนอเพื่อแก้ไขบัญชีแนบท้าย ส่งผลให้มีการเพิ่มรายชื่อสัตว์ป่าพันธุ์พืช 93 สายพันธุ์เข้าบัญชีแนบท้าย ทั้งบัญชีแนบท้าย 1 และ 2

โลกกำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรวดเร็ว

แม้สัตว์ป่า 9 ชนิดได้รับการคุ้มครองมากขึ้นจากการค้าระหว่างประเทศ และ 130 สายพันธ์ได้รับความคุ้มครองเป็นครั้งแรกในที่ประชุม CoP18 ซึ่งมีการหารือเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศมูลค่ามหาศาลรวมทั้งการคุ้มครองสัตว์และพืชที่กำลังจะสูญพันธ์

แต่รายงานของNational Geographic ก็ยังมีคำถามว่า การดำเนินงาน ของ CITES รวดเร็วทันการณ์หรือไม่ พอที่จะได้ดระบุว่าภาคีสมาชิกมีความคืบหน้าในการดำเนินการต่อต้านอาชญากรรมด้านสัตว์ป่า

National Gepographic อ้างรายงานองค์การสหประชาชาติปี 2019 ที่ทำการศึกษาอัตราการสูญพันธ์ ซึ่งพบว่าสายพันธ์ของสัตว์และพืช 1 ล้านสายพันธ์กำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายที่จะสูญพันธ์ หลายสายพันธ์ก็จะสูญพันธ์ภายในไม่กี่ทศวรรษ จากเงื้อมมือคน สัตว์จำนวนมากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจาก CITES มีการค้าการส่งออกจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง

นีล เดอครูซ ที่ปรึกษาด้านสัตว์ป่าทั่วโลกองค์กรพิทักษ์สัตว์( World Animal Protection) ตั้งข้อสังเกตว่า CITES ทำงานเร็วพอที่จะปกป้องสัตว์ป่าหรือไม่ โดยระบุว่าจากการทำวิจัยต่อเนื่องนานหลายปี ด้านความเปราะบาง และการลดลง ของเต่าดาวอินเดีย(Indian star tortoise) ซึ่งเป็นเต่าสายพันธ์ที่มีการลักลอบค้ามากที่สุดของโลก

แม้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการค้าในหลายการประชุม CITES ก็ยังไม่มีการสั่งห้ามทำการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็น สถานการณ์ที่ไม่ต่างจากตัวนิ่ม 8 สายพันธ์ที่เพิ่งมีการยกระดับการคุ้มครองสูงสุดเมื่อปี 2017 นี่เอง แม้ข้อมูลจาก Traffic กลุ่มที่ติดตามการค้าสัตว์ป่าพบว่า มีการลักลอบค้าเป็นล้านตัวในปี 2000-2013

เดอครูซกล่าวว่า CITES เป็นเครื่องมือสำคัญในการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่า แต่โลกกลังสูญเสีบความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรวดเร็ว จึงต้องการที่จะเห็น CITES รัฐบาลในทุกประเทศ องค์กรไม่แสวงผลกำไรหรือ NGO มีการทำงานที่เร็วขึ้น

ที่มาภาพ :https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/31/Pangolin%27s_tail.jpg/1024px-Pangolin%27s_tail.jpg

ไทยเส้นทางหลักลักลอบนำเข้าตัวนิ่มส่งจีน

การลักลอบค้าสัตว์ป่าหายากและสัตว์ป่าสงวนในไทยและภูมิภาคอาเซียนยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง และเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มงวดในการจับกุมและกวดขันการตรวจสอบบริเวณชายแดน แต่ก็ยังมีการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์ป่าหายากและมีรายการสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตัวนิ่ม ที่จัดว่าเป็นสัตว์ป่าที่มีคุณค่าทางยา

แหล่งข่าวในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นทางผ่านหลักของการลักลอบนำตัวนิ่มผ่านด่านศุลกากรมาจากมาเลเซียซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของตัวนิ่ม เพราะป่ามาเลเซียมีความอุดสมสมบูรณ์อยู่มาก ตัวนิ่มจากมาเลเซียมีขนาดใหญ่ได้น้ำหนัก เมื่อลักลอบนำเข้ามาแล้วจะถูกส่งต่อไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อรายใหญ่ โดยการลักลอบส่วนใหญ่จะผ่านด่านศุลกากรในจังหวัดสงขลา ได้แก่ ด่านศุลกากรสะเดา ที่ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดาเช่นกัน และด่านศุลกากรบ้านประกอบ อำเภอนาทวี

แหล่งข่าวในพื้นที่ให้ข้อมูลต่อว่า การลักลอบนำเข้าตัวนิ่มผ่านด่านชายแดนภาคใต้เป็นกระบวนการใหญ่ มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งในฝั่งมาเลเซีย ฝั่งไทย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจของทั้งสองประเทศ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และมีเถ้าแก่หรือหุ้นส่วนฝั่งไทยเป็นผู้รับซื้อในกระบวนการ

แหล่งข่าวเล่าว่า การลักลอบขนตัวนิ่มเข้าไทยส่วนใหญ่จะขนกันเป็นลอตๆ ตามคำสั่ง โดยจะมีการเคลียร์และเปิดทางให้ผ่านชายแดนจากผู้เกี่ยวข้องทั้งสอง โดยส่วนใหญ่จะนำตัวนิ่มใส่ในถุงมุ้ง มัดไม่แน่นนัก เพื่อให้ตัวนิ่มเคลื่อนไหวได้ และไม่เสียชีวิตระหว่างการขน แล้วใส่ไว้ในท้ายรถยนต์ส่วนตัว และผู้ที่รับจ้างทำหน้าที่ขนก็จะขับรถยนต์แยกกันมาตามแต่ละด่าน

เมื่อมาถึงฝั่งไทยจะมีเถ้าแก่มารับไปอีกทอดเพื่อส่งไปจีนตามที่ได้มีคำสั่งซื้อมา ในราคาประมาณ 3,000 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาในไทย แต่หากส่งถึงจีนราคาก็จะสูงขึ้นไปถึง 20,000 บาทต่อกิโลกรัม

แหล่งข่าวกล่าวว่า การมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการลักลอบนำเข้าตัวนิ่มเข้าไทย เห็นได้ชัดจากกรณีการจับกุมตำรวจมาเลเซีย 1 ราย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวไทย ที่รายงานว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านสะเดาได้ยึดตัวนิ่มซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองจำนวนหนึ่งมีน้ำหนักรวม 228 กิโลกรัม ในความครอบครองของ อาหมัด นัสรุล ฮาฟิฟิ บิน โมฮัมหมัด ซึ่งมาทราบภายหลังว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซีย ที่พยายามลักลอบนำเข้าจากมาเลเซียมาไทย

ที่มาภาพ: https://tna.mcot.net/view/hDlyu3I

ในรายงานข่าวระบุว่า ตัวนิ่มที่ยึดจากท้ายรถต้องสงสัยมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งอาหมัดที่ทำทีเป็นนักท่องเที่ยวได้บอกกับเจ้าหน้าที่ทางการไทยว่า ได้รับจ้างขนตัวนิ่มเข้าไทยจาก อลอร์ สตาร์ รัฐเคดาห์ มาเลเซีย มายังสะเดา จังหวัดสงขลาของไทย เพื่อส่งต่อไปยังจีน ซึ่งมีราคาสูงขึ้นเป็น 2 เท่า

แหล่งข่าวให้ข้อมูลกรณีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียรายนี้ว่า การลักลอบขนลอตนี้ได้มีการตกลงเคลียร์พื้นของเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายเรียบร้อยแล้ว แต่ที่จับกุมได้เนื่องจากในช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ทหารที่ลงไปคุมพื้นที่ขอตรวจค้นรถ จึงพบตัวนิ่มที่ลักลอบใส่ท้ายรถเข้ามา

เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรสะเดาได้คุมขังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียที่สถานีตำรวจ 2 วัน จากนั้นได้ส่งตัวเข้าเรือนจำก่อนที่จะมีการประกันตัวออกไปในอีก 5 วันต่อมา รวมเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียรายนี้ถูกคุมตัวในประเทศไทย 7 วัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียรายนี้ถูกการประกันตัวออกไปโดยคนไทยที่ขับรถตู้นำเที่ยวระหว่างไทย-มาเลเซีย ชื่อ นายสมยศ เนื่องจากว่าพ่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียที่เดินทางมาจากมาเลเซียได้มาเช่ารถนายสมยศใช้ระหว่างการติดต่อและดำเนินการนำตัวออกจากเรือนจำ เพราะรถคันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียขับมาถูกยึดไว้ที่สถานีตำรวจสะเดา

พ่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้ตกลงเช่ารถนายสมยศวันละ 3,000 บาท ตอนแรกได้ตกลงเช่าเพียง 2 วัน แต่ได้ขยายเวลาเช่าออกไป เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ส่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียไปยังศาลจังหวัดนาทวี อำเภอนาทวีไปแล้ว ทำให้ต้องใช้เวลาเพื่อรอคำสั่งศาล

เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียรายนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญา 2 ข้อหา คือ 1 มีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองป่า และ 2 ลักลอบนำเข้า ซึ่งเป็นความผิดทางศุลกากร

ศาลจังหวัดนาทวีได้มีคำสั่งปรับเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียตามมูลค่าตัวนิ่มซึ่งคิดเป็นเงินราว 2 ล้านบาท และให้ประกันตัวไปด้วยเงินประกัน 200,000 บาท โดยมีนายสมยศเป็นผู้ประกันตัวออกไป จากการว่าจ้างของพ่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียรายนี้ เพราะพ่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียไม่สามารถประกันได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากเป็นต่างชาติ

แหล่งข่าวกล่าวว่า คดีนี้เมื่อมีการประกันตัวออกไป ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว ส่วนนายสมยศก็ไม่ถือว่ามีความผิดใด สามารถทำหน้าที่เป็นนายประกันได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาการลักลอบตัวนิ่มได้ซาลงไป เนื่องจากทหารได้รับคำสั่งให้ลงมาคุมพื้นที่ ทำให้กระบวนการลักลอบนำเข้าตัวนิ่มทำได้ยากขึ้น