ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ไม่สนดวงเมือง-ปีชง เชื่อทำดีได้ดี – มติ ครม.หนุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนภาคใต้ 100 แห่ง

“บิ๊กตู่” ไม่สนดวงเมือง-ปีชง เชื่อทำดีได้ดี – มติ ครม.หนุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนภาคใต้ 100 แห่ง

2 มกราคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

“บิ๊กตู่” ไม่สนดวงเมือง-ปีชง เชื่อทำดีได้ดี – มติ ครม.หนุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนภาคใต้ขนาด 1.5-2 เมกะวัตต์ 100 แห่ง

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ซึ่งการประชุม ครม.ในวันนี้ถือเป็นการประชุม ครม. ครั้งแรกของปี 2563 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอวยพรก่อนการตอบคำถามสื่อมวลชน โดยระบุว่า

“ขอให้ปีใหม่เป็นปีแห่งความสำเร็จ เป็นปีแห่งความสุขของพวกเราทุกคน ของประชาชนทั้งหมด 67 ล้านคนของเรา รัฐบาลมีหน้าที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่ทับซ้อนกันอยู่หลายอย่าง ผมได้ให้นโยบายกับรัฐบาลไปแล้วว่าเราจะต้องทำทั้งสองอย่างไปด้วยกัน โดยเฉพาะปัญหาที่ดิน เรื่องน้ำ ต้องแก้ไขให้ได้โดยเร็ว คาดว่าจะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และเร่งรัดการดำเนินการภายในปี 2563 เพื่อให้ได้ข้อยุติในบางประการให้ทุกคนสบายใจ นอกจากนี้ผมได้ให้แนวทางการทำงานในปี 2563 ไปแล้วว่าต้องทำอย่างไรให้ตอบสนองประชาชนให้มากที่สุด โดยคำนึงถึงหลักการและงบประมาณที่มีอยู่ ขอให้ไปดูทั้งหมดว่ามีอะไรดีขึ้นหรือไม่ และขอให้ช่วยกันแก้ปัญหาพร้อมทั้งเสนอแนวทางที่ดีที่สุด”

ยันไม่นิ่งนอน เร่งแก้บาทเข็ง – ติงอย่าเอาแต่ติ ขอวิธีแก้ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจว่า เรื่องเศรษฐกิจไทย สามารถประเมินได้ตามสถานการณ์ โดยดูจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกแต่สิ่งสำคัญคือ การแก้ไขปัญหาจะทำอย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญที่ตนอยากฟังจากหลายๆ คน มากกว่าการมาบอกว่านั่นนี่ทำไม่ได้ ไม่ดี ไม่ใช่ แล้วก็โยนกลับมาว่ารัฐบาลทำไม่สำเร็จ แสดงว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ

“ก็ลองเสนอมาสิ ถ้าดีผมก็จะได้นำมาทำให้ หรือไม่ก็ต้องทำความเข้าใจว่ามันทำไม่ได้เพราะอะไร หลายอย่างถ้ามานั่งอยู่ตรงนี้จะรู้ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้หลายอย่างต้องมีกฎกติกาเยอะไปหมด กฎหมายก็มีถ้าทำไม่ถูกกฎหมายไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบวิธีการ ก็อันตรายแล้วใครจะรับผิดชอบ ต้องเห็นใจกันด้วย”

ต่อตอบคำถามถึงปัญหาค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะหลุด 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนั้นได้มีการหารือกันมาโดยตลอด และวันนี้ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามกันอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะหามาตรการเข้ามาเสริม มาตรการหลายอย่างออกไปแล้ว มีทั้งส่วนที่ดีขึ้น บางส่วนก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่มีปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้องด้วย

“วันนี้การค้าขาย ผลิตผลทางการเกษตรที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินสายเพื่อเจรจาตกลงทางการค้า ทั้งประเทศเยอรมันนี สหรัฐอเมริกา ตุรกีเป็นต้น จนสามารถตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรได้หลายรายการ นี่คือสิ่งที่เราต้องดูแลทั้งตลาดเก่า ตลาดใหม่ และตลาดชายแดน ทุกประเทศเขาตกหมด อะไรก็ตกตาม ฉะนั้นทำอย่างไรจะขึ้นไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะก็เป็นการค้าต่างตอบแทนกันด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้สิ่งที่ไทยมุ่งเน้นคือการค้าขายชายแดนที่มีมูลค่าสูง และการท่องเที่ยวที่ยังคงดีอยู่ เห็นได้จากหลายมาตรการที่ออกมาและมาตรการรองรับอีกหลายอย่างที่รัฐบาลกำลังทยอยดำเนินการออกไปตามห้วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเน้นย้ำว่าต้องไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหากประเทศชาติได้ประโยชน์คนในประเทศก็ได้ประโยชน์ไปด้วย หากเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนก็ไปไม่ได้

โยน “ชวน” สางปมโล๊ะตั้ง 6 ส.ว.เหล่าทัพเอง

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้โละทิ้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 6 คน ว่า ก็ว่ากันไป เป็นเรื่องของนายชวนที่เสนอ ต้องไปถามท่าน ตนไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ และเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแก้ไขอะไรได้หรือไม่อย่างไร ตนไม่ได้ไปเกี่ยวข้องตรงนี้ เป็นเรื่องของกรรมาธิการฯ ไปศึกษาว่ากันไปตามกระบวนการ

ไม่กังวลถูกซักฟอก –เพิ่งทำงานแค่ 5 เดือน อย่าใช้คติส่วนตัวตัดสิน

ต่อคำถามถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และคณะรัฐมนตรี 5 คน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่ามีปัญหาในการทำงาน เพราะเพิ่งทำมา 5 เดือนเองใช่หรือไม่ รัฐบาลนี้ 5 เดือนนะจำไว้ รัฐบาลที่แล้วก็รัฐบาลที่แล้ว แต่รัฐบาลนี้ 5 เดือน ฉะนั้นการอภิปรายครั้งนี้เป็นการอภิปรายนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ใน ครม.ชุดนี้ อย่าเอามาพันกันไปหมด มันจะเสียหายไปหมด ซึ่งจะทำให้สิ่งที่ทำไว้เสียไปด้วย ที่ทำดีๆ ไว้ก็เสียหายหมดเพราะไม่เข้าใจกัน แล้วจะทำงานกันอย่างไรต่อไป

“หลายอย่างรัฐบาลนี้ได้ทำในส่วนที่รัฐบาลก่อนๆ ทำไว้ดีผมก็ทำต่อ ผมไม่เคยไปว่าอะไรเขา เว้นแต่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เป็นเรื่องของกลไกกระบวนการยุติธรรมว่ากันไป จะมาเกี่ยวอะไรกับผม ดังนั้นอย่าเอาความไม่ชอบส่วนตัวมาว่า ประเทศชาติสำคัญกว่าอย่างอื่น ผมไม่ได้วิตกกังวลอะไรทั้งสิ้น ก็ชี้แจงไป สุดแล้วแต่ว่าวัตถุประสงค์นั้นทำไปเพื่ออะไร เราตอบได้ก็คือตอบ ก็ฟังกันบ้างในคำตอบ อย่าถามอย่างเดียวแล้วไม่ฟังคำตอบ ขอฝากประชาชนช่วยฟังคำตอบด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ยังไม่พอใจสถิติอุบัติเหตุ – ผุดไอเดียเปลี่ยนชื่อ “7 วันอันตราย”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงสถิติอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ที่ผานมา โดยตนอยากให้ยกเป็นกรณีศึกษายอดผู้บาดเจ็บและศูนย์เสียจากการจราจรช่วงปีใหม่ จะต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าเป็นการเสียชีวิตลักษณะใด สถานที่ใด ช่วงเวลาใด เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

“วันนี้รัฐบาล และหน่วยงานราชการต่างๆ ทำเต็มที่แล้วก็เป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น แม้ว่าจากการรายงานยอดการสูญเสียจะน้อยลง แต่ผมก็ยังไม่สบายใจ เพราะยังมีผู้เสียชีวิตมากว่าร้อยคนอยู่ หวังว่าในช่วงต่อไปที่มีเทศกาลใหญ่ เช่น เทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดหลาย จะทำอย่างไรที่จะลดผู้เสียชีวิตลงได้ทั้งนี้ สำหรับชื่อ 7 วันอันตราย หากตั่งชื่อแบบนี้ดูไม่สร้างสรรค์ก็ลองไปดูว่าจะเปลี่ยนเป็น 7 วันเทศกาลแห่งความสุขได้หรือไม่ ทุกคนจะได้คำนึงถึงความสุขและความปลอดภัยในการจรจร เพราะมีผลกระทบทั้งตนเอง ลูกหลานและค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นจากการประสบอุบัติเหตุ จึงต้องสร้างแรงจูงใจประเภทนี้หากมัวตำหนิกันไปมาก็ไม่เกิดอะไรขึ้น”

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ได้มีการสรุปผลการดำเนินการจัดงานปีใหม่ในแต่ละพื้นที่ ตนก็ขอบคุณเจ้าหน้าที่และจิตอาสาที่เข้ามาช่วยกันจำนวนมาก ทำให้การจัดงานปีใหม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวมถึงการช่วยกันดูแลปัญหาจราจร ส่วนปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากถนนสายรองและผู้ที่สูญเสียคือวัยหนุ่มสาว เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะสถิติการเพิ่มของประชากรน้อยลงการสูญเสียคนหนุ่มสาวเท่ากับสูญเสียแรงงาน

“ขอย้ำทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรัฐบาลทำฝ่ายเดียวไม่ได้ อย่างในพื้นที่กทม.มีผู้ร้องเรียนผู้ใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมากกว่า มีการขับรถปาดซ้ายปาดขวาหรือแซงขึ้นมาอยู่ต้นทางไฟแดง ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งและความไม่เอื้ออาทรต่อกัน เมื่อรถติดไฟแดงรถอยู่ตรงไหนก็ขอให้อยู่ตรงนั้นไม่ต้องแซงขึ้นมาข้างหน้า ทำให้เกิดความไม่เอื้ออาทรต่อกัน และทำให้เกิดการจราจรคับคั่งโดยใช่เหตุ ก็ขอฝากและขอความร่วมมือไว้ด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้ให้แนวคิดเรื่องการทำถนนหนทางหรือการขยายช่องทางจราจรให้มากขึ้น ต่อไปหากมีการทำถนนเส้นใหม่ หรือขยายช่องจราจร มีความเป็นไปได้ให้ดำเนินการก่อสร้างช่องทางใดเสร็จก่อนก็ให้ดำเนินการทันที ไม่ต้องรอเสร็จทั้งหมดกัน รวมถึงการปลูกสร้างขอให้อยู่ห่างไกลจากถนนหลักป้องกันปัญหาในอนาคตหากมีการขยายถนนออกไป

ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รายงานสถิติการสูญเสียในช่วง 7 วัน อันตรายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ต่อที่ประชุม ครม. ว่า มีความลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญโดยตัวเลข 6 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค.62-1ม.ค.63 ของเช้าวันนี้ ว่า ยอดอุบัติเหตุรวม 1,458 ครั้ง ลดลงจากปีก่อนที่มีตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุอยู่ที่ 1,517 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตในปีนี้เพียง166คน จากปีที่แล้ว 215 คน ขณะที่ มีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1,763 คน จากปีที่แล้ว 1,634 คน มูลค่าความเสียหายลดลงอยู่ที่ ประมาณ 7,450,000 บาท จากเดิม21 ล้าน โดยทางมหาดไทยจึงจะนำสถิติดังกล่าวมาวิเคราะห์ปรับแผนดูแลรักษาความปลอดภัย

เล็งเปลี่ยนพื้นที่เกษตรปลูกพืชพลังงาน รับมือภัยแล้ง

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มรุนแรงว่า ตนคิดว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้อาจจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา แม่น้ำสายหลักหลายสายก็แห้ง หลายสายก็มีน้ำทะเลเข้ามาลึกขึ้น อันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งแม่น้ำก็มาจากน้ำฝนที่จะผลักน้ำเค็มออกไปข้างนอก และเราทราบกันดีว่าฝนตกน้อย นี่คือปัญหาของเราที่เรามีมากกว่าปัญหาอื่น และเราต้องแก้ ขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่าปัญหาอะไรที่เราต้องแก้ ทำยังไงจึงจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้ เราต้องปรับตัวกันพอสมควร

ทั้งนี้ เกษตรกรก็ต้องทำความเข้าใจกันว่า บางอย่างที่ปลูกไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ ซึ่งรัฐบาลก็จะไปหาทางว่าจะทำอย่างไร จะมีมาตรการจ้างงาน หรืออาชีพเสริมให้หรือไม่ รัฐบาลกำลังคิดมาตรการเหล่านี้ อย่างไรก็ตามยังต้องงบประมาณที่จะออกมาในปี 2563 นี้ก่อน เพื่อดำเนินโครงการเหล่านี้ได้ทันที

“ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเตรียมการรับมืออย่างใกล้ชิด ในการขุดบ่อน้ำบาดาล หาแหล่งน้ำสำรอง ตั้งจุดแจกจ่ายน้ำประปา น้ำอุปโภค บริโภคผมสั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร  ส่วนเรื่องของพื้นที่เกษตรกรก็ต้องไปดูว่าจะทำยังไง ก็ให้แนวทางในเรื่องของพลังงานไป ซึ่งมีแผนงานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชุมชน ต้องหาพื้นที่ให้เหมาะสม และประชาชนมีส่วนร่วม และปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นพืชพลังงาน ที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คงทำไม่ได้แล้ว เพราะเต็มแผนไปแล้ว ใครจะไปพูดว่า จะมีการตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มันมีแล้ว เหลือเพียงไฟฟ้าที่จะต้องซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านตามกติกา และโรงไฟฟ้าชุมชนที่มีปริมาณไม่มากนัก เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ในพื้นที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้า หากทำได้ครบวงจรผมคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้ ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกคนด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ชู “คลองเทาโมเดล” ดึง ปชช. ร่วมบริจาค – ช่วยประหยัดงบฯ

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกตัวอย่างกรณีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำคูคลองเพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต กรณีของคลองเทา บ้านหนองแหน ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ที่ตนได้ลงพื้นที่ตรวจราชการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือและจัดทำเอ็มโอยูระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน ได้แก่ เทศบาลเมืองชัยภูมิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ และกรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานชัยภูมิสนับสนุนเครื่องจักรกล ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลอีก 4 แห่งเป็นผู้สนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการมีส่วนร่วมในการบริจาคของภาคประชาชน มีการช่วยในเรื่องของแรงงานจิตอาสา และการอำนวยความสะดวกในพื้นที่

“เราขุดคลองเทาได้ 21 กิโลเมตร งบประมาณค่าเชื้อเพลิงที่เขาช่วยกันมาแค่ 1.3 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณได้ถึงร้อยละ 80 ของงบประมาณจ้างเหมาปกติ เป็นตัวอย่างที่ดีผมยกย่องและอยากให้มีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ของท้องถิ่นในทุกพื้นที่ ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของคลองเป็นเจ้าของเส้นทางระบายน้ำ เพราะทุกคนมีเครื่องจักรอยู่แล้ว เสียสละกันคนละเล็กละน้อย หากมากรัฐบาลจะไปช่วยสมทบให้ จะได้เกิดเร็วขึ้นรวมถึงเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคีให้เกิดขึ้น รัฐบาลจะได้ใช้เงินส่วนใหญ่มาทำโครงการใหญ่ๆ ได้มากขึ้นเพื่อทำให้แหล่งน้ำต้นทุนมีมากขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ไม่สนดวงเมือง-ปีชง เชื่อทำดีได้ดี

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีหมอดูหลายสำนักดูดวงเมืองโดยระบุว่า ปีนี้การเมืองขัดแย้งหนักอาจถึงขั้นยุบสภา ว่า คำถามเรื่องหมอดูหมอเดานั้น หมอดูก็คือหมอดูที่เอาสถิติต่างๆ มาดู ซึ่งตนไม่ไปดูถูกและเคารพอยู่แล้ว ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นตามศาสตร์ของเขา

“สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่จิตใจของพวกเราทุกคน ถ้าเราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง ดังนั้นอาจพูดแรงไปหรือไม่ที่บอกว่าบอกว่าบ้านเมืองขัดแย้งหนักถึงขั้นยุบสภา จึงต้องไปดูด้วยว่าหมอดูแต่ละสำนักที่ออกมาทำนายจะถูกผิดเท่าไร ผมไม่อยากเอาตรงนี้เป็นบรรทัดฐาน”

เมื่อถามว่า ปีนี้ตามโหราศาสตร์จีน บอกเป็นปีชง 100 % ของนายกฯ ที่เกิดปีมะเมียเป็นกังวลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า “ผมกังวลแล้วได้อะไรขึ้นมา ผมก็คือผม ผมเกิดมาแล้วเปลี่ยนวันเกิดไม่ได้อยู่แล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องดวงอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องการทำงานและการตั้งมั่นในการทำความดี ผมคิดว่าบุญกุศลจะคุ้มครองได้บ้าง ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกันผมฝากรัฐมนตรีทุกคนด้วยใน ครม. ของผม ผมผ่านมาหลยรอบแล้วปีชง ถ้าเราทำด้วยหัวใจคิดดีทำดีความดี มีสติ ไม่ประมาทก็จะชนะทุกอย่าง เหมือนที่สมเด็จ พระสังฆราชประทานพรมาว่า วาจาอันไพเราะจะยังประโยชน์สู่ความสำเร็จ ดังนั้นผมจะใช้วาจาอันไพเราะของผมกับท่านและกับทุกคน บางทีผมพูดเร็วคิดเร็วทำเร็วและมีอารมณ์บ้างก็ให้อภัยผมบ้างแล้วกัน”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอให้ทุกคนช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบด้วย ถ้าทำนายว่าหลังปีใหม่จะตีกัน คิดอย่างไรพูดอย่างไรก็จะเป็นแบบนั้นหากไม่ชี้นำแบบนี้ทุกอย่างก็จะไม่เกิด จึงฝากทุกคนด้วย บ๊ายบาย ลาทีไม่ใช่ลาก่อน”

มติ ครม.มีดังนี้

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ตั้งคณะกก.จัดทำพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) จำนวน 2 คณะ ดังนี้

คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ประกอบด้วย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เป็นประธานกรรมการ กรรมการมหาเถรสมาคม จำนวน 19 รูป เป็นกรรมการ และพระพรหมบัณฑิต เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 2 ปลัดกระทรวง จำนวน 20 กระทรวง นายกราชบัณฑิตยสภา ผู้อำนวยการศูนย์พหุภาษาการแปลและล่ามแห่งอาเซียน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและอธิบดีกรมการศาสนา เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม และมีกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการร่วมอีกจำนวน 4 ราย

โดยคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ ดังกล่าว มีหน้าที่สนับสนุนและให้คำแนะนำในการดำเนินงานจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อให้การจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 26/2562 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมได้เห็นชอบรายนามคณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) และให้ วธ. (กรมการศาสนา) นำเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการฯ ต่อไป

ปรับเกณฑ์จ่ายชดเชยความเสียหายผู้โดยสารสายการบิน ตาม ICAO

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ตามข้อแนะนำของสำนักงานสาขาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ได้มีหนังสือถึงสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 แจ้งเรื่องการทบทวนเกณฑ์จำกัดความรับผิดตามข้อ 24 ของอนุสัญญาฯ ในการได้พิจารณาทบทวนเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามอนุสัญญาฯ ตามรอบระยะเวลา 5 ปี โดยอ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อสะสมซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก และเพื่อให้คนโดยสาร ผู้ตราส่ง หรือผู้รับตราส่ง ได้รับการชดเชยความเสียหายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้นจากผู้ขนส่ง คค.จึงเห็นควรปรับปรุงเกณฑ์จำกัดความรับปิดตาม พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • กรณีคนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย (มูลค่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งไม่อาจบอกปัดหรือจำกัดได้) ตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ เดิม มีเกณฑ์ความรับผิดอยู่ที่ 4,784,763 บาท เป็น 5,462,491 บาท
  • กรณีความล่าช้าในการรับขนคนโดยสาร ตามมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ เดิม มีเกณฑ์ความรับผิดอยู่ที่ 198,582 บาท เป็น  226,690 บาท
  • กรณีสัมภาระลงทะเบียนถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือสัมภาระล่าช้า ตามมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ เดิม มีเกณฑ์ความรับผิดอยู่ที่ 47,848 บาท เป็น 54,616 บาท
  • กรณีของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือสัมภาระล่าช้า ตามมาตรา 39 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ เดิม มีเกณฑ์ความรับผิดอยู่ที่ 804 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 933 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ ให้พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

เห็นชอบให้ทอท.เปิดบริการ “Pick up Counter” 2 รูปแบบ

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการปรับรูปแบบการให้บริการจุดส่งมอบสินค้า ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ เนื่องจากสัญญาการเช่าพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะสนามบินสุวรรณภูมิจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 และสนามบินดอนเมืองที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2565

โดยจะมีการปรับรูปแบบการให้บริการ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย การให้ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรแบบสาธารณะ (Duty Free Pick-up Counter) ด้วยตนเอง และ AOT ให้สิทธิเอกชนให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรแบบสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมืองทุกราย สามารถส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ สนามบินในความรับผิดชอบของ AOT

นอกจากนี้ ในการทำสัญญาครั้งต่อไป AOT จะแยกสัญญาใหญ่ออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย 1.กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร 2.กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (ร้านค้าปลีก อาหาร และเครื่องดื่ม บริการต่างๆ ธนาคาร) และ3.กิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร โดยเน้นเปิดกว้างให้แข่งขันอย่างเสรี

ออกกฎกระทรวงคุมยานำเข้า

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การผลิต หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน โดยกระทรวง ทบวง กรม ในหน้าที่ป้องกันหรือบำบัดโรค สภากาชาดไทย และองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. กำหนดนิยาม “ผู้ผลิตยา” “สถานพยาบาลของรัฐ” “ผลิตยา” “ผู้นำเข้ายา” “นำเข้ายา” “ขาย” “เภสัชเคมีภัณฑ์” “เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป” “เภสัชชีววัตถุ” “เภสัชภัณฑ์รังสี”
  2. กำหนดแบบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและนำเข้ายาตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  3. กำหนดการยื่นแบบแจ้งตามกฎกระทรวงฉบับนี้ให้ยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  4. กำหนดให้การรับแจ้งการผลิต หรือนำเข้ายาแผนปัจจุบัน จะแสดงไว้ในแบบแจ้ง หรือจะออกเป็นหนังสือ หรือให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด
  5. กำหนดการแจ้งการผลิตยาแผนปัจจุบันต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมแนบแผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ผลิตยา และสถานที่เก็บยา
  6. กำหนดให้ผู้ผลิตยาขายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการค้าจะต้องดำเนินการและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  7. กำหนดให้ผู้ผลิตยาขายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือได้รับผลตอบแทนจะต้องดำเนินการและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการในการผลิตยาแผนปัจจุบัน
  8. กำหนดการแจ้งการนำเข้ายาแผนปัจจุบันต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพร้อมแนบแผนที่แสดงที่ตั้ง สถานที่เก็บยา เอกสารหรือหลักฐานที่ระบุไว้ในแบบแจ้งและตามที่กำหนดไว้เกี่ยวกับหนังสือชี้แจงวัตถุประสงค์การนำเข้ายาฯ ฉลาก เอกสารกำกับยา หนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ยา หรือเอกสารเทียบเท่า ใบรับรองผลวิเคราะห์
  9. กำหนดให้มีการจัดทำบัญชี และรายงานที่เกี่ยวกับการนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ทางสภากาชาดไทย เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว แต่มีความเห็นว่า สถานเสาวภา ซึ่งเป็นหน่วยงานของสภากาชาดไทย ไม่ได้แสวงหากำไร เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐ จึงขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุข ให้ยกเว้นค่าใช้จ่ายที่จะต้องจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาให้กับสภากาชาดไทย ซึ่ง ครม. มีมติให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสภากาชาดไทย ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

  • นายกฯ ชงครม.ปลดล็อก ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้เปิด “Pick up Counter”
  • หนุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนชายแดนใต้ 100 แห่ง

    ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบในหลักการตามกรอบแนวทางการดำเนินโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการแล้วนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้พิจารณาก่อนดำเนินตามขั้นตอนต่อไป

    ในรายละเอียด โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจการพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้แนวทางประชารัฐด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งช่วยพัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินโครงการฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการบริหารโครงการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภาคใต้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมเกี่ยวกับกำหนดประเภทเชื้อเพลิง สถานที่ตั้ง คัดเลือกโครงการ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้า การจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เป็นต้น รวมทั้งกำหนดให้มีศูนย์ประสานและบริการเบ็ดเสร็จด้านพลังงานเป็นส่วนงานภายใน ศอ.บต. เพื่อเป็นสำนักงานดำเนินโครงการ ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย 3 กระบวนการ สรุปได้ ดังนี้

    1. กระบวนการต้นทาง เช่น การจัดสรรปัจจัยการผลิตที่จำเป็นให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น กล้าพันธุ์ ปุ๋ยธรรมชาติ ที่ดินทำกิน, ส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยง/เพาะพันธุ์กล้าไม้พืชพลังงานในระดับหมู่บ้านและชุมชน โดยประชาชน/ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ, ยกระดับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่มีสาขาวิชาและการเรียนการสอนด้านการเกษตรให้มีความเชี่ยวชาญและสร้างบุคลากรเฉพาะด้านพืชพลังงาน, ให้มีศูนย์ประสานฯ โดยเป็นส่วนงานภายใน ศอ.บต
    2. กระบวนการกลางทาง เช่น จัดตั้งศูนย์รวบรวมวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน, ส่งเสริมให้สถาบันวิชาการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการแปรรูปสินค้า ผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีมาตรฐานเพื่อให้มีสินค้าและบริการจากหมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่ไปสู่ตลาดสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มอาชีพวิสาหกิจและสหกรณ์ของประชาชน
    3. กระบวนการปลายทาง เช่น จัดทำข้อเสนอการบริหารกิจการพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยจะขอรับจัดสรรอัตราการผลิตพลังงานไฟฟ้าเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, การกำหนดสัดส่วนการลงทุน โดยมีผู้ถือหุ้นร่วมกัน 3 ภาคส่วน ได้แก่
      • ประชาชน/กลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ของประชาชน ถือหุ้นอัตราไม่เกินร้อยละ 40 (ให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้ถือหุ้นแทนประชาชนไปก่อนจนกว่าประชาชนจะมีความเข้มแข็ง)
      • ภาคเอกชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพและทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ถือหุ้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 30
      • กฟผ./กฟภ./บริษัทเอกชนนอกพื้นที่เป็นผู้ถือหุ้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 30, ให้มีคณะกรรมการอำนวยการบริหารโครงการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน, ให้จัดตั้ง “กองทุนพลังงานไฟฟ้าเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยนำรายได้จากผลกำไรสุทธิไม่เกินร้อยละ 10 ของโรงไฟฟ้า มาเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนสร้างอาชีพให้กับประชาชน เป็นต้น

    ทั้งนี้ โครงการจะมีระยะเวลาดำเนินการ  5 ปี (ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการ) และคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น จำนวน 19,764 ล้านบาท (3,952.80 ล้านบาท/ปี) โดยแบ่งแหล่งที่มาของค่าใช้จ่ายมาจาก 3 ส่วน คือ 1.งบประมาณ 359 ล้านบาท/ปี 2.งบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 1,437.52 ล้านบาท/ปี และ 3.งบจากภาคเอกชนที่ร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าประชารัฐ 2,156.28 ล้านบาท/ปี

    “คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าขนาด 1.5-2 เมกะวัตต์ จำนวน 100 แห่ง สำหรับโครงการนี้จะก่อให้เกิดงบเพื่อการลงทุนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 24,700 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ให้สามารถพึ่งพาตนได้ เกิดความมั่นคงทางพลังงาน”

    ยกเลิกใบอนุญาตขอใช้เครื่อง x-ray ทางการแพทย์

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่าครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงให้เครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่มีสารกัมมันตรังสี ไม่ต้องขออนุญาตแต่ต้องแจ้งการครอบครอง 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ ที่ต้องแจ้งการมีไว้ครอบครองหรือใช้, 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดระยะเวลาในการแจ้งการมีไว้ในครอบครอง หรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแทพย์ และ 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์

    โดยเหตุผลที่ต้องมีการเสนอร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับนี้ เพื่อเป็นไปตามความในพ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้เพิ่มระบบการแจ้งการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี จากเดิมที่มีแต่ระบบอนุญาต เพราะการกำกับดูแลเครื่องกำเนิดรังสีระบบขออนุญาต เป็นภาระแก่ผู้ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสีที่ออกแบบมาเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ ซึ่งไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ และเพื่อใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น ร่างกฎกระทรวงฯจึงจะช่วยลดภาระและทำให้การดำเนินการมีคุณภาพมาตรฐานซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชน

    “เครื่องกำเนิดรังสีที่ต้องแจ้งการมีไว้ในครอบครอง เช่น 1. เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป, 2. เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม, 3. เครื่องเอกซเรย์เต้านม, 4. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, 5. รถเอกซเรย์ และ 6. เครื่องเอกซเรย์สัตว์”

    การแจ้งครอบครองหรือใช้เครื่องต้องทำก่อนการใช้งานครั้งแรกต่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีไว้ในครอบครองหรือใช้ครั้งแรก และในส่วนของร่างกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ผู้แจ้งต้องดูแลรักษาให้เครื่องกำเนิดรังสีที่ครอบครองหรือใช้มีความปลอดภัยตามเกณฑ์ กำหนดให้มีผู้ควบคุมการใช้งานเครื่องกำเนินรังสี โดยคุณสมบัติเป็นผู้มีใบประกอบโรคศิลปะหรือใบประกอบวิชาชีพ เป็นผู้ปฏิบิตหน้าที่ฟิสิกส์การแพทย์ หรือเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานรังสี ปฏิบัติงานภายใต้กำกับดูแลของผู้มีใบประกอบโรคศิลปะหรือใบประกอบวิชาชีพ

    เล็งยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นใน 3 เดือน

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ โดยมีแนวทางการทบทวนฯ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

    1. กรณีค่าธรรมเนียมใบคำขอและใบแทน โดยพิจารณารายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับต้นทุน หากรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่าต้นทุนในการดำเนินการให้หน่วยงานพิจารณายกเลิกการจัดเก็บดังกล่าว เนื่องจากไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการของภาครัฐ
    2. กรณีค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยพิจารณาทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ ตามเงื่อนไข ดังนี้
      • หากรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่าต้นทุนในการดำเนินการ ให้หน่วยงานพิจารณายกเลิกใบอนุญาต และ/หรือทบทวนขั้นตอนการให้บริการและอาจต้องประเมินเปรียบเทียบกับภาระที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนที่มารับบริการร่วมด้วย
      • ควรทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมทุก 5 ปี และหากหน่วยงานเห็นควรยกเลิกการจัดเก็บ และ/หรือปรับอัตราค่าธรรมเนียม ให้พิจารณาดำเนินการกับค่าธรรมเนียมที่ถูกระบุในกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของหน่วยงานก่อน เนื่องจากสามารถดำเนินการการแก้ไขได้โดยง่าย ทั้งนี้ ในกรณีที่ปรับอัตราค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชน รวมถึงต้องแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบริการที่ดีขึ้น
      • พิจารณาจากใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต/การรับรอง การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง และการตรวจสอบ ทั้งนี้ ไม่ครอบคลุมใบอนุญาตด้านจริยธรรม เช่น การขอนุญาตฆ่าสัตว์ การขออนุญาตสุรา ยาสูบ และการพนัน เนื่องจากใบอนุญาตดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และส่งผลกระทบเชิงลบ รวมถึงใบอนุญาตด้านวัตถุอันตราย เชื้อโรค โบราณวัตถุและศิลปกรรม เนื่องจากต้องใช้เป็นหลักฐานยืนยันทางกฎหมาย และอาจเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ
      • หากมีการออกใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือมีแผนการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้พิจารณาแนวทางการจดแจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม หรืออาจยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ เนื่องจากการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถลดต้นทุนในการดำเนินการ รวมถึงการดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยสร้างความโปร่งใส ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลตรวจสอบข้อมูลได้ทันที และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขอรับบริการ

    ” สำนักงาน ก.พ.ร. มีแผนการดำเนินการโดยให้ส่วนราชการที่มีอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ พิจารณาทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการเสนอผลการดำเนินการต่อ ก.พ.ร. ภายใน 6 เดือน (มีนาคม 2563) และให้สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายภาคธุรกิจและประชาชน”

    เห็นชอบท่าทีเจรจาการค้าบังกลาเทศ – ตั้งเป้า FTA ตุรกีได้ข้อยุติในปีนี้

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่าครม.เห็นชอบท่าทีประเทศไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 มกราคม 2563 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยสาระสำคัญที่ฝ่ายไทยจะผลักดันในการประชุมครั้งนี้ คือ

    1. การค้าและการลงทุน หารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมถึงการขจัดอุปสรรคทางการค้าของทั้งสองฝ่าย เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564
    2. ความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ โดยให้ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนผลการศึกษาการจัดทำ FTA ระหว่างกัน
    3. การให้สิทธิพิเศษในการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควต้า (DFQF) ซึ่งไทยอยู่ระหว่างดำเนินการต่ออายุโครงการ DFQF ที่จะหมดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยจะมีการพิจารณาทบทวนรายการสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งไทยจะนำสินค้าที่บังกลาเทศร้องขอเพิ่มเติมมาพิจารณาด้วย
    4. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับบังกลาเทศในด้านต่างๆ ได้แก่
      • ด้านอุตสาหกรรม พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการรับรองระบบงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและบังกลาเทศ โดยไทยขอทราบขอบเขตความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าวจากบังกลาเทศ
      • ด้านเกษตร ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร ครั้งที่ 1 ณ ประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือและความช่วยเหลือด้านเกษตรระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
      • ด้านการประมงและปศุสัตว์ พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือด้านการประมงและปศุสัตว์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและบังกลาเทศ โดยพร้อมให้การสนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีการประมงกับบังกลาเทศ โดยเฉพาะด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
      • ด้านการบริการสุขภาพและสาธารณสุข ขอให้บังกลาเทศส่งรายละเอียดความร่วมมือที่บังกลาเทศสนใจให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาต่อไป
      • การเชื่อมโยงทางคมนาคม สนับสนุนความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงทางคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือระหว่างท่าเรือระนองของไทยและท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ

    “ประโยชน์ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ 1) จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับบังกลาเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันที่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2564 2) ขยายโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับบังกลาเทศอย่างเป็นรูปธรรม และ 3) ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนไปยังประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) ซึ่งบังกลาเทศมีศักยภาพในการเป็นประตูทางการค้ากับประเทศสมาชิก OIC กว่า 57 ประเทศ”

    นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบการเดินทางเยือนต่างประเทศและเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้เดินทางไปเยือนต่างประเทศในช่วงเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะประเด็นความคืบหน้าในการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างประเทศไทยและประเทศตุรกีซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศมีความเห็นตรงกันว่าจะได้ข้อสรุปและสามารถลงนามร่วมกันได้ภายในปีนี้ ส่วนความคืบหน้าในเรื่องการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) นายจุรินทร์รายงานให้ ครม.รับทราบว่าได้หารือกับรัฐบาลเยอรมันว่าประเทศไทยต้องการเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและคาดว่าการเจรจาระหว่างไทยกับอียูจะมีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ

    อว.จัดของขวัญปีใหม่ ฟรี “ฝังรากฟันเทียม-รักษาเบาหวาน-ขาเทียม”

    ผศ.ดร.รัชดา กล่วาว่า ที่ประชุม ครม.พิจารณาของขวัญจากรัฐบาลตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวม 17 โครงการ ประกอบด้วยโครงการเพื่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ 7 โครงการ และเพื่อเยาวชนและประชาชน 11 โครงการ โดยมีตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ อาทิ

    • โครงการฝังรากฟันเทียมราคาพิเศษ ซึ่งจะบริการจำนวน 4,000 ราก เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขาดโอกาส เนื่องจากการทำรากฟันเทียมราคาปกติจะอยู่ที่ประมาณ 50,000-100,000 บาท แต่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมจะจัดให้ฟรีกับคนที่เข้าไม่ถึงบริการตามราคาปกติ

    โดยผสามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้ที่เว็บไซต์ www.tcels.or.th ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวะวิทยาศาสตร์ องค์การมหาชน โดยจะให้บริการใน 36 โรงพยาบาลทั่วประเทศ หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 0 25791370 – 9

    • แจกคูปองรักษาแผลเรื้อรังสำหรับผู้ป่วยเบาหวานด้วยนวัตกรรมไทย จำนวน 10,000 คูปอง โดยให้บริการฟรีผ่าน 14 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งทั้งสองโครงการจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้
    • เท้าเทียมไดนามิกเอ็กซ์เพรส ซึ่งผลิตจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีความทนทาน แข็งแรงและมีน้ำหนักเบา โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติมีนวัตกรรม เตรียมให้บริการผู้พิการ รวมถึงนวัตกรรมเบ้าอ่อนขาเทียมแบบถุงซิลิโคนด้วย โดยมีระยะเวลาให้บริการถึงเดือนพฤษภาคม 2563
    • แอปพลิเคชัน “ชาวเกษตร” ที่ประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะแนะนำเกษตรกรถึงวิธีการปลูกพืชตามกรอบเวลาและวิธีการปฏิบัติงานในแปลงอย่างถูกต้อง เหมาะสม เช่น การบริหารจัดการน้ำ การใช้ปุ๋ย การใช้ยารักษาโรคพืช เป็นต้น
    • แอปพลิเคชัน “ไทย วอเตอร์” จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การมหาชน จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำ อากาศ ที่ทันต่อสถานการณ์
    • โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกเมล่อน ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน(องค์การมหาชน) ที่จ.เชียงใหม่ระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค.2563 โครงการไมโครไคโตซานเพื่อเกษตรกรไทย ระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.2562-31 ม.ค. 2563 โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)ที่จ.นครนายก และ โครงการแจกต้นกล้ากล้วยหอมทองปลอดโรคและต้นกล้าเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ ถึงวันที่10 ม.ค. 2563 ที่ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ คลอง5 จ.ปทุมธานี
    • ยกเว้นค่าเช้าชม 4 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ถึงวันที่ 5 ม.ค. 2563 ยกเว้นค่าเข้าชมิพิพิธภัณฑ์ Space Inspirium ชลบุรี ถึงวันที่ 11 ม.ค. 2563 ดูดาวฟรีที่หอดูดาวภูมิภาคทั้ง 3 แห่งและอุทยานดาราศาสตร์สิรินทร ในวันเสาร์ของทุกสัปดาห์ดาเวลา 18.00-22.00 น.

    แต่งตั้ง รมว.คค.-ดีอี นั่ง กก.นโยบายรัฐวิสาหกิจ

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ โดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

    นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คนร. 5 คน ประกอบด้วย นายกานต์ ตระกูลฮุน , นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ , นายปรีดี ดาวฉาย , นายประสัณห์ เชื้อพานิช , และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช

    สำหรับอำนาจหน้าที่ในการดำรงตำแหน่งนั้น เช่น ให้ความเห็นชอบแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนและกำหนดแนวทางการจัดทำปรับปรุง และติดตามผลการดำเนินการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการร่วมลงทุน เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคในการตัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุน และกรอบเวลาเร่งรัดการดำเนินโครงการร่วมลงทุนต่อ ครม.

    ดึงอำนาจกำกับประมง “จุรินทร์” คืน “บิ๊กป้อม”

    ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย และมอบอำนาจให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

    รับทราบไทยเสนอเป็นเจ้าภาพบอลโลก ปี 2577

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอให้ไทย เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2577 โดยนายกรัฐมนตรีคาดหวังให้เราเป็นเจ้าภาพที่ดีและหวังให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ขณะที่คณะรัฐมนตรีรับทราบว่า ในปีนี้ อาเซียนจะก่อตั้งอีสปอร์ตเซาท์อีสต์อาเซียน ที่มาเลเซีย

    “นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบ การก่อตั้ง E-Sport SouthEast Asia Federation ซึ่งจะจัดขึ้นที่มาเลเซียในปีนี้ ถือว่าเป็นโอกาสให้นักกีฬาอีสปอร์ตได้เข้าร่วมแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนด้วย” ผศ.ดร.รัชดา กล่าว

    อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 2 มกราคม 2563เพิ่มเติม