ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะคุม “ครม.เศรษฐกิจ” แบ่งงานรองนายกฯ – มติ ครม.เคาะปฏิทินงบฯปี 63 ชี้เงินเหลือทำตามนโยบายหาเสียงแสนล้าน

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะคุม “ครม.เศรษฐกิจ” แบ่งงานรองนายกฯ – มติ ครม.เคาะปฏิทินงบฯปี 63 ชี้เงินเหลือทำตามนโยบายหาเสียงแสนล้าน

30 กรกฎาคม 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมแนะนำโฆษกรัฐบาลหน้าใหม่อย่าง ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หรือ ดร.แหม่ม อดีตทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลที่ผ่านมา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่ออันดับที่ 5 จากพรรคพลังประชารัฐ

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะคุม “ครม.เศรษฐกิจ” – แบ่งงานรองนายกฯ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวทักทายผู้สื่อข่าว พร้อมกล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการเริ่มทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอย่างเต็มตัวหลังแถลงนโยบายไปแล้ว ซึ่งตนได้กับชับในที่ประชุมหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องของกฎหมายใหม่ๆ เช่น พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2562 รวมไปถึงเรื่องงบประมาณ และการจัดทำงบประมาณต่างๆ อีกทั้งได้มีการชี้แจงจากคณะทำงานของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น กฤษฎีกา เลขาคณะรัฐมนตรี หรือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในการที่จะทำงานร่วมกันในระยะต่อไป

ต่อคำถามถึงการแบ่งงานให้แก่รองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า แบ่งแล้วไม่ต้องห่วง เป็นการแบ่งงานเหมือนกับครั้งที่แล้วว่า รองนายกรัฐมนตรีแต่ละคนกำกับดูแลกระทรวงใด และในวันนี้ได้มีการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองบางกระทรวงมาแล้ว ส่วนเรื่องที่จะแต่งตั้ง ส.ส.เป็นข้าราชการการเมืองนั้น ทางกฤษฎีกาพิจารณาแล้วทำไม่ได้จึงต้องหาวิธีในการบรรจุคนอื่นเข้ามาทำงานแทนที่ไม่ใช่ ส.ส. หากเป็น ส.ส.ก็ต้องลาออก อย่างเช่นโฆษกรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องแนวความคิดการประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า วันนี้ได้ผ่านความเห็นชอบแล้วให้จัดตั้ง “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” เพราะมีรองนายกรัฐมนตรีมาจากหลายส่วนด้วยกัน จึงจำเป็นต้องมารวมกันแล้วตนเป็นประธานการประชุม เพื่อนำหลายๆ เรื่องมาหารือร่วมกัน ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

“เพราะรัฐมนตรีแต่ละคนก็รับผิดชอบกันคนละกระทรวงไป การขับเคลื่อนจึงอาจเกิดปัญหาไม่สอดคล้องกันอยู่บ้าง แต่เราก็ต้องหารือร่วมกัน ซึ่งทางรัฐมนตรีทุกท่านก็เห็นชอบร่วมกัน วันนี้ก็มีการเห็นชอบกันไปแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันลงนามรถไฟฯ เชื่อม 3 สนามบิน ตามกรอบเดิม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีการลงนามในเดือนสิงหาคมได้หรือไม่ ว่า คาดว่าประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 เพราะได้กำหนดการลงนามไว้แล้วในเดือนกันยายน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้กับภาคเอกชน

“ปัญหามีอันเดียวเท่านั้นเอง คือ การส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างให้กับเอกชนเขา ถ้ามันส่งมอบไม่ได้ทั้งหมดจะทำอย่างไร ตอนนี้เราดูคร่าวๆ แล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ ส่งได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันเป็นพื้นที่ที่จะอพยพผู้คนออกจากการบุกรุกบ้างอะไรบ้าง แต่ก็คิดว่าจะดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

วอนเห็นใจมือใหม่ในสภา – ครั้งหน้าขอแก้ตัวใหม่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการให้คะแนนการแถลงนโยบายของรัฐบาลว่า ตนไม่รู้จะให้คะแนนอย่างไร เพราะว่าเป็นเรื่องของประชาชน แต่ที่ผมกราบเรียนไปแล้วนั้นเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง เป็นตัวเลขต่างๆ ที่ได้จากหน่วยราชการ

ทั้งนี้ตนยอมรับว่าการแก้ปัญหามหภาคนั้นจำเป็น ซึ่งตัวเลขที่ได้รับรายงานนั้นเป็นตัวเลขที่ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับหลายประเทศด้วยกัน ส่วนเศรษฐกิจจุลภาคของเราหรือเศรษฐกิจระดับล่างตนได้สั่งการเพิ่มเติมให้หามาตรการเพื่อแก้ปัญหาส่วนนี้ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งต้องวิเคราะห์ตลาดตามความต้องการของผู้บริโภคทุกระดับทั้งผู้มีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูง โดยจะมีหลายมาตรการออกมาในระยะต่อไป

“เรื่องการให้คะแนนนั้นต้องกราบเรียนด้วยว่าผมต้องปรับตัวอีกเยอะเหมือนกัน เพราะเป็นครั้งแรกที่เข้าไปในสภา คุ้นเคยแต่คุยกับสื่อมวลชนหลังประชุม ครม. ถ้ามีอะไรไม่เหมาะสมก็ขอโทษด้วยแล้วกัน ครั้งหน้าจะแก้ตัวใหม่”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงเรื่องของการประเมินผลการทำงานของรัฐบาลโดยระบุว่า การประเมินผลงานของรัฐบาลนั้นมีขั้นตอนอยู่แล้วจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การขับเคลื่อน ไปสู่การจัดทำแผนงานและโครงการ ซึ่งจะมีคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของทุกแผนงานโครงการ

“ข้อสำคัญ ได้มีการย้ำไปแล้ว ต้องไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เตรียมมาตรากระตุ้น ศก. อัดฉีดงบฯ เน้นบริโภค – หนุนท่องเที่ยว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวไปถึงเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นว่า วันนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ซึ่งประเด็นหลักคือเรื่องการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ วันนี้ได้ให้แนวทางในการจัดทำแผนงานและโครงการให้สอดคล้องรายไตรมาสในปี 2563 เป็นแผน 1 ปี แผน 3 ปี และแผน 5 ปี ออกมา สำหรับการผลักดัน และขับเคลื่อน ซึ่งจะทำให้มีเงินมาใช้จ่ายในระบบตามห้วงระยะเวลา สามารถเบิกจ่ายได้

“หากไม่ได้ก็ต้องเรียกคืน แล้วมาปรับโครงการเป็นโครงการใหม่ บางทีก็ต้องโยกไปใช้ในปีหน้าและปีต่อไป ทำให้เสียเวลา ก็ต้องเห็นใจด้วย เพราะรัฐแม้จะมีกฎหมาย มีวิธีการบริการจัดการงบประมาณอย่างไรก็ตามแต่หากไม่ผ่านความคิดเห็นจากประชาชนก็ทำลำบาก ฉะนั้นก็ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย แต่เราก็จะพยายามทำอย่างเต็มที่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ไม่เคยดูถูกคนจน “เรื่องเสียภาษี” – ปัดตอบเข้าสังกัด พปชร.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเปรียบรัฐ่บาลชุดนี้เหมือน “เรือเหล็ก” ว่า ไม่ว่าเรืออะไรก็ตาม ต้องพาคนไทยทั้ง 70 ล้านคนไปให้ได้ ซึ่งไม่ใช่จำนวนน้อย การที่เรือจะลอยจะจม จะไปได้หรือไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับน้ำ ฉะนั้นน้ำก็คือประชาชนที่จะทำให้เรื่องลำนี้แล่นไปได้

“ถ้าไม่พายก็อย่าไปราน้ำ เพราะเรือก็หนักพอสมควรอยู่แล้วในการบรรทุกคน 70 ล้านคน ก็ขอความร่วมมือกับทุกท่านด้วย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า หลายเรื่องที่ตนชี้แจงในสภาก็เป็นเรื่องในสภา ตนไม่นำมาวิพากษ์วิจารณ์ตอนนี้ ก็ขอให้ติดตามต่อไปว่าอะไรเป็นข้อเป็นจริง อะไรไม่ใช่ข้อเท็จจริง และในช่วงนี้ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการรับข่าวปลอม หรือเรื่องบิดเบือนต่างๆ ซึ่งคำพูดของตนบางครั้งก็ยังถูกนำมาบิดเบือนอยู่เลย

“ผมไม่เคยไปดูถูกว่า คนจนไม่ได้เสียภาษีจำไว้ด้วย วันนั้นผมพูดว่า ภาษีมีกี่ประเภท ในเรื่องของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คนที่มีรายได้น้อยก็ไม่ต้องเสียตรงนี้ แต่ไปเสียตรงอื่น ผมพูดอย่างนี้ใช่ไหม ผมไปบอกว่าคนจนไม่เสียภาษีหรือไง เนี่ยบิดเบือนหรือเปล่า กรุณาฟังให้ถูกต้องด้วย” นายกรัฐมตรีกล่าว

ต่อคำถามเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ก็เป็นไปตามกฎหมาย เขาให้ยื่นตนก็ต้องยื่นอยู่แล้ว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงท่าทีของตนต่อการสังกัดพรรคพลังประชารัฐ หรือการเป็นหัวหน้าพรรคฯ โดยระบุว่า “อันนี้ไม่ตอบ เรื่องท่าทีไม่ตอบดีกว่า ผมจะเป็นอะไรเมื่อไรก็ให้ตัดสินใจเอง”

มติ ครม.มีดังนี้

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

แบ่งงานรองนายกฯ “สมคิด” คุมการเงิน – การคลัง

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้แบ่งงานและอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลต่างๆ ของรองนายกรัฐมนตรี รายละเอียดดังนี้

  • พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ ยังกำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ,  สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน)
  • ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังกำกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน,บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
  • นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะกำกับดูแลโดยตรง, กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ ยังกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานราชบัณฑิตสภา, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี,สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์
  • นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

โดยรองนายกฯ ทั้ง 5 ยังมีอำนาจในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเรื่องของหน่วยงานที่กำกับดูแล ยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย, การสถาปนาพระอิสริยยศ, การแต่งตั้งในกรณีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการจำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม เอกอัครราชทูตประขำต่างประเทศ กงศุล และกรรมการที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ, การพระราชทานยศทหาร ตำรวจ ชั้นนายพล, การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และการพระราชทานเรื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี, การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการประกาศใช้ความตกลงระหว่างประเทศ และเรื่องสำคัญที่เคยมีประเพณีปฏิบัติให้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม

ส่วนนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนนากรัฐมนตรี ในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนังานราชบัณฑิตสภา และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

ขณะเดียวกัน ครม.ยังมีมติเห็นชอบตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีสถาพัฒน์เป็นหน่วยงานสนับสนุนหลัก เพื่อให้การบริการของรัฐบาลที่มีหลายพรรคเป็นไปอย่างบูรณาการ

ทั้งนี้การตั้งคณรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจทุกวันจันทร์ก่อนการประชุม ครม.ในทุกวันอังคารตามปกติ เริ่มต้นตั้่งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ซึ่งรายชื่อ ครม.เศรษฐกิจ 17 คน ประกอบด้วย

  • นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1
  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2
  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 3
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ
  • นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นกรรมการและเลขานุการ
  • เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

โดยในการขับเคลื่อนนโยบายมอบหมายให้จัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี หรือพีเอ็มดียู (Prime Minister Delivery Unit: PMDU) เพื่อเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายต่างของรัฐบาลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและเป็นตัวชี้วัดการทำงานของรัฐบาลอีกด้วย อนึ่ง เดิมเคยถูกจัดตั้งและสังกัดอยู่ใน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560 ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ต่อมาได้มีการโอนย้ายสำนักงานแห่งนี้มาอยู่ในสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 18/2560 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2560 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรียกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2560 พ.ศ. 2562 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีต้องถูกยุบเลิกไปในที่สุด

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ตั้ง 8 ขรก.การเมือง “ดร.แหม่ม” นั่งโฆษกรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมือง

  • รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองโดยอยู่ภายใต้การกำกับของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล และนายประทีป กีรติเรขา
  • ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • กระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งนางสาวเรวดี รัศมิทัต เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งนายยุทธพล อังกินันทน์ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยฯ และนายธเนศพล ธนบุญยวัฒน์ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“สำหรับการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองอื่นๆ หรือรองโฆษกฯ อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นเตือนเกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ของข้าราชการการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยตีความว่า ส.ส.ไม่สามารถรับหน้าที่ข้าราชการการเมืองได้หากยังเป็น ส.ส.อยู่ ต้องเลือกเพียงตำแหน่งเดียว แตกต่างจากกรณีของรัฐมนตรีที่อนุญาตให้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ต่อไปได้ แต่จะงดออกเสียงในการลงมติต่างๆ ในสภาแทน ทำให้หลายพรรคต้องไปจัดสรรตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งใหม่ก่อน ส่วนเรื่องงบประมาณประจำปี 2563 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2563 โดยระหว่างนี้จะใช้งบประมาณของปี 2562 ไปพลางก่อน” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

ตั้งศูนย์บริหารน้ำเฉพาะกิจ – จัด 6 มาตรการเร่งด่วนแก้ภัยแล้ง

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.หารือเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งและมีมติเห็นชอบให้ตั้งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ นอกจากนี้ ยังเห็นชอบ 6 มาตรการเร่งด่วน 4 มาตรการระยะสั้น และ 3 มาตรการระยะยาว โดยยังไม่ได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ โดยจะต้องรอให้แต่ละกระทรวงนำไปดำเนินการและส่งรายละเอียดโครงการกลับมาอีกครั้ง โดยมาตรการต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

6 มาตรการเร่งด่วนประ กอบด้วย

  1. การทำฝนหลวงเหนือและท้ายอ่างเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ
  2. การบูรณาการร่วมกัน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการออกสำรวจพื้นที่ที่จะกำหนดว่าจะสนับสนุนเครื่องมือบริหารจัดการน้ำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำและอื่นๆ
  3. การปรับแผนการระบายน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำกว่า 30% และเพิ่มความเข้มงวดติดตาม กำกับ การจัดสรรน้ำในระดับพื้นที่เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศเพียงพอถึงฤดูแล้งปี 2562/63
  4. ปรับปรุงแผนการระบายน้ำใน 4 เขื่อนหลัก มอบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกรมชลประทาน ปรับลดแผนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนแบบขั้นบันไดเพื่อประหยัดน้ำ โดยมอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
  5. การวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มแม้น้ำ คลอง อย่างบูรณาการ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมชลประทานมอบการประปานครหลวงวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง
  6. วางแผนทำความเข้าใจสถานการณ์น้ำและแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน เพื่อประสานงานกับ ส.ส.ในพื้นที่รับทราบ

4 สำหรับมาตรการระยะสั้น ได้แก่

  1. การอนุมัติงบกลางเพื่อดำเนินการก่อสร้างหรือซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ
  2. แผนการขุดและซ่อมแซมบ่อบาดาล
  3. แผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ชัดเจน
  4. การบูรณาการ 4 กระทรวง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

3 สำหรับมาตรการระยะยาว ได้แก่

  1. จัดทำแผนน้ำและระบบชลประทานระยะ 20 ปีให้ชัดเจน
  2. จัดระบบลงทะเบียนแหล่งน้ำและผู้ใช้น้ำ เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ
  3. จัดทำแผนเพาะปลูกล่วงหน้า เพื่อจะจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบ

อนึ่ง สภาพอากาศและน้ำฝนในปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) น้อยกว่าค่าปกติ 5-10% และส่วนครึ่งหลังของฤดูฝน (สิงหาคม-ตุลาคม) จะมีปริมาณฝนตกใกล้เคียงกับค่าปกติและคาดว่าจะมีพายุพัดผ่านประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ข้อเท็จจริงสถิติฝนที่ตกจริงในช่วงเดือนมิถุนายน-กลางกรกฎาคม มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ 30-40% ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่มีปริมาณฝนมากกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่แล้งสุด 12% เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเอลณีโญกำลังอ่อน ส่วนภาคอื่นๆ เป็นไปตามคาดการณ์

ขณะที่ปริมาณน้ำทุกแหล่งน้ำ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำรวม 38,665 ล้านลูกบาศก์เมตรน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 11,904 ล้านลูกบาศก์เมตร และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 พบในเบื้องต้นมีจำนวน 160 อำเภอ 21 จังหวัด และล่าสุด ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเป็น 240 อำเภอ 36 จังหวัด แบ่งออกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 105 อำเภอ 12 จังหวัด ภาคเหนือ 61 อำเภอ 11 จังหวัด ภาคใต้ 70 อำเภอ 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 อำเภอ 2 จังหวัด ภาคกลาง 1 อำเภอ 1 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 อำเภอ 1 จังหวัด ตามลำดับ

ติวเข้ม รมต. “ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ” – เตรียมส่งมอบงานรัฐบาลใหม่

ศ. ดร.นฤมล กล่าวอีกว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบในแนวทางการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมไปถึงการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรีในสอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังหารือรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการการเสนอร่างกฎหมายต่างๆในอนาคต เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดแตกต่างจากที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดให้ ครม.รวมถึงรัฐสภาออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น มีการรับฟังความเป็นของประชาชน และวิเคราะห์ผลกระทบและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายด้วย ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติตามค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ครม.มีมติเกี่ยวกับระบบการทำงานร่วมกันระหว่าง ครม. กับรัฐสภา โดยมอบให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาและประสานงานในการเลือกสรรผู้สมควรดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ตลอดจนองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการ นำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

ส่วนคณะกรรมการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีชุดเดิมโดยให้คณะกรรมการต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 และภายหลังจากนั้นให้คณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งทุกคณะเป็นอันสิ้นสุดลงและหากส่วนราชการใดพิจารณาเห็นว่าคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะใดยังมีภารกิจสำคัญและจำเป็นที่จะต้องคงอยู่ต่อไปเพื่อให้สามารถดำเนินการภารกิจได้อย่างต่อเนื่องให้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการคณะนั้นๆ ขึ้นใหม่โดยให้ตรวจสอบและปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน แล้วส่งไปยัง สลค.โดยด่วนภายในวันที่ 30 กันยายน 2562

“วันนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการอะไรเพิ่มเติมนอกจากกล่าวกับที่ประชุมเพียงเล็กน้อยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ขอให้ทุกคนรักการ ตอนนี้เราเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

เคาะปฏิทินงบฯปี 63 เริ่มจ่าย ก.พ. หน้า ชี้เงินเหลือทำตามนโยบายหาเสียงแสนล้าน

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบปฏิทินงบประมาณใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารราชการภายหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว โดยมีกำหนดการดังนี้

  • 31 กรกฎาคม 2562 สำนักงบประมาณกำหนดหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อยืนยันกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในกรอบงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท โดยมีการประมาณการรายได้จากการการจัดเก็บภาษีและรายได้ของรัฐบาลอยู่ที่ 2.75 ล้านล้านบาท
  • 2 สิงหาคม 2562 จะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
  • 6 สิงหาคม 2562 สำนักงบประมาณยืนยันกรอบงบประมาณก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบ
  • 9 สิงหาคม 2562 ให้หน่วยงานราชการต่างๆ ส่งคำของบประมาณเข้ามายังสำนักงบฯ
  • 17 ตุลาคม 2562 นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้หารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระที่ 1
  • ตั้งกรรมมาธิการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในกรอบระยะเวลา 105 วันตามที่กำหนดในกฎหมายการจัดทำงบประมาณ
  • คาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 จะประกาศใช้ได้อย่างเร็วในช่วงปลายเดือนมกราคมและเบิกจ่ายได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563

กรอบงบประมาณที่สามารถนำมาใช้ตามนโยบานที่รัฐบาลหาเสียงไว้อยู่ที่ประมาณ 8 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาทที่สามารถเพิ่มเติมจากคำของบประมาณเดิม ซึ่งนายกฯ ได้กำชับว่าให้เป็นไปตามการแถลงนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ และการจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่น”

ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้ขอให้หน่วยงานที่มีโครงการตามกรอบงบประมาณในปี 2563 เตรียมความพร้อมขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พ.ร.บ.งบประมาณประกาศใช้ จะได้ลงนามในสัญญาได้ทันที ไม่ต้องรอตามขั้นตอนเหมือนในอดีตที่ใช้เวลานาน เพื่อให้การให้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ่านมติครม.ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2562เพิ่มเติม