ThaiPublica > Native Ad > KBTG เปิด Tech Kampus สร้าง Tech Talent ยกระดับไอทีไทยสู่เวทีโลก

KBTG เปิด Tech Kampus สร้าง Tech Talent ยกระดับไอทีไทยสู่เวทีโลก

7 เมษายน 2021


ในโลกปัจจุบันคู่แข่งที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีเติบโตขึ้นแทบทุกวินาที การมีความสามารถด้านเทคโนโลยี หรือ tech capability มีความสำคัญมากกว่าที่เคย ไม่เพียงเพื่อให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่เป็นปัจจัยหลักในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ในโลกดิจิทัลที่กำลังขยายตัว การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีหรือ tech talent ที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของบริษัท

แต่ตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยีมีความต้องการสูงเกินกว่าที่มหาวิทยาลัยจะมีกำลังผลิต อีกทั้งนักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติงานจริงระหว่างที่ศึกษา

KBTG จับมือ 2 องค์กรภาครัฐ และ 7 มหาวิทยาลัย จัดโครงการ Tech Kampus พัฒนาคุณภาพการศึกษาและบุคลากรทางด้านไอที ในการเรียนรู้ และส่งเสริมงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับวงการธุรกิจไทย และสร้างบุคคลากรด้านไอทีสู่วงการไอทีไทยในระดับโลก

Tech Kampus ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการศึกษาและงานวิจัยด้านเทคโนโลยีในสาขา data science และ AI ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564

“โลกเปลี่ยนไป เปลี่ยนเมื่อไรมีค่าทุกครั้ง อะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลงถือว่าไม่น่าสนใจ อะไรที่เปลี่ยนแปลงถือว่ามีคุณค่า” ศ. ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)  กล่าวในช่วงเปิดงาน “การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องมหัศจรรย์ ทำให้การทำธุรกรรมเปลี่ยน แทนที่คนมาเคาน์เตอร์แล้วธนาคารให้บริการ ปัจจุบันลูกค้าทำธุรกรรมแทนธนาคารด้วยตัวเองทั้งหมดผ่านโทรศัพท์มือถือ ธนาคารต้องเปลี่ยนรูปแบบ บริษัทอาลีบาบา แอนท์ไฟแนนซ์ ขยายธุรกิจข้ามไปประเทศอื่น ธนาคารต้องออกไปนอกประเทศมากขึ้น และหากได้พลังจากมหาวิทยาลัย พร้อมเอาโจทย์เมืองไทยมาเป็นตัวตั้ง ก็สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้”

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)

Deep Collaboration ก้าวสู่อนาคตร่วมกัน

“ความสามารถด้านเทคโนโนโลยี มีความสำคัญเป็นปัจจัยหลักในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)  ให้ความเห็น

“ปี 2016 เราอยู่ในยุค technology disruption ปี 2018 เราอยู่ในยุค disruption domino ซึ่งก็คือ การเกิดโดมิโนของการดิสรัปชัน ดังที่ได้เห็นแล้วจากธุรกิจมีเดีย ไปสู่อี-คอมเมิร์ซ ต่อไปยังภาคการเงิน และต่อเนื่องที่โลจิสติกส์ แล้วจะเกิดโดมิโนต่อไป อีกทั้งวิกฤติโควิดยังทำให้เกิดยุค continuous disruption เราอยู่ในจุดที่ดิสรัปชันเกิดขึ้นต่อเนื่องและเกิดพร้อมกัน และไม่เกิดแบบโดมิโนที่มีการทิ้งช่วง”

นายเรืองโรจน์กล่าวว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า โลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล โดยปี 2024 โลกเปลี่ยนแปลงแบบหักศอกหนึ่งครั้งและจะหักศอกอีกครั้งในปี 2028-2029

“สำหรับประเทศไทยจะอยู่รอดได้ tech capability หรือความสามารถด้านเทคโนโลยี จะสำคัญที่สุด และเป็นตัวกำหนดชะตาว่าประเทศไทยจะรอดหรือจะมีสถานะอยู่ตรงไหน”

ประเทศไทยมีงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา แทบต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีงบวิจัยและพัฒนากว่า 3% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ญี่ปุ่นมี GDP มูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ มีงบวิจัยและพัฒนาประมาณ 1500,00 ล้านดอลลาร์ ประเทศไทยมีงบวิจัยและพัฒนาเพียง 0.34% เมื่อเทียบกับ GDP เมื่อเทียบกันแล้วญี่ปุ่นมีงบวิจัยและพัฒนาเกือบเท่ากับ 33% ของ GDP ประเทศไทยที่มีมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์

“หากเรายังสร้างความด้านเทคโนโลยีแบบไม่มีเป้าหมาย ไม่เน้นหวังผล ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่มีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง เป็นสิ่งที่น่ากังวล” ประเทศไทยมีคนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก แต่ละมหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีความสามารถสูง ผ่านการศึกษาในระดับโลก มีประสบการณ์การทำงานกับบริษัทโลก

KBTG ในฐานะผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของคนและการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี ในการเรียนรู้ ต่อยอด และวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะนักศึกษาและบุคลากรด้านไอที ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และการลงมือปฏิบัติงานจริง รวมถึงการได้รับแนะแนวจากผู้มีประสบการณ์ด้านวงการไอที จึงจัดโครงการ Tech Kampus โดยร่วมมือกับ 2 องค์การภาครัฐ และ 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่

  • ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
  • สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU)
  • คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU)
  • วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU)
  • มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University)
  • วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC)
  • สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT)
  • นายเรืองโรจน์ ประธาน KBTG กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา KBTG เราได้เข้าไปร่วมคิดค้นรวมถึงช่วยพัฒนาเทคโนโลยีให้กับองค์กรภาครัฐ ประกอบด้วย

  • โครงการ Thai NLP (Thai Natural Language Processing) การประมวลผลทางภาษาธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อลดช่องว่างในการสื่อสารภาษาธรรมชาติระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ที่เริ่มพัฒนาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันได้มีการต่อยอดเป็นสมองกลปัญญาประดิษฐ์ chatbot ของเพจ KBank Live และใน LINE BK ทั้งยังมีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือ social listening
  • การวิจัย facial recognition โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) พัฒนา face liveness detection พิสูจน์ความเป็นบุคคล เพื่อป้องกันการปลอมแปลง
  • โครงการ CU NEX ที่พัฒนาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ทุกมิติการใช้ชีวิตของนิสิตและบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งการเรียน และการทำงาน เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพอย่างก้าวกระโดด มุ่งหน้าสู่เป้าหมายของการเป็น ‘digital lifestyle university’
  • นายเรืองโรจน์ยังกล่าวด้วยว่า KBANK ซึ่งเป็นธนาคารที่ดีที่สุดในประเทศไทยในด้านนวัตกรรม โดยได้รับรางวัลนวัตกรรมการเงินยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 (Financial Insight Innovation Award) ในเอเชียแปซิฟิก จาก International Data Corporation (IDC) และยังเป็นอันดับหนึ่งของธนาคารในอาเซียน ก็ยังทำวิจัยด้วยตัวคนเดียวไม่ได้

    KBTG ซึ่งเป็นบริษัทลูก KBANK ด้านเทคโนโลยี มีโจทย์ที่ต้องตอบในการให้บริการลูกค้าธนาคาร แต่เนื่องจากมีทีมวิจัยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องเสาะหาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เชิงลึกมาช่วยกันพัฒนาต่อยอด โดยร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ สามารถมาช่วยตอบโจทย์ธนาคาร นำร่องเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทยไปใช้งานจริง

    “KBANK ต้องการสร้าง deep collaboration โลกกำลังถูกดิสรัปอย่างต่อเนื่องจากสิ่งที่เรียกว่า deep tech ซึ่ง deep tech ต้องการ deep collaboration และ deep focus เพราะสำหรับประเทศไทยเราไม่มีเวลาเหลืออีกต่อไป กับการไปอย่างช้าๆ และกับการทำวิจัยด้วยตัวเอง”

    “เราจึงทำ deep collaboration กับมหาวิทยาลัยชั้นนำ และหน่วยงานวิจัยชั้นนำ KBTG พร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้เกิด deep collaboration ระหว่างกัน ประเทศไทยต้องมี deep focus ด้านงานวิจัยและต้องมี deep collaboration ซึ่งนำไปสู่การประสานพลังกัน”

    “We cannot predict the future, but We can create and reinvent the future.” นายเรืองโรจน์หยิบยกคำกล่าวที่รู้จักกันดีในระดับสากล “future คือสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดได้วันนี้ คือ vision เราสามารถมี faith มีศรัทธากับประเทศไทย เราสามารถมอบประเทศนี้ที่ดีขึ้นให้กับคนรุ่นต่อไป ได้ vision คือ อนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเรามาสร้างอนาคตร่วมกัน ผ่าน deep collaboration ผ่าน Tech Kampus ช่วยสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้ประเทศไทยเพื่อให้ประเทศไทยอยู่รอด และชนะในหลายด้าน”

    มุ่งสู่ World’s Best Digital Bank

    นายเรืองโรจน์กล่าวว่า เป้าหมายในการจัดตั้งโครงการ Tech Kampus มีด้วยกันสองข้อ คือ ข้อแรก ต้องการ สร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่มีพลัง (vibrant tech ecosystem ) ซึ่ง tech ecosystem จะเกิดขึ้นได้ต้องมี 4 องค์ประกอบ คือ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัป ธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย ข้อสอง ต้องการเห็น unicorn moment การนำงานวิจัยจากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยมาใช้ได้จริง

    “deep collaboration และการประสานพลัง (synergy) คือการสร้าง world class tech ecosystem และคืออนาคตของประเทศไทย และไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสร้าง tech talent ecosystem และในอนาคตอาจมีการวิจัยร่วมกับจีน เวียดนาม รวมทั้งมีนักวิจัยใหม่ และคาดว่าจะดึง tech talent จากต่างประเทศมาร่วมได้”

    นายเรืองโรจน์กล่าวว่า มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม Tech Kampus ในอัตราเลข 2 หลักในปีหน้า โดยจะขยายไปสู่สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยระดับภูมิภาค ในรูปแบบการทำวิจัย และการทำงานร่วมกัน และเปิดรับเอกชนรายอื่นเข้าร่วม เนื่องจากโจทย์หลายด้านสามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลายองค์กร โจทย์ที่ใกล้เคียงกันก็ประสานพลังกันได้ อีกยังเป็นการเสริมสร้าง tech ecosystem ที่มีพลังด้วย การเปิดกว้าง (open) การทำงานร่วมกัน (collaborate) การสร้างสรรค์ร่วมกัน (co-create) และการแบ่งปัน (sharing) ซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจและประโยชน์ต่อองค์กรเอง

    “KBANK ต้องการเป็นหนึ่งในธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดของโลกหรือ one of the world’s best digital bank หมายความว่าต่อไปเราจะมีฐานลูกค้าในเอเชียหลายร้อยล้านคน ปัจจุบัน KPLUS มีลูกค้าเกือบ 15 ล้านคน ดังนั้นต่อไปงานวิจัยจะมีผลกับลูกค้าในภูมิภาค และงานวิจัยของนักวิจัยไทยอยู่แค่ปลายนิ้วมือของลูกค้า เป็นงานวิจัยที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนหลายร้อยล้านคน”

    นอกจากนี้ KBTG จะเปิดรับนิสิตนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้และเข้ามาฝึกงานกับทาง KBTG วิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ และเตรียมความพร้อมสู่โลกทำงาน เพื่อนำความรู้และทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านไอทีมาใช้งานจริงได้ทันที และสามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การนำ biometrics และ facial recognition เพื่อระบุและยืนยันตัวตนด้วยความรวดเร็ว ไปพัฒนาทำ online service และ smart branch ให้กับลูกค้าธนาคารกสิกรไทยและคนไทยได้ใช้ในอนาคต

    ลดช่องว่างภาคธุรกิจกับการศึกษา
    Tech Kampus เป็นโครงการที่ KBTG ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและองค์กรภาครัฐเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาและต่อยอดงานวิจัยในสาขา data science และ artificial intelligence (AI) โดยต้องการที่จะผลิตนวัตกรรมและบุคลากรไอทีรุ่นใหม่ให้เติบโตไปด้วยกัน ความร่วมมือจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ความร่วมมือในการผลิตผลงานวิจัยใหม่ๆ ทางด้านเทคโนโลยี และความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในสาขา data science และ AI

    KBTG จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันและอนาคต แนะแนวโดยผู้มีประสบการณ์จากวงการไอที พร้อมลดช่องว่างระหว่างภาคธุรกิจและการศึกษาให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

    ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Senior Principal Visionary Architect, KBTG กล่าวว่า “ภาคธุรกิจการเงินการธนาคารแตะกับชีวิตคนทั่วประเทศ เป็นส่วนที่งานวิจัยเข้าถึงทุกคนได้ เราอยากให้งานวิจัยเข้าถึงทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็น user experience และต่อ
    ยอดไปในต่างประเทศ และ KBTG สามารถช่วยให้งานวิจัยไทยไปต่างประเทศได้”

    งานวิจัยของ KBTG มีหลายระดับ หลายระยะ ทั้งด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (applied technology) และประยุกต์สิ่งที่มีอยู่แล้ว การทำงานวิจัยใหม่ การพัฒนาสิ่งใหม่ รวมทั้งการติดตามเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น ที่สามารถตอบโจทย์ของ KBTG ได้

    งานของ KBTG ที่ร่วมพัฒนากับหลายสถาบัน เช่น ด้านประยุกต์ใช้เทคโนโลยี คือ การนำ contactless techonology มาใช้ หรือ face recognition การจดจำใบหน้า เป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ และยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อเตรียมตัวรองรับสิ่งใหม่ๆ ให้ทัน

    นายญานวิทย์ รักษ์ศรี Senior Principal Visionary Architect, KBTG กล่าวว่า ความต้องการด้านดิจิทัลเทคโนโลยีมีมากขึ้น แต่เด็กของไทยมีแนวโน้มลดลง เพราะฉะนั้นทรัพยากรบุคคลที่เป็นคนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีต้องใช้อย่างมีคุณค่า ภาคเอกชนจึงได้เข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อชี้ทางที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เด็กรู้ว่ากำลังเรียนอะไรและจะเอาไปใช้ในอนาคตอย่างไร ผ่านการให้โจทย์ที่ถูกต้องและการสนับสนุน

    “โครงการนี้จะช่วยให้นักศึกษารู้เส้นทางอาชีพตัวเอง เข้าใจชีวิตและมองภาพรวมได้ดีขึ้น เมื่อก่อนเด็กเรียนหลายวิชาแต่ไม่รู้ว่าเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร ไปรู้อีกทีตอนฝึกงาน แต่การมีเอกชนทำให้เด็กรู้ได้เร็วขึ้น ปรับตัวกับการเรียนได้ดีขึ้น และรู้แล้วว่าวิชาที่เรียนจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร”

    นอกจากนี้ยังเป็นการปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัยให้มีความเชื่อมโยงกัน จากเดิม ecosystem ของงานวิจัยด้านเทคโนโลยีแยกออกเป็นส่วนๆ โดยหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือ การสร้างคน หน้าที่สถาบันวิจัยคือการผลิตงานวิจัย หน้าที่ของภาคธุรกิจ คือการพัฒนา ผลิตภัณฑ์บริการที่ดีให้กับลูกค้า แต่ในระดับโลกปัจจุบันมองว่า ทั้งสามส่วนต้องทำงานด้วยกัน ร่วมกันกำหนดเป้าหมาย

    งานวิจัยที่ KBTG ทำร่วมกับหลายหน่วยงานและนำมาใช้ต่อแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ประเภทแรก คือ การทำให้บริการกับคนราบรื่นขึ้น เช่น ด้าน smart branch ได้นำระบบ face recognition มาใช้แทนการกดรหัสหรือ pin และยังสามารถนำ chatbot เข้ามาช่วยเพื่อให้ฟังก์ชันการให้บริการทางการเงินเร็วขึ้นราบรื่นขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเร่งตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด ประเภทที่สอง คือ การจัดการด้านดิจิทัล digital operation ในอนาคตงานที่ใช้กำลังคนจะต้องหมดไปและปรับเป็นระบบงานอัตโนมัติให้เครื่องจักรตัดสินใจแทนคน ให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเร็วขึ้น กระบวนการงานจัดการเอกสาร (document processing) ระบบงานสนับสนุนควรเร็วขึ้นเป็นสิบเท่า เพราะใช้เทคโนโลยีมาจัดการระบบงานสนับสนุนให้คล่องตัวขึ้น ส่วนประเภทที่สาม เทคโนโลยีบางอย่างเป็น disruptive technology ที่ไม่เพียงทำให้การบริการดีขึ้นเท่านั้น แต่เปลี่ยนรูปแบบการบริการไปเลย เช่น ควอนตัมคอมพิวติง เป็นจุดที่ทำให้คำว่า ธนาคาร บริการทางการเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการบริการการเงินแบบใหม่

    ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Principal Visionary Architect, KBTG กล่าวว่า โครงการ Tech Kampus ต้องการให้เด็กมีทักษะ 3 ข้อ คือ หนึ่ง มหาวิทยาลัยสร้างเด็กที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักวิชาการ สอง การที่เอกชนเข้าร่วมจะทำให้เรียนรู้จากของจริงในภาคปฏิบัติ จะช่วยให้ปรับตัวได้ และสาม เด็กมีความยืดหยุ่นรู้จักที่จะปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง เพราะเทคโนโลยี AI, data ยังพัฒนาต่อเนื่องและเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา

    “เราต้องการนักศึกษาที่เรียนรู้ต่อเนื่อง สร้าง learning curve ของตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ data analytic มีความสำคัญมากต่อภาคธุรกิจ มีโจทย์สำคัญจำนวนมาก และภาคธุรกิจคงไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกัน จะทำให้มีการใช้ได้จริง ทำงานได้จริง และนอกจากจะใช้งานได้จริงแล้วยังได้ tech talent จากนักศึกษาที่เข้ามาร่วมในงานวิจัย และยังตอบโจทย์ของประเทศด้วย”

    ผลิตคนพร้อมใช้ให้ประเทศ

    Tech Kampus ยังช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย สร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่เปี่ยมศักยภาพ

    ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการหลักสูตรคาร์เนกีเมลลอน-เคเอ็มไอทีแอล มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลเกิดจากความร่วมมือของคาร์เนกีเมลลอน กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อตั้งมาได้ 4 ปีแล้ว พร้อมกับแนวคิดว่าจะทำงานกับภาคเอกชน ภาคธุกิจ มาตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีหลักสูตรนำร่องคือ Electrical and Computer Engineering ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

    มหาวิทยาลัยได้ทำงานวิจัยร่วมกับคาร์เนกีเมลลอนและเอกชนในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาของไทย โดยนำอาจารย์จากต่างประเทศเข้ามาร่วมทำ เพื่อเปิดให้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ และการทำงานกับภาคเอกชนช่วยให้มีการนำงานวิจัยของนักวิจัยไปใช้

    ในเร็วๆ นี้จะขยายไปในระดับปริญญาตรี โดยจะเน้น 4 ด้าน คือ AI, design, system, cyber security เพราะเป็นแกนของเทคโนโลยีในอนาคต และพยายามร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ

    “การร่วมมือกับเอกชนเป็นการปรับแนวคิด (mindset) ข้อดีของการร่วมมือกับเอกชน คือการปรับ mindset ของนักศึกษาที่เดิมมุ่งเน้นด้านวิศวกรรรมอย่างเดียว แต่ขาดมุมมองด้านธุรกิจ”

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า หลักสูตร Data Science and Innovation ของวิทยาลัยนวัตกรรม เป็นหลักสูตรในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่มีแนวคิดว่า การศึกษากับอุตสาหกรรมต้องมาด้วยกัน จากปัญหาในการผลิตบัณฑิต คือ เมื่อเด็กจบไปทำงาน บริษัทต้องฝึกงานให้ บัณฑิตที่จบมาไม่พร้อมใช้ วิทยาลัยจึงหาแนวทางที่จะผลิตบัณฑิตออกมาแล้วพร้อมใช้ได้ทันที จึงร่วมมือกับภาคธุรกิจตั้งแต่ต้น

    หลักสูตรของวิทยาลัยนวัตกรรม ได้จัดการเรียนการสอนเป็นเรื่อง (module — โมดูล) ในโมดูลมี 5 วิชา ซึ่ง 4 วิชาเป็นทฤษฏี อีกวิชาเป็น capstone project โดยนำ 4 วิชามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีภาคธุรกิจเป็นผู้ให้โจทย์ กำกับดูแลให้นักศึกษาทำตามโจทย์ของธุรกิจ และให้เริ่มฝึกงานในปีที่สาม เมื่อเด็กฝึกงานแล้วได้สัมผัสประสบการณ์จริง ก็สามารถเลือกโมดูลที่สนใจได้ นักศึกษาที่จบจากวิทยาลัยนวัตกรรมใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ ได้เห็นโจทย์จริงได้เห็นมุมมองที่เกิดขึ้น

    การร่วมกับเอกชนในการพัฒนาหลักสูตรมีผลดีคือ หนึ่ง ทำให้อาจารย์กระตือรือร้นขึ้น ที่ผ่านมาอาจารย์อาจจะเปรียบเทียบได้กับช่างตัดเสื้อ มีฝีมือดีตัดเสื้อดีมาก แต่ไม่ได้ดูเทรนด์ของโลกเลยว่าไปถึงไหน ลูกค้าเป็นอย่างไร ตัดแล้วลูกค้าไม่ใส่ เชย ใช้ไม่ได้เมื่อได้แฟชั่นดีไซเนอร์ ซึ่งก็คือ ภาคธุรกิจมาบอกว่า ตัดเสื้อผ้าแบบไหนเป็นที่นิยม นอกจากมาบอกแล้วยังสนับสนุนอีกด้วย

    “การร่วมมือกันทำให้เด็กได้ประสบการณ์จริง หลังจากร่วมมือกันแล้ว คาดการณ์ว่า จะพัฒนากำลังคนที่พร้อมใช้ให้กับประเทศ และตรงตามเป้าหมายของประเทศ ณ เวลานั้น”

    ผศ. ดร.ฆนัท ตั้งวงศ์ศานต์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเรียนการสอนในทุกโปรแกรมจะประสบกับโจทย์ใหญ่สองเรื่อง คือ ทักษะปัจจุบันกับทักษะอนาคต โดยทักษะปัจจุบันคือ การพร้อมใช้งาน ขณะที่ทักษะอนาคตทำให้ค้นหาตัวเองสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และแนวคิดของวิทยาลัยนานาชาติเรื่อง ทักษะอนาคตนั้นได้ปล่อยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

    “ทักษะปัจจุบัน ที่ไม่รู้ว่าเรียนอะไรบ้าง ภาคเอกชนช่วยได้มาก ภาคเอกชนบอกว่าอันนี้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้จริงและถ้าเรียนไปแล้วมีงานทำแน่ และมีการรับเด็กไปฝึกงาน จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรู้ในสิ่งที่ต้องการจะทำ เอกชนนอกจากจะเข้ามาร่วมมือทำให้เกิดแรงบันดาลใจแล้ว ยังกดดันมหาวิทยาลัยไปในทิศทางใหม่ นอกจากจะทำให้เด็กตื่นตัวแล้วยังทำให้อาจารย์ได้ทำงานที่เป็นโจทย์นำไปใช้จริงของประเทศ”

    หากสถาบันการศึกษาไหนที่สนใจโครงการ KBTG Tech Kampus นั้นติดต่อได้ที่ email: [email protected]