ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ยังอุบรายชื่อ รมต. แนะนิทานสุภาษิตดี “เศรษฐีกับหงส์” – มติ ครม.ออก 2 มาตรการหนุนเลิกเผาอ้อยภายในปี 2565

“บิ๊กตู่” ยังอุบรายชื่อ รมต. แนะนิทานสุภาษิตดี “เศรษฐีกับหงส์” – มติ ครม.ออก 2 มาตรการหนุนเลิกเผาอ้อยภายในปี 2565

11 มิถุนายน 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งบรรยากาศทำเนียบรัฐบาลค่อนข้างคึกคัก ตัวแทน 18 พรรคร่วมรัฐบาลแต่งกายในเครื่องแบบปกติขาวและปลอกแขนไว้ทุกข์ได้เดินทางเข้ามายังตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะมีพิธีรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในช่วงบ่าย

อุบรายชื่อ รมต. – โยน ย้อนฟัง “วิษณุ” ปม กก.สรรหา ส.ว.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลว่า เรื่องดังกล่าวตนจะพูดได้เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งบ่ายวันนี้จะมีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงจะคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลได้ตามกฎหมาย ที่ผ่านมาก็จะเห็นเพียงจากสื่อที่มีการเขียนและวิเคาระห์ออกมาจำนวนมาก โดยหลังจากนี้ก็จะหาทางพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลถึงความเหมาะสม และหาจุดที่ลงตัวให้ได้ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

“นโยบายของทุกพรรคที่เสนอมาล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้น ในฐานะรัฐบาล ถือเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มี ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องเป็นรัฐบาลของคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องนำนโยบายของทุกพรรคมาปรับเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ดังนั้น คิดว่าทุกอย่างจะเสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว”

ต่อคำถามเรื่องความชัดเจนในการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ไม่จำเป็น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ความจริงตนก็ไม่อยากให้มีไว้ คำสั่งใดไม่มีความจำเป็นก็กำลังเร่งรัดดำเนินการอยู่ โดยได้ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา ส่วนที่มีความกังวลว่าถ้าไม่ยกเลิกอำนาจของ คสช.บางส่วนแต่ยังอยู่นั้น พร้อมกล่าวย้ำว่าไม่ต้องกังวล เพราะทุกอย่างจะแล้วเสร็จก่อนมีรัฐบาลใหม่

“รัฐบาลใหม่จะมีผลก็ต่อเมื่อมีการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ตอนนี้ผมและรัฐบาลยังมีอำนาจเต็มในการทำหน้าที่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามกรณีคำสั่ง คสช.ไม่เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งอาจส่งผลให้การแต่งตั้ง ส.ว. เป็นโมฆะ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า เรื่องดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงแล้ว ส่วนรายชื่อสำรอง ส.ว.อีก 50 คน ได้ส่งรายชื่อไปที่ประธานวุฒิสภาแล้ว ก็จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่จะเชิญพรรคประชาชาติมาร่วมรัฐบาลด้วยนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธตอบคำถาม โดยส่ายหัว แล้วเดินกลับตึกไทยคู่ฟ้าทันที

ยันประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีตามกติกา

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินการ ซึ่งตนได้ให้นโยบายไปว่าต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก ดังนั้นต้องติดตาม เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว อะไรที่จบไปแล้วต้องดูให้ดีว่าเขาใช้เหตุผลอะไร บางทีพูดกันไม่ตรง ดังนั้นต้องไปดูที่เขาชี้แจง โดยยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎกติกาทั้งหมด

สั่ง มท.บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงมาตราการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครช่วงที่ฝนตกว่า ตนได้สั่งการมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทหาร ตำรวจ และจิตอาสาจากภาคส่วนต่างๆ เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการจราจรติดขัดในช่วงที่ฝนตกหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และให้ขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาดังกล่าว

มีหลายมาตรการออกมาและได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้มาแก้ปัญหา เช่น เสาไฟฟ้าล้ม ระบบไฟมีปัญหา และปัญหาการสูบน้ำ ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว และต้องขอแรงจิตอาสาจากอาชีวะ ช่างอาสาต่างๆ มาช่วยดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รถยนต์เสีย จะดูแลทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญทุกปีในช่วงฤดูฝน ยืนยันจะเร่งแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น

”ส่วนของ กทม.จะเร่งดำเนินการให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาโดยเร็ว ทราบดีว่าประชาชนเดือดร้อน คงไม่ใช่เรื่องน้ำท่วมอย่างเดียว คงเป็นเรื่องของการจราจรด้วย ซึ่งพอดีกับมีการก่อสร้างจำนวนมาก จึงให้ฝ่ายความมั่นคงสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเข้มงวดการจอดรถกีดขวางการจราจรตามถนนต่างๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องการระบายรถ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แนะนำอ่าน “อิศปปกรณัม” – ชูเรื่อง “เศรษฐีกับหงส์” ชี้สุภาษิตดี

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวแนะนำหนังสือน่าอ่าน คือ “หนังสืออิศปปกรณัม” โดยระบุว่า หนังสือดังกล่าวเป็นวรรณกรรมแปลจากตะวันตกยุคแรกของไทยเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กระทรวงวัฒนธรรมที่เป็นผู้รวบรวม ซึ่งแพร่หลายมาทั่วโลกและแปลในไทยกว่าพันเรื่อง เป็นนิทานเล่าเรื่องชาวกรีกโบราณ มีอายุกว่า 620 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งตัวละครเป็นสัตว์ กสิกร และเทพเจ้า รวมทั้งมีสุภาษิตสอนใจ แพร่หลายในประเทศไทยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 และสำคัญที่สุด คือ การถวายพระเกียรติให้กับพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลและพระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิตรวมกับนักแปลในรัชสมัยนั้น 4 เรื่อง เช่น ราชสีห์กับหนู, สุนัขป่ากับลูกแกะ, กระต่ายกับเต่า

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับหนังสือดังกล่าวเป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ของไทยที่มีความสำคัญ และกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบชำระประวัติศาสตร์ ซึ่งพิจารณาแล้วเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม อักษรศาสตร์ และวรรณคดี และได้นำเรื่องอิศปปกรณัมมาปรับเป็นภาพปักพระเมรุบนท้องสนามหลวง รัตนโกสินทรศก 108 และหนังสือนี้ได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 หลายอย่างของไทยสอดคล้องกับนิทานอิสป จึงอยากให้เยาวชนได้อ่าน จะได้รู้ว่าประวัติศาสตร์ของไทยเป็นมาอย่างไร และมีอีกเรื่องที่ตนอยากแนะนำคือ “เรื่องเศรษฐีมั่งมีทรัพย์กับห่าน (Swan)” ซึ่งจะเป็นสุภาษิตสอนใจ

จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ได้ท่องโคลงในหนังสือนิติสารสาธก ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ว่า “อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุตส่าห์ มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน จะตกถิ่นฐานใดคงไม่แคลน ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์ ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี เกิดเป็นชายชาวสยามตามวิสัย หนังสือไทยก็ไม่รู้ดูบัดสี ต้องอับอายขายหน้าทั้งตาปี ถึงผู้ดีก็คงด้อยถอยตระกูล จะต่ำเตี้ยเสียชื่อว่าโฉดช้า จะชักพายศลาภให้สาบสูญ ทั้งขายหน้าญาติวงศ์พงศ์ประยูร จะเพิ่มพูนติฉินคำนินทา หนึ่งหนังสือหรือตำรับฉบับบท เป็นของล้วนควรจดจำศึกษา บิดาปู่สู้เสาะสะสมมา หวังให้บุตรนัดดาได้ร่ำเรียน จะได้ทราบบาปบุญทั้งคุณโทษ ปะบุตรโฉดต่ำช้าก็พาเหียร ไม่สมหวังดังบิดาปู่ตาเพียร เป็นจำเนียรแพลงพลัดกระจัดกระจาย”

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวสืบค้นพบชื่อนิทานที่มีชื่อใกล้เคียงกับที่ พล.อ. ประยุทธ์ แนะนำคือ “เรื่องเศรษฐีกับหงส์” มีใจความโดยสรุปว่า เศรษฐีได้ยินเรื่องร่ำลือว่ามีหงส์ที่ร้องเพลงได้ไพเราะมากอยู่ตัวหนึ่ง เขาจึงไปซื้อหงส์ตัวนั้น เพื่อที่จะให้มันร้องเพลงให้แขกฟังในงานวันเกิดของเขา เมื่อถึงวันงานหงส์กลับไม่ยอมเปล่งเสียงออกมาแม้แต่น้อย ทำให้เศรษฐีขายหน้าและโกรธเป็นอย่างมาก เขาจึงสั่งคนรับใช้ให้ฆ่าหงส์เสีย เมื่อหงส์ได้ยินเช่นนั้นมันจึงส่งเสียงร้องออกมาอย่างเศร้าสร้อย เพราะว่านี่คงเป็นเพลงสุดท้ายแล้วที่มันจะได้ร้องก่อนตาย นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าไม่รู้จักทำตัวให้เป็นประโยชน์ ก็ไม่มีใครเขาต้องการ

มติ ครม.มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ออก 2 มาตรการหนุนเลิกเผาอ้อยภายใน 2565

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้ รับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ประกอบด้วย

  • มาตรการทางกฎหมาย โดยจะมีการออกระเบียบให้ทันในฤดูการผลิตปี 2562/2563 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน สำหรับในฤดูการผลิต ปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวัน และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียงร้อยละ 0-5 ต่อวัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปี
  • มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562-2564 รวมทั้งจะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถตัดอ้อยไทยด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการและส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้อีกด้วย
  • มาตรการขอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบการเก็บเกี่ยวและการขนส่งอ้อยให้โรงงาน โดยความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิต ปี 2562/2563 เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อย เป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสด ร้อยละ 100 ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเลย และจังหวัดอุตรดิตถ์ การจัดการพื้นที่ลดการเผาอ้อยรอบชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร และรอบโรงงานน้ำตาลในรัศมี 10 กิโลเมตร และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดคิวรับอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-2564 เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาขาดเงินทุนในการหาซื้อเครื่องจักรตัดอ้อยและต้องหันมาใช้วิธีเผาแทน โดยให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562-2564) จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

โดยใช้จากวงเงิน 10,000 ล้านบาท ของเงินกู้ยืมสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย (เงินเกี๊ยว) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 และเห็นควรให้ ธ.ก.ส.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามผลการดำเนินการจริงตามขั้นตอนต่อไป ภายในกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 599.43 ล้านบาท โดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันและให้รัฐบาลช่วยรับภาระชดเชยดอกเบี้ยส่วนเกิน ดังนี้

  1. กำหนดระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นตามโครงการเช่นเดียวกับโครงการเดิมโดยแยกตามวัตถุประสงค์การกู้เงิน หากเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อยและปรับพื้นที่ปลูกอ้อย กำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 4 ปี และหากเป็นเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรกำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี
  2. สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เห็นควรยึดตามหลักการของโครงการเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 เนื่องจากการดำเนินโครงการตามนาลในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ผ่านมาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันได้ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ประกอบกับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านการพิจารณาของ ธ.ก.ส. แล้ว ประกอบด้วย

1)สำหรับเกษตรกรรายบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตรา MRR -5 (หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2 ต่อปี) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี

2)สำหรับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตรา MLR -3 (หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2 ต่อปี) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี

3)กรณีการกู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ประเภทรถแทร็กเตอร์หรือรถบรรทุก คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR -1 (หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4 ต่อปี) จากประเภทผู้กู้ (เกษตรกรรายบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน) รัฐบาลไม่ต้องชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ และ ธ.ก.ส.รับภาระในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี

เห็นชอบขยายเวลาลดหย่อนภาษีบริจาคหนุนกีฬา 1 ปี

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสำคัญคือเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา สำหรับผู้บริจาคหรือสนับสนุนการกีฬาให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา โดยขยายระยะเวลามาตรการเดิมตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 596) พ.ศ. 2559 ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ออกไปอีก 1 ปี เป็น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการกีฬาอย่างต่อเนื่อง

เห็นชอบผลเจรจาท่าเรือมาบตาพุด-รัฐร่วมทุนลดลงอีก 300 ล้านบาท

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้ปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ช่วง 1 หลังจากที่ ครม.มีมติให้เจรจาเพิ่มเติมกับเอกชนผู้ชนะ ซึ่งผลการเจรจาสรุปว่าจะเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐ โดยหักค่าสุทธิการร่วมลงทุนจากเอกชนสุทธิเหลือ 710 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี ลดลงจากเดิม 10 ล้านบาทต่อปี และให้เปลี่ยนแปลงผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากการร่วมลงทุนของเอกชนช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 รวมเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ประมาณ 7621 ล้านบาท

อนึ่ง เดิม ครม.มีมติเมื่วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ให้ปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 โดยให้เปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐ โดยหักค่าให้สิทธิการร่วมลงทุนจากเอกชน จากไม่เกิน 516.36 ล้านบาทต่อปี เป็น 720 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยเป็นการส่วนของอัตราคิดลดจาก 2.5% เป็น 4.8% เพื่อสะท้อนต้นทุนทางการเงินของเอกชนที่เหมาะสมและให้เปลี่ยนแปลงผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่อของการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.)

จากการร่วมลงทุนกับเอกชนในช่วงที่ 1 และ 2 จะมีผลตอบแทนที่มีมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 6,606 ล้านบาท จากเดิมที่ 9,311 ล้านบาท ทำให้รัฐได้ผลตอบแทนลดลง 2,705 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนทางการเงินที่ 9.75% ลดลงจากเพิ่มที่ 11.8% ขณะที่เอกชนจะได้ผลตอบแทนมากขึ้นจากเดิมที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 11,693 ล้านบาท เป็น 14,371 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,678 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนทางการเงินจาก 10.06% เป็น 10.75%

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2562 เพิ่มเติม