ThaiPublica > เกาะกระแส > สธ. ตั้งทีมสอบสวนโรคฯ ทั่วประเทศ รับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

สธ. ตั้งทีมสอบสวนโรคฯ ทั่วประเทศ รับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

3 กุมภาพันธ์ 2020


เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตราย กรณีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โรงแรมอมารี กรุงเทพฯ

กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเครือข่ายบุคลากรแพทย์ 500 คน ตั้งทีมสอบสวนโรคฯ ทั่วประเทศ รับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เริ่มต้นการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และมีการติดเชื้อไปในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยได้จัดระบบการเฝ้าระวังโรค ทั้งในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สถานพยาบาลรัฐ/เอกชน และในชุมชน ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นของประเทศไทยทำให้เราเป็นประเทศแรกที่ตรวจพบผู้ป่วยยืนยันนอกราชอาณาจักรสาธารณรัฐประชาชนจีน จากข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยัน 19 ราย เป็นคนจีน 17 ราย และคนไทย 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในที่ 30 มกราคม 2563 เพื่อป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดข้ามพรมแดน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือการระบาดตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2563 และประเทศไทยได้ประกาศยกระดับสถานการณ์โรคดังกล่าว เป็นระดับ 3 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงาน และเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตรายและหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในระดับจังหวัด ทั่วประเทศ โดยการเพิ่มความเข้มแข็งในการตรวจจับโรค วินิจฉัย ดูแลรักษา และควบคุมโรคในพื้นที่

นอกจากการเตรียมความพร้อมของทีมสอบสวนโรคฯ ในครั้งนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ การสื่อสารทำความเข้าใจ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ทุกคน ให้ทราบถึงบทบาทหน้าที่ มาตรการที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะต้องสามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเมื่อดูแลผู้ป่วยได้ ส่วนประชาชนต้องสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความรอบรู้ในการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้มีการติดเชื้อได้ โดยมาตรการที่สำคัญ คือ การสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น ปฏิบัติตามคำแนะนำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422