ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” งัด ม.44 เด้งนายกฯ พัทยา ตั้ง “สนธยา” นั่งแทน – มติ ครม. จัด “ซอฟต์โลน” 0.01% จูงใจชาวนาปลูกข้าวโพด

“บิ๊กตู่” งัด ม.44 เด้งนายกฯ พัทยา ตั้ง “สนธยา” นั่งแทน – มติ ครม. จัด “ซอฟต์โลน” 0.01% จูงใจชาวนาปลูกข้าวโพด

25 กันยายน 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธาน

คสช. เตรียมตั้ง สำนักงาน ปยป. สานต่องานปฏิรูปประเทศ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อเช้าก็มีการหารือของ คสช. ว่าเราจะทำอย่างไรให้การปฏิรูปประเทศ และการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ของเราจะได้รับการสืบต่อในวันข้างหน้าให้ได้ ซึ่งต้องเป็นกลไกในเรื่องการบริหาร เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป เพราะวันหน้าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ที่ประชุมจึงมีการเสนอจัดตั้งสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อให้ทำหน้าที่บูรณาการ กลั่นกรองข้อมูล ช่วยเหลือชาวบ้านในการตรวจสอบข้อร้องเรียน ที่กระทรวงอาจจะไม่ได้ทำตามแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิรูป เป็นต้น และช่วยเหลือกระทรวงต่างๆ เนื่องจากบางเรื่องกระทรวงกลัวว่าจะมีการก่อม็อบเคลื่อนไหว จึงขอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาติดตามรับฟังและอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ก่อนที่ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะไปถึงนายกฯ ทั้งนี้ สำนักงานดังกล่าวจะไม่มีอำนาจสั่งการ มีเพียงการติดตามผลประสานงาน และช่วยแก้ปัญหาในบางเรื่อง

“ผมต้องพยายามทำให้สิ่งที่รัฐบาลได้ทำในวันนี้สามารถต่อเนื่องไปได้ ซึ่งไม่ใช่การสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด ในเมื่อมี พระราชบัญญัติการทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ออกมาแล้ว เป็นกฎหมายก็ต้องทำ และก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การตั้งสำนักงานดังกล่าว เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันนายกฯ เหมือนทศกัณฐ์ ควบคุมหน่วยงานต่างๆ และคณะกรรมการจำนวนมาก เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) คณะกรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กขป.) คณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล (คตน.) สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้จะรายงานข้อมูลต่างๆ โดยตรงไปยังนายกรัฐมนตรี จึงควรมีสำนักงานขึ้นมากำกับดูแลหน่วยงานย่อยเหล่านี้

“ในที่ประชุม คสช. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายเพียงหลักการว่าสำนักงานดังกล่าวจะเป็นหน่วยงานในลักษณะของกรม มีข้าราชการจำนวนไม่มาก เพื่อติดต่อประสานงาน ซึ่งเขาให้อำนาจนายกฯ สามารถนำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นต้น ไปทำงานในสำนักงานใหม่ได้ เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้ถูกยุบไปแล้ว แต่ยังมีเจ้าหน้าที่อยู่ โดยหัวหน้าหน่วยงานจะเป็นระดับซี 11 แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงว่าจะเป็นใคร และหลังจากนี้ที่ประชุมได้ให้นายวิษณุไปดูรายละเอียดการจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม การหารือดังกล่าวจะยังไม่ออกเป็นมาตรา 44” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ไม่หวั่นแรงเสียดทาน – ชี้ 4 ปี ใจเย็นขึ้น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามว่านายกรัฐมนตรีจะทนกับแรงเสียดทาน จากนักการเมืองที่รุมโจมตีอย่างไร และจะควบคุมอารมณ์ตนเองเมื่อเข้าสู่การเมืองอย่างไรว่า ตนยืนว่าตนไม่กลัว เพราะอยู่กับนักข่าวมา 4 ปีแล้ว ซึ่งตนก็อดทนและพยายามทำความเข้าใจ แม้บางครั้งจะมีอารมณ์หงุดหงิดนิดหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ตนก็ได้ปรับตัวมาโดยตลอด 4 ปี ตนนั้นพัฒนามามากพอสมควร วันนี้จะเห็นได้ว่าน้ำเสียงของตนนุ่มนวลขึ้น ไม่ดุเดือด พอแล้ว

“เพราะไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นอะไรต่างๆ ผมก็จำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ ไม่ใช่เพราะการเมือง แต่เพราะเดี๋ยวผมตายก่อน ผมเครียดมากๆ ผมก็ตายเอง ท่านไม่มีใครตายสักคน เพราะทุกคนมารุมผมอยู่คนเดียว ผมก็รับได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อกรณีที่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ยอมรับว่า “สนใจการเมือง” นั้น ตนขออย่าไปตีความมากนัก ที่ตนบอกว่าสนใจการเมืองก็คือ สนใจว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร คืบหน้าไปได้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่ตนเป็นห่วงกังวลก็คือ การปฏิรูปขั้นที่ 1 ที่ได้ทำไปแล้ว กฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนถึงแผนแม่บทที่รัฐบาลได้ดำเนินการจะได้รับการทำงานต่อเนื่องหรือไม่ หากจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนี้จะเข้าไปได้อย่างไร โดยกลไกอะไรก็ต้องไปดูรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายลูกต่างๆ ที่ออกมาในเวลานี้ และผมก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง

“สิ่งสำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้มีการปฏิรูปให้ได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่สร้างได้ในวันสองวัน หรือปีสองปี แต่ต้องใช้เวลาต่อเนื่อง และผมก็ไม่ได้สงวนไว้สำหรับผมคนเดียว เพราะทุกคนก็ต้องช่วยกัน วันนี้เราอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น บรรดานักการเมือง พรรคการเมือง คงจะต้องคิด เอาที่ผมพูดไปคิดดูเสียว่า ตนเองจะมีส่วนร่วมตรงนี้ได้อย่างไร เพราะการปฏิรูปต้องมาจากคนหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะนักการเมือง ประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ต้องช่วยกันทั้งหมด ดังนั้น อย่ามองการเมืองเพียงอย่างเดียว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้ร่วมพรรคการเมืองเป็นเรื่องอนาคต

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงสังกัดพรรคการเมืองที่จะเลือก ว่า การเสนอชื่อพรรคการเมืองนั้นเป็นเรื่องของอนาคต ตนยังไม่ได้ไปตรงไหนสักอันเลย ถ้าจะพิจารณาก็ต้องดูว่า ตนจะต้องไปเป็นสมาชิกพรรคใครก่อนหรือไม่ แล้วจะเข้าร่วมกับเขาได้แค่ไหนอย่างไร การที่ตนจะไปเป็นนายกรัฐมนตรีจะมาได้อย่างไร ก็ต้องดูกันใหม่ทั้งหมด ต้องศึกษา เพราะตนไม่ใช่นักการเมืองมาแต่แรก

“ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะเป็นหรือไม่เป็นจะทำให้บ้านเมืองมีความสงบมากน้อยแค่ไหน มันอยู่ที่ประชาชนทั้งนั้น ประชาชนจะต้องไม่ไปตกเป็นเครื่องมือของใครคนใดคนหนึ่ง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า สบายใจขึ้นหรือไม่ หลังประกาศจุดยืนว่าสนใจงานการเมือง นายกรัฐมนตรีระบุว่า “ผมก็สบายใจของผมมาโดยตลอด ผมต้องสบายใจ เพราะผมอยู่ด้วยแรงศรัทธา ศรัทธาในการทำงานของตัวเอง ศรัทธาในคณะทำงานของผม รัฐบาลของผม ผมก็ศรัทธาในตัวเขาทุกคน หากเราไม่สร้างความศรัทธา ไม่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันอะไรก็ไม่เกิด มันก็เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกันไปทั้งหมด และผมก็ไม่ได้ใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ผมเพียงแต่กำหนดนโยบายลงไป คุณต้องหาอะไรดีๆ ให้เจอสิว่ารัฐบาลทำอะไรไว้บ้าง วันนี้จะมีภาคธรุกิจเอกชนของสหรัฐอเมริกามาขอพบ สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสหภาพยุโรป ก่อนๆ นั้นก็มีหลายประเทศมาพบ การลงทุนต่างๆ ก็มากันมากมาย แสดงว่าเขาไว้วางใจหรือเปล่า”

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า คำถามที่สื่อถามนั้นตนก็ได้รับคำถามจากผู้นำประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน ว่าจะเล่นการเมืองหรือไม่ จะลงเลือกตั้งหรือเปล่า ซึ่งตนก็ไม่ได้ตอบอะไรเขา ตนบอกว่ามันเป็นเรื่องของสถานการณ์ภายในประเทศของเรา เพราะว่าแต่ละประเทศก็มีวิธีการบริหารของแต่ละประเทศ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ภายใต้หลักการของประชาธิปไตย

ยัน “ครม.สัญจร” ไม่มีแจกเงิน – ไฟเขียว รมต. ช่วย “พลังประชารัฐ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่นักการเมืองมองว่าการไม่ปลดล็อกการเมือง รวมถึงการที่ ครม. ลงพื้นที่และการประชุม ครม.สัญจร เป็นการหาเสียงล่วงหน้าว่า สำหรับเรื่องการเมือง หรือการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ตนนั้นได้พูดไปหลายครั้งแล้ว ซึ่ง ครม.สัญจร ตนไม่ได้เอาเงินไปแจกชาวบ้าน และตนก็ทำทั้งประเทศ ทุกกลุ่มจังหวัด ไม่ใช่เพียงไปแค่จังหวัดเดียวและเอาเงินไปให้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการทำงานตามแผนงานโครงการที่มีอยู่แล้ว แล้วลงไปรับฟังจากพื้นที่นำมาปรับแก้ให้ตรงกัน หากเป็นโครงการที่มีอยู่แล้วก็ไปสร้างการรับรู้ในพื้นที่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงข้อกังวลของประชาชนในเรื่องหนี้สาธารณะ ว่าวันนี้ตนได้รับรายงานข้อสรุปมาแล้วว่า ตอนนี้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งประเมินไปถึงปี 2571 อย่างน้อยก็เป็นช่องให้รัฐบาลต่อไปสามารถกู้ได้ การกู้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาเป็นการกู้เพื่อให้เกิดการลงทุน เป็นสิ่งที่มีมูลค่า

“ยังไงมันก็ต้องขาดดุล เพราะเราต้องมีการลงทุนมากมาย เราหยุดมานานหลายปีแล้ว โครงการขนาดใหญ่เกิดไม่ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า ลุ้นพรรคพลังประชารัฐที่จะเปิดตัวในวันที่ 29 กันยายนนี้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุเพียงสั้นๆ ว่า “ผมยังไม่ตอบ”

เมื่อถามต่อว่า มีรัฐมนตรีในรัฐบาลไปร่วมด้วย พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของพลังประชารัฐ แต่คนในรัฐบาลเขาไปช่วย ก็ไปช่วย แต่ไม่ได้ทำให้ระบบอะไรมันเสียหาย ไม่ผิดกฎหมายเขาทำได้หมด ทุกรัฐบาลเขาทำมาแบบนี้หรือเปล่า รัฐบาลก่อนๆ มีไหม ถ้ามีก็จบ จะมาถามอะไรตน

เมื่อถามว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลพิเศษ อาจถูกมองเรื่องความเหมาะสม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ใครจะฟ้อง คุณจะฟ้องผมเหรอ คุณทำไมไม่มองว่ารัฐบาลนี้เข้ามา แม้ไม่ปกติ แต่ก็เข้ามาบริหารราชการจนได้รับการยอมรับจากต่างประเทศทั่วโลก ทำไมไม่มองตรงนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำได้อย่างที่ผมทำไหม แก้ปัญหาต่างๆ ให้เขาไหม ปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ได้ไหม สร้างคอนเน็กทิวิตี้ทางกายภาพอย่างไร้รอยต่อ ที่มีอนาคตชัดเจน มีการบริหารจัดการน้ำ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดิน แก้ปัญหาผู้บุกรุก แก้ปัญหาทุจริตได้ชัดเจน การเลือกตั้งที่ผ่านมาทำได้อย่างผมทำหรือไม่ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ มีใครทำบ้าง จัดระเบียบจราจรใน กทม. ซึ่งเราก็ต้องดูแลผู้ได้รับการจัดระเบียบด้วย นี่คือสิ่งที่รัฐบาลคิด เพียงต้องเปิดพื้นที่ให้โปร่งใสชัดเจน เอาคนที่แสวงประโยชน์ทางรายได้ ไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกันผมไม่ได้ทำเพื่อเอาใจใคร แต่ทำเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงโอกาส นั่นคือความเท่าเทียมด้วยกฎหมายแต่ถ้าไม่มีกฎหมายไม่มีพื้นฐานก็ทำไม่ได้”

เมื่อถามว่า ล่าสุดมีพรรคการเมืองใดทาบทามขอเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือยัง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีเลย เขาจะทาบหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เมื่อทาบมาตนจะรับหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เหมือนกัน ขอดูก่อน

เมื่อถามว่า ดูก่อนแสดงว่า มีความเป็นไปได้ใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน

แจงเหตุจำเป็น คงกฎอัยการศึก 3 จว.ภาคใต้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีแถลงการณ์ของสหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี (เปอร์มัส) เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อลดความหวาดระแวงต่อการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งต้องให้พ่อแม่รับผิดชอบต่อลูกหลานที่กระทำความผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ตนได้พูดไปหลายครั้งแล้ว ในพื้นที่ใดก็ตาม ไม่ว่าในประเทศไทยหรือทุกประเทศในโลก ก็ต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษทางด้านความมั่นคงกันทั้งนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้ โดยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการใช้อำนาจพิเศษตลอดเวลา แต่อำนาจนี้จะนำมาใช้เมื่อสถานการณ์มีความรุนแรงเกิดขึ้น หรือสถานการณ์นั้นไม่ปลอดภัย จึงต้องมีมาตรการรองรับไว้ให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้

“เจ้าหน้าที่ท่านไหนที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือทำเกินกว่าเหตุ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ต้องไปว่ากัน เนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับอยู่แล้วที่คอยควบคุม ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกลงโทษ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการรักษาความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ในภาพรวม เข้าใจคำว่าภาพรวมหรือไม่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า จริงๆ แล้วพื้นที่ที่เกิดก็มีไม่กี่พื้นที่หรอก และไม่ได้เต็มพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด เพราะทุกพื้นที่ก็เกิดขึ้นได้ตราบใดก็ตามที่ยังมีคนจ้องจะทำเรื่อง ไม่ดี ทำความผิดอยู่ เมื่อบางสถานการณ์กฎหมายปกติใช้ไม่ได้ จึงต้องมีมาตรการให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้เลือกปฏิบัติเอง แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องพิจารณาและดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา และวันนี้พี่น้องประชาชนภาคใต้ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยเหมือนกัน เพราะเขาก็เป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเขาต้องการความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเขา ฉะนั้นหากเราเปิดทุกช่องทาง เปิดโอกาสมาก จะทำให้การแก้ปัญหาภาคใต้เป็นไปได้ยาก ซึ่งตนไม่ต้องการให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย ขอให้ฟังคนในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่แต่เพียงเสียงของนิสิต นักศึกษาอย่างเดียว ซึ่งคนในพื้นที่ก็ต้องออกมาช่วยกันทำความเข้าใจด้วย แต่อย่าใช้ความรุนแรงต่อกัน

ต่อคำถามกรณีกรณีที่มาเลเซียเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกในการพูดสันติภาพชายแดนภาคใต้เป็นคนใหม่นั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ฝ่ายไทยเองก็กำลังพิจารณาอยู่ในเรื่องนี้ ว่าจะทำอย่างไรในกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนตัวกัน ซึ่งคงต้องหาวิธีการที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรียังไม่ยืนยันว่าฝ่ายไทยจะมีการเปลี่ยนตัวหรือไม่ โดยตนจะมีโอกาสได้พบกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในปลายเดือนตุลาคม 2561 นี้ ซึ่งในระหว่างนี้ก็จะยังคงดำเนินการต่อเนื่องไป

“วันนี้รัฐบาลมาเลเซียปัจจุบันก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มีการหารือร่วมกันมาโดยตลอด และท่านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียท่านใหม่ก็มีความเห็นว่าจะต้องดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ในการอำนวยความสะดวกแก่ไทยมากที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่ง “แรงงาน” สอบทุจริตเงินคนพิการ – หลักฐานชัด “ไล่ออก”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีร้องเรียนการจ้างงานคนพิการ ที่มีการหักค่าหัวคิวและการฝึกอาชีพคนพิการไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ว่า ตนได้สั่งการกระทรวงแรงงานไปแล้วให้หาข้อเท็จจริง และตั้งคณะกรรมการพิจารณาสอบสวน ซึ่งคงจะดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีการทุจริตของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยต้องไปดูว่าเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไรอย่างไร และทำไมจึงมีการร้องเรียนในเวลานี้ ต้องไปดูอีกครั้ง

“รัฐบาลยืนยันว่า การกระทำผิดกฎหมาย หรือการทุจริตคอร์รัปชันใดๆ ก็ตาม วันนี้ได้กำชับไปอีกครั้งหนึ่งแล้วว่าต้องเอาออกจากราชการไว้ก่อน ในกรณีที่มีหลักฐานชัดเจน หรือมีแนวโน้ม ส่วนเรื่องกระบวนการตรวจสอบ ก็ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง เป็นขั้นเป็นตอน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันเดินหน้าประมูลสัมปทานปิโตรเลียม ย้ำผลประโยชน์ชาติต้องมาก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามสัมภาษณ์ถึงเหตุผลความจำเป็นและความชัดเจนในการผลักดันเดินหน้าประมูลสิทธิสำรวจแหล่งปิโตรเลียม ว่า เรื่องการสำรวจปิโตรเลียม เหล่านี้เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีระยะเวลาเท่าไรในการที่จะหมดอายุ ซึ่งคงอีกประมาณ 3 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วในการลงทุนแบบนี้ต้องใช้เวลาเตรียมการประมาณ 5 ปี ให้ผู้ลงทุนได้ดำเนินการส่งอุปกรณ์ให้ผู้ดำเนินการรายใหม่ เมื่อหมดสัญญาสัมปทาน เพราะอุปกรณ์เหล่านี้เมื่อหมดสัญญาก็เป็นของรัฐหมด ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าใครได้ แต่ก็ต้องมีเวลาให้เขาได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้

“เราพยายามสร้างความเข้าใจกันมาตลอด ก็ขอให้ทุกคนเปิดใจแล้วดูให้รอบด้าน อะไรทำได้ทำไม่ได้ สิ่งสำคัญผมเป็นกังวล หากทำไม่ได้และทำไม่ทันจะทำให้ปริมาณแก๊ส และน้ำมันที่เราขุดในประเทศลดลงทันที ทำให้พลังงานลดลง และมีผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมด้วย ตรงนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมุ่งหวังว่าภาครัฐจะได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ทั้งนี้สิ่งที่ตนเป็นกังวลคือ สถานการณ์น้ำมันโลก ตนจึงขอให้ทุกคนติดตามสถานการณ์น้ำมันโลกด้วย ที่ตอนนี้ขึ้นไปกว่า 80 เหรียญดอลลาร์สหรัฐด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลใช้กองทุนพลังงานไปดูแลในหลายส่วนด้วยกัน หากขึ้นมามากกว่านี้จะทำเช่นไร แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นกลไลของตลาด

“ต้องไปดูด้วยว่าปริมาณน้ำมันของไทยมีอยู่เท่าไร ในข้อเท็จจริงของการสำรวจต่างๆ ไม่ใช่ไปฟังจากข้างใดข้างหนึ่งแล้วมีปัญหาไปเสียทั้งหมด จึงเป็นกังวลว่าพลังงาน หากไม่สามารถจะขุดเจาะได้จะทำอย่างไรในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เพราะไม่ต่อเนื่อง จะทำให้หลายภาคส่วนเกิดปัญหา แต่ก็ยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการที่จะทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในสภาพที่คนไทยได้ประโยชน์สูงสุด และรัฐต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากที่สุด นี่คือประเด็นสำคัญ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ม.44 เด้งฟ้าผ่า นายกฯ พัทยา ตั้ง “สนธยา” นั่งแทน

มีรายงานเพิ่มเติมว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2561 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารราชการเมืองพัทยา โดยมีใจความว่า

โดยที่ขณะนี้รัฐบาลอยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ เมืองพัทยาเพื่อให้ไม่ขัดหรือแย้งและมีความสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันจะนำไปสู่การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาที่จะมีขึ้นในอนาคต ในขณะที่เมืองพัทยาซึ่งเป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ จัดให้มี กิจกรรมภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จและครบวงจร จัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาเมืองให้ทันสมัยระดับนานาชาติ

ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างรอการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาและการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาตามกฎหมายดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งนายกเมืองพัทยาและผู้บริหารเมืองพัทยาที่มีศักยภาพสูง พร้อมด้วย ประสบการณ์และความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์ต่อการสนับสนุนกิจกรรม และการดำเนินการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งเป็นการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น อันจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปประเทศ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

  • ข้อ 1 ให้ พลตำรวจตรีอนันต์ เจริญชาศรี พ้นจากตำแหน่งนายกเมืองพัทยา
  • ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2560 เรื่อง การแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

“ข้อ 2 ให้นายสนธยา คุณปลื้ม เป็นนายกเมืองพัทยา และให้มีรองนายกเมืองพัทยาไม่เกินสี่คน ตามที่นายกเมืองพัทยาแต่งตั้งตามมาตรา 46 และมาตรา 48 (3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ทั้งนี้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาหรือคณะรักษา ความสงบแห่งชาติมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น”

  • ข้อ 3 ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
  • ข้อ 4 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 25 กันยายน พุทธศักราช 2561 พล.อ. ประยุทธ์จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ไฟเขียวร่างกฎหมายการบิน ยกมาตรฐานเทียบ ICAO

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ คือ เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมกิจการการบินพลเรือนในทุกมิติที่รัฐต้องกำกับดูแล ยกระดับการบินพลเรือนของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และรองรับการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบและการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล

กำหนดเกณฑ์เบิกงบฯ – จ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่วิจัย

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ เรื่องการยกระดับการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่ Thailand 4.0 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เสนอดังนี้ 1. เห็นชอบหลักเกณฑ์กลางในการบริหารองค์การมหาชนด้านการวิจัย เพื่อให้องค์การมหาชนที่จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ นำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป 2. เห็นชอบให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นองค์การมหาชนด้านการวิจัย และสามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์กลางที่กำหนด และให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงข้อเสนอแนะของกระทรวงวิทยาศาสตรและเทคโนโลยีไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 3. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ในส่วนของการทบทวนความเหมาะสมของสัดส่วนค่าใช้จ่าย ด้านบุคลากรขององค์การมหาชนในแต่ละปีอย่างเคร่งครัด และให้พิจารณาครอบคลุมถึงความเหมาะสมของสัดส่วนค่าใช้จ่าย ด้านบุคลากรขององค์การมหาชน ด้านการวิจัยในคราวเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องทั้งระบบ 4. ให้สำนักงาน ก.พ. เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและวิเคราะห์ รวมทั้งจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐในภาพรวมเพื่อเป็นการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้สามารถดึงดูด รักษา จูงใจผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพสอดคล้องตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (พ.ศ. 2561-2565)

“สำหรับกรอบวงเงินในการจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรด้านงานวิจัย เดิมมีการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านนี้เอาไว้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ แต่ถ้าองค์การมหาชนสามารถ นำเสนอผลงานที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ก็สามารถขอยกเว้นหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะได้รับงบประมาณด้านนี้มากกว่า 30% ส่วนผู้อำนวยการองค์การมหาชนด้านการวิจัย หากทำผลงานได้ดีสามารถรับเงินเพิ่มพิเศษได้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ความเป็นมาของเรื่องนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. โดยคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์กลางในการบริหารองค์การมหาชนด้านการวิจัย และให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเป็นองค์การมหาชนด้านการวิจัย และสามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์กลางที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 สำหรับหลักเกณฑ์กลางดังกล่าว มีสาระสำคัญครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ

    1. ลักษณะขององค์การมหาชนที่จะถือว่าเป็นองค์การมหาชนด้านการวิจัย เช่น (1) กฎหมายจัดตั้งองค์การมหาชนกำหนดให้มีภารกิจ “ดำเนินการวิจัย” เป็นหลัก (2) มีงบประมาณเพื่อดำเนินการวิจัยเป็นหลัก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรวิจัยเป็นหลัก (3) จำนวนบุคลากรวิจัยมากกว่าบุคลากรสายงานอื่น

    2. แนวทางการบริหารองค์การมหาชนด้านการวิจัย ได้แก่ (1) การกำหนดอัตราเงินเดือน และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการองค์การมหาชนที่ยังคงหลักการตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 (2) แนวทางการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ผู้อำนวยการองค์การมหาชน

    3. ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชนที่กำหนดว่า หากเกินกว่า 30% ของแผนการใช้จ่ายเงินก็ให้เสนอคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนพิจารณายกเว้นให้เป็นรายกรณี

    4. การประเมินผลการปฏิบัติงาน

    5. แนวทางการดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นองค์การมหาชนด้านการวิจัย ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 เห็นชอบด้วยแล้ว

จัด “ซอฟต์โลน” 0.01% จูงใจชาวนาปลูกข้าวโพด 2 ล้านไร่

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. อนุมัติโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพด หลังฤดูทำนา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอ และอนุมัติกรอบวงเงินตามความเห็นของสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาภายใต้กรอบวงเงินทั้งสิ้น 286,678,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกข้าว โดยให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ซึ่งเป็นวิธีแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่มีการพูดถึงมานาน เกษตรกรไม่ควรฝากชีวิตไว้กับการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ควรปลูกพืชชนิดอื่นด้วย แต่ที่สำคัญ ต้องเป็นพืชที่ตลาดต้องการ และอยู่ในพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำได้ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูงถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่ละปีผลิตได้แค่ 4 ล้านตัน ยังขาดอีก 4 ล้านตัน

“วันนี้ ครม. จึงมีมติเห็นชอบให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลังฤดูการทำนา แบบสมัตรใจ ไม่ได้บังคับ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 33 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี ภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท และสระบุรี และภาคตะวันออก ได้แก่ ปราจีนบุรี รวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ เหตุที่ต้องกำหนดพื้นที่ดังกล่าว เพราะโครงการนี้ปลูกหลังฤดูทำนา พื้นที่เพาะปลูกจำเป็นต้องอยู่ในเขตชลประทาน แต่ถ้าอยู่นอกเขตชลประทาน ก็ต้องเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเรื่องการบริหารจัดการน้ำได้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นหัวหน้าครัวเรือนในทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร แสดงความประสงค์ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในนาช่วงฤดูแล้ง โดยพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการต้องอยู่ในเขตชลประทาน หรือพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำและอยู่ในพื้นที่ที่โครงการกำหนด ทั้งนี้ เกษตรกรต้องมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. ยกเว้นเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกร โดยมีเกษตรกร ขอรับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ผ่านบัตรเกษตรสุขใจ หรือ ใบจัดหาปัจจัยการผลิตกับร้านจำหน่ายการผลิตที่ขึ้นทะเบียนตามโครงการ ธ.ก.ส. จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินไร่ละ 2,000 บาท (ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย) เป้าหมายพื้นที่ 2 ล้านไร่ แบ่งเป็น

    1. เกษตรกร หรือ สถาบันเกษตรกรถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ชำระคืนไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันกู้

    2. รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกร หรือ สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน

    ทั้งนี้ กรณีมีเหตุจำเป็นไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันกู้ หรือ กรณีไม่ชำระหนี้เงินกู้ได้ตามกำหนด ให้ ธ.ก.ส. สามารถคิดดอกเบี้ยเพิ่มกับเกษตรกรตามประกาศของธนาคาร

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนที่ผลิตอาหารสัตว์ โดยขอให้รับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร ขณะนี้ได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนแล้วว่าจะรับซื้อข้าวโพดจากเกษตร กิโลกรัมละ 8 บาท คาดว่าเกษตรกรมีกำไรตันละ 2,000-3,000 บาท หากเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวได้กำไรแค่ตันละ 300-400 บาทเท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยประหยัดเงินงบประมาณของรัฐบาลได้อีกด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบประมาณแบบให้เปล่าให้เกษตรกร เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าว หรือ ไปปลูกพืชอื่นทดแทน ไร่ละ 2,000 บาท คิดเป็นวงเงินงบประมาณ 1,400 ล้านบาท แต่ถ้าใช้วิธีนี้ ใช้งบประมาณ 461 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าประกันภัยความเสี่ยงให้เกษตรกรด้วย ซึ่งรัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยไร่ละ 65 บาท หรือ คิดเป็นวงเงิน 130 ล้านบาท

ดีอี แจ้งความคืบหน้า “อินเทอร์เน็ตประชารัฐ”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบ และเห็นชอบผลการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ “โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ” ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นำเสนอ ซึ่งโครงการนี้ใช้เงินลงทุนภายใต้กรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การทำอินเทอร์เน็ตประชารัฐทุกพื้นที่ทั่วไทย โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) วงเงินงบประมาณ 13,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จครบทุกพื้นที่แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.60 และ 2. ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับผิดชอบ 15,732 หมู่บ้าน โดยใช้งบกองทุนวิจัยของ กสทช. และอีกส่วนคือพื้นที่ที่ทุรกันดาร การเดินทางเข้าไม่ถึง กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบเช่นกัน จำนวน 3,920 หมู่บ้าน

ในส่วนของ TOT ได้ดำเนินการติดตั้งอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ปรากฎว่าใช้เงินไป 11,361 ล้านบาท จึงมีงบประมาณเหลืออยู่ 1,638.66 ล้านบาท จึงขอนำไปใช้ปรับปรุงโครงข่ายสัญญาณ รวมถึงให้ความรู้กับหมู่บ้านชุมชนในการขับเคลื่อนให้เป็นชุมชนดิจิทัลตามเป้าหมาย 1 ล้านคน ทางกระทรวงดีอี จึงขอขยายระยะเวลาในการดำเนินงานออกไปอีก จากเดิมต้องดำเนินโครงการให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2561 แต่เนื่องจากมีการดำเนินงานเพิ่มเติม จึงขอขยายไปถึงสิ้นเดือนกันยายน 2561 ซึ่ง ครม. เห็นชอบในหลักการ แต่ให้ไปทำข้อตกลงกับสำนักงบประมาณ ส่วนที่ 2 คือการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลฮับของภูมิภาคอาเซียนวงเงิน 7,000 ล้านบาท

เห็นชอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจกว่า 2 ล้านล้าน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สภาพัฒน์นำเสนอ ดังนี้

    1. เห็นชอบกรอบวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 2,058,196 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุนจำนวน 638,943 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.1 กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงิน 1,508,196 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุนจำนวน 538,943 ล้านบาท และ 1.2 กรอบวงเงินลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปี 550,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 100,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน

    2. เห็นชอบให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2562 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์แวะวิธีการงบประมาณหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว และปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการ และกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ

    3. มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีในส่วนงบลงทุน เพื่อการดำเนินงานปกติและโครงการต่อเนื่องที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญ และกรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว

    4. ให้รัฐวิสาหกิจรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนปี 2562 ให้ สศช. ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด และให้กระทรวงเจ้าสังกัดรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระดับกระทรวง และระดับองค์กรไปพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะและความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง

    5. รับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2562 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 117,110 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2563-2565 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 612,711 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 133,909 ล้านบาท

    6. ให้กระทรวงการคลัง (กค.) พิจารณาจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจตามประเภทการดำเนินกิจการ โดยหากเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขัน ให้พิจารณารูปแบบและสถานะขององค์กรให้สอดคล้องกับภาวะการแข่งขันของตลาด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินกิจการ สามารถเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยกำหนดรูปแบบการกำกับดูแลภายใต้ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการเชิงสังคมสมควรทบทวนบทบาทและการคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทอื่นที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ และให้แยกกิจกรรมที่สามารถให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมบริหารเพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐ ทั้งนี้ ในช่วงที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาปรับเปลี่ยนสถานะหรือจัดกลุ่มที่ชัดเจน ภาครัฐต้องกำกับดูแลบทบาทของรัฐวิสาหกิจให้ยังคงสามารถให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการดังกล่าวอาจนำแนวทางการปรับสถานะและความจำเป็นในการดำรงอยู่ของรัฐวิสาหกิจที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเสนอคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นชอบไว้แล้วในปี 2558 มาประกอบการพิจารณา

    7. ให้ สศช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีบทบาทในกระบวนการพิจารณาการลงทุนของรัฐวิสาหกิจร่วมกัน โดย สศช. เป็นผู้พิจารณากรอบการลงทุนที่ตอบสนองกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และ สคร. เป็นผู้ตรวจสอบและกำกับการลงทุนให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการพิจารณาทิศทางการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจด้วย

    8. ให้กำหนดเงื่อนไขและกรอบระยะเวลาให้กระทรวงเจ้าสังกัดจัดทำแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในระยะยาวให้ชัดเจน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจด้านคมนาคมขนส่ง ด้านพลังงาน และรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในช่วงการฟื้นฟูกิจการ โดยให้เสนอขออนุมัติโครงการตามขั้นตอนที่สอดคล้องกับแผนการลงทุนดังกล่าว และในการเสนอของบลงทุนให้มีรายละเอียดเรื่องการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

อนุมัติงบฯ 1,000 ล้าน ตั้ง “สถาบันนโยบายสาธารณฯ” ช่วยงาน สศช.

นายทศพรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่สภาพัฒน์นำเสนออีก 2 เรื่อง คือ 1. โครงการเสริมสร้างศักยภาพของ สศช. และกรอบงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนสำหรับดำเนินการตามข้อเสนอโครงการดังกล่าวในช่วงระยะครึ่งหลังของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2565) สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว ขอให้ สศช. พิจารณาจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงความครอบคลุมของงบประมาณหรือแหล่งเงินนอกงบประมาณให้ครบถ้วน เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป รวมทั้งกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการสถาบันฯ ให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะการสรรหาบุคลากรและการสร้างกลไกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้น เป็นสำคัญตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

2. เห็นชอบให้มีสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (Institute of Public Policy and Development) ในรูปแบบสถาบันภายใต้มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร เป็นหน่วยงานดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพของ สศช. ภายใต้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกลไกในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและการวิจัย และสนับสนุนบทบาทการทำงานให้ สศช. เป็นคลังสมอง (Think Tank) ของประเทศในด้านการศึกษาวิจัยประเด็นการพัฒนาและนโยบายที่สำคัญ เพื่อให้ สศช. กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาประเทศทั้งในระยะยาว ระยะปานกลาง และระยะสั้นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยโครงการเสริมสร้างศักยภาพของ สศช. ที่ สศช. เสนอมานี้ มีแผนงาน/โครงการที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ เช่น แผนงานการสร้างฐานสำหรับการวิเคราะห์วิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมเชิงลึก โครงการพัฒนาเครื่องมือและระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่รองรับพลวัตที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง แผนงานการวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มอนาคต และผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โครงการวิเคราะห์ภาพอนาคต (Scenario) ของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนงานการออกแบบและการพัฒนานโยบายสาธารณะ (Policy Design and Development) โครงการพัฒนานโยบายสร้างพื้นที่เติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โครงการออกแบบนโยบายพัฒนาสาขาการผลิตและบริการ ที่จะเป็นเครื่องจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นชอบเรื่องดังกล่าวด้วยแล้ว

เลื่อนวันประชุม ครม.

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคม 2561 นายกรัฐมนตรี มีภารกิจต้องเดินทางไปเยือนต่างประเทศ และตรงกับวันหยุดราชการหลายวัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวันประชุม ครม. โดยในวันอังคารที่ 2 และวันที่ 9 ตุลาคม 2561 จะยังคงประชุม ครม. ตามปกติ ส่วนในวันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2561 ขอเลื่อนประชุมครม.เป็นวันพุธที่ 10 ตุลาคม 2561 และวันอังคารที่ 23 ตุลาคม 2561 ซึ่งตรงกับวันปิยมหาราช ขอเลื่อนไปประชุมวันพุธที่ 24 ตุลาคม 2561 และวันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2561 ขอเลื่อนขึ้นมาเป็นวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2561 ซึ่งรายละเอียดทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

โยกผู้ว่าฯ 24 จังหวัด – เด้ง “ทวารัฐ” นั่งผู้ตรวจราชการ

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ โยกย้าย และแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในสังกัดกระทรวงมหาดไทย 24 ตำแหน่ง , กระทรวงพลัง 5 ตำแหน่ง และกระทรวงการต่างประเทศ 3 ตำแหน่ง รวมทั้งมีมติแต่งตั้งนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ เป็นผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทยมีรายชื่อดังนี้

1. นายกมล เชียงวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 2. นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง 3. นายนิพันธ์ บุญหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ 4. นายปิยะ วงศ์ลือชา รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ 5. ว่าที่ ร.ต. พิเชียน ลิมป์หวังอยู่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ 6. นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ 7. นายรังสรรค์ ตันเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ 8. นายสมชาย บำรุงทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ

9. นายสมบูรณ์ ศิริเวช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ 10. นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ 11. นายเชาวลิตร แสงอุทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร 12. นายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง 13. นายเอกรัฐ หลีเส็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส 14. นายวรกิตติ ศรีทิพากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน 15. นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ 16. นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร 17. นายกอบชัย บุญอรณะ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี 18. นายชยันต์ ศิริมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร 19. นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล 20. นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี 21. นายไมตรี ไตรติลานันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย 22. นายชัยธวัช เนียมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู 23. นายเรวัต ประสงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง 24. นายณรงค์ รักร้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

ส่วนกระทรวงพลังงานที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ แต่งตั้งข้าราชการระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียนจำนวน 5 ตำแหน่งดังนี้ 1. ย้าย น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน 2. ย้ายนางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ ผู้ตรวจราชการ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 3. ย้ายนายยงยุทธ จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) 4. ย้ายนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ 5. ย้ายนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นต้นไป

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังมีมติอนุมัติ แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต 3 ราย คือ 1. นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ อธิบดีกรมอเมริกา และแปซิฟิกใต้ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณฝรั่งเศส 2. นายรัศม์ ชาลีจันทร์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน 3. นายทศพร มูลศาสตรสาทร เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ และ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ไฟเขียวจัดตั้งเขต ศก.พิเศษสงขลาวงเงิน 2,890 ล้าน

ด้าน พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐฒนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบในหลักการการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาภายในกรอบวงเงิน 2,890.4 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นสมควรใช้จ่ายจากรายได้ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นลำดับแรกก่อน อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นก็เห็นควรให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับเป็นค่าก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ ตามความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

2. ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรมควรพิจารณาความสอดคล้องกับนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และใช้จุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาดึงดูดผู้ประกอบการหรือนักลงทุน เพื่อให้เกิดการลงทุนได้อย่างรวดเร็วด้วย

ความเป็นมาของเรื่องนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ดินราชพัสดุประมาณ 927.925 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้ทำสัญญาเช่าที่ดินประมาณ 629.425 ไร่ (ระยะที่ 1) กับกรมธนารักษ์เป็นเวลา 50 ปี เรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่เหลือ (ระยะที่ 2) จะทำสัญญาเช่าจนครบเต็มพื้นที่ต่อไปใช้เงินลงทุนโครงการรวม 2,890.4 ล้านบาท มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ หรือเครื่องจักร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมบริการ โดยระยะที่ 1 คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาโครงการประมาณ 15 เดือน ส่วนระยะที่ 2 เริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือน และคาดว่าจะให้เช่าพื้นที่แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและนักลงทุนได้หมดภายใน 6 ปี

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 25 กันยายน 2561เพิ่มเติม