ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ย้ำวิกฤตไวรัสโคโรนา รัฐบาล “เอาอยู่” – มติ ครม.อนุมัติสร้างรถไฟสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน

“บิ๊กตู่” ย้ำวิกฤตไวรัสโคโรนา รัฐบาล “เอาอยู่” – มติ ครม.อนุมัติสร้างรถไฟสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน

28 มกราคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

“บิ๊กตู่” ย้ำวิกฤตไวรัสโคโรนา รัฐบาล “เอาอยู่” – มติ ครม.อนุมัติสร้างรถไฟสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ย้ำวิกฤตไวรัสโคโรนา รัฐบาล “เอาอยู่”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงสถานการณ์การรับมือโรคปอดอักเสบไวรัสโคโรนาว่า ตนได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว คงเข้าใจกันมากพอสมควรในการแก้ปัญหาทั้งระบบของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในประเทศจะต้องสอดคล้องกับการดำเนินการของประเทศต้นทางที่มีการแพร่ระบาดระยะแรก และจะต้องมาแก้ไขการแพร่ระบาดในประเทศไทย

“วันนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาไวรัสโคโรนา”

พล.อ. ประยุทธ์  กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่เราเป็นมิตรประเทศกัน มั่นใจว่าทางการจีนจะสามารถคุมสถานการณ์ไว้ได้ และเขาก็เคยผ่านสถานการณ์เหล่านี้มาพอสมควร สำหรับประเทศไทยก็มีประสบการณ์ในการควบคุมโรคระบาดลักษณะนี้ โรคใหม่ ทั้งซาส์ ไข้หวัดนก และไทยก็อยู่ในลำดับที่ 6 ของโลก ถือว่าเป็นลำดับๆ ต้นของโลก จากการจัดอันดับโดย The Global Health Security Index ในการควบคุมโรคระบาด ซึ่งตนขอให้มั่นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล

“โดยสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 อันดับ 2 สหราชอาณาจักร อันดับ 3 เนเธอร์แลนด์ อันดับ 4 ออสเตรเลีย อันดับ 5 แคนาดา ประเทศไทยอันดับเหนือกว่าสวีเดน เดนมาร์ก เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ ก็ขอให้มั่นใจและเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขและรัฐบาล แต่เราจำเป็นต้องปรับมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสม ตามสถานการณ์ความรุนแรง ถ้าเราเอาจากหลายๆ ประเทศมา ก็ต้องดูว่าอะไรที่ทำได้บ้าง ซึ่งวันนี้ตนได้ให้ฝ่ายความมั่นคงหน่วยแพทย์ต่างๆ ของทหาร ช่วยกันทำงานสาธารณสุข ที่ทำงานหนักมาตลอดเวลาหลายวัน ต้องให้กำลังใจเขา”

ต่อคำถามถึงมาตรการนำคนไทยที่เมืองอู่ฮั่นกลับประเทศ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า อย่าใช้คำว่าติดขั้นตอนตรงไหน ขอให้ทราบขั้นตอนด้วย วันนี้อย่างน้อยอยากบอกให้ครอบครัวได้อุ่นใจ เรามีแผนรับกลับแล้ว พร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที ระหว่างนี้ตนได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศไปดูแลช่วยเหลือคนไทย ประสานว่าจะไปรับได้อย่างไรเนื่องจากมีข้อมูลอยู่แล้ว สำหรับคนที่ต้องการกลับ พร้อมเตรียมรับกลับทันทีหากได้รับการอนุญาตจากทางการจีน

“วันนี้ทีมแพทย์ไทยก็ติดต่อคนไทยในเมืองอู่ฮั่น ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อสอบถามให้เกิดความสบายใจ และพร้อมที่จะรับกลับทันทีหากได้รับอนุญาติจากทางการจีน ซึ่งวันนี้จีนอยู่ในการจัดลำดับการเข้าออกในการส่งกลับ คนไทยที่อยู่ในเมืองอู่ฮั่นก็ได้รับการดูแลจากสถานทูตและรัฐบาลจีนอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน เราได้ประสานสถานทูตจีนในไทย และไทยในจีนด้วยว่ามาตรการของจีนมีอย่างไร และเราจะมีมาตรการเสริมอย่างไร เราเผชิญปัญหาคนละอย่างสองอย่างต้องช่วยกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยอมรับคอร์รัปชันยังมี – ชี้รัฐบาลนี้เอาผิด ขรก.โกง อย่างไม่เคยมีมาก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : IT) ประกาศคะแนนดัชนีการทุจริต (CPI) ไทยได้ 36 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ ลดลงจากปีก่อน ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้นำมาพิจารณาแล้วผู้เชี่ยวชาญก็มองว่า การแก้ปัญหาการให้สินบน การตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ และความโปร่งใสยังมีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา

“อยากเรียนว่าถ้าเราเอาข้อมูลมาจาก 9 แหล่งข้อมูล ของเราดีขึ้น 5 ต่ำลง 4 ทั้งนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลได้วย เราพยายามทำอย่างเต็มที่ จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินคดีกับข้าราชการระดับสูงจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขอให้ทุกคนเอาเรื่องนี้มาพิจารณาด้วย”

“แต่การตรวจสอบต่างๆ บางทีก็ตรวจสอบจากบริษัทที่ให้สินบนบ้างอะไรบ้าง ซึ่งจริงหรือไม่จริงบางทีเราก็ตรวจสอบไม่ได้ หากจริงเราก็ต้องขอโทษ ทุกปัญหาที่ร้องเรียนมาเราตรวจสอบทุกอัน หากไม่เป็นข้อมูลเท็จหรือกลั่นแกล้งกันผมก็สั่งการให้ดำเนินการทุกรายตามกฎหมาย ผลจะออกมาอย่างไรเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยอมรับว่า การคอร์รัปชันยังคงมีอยู่ ซึ่งตนได้เน้นย้ำไปว่า การให้บริการประชาชนตามสถานที่ราชการต่างๆ แม้กระทั้งการอำนวยควรมสะดวกเล็กๆ น้อยๆ บางทีต้องไปยอมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ 3,000-5,000 บาท หากมีการตรวจสอบพบจะต้องมีการดำเนินการทันที ฉะนั้นก็ขอให้ร้องเรียนมาได้ เว้นแต่ประชาชนต้องการลัดขั้นตอนเสียเอง กรณีเช่นนี้ต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย

ไม่หวั่นศึกซักฟอก-ลั่นไทยเป็น ปชต.เต็มรูปแบบแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านตั้งเป้าซักฟอกตัวนายกฯ และ 3 ป.เป็นหลักในการอธิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า เป็นเรื่องที่ออกมาตามสื่อ และเป็นการคาดเดาทั้งสิ้น ตนคิดว่ารัฐมนตรีทุกท่านพร้อมชี้แจง ซึ่งตนได้สั่งการไปในที่ประชุมแล้ว ให้รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยต่างๆ ไปร่วมกันชี้แจง

“มันเป็นเรื่องของคำถาม คำอภิปรายเสร็จแล้วก็ไม่ได้ฟังคำตอบ ออกไปแล้ว คนถามคนพูดก็ออกไป คนอธิบายก็อธิบายไป แต่ข้อสำคัญคือมีประชชนรับฟังที่บ้านด้วย ขอให้ตั้งสติให้ดี พิจารณาว่าอะไรจริงอะไรเท็จ รัฐบาลทำอย่างเต็มที่แล้วทุกเรื่อง และวันนี้เราต้องยอมรับว่าเราเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยเต็มรูปแบบแล้ว เราเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้ง ต่างประเทศก็ยอมรับและปรับอันดับความเป็นประเทศประชาธิปไตยของไทยขึ้นมาถึง 38 อันดับ จะบอกว่าผมไม่ได้รับการยอมรับได้อย่างไร วันนี้เราเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถือว่าเลื่อนขึ้นมากที่สุดในโลก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนนั้นยอมรับการตรวจสอบผ่านสภา รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ นั้นเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งตนได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอดและไม่เคยหาวิธีหลบเลี่ยง ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นตนและรัฐบาลต่อไป

โยนศาล รธน.ชี้ขาดปมร่าง พ.ร.บ.งบ 63

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2563 เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพื่อลงมติใหม่อีกครั้ง ว่า กรณีดังกล่าวต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน รัฐบาลได้ศึกษาหาแนวทางในเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว ข้อกังวลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติและศาล ซึ่งจะต้องร่วมกันหาทางออกให้ประเทศร่วมกัน

“ผมมั่นใจว่าทุกฝ่ายถ้าร่วมมือกันช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันหาทางออก ในสถานการณ์ที่กำลังวิกฤติอยู่ในขณะนี้ เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ หวังว่าทุกฝ่ายจะตั้งใจที่จะทำให้ประเทศและประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุดในภาวะที่มีปัญหาแวดล้อมมากมายในปัจจุบัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

วอนชาวสวนยางเข้าใจ รบ.ไม่สามารถทำทุกนโยบายพร้อมกันได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีชาวสวนยางภาคใต้ออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐทำตามสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ เรื่องราคายางกิโลกรัมละ 65 บาท ว่า ตนเคยบอกแล้วว่า เรื่องที่หาเสียงไว้ไม่ใช่ว่าจะได้ทั้งหมด จะเห็นว่าหลายอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนการใช้งบประมาณ ต้องมีประสิทธิภาพตามวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่ เพราะไม่สามารถทำทุกนโยบายพร้อมกันทีเดียวได้

ซึ่งในช่วงนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณที่จะให้ความช่วยเหลือคนพิการเพิ่มขึ้น โดยมีการเพิ่มเบี้ยคนพิการจาก 800 บาทต่อเดือน เป็น 1,000 บาท จะเห็นได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 การเพิ่มเงินจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท ในขณะนี้ใช้เงินกว่า 4,000 ล้านบาท จะเห็นว่าการปรับเพิ่มเงินต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้กระทั่งเงินเพียง 200 บาทก็ตาม ขอให้เข้าใจรัฐบาลที่ต้องบริหารงบประมาณให้เหมาะสม ขอความร่วมมือให้ประชาชนเข้าใจด้วย

ต่อกรณีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ปัญหาของชาวสวนยางปัญหาหลักก็คือเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงพฤติกรรมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนการปลูกยางไปบ้างแล้ว เช่น การปลูกพืชอื่นเสริมร่องเว้นร่อง ต้องมีการช่วยกันแบบนี้ หากยังผลิตออกมามากๆ อยู่อย่างนี้ ไม่มีทางที่ราคาจะเพิ่มขึ้นได้ เพราะสต็อกก็มากขึ้นทุกที

“เราต้องส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้มากยิ่งขึ้น อันนี้ก็มีความคืบหน้ามาตามลำดับ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นพื้นฐานที่รัฐบาลตั้งใจจะแก้อย่างจริงจัง แต่ต้องยอมรับว่าการดำเนินการอะไรก็ตามแม้กระทั่งการใช้ Agri-Map หรือการโซนนิงพื้นที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้มากนัก เพราะเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมของเกษตรกร ซึ่งต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่ผมไม่ท้อและเข้าใจดีถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร แต่ต้องเข้าใจว่าเราจะเดินหน้ากันไปอย่างไรในการทำให้เกิดความยั่งยืน เราไม่สามารถเข้าไปอุ้มมากๆ เช่นเดิมต่อไปได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ไฟเขียวมาตรการภาษี – สินเชื่อดอกต่ำ กระตุ้นลงทุนแสนล้าน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

  1. การหักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรได้ 2.5 เท่า ซึ่งสูงกว่าที่ปกติจะให้ 2 เท่า ทั้งนี้ การหักค่าใช้จ่ายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกให้หัก 1 เท่าแรก อีกส่วนให้เฉลี่ยหักหักรายจ่ายเป็นระยะเวลา 5 ปี ปีละเท่าๆ กัน โดยคาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษี 6,600 ล้านบาทต่อปีเป็นระยะเวลา 5 ปี
  2. การยกเว้นอาการขาเข้าเครื่องจักรใหม่และไม่เคยใช้งาน จำนวน 146 ประเภทและคาดว่าจะสูญเสียภาษีอากรขาเข้าประมาณ 2,000 ล้านบาท
  3. มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อการผลิต โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) โดยคิดดอกเบี้ย 2% ในปีที่ 1-2, prime rate-2 หรือ 4% ในปีที่ 3-5 และ prime rate ที่ 6% ในปีที่ 6-7

ทั้งนี้ 3 มาตราการดังกล่าวข้างต้นคาดว่าจะส่งเสริมให้มีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 110,000 ล้านบาท และช่วยให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นราว 0.25% และ มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563

เพิ่มค่าทำศพผู้ประกันตน เป็น 50,000 บาท

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง โดยมีสาระสำคัญคือการปรับสวัสดิการของผู้ประกันตนในกรณีค่าทำศพจาก 40,000 บาทเป็น 50,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ตั้งคณะ กก.รับมือโรคระบาด 59 คน ให้ “อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการเดียวกับที่เคยแต่งตั้งในปี 2557 โดยมีประธานคือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้ทรงคุณวุฒิ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อ รวมแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 59 คน

เพิ่มเบี้ยคนพิการจาก 800 เป็น 1,000 บาท เริ่ม ต.ค.63

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติเพิ่มเบี้ยผู้พิการจากปัจจุบัน 800 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน เพราะจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนพิการได้ และไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการคลังเพิ่มมากขึ้นจนเกินไป สถานะทางการเงินของผู้พิการ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและมีรายได้น้อยมาก เฉลี่ยเดือนละ 4,326 บาท การปรับปรุงเบี้ยผู้พิการให้ตอบสนองความต้องการที่จำเป็นจะช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากฐานทะเบียนกลาง กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2562 มีจำนวนคนพิการที่ทำบัตรผู้พิการ 2.02 ล้านคน การปรับเบี้ยผู้พิการเพิ่มขึ้นนี้จะทำให้ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 4,852 ล้านบาท/ปี โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ให้แก่ผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการและผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณผ่านกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ปีงบประมาณ 2564

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้

  1. ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ให้ทุกส่วนราชการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ เช่น ทางลาดขึ้นลงอาคาร ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การออกแบบอาคารเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ โดยกำหนดให้เป็นเงื่อนไขในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร
  2. ด้านการสร้างอาชีพ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการ 1) จัดทำบัญชีคนพิการโดยแยกประเภทตามความพิการ คุณวุฒิเฉพาะด้านของคนพิการ เพื่อเป็นข้อมูลในการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐและการทำงานที่บ้าน 2) กำหนดเป้าหมายการรับคนพิการเข้าทำงานในแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ให้กระทรวงแรงงาน ติดตามและตรวจสอบการจ้างงานคนพิการของนายจ้างหรือผู้ประกอบการต่างๆ ให้ดำเนินการถูกต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด เพื่อให้คนพิการได้เข้าทำงานจริงและเปิดโอกาสให้ได้รับการพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ
  3. ด้านสิทธิประโยชน์ ให้กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาแนวทางปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการด้านสุขภาพของคนพิการที่มีงานทำและเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และคนพิการที่ยังไม่มีงานทำและเป็นผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีความสอดคล้องเท่าเทียมกัน

ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผลิตสินค้า

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน พ.ศ. …. เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเศษอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในราชอาณาจักร และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

โดยสาระสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้ คือ เป็นการห้ามมิให้โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อมาเป็นวัตถุดิบในโรงงาน ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่อื่นๆ สวิตช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทดและแอกติเวเต็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบีหรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล ตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.18 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 รวมถึงที่ปนเปื้อนสารอันตรายตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด

วางแผนลดแออัดเรือนจำ แก้ปม “นักโทษล้นคุก”

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบสถานการณ์และแนวทางการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ปัจจุบันสถานการณ์จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง จากสถานการณ์และแนวทางการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ พบว่า สถานการณ์ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 374,052 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562) ประกอบด้วย 1) ผู้ต้องราชทัณฑ์ จำนวน 364,488 คน แบ่งออกเป็นนักโทษเด็ดขาด 301,914 คน ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา ไต่สวนพิจาณา 59,699 คน และอื่นๆเช่น เยาวชนฝากขัง ผู้ต้องกักขัง ฯลฯ 2,875 คน 2) ผู้รอการตรวจพิสูจน์ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จำนวน 9,564 คน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังต่างชาติ จำนวน 14,275 คน รวม 103 สัญชาติ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2562) แบ่งเป็นเพศชาย 11,705 คน เพศหญิง 2,570 คน หากแบ่งตามสัญชาติของผู้ต้องขังที่มีจำนวนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ เมียนมา 5,212 คน รองลงมา คือ ลาว 3,160 คน กัมพูชา 2,107 ไนจีเรีย 402 คน และมาเลเซีย 401 คน ซึ่งไทยได้ทำสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษกับประเทศต่างๆ จำนวน 38 ประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา ไนจีเรีย จีน เวียดนาม อิหร่าน อินเดีย เป็นต้น โดยมีฐานความผิดที่มีผู้ต้องขังมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1. พ.ร.บ.ยาเสพติด/สารระเหย จำนวน 288,648 คน 2. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 28,516 คน และความผิดต่อชีวิต 19,647 คน

สำหรับสถานการณ์ความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ประเทศไทยมีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง โดยมีพื้นที่เรือนนอนของผู้ต้องขัง จำนวน 305,312.42 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ต้องขัง จำนวน 254,302 คน แต่ในปัจจุบันมีผู้ต้องขังจำนวน 374,052 คน ซึ่งเกินอัตราความจุผู้ต้องขังที่จะรองรับได้ตามมาตรฐานของเรือนจำที่กำหนดไว้คือ ผู้ต้องขังชาย 1.2 ตารางเมตรต่อคน ผู้ต้องขังหญิง 1.1 ตารางเมตรต่อคน ทำให้เกิดความแออัดในเรือนจำและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขัง

กรอบแนวทางการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ประกอบด้วย 5 กรอบดำเนินงาน ดังนี้

  1. กฎหมาย จัดทำกฎหมายการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กฎหมายการโอนตัวนักโทษต่างประเทศ กฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ (ปรับชั้นโทษ/ติดเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM) ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด (พืชกระท่อม) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อ. เพิ่มโทษระดับกลาง (ม.18/1) ร่าง พ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรม และร่าง พ.ร.ฎ.มาตรการทางภาษีสำหรับนายจ้างและผู้ประกอบการที่จ้างงานผู้พ้นโทษ
  2. พักโทษ ลดโทษ และการใช้เครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) 1)ใช้ EM ในการปล่อยตัวชั่วคราว (ผู้ต้องขังระหว่าง) การคุมประพฤติ (รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ) และพักการลงโทษทั้งแบบปกติและแบบเหตุพิเศษ 2) เพิ่มเงื่อนไขหรือกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ต้องขังที่รับโทษ 1-3 ปี หรือ 1-5 ปี คดียาเสพติด รอการตรวจพิสูจน์ฯ ผู้หญิง คนป่วย ผู้สูงอายุ ฯลฯ
  3. อาชีพและการสร้างเรือนจำรูปแบบใหม่ 1) สร้างงานที่เหมาะสม เช่น เกษตรกรรม ปศุสัตว์ อุตสาหกรรม บริการ ฯลฯ 2) เรือนจำโครงสร้างเบา/เรือนจำเฉพาะทาง/การสร้างศูนย์ฝึกอาชีพครบวงจร
  4. การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 1) การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 3 ระบบ คือ สมัครใจ บังคับ และต้องโทษ 2) ปรับกระบวนการเพื่อปรับทัศนคติ “ติดคุกดีกว่าบำบัด” 3) ปรับระยะเวลาการตรวจพิสูจน์ จากเดิม 45 วัน เป็น 30 วัน 4) เพิ่มโอกาสแก่ผู้เสพในการเข้าสู่กระบวนการบำบัด 5) พัฒนาหลักสูตรบำบัดฟื้นฟู
  5. การป้องกันยาเสพติด ขับเคลื่อนผ่านกองทุนแม่ของแผ่นดิน โรงเรียนสีขาว และหมู่บ้านป้องกันยาเสพติด (กองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) นำร่องในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที คือ 1) การปรับปรุงพื้นที่นอนในห้องขังให้เป็น 2 ชั้น จำนวน 94 แห่ง รวม 1,906 ห้อง งบประมาณ 207.463 ล้านบาท คิดเป็นพื้นที่ปรับปรุง 103,731.50 ตารางเมตร รองรับผู้ต้องขังได้ 86,442 คน และ 2) จัดหาเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 30,000 เครื่อง วงเงิน 877.264 ล้านบาท

อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มวงเงิน 1.4 แสนล้าน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ดพีพีพี) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เสนอ มูลค่าโครงการรวม 142,789 ล้านบาท ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด โดยโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP  Net Cross

สำหรับมูลค่าโครงการทั้ง 142,789 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการในส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก 14,661 ล้านบาท ค่างานโยธาโครงการฯ รถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก 96,012 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งโครงการต่อค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯวงเงิน 32,116 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ณ ปี 2569 อยู่ที่ประมาณ 4.39 แสนคนต่อวัน และคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 19.45%  โดยรัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนลงทุนค่างานโยธาไปก่อนและภาครัฐจะจัดสรรวงเงินทยอยคืนให้กับเอกชนหลังการให้บริการเดินรถเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี กำหนดระยะเวลาสัมปทานเดินรถ 30 ปี ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้บริหารจัดเก็บค่าโดยสาร คาดว่าจะเริ่มคัดเลือกเอกชนภายใน ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นการเปิดประมูลพร้อมกันทั้งในส่วนของภาคเอกชนที่จะเข้ามาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและการเดินรถไฟฟ้าในโครงการตลอดทั้งเส้นทาง จากนั้นจะเริ่มสำรวจและก่อสร้าง และจะสามารถปิดบริการได้ในปี 2569

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีข้อสังเกตเพิ่มเติม เช่น การกำหนดรูปแบบการคัดเลือกเอกชน เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ ต้องมีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนการพิจารณาความเหมาะสมในการจำกัดอัตราโดยสารสูงสุดของโครงการฯ การกำหนดเงื่อนไขร่างขอบเขตการดำเนินงานและให้มีกาจัดหารถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กระทรวงการคลังมีข้อสังเกตว่าในการดำนินโครการดังกล่าวไม่ควรใช้เงินกู้เป็นเงินร่วมลงทุนเพราะจะทำให้เกิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยของเอกชนได้ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเห็นว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยควรเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ผ่านร่าง กม.ลูกหนุนเกษตรกรปลูก “กัญชง” เชิงพาณิชย์

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชง (hemp) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขทดแทนกฎกระทรวงฯเดิมที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งมีความเข้มงวดและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกฎกระทรวงฯ ใหม่นี้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร

ขณะเดียวกัน ยังมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นของกัญชงนอกจากเส้นใย ได้แก่ ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนากัญชงให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานในระดับสากลเพื่อการส่งออกในอนาคตอีกด้วย

โดยมีสาระสำคัญ เช่น การอนุญาตให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ในเชิงพาณิชย์ โดยยื่นขอตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยนิติบุคคลจะต้องมีกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามเป็นผู้มีสัญชาติไทย

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การขออนุญาตผลิต จำหน่าย ครอบครอง หรือส่งออกกัญชง จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงฯ บังคับใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์กัญชงในประเทศไทย ป้องกันการนำเข้าและสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบจากต่างประเทศ และได้เพิ่มเติมการอนุญาตให้ครัวเรือนที่มีวัฒนธรรมในการใช้กัญชงเป็นสิ่งทอแบบดั้งเดิมสามารถปลูกกัญชงในครัวเรือนได้ โดยปลูกได้ครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องมีใบอนุญาตในการปลูก และปลูกสายพันธุ์ที่ได้รับอนุญาต เพื่อส่งเสริมการปลูกและการพัฒนาสายพันธุ์กัญชงของไทย

กำหนดค่าผ่านทาง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษ หมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นทางหลวงที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์ โดยจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมของยานยนต์แต่ละประเภทให้มีผลบังคับใช้ในวันที่อธิบดีกรมทางหลวงประกาศกำหนด

โดยทางหลวงพิเศษ บางใหญ่-กาญจนบุรี มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 96 กิโลเมตร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 โดยกรมทางหลวงได้พิจารณาค่าธรรมเนียมและค่าผ่านทางให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคต จึงได้กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง โดยรถ 4 ล้อ มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 10 บาท และคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริงในอัตรา 1.50 บาทต่อกิโลเมตร รถ 6 ล้อ มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 16 บาท คิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริงในอัตรา 2.40 บาทต่อกิโลเมตร และรถที่เกิน 6 ล้อขึ้นไป มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 23 บาท และคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง 3.45 บาทต่อกิโลเมตร

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการที่มีการควบคุมทางเข้า-ออกแบบสมบูรณ์ ผู้ใช้สามารถใช้ทางเข้า-ออกเฉพาะที่ออกแบบไว้เท่านั้น จึงเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูง รวมทั้งมีระบบอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยมากขึ้น เช่น การติดตั้งระบบทีวีวงจรปิด ระบบกู้ภัย ระบบป้ายแนะนำข้อมูลการจราจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมในตำแหน่งที่มีการผ่านเข้า-ออก รวมทั้งหมด 8 ด่าน ได้แก่ ด่านบางใหญ่, ด่านนครชัยศรี, ด่านชุมทางนครชัยศรี, ด่านนครปฐมฝั่งตะวันออก, ด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก, ด่านท่ามะกา, ด่านท่าม่วง, ด่านกาญจนบุรี

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 28 มกราคม 2563เพิ่มเติม