ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > เชฟรอน จับมือ ทช. – จุฬาฯ รื้อแท่นผลิตปิโตรเลียม 8 ขา ทำปะการังเทียม ฟื้นฟูธรรมชาติทางทะเลเกาะพะงัน

เชฟรอน จับมือ ทช. – จุฬาฯ รื้อแท่นผลิตปิโตรเลียม 8 ขา ทำปะการังเทียม ฟื้นฟูธรรมชาติทางทะเลเกาะพะงัน

9 พฤษภาคม 2019


เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) (กลาง) , นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนาม MOU “โครงการนำร่อง การใช้ขาแท่นหลุ่มผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่น ไปวางเป็นปะการังเทียม เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี” ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) “โครงการนำร่อง การใช้ขาแท่นหลุ่มผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ความเป็นมาของโครงการนี้เป็นผลจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมาย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดทำโครงการนำร่อง โดยนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจำนวน 8 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้มอบหมายให้ ทช.ติดตามและประเมินผลสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ที่วางปะการังเทียม ศึกษาประโยชน์ที่ได้รับจากแหล่งปะการังเทียม เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของประเทศ และส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงความอุดมสมบูรณ์ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะเป็นผู้กำกับดูแล ติดตามประเมิน และดูแลพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตจัดวางปะการังเทียม ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ทั้งนี้ บริษัทเชฟรอนฯ จะมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วจำนวน 8 ขาแท่น ให้แก่ ทช. เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุในการจัดทำปะการังเทียม รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณ และการเคลื่อนย้ายจัดวางแท่นผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่เกาะพะงัน ส่วนศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการ และสนับสนุนงานด้านการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ

นายไพโรจน์ กวียานันท์
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 56 ปีของการดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับประเทศ เรายังมุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่ดีกับสังคมไทยในทุกๆ ด้าน รวมถึงสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของประเทศอย่างยั่งยืน

“การลงนามในบันทึกความร่วมมือกับ ทช.ครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาใช้เป็นปะการังเทียม เนื่องด้วยลักษณะโครงสร้างที่ซับซ้อน ผลิตจากเหล็กกล้าเพื่อการใช้งานในทะเล มีน้ำหนักประมาณ 300-700 ตัน จึงมีความมั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญ แท่นผลิตปิโตรเลียมที่จะนำไปวางไม่มีส่วนใดสัมผัสปิโตรเลียมมาก่อน จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิต โดยจัดวางห่างจากเกาะพะงันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 8 ไมล์ทะเล และจากหินใบไปทางตะวันออกประมาณ 7 ไมล์ทะเล โดยใช้พื้นที่จัดวางปะการังเทียมประมาณ 0.07 ตารางกิโลเมตร” นายไพโรจน์กล่าวเพิ่มเติม

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่เกาะพะงัน ได้มีโครงการต้นแบบโดยมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่ศึกษาการใช้โครงสร้างเหล็กมาวางเป็นปะการังเทียม ในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ซึ่งพบว่ามีความเหมาะสมในการเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและ สิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวและการประมง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง ภายใต้วงเงินสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ทั้งสิ้น 34.8 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการวางแผน และการเคลื่อนย้ายขาแท่นผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำไปทำปะการังเทียม)

    ระยะแรก ใช้เวลา 2 ปี จะเป็นการศึกษาทางด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา การติดตาม ผลกระทบจากการวางปะการังเทียม การประกาศพื้นที่คุ้มครอง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะช่วยกันรักษาพื้นที่คุ้มครองนี้
    ระยะที่ 2 ใช้เวลา 4 ปี จะเป็นการติดตามต่อเนื่องจากระยะแรกเพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาอยู่อาศัยในแนวปะการัง และการเข้าใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย

รศ. ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ศูนย์บริการวิชาการจุฬาฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ความรู้ใหม่ จากการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วมาวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการศึกษา ติดตาม และตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ในทะเล และประโยชน์ที่ได้รับจากแหล่งปะการังเทียม และร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผลจากการศึกษานี้จะมีส่วนช่วยให้หน่วยราชการและหน่วยงานวิชาการ ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนงาน และการจัดการปะการังเทียม ไม่เพียงเฉพาะจากโครงสร้างขนาดใหญ่เท่านั้น แต่อาจรวมถึงการจัดการในภาพใหญ่ระดับประเทศด้วย”

ส่วนแผนการติดตั้งขาแท่นปิโตรเลียม 8 ขา เพื่อใช้ทำแนวปะการังเทียมที่เกาะพะงันนั้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2562 โดยใช้เรือยกขนาดใหญ่ ยกขาแท่น ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 300-700 ตัน ขึ้นจากหลุมผลิตปิโตรเลียม และใช้เรือลากขาแท่นฯ ไปยังพื้นที่เป้าหมาย โดยมีขาแท่นบางส่วนจมอยู่ในน้ำอยู่ (wet towing) เหนือพื้นทะเลประมาณ 10 เมตร ทั้งนี้ เพื่อรักษาสิ่งมีชีวิตที่เกาะติดอยู่บนขาแท่น เมื่อถึงพื้นที่เป้าหมายที่มีระดับความลึกประมาณ 40 เมตร (วัดในช่วงระดับน้ำต่ำสุด) ก็จะวางขาแท่นฯ ตามแนวนอน จากนั้นก็ติดตั้งทุ่นแสดงตำแหน่งปะการังเทียม รวมทั้งแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพเรือ กรมเจ้าท่ากรมประมง ให้ทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งของปะการังเทียม

โครงการทดลองจัดวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลเกาะพะงัน

ในช่วงปี 2556 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย องค์กรชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชาวประมง ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เกาะพะงัน นำโครงสร้างเหล็กมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ภายหลังการจัดวางโครงสร้างเหล็กเป็นแนวปะการังที่เกาะพะงันเสร็จเรียบร้อย ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็เริ่มทำการศึกษาและประเมินผลต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556-2559 พบว่า โครงการนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างชัดเจน โดยมีสัตว์น้ำวัยอ่อนเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวนี้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำที่สำคัญ ช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวบริเวณแนวปะการังจริง โดยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ปะการังเทียม ดังนี้

    1. ตรวจพบกลุ่มปลาชนิดต่างๆ อย่างน้อย 19 ชนิด เช่น ปลาเก๋า, ปลากะพง, ปลาทรายขาว และปลาสลิดหิน เป็นต้น
    2. มีกลุ่มปะการังแข็งกลุ่ม ปะการังอ่อน ปกคลุมพื้นที่ปะการังเทียมเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป
    3. พบกลุ่มสัตว์หน้าดินทั้งหมด 7 กลุ่มหลัก ได้แก่ ฟองน้ำ, สาหร่ายท่อ,หอยสองฝา,หอยฝาเดียว, เพียงหิน, เพียงภูเขาไฟ, สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง, เพียงหอม และไบรโอซัว เป็นต้น

ทั้งนี้ การจัดทำและจัดวางปะการังเทียม มีความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำหน้าที่คล้ายแนวปะการังธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งอาศัย หลบภัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน จึงช่วยเพิ่มประมาณสัตว์น้ำ นอกจากนั้นยังเป็นฐานสำหรับการลงยึดเกาะของตัวอ่อนปะการัง ช่วยฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่แนวปะการังธรรมชาติ การออกแบบการจัดวางปะการังเทียมยังใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มแหล่งดำน้ำช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล และลดจำนวนนักท่องเที่ยวดำน้ำออกจากแนวปะการังธรรมชาติ ลดการทำลายแนวปะการังธรรมชาติจากกิจกรรมท่องเที่ยวได้อีกด้วย ซึ่งดำเนินการและประสบผลสำเร็จในหลายพื้นที่

สำหรับการจัดทำปะการังเทียมในทะเลสามารถเลือกใช้วัสดุได้หลากหลายชนิด เช่น ไม้ , เปลือกหอย , หินคอนกรีต , รถยนต์, ตู้รถไฟ, รถถัง, เรือรบ, เครื่องบิน, รูปปั้นประติมากรรม และขาแท่นผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น