ThaiPublica > เกาะกระแส > บทความใน Foreign Affairs โลกจะเตรียมรับมืออย่างไรกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

บทความใน Foreign Affairs โลกจะเตรียมรับมืออย่างไรกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

3 กุมภาพันธ์ 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : globalnews.ca

จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน เปิดเผยว่า มีคนจีนติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว 17,205 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 361 ราย โดยที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกที่มีผู้เสียชีวิตนอกประเทศจีน(จำนวน 1 ราย)

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 31 มกราคม สหรัฐอเมริกาประกาศห้ามคนต่างชาติที่เดินทางไปจีนในช่วง 14 วันที่ผ่านมา เดินทางเข้ามายังสหรัฐฯ ส่วนคนอเมริกันที่เคยอยู่ที่อู่ฮั่นในช่วง 14 วันที่ผ่านมา เมื่อเดินทางกลับมาสหรัฐฯ จะถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน สำรับคนอเมริกันที่เดินทางกลับสหรัฐฯ และในช่วง 14 วันที่ผ่านมา เคยเดินทางส่วนอื่นๆของจีน จะถูกตรวจอย่างเข็มงวดเมื่อเข้าประเทศ รวมทั้งให้เฝ้าระมัดระวังและกักกันตัวเองเป็นเวลา 14 วัน

สิ่งที่รู้และไม่รู้

บทความชื่อ How to Prepare for a Coronavirus Pandemic ที่พิมพ์ใน foreignaffairs.com ผู้เขียนคือ Tom Inglesby ผู้อำนวยการ ศูนย์ความปลอดภัยด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัย Johns Hopkins กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่มีชื่อเป็นทางการว่า 2019-nCoV ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก และยังจะต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง ที่จะทำความเข้าใจกับไวรัสตัวนี้ ผลกระทบจากไวรัสโคโรนา จะขึ้นอยู่กับว่า ไวรัสนี้แสดงออกอย่างไรในเรื่องการแพร่ระบาด และเป็นอันตรายมากน้อยขนาดไหนต่อคนป่วย ซึ่ง ณ เวลานี้ ลักษณะดังกล่าวนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน

ผู้เขียนกล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงของไวรัสโคโรนา ต้องอาศัยทั้งข้อมูลและเวลา ตัวชี้วัดสำคัญสุดของโรคระบาดใดๆก็ตาม คืออัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ จากสถิติที่เป็นอยู่ขณะนี้ อัตราการเสียชีวิตของไวรัสโคโรน่าอยู่ที่ 2% เทียบกับโรคซาร์สอยู่ที่ 10% และไข้หวัดใหญ่ 0.01%

แต่อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาอาจจะเปลี่ยนไป เพราะในระยะแรก เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคนั้น เป็นเรื่องสะดวกและง่ายที่จะจดบันทึกจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและที่เสียชีวิต แต่เมื่อเกิดกรณีการติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้งที่มีอาการไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตก็มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมาก มองจากภาพจำลองในแง่ดี (best-case scenario) อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่า จะใกล้มาทางไข้หวัดใหญ่ มากกว่าทางโรคซาร์ส แต่ก็ยังเร็วไปที่จะรู้อย่างแน่ชัด เพราะจนถึงขณะนี้ คนสูงอายุมีความเสี่ยงมากที่สุด

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ อัตราการแพร่ระบาด จำนวนคนติดเชื้อที่เพิ่มอย่างรวดเร็วในจีน แสดงให้เห็นว่าไวรัส 2019-nCoV มีประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คน แม้ว่าขณะนี้ ทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศอื่นๆ ยังไม่มีรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องรูปแบบการแพร่ระบาด

จากการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจในอดีต เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง อัตราการแพร่ระบาดจะชะลอตัวลง ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยง และมีมาตรการป้องกันตัวเอง เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ อยู่บ้านเมื่อป่วย และหลีกเลี่ยงแหล่งชุมชุม นอกจากนี้ เมื่อมีคนป่วยมากขึ้น แล้วเกิดการฟื้นตัว และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ก็จะมีคนจำนวนน้อยลงที่อ่อนแอและติดเชื้อ

แต่ถึงเวลานี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ไวรัสโคโรนาจะมีการแพร่ระบาดในลักษณะดังกล่าว หรือว่าจะยังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ไวรัสซาร์สถูกควบคุมได้ภายใน 7 เดือน ในแต่ละปี ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีการแพร่ระบาดทั่วโลก แล้วในปีต่อไป ก็มีสายพันธุ์ใหม่เกิดก็มาแทน

ที่มาภาพ : globalnews.ca

มาตรการต่อไป

บทความกล่าวว่า ที่ผ่านมา มาตรการของจีนยังไม่สามารถชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ส่วนการดำเนินการบางอย่างช่วยชะลอการแพร่กระจายไปทั่วโลก เช่น สายการบินลดเที่ยวบินหรือยกเลิกเที่ยวบินไปจีน มาตรการควบคุมของจีนก็มีส่วนสำคัญ คือ การแยกผู้ป่วยและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดยังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แผนงานที่จะรับมือกับไวรัสโคโรนา จึงเป็นสิ่งจำเป็น นอกเหนือจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ที่ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลประเทศต่างๆและองค์กรระหว่างประเทศ จะต้องดำเนินการอย่างแข็งขันต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค เป็นความสำคัญอันดับแรก หลายประเทศได้ดำเนินการแล้วในเรื่องนี้ วัคซีนที่ได้ผลจะช่วยชะลอการแพร่ระบาด แต่การพัฒนาวัคซีนจะใช้เวลา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า วัคซีนไวรัสโคโรนาจะใช้เวลาพัฒนาราว 1 ปี แต่ประเทศต่างๆสามารถช่วยให้การพัฒนาวัคซีนนี้เร็วขึ้นได้

เมื่อวัคซีนพัฒนาขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องทำการผลิตในปริมาณจำนวนมาก และในหลายประเทศทั่วโลก ปกติแล้ว วัคซีนจะผลิตจากแหล่งผลิตแห่งเดียว การผลิตวัคซีนจากหลายแหล่ง ทำให้สามารถแจกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การผลิตวัคซีนในประเทศหนึ่ง จะถูกแรงกดดันจากในประเทศ ให้นำมาใช้ในประเทศตัวเองก่อน แล้วจึงจะแบ่งปันให้กับประเทศอื่น

นอกจากการพัฒนาวัคซีนแล้ว นักวิจัยจะต้องมองหาตัวยาที่จะช่วยรักษาไวนัสโคโรนา ยาต่อต้านไวรัสในปัจจุบัน ที่ใช้กับไขหวัดใหญ่หรือ HIV อาจมีประโยชน์ในการใช้ต่อสู้กับไวรัสโคโรนา จึงควรเร่งทำการทดลอง แม้การทดลองการรักษาในช่วงที่โรคยังแพร่ระบาด จะถือเป็นงานที่ยากลำบากก็ตาม แต่การรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาในปี 2018-1019 ที่ประเทศคองโก พิสูจน์แล้วว่า การทดลองการรักษาสามารถดำเนินการได้

การค้นพบคนป่วยรายใหม่และการดูแลรักษา จำเป็นที่บุคลากรทางแพทย์จะต้องมีเครื่องมือการตรวจไวรัสโคโรนาที่เชื่อถือได้ โชคดีที่มีเครื่องมือตรวจสอบที่น่าเชื่อถืออยู่แล้ว แต่ห้องปฏิบัติการตรวจสอบเชื้อไวรัสมีจำกัด ทำให้การตรวจสอบล่าช้าออกไป เมื่อมีจำนวนผู้ต้องสงสัยการติดเชื้อมากขึ้น ประเทศต่างๆจะต้องให้เงินสนับสนุนการผลิตเครื่องมือทดสอบ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประเทศอื่นๆ

เมื่อมีคนป่วยเกิดติดเชื้อไวรัส โรงพยาบาลต้องมีความพร้อมที่ดูแลรักษา ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องมีการเตรียมการแบบทันที หากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โรงพยาบาลจะมีคนไข้ติดเชื้อจำนวนมาก หลายคนต้องการการดูแลแบบเข้มงวด โรคระบาดไวรัสโคโรนาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในโรงพยาบาล และกับบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น โรงพยาบาลจะต้องเข้มงวดระเบียบขั้นตอนการควบคุมโรค บุคลากรได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง และมีอุปกรณ์การป้องกันโรคที่พอเพียง

ในยามวิกฤติ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความรับผิดชอบที่สำคัญ ในเรื่องการสื่อสารกับประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องแถลงสิ่งที่ตัวเองรู้ สิ่งที่ตัวเองไม่รู้ และตัวเองจะรู้ได้เมื่อไหร่ ข้อมูลมีความถูกต้อง ไม่ปิดบังข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย ความเชื่อมั่นไว้วางใจจากสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ด้วยเหตุผลง่ายๆที่ว่า ความเชื่อมั่นจะทำให้ประชาชนทำตามในสิ่งที่รัฐให้คำแนะนำ

บทความของ Foreign Affairs กล่าวว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ WHO และองค์กรระหว่างประเทศ จำเป็นต้องมีหลายมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ไวรัสนี้อาจถูกควบคุมได้ก่อนแพร่ระบาดไปทั่วโลก แต่ความพยายามที่ป้องกันการแพร่ระบาด ยังจะต้องดำเนินการต่อไป

หรือหากว่าไวรัสโคโรนาเกิดแพร่ระบาดทั่วไป แต่ความรุนแรงไม่มาก มีลักษณะคล้ายๆกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษออกมา แต่โลกเราไม่สามารถที่จะไปยึดถือภาพจำลองการมองโลกในแง่ดี (best-case scenario) มาตรการรับมือการแพร่ระบาด จึงเหมือนกับการประกันภัยอย่างหนึ่ง

เอกสารประกอบ
How to Prepare for a Coronavirus Pandemic, Tom Inglesby, January 31, 2020, foreignaffairs.com