ThaiPublica > เกาะกระแส > จะซื้ออสังหาฯ ที่นิวยอร์ก ต้องฟังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถ้าจะถามเรื่องโรคระบาด ต้องฟัง ดร. แอนโทนี เฟาชี

จะซื้ออสังหาฯ ที่นิวยอร์ก ต้องฟังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถ้าจะถามเรื่องโรคระบาด ต้องฟัง ดร. แอนโทนี เฟาชี

10 มีนาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ดร.แอนโทนี เฟาชี แถลงข่าวที่ทำเนียบขาว ที่มาภาพ: axios.com

ดร.แอนโทนี เฟาชี (Anthony Fauci) เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเรื่องโรคระบาดของสหรัฐอเมริกา เขาอาจเป็นนักวิทยาศาสตร์คนเดียวในสหรัฐฯ ที่คนอเมริกันเชื่อถือมากที่สุดในเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19

การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติด้านภูมิแพ้และโรคระบาดของสหรัฐฯ ทำให้การต่อสู้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายเป็นสมรภูมิที่ใหญ่หลวงอีกครั้งหนึ่งของเขา ท่ามกลางการเมืองของสหรัฐฯ ที่แบ่งขั้วเป็นฝักเป็นฝ่าย และข่าวสารที่ผิดพลาด สามารถกระจายได้ง่ายๆ ทางโซเชียลมีเดีย รวมทั้งที่มาจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เอง

คนฟังนายแพทย์มากกว่านักการเมือง

บทความของ New York Times ชื่อ Not His First Epidemic: Dr. Anthony Fauci Sticks to the Facts กล่าวว่า แอนโทนี เฟาชี ได้รับการยกย่องมากที่สามารถอธิบายข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่ไปดูถูกคนฟังว่าไม่มีภูมิความรู้ และยังสามารถแก้ไขคำแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยไม่ได้บอกว่าทรัมป์ผิดพลาด เช่น ทรัมป์บอกว่า บริษัทยาพร้อมที่จะผลิตวัคซีนไวรัสโคโรนา “ในเร็วๆ นี้” แต่แอนโทนี เฟาชี คาดว่าตัวเลขที่ถูกต้องน่าจะภายในเวลา 1 ปีถึง 18 เดือน

ทรัมป์บอกว่า “การรักษา” ไวรัสโคโรนาอาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่แอนโทนี เฟาชี อธิบายว่า ยาแอนตี้ไวรัสที่กำลังศึกษากันอยู่ อาจจะช่วยทำให้อาการป่วยบรรเทาความรุนแรงลง ทรัมป์บอกว่าโรคระบาดจะหายไปในฤดูใบไม้ผลิ แอนโทนี เฟาชี กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จึงยังบอกไม่ได้ว่า จะเป็นไปดังกล่าว

ดอนน่า ชาลาลา ส.ส.จากรัฐฟลอริดา กล่าวว่า บทบาทของแอนโทนี เฟาชี เหมือนกับบทบาทในอดีตของเขา คือทำให้ข้อมูลคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ มีความถูกต้องและชัดเจน ในช่วงภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขนั้น คนอเมริกันมองว่านักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์ คือบุคคลที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่นักการเมือง

นักอธิบายชี้แจงสูงสุด

แอนโทนี เฟาชี กลายมามีบทบาทเป็น “นักอธิบายชี้แจงสูงสุด” (explainer-in-chief) ในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกิดช่องว่างในการสื่อสารขึ้นมา เพราะนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างก็หลีกเลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หรือถูกรัฐบาลทรัมป์ห้ามไม่ให้แสดงความเห็น เพราะกลัวว่าจะทำให้คนอเมริกันตื่นตระหนกต่อภัยจากไวรัส ที่เกิดความเป็นจริง แต่สำหรับแอนโทนี เฟาชี เขาจะโทรศัพท์กลับไปหานักข่าว ที่เคยโทรศัพท์มาหาเขา

การแถลงของทรัมป์เรื่องไวรัสโคโรนา เช่น บอกว่าทุกอย่างจะอยู่ใต้การควบคุม หรือวัคซีนจะเรียบร้อยในเร็วๆ นี้ ทำให้แม้แต่นักการเมืองจากพรรครีพับลิกันเองก็กังวลว่า ทรัมป์อาจจะประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัวที่ต่ำเกินไป ทอม โคล์ ส.ส.รีพับลิกันจากรัฐโอคลาโฮมา กล่าวว่า “ถ้าผมจะซื้ออสังหาฯ ในนิวยอร์ก ผมจะฟังประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ถ้าผมจะถามเรื่องโรคระบาด ผมจะฟังแอนโทนี เฟาชี”

ในการให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ politico.com เขากล่าวว่า “คุณไม่ต้องการที่จะทำสงครามกับประธานาธิบดี” แต่ทว่าสังคมต้องการรับรู้ข้อมูลทางการแพทย์ที่หนักแน่นและเข้าใจได้

แอนโทนี เฟาชี เป็นผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อ มาตั้งแต่ปี 1984 และเป็นแกนหลักของหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในการต่อสู้กับโรคไวรัสที่อุบัติใหม่ เช่น H.I.V. SARS, MERS, Ebola และ COVID-19

ประสบการณ์ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคที่เคยเกิดขึ้นมา ทำให้เขาเฝ้าระวังโรคระบาดที่จะอุบัติขึ้นมาใหม่ ในเดือนมกราคม มีรายงานการเกิดโรคปอดบวมที่ระบุโรคชัดเจนไม่ได้ในอู่ฮั่น ทำให้เขาเห็นสัญญาณบอกเหตุบางอย่าง เขากล่าวกับ New York Times ว่า “ก่อนที่เราจะรู้ว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์โคโรนา ผมกล่าวอย่างมั่นใจว่า มันเป็นไวรัสโคโรนาแบบซาร์ส ทันที่มีการจะบุได้ชัดเจน ผมเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง และบอกว่าเรามาเริ่มทำงานเรื่องวัคซีนกันเลย”

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในสหรัฐฯมากขึ้น แอนโทนี เฟาชี คาดการณ์ว่า มาตรการระยะห่างทางสังคม (social distancing) จะถูกนำมาใช้กว้างขวางมากขึ้นในสหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสใหม่

  • ความสำเร็จจีนต่อสู้ไวรัสโควิด-19 วิธีการโบราณของศตวรรษที่ 14 กับมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”
  • แอนโทนี เฟาชี กล่าวอธิบายว่า ทำไมมาตรการระยะห่างทางสังคมช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “หากคุณเป็นคนสูงอายุและมีโรคประจำตัว และมีการระบาดในชุมชน คุณไม่รู้ว่า ณ เวลาหนึ่งมีใครติดเชื้อ ความคิดเรื่องระยะห่างทางสังคม หรือการหลีกเลี่ยงแหล่งชุมชุมขนาดใหญ่ เป็นเรื่องสามัญสำนึก เรามีความรับผิดชอบที่จะปกป้องคนที่มีความเสี่ยง

    เมื่อผมบอกว่า “ปกป้อง” ผมหมายถึงเดี๋ยวนี้เลย ไม่ใช่รอจนเกิดเหตุเลวร้ายก่อน ไม่ไปร่วมแหล่งชุมนุมคนขนาดใหญ่ การเดินทางระยะไกล และอย่าลงเรือสำราญ”

    ส่วนวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค แอนโทนี เฟาชี บอกว่ามีอยู่ 4 คำ คือ

      (1) Containment คือมาตรการป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อเข้ามาพื้นที่
      (2) Mitigation คือมาตรการป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อแพร่ต่อให้คนอื่น
      (3) Isolation คือมาตรการแยกคนติดเชื้อ
      (4) Quarantine คือมาตรการนำคนที่สงสัยจะติดเชื้อ ให้อยู่แยกออกไปจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค

    ในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยนั้น แอนโทนี เฟาชี อธิบายว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะสวมหน้ากากอนามัยเวลาเดิน แม้หน้ากากอาจจะป้องกันละอองเสมหะ แต่ก็ไม่ได้ปกป้องในระดับที่คนทั้งหลายเข้าใจกันเอง การสวมหน้ากากยังอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจ คนที่สวมหน้ากากมีแนวโน้มจะสัมผัสใบหน้าบ่อยครั้งเพื่อปรับหน้ากาก ซึ่งอาจเกิดการแพร่เชื้อจากมือ”

    แอนโทนี เฟาชี ที่มีอายุ 79 ปีแล้ว ยอมรับว่าอายุของเขาทำให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ที่จะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสใหม่ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ทำให้เขาทำงานลดน้อยลง วันหนึ่งยังคงนอนเพียง 5 ชั่วโมง ช่วงที่ตื่นเป็นเวลาทำงานเป็นส่วนใหญ่ เขาเดินทางด้วยรถไฟใต้ตินจากที่ทำงานไปรัฐสภาหรือทำเนียบขาว และออกกำลังด้วยการวิ่งหรือเดิน แอนโทนี เฟาชี บอกกับ New York Times ว่า “ผมไม่ได้กังวลกับตัวเอง แต่กังวลกับงานที่ตัวเองต้องทำ”

    เอกสารประกอบ
    Not His First Epidemic: Dr. Anthony Fauci Sticks to the Facts, March 8, 2020, nytimes.com
    “You don’t want to go to war with a president, 03 March 2020, politico.com