ThaiPublica > เกาะกระแส > ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์รายแรกอาเซียน ออกกรีนบอนด์สกุลสวิสฟรังก์ อินโดนีเซียย้ายเมืองหลวงไปกาลิมันตัน

ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์รายแรกอาเซียน ออกกรีนบอนด์สกุลสวิสฟรังก์ อินโดนีเซียย้ายเมืองหลวงไปกาลิมันตัน

1 กันยายน 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25-31 สิงหาคม 2562

  • เมียนมากู้ต่างประเทศแตะ 10.2 พันล้านดอลล์
  • อินโดนีเซียย้ายเมืองหลวงไปกาลิมันตัน
  • ฟิลิปปินส์รายแรกออกกรีนบอนด์สกุลสวิสฟรังก์
  • กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุน 14.48 พันล้านดอลลาร์ใน 3 ปี

เมียนมากู้ต่างประเทศแตะ 10.2 พันล้านดอลล์

รายงานงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2017-2018 ของคณะกรรมาธิการร่วมด้านบัญชีสาธารณะของรัฐสภา(Pyidaungsu Hluttaw) ยอดเงินกู้ต่างประเทศเมียนมา ในปีงบประมาณที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินที่กู้จากประเทศต่างๆและองค์กรความร่วมมือแบบพหุภาคีรวมกันมากกว่า 20

คณะกรรมาธิการระบุว่า หนี้ส่วนใหญ่มาจากกระทรวงกิจการภายใน กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์และชลประทาน กระทรวงคมนาคมและสื่อสาร กระทรวงพลังงานและไฟฟ้า และกระทรวงอุตสาหกรรมรวมกัน ขณะที่เจ้าหนี้รายใหญ่คือ จีน ในจำนวน 4 พันล้านดอลลาร์ แต่เมียนมาได้ชำระคืนไปแล้ว 1.11 พันล้านดอลลาร์

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน(EXIM China)เป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ของกระทรวงพลังงานและไฟฟ้า กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์และชลประทาน

เมียนมายังกู้เงินจากญี่ปุ่น 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเบิกถอนจากวงเงินกู้ 6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนเจ้าหนี้รายอื่นได้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย(Asian Development Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund) อินเดีย ไทย และสหราชอาณาจักร

รายงานของคณะกรรมาธิการยังเตือนว่า เงินกู้ของกระทรวงพลังงานและไฟฟ้า และกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินกู้ของหน่วยงานอื่นถึง 2.5-4.5% อาจจะเป็นภาระหนักของประเทศในการชำระคืน และการตัดสินใจขอเงินกู้ควรจะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง
ตลอดจนยังระบุว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูง ค่าเงินจั๊ดที่อ่อนค่า และค่าบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐบาล โดยเฉพาะการชำระคืนเงินกู้ให้กับโครงการที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

รายงานแนะนำให้เสริมความเข้มแข็งของธรรมาภิบาล หลังจากมีการเบิกเงินกู้ของกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์และชลประทาน เพราะมีการทุจริตและประสบผลขาดทุน โดยชี้ไปถึงโครงการในมัณฑะเลย์ที่มีการทุจริต 2.6 พันล้านจั๊ด จากเงินกู้ 400 ล้านดอลลาร์ที่ได้รับจาก China EXIM ในอัตราดอกเบี้ย 4.5% สำหรับการพัฒนาชนบท การขจัดความยากจนและสินเชื่อไมโครไฟแนนซ?

อินโดนีเซียย้ายเมืองหลวงไปกาลิมันตัน

ที่มาภาพ: https://www.cbsnews.com/news/jakarta-sinking-indonesia-capital-city-borneo-sea-2019-08-27/

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดประกาศเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านว่าจะย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ต้าไปที่กาลิมันตันตะวันออกของเกาะบอร์เนียว

ในการแถลงข่าวประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า รัฐบาลได้ทำการศึกษามาอย่างละเอียดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและผลจากการศึกษาชี้ว่าต้องมีการสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เขตเปนาจัม ปาเซอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคูไต เคอร์ตาเนการา ในกาลิมันตันตะวันออก

แผนการย้ายเมืองหลวงได้มีการเสนอโดยประธานาธิบดีของอินโดนีเซียหลายคนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และในที่สุดก็สามารถดำเนินการได้ โดยประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า รัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หากได้รับความเห็นชอบการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ก็จะเริ่มขึ้นในปีหน้า

ในแผนการย้ายเมืองหลวงใหม่จะมีการย้ายหน่วยงานฝ่ายบริหารของรัฐบาลออกจากจาการ์ต้าไปยังกาลิมันตันบนเนื้อที่ 1,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกาลิมันตันอยู่บนเกาะเบอร์เนียวที่มีอินโดนีเซียและมาเลเซียแบ่งกันพื้นที่ระหว่างกัน แต่จาการ์ต้ายังคงเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินของประเทศ และเชื่อว่าประชากรส่วนใหญ่ 10 ล้านคนจะยังคงอาศัยในจาการ์ต้าต่อไป

ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า การย้ายเมืองหลวงครั้งนี้ใช้งบประมาณราว 466 ล้านล้านรูเียะห์หรือ 32.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมาจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง 19% ที่เหลือจะมาจากการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนหรือ public-private partnerships(PPP) และการลงทุนของเอกชน ซึ่งจะครอบคลุมที่ทำการใหม่ของรัฐบาลและที่อยู่อาศัยของข้าราชการ 1.5 ล้านคน

หากสภาให้ความเห็นชอบต่อแผนการย้ายเมืองหลวง การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่จะเริ่มในปีหน้าบนเนื้อที่ 40,000 เฮกตาร์ ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะย้ายได้ในปี 2024

สำหรับสาเหตุที่ต้องย้ายเมืองหลวง ประธานาธิบดีวิโดโด กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมแลละการลดภาระบางด้านของจาการ์ต้า และเกาะชวาลง เพราะเกาะชวามีประชากรอาศัยอยู่มากถึง 60% ของประชากรทั้งประเทศ และยังเป็นแหล่งสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศในสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่กาลิมันตันมีพื้นที่ใหญ่กว่าถึง 4 เท่าแต่มีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจไม่ถึง 1 ใน 10 ของจีดีพี อีกทังกาลิมันตันยังมีที่ตั้งซึ่งจัดว่าเป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะกว่า 17,000 เกาะ

ประธานาธิบดีวิโดโด กล่าวว่า ที่ตั้งแห่งใหม่ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะอยู่ในศูนย์กลางของอินโดนีเซียและใกล้กับพื้นที่เมือง จาการ์ต้าไม่สามารถแบกรับภาระการเป็นศูนย์กลางรัฐบาล ธุรกิจ การเงิน การค้าและบริการได้มากไปกว่านี้

นอกจากนี้จาการ์ต้ายังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางอากาศสูง คุณภาพอากาศแย่ลง อีกทั้งจาการ์ต้ากำลังจะจม โดยเฉพาะในทางตอนเหนือ ทรุดตัวปีละ 25 เซนติเมตร แลไม่มีระบบน้ำประปาที่เพียงพอที่จะใช้ดื่ม ประชาขนต้องใช้น้ำบ่อ น้ำบาดาลทำให้ดินทรุดตัว และปัญหานี้ยังถูกซ้ำเติมจากการพัฒนาอพาร์ตเม้นท์ ศูนย์การค้าและที่ทำการของหน่วยงานรัฐ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยน้ำท่วม

กาลิมันตันเป็นพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินและป่าไม้ และเป็นถิ่นที่อยู่ของลิงอุรังกุตัง แต่รับบาลกล่ววว่าเมืองหลวงใหม่จะสร้างในเขตเมือง ตอนกลางของปาลิปาปัน และซามารินดา รวมทั้งให้คำมั่นว่าจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายป่ายสงวนแต่จะฟื้นฟูผืนป่า

ฟิลิปปินส์รายแรกอาเซียนออกกรีนบอนด์สกุลสวิสฟรังก์

ธนาคารแห่งเกาะฟิลิปปินส์(Bank of the Philippine Island:BPI ) ธนาคารเก่าแก่แห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์นับว่าเป็นธนาคารรายแรกของอาเซียนที่ออกตราสารหนี้สีเขียวหรือ Green bonds ในสกุลเงินสวิสฟรังก์ เพื่อระดมทุนมูลค่า 100 ล้านสวิสฟรังก์ หรือเทียบเท่ากับ 5 พันล้านเปโซ อายุ 2 ปี ปลอดดอกเบี้ย(zero annual coupon)

BPI เป็นธนาคารแรกที่ออกกรีนบอนด์ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสกุลเงินสวิสฟรังก์ ในตลาดระหว่างประเทศและเป็นกรีนบอนด์แรกที่มีผลตอบแทนติดลบที่ออกโดยฟิลิปปินส์ในตลาดทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจับกลุ่มนักลงทุนสวิตเซอร์แลนด์ที่ผลตอบแทนติดลบ

กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุน 14.48 พันล้านดอลลาร์ใน 3 ปี

ที่มาภาพ: https://www.cambodiadaily.com/news/cambodia-needs-14-48-bln-usd-for-next-3-year-public-investment-program-152705/

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกัมพูชาประจำสัปดาห์ซึ่งมีสมเด็จมหาอัครเสนาบดีเดโชฮุนเซน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโครงการลงทุนจำนวน 608 โครงการในช่วงปี 2020-2022 มูลค่าลงทุนรวม 14.48 พันล้านดอลลาร์ จากการเปิดเผยของโฆษกรัฐบาล พาย สีพัน ผ่านเฟวบุ๊ค

ปัจจุบันรัฐบาลได้ลงทุนไปแล้ว 529.8 พันล้านดอลลาร์ในโครงการลงทุน ขณะที่พันธมิตรในการพัฒนาได้ใส่เงิน 8.06 พันล้านดอลลาร์ แต่กัมพูชายังต้องการเงินอีก 5.89 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการลงทุน

โครงการลงทุนมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวในอัตรา 7% ต่อปีและเพื่อลดความยากจนผ่านการลงทุนในภาคการเกษตรและการพัฒนาพื้นที่ชนบท

นอกจากนี้การลงทุนในสัดส่วน 53.8% ของโครงการลงทุนทั้งหมดจะเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ 32.7% เป็นโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 6.5% เป็นโครงการเพื่อสังคม และ 7% เป็นโครงการภาคบริการ