ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเมินความเสี่ยงของเอเชีย จากหนังสือ The End of the Asian Century

ประเมินความเสี่ยงของเอเชีย จากหนังสือ The End of the Asian Century

10 มกราคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นายสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับนายนเรนทรา โมที ผู้นำอินเดีย ที่มาภาพ : https://d1u4oo4rb13yy8.cloudfront.net/article/19709-zfzyfgphyj-1502901271.jpg

ความรุ่งเรืองของเอเชีย โดยเฉพาะการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของจีน ทำให้นักวิเคราะห์ทั่วไปคาดหมายว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็น “ศตวรรษของเอเชีย” ก่อนหน้านี้ นับจากทศวรรษ 1970 เมื่อญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ โลกเราก็เคยคาดหมายมาแล้วว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นศตวรรษของเอเชีย ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป นับวันจะตกต่ำลงไป

แต่หนังสือชื่อ The End of the Asian Century ผู้เขียนคือ Michael R. Auslin แห่งมหาวิทยาลัยเยล สวมบทบาทคล้ายๆ กับนักวิเคราะห์วอลล์สตรีท ที่วิเคราะห์สถานะ (due diligence) ของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเขาตั้งคำถามว่า อะไรคือจุดอ่อนของเอเชีย และอะไรคือความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้ไปไม่ถึงศตวรรษแห่งเอเชีย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยิ่งทำให้คนเห็นถึงความเสี่ยงมากขึ้นของเอเชีย เช่น คาบสมุทรเกาหลีเป็นจุดอันตรายสุดของโลก ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และความกังวลต่อการพังทะลายของตลาดหุ้นจีน เป็นต้น

ความเสี่ยงที่เป็นภัยต่อเอเชีย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมโยงกันในยุคโลกาภิวัตน์ IMF ประเมินว่า 40% ของผลผลิตในโลกมาจากเอเชีย ที่มีตั้งแต่สิ่งทอจนถึงอุปกรณ์ไฮเทค จีน อินเดีย และเกาหลีเหนือเป็นประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ เอเชียยังประกอบด้วยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและเผด็จการที่อยู่ร่วมกัน ประเทศในเอเชียและประเทศอื่นๆ ในโลกจึงมีหน้าที่จะต้องบริหารหรือลดความเสี่ยงดังกล่าว

แผนที่ความเสี่ยงเอเชีย

The End of the Asian Century กล่าวถึงความเสี่ยง 5 ด้านของเอเชีย ที่ประกอบด้วย (1) การสิ้นสุดของความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ (2) ปัญหาประชากร (3) ความปั่นป่วนทางการเมือง (4) การขาดองค์ของภูมิภาค ที่มีประสิทธิผล และ (5) สงคราม ผู้เขียนเองเห็นว่า การตกต่ำทางเศรษฐกิจเป็นความเสี่ยงระยะกลาง ปัญหาประชากรเป็นความเสี่ยงระยะยาว แต่สงครามเป็นความเสี่ยงเฉพาะหน้า

ความเสี่ยงประการแรก ที่เป็นภัยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือการสิ้นสุดของความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ และความล้มเหลวในการปฏิรูปเศรษฐกิจ นับจากญี่ปุ่นถึงอินเดีย ประเทศในเอเชียล้วนพยายามต่อสู้เพื่อรักษาการเติบโต หรือต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สำหรับเอเชียส่วนใหญ่ ยุคที่เศรษฐกิจเติบโตสูงได้ผ่านไปแล้ว โลกจึงต้องหันมาสนใจกับปัจจัยความเสี่ยงที่จะเป็นภัยต่อภาวะเศรษฐกิจเอเชีย เช่น การพัฒนาไม่สมดุล ภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์ การลงทุนที่บิดเบี้ยว ปัญหาแรงงาน และการควบคุมของรัฐต่อกลไกตลาด

ผู้เขียนกล่าวว่า ถือเป็นความรอบคอบที่โลกจะเตรียมตัวรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจเอเชีย และการชะลอตัวนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการค้าและการลงทุนในโลก โดยพิจารณาทั้งผลกระทบในระยะยาว ที่มาจากปัญหาการปฏิรูปด้านโครงสร้างที่ชะงักงันของญี่ปุ่น และปัญหาทุนนิยมแบบบ้านสร้างด้วยไพ่ (house-of-cards capitalism) ที่เกิดขึ้นในจีนขณะนี้ โลกเราจึงต้องเตรียมรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ไม่มีวันหวนคืนมารุ่งเรืองแบบในอดีต ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อาจไม่มีโอกาสเติบโตในระดับสูง ที่จะสร้างความทันสมัยให้กับประเทศตัวเอง

ความเสี่ยงประการที่ 2 คือ ประชากร ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ล้วนประสบปัญหาเรื่องนี้ หากไม่มีประชากรมากเกินไป ก็มีน้อยไป ประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น กาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ล้วนมีปัญหาประชากรลดลง นโยบายลูกคนเดียวของจีนทำให้จีนมีประชากรลดลง ในขณะที่ประเทศยังไม่ถึงจุดร่ำรวย อินเดียเป็นประเทศที่มีคนหนุ่มสาวเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรฐานการศึกษา ขยายโครงสร้างพื้นฐานทั้งในเมืองกับชนบท และสร้างโอกาสการมีงานทำให้แก่เยาวชน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถานการณ์แบบเดียวกับอินเดีย

การพัฒนาเพื่อให้ประเทศมีความทันสมัยอย่างรวดเร็วของเอเชีย มีต้นทุนที่เกิดขึ้นคือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อากาศและน้ำที่เป็นพิษ ส่งผลกระทบต่อประชากร ภาพมืดครึ้มในเวลาเที่ยงวันของบางเมืองในจีน หรือสุกรนับพันตัวที่ตายลอยในแม่น้ำของจีน สะท้อนอันตรายของสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นภัยต่อเยาวชน

ความเสี่ยงประการที่ 3 คือ ปัญหาการเมืองของภูมิภาค ที่มีทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ ผู้นำเอเชียในแต่ละประเทศ ตอบสนองอย่างไรต่อปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม จะนำไปสู่ความสงบในประเทศ หรือว่าความไม่สงบทางสังคม การต่อสู้ด้านการเมืองของเอเชีย ยังเป็นกระบวนการที่ไม่จบ ระบอบประชาธิปไตยในหลายชาติเอเชียมีภัยคุกคามจากความเสี่ยงต่างๆ เช่น ปัญหาคอร์รัปชัน ระบบเล่นพรรคเล่นพวก การประท้วง หรือความหวาดกลัวต่อการไร้เสถียรภาพ

ความเสี่ยงประการที่ 4 คือ เอเชียขาดองค์กรการเมืองระดับภูมิภาค ที่จะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาที่เอเชียเผชิญร่วมกัน ประเทศเอเชียเผชิญปัญหาร่วมกันหลายอย่าง แต่สิ่งที่จะเชื่อมโยงเอเชียเข้าด้วยกันก็มีไม่มาก เช่น ความเป็นเอเชียที่เหมือนกันเท่านั้น เอเชียไม่มีองค์กรแบบ EU หรือ NATO ที่จะทำหน้าที่แก้ปัญหาให้กับประเทศสมาชิก

การขาดองค์กรการเมืองของภูมิภาคเอเชีย สะท้อนความระแวงไม่ไว้วางใจระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับยุโรปในอดีต แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยและความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐ ในภูมิภาคเอเชีย เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ในอดีตภูมิภาคนี้ถูกครอบงำโดยอินเดียกับจีน เอเชียอาคเนย์และจีนบางส่วนเคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็พยายามสร้างอาณานิคมในเอเชียขึ้นมา

สิ่งที่เป็นอันตรายอยู่ที่ว่า ในเอเชียไม่มีองค์กรที่จะทำหน้าที่ลดการเป็นปรปักษ์ระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ของภูมิภาค เช่น อินเดียกับจีน หรือญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ประเทศอย่างจีนจึงพร้อมจะใช้มาตรการการเมืองและเศรษฐกิจต่อประเทศที่เป็นปรปักษ์ ประเทศในเอเชียอื่นๆ จึงขาดหนทางที่จะพึ่งพิงองค์กรให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ ประเทศเอเชียที่เป็นประชาธิปไตยเสรีก็ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง หรือผลักดันให้เกิดกติกาของภูมิภาคนี้ขึ้นมา คำถามมีอยู่ว่า หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแบบเดียวกับปี 1997 เอเชียจะรับมือได้ดีขนาดไหน

ความเสี่ยงด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ก็พอที่จะทำให้นักวิเคราะห์ทำการประเมินใหม่ต่อแนวโน้มระยะยาวของเอเชีย แต่เอเชียมีความเสี่ยงที่อันตรายสุดประการที่ 5 คือ สงคราม ไม่ใช่ว่าความขัดแย้งทุกกรณีจะคุกคามต่อสันติภาพ แต่ทุกวันนี้ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีสภาพคล้ายกับการเมืองของโลกในศตวรรษที่ 19 ที่ถือว่าอำนาจคือแสนยานุภาพ จีนเป็นประเทศที่มีอำนาจทางทหารมากสุดของโลกประเทศหนึ่ง และ 4 ประเทศในเอเชีย คือ จีน เกาหลีเหนือ อินเดีย และปากีสถาน มีอาวุธนิวเคลียร์ ความขัดแย้งในเอเชียจึงสามารถบ่อนทำลายต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก และลุกลามจนควบคุมไม่ได้

ความไม่มั่นคงในเอเชียที่มีสูงขึ้นมาจากฐานะของจีนที่เข้มแข็งมากขึ้น จีนวางบทบาทของการเป็นประเทศมหาอำนาจที่ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์นานาชาติที่เป็นอยู่ จีนต้องการวางกฎกติกาของภูมิภาคนี้ขึ้นใหม่ และพร้อมจะเผชิญหน้ากับประเทศที่ไม่เห็นด้วย หลายประเทศวิตกกังวลต่อการพุ่งขึ้นมาของจีน เช่น ความกังวลต่อปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ หรือการรักษาเส้นทางการค้าทางทะเล อีกปัจจัยหนึ่งของความไม่มั่นคงในเอเชีย คือ กรณีเกาหลีเหนือก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์

แสนยานุภาพทางทหารของเกาหลีเหนือ ที่มาภาพ : http://i2.cdn.cnn.com/cnnnext/dam/assets/170416003342-north-korea-missle-test-fail-ripley-lok-00000704-super-169.jpg

การบริหารความเสี่ยง

การลดความเสี่ยงในเอเชีย จำเป็นต้องอาศัยกลยุทธ์ วิธีลดความเสี่ยง ที่มีความเป็นไปได้และให้ความหวังมากสุด คือการผลักดันให้ภูมิภาคนี้เสรีมากขึ้น และสร้างความเข้มแข็งให้กับอินโด-แปซิฟิก ที่ความเป็นระเบียบตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์ เป้าหมายนี้อาจไม่ใช่ยาที่แก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ประเทศประชาธิปไตยมักจะมีท่าทีร่วมมือ และดำเนินการอย่างสันติ ในการแก้ไขปัญหาที่มีกับประเทศอื่นๆ มากกว่าประเทศเผด็จการ การส่งเสริมผู้ประกอบการทางธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีอนาคตที่สดใส มากกว่าเศรษฐกิจที่ถูกควบคุมโดยรัฐ ปัญหาอยู่ที่ว่า จะบรรลุเป้าหมายนี้อย่างไร

The End of the Asian Century กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงของเอเชีย คือบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของเอเชีย และเป็นตัวกระตุ้นให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น การสร้างความผูกพันทางเศรษฐกิจผ่านการค้าเสรีจะทำให้สหรัฐฯ มีส่วนได้เสียกับเอเชียมากขึ้น วิธีการนี้จะทำให้ชาติอินโด-แปซิฟิกมั่งคั่งและมั่นคงมากขึ้น วิธีการนี้จะทำให้ผู้นำจีนเองตระหนักถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อหลักการเสรีนิยม ในที่สุด ผู้นำจีนอาจจะเห็นถึงประโยชน์จากความร่วมมือที่มีพื้นฐานจากข้อตกลงระหว่างประเทศ มากกว่าประโยชน์ที่จีนจะได้จากผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เดิมของนานาชาติ

เอกสารประกอบ
The End of the Asian Century. Michael R. Auslin, Yale University Press, 2017.