ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อเสนอ “การพัฒนาคนรุ่นใหม่” บนความเข้าใจ “วัฒนธรรมเยาวชน”

ข้อเสนอ “การพัฒนาคนรุ่นใหม่” บนความเข้าใจ “วัฒนธรรมเยาวชน”

11 พฤศจิกายน 2017


Newground*

ประเทศไทยมีประชากรช่วงอายุ 15-24 ปี จำนวน 10,194,001 คน คิดเป็น 15% จากประชากรทั้งหมด 67,741,401 คน และมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 0.35 % ซึ่งถือได้ว่าเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดในอาเซียน ในขณะเดียวกัน ไทยเป็นประเทศที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ในเวลาไม่เกิน 20 ปี และจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นราว 3 เท่าตัว หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ 1 คน อาจต้องทำงานดูแลคนอื่น ๆ อีกถึง 6 คนหรือมากกว่าในอนาคตอันใกล้นี้

แต่องค์กรพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีอยู่ กลับพบปัญหาร่วมกัน ทั้งจากความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม ช่องว่างระหว่างวัย ความเข้าใจโลกสมัยใหม่ เทคโนโลยีสารสนเทศ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ จึงทำให้องค์กรพัฒนาเยาวชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้กับสิ่งที่เยาวชนเป็น

จากการศึกษาในโครงการวิเคราะห์ความต้องการของเด็กและเยาวชน ศึกษาเปรียบเทียบแนวทางการทำงานองค์กรด้านเยาวชน และพัฒนาแนวทางสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ในปี พ.ศ. 2559 โดย คุณวิภาพรรณ วงษ์สว่าง, คุณวริศ ลิขิตอนุสรณ์, คุณเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ และคุณวรวัส สบายใจ ภายใต้องค์กร Newground ได้จัดทำ Data Analysis รวบรวมคุณค่าที่องค์กรเยาวชนให้คุณค่า นำมาเปรียบเทียบกับคุณค่าที่เยาวชนให้คุณค่า วิเคราะห์ผลลัพธ์เป็นสถิติในเชิงปริมาณกับประเภทกลุ่มเป้าหมาย และเสนอเป็นแนวทางการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ ประกอบกับตัวอย่างองค์กรพัฒนาเด็กเยาวชนในต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อเสนอให้กลุ่มองค์กรทำงานด้านเด็กเยาวชนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

โดยมีข้อเสนอ ในปี 2559 เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานคนรุ่นใหม่ ดังต่อไปนี้

1. ข้อเสนอเรื่องการพัฒนาความเข้าใจที่มีต่อคนรุ่นใหม่

จากงานวิจัยของ Gen Z Australia พบว่าการแบ่งช่วงวัยออกเป็น 3 ช่วงวัยแบบในสมัยศตวรรษที่ 20 (เด็ก, วัยรุ่น, ผู้ใหญ่) ไม่สามารถนิยามลักษณะของเยาวชนได้อย่างครอบคลุมอีกต่อไป อย่างน้อยจะต้องแบ่งออกเป็น 7 ขั้น โดยเพิ่มช่วง “รอยต่อ” ลงไปด้วย Childhood = วัยเด็ก, Tween = วัยที่อยู่ระหว่างเด็กกับวัยรุ่น, Teenager = วัยรุ่น, Young Adult = วัยผู้ใหญ่ตอนต้น, Kippers = คนหนุ่มสาวที่ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากพ่อแม่, Adulthood = วัยผู้ใหญ่ Career-Changer = วัยเปลี่ยนงาน, Downager = วัยที่ชะลอประสิทธิภาพในการทำงานลงสู่วัยเกษียณ การแบ่งช่วงวัยในลักษณะนี้ มาจากการให้น้ำหนักต่อ มิติทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงมิติทางเทคโนโลยี ในขณะที่การแบ่งแบบเดิมจะให้น้ำหนักกับมิติทางการแพทย์ ดูตามพัฒนาการของร่างกาย สมอง หรือมิติทางด้านการจ้างแรงงานเป็นหลัก

เมื่อไม่ได้ให้น้ำหนักกับมิติทางวัฒนธรรม ในหลายๆ ครั้ง การทำงานเด็กเยาวชนในประเทศไทยจึงประเมินศักยภาพของวัยรุ่นได้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น เหมารวม Tween-Teenager-Young Adult ให้เป็นเด็กไปทั้งหมด หรือมองว่า Young Adult = Teenager จึงมอบหมายความท้าทายให้ไม่ตรงกับศักยภาพที่ควรจะเป็น และเมื่อไม่ได้ให้น้ำหนักกับมิติทางวัฒนธรรมแล้ว การสื่อสาร การสร้างพันธกิจ การสร้างความท้าทายให้กับกลุ่มเยาวชนก็จะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเช่นกัน

อีกปัจจัยที่องค์กรเด็กและเยาวชนควรทบทวนตนเอง คือ องค์กรสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ในวัย Teenager ให้เข้ามาร่วมในองค์กรได้หรือไม่? เพราะในหลายๆ ครั้ง องค์กรเด็กเยาวชนที่เข้าถึงเด็กตั้งแต่วัยเด็กเล็ก (Childhood-Tween) สามารถหล่อหลอมให้เด็กๆ เติบโตและมีคุณค่าในแบบที่องค์กรต้องการ บุคลิกภาพของ Teenager/Young Adult ที่ถูกเลี้ยงโดยองค์กรมาตั้งแต่เด็กจึงเป็นบุคลิกภาพที่ “ตรงตามความประสงค์ขององค์กร” แต่จะไม่สามารถชี้วัดในแง่ความหลากหลายและความเป็นจริง องค์กรเด็กจึงควรท้าทายตนเองให้มากขึ้น ในการทำงานร่วมกับ “เด็กที่โตเอง” มาจากข้างนอก นอกจากประเด็นเรื่องเกณฑ์การแบ่งช่วงวัยแล้ว ยังพบว่า กลุ่มแหล่งทุนหรือองค์กรที่ทำงานด้านคนรุ่นใหม่ กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความสนใจที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะความเหลื่อมกันระหว่างชุมชนกายภาพและชุมชนทางความสนใจ

จากการสำรวจสื่อที่แหล่งทุนเยาวชนให้การสนับสนุน (ศึกษาผ่านเนื้อหาสื่อของ มูลนิธิสยามกัมมาจล, สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน และจุลสาร KIDSDEE โดยเครือข่ายยุวทัศน์ สนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม) กับสื่อที่เยาวชนสนใจ (ศึกษาผ่านเนื้อหาสื่อในสำนักข่าวออนไลน์, Storylog และ Fictionlog) พบว่า สื่อของแหล่งทุนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเยาวชนให้ความสำคัญกับ “ชุมชนทางกายภาพ” มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง หรือคิดเป็น 16.89% จากทั้งหมด ตามมาด้วย “สุขภาวะและความดีแบบวัตถุวิสัย” หรือความดีที่ถูกต้องที่สุด หยุดนิ่ง ไม่เป็นพลวัต เป็นอันดับที่ 2 หรือ 14.21% ในขณะที่กลุ่มสื่อที่เยาวชนให้ความสนใจพบว่าเยาวชนให้ความสำคัญแตกต่างออกไป

อันดับที่ 1 “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” คิดเป็น 16.8% อันดับที่ 2 “ทบทวนรื้อสร้างจริยธรรมและมายาคติ” คิดเป็น 12.27% อันดับที่ 3 “แวดวงเฉพาะทาง” คิดเป็น 11.47% อันดับที่ 4 “ชีวิต และการพัฒนาตนเอง” คิดเป็น 9.32% อันดับที่ 5 “ทุกขภาวะ” คิดเป็น 8% จะพบว่า อันดับที่ 1 ของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันในลักษณะขั้วตรงข้าม และอันดับที่ 2 ของกลุ่มสื่อที่แหล่งทุนให้คุณค่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับอันดับที่ 2 และ 5 ของกลุ่มสื่อที่เยาวชนให้คุณค่า

ความแตกต่างทางรสนิยมที่เกิดขึ้นเป็นผลให้เกิดการสนับสนุนการทำงานเยาวชนอย่างไม่ตรงจุด ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพเยาวชนตามความเหมาะสม และไม่ก่อเกิดให้การเรียนรู้ที่เอื้อให้เยาวชนแก้ปัญหาที่มีผลต่อตนเองหรือกลุ่มตนเองได้

2. ข้อเสนอเรื่องการสื่อสารภาพลักษณ์ที่มีต่อคนรุ่นใหม่

นอกจากมิติการแก้ปัญหาสังคมแล้ว องค์กรยังต้องเคลื่อนไหวในมิติของ “การส่งเสริมภาพลักษณ์เยาวชนในสื่อ” ส่งเสริมความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ไม่สนับสนุน “พิมพ์นิยม” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งในทางรูปร่างหน้าตา และในทางบุคลิกภาพที่สนับสนุนเฉพาะบางบุคลิกภาพ ทำให้มีเยาวชนไม่กี่แบบเท่านั้นที่ครอบครองพื้นที่ได้และช่วงชิงความหมายของการเป็นเยาวชนไปจากคนอื่นๆ

เพื่อให้เยาวชนโดยส่วนใหญ่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ในสังคม จะต้องพัฒนาความหลากหลายของเยาวชนในสื่อ ให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ว่าตนจะเป็นใคร มีรูปร่างหน้าตาหรือบุคลิกภาพแบบไหน ก็มีพื้นที่และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ให้ความสำคัญกับการเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความหวัง: ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่มีภาพลักษณ์ที่ไม่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศในอนาคต ทั้งๆ ที่ในอนาคตคนรุ่นใหม่ 1 คน จะต้องทำงานเพื่อดูแลผู้สูงอายุถึง 6 คน ภาพลักษณ์ของเยาวชนจึงต้องนำไปสู่ความพร้อมในยุค Aging Society ซึ่งคนรุ่นใหม่ควรจะเป็นคนที่สามารถวางใจฝากอนาคตไว้ได้ เมื่อภาพลักษณ์เป็นบวกแล้ว ภาคส่วนต่างๆ ต้องเร่งมือพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่สูงขึ้น พร้อมๆ กับที่คนรุ่นใหม่ก็ต้องต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพตามมาตรฐานนั้นๆ ด้วย

3. ข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมกระบวนการแสดงความคิดเห็นและการดำเนินการกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง

การพัฒนาคนรุ่นใหม่ต้องสนับสนุนให้เยาวชนมีทักษะแก้ปัญหา โดยปัญหานั้นๆ จะเป็นปัญหาอะไรก็ได้ ทั้งปัญหาสาธารณะหรือปัญหาส่วนตัว เยาวชนจะต้องรู้สึกว่าตนมีศักยภาพที่จะ “รู้ว่าตนเองมีปัญหาอะไร สามารถยืนยันการมีอยู่ของปัญหาได้ และดำเนินการกับปัญหาที่กระทบต่อตนเองได้” ด้วยกระบวนการต่างๆ ต่อไปนี้

3.1 มีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็นและส่งเสียงของตนเอง
3.2 มีอิสระที่จะให้น้ำหนักกับปัญหาตามความเป็นจริงของตนเอง
3.3 เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการปัญหา
3.4 เข้าถึงชุมชน (ทางกายภาพ/ออนไลน์)
3.5 ได้รับการส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีศักยภาพในการจัดการกับปัญหา (ด้วยตนเอง/ผ่านตัวแทน)
3.6 มีกระบวนการจัดการให้ปัญหานั้นก้าวหน้าไปในทางที่ดี เป็นการแก้ปัญหาไปข้างหน้า มากกว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การจัดการกับปัญหาของตัวเอง เป็นทักษะจำเป็นในการใช้ชีวิตหลังยุคปฏิวัติเทคโนโลยี เป็นทั้งพื้นฐานการคิดเพื่อแก้ปัญหาสังคม และพื้นฐานการคิดเพื่อประกอบอาชีพของตัวเยาวชนเอง

4. ข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมความหลากหลายในเชิงประเด็น

การให้คุณค่าของแต่ละบุคคลมีความหลากหลายมากขึ้น คนรุ่นใหม่เป็นปัจเจกมากขึ้น การให้คุณค่าเทไปยังประเด็นใดประเด็นหนึ่งจึงอาจตัดโอกาสในการมีส่วนร่วมในสังคมของคนที่เหลือ เช่น การมองประเด็นการอยู่ร่วมกันในชุมชน มีความหลากหลายสูงมากทั้งในทางชุมชนนิยมและในทางปัจเจกนิยม หากสนับสนุนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอีกฝ่ายย่อมอึดอัด อาจรู้สึกว่าถูกบังคับให้เข้าสังคม (ทั้งๆ ที่ตนไม่มีความสนใจในประเด็นนั้นๆ) หรืออึดอัดว่าทำไมคนอื่นๆ ถึงไม่ให้คุณค่ากับพื้นที่ส่วนรวม (ทั้งๆ ที่ตนและกลุ่มของตนพยายามอย่างยิ่งในการดูแลพื้นที่ส่วนรวมไว้) การให้คุณค่าที่มอบพื้นที่ทั้งสองฝ่ายได้พอๆ กัน เป็นแนวคิด “ชุมชนนิยมใหม่ (Neo-Collectivism)” ที่มีการเคารพความแตกต่างของปัจเจกเป็นพื้นฐาน สู่สังคมที่เคารพและอยู่ร่วมกับความหลากหลายได้บนพื้นฐานของ “สิทธิ” และการมี “คุณภาพชีวิต” มากกว่าบนพื้นฐานของ “ค่านิยม”

ดังนั้น ในแนวทางขับเคลื่อนที่จะเกิดขึ้น ประเด็นที่สนับสนุนจึงควรมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อหนุนเสริมประเด็นที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของปัจเจกไปพร้อมๆ กัน ทั้งในหมวด “เคารพผู้อื่น” “คุณภาพชีวิต” และ “ความสนใจพึงพอใจส่วนบุคคล”

5. ข้อเสนอเรื่องโครงสร้างองค์กร

จากแนวโน้มเรื่องความหลากหลายที่จะมีมากขึ้น และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพขึ้น เยาวชนต้องมีทักษะการแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงได้ดีขึ้น ดังนั้น องค์กรแหล่งทุนสมควรสนับสนุนการพัฒนาของแวดวงทางวัฒนธรรมความสนใจ ความชำนาญ ตลอดไปจนวิชาชีพเฉพาะทาง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนชุมชนทางกายภาพหรือท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นของทั้งตัวองค์กรแหล่งทุนเอง และเยาวชนที่จะได้รับการสนับสนุน

องค์กรแหล่งทุนควรเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการองค์กร ทั้งในระดับนโยบายและระดับการดำเนินงานในอัตราส่วนที่มากขึ้นและหลากหลายขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมกันทางวัฒนธรรมที่ผู้วิจัยเห็นว่ากำลังเผชิญอยู่

ผู้วิจัยเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้ก็คือการกลับไปทำความเข้าใจเยาวชนก่อน และ/หรือเพิ่มอัตราส่วนการทำงานของเยาวชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเข้าไปในองค์กร หรือกระทั่งแยกหน่วยพิเศษออกมาให้อยู่ในความดูแลของเยาวชนด้วยตัวเองอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในทุกบทข้างต้น

6. ข้อเสนอเรื่องความเท่าทันรสนิยมของเยาวชน เพื่อการสนับสนุนและบริหารจัดการการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความเท่าทันต่อรสนิยมของเยาวชนเป็นปัจจัยสำคัญก่อนจะทำการจัดการสิ่งอื่นๆ การผลิตสื่อที่ล้มเหลว เช่น เพลงหรือวิดีโอรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงเยาวชนได้ เนื่องจากผู้จัดทำไม่เข้าใจรสนิยมกว้างๆ ของเยาวชน โดยต้องพยายามมองหาคุณค่าจากความบันเทิงของเยาวชน มากกว่าจัดวางชุดความบันเทิงเอาไว้และให้เยาวชนปรับตัวเข้าหา และทบทวนเครื่องมือเรียนรู้หรือบทเรียนจากกระบวนการใดๆ ว่ากำลังบดบังหรือบิดเบือนเนื้อหาทางวัฒนธรรมของเยาวชนหรือไม่

จากการศึกษาสมมติฐานของช่องว่างระหว่างกลุ่มคนทำงานด้านเด็กเยาวชน และกลุ่มเด็กเยาวชน ได้สำรวจคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 27 ปี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในเครือข่ายพัฒนาสังคมจำนวน 71 คน เกี่ยวกับคำเรียกแทนตัวเอง, กลุ่มสังคมที่ให้คุณค่า รวมไปถึงชุดคำที่อธิบายความเป็นตัวเองและมุมมองที่มีต่อชุมชน พบว่า

เยาวชนต้องการให้เรียกแทนตนเองดังต่อไปนี้

อันดับที่ 1 “ชื่อเฉพาะที่ระบุตัวตนชัดเจน” คิดเป็น 86%

อันดับที่ 2 “คนรุ่นใหม่” คิดเป็น 78%

อันดับที่ 3 “นักเรียน นักศึกษา” คิดเป็น 73%

อันดับที่ 4 “นักสร้างสรรค์” คิดเป็น 71%

และต้องการให้เรียกแทนตนเองด้วยคำต่อไปนี้น้อยที่สุด
อันดับที่ 1 “เด็ก” คิดเป็น 35%

อันดับที่ 2 “วัยใส”  คิดเป็น 36%

อันดับที่ 3 “คนพันธุ์ใหม่” คิดเป็น 41%

จะพบว่า ผู้ทำแบบสำรวจให้ความสำคัญกับการเป็นปัจเจกและถูกนิยามด้วยมุมมองของตนเอง รวมทั้งไม่ชอบถูกเรียกหรือถูกมองว่าเป็นเด็กหรือใส นอกจากนี้ ผู้ทำแบบสำรวจยังไม่ชอบคำว่า น้อง หรือคำที่มีนัยถึงความอาวุโสอีกด้วย

เมื่อมาดูกลุ่มสังคมที่มีความหมายหรือมีความสำคัญต่อตนเอง จากผลสำรวจของโครงการ Newground พบว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มสังคมดังต่อไปนี้มากที่สุด

อันดับที่ 1 “กลุ่มที่ยึดโยงด้วยความเป็นมนุษย์หรือคุณค่าสากล” คิดเป็น 86%

อันดับที่ 2 “กลุ่มตามความสนใจที่ตัวเองทำอะไรในนั้น” คิดเป็น 67%

อันดับที่ 3 “กลุ่มที่สนใจแลกเปลี่ยนในประเด็นกว้างๆ” คิดเป็น 65%

และให้ความสำคัญกับกลุ่มสังคมดังต่อไปนี้น้อยที่สุด

อันดับที่ 1 “กลุ่มที่ยึดโยงด้วยความเป็นชาติไทย” คิดเป็น 51%

อันดับที่ 2 “กลุ่มที่ยึดโยงด้วยพื้นที่ที่อยู่อาศัย” คิดเป็น 51%

อันดับที่ 3 “กลุ่มที่ติดตามในฐานะผู้สนับสนุน” คิดเป็น 54%

โดยทางโครงการให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า คนที่ให้ความสำคัญกับความเป็นชาติไทยมากที่สุดเป็นกลุ่มคนอายุน้อยในแบบสำรวจ (ต่ำกว่า 15 ปี) ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นความสนใจในความเป็นคนชาติไทยจะมีน้อยลง ในขณะที่ความสนใจในความเป็นมนุษย์จะมีค่าสูงและกระจายอยู่ในทุกๆ วัย

นอกจากนี้ จากการสำรวจถ้อยคำที่ดึงดูด หรือสื่อถึงความเป็นตนเองในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 0-9 คะแนน พบว่า ความเป็นตัวเองในแบบสำรวจนี้ให้ผลลัพธ์เป็นภาษาของความเคลื่อนไหวและการปฏิบัติ (ฉันทำอะไร) ในขณะที่ถ้อยคำที่ไม่ดึงดูดเป็นภาษาของนิยามที่ผู้อื่นมองเข้ามา (คนอื่นจะมองว่าฉันเป็นอย่างไร) และเป็นภาษาที่ไม่เคลื่อนไหว หรือดูเชื่องช้า (ปลูก, รวม) ดังผลลัพธ์ต่อไปนี้

ถ้อยคำที่สื่อถึงความเป็นตนเองได้มาก (เกิน 7.5) ประกอบด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

อิสระ (8.6) เป็นตัวเอง (8.4) ความเปิดกว้าง (8.2) ความยุติธรรมและความถูกต้อง (8.1) สร้างสรรค์ (8.0) นอกกรอบ (8.0) สิทธิ (7.9) ประสบการณ์ (7.9) ก้าวหน้า (7.8) คุณค่า (7.7) เปลี่ยนแปลง (7.7) ก้าวข้าม (7.7) ท้าทาย (7.6) พัฒนา (7.6) ทดลอง (7.6) ปลดปล่อย (7.6) ค้นหา (7.5)

ถ้อยคำที่ไม่สื่อถึงความเป็นตนเองหรือไม่ดึงดูด (ต่ำกว่า 6.0) ประกอบด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

ใส (3.3) มีค่านิยมที่ถูกต้อง (5.0) เฟี้ยว (5.1) ความดี (5.2) เท่ (5.3) แจ๋ว (5.3) ปลูกปัญญา (5.6) ตื่นรู้ (5.7) รวมใจ (5.9)

ทั้งยังได้สำรวจทัศนคติต่อความเป็นชุมชนของคนรุ่นใหม่ โดยสอบถามผู้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพความเป็นชุมชนในพื้นที่ และความสำคัญของความเป็นชุมชนต่อตนเอง และให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 5 คะแนน ได้ค่าเฉลี่ยออกมาดังนี้

1. ในชุมชนทุกประเภท จะประกอบไปด้วยคนที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ภายในชุมชนมากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ไม่สนใจความสัมพันธ์ภายในชุมชนหรือให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากกว่า การนิยามชุมชนจึงควรนับ “ความเป็นส่วนตัว” เข้าไปในการตีความด้วย ผู้ศึกษาได้ให้ข้อสังเกต 5 ประการในด้านทัศคติต่อความเป็นชุมชนของคนรุ่นใหม่

2. ในชุมชนเมืองมีความหลากหลายสูงมาก ทั้งคนที่ให้ความสนใจกับการมีคนข้างบ้านที่มีปฏิสัมพันธ์อันดี ไปจนถึงคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวหรือคนที่ยึดโยงกับบุคคลอื่นผ่านความสนใจที่มีร่วมกัน (การหายไปของเพื่อนบ้าน ไม่ส่งผลต่อชีวิตเท่าการหายไปของร้านกาแฟที่เอาไว้นัดเจอเพื่อน) นิยามชุมชนในสังคมเมืองจึงต้องสอดรับกับความหลากหลายของ “รสนิยมความสัมพันธ์” ด้วย

3. หากย้อนกลับไปที่หัวข้อ “กลุ่มที่ยึดโยงกับตัวเอง” จะพบว่าการยึดโยงด้วยพื้นที่ทางกายภาพมีความสำคัญต่อคนรุ่นใหม่น้อยกว่าการยึดโยงด้วยพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ยึดโยงตามความสนใจในการทำกิจกรรม และความสนใจเชิงประเด็น องค์กรที่ทำงานกับเด็กเยาวชนจึงอาจต้องทบทวนการให้น้ำหนักระหว่างชุมชนกายภาพกับชุมชนเชิงวัฒนธรรม ว่าน้ำหนักใดจะขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพได้มากกว่ากัน

4. โดยพื้นฐานแล้วทุกชุมชนต้องการส่วนกลางที่เคารพสิทธิเป็นพื้นฐาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการจัดการทรัพยากรส่วนกลาง (สะอาด ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพ ส่งเสริมโอกาสในการดำเนินชีวิต)

5. ดังนั้น ในการตีความประเด็นชุมชน พื้นฐานของชุมชนที่ดีควรจะวางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ ส่วนกลางที่สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นพื้นฐาน ในส่วนของนิยามเรื่อง “ปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน” อาจต้องตีความเพิ่มเติมว่าเป็นไปเพื่อรองรับมิติใดบ้าง (แต่โดยพื้นฐานจะต้องทำให้เกิดความรู้สึก “ปลอดภัย” เป็นพื้นฐาน) ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน อาจดำรงอยู่ในฐานะของรสนิยมมากกว่าบรรทัดฐาน เพื่อให้คนที่นิยม “ความเป็นส่วนตัว” หรือ “สนใจความสัมพันธ์เชิงประเด็นมากกว่าพื้นที่” มีพื้นที่ในสังคมนั้นๆ ด้วย

จากข้อเสนอทั้ง 6 ข้อ เพื่อสนับสนุนให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงคุณค่า ซึ่งประกอบด้วย
1. การลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนทำงานด้านเด็กเยาวชน และกลุ่มเด็กเยาวชน ทำให้เยาวชนได้รับการสนับสนุนที่ตรงกับความต้องการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้สูงขึ้น

2. เกิดความเข้าใจระหว่างเยาวชนที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน มีความสนใจที่หลากหลาย นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสังคมในอนาคต

3. เยาวชนที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่ได้รับการสนุนได้รับการสนับสนุน เพิ่มปริมาณและเพิ่มคุณภาพในการเคลื่อนไหว

4. เยาวชนในฐานะปัจเจกเข้าถึงวิธีคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในอนาคต สามารถจัดการตนเองได้และมีพื้นที่ มีบทบาท รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

5. เยาวชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรทั้งในเชิงสวัสดิการและงบประมาณภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาที่มีผลต่อกลุ่มตนเองได้อย่างเป็นระบบและเป็นธรรม

องค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาหรือสนับสนุนเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมจึงควรสร้างเสริมให้เกิดหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเยาวชนและอยู่บนกรอบคิดของโลกสมัยใหม่ รวมทั้งภาครัฐต้องมีนโยบายที่เอื้อกับการพัฒนา สนับสนุนพื้นที่ ทรัพยากร งบประมาณ บนฐานความเข้าใจวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ที่หลากหลาย ในสัดส่วนที่เป็นธรรม และต้องมีการสนับสนุนงานวิจัย ให้เกิดการจัดสวัสดิการคนรุ่นใหม่ เพื่อรับช่วงต่อของประเทศได้อย่างเข้มแข็ง และเพื่อให้ประเทศไทยมีประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต

* Newground เป็นองค์กรศึกษา วิจัย และสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต 

ติดต่อและติดตามรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/newground.th