ปรากฏการณ์ photochemical smog ตัวการร้าย PM2.5 นักวิจัยชี้มอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะผลิตฝุ่นพิษสูง 1,000 เท่า ภาครัฐ มัวแต่บูรณาการ ไม่แก้ที่ต้นตอ ระบุ “เกรงใจใครหรือเปล่า!!”
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 นักศึกษาสถาบันวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 13 ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ “Chemical Smog ตัวการร้าย PM2.5” โดยเชิญนักวิชาการจาก 3 สถาบัน มาเป็นวิทยากร ได้แก่ ผศ. ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดี คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ. ดร.ภิญโญ มีชำนะ รองศาสตราจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยพีบีเอส เป็นผู้ดำเนินรายงาน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การจัดงานสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เรามองไม่เห็นแต่สัมผัสได้เมื่อมันเข้าสู่ร่างกายแล้ว ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ต้นตอของ PM2.5 แท้ที่จริงแล้วเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ทำไมปรากฏการณ์ดังกล่าวต้องเกิดขึ้นทุกไตรมาสแรกของทุกๆ ปี ผศ. ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดี คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่รับรู้ว่าฝุ่น PM2.5 เกิดจากควันดำที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียของรถบรรทุก รถโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล หรือเกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง เป็นต้น แต่สิ่งที่คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตรวจพบ สาเหตุของการเกิด PM2.5 ไม่ได้มีแค่นี้
Photochemical Smog ตัวการร้าย PM2.5
ดร.สุรัตน์กล่าวต่อว่า จากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้เสาสูง KU Tower เก็บตัวอย่างคุณภาพอากาศที่ระดับความสูงต่างๆ ลงมาวิเคราะห์ พบว่าพฤติกรรมของการเกิดฝุ่น PM2.5 ในแต่ละช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงไปมาก คล้ายกับเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในนครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ตามที่คนทั่วไปรับรู้แล้ว ทางคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังพบว่ามีฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการทำปฎิกริยาทางเคมีในอากาศที่เรียกว่า “Photochemical Smog” เข้ามาเพิ่มเติมกับฝุ่นที่มีอยู่ในพื้นที่ด้วย
ในทางทฤษฎีฝุ่น PM2.5 ประเภทนี้ เกิดจากสารตั้งต้น คือ ออกไซด์ของไนโตรเจน หรือ NOx มาผสมกับสารอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compound: VOC) เช่น ละอองสารไฮโดรคาร์บอน ไอระเหยของสารที่ใส่ในสเปรย์ เป็นต้น โดยมีแสงแดดจัดๆ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีแสงแดดเข้มข้นมาก ผลลัพธ์ที่ได้ ตัวแรก คือ ก๊าซโอนโซน ซึ่งปกติจะไม่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศที่มนุษย์อาศัยอยู่ แต่ถ้ามันอยู่กับเรานานจะเกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง ตา และทำให้ปอดง่ายต่อการติดเชื้อ
ยกตัวอย่าง เวลาเจ็บป่วยไปหาหมอ หมอไม่เคยบอกว่าเราถูกสารอะไรมา หมอบอกแต่ว่าติดเชื้อ ซึ่งปกติผิวหนังหรือทางเดินหายใจของมนุษย์จะติดเชื้อยาก ถ้าไม่มีแผลหรือระคายเคือง ก๊าซโอโซนเป็นตัวการนี้
ตัวถัดมาคือ PAN หรือก๊าซ peroxyacyl nitrates ซึ่งเป็นก๊าซพิษเลย แต่สลายตัวเร็วที่อุณหภูมิสูง
หลังจากชั้นบรรยากาศมีโอโซนเพิ่มขึ้นแล้ว ตัวโอโซนที่เกิดขึ้นจะไปทำปฏิกิริยากับ VOC สารระเหยต่างๆ ทำให้เกิดเป็นละออง หรือ particles ขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่ม PM 2.5 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นตาม PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีตามที่กล่าวข้างต้นนี้ก็จะไปผสมโรงกับฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งและการจราจร จะเกิดทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ควบคู่กัน จากข้อมูลอากาศที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตรวจพบได้ ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ photochemical smog ในประเทศไทยแล้ว
ดร.ภิญโญ มีชำนะ รองศาสตราจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับปรากฏการณ์ photochemical smog ดังกล่าวนี้ เคยเกิดขึ้นในนครลอสแอนเจลิสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าที่นักวิทยาศาสตร์ประเทศสหรัฐอเมริกาจะค้นพบสาเหตุและเขียนออกมาเป็นสมการตามที่นำมาแสดงได้ ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี และกว่าสหรัฐฯ จะออกกฎหมายมาควบคุมอากาศใช้เวลาอีก 20 ปี
ส่วนอากาศในกรุงเทพมหานครในช่วงฤดูหนาวนี้ คล้ายกับจะถูกฝาชีครอบ ซึ่งเกิดจากความผกผันของอุณหภูมิ หรือที่เรียกว่า temperature inversion ซึ่งในสภาพปกติเมื่อเกิดการเผาไหม้ หรือสันดาปในบริเวณพื้นผิวโลก ทั้งควันและฝุ่นจะถูกยกตัวสูงขึ้นไปหาชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า และเมื่อลอยขึ้นไปถึงระดับหนึ่งก็จะถูกลมด้านบนพัดออกไป
แต่ปรากฏการณ์ temperature inversion ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มันมีอากาศร้อนมากดทับอีกที คล้ายกับมีฝาชีมาครอบ อากาศจึงไม่ถ่ายเท ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้และการจราจร จึงมาผสมกับฝุ่นที่เกิดปฏิกริยา photochemical smog ตามที่ ดร.สุรัตน์ กล่าว ยิ่งทำให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีความรุนแรงมากขึ้น
ดร.ภิญโญกล่าวต่อไปอีกว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 นอกจากจะเกิดจากควันที่มาจากท่อไอเสียรถยนต์ 52% เผาในที่โล่ง 35% รวม 87% ข้อสังเกตเรื่องการเกิด terperature inversion คือมักจะเกิดในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี ตรงกับช่วงที่มีการหีบอ้อย ช่วงนี้จะมีการเผาไร่อ้อยเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ตรงนี้ถามว่ามีส่วนทำให้ PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ นักวิชาการส่วนใหญ่บอกว่ามี แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาอย่างละเอียด
รูปแบบฝุ่นในกรุงเทพมหานคร
ดร.สุรัตน์กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้เสา KU Tower เก็บตัวอย่างฝุ่นมาวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง พบว่าฝุ่น PM2.5 สามารถจำแนกรูปแบบหรือพฤติกรรมของการเกิดฝุ่นได้ 3-4 รูปแบบ คือ
รูปแบบที่ 1 ฝุ่นที่ขึ้นลงตามปริมาณการจราจรในกรุงเทพมหานคร
รูปแบบที่ 2 ฝุ่นหลังเที่ยงคืน ฝุ่นรูปแบบนี้เพิ่มสูงขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทุกๆ 1 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากหลังเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้าที่ขึ้นสูงมากเกือบ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากนั้นหลัง 10 โมงเช้าจะค่อยๆ ลดปริมาณความเข้มข้นลงมา ในช่วงเดือนมกราคม 2563 ตลอดทั้งเดือน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตรวจพบฝุ่นรูปแบบที่ 2 เกิดขึ้นนานถึง 17 วัน
รูปแบบที่ 3 ฝุ่นจากนอกพื้นที่ถูกลมพัดเข้ามาผสมกับฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นช่วงกลางวัน โดยมีลมพัดเอาฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้นอกพื้นที่กรุงเทพมหานครเข้ามาผสมกับฝุ่นที่เกิดจากปฏิกิริยา photochemical smog ที่มาจากปริมาณโอโซนที่เพิ่มสูงขึ้น ในเดือนมกราคม 2563 ฝุ่นรูปแบบนี้อยู่กับเรานาน 14 วัน
นอกจากนี้ปัญหา PM2.5 จึงไม่ได้มีสาเหตุมาจากรถดีเซลที่ปล่อยควันดำออกมาเท่านั้น รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเบนซินที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ปล่อยควันขาวออกมา ก็มีส่วนทำให้เกิด PM2.5 โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะที่มีการเติมน้ำมันออโตลูปเข้าไปผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก็จะเกิดควันสีขาวที่มีสารสารอินทรีย์ระเหย หรือ VOC ในกลุ่มของไฮโดรคาร์บอนออกมา ซึ่งอาจไปทำปฏกริยากับโอโซนตามสมการที่กล่าวข้างต้นและเกิดเป็น PM2.5 ได้
ทำไมต้องดูค่า”โอโซน”
ดร.สุรัตน์กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้จะเป็นข้อมูลปริมาณความเข้มข้นโอโซนที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน เพราะเป็นข้อมูลตรวจวัดได้จากเสา KU Tower ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นเสาสูงแห่งเดียวในประเทศไทย ส่วนเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษนั้นจะตรวจวัดที่ระดับระดับภาคพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร แต่ KU Tower ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรวจวัดปริมาณก๊าซโอโซนที่ระดับความสูงต่างๆ กัน ตั้งแต่ 30 เมตร, 75 เมตร และ 110 เมตร พบว่ายิ่งสูง ยิ่งมีปริมาณโอโซนเข้มข้นขึ้น บางช่วงเวลาขึ้นไปสูงเกือบ 100 PPB
ถ้าดูจากกราฟที่นำมาแสดง แกนของกราฟแนวตั้งจะเป็นขนาดความความสูง 30-110 เมตร แนวนอนเป็นช่วงเวลา ตั้งแต่เช้าถึงเย็น สีแดงแสดงให้เห็นปริมาณโอโซนและ PM2.5 ที่ตรวจวัดได้มีความเข้มข้นสูง ส่วนสีเขียวก็จะเจือจางลง ช่วงที่อากาศมีโอโซนเข้มข้นสูง นั่นแสดงว่ามีการทำปฏิกิริยา photochemical ไปเรียบร้อยแล้ว
“คำถาม ทำไมโอโซนมันไม่มีปริมาณความเข้มข้นสูงมาตั้งแต่ภาคพื้นที่ดิน คำตอบคือไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องจักรกลชนิดใดสามารถปล่อยโอโซนได้โดยตรง โอโซนต้องการเวลาในการทำปฏิกิริยาตามสมการเคมีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ต้องมีการทำปฏิกิริยาระหว่างออกไซด์ของไนโตรเจน กับ VOC โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สิ่งที่เราตรวจพบคือช่วงที่มีปริมาณโอโซนเข้มข้น คือ ปริมาณฝุ่น PM2.5 ก็จะเพิ่มขึ้นตามกันไปด้วย”
ดร.สุรัตน์กล่าวต่อว่า กราฟถัดมาเป็นข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งตนเลือกมานำเสนอเฉพาะสถานีตรวจวัดที่เป็น background site คือ สถานีตรวจวัดที่ไม่ได้อยู่ริมถนน กราฟสีฟ้าเป็นข้อมูลโอโซน ส่วนสีแดงเป็นสัดส่วนระหว่าง PM2.5 หารด้วย PM10 หมายความว่า ถ้าสัดส่วนสูงแสดงว่ามี PM2.5 สูงมาก โดยปกติในกรุงเทพมหานครจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 0.5-0.6 หรือ มี PM 2.5 ประมาณ 50-60% ของปริมาณฝุ่นทั้งหมด แต่ก็มีบางช่วงเวลาสัดส่วน PM2.5 ขึ้นไปสูงถึง 70% ความหมายคือถ้าเกิดจากการเผาไหม้โดยตรง สัดส่วนของ PM2.5 ต่อ PM 10 จะคงที่ แต่เมื่อใดก็ตามมีแหล่งกำเนิด PM 2.5 ที่ไม่ได้มาจากการเผาไหม้โดยตรงเกิดขึ้นตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้น นี่คือข้อมูลการตรวจวัดอากาศของกรมควบคุมมลพิษ
ส่วนกราฟที่นำมาแสดงต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากเสา KU Tower ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วัดที่ระดับความสูง 75 เมตร กราฟเส้นสีแดงจะแสดงให้เห็นถึงช่วงพีก (Peak) ของการเกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณโอโซนที่มีความเข้มข้นสูงจะมีผลต่อการเกิดฝุ่น PM2.5 ที่ไม่ได้มาจากแหล่งกำเนิดฝุ่นตามปกติ โดยปริมาณโอโซนที่มีความเข้มข้นสูงที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตรวจพบได้จะอยู่ในระดับความสูงที่ 75-110 เมตร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่พักอาศัยอยู่ในดอนโดมิเนียมชั้นสูง
ดังนั้น ประเด็นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องทำการศึกษาค้นหาต่อไป คือ การค้นหาสัดส่วนออร์แกนิคไฮโดรคาร์บอนที่มีอยู่ในฝุ่น เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งมาจาก photochemical reaction มากน้อยแค่ไหน
“อันนี้คือผลการศึกษาฝุ่น PM2.5 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย พบแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเวียนนา เกิดจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน 35% รถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ 16% รถที่ใช้น้ำมันดีเซล 13% ดังนั้น การแก้ไขปัญหาฝุ่นของประเทศไทยจะเน้นไปที่ควันดำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ผมไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาประเทศไทยแก้ปัญหาผิด แต่ไม่ควรเน้นแก้ปัญหาเพียงด้านเดียว”
ข้อมูลจากประเทศออสเตรียที่นำมาแสดงนี้เป็นตัวยืนยันว่า การสันดาปของเครื่องยนต์ทั้งเบนซินและดีเซลก็สามารถสร้างฝุ่น PM2.5 ผ่านปฏิกิริยา photochemical smog ในชั้นบรรยากาศแล้วถูกกดลงมาหาเราได้ด้วย ซึ่งข้อมูลที่ตนนำเสนอนี้ ยังไม่เคยมีการเผยแพร่ในประเทศไทย ปัจจุบันเราพูดแต่ฝุ่นเกิดจากการจราจร การเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง และโรงงานอุตสาหกรรม เท่านั้น
“วันนี้เราควรจะเริ่มลงมือแก้ปัญหาได้แล้ว ไม่ใช่มานั่งมองหน้ากันว่าฝุ่นประเภทนี้เป็นของใครไม่ได้แล้ว มันอาจจะสายเกินไป เพราะในอนาคตปัญหาอาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น”
ดร.ภิญโญกล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมเองก็เพิ่งทราบข้อมูลจาก ดร.สุรัตน์ว่าปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ของประเทศไทย ก็อาจจะมีสาเหตุมาจากปฏิกริยา photochemical reaction รวมด้วย เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นลอสแอนเจลิส ซึ่งก็มีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทย
เพราะประเทศไทยมีแสงแดดจัด และมีสารระเหยที่เกิดจากการสันดาปของเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน ทำให้ปริมาณโอโซนอากาศเพิ่มสูงขึ้นกลับไปรวมตัวกับละอองของสารระเหย กลายเป็นฝุ่น PM2.5
ในลอสแอนเจลิส ใช้เวลาหลายปีกว่าจะค้นพบสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น แต่ที่ลอสแอนเจลิสใช้น้ำมันดีเซลน้อยมาก ในอดีตเชื่อว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 มาจากการจราจรเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเริ่มรู้แล้วว่าเกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์ทั่วไปสร้างขึ้นมานั่นเอง
ในต่างประเทศไม่ได้ควบคุมหรือแก้ปัญหาที่การจราจรเพียงอย่างเดียว เขาเข้าไปควบคุมสารระเหยที่ใส่เข้าไปในสเปรย์ด้วย และก็ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย รูปแบบอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ให้ผลเหมือนกัน
ปีไหนๆก็ยังมี PM 2.5 ถ้ายังไม่แก้ที่ต้นตอ
ต่อคำถามที่ว่า PM2.5 ปีหน้าจะกลับมาอีกไหม ดร.สุรัตน์ตอบว่า “ผมตอบคำถามแบบนี้มา 3 ปีแล้ว ปีหน้าก็เกิดขึ้นอีกแน่นอน แต่ประเด็นที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจคือ เราจะมีมาตรการแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งปีที่แล้วและปีนี้ก็ไม่มีมาตรการอะไรที่ออกมาแล้วโดนใจประชาชน”
สำหรับแนวทางในการบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้น ดร.ภิญโญกล่าวว่า ทุกวันนี้การใช้เครื่องมือในการตรวจวัดควันที่ออกจากท่อไอเสียรถยนต์ ทั้งดีเซลและเบนซิน ยังไม่แน่ใจว่ามีกฎหมายรองรับมากน้อยแค่ไหน แต่ทุกวันนี้ตรวจเฉพาะรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล หากกรมการขนส่งทางบกสามารถออกกฎระเบียบให้ ตรอ. (สถานตรวจสภาพรถเอกชน) สามารถตรวจสภาพรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อต่อภาษีประจำปีเพิ่มเติมได้หรือไม่ หากราชการมีอัตรากำลังไม่พอ อาจจะสั่งให้ ตรอ. ตรวจสอบสภาพรถเพิ่มเติมได้หรือไม่
ดร.สุรัตน์กล่าวเสริมว่า เรื่องตรวจสภาพรถยนต์ตามที่ ดร.ภิญโญกล่าวถึงนั้น ทางกรมการขนส่งทางบกและ ตรอ. มีการตรวจวัดปริมาณก๊าซที่ปล่อยออก ทั้งปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์อะไรต่างๆ แต่ปัญหาคือรถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้มีการตรวจแบบนี้ ดังนั้น แนวทางแก้ไขที่ทำได้เร็วที่สุดในเวลานี้คือรักษาสภาพของเครื่องยนต์ให้มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อลดการปลดปล่อยไฮโดรคอร์บอน และ VOC
ดร.ภิญโญกล่าวต่อว่า ในช่วงที่น้ำมันราคาแพง รัฐบาลก็ออกมาตรการมาส่งเสริมให้รถแท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง รถบัส รถบรรทุก ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซ NGV แต่พอราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงก็เลิกไป ดังนั้น ประการแรกเราควรจะนำมาตรการภาษีมากลับมาใช้ใหม่ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด หรือใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปสนับสนุนให้มีการใช้ NGV เช่นเดียวกับการสนับสนุนให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซล หรือแก๊สโซฮอล์ ในเมืองใหญ่ของประเทศอินเดีย ถ้าไม่ใช่รถติดแก๊ส ก็ห้ามขับเข้ามาในเมืองใหญ่ ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ก็ลดอัตราภาษีให้
ประการที่ 2 คือการพัฒนาคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มมีการพูดถึงกันมาก คือ การยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง จากยูโร 4 มาเป็นยูโร 5 และยูโร 6 ที่ใช้กันในประเทศยุโรป แต่การเปลี่ยนมาตรฐานจากยูโร 4 มาเป็นยูโร 5 ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันบอกว่าต้องใช้เงินลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท และสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปี 2567 แต่รถกระบะที่ใช้งานมานานกว่า 10 ปี เปลี่ยนมาตรฐานเป็นยูโร 5 ก็อาจจะช่วยได้เล็กน้อย
ประการที่ 3 เรื่องวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้ไปเผาในที่โล่งแจ้ง กรณีการเผ่าอ้อยภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตอนนี้ก็มีผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เริ่มแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างเช่น บริษัทมิตรผล ประกาศรับซื้อใบอ้อยไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
จากข้อมูลการนำวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จะเห็นว่า ในแต่ละปีสามารถผลิตใบและยอดอ้อยได้ปีละ 17 ล้านตัน แต่นำมาใช้ประโยชน์ได้แค่ 2 ล้านตัน ที่เหลืออีก 15 ล้านตัน หากนำผลผลิตส่วนนี้ไปทำไบโอแมสจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 1,600 เมกะวัตต์ ฟางข้าวก็เช่นกัน ผลิตได้ 19 ล้านตันต่อปี ใช้แค่ 9 ล้านตัน ที่เหลืออีก 10 ล้านตัน ไม่ทราบว่าไปไหน สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าปีละ 942 เมกะวัตต์ แม้แต่ซังข้าวโพดที่จังหวัดน่าน 8 ล้านตัน หากนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ก็จะช่วยลดการเกิดฝุ่น PM2.5
“ข้อมูลที่ผมนำมาแสดงนี้ ถามว่าจะให้ใครทำ ผมคิดว่าคนที่ก่อให้เกิดปัญหา PM2.5 ก็ต้องเป็นคนทำ อย่างบริษัทมิตรผลที่ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ต้องช่วยกัน อย่าเผาในที่โล่ง ควรนำมาเผาในระบบปิด ผลิตกระแสไฟฟ้าจะได้ประโยชน์มากกว่า
หน่วยงานรับผิดชอบฝุ่นมีเยอะ แต่ “บูรณาการ” คืออะไร!!
ถามว่าเราได้ยินปัญหาฝุ่น PM2.5 มานาน และทราบว่าต้นเหตุเกิดจากอะไร ทำไมวันนี้ยังไม่ได้แก้ไข ดร.สุรัตน์ตอบว่า “คำถามที่ว่าทำไมเรายังไม่ได้ทำ ในสิ่งที่ควรจะทำ
ประเด็นแรก ประเทศไทยมีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 หลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ การแก้ปัญหาของภาครัฐช่วงที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินคำว่า “บูรณาการ” คำถามง่ายๆ คำว่าบูรณาการเขาทำงานกันอย่างไร เช่น หน่วยงานหนึ่งสามารถไปขอความร่วมมือให้อีกหน่วยงานหนึ่งช่วยทำได้หรือไม่ หรือขอให้อีกหน่วยงานหนึ่งจัดส่งข้อมูล เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาร่วมกันได้หรือ มันก็ติดปัญหาตรงนี้ งานไม่สามารถเดินไปข้างหน้าพร้อมกันได้ทุกหน่วย หน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเรื่องการเผาไหม้ในที่โล่งประกาศว่าไม่มีการเผาเกิดขึ้นแล้ว แต่หน่วยงานในพื้นที่บอกว่ามากกว่าเดิมอีก หรือบางจังหวัดออกประกาศสั่งห้ามเผาพืชไร่เป็นเวลา 30 วัน แต่ชาวบ้านไม่เผาในช่วงเวลาที่ทางการกำหนด ไปเร่งเผากันในช่วงก่อนและหลัง 30 วันแทน ปัญหาจึงรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ส่วนประชาชนในพื้นที่ก็ยังทำกิจกรรมเหมือนเดิม ปล่อยไอเสียเหมือนเดิม ปัญหาจึงวนกลับไปอยู่ที่เดิม ทุกกระทรวงมีมาตรการออกมา แต่สรุปสุดท้ายไม่ได้ทำ เพราะสั่งการไปหมดแล้วแต่ไม่ได้บูรณาการหรือทำงานร่วมกัน”
ดร.ภิญโญกล่าวต่อว่า ตอนนี้เรารู้แล้วปัญหาฝุ่น PM2.5 หลักๆ มาจาก 2 ส่วน คือการจราจรกับการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ภาคการขนส่งก็ต้องยกระดับคุณภาพเชื้อเพลิง การปรับเปลี่ยนมาใช้ยูโร 5 หรือจะข้ามไปเป็นยูโร 6 จำเป็นต้องใช้งบฯ 50,000 ล้านบาท รัฐบาลก็ต้องอนุมัติ ทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงเครื่องยนต์ ต้องมีการตรวจสภาพรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ และเป็นที่น่าแปลกใจมาก รถยนต์ยิ่งเก่ายิ่งเสียภาษีประจำปีลดลง ตรงข้ามกับต่างประเทศที่ยิ่งเก่ายิ่งเสียภาษีแพงขึ้น อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไปต้องเปลี่ยน และปัจจุบันนี้น่าจะเปลี่ยนเป็น 7 ปี ประเทศญี่ปุ่นจึงใช้รถใหม่อยู่ตลอดเวลา ส่วนรถเก่าเอาไปให้ประเทศกำลังพัฒนาใช้ต่อ จำนวนรถเก่าจึงมียอดสะสมเยอะมาก ดังนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องตรวจควันที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียอย่างจริงจังทั้งเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน ขณะที่ภาครัฐก็ต้องจัดมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้เชื้อเพลิง NGV เช่น รถกระบะที่ใช้ NGV สามารถวิ่งเข้าใจกลางเมืองได้ หรือลดอัตราภาษีสนับสนุน รถมอเตอร์ไซค์ก็ต้องตรวจสภาพด้วย
“ปัญหาของฝุ่น PM2.5 เกิดจากหลายสาเหตุ การแก้ปัญหาต้องทำทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน อย่างในปักกิ่ง กำหนดโควตาในการซื้อรถใหม่ได้ปีละไม่เกิน 200,000 คัน ถ้าอยากจะซื้อรถใหม่ ก็ต้องไปจับสลากและถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเทสลาไม่มีติดช่วงกำหนดเวลาห้ามขับรถเข้าเมือง แต่ถ้าเป็นรถยนต์ที่ใช้เชิ้อเพลิงน้ำมัน เข้าเมืองได้เฉพาะวันคู่หรือวันคี่ วันนี้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าถูกกว่ารถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ แต่มันอาจจะวิ่งได้ไม่เร็วเท่ากับรถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ” ดร.ภิญโญกล่าว
ด้านตัวแทนจากสภาพัฒน์ฯ ที่เข้าร่วมงานสัมมนาฯ กล่าวว่า วันนี้ตนดีใจที่ได้รับฟังความรู้ใหม่ ที่ผ่านมาตนรับทราบข้อมูล PM2.5 มีสาเหตุเกิดจากไอเสียรถยนต์ดีเซล การเผาไหม้ในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ไม่ได้คิดถึงเรื่องควันขาวหรือไอเสียของมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ และปฏิกริยาทางเคมีที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และได้รับรู้ปัญหาส่วนราชการยังบูรณาการกันไม่เสร็จ เท่าที่ตนทราบเคยมีการออกประกาศยกเลิกการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
“แผนยุทธศาสตร์ของชาติเรามีการปรับปรุงทุก 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี หากคนที่ยกร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติได้ข้อมูลดีๆ จากงานวิจัยใหม่ๆ ก็จะยิ่งดี งานสัมมนาวันนี้ทำให้ผมได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ และที่สำคัญจะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ร่วมงานสัมมนาได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ เช่นนี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขตามที่ประชาชนเข้าใจ”
จำกัดจดทะเบียนยานยนต์ สกัดจำนวนรถเพิ่ม
ด้าน ดร.พีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา ประธานบริหาร TAP Cargo Terminal ผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกที่ยานพาหนะที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 11 ล้านคัน การจัดทะเบียนมีแต่อัตราการเกิด แต่ไม่มีอัตราการตายหรือลดลง เพราะรถยนต์ใหม่สามารถมาจดทะเบียนได้เรื่อยๆ ส่วนรถยนต์เก่า ทะเบียน ก. ทุกวันนี้ก็ยังวิ่งกันอยู่ตามท้องถนน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ยกเลิก ระบบการขนส่งในประเทศไทยมีทั้งขนส่งคนและขนส่งสินค้า ส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
“วันนี้ถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มุ่งแก้ปัญหาแต่ที่ปลายเหตุ แก้เท่าไหร่ก็ไม่จบแน่ๆ ต้นเหตุเกิดจากการปล่อยให้มีรถใหม่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ในต่างประเทศ เขามีการควบคุมเรื่องการขออนุญาตในการจดทะเบียน และการใช้มาตรการภาษี ทำให้ซื้อรถใหม่ได้ยากขึ้น และมีมาตรการส่งเสริมให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทน เราพูดกันมาตลอด แต่ไม่มีใครกล้าทำ เรื่องการคุมกำเนิดจำนวนประชากรของรถยนต์ ยิ่งรถมอเตอร์ไซค์ยิ่งไม่กล้าทำ เพราะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ หรือกำหนดเขตพื้นที่ชั้นใน ห้ามรถเข้ามาวิ่ง ยกเว้นรถโดยสารของนักท่องเที่ยว สิ่งที่ผมอยากเสนอ คือ รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจกระจายความเจริญออกไปสู่นอกเมือง ส่วนพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจมีคนจำนวนมากให้เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนเมื่อระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ในระยะยาวก็ต้องจำกัดจำนวนประชากรของรถยนต์ ส่วนรถที่ห้ามจดทะเบียนควรมีอายุไม่เกินเท่าไหร่ ก็ต้องศึกษากันต่อไป ปัญหาของกรมการขนส่งทางบกตอนนี้ คือป้ายทะเบียนรถ ถ้ายังมีขนาดเท่าเดิม ก็ยังไม่รู้จะใส่ตัวเลขหรือตัวอักษรอะไรเพิ่มเข้าไปดี เพราะจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ดร.พีรกันต์กล่าว
ชี้ควันขาวมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ เพิ่ม PM2.5 พันเท่า
Dr. Wladyslaw W. Szymanski ผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่น PM2.5 จากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าวว่า จากผลการศึกษาเรื่องฝุ่นที่กรุงเวียนนา พบมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 สูงถึง 1,000 เท่า เปรียบเทียบกับรถมอเตอร์ไซค์ 4 จังหวะจะสูงกว่าประมาณ 10 เท่า ขณะที่การแก้ไขของประเทศไทยตอนนี้เน้นไปที่รถปล่อยควันดำเท่านั้น ซึ่งมอเตอร์ไซค์ที่จดทะเบียนอยู่กับกรมการขนส่งทางบกตอนนี้มีอยู่ประมาณ 4 ล้านคัน ทั้งหมดไม่ต้องตรวจสภาพ และไม่มีหมดอายุการใช้งาน
ขึ้นภาษีแบตเตอรี่สวนทางนโยบายหนุน EV
นายพัฒนา ทิวะพันธุ์ เลขาธิการมูลนิธิพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าวว่า เรื่องการขับเคลื่อนให้มีการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทย ทางมูลนิธิฯ พยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่องเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มีการจัดสัมมนาไป 2 ครั้ง คือที่งานมอเตอร์โชว์และในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป แต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาประมาณ 150 คน เราได้รวบรวมความคิดเสนอต่อรัฐบาล ทั้งในเรื่องของมาตรการภาษีในเรื่องของมาตรการการจัดการด้านอื่นๆ เสนอไปแล้วก็เปรียบเสมือนคลื่นกระทบฝั่งแล้วหายไป เหตุที่ไม่ทำอาจเป็นเรื่องของความเกรงใจหรืออะไรก็ตาม
“แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล แต่เราก็คิดมาตรการเพิ่มเติม ในลักษณะของการ sharing เฉพาะในเมือง โดยให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อนำไปใช้ในการเช่ารถไฟฟ้าครั้งละ 20-30 บาท โดยที่ไม่ต้องนำรถยนต์ส่วนตัวขับเข้ามาในเมือง ตลอด 2-3 ปีที่ทำมา ทุกเรื่องติดขั้นตอนในเรื่องเอกสารและระเบียบทั้งหมด ทุกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย หรือมูลนิธิพลังงานทางเลือกฯ ก็ยังคงผลักดันต่อไป หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ เดิมมีผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ 12 บริษัท ตอนนี้เพิ่มเป็น 24 บริษัท โดยบริษัทที่เพิ่มขึ้นมาทั้งหมดขายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แทนที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุน กลับไปปรับขึ้นอัตราภาษีแบตเตอรี่ ก็ต้องผลักดันกันต่อไป” นายพัฒนากล่าว
รัฐไม่ออกมาตรการแก้ไขที่ต้นตอ “เกรงใจใครหรือเปล่า”
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาเผาในที่โล่งแจ้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรค 1 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้จะเป็นของตนเองก็ตาม จนน่าจะเป็นอันตรายแก่คนอื่นและทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท” จะสังเกตเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษไว้รุนแรงมาก แค่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามีโทษมันรุนแรง ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ หากยังมีคนเผาอยู่ค่อยจัดการ นี่คือสิ่งที่ทำได้ทันที
“ส่วนมาตรการสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ได้ใช้เวลามานมากนัก เพราะเทคโนโลยีของเอกชนมีอยู่แล้ว เหลือแต่เพียงนโยบายของภาครัฐ ต้องส่งเสริมให้มากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ รัฐบาลควรควักเงินจ่ายให้กับผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ควรที่จะไปเก็บภาษีเลย แต่นี่กลับไปปรับขึ้นอัตราภาษี จึงไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเกรงใจใครหรือเปล่า” ดร.ปริญญากล่าวว่า
ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่ใช้เวลานานแต่ก็ต้องทำ คือ การปลูกต้นไม้ใหญ่ เพื่อช่วยดูดซับฝุ่น PM2.5 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน และยังคายไอน้ำออกมา ทำให้เกิดความร่มรื่น ซึ่งดีกว่าเครื่องฟอกอากาศอีก ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร ก็ต้องส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้มากขึ้น โดยให้ทุกบ้าน ทุกบริษัท ทุกห้างสรรพสินค้า ดูแลต้นไม่ใหญ่ของ กทม. ที่อยู่หน้าสถานประกอบการหรือหน้าบ้าน
แนะ “บิ๊กตู่” ย้ายผู้ว่าฯ แก้ฝุ่นพิษไม่ได้
รศ.สมศักดิ์ สายสินธุ์ชัย อาจารย์ประะจำ คณะวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวว่า “หากผมเป็น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผมจะแก้ปัญหาฝุ่นที่ผู้ว่าราชการจังหวด หากจังหวัดไหนปล่อยให้มีฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องถูกย้าย”
ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า “หากรัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรออกมาแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ประชาชนก็ต้องช่วยตัวเอง ผมไปเห็นนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบง่ายๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาใช้พัดลมเป่าผ่านฟิลเตอร์ เหมือนกับเราใส่หน้ากากอนามัย กรองฝุ่นก่อนที่จะเข้าจมูก และก็ต้องควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ หามาตรสนับสนุนการปรับเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะมาเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ขณะที่การซื้อ-ขายมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ ปัจจุบันไม่ต้องดาวน์เลย แค่มีบัตรประชาชนก็ขับรถออกไปได้เลย ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ พวกเด็กแว้น ก็อยู่ในกลุ่มปัญหาเดียวกัน คือ ประเทศไทยไม่เคยควบคุมการอนุญาตให้ซื้อรถใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งเราก็ต้องเข้าใจ รัฐบาลต้องการทำตัวเลขทางเศรษฐกิจให้ให้มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น เพราะรัฐบาลมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ หากมีการบริโภครถยนต์ รถกระบะ และรถมอเตอร์ไซค์ เพิ่มขึ้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้น”
“ผมอยากจะขอร้องว่า เรื่องตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงบ้างก็ได้ เพราะตอนนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่น PM2.5 สนใจเรื่องนี้มากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลรู้หรือเปล่า ถ้ายังไม่รู้ ผมฝากไปถึงรัฐบาลว่าต้องทำเรื่องนี้” ดร.ปริญญากล่าว