ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯปรับแผนลุยฉีดวัคซีนทุกกลุ่ม เน้น“วัยทำงาน”-มติ ครม.ลดเงินสมทบ สปส.ต่อ 3 เดือน

นายกฯปรับแผนลุยฉีดวัคซีนทุกกลุ่ม เน้น“วัยทำงาน”-มติ ครม.ลดเงินสมทบ สปส.ต่อ 3 เดือน

18 พฤษภาคม 2021


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายก ฯปรับแผนลุยฉีดวัคซีนทุกกลุ่มพร้อมกัน เน้น “วัยทำงาน” – ตั้งเป้าปูพรมฉีดวัคซีนทั่ว กทม.เพิ่มอีก 25 จุด -มติ ครม.ลดเงินสมทบประกันสังคมต่ออีก 3 เดือน-ตัดงบฯโครงการจ้างบัณฑิตจบใหม่เหลือ 3,209 ล้าน

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

เล็งตรวจเชิงรุก – ชี้ “เรือนจำ” เป็นระบบปิด โอกาสแพร่ชุมชนน้อย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์โควิคในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว แปลว่าสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ในบางพื้นที่ แต่ก็ยังมีคลัสเตอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาอีก ทำให้ตนต้องเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เป็นการด่วนในช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม 2564) เพื่อที่จะรับทราบข้อมูลล่าสุดและหาทางแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็วที่สุด

โดยผลการประชุมสรุปได้ว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขสถานการณ์การติดเชื้อในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการตรวจเชิงรุกให้ได้มากและเร็วที่สุด จัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำเพื่อที่จะคัดแยกผู้ป่วยออกมารักษา หากมีผู้มีอาการรุนแรงก็จะนำออกมาเข้ารักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทางตามระบบต่อไป โดยจะให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้ออย่างดีที่สุดด้วยความเท่าเทียม

“เรือนจำแต่ละแห่งมีระบบปิดจึงมีโอกาสที่จะแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชนได้น้อยมาก ผมได้สั่งการให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคอยดูแลเข้มงวดในเรื่องนี้ในช่วงที่มีการระบาด โดยจะไม่ให้มีการเข้าเยี่ยมจากภายนอกจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น”

เชื่อมือหมอ-มาตรการสกัดโควิดฯ เผยรอบ 3 รักษาหายแล้ว 4 หมื่นราย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงสถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าต่อไปในแนวทางที่เราทำสำเร็จมาแล้ว คือ การระดมตรวจเชิงรุก คัดแยกผู้ป่วย ส่งตัวรักษา และระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการบังคับใช้มาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด นั่นก็คือการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การเว้นระยะห่าง การตรวจวัดอุณหภูมิในทุกสถานที่ ซึ่งการเกิดการระบาดในขณะนี้มาจากพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันอย่างแออัด

“ผมได้สั่งการให้ทาง ศบค. เร่งออกตรวจพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงาน และสถานที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ซึ่งสถานที่ที่เกิดการระบาดรวมทั้งในเรือนจำเราจะใช้แนวทาง Bubble and Seal คือการปิดกั้นการเดินทางเข้าออกของคนในสถานที่นั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อออกไปสู่ภายนอก ซึ่งการที่สถานที่แพร่กระจายเชื้อส่วนใหญ่เป็นสถานที่ปิด ทำให้ทีมแพทย์เชื่อว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดวันต่อวัน”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้ยังคงทรงตัว แต่เรายังคงต้องให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน เรามีจำนวนผู้ป่วยที่หายป่วยในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ซึ่งตนอยากให้สนใจตัวเลขเหล่านี้ โดยปัจจุบันมีผู้ที่หายป่วยแล้วเกือบ 70,000 คน เป็นผู้ที่หายจากการป่วยในระลอกนี้มากกว่า 40,000 คน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อ

ทั้งนี้ เป็นผลจากความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ และมาตรการของรัฐบาลที่มีการคัดแยกตามอาการและรักษาเป็นอย่างดี และมีการเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์และเตียงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการบริจาคจากภาคเอกชนต่างๆ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ภาคเอกชน และประชาชน

“ขอบคุณหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งสภาวิศวกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งที่เอ่ยถึงและไม่ได้เอ่ยถึง รวมทั้งประชาชนทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ที่รวมน้ำใจบริจาคสิ่งของเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และช่วยเหลือประชาชน”

ตั้งเป้าปูพรมฉีดวัคซีนทั่ว กทม.เพิ่ม 25 จุด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า มีเป้าหมายว่าจะระดมฉีดวัคซีนแบบปูพรมให้กับประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคนหรือ 70% ของประชากร เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายใน 2 เดือน คือเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2564

ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลและจุดฉีดหลักแล้ว เราจะมีจุดฉีดวัคซีนเสริมอีกอย่างน้อย 25 จุดกระจายทั่ว กทม. รวมถึงสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำและแรงงานต่างๆ เข้าถึงวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

ปรับแผนลุยฉีดวัคซีนทุกกลุ่มพร้อมกัน เน้น “วัยทำงาน”

พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า หลังจากที่ตนได้รับความคิดเห็นจากประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงได้ตัดสินใจว่ารัฐบาลจะไม่รอให้คนวัยหนึ่งวัยใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ได้รับวัคซีนจนครบก่อนจึงค่อยเปิดให้กลุ่มอื่นๆ ได้รับวัคซีน แต่จะปรับแผนการเดินหน้าประเทศด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกกลุ่ม ที่พร้อมฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัยใด ให้เข้าถึงวัคซีนได้มากน้อยตามปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ โดยเฉพาะวัยทำงาน เพื่อที่จะปกป้องคนทำมาหากินผู้ที่เป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงคนในบ้าน ให้ออกไปจากบ้านไปทำงานทำมาหาเลี้ยงชีพและเดินหน้าชีวิตกันต่อไปได้

“ขอเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งนะครับว่า ในวันนี้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้ทุกอย่างขับเคลื่อนต่อไปได้  นโยบายของผมก็คือเราจะต้องเดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้เร็ว และให้ถึงประชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

กางแผนกระจายฉีด 3 ช่องทาง “หมอพร้อม-จุดบริการ-กลุ่มเฉพาะ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ตนและรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ การฉีดวัคซีน ซึ่งตนได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว โดยรัฐบาลจะมีแผนการกระจายวัคซีนใน 3 ช่องทาง ดังนี้

  • ช่องทางแรก ผ่านระบบหมอพร้อม ซึ่งวันนี้มีผู้เข้ามาลงทะเบียนแล้วกว่า 7 ล้านคน สำหรับผู้สูงอายุและผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และจะเปิดให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 60 ปีลงทะเบียนได้ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ซึ่งข้อดีก็คือผู้ลงทะเบียนสามารถจะจองคิวฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลที่เลือก ในวันเวลาที่เลือกเอง ท่านสามารถที่จะเลือกพื้นที่ วันเวลาที่ท่านสะดวกได้เอง

“รับรองได้ว่าท่านจะได้รับการฉีดวัคซีนในเวลาดังกล่าวอย่างแน่นอน เราจะต้องเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดหรืออาจจะเป็นระบบอื่นๆ ของแต่ละจังหวัด เช่น ในส่วนของภูเก็ตใช้คำว่า “ภูเก็ตชนะ” ก็ได้ ซึ่งหลายจังหวัดก็ดำเนินการของตนเองอยู่แล้วนี่คือช่องทางแรก”

  • ช่องทางที่ 2 คือช่องทางเสริมจากวิธีของระบบหมอพร้อม เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุดเร็วที่สุด คือ การลงทะเบียนที่จุดบริการฉีดวัคซีน หรือ onsite registration ในกรณีที่มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ

“ผมย้ำนะครับว่าในกรณีที่มีวัคซีนเพียงพอ บางทีอาจจะไปมากกว่าที่เรามีวัคซีน และก็จะมีการพิจารณาจัดเตรียมระบบในช่องทางนี้เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุดในการจัดสรร ถ้าไม่พอก็ต้องนัดไปวันใหม่ ทั้งนี้ก็ไม่อยากให้ทุกคนผิดหวัง”

  • ช่องทางที่ 3 คือ การกระจายวัคซีนเชิงยุทธศาสตร์ โดยการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเฉพาะ เป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ หรือมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า อสม. ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พนักงานด้านการบิน ครู อาจารย์ ผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์สาธารณะ พนักงานรถไฟและรถไฟฟ้า พนักงานโรงแรม คณะผู้แทนการทูตและองค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจ และนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ บุคลากรในโรงงาน คนพิการ  พนักงานภาคบริการอาหารและยา และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องฉีดเพื่อให้การดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าไปได้โดยไม่สะดุด

“ซึ่งกลุ่มบุคคลหรือสมาคมใดมีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนสามารถที่จะยื่นเรื่องให้กับกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาเพื่อจัดสรรวัคซีนและจัดเตรียมสถานที่ฉีดต่อไป ก็ขอให้จัดลำดับความเร่งด่วนมาทั้งจำนวนทั้งกลุ่มอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ส่งมาที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อที่จะเอาข้อมูลเหล่านั้นไปบริหารต่อไป”

ยันวัคซีนคุณภาพดี ฉีดแล้ว 2.3 ล้านโดส “ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นการวางระบบการฉีดวัคซีนอาจมีปัญหาติดขัดอยู่บ้างหรือเกิดความไม่ชัดเจน ความไม่เข้าใจ จากการให้ความสนใจและลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก และการวางแผนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตรงเป้าหมายของประเทศมากที่สุด ซึ่งตนได้ติดตามเร่งรัดให้มีการปรับปรุงโดยเร็ว พร้อมขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนแน่นอน

“ขอยืนยันว่าทุกคนในประเทศไทยจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน เรามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมากเพียงพอและจะเริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศในต้นเดือนมิถุนายนนี้อย่างแน่นอน โดยจากที่ผ่านมาเราเร่งฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงไปแล้วมากกว่า 2.3 ล้านโดส ได้ผลเป็นอย่างดี และไม่มีใครเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงเลยแม้แต่คนเดียวจึงขอให้ท่านมีความมั่นใจได้”

วอน ครม.ช่วยรณรงค์ ปชช.ฉีดวัคซีน – สั่งกองทัพสกัดลักลอบเข้า ปท.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้ได้เน้นย้ำกับที่ประชุม ครม. ในวันนี้ถึงเรื่องของการชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและ ศบค. ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งและก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้ โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนได้ฉีดวัคซีน เพื่อให้ประเทศไทยเดินไปต่อได้ หากใครมีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ย่อมมีความผิดตามกฎหมายและถูกดำเนินคดีได้

“ผมจึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ให้มีความเข้มงวดในการตรวจสอบดูแลข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของท่านตลอดเวลา และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเร็ว ทันที และหากเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อดำเนินการ รวมทั้งขอความร่วมมือสื่อมวลชนและผู้ใช้สื่อทุกคนให้ใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งข่าวไปยังหน่วยงานต่างๆ ด้วย”

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการกระทรวงกลาโหม กองทัพไทย ให้ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศจากชายแดนอย่างเข้มงวดสูงสุด โดยได้ย้ำว่า หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดแสวงหาผลประโยชน์จากความเสี่ยงของประเทศชาติ จะต้องลงโทษให้หนักที่สุดโดยไม่มีการยกเว้น

แจงผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิดฯ – ขู่ “สั่งปิด” ร้านฝ่าฝืน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงมาตรการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดฯ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ว่า ในส่วนของการอนุญาตให้พื้นที่สีแดงเข้มนั้นสามารถนั่งทานอาหารในร้านได้โดยจำกัดจำนวนคน เป็นความพยายามของรัฐบาลในการจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และลูกจ้าง และบรรเทาผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน

โดยมาตรการผ่อนคลายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะที่ปรึกษาอย่างรอบคอบ และจะต้องมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด เช่น การจำกัดจำนวนคนไม่เกิน 1 ใน 4 และเว้นระยะห่าง การไม่ดื่มสุราภายในร้าน

ทั้งนี้ หากพบว่าร้านใดไม่ดำเนินการตามมาตรการจะสั่งปิดทันที หรือมีการทบทวนมาตรการที่เข้มงวดกว่าเดิม จึงขอให้เจ้าของร้านอาหารทุกร้าน บรรดาสมาคมต่างๆ ช่วยกันรับผิดชอบด้วย ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยดำเนินการอย่างเข้มงวด และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลควบคุมอย่างใกล้ชิดด้วย

“สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราจะเอาชนะโควิดฯ ไปได้อย่างไร คำตอบก็คือเราจะเอาชนะโควิดฯ ได้ด้วยการเดินหน้าไปพร้อมๆ กันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังช่วยกันทำหน้าที่ของตนของแต่ละคนให้ดีที่สุด ดูแลซึ่งกันและกันให้ดีที่สุด เพื่อที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปต่อได้ เราจะสู้ไปด้วยกัน ประเทศไทยต้องดีขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจความรักสามัคคีของคนไทยด้วยกัน เพราะเราทุกคนคือทีมประเทศไทย”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ลดเงินสมทบประกันสังคมต่ออีก 3 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …..  เพื่อปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39  ปรับลดอัตราเงินสมทบลดลงจากเดิมเดือนละ 432 บาทเป็นเดือนละ 216 บาท  ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2564

สำหรับฝ่ายรัฐบาลยังส่งเงินสมทบในอัตราเดิมคือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ช่วยเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตน  รวมทั้งยังช่วยรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างด้วย

“แม้การลดอัตราเงินสมทบเป็นเวลา 3 เดือน จะทำให้กองทุนจัดเก็บเงินสมบทได้ลดลงจำนวน 20,163 ล้านบาท แต่นายจ้างและผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์จากการลดภาระค่าใช้จ่าย โดยในส่วนของนายจ้างจำนวน 485,113 ราย จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.1 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท  ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 1,189 ล้านบาท  และเมื่อรวมผู้ประกันตนทั้ง 12.9 ล้านคนแล้ว จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 10,676 ล้านบาท  รวมเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 20,163 ล้านบาท  ซึ่งมติ ครม. ในวันนี้ยังเพื่อให้ทันต่อระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนในงวดเดือนมิถุนายน นี้ด้วย”

  • ครม.เคาะลดเงินสมทบ สปส.ต่ออีก 3 เดือน-แรงงานเสนอเพิ่มเพดานค่าจ้าง หารายได้เข้ากองทุน
  • เคาะ 3 มาตรการหาแหล่งเงิน โปะงบลงทุนปี’65

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี  โดยเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย  เพื่อให้การลงทุนของประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครอบคลุมการลงทุนจากทุกแหล่งเงิน และสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบด้วย

    1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 จำนวน 10 โครงการ โดยประมาณการมูลค่ารวม 260,024.08 ล้านบาท และประมาณการวงเงินลงทุนที่คาดว่าจะลงทุนในปี 2565 รวม 52,320.63 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
    2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย สำหรับการลงทุนโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนบน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,983.98 ล้านบาท
    3. การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น 8 กระทรวง 11 หน่วยรับงบประมาณ 109 รายการ วงเงินรวม 91,705.5119 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วว่าเป็นรายการลงทุนที่มีลักษณะการลงทุนเพื่อการวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิตและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมและสามารถใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

    นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ครม. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเร่งรัดดำเนินการตามแผนการลงทุนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และแผนการลงทุนภายใต้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย พร้อมให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พิจารณาโครงการรายจ่ายลงทุนเพื่อใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

    “แนวทางดังกล่าวยึดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงินขาดดุลของงบประมาณกำหนดไว้ จำนวน 700,000 ล้านบาท”

    ตัดงบฯโครงการจ้างบัณฑิตจบใหม่เหลือ 3,209 ล้าน

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ปรับปรุงรายละเอียดโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน โดยปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ จาก 260,000 คน เป็น 50,000 คน หรือลดลงประมาณ 210,000 คน และปรับลดกรอบวงเงินของโครงการ จากเดิม 19,462 ล้านบาท เป็น 3,209 ล้านบาท หรือลดลง  16,252 ล้านบาท  ซึ่งการปรับวงเงินโครงการลงครั้งนี้ยังทำให้กรอบวงเงินคงเหลือตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 166,524 ล้านบาท เป็น 182,776 ล้านบาท

    ทั้งนี้ เนื่องจากผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมาย โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564  มีผลการเบิกจ่ายเพียง 323 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.66% ของวงเงินอนุมัติ โดยมีผู้จบการศึกษาใหม่ได้รับอนุมัติจ้างงาน 17,511 คน คิดเป็น 6.74%  แบ่งตามวุฒิการศึกษาปริญญาตรี 11,240 คน ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)2,409 คน ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1,393 ล้านบาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 2,464 คน โดยผู้ร่วมโครงการนี้รัฐบาลร่วมงานเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่งตามวุฒิการศึกษา ซึ่งจำนวนทั้งหมดนี้ รวมวงเงินจากรัฐร่วมจ่ายจนส้นสุดโครงการ 923 ล้านบาท

    โดยกรมการจัดหางาน ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาพบว่าโครงการนี้มีอุปสรรคที่ทำให้มีการจ้างงานต่ำกว่าเป้าหมาย มาจากการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าร่วม รวมทั้งช่วงเวลาในการดำเนินโครงการไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาสำเร็จการศึกษาของสถาบันต่างๆ และตำแหน่งงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน โดยส่วนใหญ่สถานประกอบการต้องการจ้างงานตำแหน่งฝ่ายผลิตหรือภาคบริการ แต่ผู้จบการศึกษาใหม่ต้องการทำงานในสำนักงานและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบและไม่ต้องการจ้างงานเพิ่ม

    สำหรับความเหมาะสมของจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ลดลงเหลือ 50,000 คน ในปัจจุบันยังคงมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นวันละ 200-500 คน จึงคาดว่า ในระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม-กันยายน 2564) จะสามารถจ้างงานได้ตามเป้าหมาย ส่วนวงเงินของโครงการจะใช้วงเงินค่าจ้างแรงงานระดับปริญญาตรีเป็นฐานในการคำนวณ คือ คนละ 7,500 บาทต่อคน กรอบวงเงิน 3,209 ล้านบาท จึงเพียงพอ

    นอกจากนี้ กรมการจัดหางาน ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนร่วมโครงการ มีความต้องการจ้างงานใหม่ 89,377 อัตรา ในขณะที่มีแรงงานลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 64,022 คน จึงคาดว่าจะมีประเภทตำแหน่งงานที่หลากหลาย และเพียงพอต่อจำนวนแรงงานที่มาลงทะเบียนร่วมโครงการ

    ผ่านแผน “Big Rock” เดินหน้าปฏิรูป ปท. 881 โครงการ 6.6 หมื่นล้าน

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. รับทราบแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock)  ประกอบด้วย 62 กิจกรรม รวม 881 โครงการ กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 66,502.24 ล้านบาท  โดยส่วนใหญ่ใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี 2564 – 2565 และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

    ตัวอย่างกิจกรรม Big Rock ด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างเกษตรมูลค่าสูง โดยมีเป้าหมายย่อยคือการขยายพื้นที่ชลประทานอย่างเหมาะสม/มีการสร้างผู้ประกอบการ Smart Farmer /เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอาหารและเศรษฐกิจชีวภาพ มีโครงการ/การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ (Smart Big Farming) และโครงการส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้น ซึ่งผลผลิตที่จะได้คือ เกษตรกรสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง  และมีมูลค่าการจำหน่ายและการเจรจาธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีงบประมาณ 2564  เป็นต้น

    ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock อย่างเคร่งครัด บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ เพื่อผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด

    อนึ่ง แผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการถ่ายระดับการดำเนินงานตามขั้นตอนและวิธีการของกิจกรรม Big Rock ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยจะมีการรุบุ หน่วยงานร่วมดำเนินการ เป้าหมายย่อยของการดำเนินการตามขั้นต้อนและวิธีการที่จะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายของกิจกรรม ระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จของแต่ละเป้าหมายย่อย และโครงการ/การดำเนินงานเพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลผลิตตามเป้าหมายย่อยภายในระยะเวลาที่กำหนด ครอบคลุมรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ แหล่งงบประมาณ และวงเงินงบประมาณที่ใช้

    ซึ่งมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงานรองรับกิจกรรม Big Rock ใน 3 ระดับ คือ (1) มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด หากไม่ดำเนินการจะทำให้การปฏิรูปประเทศไม่บรรลุผลตามที่กำหนด (2) มีความจำเป็นเร่งด่วน และ (3) มีความจำเป็นเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนงบประมาณตามกฎหมายต่อไป

    รับทราบ GDP ปี’64 ขยายตัว 1.5-2.5%

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. รับทราบ ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564  ลดลงร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ที่ลดลงร้อยละ 4.2  ทำให้ไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปี 63 ที่ร้อยละ 0.2 โดยได้แรงสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ด้านการลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 7.3  ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ร้อยละ 3.0

    เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 19.6  สูงขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้านี้ การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว ร้อยละ 9.3   ด้านการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่ร้อยละ 5.3  สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 17.3) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 13.2) รถกระบะ (ร้อยละ 44.8) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 53.1) ยางพารา (ร้อยละ 38.1) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 72.5) เป็นต้น

    กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ข้าว และน้ำตาล ด้านการผลิต การผลิตสินค้า อุตสาหกรรมและสาขาก่อสร้าง  เกษตร สื่อสารและการเงิน มีการขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนที่พักแรมและบริการด้านอาหาร  การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้ำ ไฟฟ้าและก๊าซ และการขายส่ง –ปลีก ลดลงต่อเนื่อง

    ขณะที่ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (7.71 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่ำทั้งสิ้น 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.3 ของ GDP

    แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก  แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติ ในปี 2563  ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้ำในรูปดอลลาร์ สรอ.จะขยายตัวร้อยละ 10.3 ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 1.6 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.7 ของ GDP

    “รัฐบาลจะให้ความสำคัญในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อและให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว รวมทั้งป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ โดยบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาดอย่างเคร่งครัด ยกระดับการเฝ้าระวังสอบสวนโรคเชิงรุกในเขตพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงในกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองต่างๆ เร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีน การพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุข และเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง  ขณะเดียวกัน ก็จะเดินหน้ามาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เร่งใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ ไปกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศด้วย”

    สรุปผลประชุมวิป 3 ฝ่าย ชงสภาฯ พิจารณางบฯปี’65 -ร่าง พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการรายงานของ นายอนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงผลการประชุมวิป 3 ฝ่าย (ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล / ฝ่ายค้าน / วิปวุฒิสภา) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดวาระสำคัญ ดังนี้

    1. การพิจารณาพระราชกำหนด 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 (ลดดอกเบี้ยผิดนัด) และ พ.ร.ก. การให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. 2564 โดยกำหนดประชุม วันที่ 27 พ.ค. หากไม่แล้วเสร็จ ให้พิจารณาต่อวันที่ 28 พ.ค.
    2. การพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2565 กำหนดประชุม วันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย. (รวม 3 วัน)

    “นายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ขอให้รัฐมนตรีใช้เวลาในการประชุมสภาฯให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชี้แจงข้อมูลถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้งบประมาณแผ่นดินในแผนงานและโครงการต่างๆ รวมถึงความสอดคล้องต่อสถาณการณ์ของประเทศ ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส งบประมาณของกระทรวงใดที่มีการปรับลดลงจากปีก่อนต้องชี้ให้เห็น เงินที่ใช้สำหรับการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจและการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด19 ต้องอธิบายด้วยว่ามีการใช้งบจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ และงบกลางกรณีฉุกเฉินอยู่แล้ว และที่สำคัญต้องตอบข้อซักถามทุกประเด็นให้เกิดความกระจ่าง เพื่อความเข้าใจร่วมกันและความสบายใจของประชาชน”

    เพิ่มค่าทำศพ “กองทุนเงินทดแทน” เป็น 50,000 บาท

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพให้นายจ้างจ่าย ซึ่งให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่าทำศพในอัตรา 50,000 บาท เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงความตายหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 40,000 บาทตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563

    ทั้งนี้ การปรับเพิ่มอัตราค่าทำศพดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในการจัดการศพ  ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตติดต่อยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ นอกจากนี้ การเพิ่มอัตราฯ ยังให้เกิดความเท่าเทียมกันทั้งสองกองทุน คือ กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม ที่กำหนดอัตราเงินค่าทำศพไว้ที่  50,000 บาท เช่นเดียวกัน

    “อัตราค่าทำศพใหม่นี้จะไม่มีผลกระทบต่อสถานะกองทุนเงินทดแทน  เนื่องจากกองทุนเงินทดแทนจัดเก็บเงินสมบทเฉลี่ยปีละ 3,941.82 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นค่าทำศพรวม เฉลี่ยปีละ 33.75 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.96 ของเงินทดแทน  ซึ่งในปี 2564 ที่กำหนดอัตราเงินค่าทำศพ 50,000 บาท จะมีค่าจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 6.75 ล้านบาท”

    เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน-แผนจัดสรรน้ำปี’64

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ป้องกัน และลดความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติในฤดูฝน ควบคู่ไปกับแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว เนื่องจากมีการประมาณการว่าในฤดูผลจะมีการใช้น้ำมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำถึง 57,527 ล้านลูกบาศก์เมตร

    โดยแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน กำหนดให้ใช้น้ำฝนในการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แบ่งประเภทการใช้น้ำ ดังนี้ 1)การอุปโภคบริโภค รวม 3,429 ล้านลูกบาศก์เมตร 2)การรักษาระบบนิเวศ รวม 12,888 ล้านลูกบาศก์เมตร 3)การเกษตรกรรม รวม 78,905 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 4)การอุตสาหกรรม รวม 1,027 ล้านลูกบาศก์เมตร

    ส่วนพื้นที่จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรฤดูฝน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้คาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 ดังนี้ 1)ในเขตชลประทาน มีจำนวน 11.56 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่ 1 (นาปี) จำนวน 10.62 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 6.1 แสนไร่ และพืชผัก จำนวน 3.2 แสนไร่ 2)นอกเขตชลประทาน มีจำนวน 61.49 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่1 (นาปี) จำนวน 48.95 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 11.75 ล้านไร่ และพืชผัก จำนวน 7.9 แสนไร่

    สำหรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ประกอบด้วย 10 มาตรการ ดังนี้ 1)คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ โดยปรับปรุงข้อมูลทุกสิ้นเดือน  2)บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 15 สิงหาคม 2564 3)ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 เมษายน 2564 4)ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์และระบบระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งานภายใน 30 มิถุนายน 2564

    5)ปรับปรุงและแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564 6)ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564 7)เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564 8)เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำตลอดระยะเวลาฤดูฝน 9)สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน 10)ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดระยะเวลาฤดูฝน

    ผ่านร่าง กม.ออกใบอนุญาตผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรออนไลน์

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน พ.ศ. ….  ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ให้สามารถขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญดังนี้

    1. กำหนดให้การยื่นคำขอใบอนุญาต การออกใบรับคำขอใบอนุญาต การแจ้งการชำระค่าธรรมเนียม และการอนุญาต ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก หากไม่สามารถดำเนินการทางวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ดำเนินการ ณ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
    2. เมื่อได้รับคำขอใบอนุญาต ให้สำนักงานดำเนินการดังนี้
      • ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตไว้เป็นหลักฐาน
      • กรณีคำขอรับใบอนุญาตหรือข้อมูลเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้บันทึกความบกพร่องนั้นไว้ และแจ้งผู้ขอใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่กำหนด
      • พิจารณาอนุญาตและแจ้งผลภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ รวมทั้งแจ้งให้ผู้ขอใบอนุญาตมาชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
      • กรณีผู้ที่ขอใบอนุญาตขาดคุณสมบัติ ให้สำนักงานมีคำสั่งไม่อนุญาตและมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอใบอนุญาตรับทราบพร้อมเหตุผล และมีสิทธิอุทธรณ์ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต
    3. บรรดาคำขอใบอนุญาตที่ได้ยื่นไว้ก่อนที่กฎกระทรวงนี้บังคับใช้ และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหรือตรวจสอบ ให้ถือว่าเป็นคำขอรับใบอนุญาตที่ได้ยื่นตามกฎกระทรวงนี้

    “เมื่อร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงช่องทางบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร  ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางมาติดต่อและเป็นการขับเคลื่อนหน่วยงานราชการสู่รัฐบาลดิจิทัล”

    โพลรัฐบาลชี้ ปชช. พอใจมาตรการเยียวยาโควิดฯ 81.2%

    นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ปี 2564 ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการม.33 เรารักกัน และการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 9,000 คน ระหว่างวันที่ 8-15 มีนาคม 2564

    ทั้งนี้ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 99.7 รับทราบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ  โดยประชาชนมีความพึงพอใจโดยรวมต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 81.2  พอใจปานกลางร้อยละ15.9 พอใจน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 2.3 และไม่พึงพอใจร้อยละ 0.6

    เมื่อแยกเป็นรายโครงการพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจโครงการเราเที่ยวด้วยกันระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 59.9 พึงพอใจระดับมากถึงมากที่สุดโครงการคนละครึ่งร้อยละ 82.7 โครงการเราชนะร้อยละ 86.7 และม.33 เรารักกันร้อยละ 67.8

    โดยประชาชนได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ดังนี้คือ ควรให้สิทธิแก่ทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน ควรขยายระยะเวลาใช้บริการ และควรให้เป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้บริการ ส่วนโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และม.33 เรารักกัน ประชาชนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิเยียวยา ควรเพิ่มวงเงิน และควรให้เป็นเงินสด

    สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการต่อไปมากที่สุดคือ โครงการเราชนะร้อยละ 62.9  โครงการคนละครึ่งร้อยละ 26.3  โครงการม.33 เรารักกันร้อยละ 6.1 โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 1.7 และโครงการเราเที่ยวด้วยกันร้อยละ 0.6

    ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐพบว่า ประชาชนร้อยละ 60.7 มีความพร้อม  ร้อยละ 39.3 ไม่พร้อม ให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวฉีดแล้วมีอาการแพ้ และต้องการดูผลที่เกิดขึ้นจากการฉีดของคนอื่นก่อน อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 66.3

    อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติมีได้เสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เช่น ควรเพิ่มวงเงินมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น หรือควรให้ทุกคนได้รับสิทธิในการเยียวยา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคนและทุกระดับ

    นอกจากนี้ ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือไม่ควรยุ่งยากและซับซ้อน เช่น การให้เป็นเงินสดโดยไม่ต้องลงทะเบียน และควรส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ในราคาย่อมเยา รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ลดราคาสินค้าสำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์

    จัดงบฯอุดหนุน รฟท. 2,886 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 2,886 ล้านบาท โดยเงินอุดหนุนดังกล่าว มาจากการประมาณรายได้ของ รฟท.ไว้ที่จำนวน 314 ล้านบาท และประมาณการค่าใช้จ่ายจำนวน 3,201 ล้านบาท

    ซึ่งวงเงินดังกล่าวครอบคลุมประมาณการต้นทุนจากการให้บริการสาธารณะในเรื่องค่าใช้จ่ายพนักงานการเดินรถและซ่อมบำรุง ค่าซ่อมบำรุง และค่าเบี้ยประกันภัย รวมถึงนำผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) มาคำนวณซึ่งทำให้ประมาณการผู้โดยสารในปี 2564 ลดลง

    ยกเว้นภาษีโอนทรัพย์ชำระหนี้-ผ่อนเกณฑ์จำหน่ายหนี้สูญ

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการมาตรการภาษีอากรสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยการยกเว้นภาษีอากรและการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับการดำเนินมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ 2) ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

    ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดของ โควิด-19 และเพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564  ที่ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19  ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่  10 เมษายน 2564

    โดยร่างกฎหมายฉบับแรกจะเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน รวมถึงยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินสำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

    สำหรับรางกฎหมายฉบับที่ 2  เป็นการกำหนดให้การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้ที่สถาบันการเงินได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ

    ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ประมาณการการสูญเสียรายได้จากมาตรการนี้เป็นเงินจำนวน 12,000 ล้านบาท  แต่จะมีประโยชน์ที่คุ้มค่าคือ ผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 มีภาระทางการเงินลดลงและมีโอกาสที่จะซื้อทรัพย์สินคืนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปในราคาที่ไม่สูงเกินจริง เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง  และยังลดโอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะถูกกดราคาทรัพย์สินในกรณีที่มีความต้องการขายทรัพย์สินให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน

    ขยายเวลาลดภาษีนำเข้า “เวชภัณฑ์–เครื่องมือแพทย์”

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้านโควิด-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล สำหรับการนำเข้าและบริจาคตั้งแต่วันที่  1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565  หลังจากที่มาตรการเดิมสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

    โดยจะเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโควิด-19เพื่อบริจาคให้แก่ สถานพยาบาลซึ่งประกอบด้วย สถานพยาบาลของทางราชการ สถานพยาบาลของสถาบันการศึกษาของรัฐ สถานพยาบาลขององค์การมหาชน สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจที่เป็นองค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ สถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสถานพยาบาลของสภากาชาดไทย รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐ และองค์กรหรือสถานสาธารณกุศลหรือสถานพยาบาลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศ

    และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคให้สถานพยาบาลข้างต้น  โดยต้องไม่นำต้นทุนของสินค้ามาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

    “การขยายระยะเวลาดังกล่าว คาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้จากภาษีประมาณ 15 ล้านบาท แต่จะมีประโยชน์คุ้มค่าในการช่วยสนับสนุนการรักษา การวินิจฉัย และการป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ  และยังช่วยจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19  ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง”

    อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2564เพิ่มเติม