ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาวะหยุดชะงัก (Disruption) จากไวรัสโคโรนา สะท้อนเศรษฐกิจโลกที่ต้องพึ่งพา “โรงงานโลก” ของจีน

ภาวะหยุดชะงัก (Disruption) จากไวรัสโคโรนา สะท้อนเศรษฐกิจโลกที่ต้องพึ่งพา “โรงงานโลก” ของจีน

13 กุมภาพันธ์ 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.ibtimes.com/china-coronavirus-update-death-toll-now-1013-could-evolve-deadlier-disease-2919565

The New York Times รายงานว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในจีน ทำให้บริษัทฮุนไดประกาศระงับสายพานการผลิตของโรงงานผลิตรถยนต์ในเกาหลีใต้เป็นการชั่วคราว ฮุนไดกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งแรกที่ประกาศหยุดการผลิตเพราะประสบปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ขาดชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญจากจีน

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ไม่เพียงแต่ทำให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมหยุดชะงักเท่านั้น เพราะแม้แต่การผลิตของใช้ประจำวันก็หยุดชะงักลงเช่นเดียวกัน ในฮ่องกง เกิดข่าวลือในชุมชนแห่งหนึ่งที่มีคนอาศัยอยู่ราวๆ 7 พันคนว่า ของใช้ประจำวันกำลังขาดแคลน ทำให้คนออกไปกว้านซื้อกระดาษชำระและแอลกอฮอล์ล้างมือ จนหมดจากร้านค้าต่างๆ คนฮ่องกงคนหนึ่งบอกกับหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ว่า “เราต้องอาศัยสินค้าอุปโภคบริโภคทุกอย่างที่มาจากจีน เราจึงต้องระวังเป็นพิเศษจากการหยุดชะงักของการผลิต”

กระทบจาก “โรงงานโลก”

การกว้านซื้อของใช้อุปโภคบริโภคจนเกิดภาวะขาดตลาดในฮ่องกง สะท้อนถึงอำนาจการผลิตสินค้าของจีน ที่ถูกเรียกขานว่า “โรงงานโลก” เพราะจีนผลิตสินค้าทุกอย่างตั้งแต่เสื้อผ้า รถยนต์ ของเด็กเล่น ไปจนถึงสมาร์ทโฟน โรงงานต่างๆ ในจีนที่ตั้งอยู่ใน 17 เมืองต้องหยุดการผลิตลง เพราะรัฐบาลจีนประกาศให้ขยายวันหยุดในช่วงตรุษจีนออกไปจนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา คนจีนประมาณ 50 ล้านคนต้องกักตัวเองอยู่กับบ้าน ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าต่างๆ ตั้งแต่สมาร์ทโฟของ Apple รถยนต์ของฮุนได และกระดาษชำระที่ส่งไปขายในฮ่องกง

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในขณะนี้ มีคนนำไปเปรียบเทียบว่าคล้ายกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในจีนเมื่อปี 2003 แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะ 17 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบทบาทการผลิตด้านอุตสาหกรรมของจีน บทบาทของจีนที่มีต่อการค้าโลก และอิทธิพลของจีนต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลก

บริษัทวิจัย CICC กล่าวว่า ในปี 2003 จีนมีสัดส่วนในการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกที่ 4.4% แต่ในปี 2018 สัดส่วนของจีนพุ่งขึ้นเป็น 10.2% ของการค้าโลก และ 15.8% ของเศรษฐกิจโลก การผลิตด้านอุตสาหกกรรมมีสัดส่วน 32% ของผลผลิตทั้งหมดของจีน สัดส่วนที่พุ่งสูงขึ้นดังกล่าวทำให้จีนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลก

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ถือเป็นลักษณะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ทำให้ศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกเคลื่อนย้ายมายังเอเชีย จีนกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าเศรษฐกิจที่ 13.6 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 20.5 ล้านล้านดอลลาร์ และ Economist Intelligence Unit (EIU) ก็คาดการณ์ว่า ในปี 2026 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ

หนังสือชื่อ How China is Reshaping the Global Economy (2019) กล่าวว่า สัญญาณที่แสดงออกชัดเจนที่สุดของการที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ คือ การเติบโตในด้านอุตสาหกรรมของจีน นับจากปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การผลิตด้านอุตสาหกรรมของจีนเพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่าตัว สัดส่วนของจีนในการผลิตด้านอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับทั้งโลกเราเพิ่มจากไม่ถึง 2% ในปี 1980 มาเป็น 25% ในปี 2014 ทุกวันนี้ จีนผลิตเหล็กกล้าเทียบเท่ากับ 50% ของโลก 60% ของการผลิตปูนซีเมนต์ในโลก 70% ของสมาร์ทโฟนในโลก และ 80% ของเครื่องปรับอากาศในโลก

ที่มาภาพ : https://www.visualcapitalist.com/china-economic-growth-history/

บทบาท “โรงงานโลก” ของจีน แสดงออกมาที่การเติบโตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ในปี 2009 จีนก้าวล้ำหน้าเยอรมัน กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลก ในปี 2014 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีน มีสัดส่วน 20% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของโลก การเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 ทำให้ในช่วงปี 2002-2008 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีน เพิ่มปีละ 27.3%

หนังสือ How China is Reshaping the Global Economy กล่าวว่า การก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการส่งออกของจีน มักอธิบายกันว่าเกิดจากความได้เปรียบของจีน เช่น ค่าแรงต่ำ หรือรัฐบาลจีนควบคุมค่าเงินหยวน

แต่ปัจจัยสำคัญที่มักจะมองข้ามคือ การที่จีนบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอุตสาหกรรมการผลิตของเอเชีย (Asian manufacturing network)

บริษัทต่างชาติมีบทบาทสำคัญในการทำให้การผลิตอุตสาหกรรมของจีนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เช่น เสื้อผ้า รองเท้า หรือของเล่นเด็ก บริษัทต่างชาติจะย้ายกระบวนการผลิตสินค้าทั้งหมดมาที่จีน

แต่สินค้าที่มีความซับซ้อน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานแบบเดียวกันหมด ทำให้ธุรกิจสามารถแยกกระบวนการผลิตออกเป็นส่วนๆ เนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่ลดต่ำลง ทำให้ธุรกิจสามารถกระจายการผลิตของชิ้นส่วนต่างๆ ไปยังหลายประเทศ สิ่งนี้ทำให้จีนก้าวมาอยู่ในกระบวนการการผลิตของห่วงโซ่อุปทานที่เป็นขั้นตอนการผลิตที่ใช้แรงงานมาก ซึ่งก็คือการประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป อย่างเช่นโทรศัพท์ iPhone

เศรษฐกิจโลกที่ต้องพึ่งพาจีน

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า ประเทศต่างๆ ในโลกต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนในด้านต่างๆ อย่างไร ส่วนผลกระทบที่เกิดกับภายในประเทศของจีนเอง Airbus ต้องยุติการผลิตเครื่องบิน A320 ที่โรงงานในเมืองเทียนจิน ที่ผลิตเครื่องได้เดือนละ 6 ลำ มีรายงานข่าวว่า Foxconn ที่ผลิตเครื่อง iPhone ต้องลดการผลิตลงครึ่งหนึ่ง ส่วนสินค้าแบรนด์เนมที่ต้องอาศัยยอดขายอย่างมากจากตลาดจีน ก็ประสบปัญหายอดขายลดลงมาก

Apple ที่ยอดขายจากจีนมีสัดส่วน 16% ของทั้งหมด ต้องปิดร้านค้าลง 42 แห่งในจีน ส่วน Nike ที่มีรายได้จากตลาดจีนถึง 17% ต้องปิดร้านค้าลงครึ่งหนึ่ง ร้านเสื้อผ้าของ H&M, Gap และ Hugo Boss ต่างก็ปิดร้านหรือลดเวลาทำงานลง สตาร์บัคส์ปิดร้านกาแฟในจีนลงกว่า 2 พันแห่ง ทำให้ราคากาแฟในตลาดโลกตกต่ำลงทันที

แต่การเดินทางและการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจแรก ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา

นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 10.5 ล้านคนในปี 2000 เป็น 150 ล้านคนในปี 2018 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของโลกต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีน

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจึงส่งผลกระทบทันทีและรุนแรงต่อธุรกิจนี้ เนื่องจากทางการจีนสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจีนออกนอกประเทศ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด

หลังจากเกิดโรคซาร์สในปี 2003 จีนประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลายเดือน แต่ก็ฟื้นตัวกลับมาได้ วิกฤติครั้งนี้ก็คงจะมีสภาพแบบเดียวกัน นักวิเคราะห์คนหนึ่งของ Oxford Economics กล่าวว่า

“เป็นสิ่งที่ชัดเจนมากว่าจีนกลายเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทหลักในห่วงโซ่อุปทานโลก หลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จีนยังกลายเป็นคนใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลก”

ผลกระทบของไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และแพร่กระจายออกไปทุกวัน เริ่มต้นจากเหตุฉุกเฉินทางการสาธารณสุขในเมืองอู่ฮั่น ทำให้สายการบินระงับเที่ยวบิน เรือสำราญถูกกักตรวจโรค และโรงงานผลิตรถยนต์หยุดการผลิต นักวิเคราะห์บางคนเปรียบเทียบกรณีไวรัสโคโรนานี้เหมือนกรณีวิกฤติ sub-prime ของสหรัฐฯ ที่ถูกเรียกว่า “เหตุการณ์หงส์ดำ” (Black Swan Event)

เหตุการณ์หงส์ดำจะมีลักษณะสำคัญๆ เช่น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการคาดหมายใดๆ มาก่อน เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้ง และหลังจากเหตุการณ์นี้สงบลงแล้ว จะมีบางคนออกมาให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า จะมีวิกฤติแบบนี้กำลังรอเกิดขึ้นอยู่ข้างหน้า

เอกสารประกอบ

China’s coronavirus containment orders disrupt global supply chains, South China Morning Post, February 8, 2020.
How China is Reshaping the Global Economy, Rhys Jenkins, Oxford University Press, 2019.
How coronavirus is affecting the global economy, theguardian.com, February 05,2020.