ThaiPublica > คอลัมน์ > ดรามา เรื่อง PM2.5 ตอน ๑๐ : PM2.5 ที่เวลาจริงกับค่าเฉลี่ยรายวัน

ดรามา เรื่อง PM2.5 ตอน ๑๐ : PM2.5 ที่เวลาจริงกับค่าเฉลี่ยรายวัน

15 กุมภาพันธ์ 2020


รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริมา ปัญญาเมธีกุล,ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สภาพอากาศในวันที่ค่าฝุ่นPM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน

ต่อจากตอนที่ 9

ณ นาทีนี้สังคมไทยกำลังสับสนและตระหนกกับค่าฝุ่น PM2.5 ที่ตัวเลขของภาครัฐเป็นค่าเฉลี่ยรายวัน(24 ชั่วโมง)ย้อนหลัง ซึ่งมักมีค่าต่ำกว่าค่าที่อ่านได้ ณ นาทีหนึ่งๆโดยเครื่องมือวัดอย่างง่าย(เครื่องวัดแบบเซนเซอร์ราคาถูก: low cost sensor device)ที่ใครๆก็สามารถหาซื้อมาใช้ได้ เพื่อการเฝ้าระวังตัวเองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หรือใช้ในบริเวณที่ไม่มีสถานีตรวจวัดมาตรฐานของรัฐ และด้วยราคาที่ไม่แพงอย่างที่ว่า รวมทั้งเนื่องจากค่าที่อ่านจากเครื่องมือราคาถูกนี้ในบางเวลาที่วิกฤติ(เช่น ช่วงเช้าไปจนถึงสาย ก่อนที่แดดแรงจะออก อันทำให้อากาศร้อนและยกตัวสูงขึ้น)จะมีตัวเลขสูงมาก ทำให้จุดวัดในแผนที่ประเมินออกมาเป็นสีแดง แสดงให้เห็นว่าเป็นภาวะอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจไปว่าตัวเลขของทางราชการหรือภาครัฐนั้นหมกเม็ด ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเราในฐานะนักวิชาการด้านนี้ใคร่ที่จะขออธิบายข้อสงสัยนี้ในย่อหน้าถัดๆไป ดังนี้

เราอยากจะบอกว่าการที่จะวัดค่าฝุ่น ณ นาทีใดนั้นทำได้ ดีด้วย คือดีสำหรับใช้ระวังตัวเอง โดยเฉพาะคนที่อ่อนไหวต่อฝุ่นจิ๋ว PM2.5 แต่จะเอาค่าที่วัดได้เป็นรายนาที ณ ขณะนั้นหรือเฉลี่ยรายชั่วโมงไปเทียบกับค่ามาตรฐานรายวัน(24 ชั่วโมง)นั้นไม่สามารถทำได้ (มันคล้ายๆกับมาตรฐานเขากำหนดว่าให้วัดความยาวเป็นนิ้ว แต่เรากลับไปวัดเป็นเซนติเมตร ซึ่งสำหรับของที่ยาวเท่าๆกัน หากวัดเป็นเซนติเมตรก็จะได้ตัวเลขมากกว่ากรณีวัดเป็นนิ้ว เช่น ของสิ่งหนึ่งเมื่อวัดเป็นนิ้วได้ 4 นิ้ว พอไปวัดเป็นเซนติเมตรก็จะได้ตัวเลขเป็น 10 เซนติเมตร ซึ่งมากกว่าตัวเลข 4 (นิ้ว)) ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก(WHO)จึงไม่ทำ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา(US EPA) ก็ห้ามทำ คือถ้าจะเทียบ ต้องเทียบกับมาตรฐานรายนาที หรือรายชั่วโมง หรือมาตรฐานสำหรับ ณ ขณะนั้น

แล้วทำไมไม่เทียบล่ะถ้างั้น ที่ไม่เทียบเพราะมันเทียบไม่ได้ และที่เทียบไม่ได้เป็นเพราะมาตรฐานรายนาที/ รายชั่วโมงมันไม่มี ขนาดองค์กรระดับโลกอย่าง WHO ยังไม่มี และ US EPA ก็ไม่มี ประเทศไหนๆก็ไม่มี และที่ไม่มีก็เพราะในปัจจุบันไม่สามารถจะมี ที่ไม่สามารถจะมีก็เพราะความรู้เรามีไม่พอ ข้อมูลไม่พอ งานศึกษาวิจัยยังมีไม่พอ ซึ่งหากถ้าพอเมื่อใดก็จะกำหนดมาตรฐานรายนาที/ รายชั่วโมงได้ เราเข้าใจว่า นักวิจัยทางระบาดวิทยาในหลายประเทศกำลังทำเรื่องนี้กันอยู่ และสักวันเราจะมีมาตรฐานรายชั่วโมงออกมาให้ใช้กัน

สมมติว่าเรามาถึงวันนั้น วันที่เรามีมาตรฐานรายนาที/ รายชั่วโมงกันแล้ว ซึ่งก็จะปลอดภัยขึ้นสำหรับคนที่อ่อนไหวต่อปัญหาฝุ่นจิ๋วนี้ แต่มีข้อสังเกตว่าสำหรับค่ามาตรฐานที่ได้มาใหม่นี้นั้น เราต้องเข้าใจให้ถ่องแท้และจำให้ขึ้นใจว่า ตัวเลขจะไม่เท่ากับตัวเลขของมาตรฐาน(ของเดิมที่เป็นรายวัน)24 ชั่วโมง ค่าใหม่นี้จะสูงกว่าค่ามาตรฐานรายวันหรือราย 24 ชั่วโมงอย่างมาก อาจเป็นเท่าหรือหลายเท่า แต่จะสูงกว่าเท่าไหร่นั้นไม่มีใครรู้ได้ ณ นาทีนี้

เพื่อให้เข้าใจบริบทของความเป็นพิษของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ได้ดีขึ้น เราขอให้ข้อมูลเพิ่มอีกสักนิด ว่า มาตรฐาน PM2.5 นี้ ในปัจจุบันไม่ได้มีแค่ราย 24 ชั่วโมง หลายประเทศทั่วโลกมีมาตรฐานเป็นรายปีด้วย ซึ่งมาตรฐานรายวันหรือ 24 ชั่วโมงนี้ ของทั้ง WHO และทุกประเทศจะมากกว่ามาตรฐานรายปีเสมอ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ยิ่งเป็นมาตรฐานสำหรับเวลาสั้นๆ ตัวเลขของค่ามาตรฐานจะยิ่งสูง เช่น มาตรฐานรายวัน(24 ชั่วโมง)จะมากกว่ามาตรฐานรายปี เหตุผล คือ ความเป็นพิษของฝุ่นนี้เป็นความเป็นพิษแบบสะสม (ดู ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน ๓) จึงต้องใช้เวลานานหลายสิบปีจึงจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพขึ้น และในแต่ละปีนั้นจะมีค่าวัดในแต่ละเดือนแตกต่างกัน บางเดือนค่าสูง บางเดือนค่าต่ำ ซึ่งในช่วงเดือนที่ค่าฝุ่นน้อยก็จะไปเฉลี่ยกับค่าวัดในเดือนที่ค่าสูง ทำให้ค่าเฉลี่ยโดยรวมของทั้งปีต่ำกว่าค่าที่สูงๆในเดือนหนึ่งๆ

ดังนั้น ตัวเลขของมาตรฐานรายนาทีหรือเวลาจริง(real time) ณ ขณะนั้น(ถ้ามี)ก็จะต้องมากกว่าตัวเลขของมาตรฐานรายชั่วโมง และตัวเลขของมาตรฐานรายชั่วโมงก็ต้องมากกว่าตัวเลขของมาตรฐานราย 24 ชั่วโมง รวมทั้งตัวเลขของมาตรฐานราย 24 ชั่วโมงก็ต้องมากกว่าตัวเลขของมาตรฐานรายปีตามลำดับ

สมมติว่า เมื่อตัวเลขมาตรฐานรายนาที(หรือเวลาจริง)มีค่า 150 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตร ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย 50 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตรตามมาตรฐาน 24 ชั่วโมงของไทย เมื่อเอาค่าที่วัดได้ ณ นาทีนั้น เช่น อ่านค่าได้ 100 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตรไปเทียบกับตัวเลข 150 ข้อสรุปก็จะต่ำกว่ามาตรฐานและดูไม่อันตรายเท่ากับการไปเทียบกับมาตรฐานรายวัน 24 ชั่วโมง(50 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตร) อย่างที่เคยทำๆกันมา

เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงมีข้อสังเกตเชิงวิชาการว่า เรื่องฝุ่นนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจกันมากและเป็นเรื่องที่กระทบต่อสุขภาพของคนจำนวนมากได้พร้อมๆกัน รัฐจึงต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันการทำความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

แต่ในเวลาเดียวกันความเป็นพิษของ PM2.5 นั้นเมื่อเรามีความรู้มากขึ้น และเริ่มรู้แล้วว่าอาจเป็นพิษแบบกึ่งเฉียบพลันหรือเฉียบพลันทันทีก็ได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนอ่อนไหวต่อฝุ่นพิษ เช่น เด็กเล็ก คนชรา สตรีมีครรภ์ คนที่มีปัญหาโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นเราคงต้องภาวนา เร่งให้มีมาตรฐานรายชั่วโมงหรือรายนาที หรือ real time ออกมาเร็วๆ แต่เชื่อสิ มาตรฐานรายนาทีและ real time คงออกไม่ได้ เพราะมันยากเกินความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้าพูดเป็นมาตรฐานรายชั่วโมงยังพอจะมีหวัง

เท่าที่ทราบสิงคโปร์ก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก มากกว่า WHO เสียอีก คือ ได้มีคำแนะนำให้ประชาชนใช้เป็นค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 แล้ว

โดยจะใช้กับ กรณีวิกฤติเมื่อเกิดหมอกฝุ่นควันข้ามพรมแดน จากประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้จากวิกฤติไฟป่าที่ออสเตรเลียก็ทำให้ประเทศออสเตรเลียเริ่มมีการใช้ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงของ PM2.5 แล้ว เช่นกัน แต่นั่นก็หมายถึงว่า เราต้องวัดต่อเนื่องทั้งชั่วโมง ซึ่งจะมีค่าสูงค่าต่ำในนาทีหนึ่งๆได้ แล้วเอาตัวเลขกลุ่มนั้นมาหาค่าเฉลี่ย แล้วจึงเอาค่าเฉลี่ยที่ได้นั้นมาเทียบกับมาตรฐานรายชั่วโมงที่ได้มาใหม่นี้

ทว่า ถ้ายังวัดเป็นรายนาที เป็นเวลาจริง(real time) แล้วเอาตัวเลขรายนาทีหรือเวลาจริงไปเทียบกับมาตรฐานรายชั่วโมง ก็ผิดอีก

ยุ่งไหมล่ะคะ(ครับ) เรื่องนี้

และที่ยุ่งไปกว่านั้นอีก สำหรับกรณีสิงคโปร์ คือ ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงที่เขากำหนดนั้น มันเป็นเพียงเกณฑ์แนะนำ(ไม่ใช่มาตรฐาน ต่างกันแยะสำหรับคำ 2 คำนี้) ไว้สำหรับประชาชนเทียบว่าควรจะปรับพฤติกรรมหรือไม่อย่างไร เช่นจะเลิกออกกำลังกลางแจ้ง หรือเลิกเล่นกีฬาหรือไม่ แต่ไม่ใช่บอกว่าค่านั้นๆอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ถ้าจะเอาไปวิเคราะห์ว่าอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ สิงคโปร์ก็ยังใช้ค่ามาตรฐาน 24 ชั่วโมงอีกเช่นเดิม

งงไหมล่ะคะ(ครับ) ถึงได้บอกว่าเรื่องนี้มันไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิดนะคะ(ครับ)

อ่านเพิ่มเติม ฝุ่นพิษ PM 2.5 มีหลายหน้า แต่ “Chemical Smog”ตัวการร้าย ชี้รัฐไม่แก้ที่ต้นตอ ถามดังๆ “เกรงใจใครหรือเปล่า!”