วิภาพรรณ วงษ์สว่าง
เปิดผลสำรวจ คนรุ่นใหม่ให้คะแนนผู้ใหญ่และประเทศไทยเท่าไรในปีที่ผ่านมา (ตอนที่ 1) จาก รายงานแบบสำรวจความคิดเห็นที่เยาวชนไทยมีต่อประเทศไทย ประจำปี 2560 โดย Newground
ประเทศไทยมีคำขวัญวันเด็กเป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2499 จนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 62 ปี โดยคำขวัญส่วนใหญ่นอกจากจะมุ่งเน้นไปที่การกำหนดให้เด็กมีความดีแบบวัตถุวิสัยแล้ว(ดูเพิ่มเติม สุขภาวะและความดีแบบวัตถุวิสัย) ยังอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบ ‘ผู้ใหญ่บอกให้เด็กทำ’ วันเด็กจึงเป็นเพียงวันแห่งการให้ผู้ปกครองพาเด็กไปเที่ยวเล่นนอกบ้านและรอรับคำขวัญประจำปี มากกว่าวันที่ผู้ใหญ่จะพยายามเข้าใจความคิดเห็นของเด็กเยาวชน และมอบอำนาจให้เด็กเยาวชนได้กำหนดคำขวัญ ตลอดจนปัญหา ข้อเสนอ นโยบาย และรูปแบบการพัฒนา ของเยาวชน โดยเยาวชน และเพื่อเยาวชนเอง
รายงานแบบสำรวจความคิดเห็นที่เยาวชนไทยมีต่อประเทศไทย ประจำปี 2560 ซึ่งจัดทำขึ้นโดย คุณวิภาพรรณ วงษ์สว่าง, คุณวริศ ลิขิตอนุสรณ์ และคุณเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ภายใต้ Newground องค์กรศึกษา วิจัย และสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต ได้จัดทำแบบสำรวจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ในชื่อแคมเปญ #bye2017 เผยแพร่ ผ่านเว็บไซต์และแฟนเพจนิวกราวระหว่างวันที่ 3-31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เพื่อสอบถามความรู้สึกและความคิดเห็นที่เยาวชนมีต่อประเด็น 1) การเลือกได้ของตัวเอง 2) ทัศนคติที่มีต่อผู้ใหญ่ 3) การได้คำตอบในสิ่งที่สงสัย 4) อุปสรรคที่ทำให้พลาดโอกาสในชีวิต 5) เป็นตัวเองที่สุดเมื่อไหร่ 7) มุมมองที่มีต่อสื่อ 8) ความมั่นใจในชีวิต 9) ประเทศไทยดูแลเราดีขนาดไหน 10) ปัญหาที่อยากให้แก้ไข อยากได้อะไรจากผู้ใหญ่ 11) เสนอคำถามเพิ่มเติม เพื่อให้เราสำรวจในเรื่องที่คุณสนใจ 12) อยากทำที่ที่อยู่ให้ดีขึ้นหรืออยากไปอยู่ที่อื่น
แบ่งเป็นคำถามเชิงความรู้สึกบวกลบ (ให้คะแนน 0-100) และคำถามปลายเปิดสำหรับกรอกข้อความ โดยทุกคำถามสามารถปฏิเสธที่จะไม่ตอบได้ และหลายคำถามต้องใช้การวิเคราะห์รายบุคคล สถิติในรายงานฉบับนี้จึงเป็นสถิติในมิติทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ ที่เยาวชนผู้ตอบแบบสอบถามใช้มาตรวัดของตัวเองเป็นเกณฑ์ในการตอบ
มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 7,115 ครั้ง แบ่งเป็น ขั้นต่ำของปริมาณคำตอบที่ใช้ประมวลผลได้ 4,000 คำตอบขึ้นไปต่อข้อคำถาม และมีคำตอบเชิงคุณภาพรวมมากกว่า 2,000 คน โดยมีจุดประสงค์หลักในการสำรวจดังต่อไปนี้
-
1. เพื่อสำรวจความคิดเห็นที่มีอยู่แล้วในเยาวชนแต่อาจจะไม่พบในการสำรวจทั่วไป ผ่านการวิเคราะห์คำตอบปลายเปิด
2. ค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการรวบรวมเสียงของเยาวชนให้มีน้ำหนัก
3. ค้นหาว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในด้านการตัดสินใจว่า จะอยู่เพื่อทำที่ที่อยู่ให้ดีขึ้น หรือไปที่อื่นที่ดีกว่านี้
การนำเสนอผลลัพธ์ของแบบสำรวจชุดนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
-
ตอนที่ 1: ผลลัพธ์ที่ได้จากข้อมูลที่เป็นตัวเลข
ตอนที่ 2: ผลลัพธ์ที่ได้จากข้อมูลที่เป็นข้อความ
ข้อชี้แจงเรื่องกลุ่มตัวอย่าง
นิวกราวใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางเดียวในการรับผลสำรวจผ่านเว็บไซต์ newgroudforum.com ประชาสัมพันธ์ด้วยการเปิดแฟนเพจใหม่ และสุ่มซื้อโฆษณาบน facebook โดยระบุเป้าหมายในการโฆษณาเป็นประชาชนอายุ 18-25 ปี ทุกเพศทุกวัย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (ไม่ระบุความสนใจอื่นๆ เพิ่มเติม) กลุ่มตัวอย่างของแบบสำรวจนิวกราวชุดจึงเป็น “ชาวเน็ต” ที่แทบจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดใดกับเครือข่ายเดิมของนิวกราว ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่ได้สังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้สนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกันเป็นพิเศษ และไม่มีค่าตอบแทนให้ จุดร่วมของผู้ตอบแบบสอบถามจึงมีเพียง 1. เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 2. ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก และ 3. มีอุปกรณ์ที่สามารถทำแบบสอบถามออนไลน์ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนที่เปิดเว็บไซต์ได้
หมายเหตุ: ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่างๆ ผลสะท้อนของแบบสำรวจจึงเป็นผลสะท้อนของกลุ่มตัวอย่างที่ “มีเวลาว่างในการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก” มากกว่าจะหมายถึงประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
FAQ เรื่องกลุ่มตัวอย่าง
Q: แบบสอบถามนี้สามารถเป็นภาพแทนของเด็กจริงๆ ได้ขนาดไหน และเป็นเด็กกลุ่มไหน
แบบสอบถามนี้เป็นภาพแทนของเด็กที่สามารถเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ในเวลาว่าง ไม่สามารถเป็นภาพแทนของเด็กที่อยู่ในภาวะขาดแคลนอินเทอร์เน็ตหรือเด็กด้อยโอกาสหรือประชากรส่วนมากของประเทศ (ในแง่ที่เด็กกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในเวลาว่างได้) อย่างไรก็ตาม นิวกราวมีความสนใจที่จะสำรวจซ้ำในพื้นที่เฉพาะหรือในกลุ่มเฉพาะ หากเรามีทรัพยากรมากเพียงพอแก่การเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากของประเทศ
Q: คำนึงถึงบริบทอะไรในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งจะต้องอยู่ในสภาวะที่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ นั่นคือ ปราศจากบริบททางเพศ ความอาวุโส หรือการอยู่ใต้สังกัดใดสังกัดหนึ่ง
Q: เชื่อถือได้อย่างไรว่าเป็นความคิดเห็นจริงขนาดไหน
แบบสอบถามยังใช้เวลาทำเฉลี่ย 9 นาที เต็มไปด้วยคำถามปลายเปิดที่ต้องพิมพ์ความคิดเห็น ระบุตัวเลข 0-100 ด้วยการเลื่อนปุ่มไปทางซ้าย ไปทางขวา (ถ้าไม่แตะปุ่มเลยจะไม่นับข้อมูล) แบบสอบถามใช้ความสมัครใจ 100% เนื่องจากนิวกราวไม่ได้บุกเข้าไปในวิชาเรียน หรือไม่ได้บังคับให้ใครมานั่งตอบ อีกทั้งด้วยสถานะของนิวกราวซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ ไม่มีผลประโยชน์หรือผลงานกับใครมาก่อน ผู้ให้ข้อมูลจึงไม่ทราบว่าถามไปทำไม ไม่รู้ว่าใครเป็นคนถาม และเราไม่มีค่าตอบแทนอะไรให้นอกจากให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นส่วนตัว เรามีเงื่อนไขว่า แต่ละคำถามจะต้องมีผู้ตอบมากกว่า 4,000 คนขึ้นไป และในคำถามปลายเปิดต้องมีผู้ตอบ 2,000 คนขึ้นไป และเปิดโอกาสให้เปิดเผยตัวตนพร้อมช่องทางติดต่อได้หากต้องการ โดยเราพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามให้ข้อมูลติดต่อกลับผ่าน Facebook/Line ID กว่า 1,000 คน (แต่มีข้อแม้ว่าห้ามเผยแพร่คำตอบที่ระบุถึงตัวตน)
รายการคำถามเรียงตามลำดับคำถาม
-
1. อายุ
2. เพศ
3. จังหวัดที่กำลังอาศัยอยู่
4. กำลังเรียนชั้นอะไร/ทำงานอะไร/หรือว่าไม่ได้ทำอะไร
ให้คะแนนตัวเองจาก 0-100
-
1. เราเลือกวิถีชีวิตเองได้ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ (0 เลือกไม่ได้เลย 100 เลือกได้เต็มที่)
2. เรามีภาระที่ต้องทำ (0 โดยเต็มใจ 100 โดยไม่ได้เต็มใจ)
3. เรารู้ว่ามีสิ่งดีๆ รออยู่หลังจากทำภาระเหล่านั้นสำเร็จ (0 ไม่รู้ / 100 มั่นใจมากว่ามี)
4. เรารู้สึกว่ามีโอกาสอยู่รอบตัว (0 ไม่เลย / 100 รู้สึกมาก)
5. เราเข้าถึงโอกาสได้ (0-100)
6. เรามีความคิดใหม่ๆ เราคิดอะไรดีๆ ออก
7. ยกตัวอย่างอะไรดีๆที่คิดออก เช่น _____________________
8. เวลาที่คิดอะไรดีๆ ออก เราบอกมันกับ _________ / ไม่บอกเลย / อยากบอกแต่ไม่รู้จะบอกใคร
9. เราได้ใช้ความรู้จากที่เรียนขนาดไหน (0-100) *ถ้าไม่ได้เรียนอยู่ตอนนี้ ลองนึกย้อนไปในตอนสุดท้ายที่ได้เรียน หรือถ้าไม่เคยได้เรียนหรืออยู่ในโรงเรียน ให้เลือก 0
ปัดไปทาง 0 ถ้ารู้สึกน้อย ปัดไปทาง 100 ถ้ารู้สึกมาก
- เรารู้สึกว่าเรามีสิทธิมีเสียง
- เราแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างสบายใจ
- เรารู้สึกถูกจับผิด
- ผู้ใหญ่สนับสนุนเรา ให้โอกาสเรา
- ผู้ใหญ่มีคำแนะนำที่ดีให้เรา
- เราเคยให้คำแนะนำดีๆ กับผู้ใหญ่
- เราถูกผู้ใหญ่รับฟัง
- ผู้ใหญ่ขอโทษเรา หรือแสดงความรู้สึกผิดต่อเรา
- เราเชื่อมั่นว่าผู้ใหญ่ในสังคมไทยจะทำให้เรามีชีวิตที่ดี
- ให้คะแนนผู้ใหญ่รอบตัว
เรามักได้คำตอบในสิ่งที่สงสัยจาก…
- ที่ที่เราเรียนอยู่ (0 ไม่ได้อะไรเลย / 100 หายสงสัย)
- ที่ของผู้ใหญ่ เช่น ศูนย์วิจัย, วัด, โทรทัศน์, รัฐบาล ฯลฯ (0 ไม่ได้อะไรเลย / 100 หายสงสัย)
- แวดวง วงการ กลุ่มเพื่อน (0 ไม่ได้อะไรเลย / 100 หายสงสัย)
- อินเทอร์เน็ต (0 ไม่ได้อะไรเลย / 100 หายสงสัย)
- อื่นๆ __________
- ไม่ค่อยได้คำตอบ
ในปีที่ผ่านมา เราควรจะได้อะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ เพราะ…
- เพศของเรา (0 ไม่เป็นปัญหา / 100 พลาดโอกาสบางอย่างเพราะเรื่องนี้เต็มๆ)
- อายุของเรา (0 ไม่เป็นปัญหา / 100 พลาดโอกาสบางอย่างเพราะเรื่องนี้เต็มๆ)
- รูปร่างหน้าตาหรือบุคลิกของเรา (0 ไม่เป็นปัญหา / 100 พลาดโอกาสบางอย่างเพราะเรื่องนี้เต็มๆ)
- ความเชื่อของเรา (0 ไม่เป็นปัญหา / 100 พลาดโอกาสบางอย่างเพราะเรื่องนี้เต็มๆ)
- ฐานะของเรา (0 ไม่เป็นปัญหา / 100 พลาดโอกาสบางอย่างเพราะเรื่องนี้เต็มๆ)
- เชื้อชาติของเรา (0 ไม่เป็นปัญหา / 100 พลาดโอกาสบางอย่างเพราะเรื่องนี้เต็มๆ)
- อื่นๆ __________
เราเป็นตัวของตัวเองขนาดไหนเมื่อ…
- ทำพิธีกรรมทางศาสนา (0 ไม่เป็นตัวเองเลย / 100 เป็นตัวเองมาก)
- อยู่ในห้องเรียนหรือที่เรียน (0 ไม่เป็นตัวเองเลย / 100 เป็นตัวเองมาก)
- อยู่ในที่สาธารณะ (0 ไม่เป็นตัวเองเลย / 100 เป็นตัวเองมาก)
- พูดคุยกับผู้ใหญ่ (0 ไม่เป็นตัวเองเลย / 100 เป็นตัวเองมาก)
- ทำข้อสอบและแบบทดสอบต่างๆ (0 ไม่เป็นตัวเองเลย / 100 เป็นตัวเองมาก)
- ไปเที่ยว (0 ไม่เป็นตัวเองเลย / 100 เป็นตัวเองมาก)
- อยู่ในกลุ่มเพื่อน แวดวง วงการของเรา (0 ไม่เป็นตัวเองเลย / 100 เป็นตัวเองมาก)
- เจอหน้าเธอ (0 ไม่เป็นตัวเองเลย / 100 เป็นตัวเองมาก)
ว่าด้วยสื่อ
- ตัวแทนเด็กและเยาวชนบนสื่อ ได้แสดงออกในสิ่งที่เราอยากแสดงออก พูดในสิ่งที่เราอยากพูด (0 เด็กในสื่อเป็นคนละอย่างกับที่เราคิด / 100 เด็กในสื่อพูดแทนเราได้อย่างครบถ้วน) *ถ้าไม่รู้จัก หรือไม่เคยเห็นตัวแทน เลือก 0
- สื่อมีเรื่องไหนน้อยเกินไป__________________
- สื่อมีเรื่องไหนมากเกินไป__________________
ความมั่นใจในชีวิต
เราอยากจะ: เลือก A. ทำที่ที่อยู่ให้ดีขึ้น B. ย้ายไปอยู่ที่อื่น C. ทำอะไรไม่ไหว ต้องเอาตัวรอด
ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยดูแลเราได้ดีขนาดไหน (0-100)
คำถามปลายเปิด
1. อาจจะเล่าให้ฟังว่าประเทศไทยดูแลเราดีหรือไม่ดียังไง__________________
2. ปัญหาที่อยากให้ Newground แก้ __________________
3. ปีใหม่นี้คุณอยากได้อะไรจากผู้ใหญ่ __________________
4. เสนอคำถามเพิ่มได้! มา __________________
5. อยากเปิดเผยตัวตนเผื่อติดต่อกลับ! ได้ __________________
หมดแล้วจ้า กดปุ่มเขียวเพื่อส่งยืนยันคำตอบโลด
ขอบคุณมาก
เมื่อวิเคราะห์ด้วย Google Analytic พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 57.04% อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือ หัวเมืองประจำภาคอย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา นครราชสีมา นครปฐม นครสวรรค์ หาดใหญ่ อยุธยา
(ในที่นี้ นัยยะทางพื้นที่ไม่มีผลต่อความแตกต่างของคำตอบ)
ตอนที่ 1: ผลลัพธ์ที่ได้จากข้อมูลที่เป็นตัวเลข
แบบสอบถามมุ่งเปรียบเทียบคุณค่าในมิติดังต่อไปนี้
1. ในภาพรวม เยาวชนอายุ 10-25 ปี ให้คะแนนในด้านต่างๆ เฉลี่ยรวมกี่คะแนน (เต็ม 100 คะแนน)
2. เปรียบเทียบคะแนนระหว่างกลุ่มที่นิยามตัวเองว่า A. ทำที่ที่อยู่ให้ดีขึ้น B. ย้ายไปอยู่ที่อื่น C.ทำ อะไรไม่ไหว ต้องเอาตัวรอด
3. มีปัจจัยใดที่อาจส่งผลต่อความแตกต่างของกลุ่มคำตอบบ้าง
จะเห็นได้ว่า มีความแตกต่างระหว่างกลุ่ม A (เลือกทำที่ที่อยู่ให้ดีขึ้น) กลับกลุ่ม B (อยากไปอยู่ที่อื่น) ค่อนข้างมาก (ค่า Diff AB ได้มาจากคะแนนเฉลี่ยช่อง A-B) เช่น กลุ่ม B รู้สึกว่า ตัวเองมีภาระที่ต้องทำเยอะกว่ากลุ่มอื่น (9.44 คะแนน) แต่มีโอกาสและสิ่งดีๆ รออยู่น้อยกว่า ส่วนเรื่องการมีความคิดใหม่ๆ และความสามารถในการคิดอะไรดีๆ พบว่ากลุ่ม A ให้คะแนนตัวเองมากที่สุดแต่คะแนนไม่ต่างจากกลุ่ม B มาก ในขณะที่คำถามเดียวกัน กลุ่ม C ที่อยู่เพื่อเอาตัวรอดแต่ทำอะไรไม่ไหว ให้คะแนนตัวเองเรื่องความคิดใหม่ๆ น้อยกว่ากลุ่มอื่นเฉลี่ยประมาณ 5 คะแนน
จากผลสำรวจชุดนี้เราอนุมานได้ว่า นิยามของ A B C สัมพันธ์กับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ 1) ความรู้สึกว่าอนาคตมีความหวัง 2) ความสามารถในการได้มาซึ่งความหวังนั้นๆ ซึ่งนิยามของความสามารถอาจไม่ได้หมายถึงความสามารถของตัวเยาวชนเอง แต่หมายรวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุน หรือกีดกันไม่ให้เยาวชนได้เข้าถึงสิ่งที่มุ่งหวัง
แต่นิยามนี้จะมีแนวโน้มเป็นจริงหรือไม่ ค่า Diff บอกความแตกต่างได้ขนาดไหน Diff เท่าไหร่ถึงเรียกว่าต่างกันมากๆ ขอให้เราค่อยๆ พิจารณาเปรียบเทียบกับตารางต่อๆ ไป
จากตารางนี้พบว่ากลุ่ม A อยากทำให้ที่ที่อยู่ดีขึ้น ให้คะแนนผู้ใหญ่สูงกว่ากลุ่มที่เหลือเสมอในทุกๆข้อ เรื่องเดียวที่กลุ่ม A กับกลุ่ม B ให้คะแนนแตกต่างกันไม่มาก (Diff น้อยกว่า 2) … คือเรื่องการให้คำแนะนำดีๆ กับผู้ใหญ่ ซึ่งกลุ่ม A ให้คะแนนตัวเองมากกว่านิดหน่อยเท่านั้น (1.02 แต้ม) ตารางนี้เป็นอีกตารางที่แสดงว่า กลุ่ม A และ B ไม่แตกต่างกันมากนักในเรื่องความสามารถในการคิดอะไรดีๆ หากแต่ต่างกันมากในเรื่องคุณค่าที่ตนได้รับจากผู้ใหญ่
ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดของคำตอบอย่างใกล้ชิด จะพบคำตอบประเภท “ปัดศูนย์” มีปริมาณกระจุกตัวค่อนข้างมากในทุกๆ กลุ่ม โดยจะกระจายตัวไปยังโซนกลางๆ ค่อนไปทางลบ ในขณะที่ก็มีคำตอบประเภท “ปัดร้อย” อยู่จำนวนหนึ่งในทุกๆ กลุ่ม ทำให้ค่าเฉลี่ยยังออกมาในระดับกลางๆ (ไม่รวมว่า ผู้ตอบแบบสอบถามไม่มี “ติดลบ” ให้เลือก)
กลุ่ม A ให้คะแนนสิ่งต่างๆ มากกว่ากลุ่มที่เหลือเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ที่มีค่า Diff สูงกว่ากลุ่ม B ในระดับ 8-11 คะแนน ความน่าสนใจอยู่ที่อินเทอร์เน็ต เพราะเป็นคำถามข้อเดียวในแบบสอบถามที่ทุกกลุ่มมีค่า Diff น้อยกว่า 1 (แทบไม่แตกต่างกัน) โดยที่กลุ่ม B ให้คะแนนอินเทอร์เน็ตในฐานะแหล่งให้คำตอบจากสิ่งที่สงสัยมากกว่ากลุ่ม A นิดหน่อยด้วย
อนุมานได้ว่า เยาวชนกลุ่ม A และ B คิดอะไรดีๆ ออกพอๆ กัน และพยายามบอกผู้ใหญ่ในคะแนนไล่เลี่ยกัน แต่ผลตอบรับที่ผู้ใหญ่ให้กลับมาแตกต่างกันมาก (นิยามโดยมากที่พบบ่อยในตารางคือ Diff ระหว่าง 8-15)
จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ที่มีกับผู้ใหญ่ส่งผลต่อความรู้สึกว่า อยากทำที่ที่อยู่ให้ดีขึ้น หรืออยากจะไปอยู่ที่อื่น หากเยาวชนมีความสัมพันธ์อันดีกับพื้นที่ของผู้ใหญ่ ก็มีแนวโน้มว่าเยาวชนกลุ่มนั้นจะมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นด้วย
ตารางนี้ยิ่งคะแนนสูงยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหา เป็นไปตามคาดว่ากลุ่ม A รู้สึกว่าตัวเองมีอุปสรรคแต่ไม่มากเท่ากลุ่ม B ในตารางนี้ Diff สูงสุดอยู่ที่เรื่อง ฐานะ อายุ รูปร่างหน้าตาบุคลิก เรียงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ตารางนี้ยังมีรายละเอียดอีกสองเรื่องที่ค่อนข้างน่าสนใจ
หากพิจารณาอย่างละเอียดตามช่วงวัย ปัจจัยอายุเป็นปัญหามากเป็นพิเศษสำหรับช่วงวัย 14-19 ปี สังเกตได้จากโซนสีแดง
หนาแน่น (แดงเข้ม = 63.39 คะแนน / ฟ้าเข้ม = 34.41 คะแนน)
อีกข้อสังเกตที่เราพบ คือ นอกจากปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่จะเป็นประเด็นแล้ว ปัจจัยเรื่องตัวตนทางเพศ (Gender) ยังส่งผลต่อการให้คะแนนด้วยเช่นกัน ในตารางถัดๆ ไป จะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนทางเพศกับคะแนนที่ให้
ผู้ใหญ่เป็นประเด็นต่อความแตกต่างของกลุ่ม A และ B เช่นเดียวกับตารางอื่นๆ (ในที่นี้ ศาสนาและผู้ใหญ่ มีค่า Diff ในระดับ 9-11 คะแนน) เมื่อจัดอันดับว่า เยาวชนเป็นตัวเองที่ไหนที่สุด พื้นที่ของเยาวชนเองอย่างกลุ่มเพื่อน หรือการไปเที่ยว มีคะแนนนำมาในอันดับต้นๆ (เป็นคำถามไม่กี่ข้อที่เยาวชนให้คะแนนเฉลี่ยมากกว่า 70 คะแนน)
ที่น่าสนใจคือ เยาวชนรู้สึกว่า แม้แต่ห้องเรียนและแบบทดสอบสามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่าพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ของการพูดคุยกับผู้ใหญ่ (ห้องเรียนเฉลี่ย 65 ส่วนผู้ใหญ่ 39.42) เยาวชนกลุ่ม A ให้คะแนนความเป็นตัวเองในห้องเรียนมากกว่ากลุ่ม B เฉลี่ย 7.75 คะแนน ในขณะที่ทั้งสองกลุ่มมีค่าความแตกต่างในห้องสอบเพียง 2.09 คะแนนเท่านั้น
เมื่อพิจารณาปัจจัยทางเพศว่าส่งผลต่อความเป็นตัวของตัวเองในหลายๆ บริบทหรือไม่ พบว่า แม้ทรานส์แมนและทรานส์วูแมนจะมีจำนวนในแบบสอบถามไม่มาก แต่ก็เป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าเป็นตัวเองในห้องเรียนเพียง 37.5 คะแนน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 65.55 คะแนน (ต่างกันเกือบเท่าตัว) และยังสะท้อนต่อความเชื่อมั่นอื่นๆ ในชีวิตด้วย ดังเช่นตัวอย่างในตารางถัดไป
เยาวชนกว่า 5,000 คน พร้อมใจกันให้คะแนนความมั่นใจว่า มีปัญหา จะได้รับความยุติธรรมต่ำกว่า 30 เต็ม 100 แต่อย่างน้อยเยาวชนเราก็มีความเชื่อมั่นว่า หากเราสุขภาพไม่ดี หมอจะพยายามรักษาเราเต็มที่
เรื่องความเชื่อมั่นในหมอเป็นเรื่องเดียวที่ “คนอื่น” ได้รับความไว้วางใจจากเยาวชนเกิน 60 คะแนน เพราะหากลองไล่ดูตารางก่อนหน้า จะพบว่าคะแนนที่เกิน 60 มีแต่คะแนนที่เกี่ยวกับตัวเอง กลุ่มเพื่อน ห้องเรียน ห้องสอบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีปัจจัยด้านคนมาเกี่ยวข้อง แต่กลุ่ม A และ B ให้คะแนนเฉลี่ยเรื่องสุขภาพต่างกันถึง 15.42 คะแนน และเป็นอีกครั้งที่ตารางนี้ปรากฏความแตกต่างระหว่างกลุ่ม A และกลุ่ม B ในทุกๆ ด้าน ยกเว้นความช่วยเหลือระหว่างหางานที่ทุกกลุ่มรู้สึกแย่พอๆ กัน
ในประเด็นนี้ตารางไม่ระบุผลลัพธ์ใดเป็นพิเศษ เราจะมาดูกันอีกครั้งในบทความตอนที่ 2 ซึ่งจะรวบรวมและประมวลคำตอบปลายเปิดไว้ มาถึงจุดที่เต็มไปด้วยข้อมูลนี้แล้ว นิวกราวหวังว่าในบทความต่อๆ ไปจะขยายแต่ละประเด็นโดยละเอียด พร้อมข้อเสนอในการพัฒนา
ก่อนจะไปยังคำตอบปลายเปิด ตารางนี้แสดงให้เห็นว่า ยิ่งเยาวชนอายุมากขึ้น ยิ่งให้คะแนนข้อนี้น้อยลง ส่วนกลุ่ม A ก็ยังให้คะแนนเยอะกว่าชาวบ้านเช่นเคย นอกจากนี้ทีมนิวกราวตั้งข้อสังเกตว่า เส้นกราฟของกลุ่ม A ดูเรียบง่ายกว่ากราฟของ B และ C ที่ดูหยึกหยักมากกว่า แต่อาจะเป็นไปได้เช่นกันว่ากลุ่มตัวอย่าง A มีปริมาณในการตอบแบบสำรวจมากกว่ากลุ่มอื่นๆ จึงอาจทำให้ค่าเฉลี่ยนิ่ง
ถึงอย่างไรก็เรายังเหลือคำตอบปลายเปิดอีก 1 ชุดใหญ่ๆ ซึ่งจะขอยกยอดไปสรุปผลสำคัญอีกครั้งในบทความหน้า
สรุปภาพรวมคะแนนตามลำดับและประเด็นสำคัญจากตารางและปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างกลุ่ม “A อยากทำที่นี่ให้ดีขึ้น” กับกลุ่ม “B อยากไปอยู่ที่อื่น”
- ตารางที่ 1 คำถามเกี่ยวกับตัวเอง
- ภาพรวม: เยาวชนไทยให้คะแนนคำถามเกี่ยวกับตัวเองในปี 2560 ที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้ (เต็ม 100 คะแนน)
1.1 เรามีความคิดใหม่ๆ เราคิดอะไรดีๆ ออก 62.49 คะแนน
1.2 เลือกวิถีชีวิตเองได้ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ 62 คะแนน
1.3 เรารู้ว่ามีสิ่งดีๆ รออยู่หลังจากทำภาระเหล่านั้นสำเร็จ 61.5 คะแนน
1.4 เรารู้สึกว่ามีโอกาสอยู่รอบตัว 60.65 คะแนน
1.5 เราเข้าถึงโอกาสได้ 51.76 คะแนน
1.6 เราได้ใช้ความรู้จากที่เรียนขนาดไหน 51.80 คะแนน
1.7 เรามีภาระที่ต้องทำ 50 คะแนน
- ความรู้สึกว่า มีโอกาส เข้าถึงโอกาส มีสิ่งดีๆ รออยู่หลังทำภาระเสร็จ: A มีมากกว่า 9-12 คะแนน
- ความรู้สึกว่า ตัวเองมีภาระ: B รู้สึกว่าตนมีภาระมากกว่า A มากกว่า 9 คะแนน
- ตารางที่ 2 คำถามเกี่ยวกับผู้ใหญ่
- ภาพรวม: เยาวชนไทยให้คะแนนคำถามเกี่ยวผู้ใหญ่ ดังต่อไปนี้ (เต็ม 100 คะแนน)
2.1 เรารู้สึกถูกจับผิด 57.79 คะแนน
2.2 ผู้ใหญ่มีคำแนะนำที่ดีให้เรา 51.87 คะแนน
2.3 ผู้ใหญ่สนับสนุนเรา ให้โอกาสเรา 51.27 คะแนน
2.4 เราเคยให้คำแนะนำดีๆ กับผู้ใหญ่ 49.31 คะแนน
2.5 ให้คะแนนผู้ใหญ่รอบตัว 44.14 คะแนน
2.6 เรารู้สึกว่าเรามีสิทธิมีเสียง 40.62 คะแนน
2.7 เราแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างสบายใจ 40.45 คะแนน
2.8 เราถูกผู้ใหญ่รับฟัง 37.74 คะแนน
2.9 เราเชื่อมั่นว่าผู้ใหญ่ในสังคมไทยจะทำให้เรามีชีวิตที่ดี 31.13 คะแนน
2.10 ผู้ใหญ่ขอโทษเรา หรือแสดงความรู้สึกผิดต่อเรา 24.37 คะแนน
- ความรู้สึกว่าตนมีสิทธิมีเสียง แสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา ผู้ใหญ่มีคำแนะนำที่ดีให้ ผู้ใหญ่รับฟังและขอโทษเรา และคะแนนผู้ใหญ่รอบตัว A มีมากกว่า 9-15 คะแนน
- B และ A รู้สึกว่าตัวเองให้ความคิดเห็นดีๆ กับผู้ใหญ่พอๆ กัน (ต่างกันแค่ 1 คะแนน)
- B รู้สึกว่าตัวเองถูกจับผิดมากกว่า 9.3 คะแนน
- ตารางที่ 3 คำตอบในสิ่งที่สงสัย
- ภาพรวม: เยาวชนไทยให้คะแนนคำถามว่า เรามักได้คำตอบในสิ่งที่สงสัยจากที่ใด (เต็ม 100 คะแนน)
3.1 อินเทอร์เน็ต 82.42 คะแนน
3.2 แวดวง วงการ กลุ่มเพื่อน 61.7 คะแนน
3.3 ที่ที่เราเรียนอยู่ 51.83 คะแนน
3.4 ที่ของผู้ใหญ่ (เช่น ศูนย์วิจัย, วัด, โทรทัศน์, รัฐบาล ฯลฯ) 37.56 คะแนน
- A ให้คะแนนเฉลี่ยกับทุกๆ พื้นที่สูงกว่าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะพื้นที่ของผู้ใหญ่ (มากกว่า B 11 คะแนน)
- พื้นที่ทางกายภาพได้คะแนนเฉลี่ยระหว่าง 30-50 ในขณะที่พื้นที่ออนไลน์ได้คะแนนเฉลี่ยมากกว่า 80 โดยทุกกลุ่ม
- กลุ่ม A B C ให้คะแนนอินเทอร์เน็ตไล่เลี่ยกัน มีความแตกต่างน้อยกว่า 1 คะแนน
- ตารางที่ 4 อุปสรรคที่ทำให้พลาดโอกาสบางอย่างในชีวิต
- ภาพรวม: เยาวชนไทยให้คะแนนคำถามว่า ในปีที่ผ่านมา เราควรจะได้อะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ เพราะ… (เต็ม 100 คะแนน)
4.1 เพศของเราเป็นอุปสรรค 40.77 คะแนน **(โปรดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมขยายในหัวข้อด้านล่าง)
4.2 รูปร่างหน้าตาหรือบุคลิกของเราเป็นอุปสรรค 57.98 คะแนน
4.3 ฐานะของเราเป็นอุปสรรค 57.44 คะแนน
4.4 ความเชื่อของเราเป็นอุปสรรค 54.67 คะแนน
4.5 อายุของเราเป็นอุปสรรค 54.53 คะแนน
4.6 เชื้อชาติของเราเป็นอุปสรรค 39.91 คะแนน
- B รู้สึกว่าทุกประเด็นมีปัญหามากกว่า A โดยเฉพาะเรื่องฐานะที่มีความแตกต่าง 5 คะแนน แต่ถือว่ามีความแตกต่างไม่เยอะเมื่อเทียบกับตารางอื่นๆ
- ** ตารางนี้กลับมีค่าความแตกต่างเยอะเมื่อใช้ฐานเพศมาชี้วัด พบว่าเยาวชนกลุ่ม LGBTQ รู้สึกว่าเพศเป็นอุปสรรคต่อการได้โอกาสสูง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มตุ๊ด(เป็นคำที่ผู้ตอบแบบสอบถามนิยามตนเอง โดยมีคำเรียกอื่น ๆ ให้เลือกเช่นกัน)รู้สึกว่า เพศเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงโอกาส 67.27 คะแนน ในขณะที่กลุ่มชายรู้สึกว่า เพศเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงโอกาส 35.4 คะแนน (ต่างกันมากกว่า 30 คะแนน) ซึ่งเป็นระยะห่างที่แตกต่างที่สุดในการจัดกลุ่มทั้งหมดของแบบสำรวจ
- ตารางที่ 5: เป็นตัวเองขนาดไหนในพื้นที่ต่างๆ
- ภาพรวม: เยาวชนไทยรู้สึกเป็นตัวของตัวเองขนาดไหนเมื่อ… (เต็ม 100 คะแนน)
5.1 อยู่ในกลุ่มเพื่อน แวดวง วงการของเรา 83 คะแนน
5.2 ไปเที่ยว 73.15 คะแนน
5.3 อยู่ในห้องเรียนหรือที่เรียน 65.55 คะแนน
5.4 ทำข้อสอบและแบบทดสอบต่างๆ 63.43 คะแนน
5.5 เจอหน้าเธอ 58.13 คะแนน
5.6 อยู่ในที่สาธารณะ 51.09 คะแนน
5.7 ทำพิธีกรรมทางศาสนา 41.31 คะแนน
5.8 พูดคุยกับผู้ใหญ่ 39.42 คะแนน
- A รู้สึกว่าเป็นตัวเองมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในทุกพื้นที่ (อีกแล้ว) โดยเฉพาะในการพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่ต่างจาก B ถึง 9.9 คะแนน
- Gender มีผลต่อความเป็นตัวเองในทุกพื้นที่ แม้ทรานส์แมนและทรานส์วูแมนจะมีจำนวนในแบบสอบถามน้อย แต่ก็เป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าเป็นตัวเองในห้องเรียนแค่ 37.5 คะแนน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 65.55 คะแนน (ต่างกันมากกว่า 30 คะแนน) ซึ่งเป็นระยะห่างที่แตกต่างที่สุดในการจัดกลุ่มทั้งหมดของแบบสำรวจ
- ตารางที่ 6: ความมั่นใจในชีวิต
- ภาพรวม: เยาวชนไทยรู้สึกมั่นใจในชีวิตขนาดไหนเมื่อ… (เต็ม 100 คะแนน)
6.1 เมื่อสุขภาพไม่ดี หมอจะพยายามรักษาเราเต็มที่ 64.46 คะแนน
6.2 เมื่อมีปัญหาการเรียน หรือเราไม่มีความรู้ จะมีคนช่วยบอกหรือสอนเรา 55.44 คะแนน
6.3 เมื่อถูกคุกคามทางเพศ เรามั่นใจว่าจะมีคนช่วยเหลือ 48.44 คะแนน ***(โปรดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมขยายในหัวข้อด้านล่าง)
6.4 ระหว่างที่ยังหางานไม่ได้ มีคนพยายามช่วยเหลือเรา 43.99 คะแนน
6.5 เมื่อเกิดความเครียดหรือความกังวล เราจะได้รับความช่วยเหลือ 42.10 คะแนน
6.6 เมื่อมีปัญหากับคนที่มีอำนาจเหนือกว่า (เช่น ครู ข้าราชการ พระ คนในครอบครัว ตำรวจ ทหาร) เราจะได้รับความยุติธรรม 28.82 คะแนน
- A ให้คะแนนมากกว่า B ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการแพทย์ที่มีความแตกต่าง >15 คะแนน
- ข้อที่ A B C ให้คะแนนไล่เลี่ยกัน (ต่างกันไม่เกิน 2 คะแนน) คือข้อที่พูดถึงความช่วยเหลือระหว่างหางานที่ทุกกลุ่มรู้สึกแย่พอๆ กัน (ไม่เกิน 40 คะแนน)
- ความมั่นใจต่อกระบวนการยุติธรรมได้คะแนนน้อยกว่า 30/100 สำหรับทุกกลุ่ม เป็นคะแนนเฉลี่ยที่น้อยที่สุดในแบบสำรวจ และยังมีความแตกต่างระหว่างกลุ่ม A กับ B มากกว่า 15 คะแนน
- เรื่องความเชื่อมั่นในการแพทย์ แม้จะมีความแตกต่างระหว่าง A และ B ค่อนข้างสูง แต่เป็นเรื่องเดียวที่ “คนอื่น” ได้รับความไว้วางใจจากเยาวชนเกิน 60 คะแนนในภาพรวม เพราะหากลองไปไล่ดูตารางเก่าๆ จะพบว่าคะแนนที่เกิน 60 มีแต่คะแนนที่เกี่ยวกับตัวเอง กลุ่มเพื่อน ห้องเรียน ห้องสอบ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีปัจจัยด้านคนมาเกี่ยวข้อง
- กลุ่มทรานส์แมนและทรานส์วูแมนรู้สึกไม่มั่นใจที่สุดหากถูกคุกคามทางเพศแล้วจะมีคนช่วยเหลือ (19.5-27.5 คะแนน) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 48.44 คะแนน
- ตารางที่ 8: ประเทศดูแลเราได้ดีขนาดไหนในปีที่ผ่านมา
- ภาพรวม: เยาวชนไทยให้คะแนนในคำถามว่า ประเทศดูแลเราได้ดีขนาดไหนในปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 42 เต็ม 100 คะแนน
- เมื่อแบ่งตามช่วงวัยแล้วพบว่า ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งให้คะแนนน้อยลง (12 ปี = 56 คะแนน, 18 ปี = 38 คะแนน, 28 ปี = 28 คะแนน)
- กลุ่ม A ให้คะแนนเยอะกว่าชาวบ้านเช่นเคย (ต่างจาก B มากกว่า 15 คะแนน)
คำสำคัญ
- ผู้ใหญ่ทำได้แย่ที่สุดในเรื่องไม่ยอมขอโทษเมื่อทำผิด (น้อยกว่า 30/100)
- ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมต่ำมาก (น้อยกว่า 30/100)
- อินเทอร์เน็ตครองท็อปมีคำตอบในสิ่งที่สงสัย (เฉลี่ย 80/100 ห่างจากโรงเรียน 30 คะแนน ทุกกลุ่มให้คะแนนอินเทอร์เน็ตไล่เลี่ยกัน)
- ตัวตนทางเพศมีผลต่อทัศนคติในด้านความมั่นใจและความปลอดภัยในชีวิต (LGBTQ ให้คะแนนต่างจากเพศชาย 30 คะแนน)
- ยิ่งพ้นวัยเด็ก ยิ่งให้คะแนนประเทศน้อยลง (คนอายุ 12 ปี ให้ 56/100 คะแนน ในขณะที่อายุ 28 ปี ให้ 28/100 คะแนน)
- กลุ่ม A ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหวัง รู้สึกดีกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากกว่า กลุ่ม B ที่ไม่มีความหวัง (และอาจไร้อำนาจด้วย) กว่า 10 คะแนน แต่โดยภาพรวมแล้ว เยาวชนยังไม่พึงพอใจกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในปัจจุบัน สังเกตจากข้อที่มีแนวโน้มจะดี (เกิน 60) เป็นข้อที่เกี่ยวกับตัวเอง ความเป็นปัจเจก ในขณะที่เรื่องแวดล้อมอื่นๆ คะแนนจะค่อนข้างต่ำ (ต่ำกว่า 50 ไปจนถึง 20)
จากตัวเลขเหล่านี้ ผู้เขียนมีไอเดียเร็วๆ ว่า การมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมอาจไม่ได้เกิดจากการปลูกฝังให้มีโดยตรง แต่สัมพันธ์กับความรู้สึกว่า ตนเองได้รับการยอมรับในสังคมอย่างเพียงพอ การพัฒนาเยาวชนจึงจะเป็นไปไม่ได้เลย หากผู้ใหญ่ไม่พัฒนาตัวเองให้เข้าใจและรับฟังเยาวชนก่อน อย่างไรก็ตาม เรายังเหลือผลสำรวจตอนที่ 2 ซึ่งวิเคราะห์ความคิดเห็นปลายเปิดจากเยาวชนประมาณ 2,000 คำตอบ และบทขยายพร้อมข้อเสนอว่า เราจะลงทุนกับการพัฒนาเยาวชนให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
* เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ ได้ที่ www.newgroundforum.com