นายก ฯเตรียมแผนฉีดวัคซีนพร้อม-รับล็อตแรกปลาย ก.พ.นี้-สั่งทุกกระทรวงเตรียมข้อมูล รับศึกอภิปราย – มติ ครม.ตั้งงบ ฯปี 65 กว่า 2.5 หมื่นล้าน เพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียน 5%-เห็นชอบลงทุนส่วนต่อขยาย “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” 4,230 ล้าน-สร้างทางหลวงพิเศษ “เอกชัย – บ้านแพ้ว” อีก 19,700 ล้าน
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แนะนำหนังสือ “ความรู้เรื่องเมืองไทย” โดยวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ให้แก่ที่ประชุม ครม. โดยเห็นว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เนื่องจากจะทำให้คนไทยรู้จักประเทศไทยมากขึ้น เข้าใจสังคมไทยมากขึ้น และตระหนักในความเป็นไทย
ปรับประเมินคุณธรรมภาครัฐฯ – ชี้คดี “บอส” เหลือแค่ตามตัว
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยว่า ตนได้ให้มีการประชุมร่วมกันทั้งในส่วนของส่วนราชการกับในส่วนของภาคประชาชน โดยมีข้อหารือ ถึงกำหนดมาตรการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและแต่ละหน่วยงานและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เป็นเจ้าภาพรวมถึงนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่เป็นผู้แทนร่วมในคณะกรรมการ
นอกจากนี้ยังมีการหารือกันถึง การปรับปรุงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ซึ่งเป็นการประเมินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อสะท้อนดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI ) มากยิ่งขึ้นโดยมีสำนักงาน ก.พ.ร. และสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานหลัก ขณะเดียวกัน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก ถึงผลงานในการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะคดีของนายบอส อยู่วิทยา ยืนยันไม่นิ่งนอนใจ
“คดีบอส อยู่วิทยา เท่าที่ผมได้รายการมาวันนี้ก็มีการฟ้องร้องคดีใหม่ไปแล้ว มีการออกหมายแดงแล้วเรียบร้อย ขอให้ติดตามได้จากข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงไปบ้างแล้วนะครับ ก็มีความก้าวหน้า การประสานงานกับต่างประเทศต่างๆ ก็ได้ดำเนินการไปครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงแต่เมื่อไหร่จะได้ตัวกลับมา ไม่ใช่นิ่งนอนใจไม่ได้เก็บเรื่องไว้ในกระเป๋า ทุกเรื่องนายกฯ เอามาดำเนินการให้หมด”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของจำนวนคดีอาจจะมีมากขึ้นนั้นขออย่ามองด้านเดียวว่าคดีมากขึ้นเพราะมีการทุจริตมากขึ้น เพราะตามหลักกฎหมายไทยนั้นใครก็ฟ้องได้ แต่เมื่อฟ้องแล้วก็จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบทุจริต ภาครัฐภาคประชาชน ยืนยันว่าทุกอย่างต้องมีหลักฐานตามกระบวนการยุติธรรม
“ไม่อยากให้มันมีปัญหานะครับในการไม่เข้าใจกันต่อไปได้ หลายท่านออกมาพูดว่านายกฯ ไม่ทำอะไรเลย ถ้าไม่ทำมันจะคดีไหม จะมีการหนีคดีหรือเปล่า วันนี้ท่านทุกท่านก็ทราบดีอยู่แล้ว”
สั่งหาช่องขยายวันทำประมง ยันทุกอย่างตามเกณฑ์ “ไอยูยู”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีชาวประมงร้องเรียนขอวันทำประมงเพิ่มเติม ว่า กรณีดังกล่าวตนได้สั่งการให้คณะกรรมการพิจารณาตามความเหมาะสมแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องดูแลตรงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19
“คณะกรรมการได้พิจารณาไปแล้ว ก็เรียนเพื่อทราบว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาประมง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าทุกอย่างก็ยังต้องรักษากฎเกณฑ์ของไอยูยูต่อไป”
เตรียมแผนฉีดวัคซีนพร้อม-รับล็อตแรกปลาย ก.พ.นี้
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับคนไทย ว่า จากที่ตนได้รับรายงานนั้น ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะส่งมาล็อตแรกจำนวน 200,000 โดส ในเดือนมีนาคมอีก 800,000 โดส และในเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดสตามที่รับการยืนยันมา ซึ่งทางองค์การอาหารและยา (อย.) ของไทยกำลังดำเนินการอยู่ด้วยความรอบคอบการ ส่วนการฉีดนั้นมีแผนไว้แล้ว สำหรับผู้ปฏิบัติงาน กลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง หรือกิจการที่มีความเสี่ยง
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนว่า จากการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีข้อสรุปว่า ไทยจะได้วัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด (Sinovac Biotech) จำนวน 2 ล้านโดส และในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) อีก 26 ล้านโดสที่ได้จองไปแล้ว และจะมีการจองเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมทั้งสิ้น 63 ล้านโดส ที่จะสามารถทยอยฉีดให้กับประชาชนคนไทยครอบคลุมประมาณร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด
โดยจะมีการแบ่งการฉีดออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก จะฉีดให้กับกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และก็ประชาชนทั่วไปและแรงงานในพื้นที่ที่มีการระบาด
สำหรับในระยะที่ 2 จะฉีดให้กับประชาชน 7 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนทั่วไป แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว ผู้เดินทางระหว่างประเทศ นักธุรกิจระหว่างประเทศ นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ จากนั้นจึงจะมีการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1 ในจังหวัดที่เหลือ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ด้วย
“1 คนจะต้องได้รับการฉีด 2 โดส ซึ่งก็จะทยอยเข้ามา ตอนนี้บางส่วนได้ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว ที่เหลือก็จะมีการดำเนินการแล้วก็จะมีการแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป”
ยันความสัมพันธ์ พปชร-พรรคร่วม ยังเหนียวแน่น
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคพลังประชารัฐ เตรียมโหวตสวนมติพรรคในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เรื่องดังกล่าวตนได้ตรวจสอบจากท่านหัวหน้าพรรคไปแล้ว ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมือง
ต่อกรณีความสามัคคีภายในพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ความสัมพันธ์ยังคงเหนียวแน่น เราเหนียวแทนกันด้วยการทำงาน เหนียวแน่นกันด้วยว่าเราจะทำเพื่อประชาชนอย่างไร เพื่อชาติอย่างไร ดำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของเรา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างไร นี่คือหลักการของรัฐบาล หลักการของนายกรัฐมนตรี และเป็นหลักการของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดซึ่งร่วมกันทำงานในเวลานี้
วอนอย่าปลุกปั่น ปม “รัฐประหารเมียนมา”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่มีชาวเมียนมารวมถึงคนไทยร่วมตัวชุมนุมในไทย เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจในเมียนมา ว่า ตนไม่อยากให้มีการชุมนุมในเรื่องนี้นะครับ เพราะว่าเป็นเรื่องที่เราต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้พอสมควร
“ฝากไว้ด้วยสำหรับคนบางกลุ่มที่พยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยว ไปยุยงปลุกปั่นอะไรทำนองนี้ ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องของอาเซียนด้วย ผมคงไม่พูดอะไรมากกว่านี้ ส่วนการประชุมการหารือพิเศษร่วมกันตามที่นากรัฐมตรีมาเลเซียและประธานาธิบดีอินโดนีเซียเรียกร้องนั้นกันก็ต้องหาวิธีการว่าจะทำอะไรต่อไป เพื่อให้ทุกอย่างนั้นเดินหน้าไปได้”
แจงพาดพิง “เศรษฐีโทรคมนาคม” ไม่เกี่ยว “ทักษิณ”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงข้อสงสัยในประเด็นที่ได้กล่าวถึงคนรวยจากโทรคมนาคม เมื่อปี 2530 จนมีการตีความไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร ว่า เรื่องของเศรษฐกิจไทยที่ตนพูดมาเช้านี้ คือเรื่องปี 2520-2530 ตนต้องการให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นประเทศที่มีรายได้จากภาคเกษตรอย่างเดียวในปี 2520 ในปี 2530 ก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พัฒนาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากที่ขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ สรุปว่าเราก็ต้องมีสินค้าทั้งสองประเภทเกิดจากการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม
“ในวันนี้เราก็เตรียมการในเรื่องของเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เข้าไปอีก ไปถึงในเรื่องของดิจิทัล ในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ วันนี้เราก็เอาผลการวิจัยและพัฒนาออกมาสู่การผลิตสู่การใช้ในภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป อย่าตีความที่ผมพูดเป็นเรื่องอื่น”
ต่อคำถามถึงการเปลี่ยนทรงผมใหม่ของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยืนยันไม่เกี่ยวกับการถือเคล็ดใด หรือเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจใดๆ ซึ่งในการอภิปรายตนก็พร้อมจะรับฟัง พร้อมชี้แจงในทุกเรื่อง
“ในเรื่องของทรงผมมันก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผมที่ผมมีอยู่นะ ก็ยังไม่คุ้นตัวเองอยู่เหมือนกัน ไม่มีเคล็ดอะไรทั้งสิ้น”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโครงการต่างๆ ที่เสนอเข้ามาผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการคัดกรองไปแล้ว ไม่วาจะเป็นเงินกู้ หรือในเรื่องของคณะกรรมการ ในเรื่องของสำนักงบประมาณ ในนเรื่องของการใช้จ่ายงบกลาง งบประจำรายจ่ายประจำก็ตาม ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ตามลำดับความเร่งด่วนของการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2564
โดยยืนยันว่า รัฐบาลนี้มุ่งหวังที่จะดูแลประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายทุกภาคส่วนทุกจังหวัดทุกพื้นที่ทุกท้องถิ่นเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนะครับ นโยบายของรัฐบาลนี้คือเราจะร่วมมือกันในการที่จะทำให้ประเทศไทยเราเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก เราต้องหาเป้าหมายให้เจอ หาศักยภาพให้พบ และหากลุ่มที่เราต้องดูแลสนับสนุนเขาอย่างไรเพื่อให้เขามีรายได้ที่พอเพียง เพราะว่าโลกกำลังเปลี่ยนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ก็ทำควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองรวมไปถึงการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของความมีเหตุมีผล ความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดี ความรู้และคุณธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลยืนยันว่าทำงานด้วยหลักการนี้มาตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้
“ขอให้มีความสุขในช่วงตรุษจีนนะครับซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ขอให้มีความสุขสุขภาพแข็งแรง ได้ลาภยศสรรเสริญทุกประการทั้งคนไทยเชื้อสายจีนและประชาชนชาวจีนด้วยนะครับ”
มติ ครม. มีดังนี้
ชู BCG โมเดลขับเคลื่อน ศก.ไทย–ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนการประชุมคณะ ครม. นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงาน Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG: พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย “ผลิตภัณฑ์น้ำตาลไอโซโมทูโลส, นวัตกรรมช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล” “ผลิตภัณฑ์ไบโอเมทานอลจากวัตถุดิบเหลือทิ้ง” และ“ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดตรีผลา” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมในครั้งนี้ด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อน BCG Model ทำให้เกิดการพัฒนาวิจัยผลงานต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ที่สำคัญคือ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ กระจายรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เช่น การส่งเสริมเกษตรกรด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาทำให้เกิดคุณค่าแทนการเผาทิ้ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกอีกด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้ดึงทรัพยากรทางชีวภาพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทั้ง 6 ภาค มาใช้ประโยชน์เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จาก BCG Model ให้มากที่สุด ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ส่วนราชการและภาคเอกชนด้วย นายกรัฐมนตรียังย้ำในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเดินหน้าปรับหลักเกณฑ์การลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริม “ไทยลงทุนไทย” พร้อมทั้งปรับแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสมากยิ่งขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงไทยจะเป็นประเทศที่ “ล้มแล้วลุกไว”
นายกรัฐมนตรียังกล่าวเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์จาก BCG Model เช่น น้ำตาลพาลาทีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบยาสีฟันและแชมพูสระผม พร้อมยินดีร่วมประชาสัมพันธ์ด้วยนำผลิตภัณฑ์มาใช้เองด้วย
สั่งทุกกระทรวงเตรียมข้อมูล รับศึกอภิปราย
นายอนุชา กล่าวต่อว่า ก่อนการประชุม ครม. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้คณะรัฐมนตรีเตรียมความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ร่วมถึงนายกรัฐมนตรีด้วยในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการเลื่อนประชุม ครม. จากปกติในวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 มาเป็นวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 แทน เนื่องจากมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อเนื่อง 4 วัน ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืนทุกวัน และจะมีการลงมติกันในวันสุดท้าย โดย นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบไปจัดเตรียมข้อมูล รวมทั้งรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆที่ไม่อยู่ในรายชื่อถูกอภิปราย ก็ขอให้ไปจัดเตรียมข้อมูลด้วยเช่นกัน
ตั้งงบ ฯปี 65 กว่า 2.5 หมื่นล้าน เพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียน 5%
นายอนุชากล่าวต่อว่า ส่วนในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการของการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเพิ่มอีกร้อยละ 5 เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีจำนวนโรงเรียน 49,861 โรงเรียน และจำนวนนักเรียน 5,894,420 คน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 25,436 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งอุดหนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 23,562 ล้านบาท และจัดสรรให้สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับนักเรียนเอกชนอีก 1,874 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ค่าอาหารกลางวันของนักเรียนครั้งนี้ ปรับเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่าย และค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มีราคาสูงขึ้น และคำนึงถึงปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการในการประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนอัตราใหม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ และจะทันต่อการเปิดเทอมครั้งที่ 2 ในปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ด้วย
ผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษา 3 ฉบับ ส่งกฤษฎีกาตรวจถ้อยคำ
นายอนุชากล่าวว่า เรื่องถัดมา ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการพิจารณาความสอดคล้องของร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ คือ 1. ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … 2. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ซึ่งทั้งสองฉบับเกี่ยวข้องกับรัฐบาล และ 3. ร่าง พ.ร.บ.ให้ประชาชนเข้าชื่อ เพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณา โดยนายกฯได้มีการพูดคุยเมื่อสัปดาห์ก่อน โดย ครม. ได้มีมติเห็นชอบ และมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจถ้อยคำและรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อนำเสนอ ครม. ครั้งถัดไป
รับทราบข้อเสนอวุฒิฯ จัดการศึกษา รองรับ “New Normal”
นายอนุชากล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยมีข้อเสนอแนะทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว อาทิ มาตรการเร่งด่วนกระทรวงศึกษาธิการ ควรกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาร่วมตัดสินใจวางแผน เลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทบนพื้นฐานความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียนภายใต้ “ความปกติใหม่” จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ โควิด-19 ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
สำหรับ มาตรการระยะยาว จัดทำหลักสูตรป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือ โรคติดต่ออื่นๆ กำหนดมาตรการเปิด-ปิดโรงเรียนให้สอดคล้อง และยืดหยุ่นต่อความรุนแรงของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จัดเตรียมอุปกรณ์ให้นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล ในกรณีที่โรงเรียนต้องปิดเพราะพื้นที่มีการระบาดรุนแรง เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้บริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน รวมทั้งได้กำหนดกำหนดมาตรการระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์อื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันไว้แล้ว
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกล ใน 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม สำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การขออนุมัติการใช้ช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจาก
- ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการแพร่สัญญาณจาก DLTV
- ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน หากสถานการณ์คลี่คลายให้ดำเนินการเรียนการสอนปกติในโรงเรียนโดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และ
- ระยะที่ 4 การทดสอบและศึกษาต่อ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ในการผลิตสื่อและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนทางไกลของโรงเรียน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีที่จัดการเรียนการสอนแบบปกติ (Onsite) ต้องปฏิบัติตามมาตรการทั้ง 6 ข้อของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 1) วัดไข้ 2) ใส่หน้ากาก 3) ล้างมือ 4) เว้นระยะห่าง 5) ทำความสะอาด และ 6) ลดความแออัด
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ โดยกรณีที่ไม่มีการระบาดของ COVID-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่งดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบ Onsite เพื่อให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอนเป็นการจัดการศึกษาในลักษณะเต็มรูปแบบตามหลักสูตรอาชีวศึกษา และกรณีที่มีการระบาดของ COVID-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาจัดการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบ Onsite ควบคู่ไปกับรูปแบบ On-Air และแบบ Online โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมและความพร้อมของสถานศึกษาอาชีวศึกษาแต่ละแห่ง
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะร่วมกับสถานศึกษา จัดทำคู่มือสร้างความเข้าใจและการเรียนการสอนตามหลักสูตร พัฒนาครูผู้สอนและพัฒนาผู้เรียน ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ในวิถีความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะและตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
อนุมัติ 8.8 พันล้าน จ่ายประกันรายได้สวนปาล์มโลละ 4 บาท
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2564 วงเงิน 8,807 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยยังคงเงื่อนไขการจ่ายเงินเหมือนกับปี 2662-2563 คือจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประกันรายได้ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ กิโลกรัมละ 4 บาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2564
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวอีกว่า เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ขอจัดสรรงบประมาณ 4,613 ล้านบาท เนื่องจากราคาตลาดของปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงกว่าราคาประกันรายได้ ซึ่งราคาประกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 4 บาท ขณะที่ราคาตลาดเฉลี่ย 6.90 บาท
จัดงบฯ 2.8 หมื่นล้าน จ่ายชาวนาไร่ละ 500 บาท
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 จำนวน 28,046 ล้านบาท โดยสนับสนุนทุนการผลิตและการดูแลรักษาข้าวในอัตราไร่ละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2563 – พฤษภาคม 2564
นอกจากนี้ ครม. มีมติเห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 188.95 ล้านบาท สำหรับโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ในส่วนที่ยังไม่ได้รับการเบิกจ่ายของปีการผลิต 2560/61 จำนวน 2.2 แสนบาท และปีการผลิต 2561/62 จำนวน 188.73 ล้านบาท
ต่อมาตรการหนุนเขต ศก.พิเศษชายแดนภาคใต้ถึงสิ้นปี 66
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติการขยายเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 ธันวาคม 2566 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา
โดยมาตรการที่ขยายเวลาออกไปอีก 3 ปี ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ
- มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหลือร้อยละ 0.1 ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือร้อยละ 3 ลดภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ(จากการขายอสังหาริมทรัพย์) เหลือร้อยละ 0.1 ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีความสามารถสูง เหลือร้อยละ 3 รวมถึงลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือร้อยละ 0.01
- มาตรการด้านการเงินคือ มาตรการพักชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. โดยลูกค้าที่เคยเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้และยังมีหนี้คงเหลือ ไม่ต้องชำระเงินต้น และรัฐบาลจะเป็นผู้ชำระดอกเบี้ยแทนไม่เกิน 200,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี และมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ขยายวงเงินเป็น 8,000 ล้านบาท
- มาตรการด้านประกันภัย ได้แก่ โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจฯ โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยภาครัฐจะชดเชยค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันภัยความเสี่ยงโดย ครม. ยังเห็นชอบให้จัดสรรงบกลาง ปี 2564 จำนวน 50 ล้าน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ชะลอเรียกคืนเบี้ยคนชรากว่า 6,700 คน
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวถึงผู้สูงอายุกว่า 6,700 คน ถูกเรียกเงินคืนกรณีเบี้ยคนชราว่า ครม. ได้ทราบข้อเสนอจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- ชะลอการดำเนินการเรียกคืนเบี้ยยังชีพคืนจากผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น
- ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กทม. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้สูงอายุ และช่วยกันกำหนดเกณฑ์กลางให้สอดคล้องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหาแนวทางแก้ไขปัญหา
เห็นชอบลงทุนส่วนต่อขยาย “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” 4,230 ล้าน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและการก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี นี้นั้นมีกรอบวงเงินลงทุน 4,230.09 ล้านบาท ซึ่งทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน โดยได้มีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขต่างๆ ของโครงการฯ เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการ พร้อมทั้งเสนอคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหลังจากที่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้วเสร็จ รฟม. จะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ และการขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งมอบให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายตามแผนงานต่อไป
ซึ่ง รฟม. ได้ศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี พบว่า โครงการเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของรฟม.รวมทั้งเป็นประโยชน์สาธารณะ และสอดคล้องกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในภาพรวม โดยแนวเส้นทางโครงการส่วนต่อขยาย มีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะเชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช (PK-10) ของโครงการส่วนหลัก ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานีไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-01 และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-02 ระยะเวลาก่อสร้าง 37 เดือน เปิดให้บริการ เดือนกันยายน 2567 มีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ หรือ EIRR ร้อยละ 12.9 ผลตอบแทนด้านการเงิน หรือ FIRR ร้อยละ 7.1 ประมาณการผู้โดยสาร ณ ปีที่เปิดให้บริการ 13,785 คน-เที่ยว/วัน
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขสัญญาประกอบด้วย
- ประเด็นเรื่องการปรับปรุงรูปแบบสถานีศรีรัช NBM ยอมรับในการดำเนินการก่อสร้างสถานีศรีรัช รวมทั้งส่วนปรับปรุงและรับผิดชอบค่าก่อสร้างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงงานทั้งหมด ประเด็นเรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ รฟม. ตามสัญญาร่วมลงทุน ทาง NBM ยังคงชำระค่าตอบแทนให้แก่ รฟม. ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก และจะชำระผลตอบแทนเพิ่มเติมกรณีรวมโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยายให้แก่ รฟม.โดยอ้างอิงปริมาณผู้โดยสารในสัญญาโครงการส่วนหลัก
- ประเด็นอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสาร ทาง NBM ยอมรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการส่วนต่อขยายให้สอดคล้องตามหลักการในสัญญาโครงการส่วนหลัก
- ประเด็นเรื่องการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาโครงการส่วนหลัก ทางNBM ยอมรับให้คงระยะเวลาดำเนินโครงการส่วนหลักในระยะที่ 1 และ 2 ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก ถึงแม้จะมีการก่อสร้างของโครงการส่วนต่อขยาย
- ประเด็นเรื่อง การให้รฟม.มีส่วนแบ่งผลตอบแทนจากการเชื่อมต่อกับอาคารและพื้นที่ของเมืองทองธานี NBM จะดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจาก รฟม. ก่อน และสิทธิในรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์รวมถึงการเชื่อมต่อ เป็นไปตามสัญญาส่วนหลัก
- ประเด็นผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย ทาง NBM จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งหมด ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย
“ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นว่าในส่วนของโครงการต่อขยายจะเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางจากรถไฟฟ้าเส้นหลักกับการเข้าพื้นที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย เป็นสถานที่ราชการ อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม ซึ่งจะมีการเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะเป็นการช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพโครงข่ายขนส่งมวลชนในภาพรวมอีกด้วย”
อนุมัติสร้างทางหลวงพิเศษ “เอกชัย – บ้านแพ้ว” 19,700 ล้าน
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีอนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ในส่วนของงานโยธาวงเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 19,700 ล้านบาท ระยะทางรวม 16.4 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2564-2567 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดและเป็นการแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนถนนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) และก็จะเป็นการเพิ่มโครงข่ายการเดินทางสู่พื้นที่ภาคใต้
มีรูปแบบของการก่อสร้างเป็นทางยกระดับบนเกาะกลางของทางหลวงถนนพระราม 2 ขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางละ 3 ช่องจราจร มีจุดขึ้นลง 4 แห่ง ได้แก่ ด่านมหาชัย ด่านสมุทรสาคร 1 ด่านสมุทรสาคร 2 และด่านบ้านแพ้ว สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมค่าผ่าน แบ่งออกเป็น รถยนต์ 4 ล้อ อัตราแลกเข้า 10 บาท โดยจะเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อกิโลเมตร ส่วนรถ 6 ล้ออัตราแลกเข้า 16 บาท จะเพิ่มขึ้น 3.2 บาทต่อกิโลเมตร และรถมากกว่าหกล้อ มีอัตราแรกเข้า 23 บาท จะเก็บเพิ่มขึ้น 46 บาทต่อกิโลเมตร โดยจะมีการเก็บค่าอัตราค่าผ่านทางในระบบ M-Flow คือเป็นการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติโดยไม่มีไม้กั้น
ทั้งนี้ จะใช้จ่ายเงินทุนค่าธรรมเนียมค่าผ่านทางตามแผนประมาณการรายจ่ายที่จะขอทำความตกลงกับกระทรวงคมนาคมภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะใช้รูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี)
“คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ เท่ากับ 23,264 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 19.7 อย่างไรก็ตามในส่วนของผลตอบแทนทางการเงินนั้น มีความเหมาะสมและมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนทางการเงินในเกณฑ์ต่ำ โดยมีอัตราผลตอบแทนทางการเงินร้อยละ 2.6 แต่เมื่อพิจารณาผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดทั้งสายคือช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว พบว่ามีความเหมาะสมและมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนทางการเงิน โดยมีอัตราผลตอบแทนทางการเงินร้อยละ 7.1”
ยกเลิก กม.เก่า 7 ฉบับ
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกกฎหมายบางฉบับ โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้พิจารณากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันแล้วเห็นว่า มีกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันหรือมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่ตราขึ้นในภายหลัง จำนวน 7 ฉบับ
ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามบทบัญญัติใน ม.77 ของ รธน. จึงได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. เพื่อยกเลิกกฎหมายซึ่งมีลักษณะดังกล่าว รวม 7 ฉบับ ได้แก่
- พ.ร.บ.จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พุทธศักราช 2479
- พ.ร.ก.ควบคุมและดำเนินงานภารธุระการทำเหมืองแร่ทองคำ พุทธศักราช 2483
- พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการไฟฟ้า พุทธศักราช 2484
- พ.ร.บ.กำหนดวิธีปฏิบัติแก่บุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าวอันเป็นการทำให้เสียสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศไทย ในภาวะสงคราม พุทธศักราช 2488
- พ.ร.บ.กำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ พ.ศ. 2491
- พ.ร.บ.จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2501
- พ.ร.บ.การผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. 2548
จัดงาน 100 ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบการจัดกิจกรรม “พระมหาสมณานุสรณ์” โดยรัฐบาลไทย และองค์การยูเนสโกร่วมฉลอง 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พุทธศักราช 2564 โดยให้หน่วยราชการแต่ละหน่วยใช้งบประมาณของตนเองในปีงบประมาณ 2564 ในการดำเนินงานหรือทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมได้ พร้อมให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน
โดยจะมีกิจกรรม เช่น การจัดนิทรรศการเผยแพร่พระประวัติ วัตรปฏิบัติ และพระกรณียกิจของพระมหาสมณเจ้าฯ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงมีพระคุณูปการทั้งด้านการศาสนา การบริหารจัดการคณะสงฆ์ และการศึกษาของประเทศชาติ ทรงเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ทรงมีพระนิพนธ์ด้านวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564เพิ่มเติม