ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup : สิงคโปร์เตรียมทำ Travel Bubbles กับประเทศคุมโควิด-19 ได้

ASEAN Roundup : สิงคโปร์เตรียมทำ Travel Bubbles กับประเทศคุมโควิด-19 ได้

31 พฤษภาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24-30 พฤษภาคม 2563

  • สิงคโปร์เตรียมทำTravel Bubbles กับประเทศคุมโควิด-19 ได้
  • เวียดนามกลับมาเปิด e-Visa อีกครั้ง 1 ก.ค. นี้
  • เวียดนามทุ่ม 4.27 พันล้านดอลล์สร้างทางด่วนเหนือ-ใต้
  • เวียดนามดึง FDI รอบ 5 เดือน 13.9 พันล้านดอลลาร์
  • เมียนมาดึงเงินลงทุนต่างชาติเข้าธุรกิจพลังงานไฟฟ้า
  • อินโดนีเซียคลายล็อกดาวน์ระยะแรก 1 มิ.ย.
  • กัมพูชาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุด 4
  • สิงคโปร์เตรียมทำ Travel Bubbles หลายประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.deccanherald.com/international/singapore-to-set-travel-bubbles-with-countries-where-covid-19-is-under-control-cases-reach-33860-843214.html

    สิงคโปร์กำลังเจรจากับหลายประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว เพื่อผ่อนคลายการเดินทางระหว่างกันในลักษณะ travel bubbles แต่ในช่วงแรกจะอนุญาตให้กับการเดินทางที่จำเป็นเท่านั้น และยังไม่อนุญาตให้กับการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน

    นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีเพื่อการพัฒนาแห่งชาติเปิดเผยว่า การเตรียมการเพื่อยกเลิกข้อห้ามการเดินทางที่จำเป็นมีความคืบหน้า โดยจะกำหนด ช่องทางสีเขียว หรือ green lane กับประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว แต่ยังไม่อนุญาตให้มีการเดินทางแบบคนหมู่มาก และย้ำว่า การเดินทางของคนจำนวนมากจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะอนุญาตให้กลับมาเดินทางในลักษณะนั้นได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสิงคโปร์เท่านั้น ประเทศอื่นก็ยังไม่อนุญาต

    นายลอว์เรนซ์ซึ่งเป็นประธานร่วมของคณะทำงานป้องกันและควบคุมโควิด-19 กล่าวว่า ข้อปฏิบัติของการเดินทางที่จำเป็นจะครอบคลุมถึงการทดสอบผู้ที่เดินทางเข้าและออกจากสิงคโปร์

    นายลอว์เรนซ์กล่าวว่า การหารือกับประเทศอื่นๆ เพื่อกำหนดแนวทางการเดินทางแบบ “travel bubbles” อยู่ในขั้นตอนที่แตกต่างกันตามแต่ละประเทศ บางประเทศมีความคืบหน้าไปมาก ขณะที่บางประเทศอื่นๆ เพิ่งเริ่มการเจรจา ทั้งนี้จะมีการประกาศรายละเอียดหากสามารถตกลงกันได้

    Travel bubbles เป็นการอนุญาตเดินทางบนแนวคิดที่ว่า ประเทศใดที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้วถือว่าประเทศนั้นมีความปลอดภัย จะสามารถเดินทางไปประเทศอื่นที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เช่นกัน เปรียบเสมือนประชากรมีฟองอากาศปกป้อง ซึ่งสองประเทศอาจจะจับคู่อนุญาต travel bubbles ระหว่างกัน หรือมีหลายประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้วมาทำข้อตกลงเป็นกลุ่ม

    นายลอว์เรนซ์กล่าวว่า “ด้วยข้อกำหนดที่บังคับให้มีการทดสอบอยู่แล้วนี้ ทำให้เรามั่นใจได้ว่า ผู้ที่เดินทางจะปลอดภัยจากการติดเชื้อ และก็จะเปิดให้มีการเดินทางที่สำคัญและจำเป็นได้ ดำเนินการไปทีละขั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่เราได้ทำข้อตกลงช่องทางสีเขียวหรือ travel bubbles ด้วย”

    ผู้ที่จะเดินทางเข้าสิงคโปร์จะต้องผ่านการทดสอบดีเอ็นเอด้วยเทคนิคปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (polymerase chain reaction) ก่อนออกเดินทาง หรือหากว่ามีการติดเชื้อมาก่อนจะต้องผ่านการตรวจสอบเลือด (serology test) สำหรับผู้ที่บินเข้าสิงคโปร์อาจจะต้องเข้ารับการทดสอบอีกครั้ง เพราะแต่ละคนอาจจะไม่แสดงการติดเชื้อ โดยเฉพาะหากอยู่ในระยะฟักตัว

    ด้านผู้ที่เดินทางออกจากสิงคโปร์ จะต้องใช้แอปพลิเคชัน หรือต้องพกพาหรือสวมใส่อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ เพื่อให้สามารถติดตามตัวได้หากจำเป็น

    มาตรการนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าชาวสิงคโปร์ยังสามารถทำงานได้ ไม่เฉพาะในประเทศ แต่เป็นประเทศอื่นที่จำเป็นต้องเดินทางไปเพื่อธุรกิจ นายลอว์เรนซ์กล่าวและว่า ขณะนี้สิงคโปร์กำลังเจรจากับมาเลเซีย ซึ่งสำหรับมาเลเซียแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับการเดินทางเพื่อธุรกิจ แต่ยังมีแรงงานที่เดินทางข้ามแดนไปมาทำงานระหว่างกัน

    “เราต้องหาทางที่ดีที่สุดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานที่ต้องการเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศ และต้องมีความปลอดภัย ซึ่งก็ต้องมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่จำเป็น ว่าจะควรจะเป็นการทดสอบ หรือต้องกักกันตัวเมื่อเดินทางเข้าและออก” นายลอว์เรนซ์กล่าว

    อย่างไรก็ตาม แม้ข้อห้ามการเดินทางระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์มีการยกเลิกไป แต่สถานการณ์จะยังไม่กลับมาปกติเหมือนก่อน ที่มีคนจำนวนมากเดินทางผ่านแดน ซึ่งก็เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการให้มีการเดินทางอย่างไม่ปลอดภัย หรือไม่มีการเตรียมการรักษาความปลอดภัย

    ขณะนี้สิงคโปร์อนุญาตให้ชาวสิงคโปร์ที่อยู่ต่างประเทศแต่ครอบครัวยังอยู่ที่สิงคโปร์ เดินทางกลับเข้าประเทศได้ แต่ต้องกักกันตัว 14 วัน ตามสถานที่ที่กำหนดไว้

    ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงของสิงคโปร์ และนายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น แห่งนิวซีแลนด์ ได้มีการหารือร่วมกันเพื่อเปิดพรมแดนระหว่างกันอีกครั้ง โดยได้มีทำข้อตกลงช่องทางสีขียว ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมโยงกลับคืนมา ผ่านการเปิดให้เดินทางที่จำเป็นในช่วงสั้นและการเดินทางอย่างเป็นทางการ

    เวียดนามกลับมาเปิด e-Visa อีกครั้ง 1 ก.ค. นี้

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/travel/places/vietnam-attracts-record-tourist-numbers-in-2017-but-can-t-escape-bad-reputation-3692288.html

    เวียดนามจะกลับมาเปิดใช้การยื่นวีซ่าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) อีกครั้งแก่พลเมืองของ 80 ประเทศ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้ ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้

    สนามบินนานาชาติ 8 แห่งที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าออกเวียดนามด้วยการใช้ e-Visa ได้แก่ สนามบินโหน่ย บ่าย ที่ฮานอย สนามบินนอย สนามยินก๊าตบีที่ไฮฟอง สนามบินดานัง สนามบินฟู้บ่าย ที่จังหวัดเถื่อเทียน-เว้ สนามบินกามซัญ ที่จังหวัดคั้นห์หว่า สนามบินเตินเซินเญิ้ต ที่โฮจิมินห์ซิตี สนามบินเกิ่นเทอ และสนามบินฟู้โกว๊ก ที่จังหวัดเกียนซาง

    ชาวต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศผ่านทางทะเลและทางบกตรวด่านตรวจ 29 แห่งด้วย e-Visa

    เวียดนามได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยื่นขอ e-Visa ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2017 ช่วงแรกเปิดให้ 40 ประเทศเท่านั้นต่อมาเพิ่มเป็น 46 ประเทศและเป็น 80 ประเทศในปีที่แล้ว

    นายเหงียน ดั๊ก จี ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวให้ความเห็นว่า การใช้ e-Visa เป็นก้าวแรกที่แสดงให้เห็นว่าเวียดนามวางแผนที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่การดำเนินนโยบายจะให้ผลดีเต็มที่ต้องมีเที่ยวบินกลับมาทำการบินด้วย และต้องชัดเจนว่า e-Visa นั้นออกให้กลุ่มไหน นักการฑูต นักลงทุน หรือนักท่องเที่ยว

    เวียดนามระงับการออกวีซ่าให้กับชาวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 และห้ามชาวต่างชาติจากทุกประเทศเดินทางเข้าในวันที่ 22 มีนาคม เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ยกเว้นผู้ที่ถือพาสปอร์ตทางการฑูต หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่ดำเนินโครงการเศรษฐกิจพิเศษ

    เวียดนามทุ่ม 4.27 พันล้านดอลล์สร้างทางด่วนเหนือ-ใต้

    ที่มาภาพ: https://www.worldhighways.com/wh10/news/new-road-and-bridge-projects-vietnam

    เวียดนามกำลังดำเนิน โครงการสร้างถนนและสะพาน และใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว พร้อมวางแผนลงทุนผ่านโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชน Public-Private Partnership หรือ PPP

    โดยจะมีการคัดเลือกนักลงทุนสำหรับโครงการสร้างสะพานทูเทียมแห่งที่ 4 ในโฮจิมินห์ซิตีเร็วๆ นี้ โครงการสร้างสะพานนี้จะดำเนินการภายใต้ PPP โดยสำนักงานวางแผนและพัฒนาของโฮจิมินห์ซิตีรับผิดชอบสะพานแห่งที่ 4 นี้มีความยาว 2.2 กิโลเมตร มีช่องเดินรถไปและกลับด้านละ 3 ช่องทาง พร้อมมีช่องคนเดินเท้าและรถจักรยาน มีมูลค่าโครงการ 223 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเชื่อมเขต 2 กับเขต 7 ในโฮจิมินห์ซิตี ทั้งนี้ ทูเทียมเป็นเขตเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไซ่ง่อน

    กระทรวงคมนาคมของเวียดนามยังวางแผนที่จะสร้างทางด่วนเหนือ-ใต้อีกไม่ต่ำกว่า 8 เส้น ได้แก่ จากฟานเที้ยต เมืองหลักของจังหวัดบิ่ญถ่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครโฮจิมินห์ไปยังเมืองโด่ว-ซยาย, จากเมืองวินห์ไปฟานเที้ยต, จากเมืองกามหลำไปยังเมืองวินห์, จากเมืองญาจางไปกามหลำ, เมืองเดี่ยนโจ๋ว ไปบ๊ายโวต จากหงี่ เซิน ไปเดี่ยนโจ๋ว เส้นทางหลวง 45 ไปหงี่ เซิน และมัยเซินเชื่อมเส้นทางหลวง 45

    การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในปี 2563 และจะแล้วเสร็จในปี 2565 มูลค่าก่อสร้างทางด่วนเหนือ-ใต้ทั้งหมดรวม 4.27 พันล้านดอลลาร์

    เวียดนามดึง FDI รอบ 5 เดือน 13.9 พันล้านดอลลาร์

    การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (foreign direct investment: fdi) ในเวียดนามตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 มีมูลค่ารวม 13.9 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

    สำนักงานสถิติเปิดเผย ว่า มีโครงการใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 1,212 โครงการในช่วงมกราคม-พฤษภาคม ลดลง 11.1% รวมทุนจดทะเบียน 7.4 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 15.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน

    โครงการที่ได้รับอนุญาตในปีก่อนจำนวน 436 โครงการได้เพิ่มเงินทุนขึ้นอีก 3.5 พันล้านดอลลาร์กหรือ 31.4%

    การเบิกเงินลงทุน FDI ในรอบ 5 เดือนแรกมีจำนวน 6.7 พันล้านดอลลาร์ลดลง 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจำนวน 4.9 พันล้านดอลลาร์เป็นการเบิกใช้เงินของอุตสาหกรรมแปรรูปและการผลิต คิดเป็น 73.6% ของเงินที่เบิกใช้ทั้งหมด

    นอกจากนี้ ในรอบ 5 เดือนแรกโครงการที่ได้รับอนุญาตลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจ การผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ก๊าซ น้ำร้อน ไอน้ำ และเครื่องปรับอากาศ รวมมูลค่าลงทุน 4 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 53.8% ของทุนจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด ตามมาด้วยธุรกิจแปรรูปและการผลิตรวมมูลค่าลงทุน 2.8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 37% ที่เหลือ 685.3 ล้านดอลลาร์เป็นอุตสาหกรรมอื่น

    ประเทศและเขตปกครองที่เข้ามาลงทุนโดยตรงมากที่สุดเมื่อวัดจากโครงการลงทุนใหม่ ได้แก่ นักลงทุนจากสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าลงทุน 4.3 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 58% ของเงินลงทุนรวม รองลงมาคือไต้หวัน ด้วยมูลค่าลงทุน 743 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 10% อันดับสามคือจีนแผ่นดินใหญ่ จำนวน 694 ล้านดอลลาร์ หรือ 9.3% ฮ่องกง 500 ล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้ 441 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 221 ล้านดอลลาร์

    สำหรับการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนเวียดนามในรอบ 5 เดือนแรกมีจำนวน 60 โครงการใหม่ รวมมูลค่าลงทุน 161.9 ล้านดอลลาร์ และได้ลงทุนเพิ่มในโครงการเดิมอีก 18.8 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจแปรรูปและการผลิต และได้ลงทุนใน 21 ประเทศและเขตปกครอง โดยลงทุนในเยอรมนีสูงสุด 92.6 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยสหรัฐฯ 21.7 ล้านดอลลาร์ เมียนมา 21.2 ล้านดอลลาร์และสิงคโปร์ 18.9 ล้านดอลลาร์

    ในรอบ 5 เดือนแรกนักลงทุนต่างชาติ 3,528 รายได้เข้าซื้อหุ้นรวมมูลค่าลงทุน 3 พันล้านดอลลาร์ลดลง 60.9%

    เมียนมาดึงเงินลงทุนต่างชาติเข้าธุรกิจพลังงานไฟฟ้า

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/news/regional/2020/05/25/power-sector-tops-myanmar039s-foreign-investment-in-seven-months-of-fy-2019-20
    ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเมียนมาเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงสุดด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์จากผู้ประกอบการต่างชาติที่ได้รับอนุญาต 6 รายในรอบ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562-2563

    สำหรับธุรกิจที่ดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในมูลค่าสูงอันดับสอง คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยมูลค่าลงทุน 895 ล้านดอลลาร์ อันดับสาม คือ ธุรกิจการผลิต มีมูลค่าลงทุน 544 ล้านดอลลาร์

    นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2532 จนถึงวันที่ 30 เมษายนของปีงบประมาณ 2562-2563 การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามีมูลค่ารวม 22.2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 26.07% ของเงินลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้าประเทศทั้งหมด

    สำนักงานส่งเสริมการลงทุนและธุรกิจ (Directorate of Investment and Company Administration: DICA) เปิดเผยว่า ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 ของปีงบประมาณปัจจุบันซึ่งเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมามีมูลค่า 3.35 พันล้านดอลลาร์

    ในปีงบประมาณ 2018-2019 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวมกว่า 4.15 พันล้านดอลลาร์

    อินโดนีเซียคลายล็อกดาวน์ระยะแรก 1 มิ.ย.

    ที่มาภาพ: https://www.onlinecitizenasia.com/2020/05/27/indonesia-to-enter-the-first-new-normal-phase-on-1-june-to-prevent-further-economic-crash/

    รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเข้าสู่ระยะแรกของวิถีชีวิตใหม่หรือ “new normal” ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ด้วยการอนุญาตให้ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจให้บริการกลับมาดำเนินการได้ ภายใต้แนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันโควิด-19 ที่จัดทำขึ้นใหม่

    ทั้งนี้นับเป็นการผ่อนปรนระยะที่ 1 จากที่แบ่งการผ่อนคลายออกเป็น 5 ระยะของรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนักกว่านี้จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19

    ระยะต่อไป รัฐบาลจะทยอยเปิดโรงเรียนและสถานที่สาธารณะ แต่ต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานสุขอนามัย

    กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแนวปฏิบัติใหม่ตามมาตรฐานสุขอนามัยในวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา มุ่งไปที่การจัดการกับสถานที่ทำงานหลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยกำหนดให้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมอย่างเข้มงวดในสถานที่ทำงานจากฝ่ายบริหารและพนักงาน เช่น การรายงานต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหากพบผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ รวมทั้งรักษาระยะห่างทางกายภาพ อย่างน้อย 1 เมตร เลี่ยงการให้พนักงานอายุเกิน 50 ปีทำงานรอบดึก และให้คนที่เข้าสถานที่ทำงานเท่าที่จำเป็นและยังคงให้ทำงานจากบ้าน

    รัฐบาลจะอนุญาตให้เปิดศูนย์การค้าในวันที่ 8 มิถุนายน โดยจะระดมกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยคน เพื่อดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยที่วางไว้ โดยในระยะแรกจะผ่อนปรนเฉพาะที่ 4 จังหวัด คือ จาการ์ตา ชวาตะวันตก สุมาตราตะวันตก โกรอนตาลู และอีก 25 เมืองและเขต ซึ่งประชาชนสามารถเดินทางไปห้างสรรพสินค้า ไปตลาด สถานที่ท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่จะคอยดูแลให้รักษาระเบียบวินัย

    การผ่อนปรนล็อกดาวน์จะดำเนินการอย่างเต็มที่ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคืนภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคม และมีการประเมินเป็นระยะจนกว่าจะมีวัคซีน

    กัมพูชาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุด 4

    ผู้ประกอบการรายย่อยในตลาด Central Market พนมเปญ
    รัฐบาลกัมพูชาประกาศเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 4 เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาด

    มาตรการนี้มีเป้าหมายที่จะช่วยภาคธุรกิจ โรงงาน และผู้ประกอบการเดินหน้าต่อไปได้ และขณะเดียวกันก็เพื่อลดภาระประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการช่วยเหลือสังคม

    “มาตรการชุดที่ 4 นี้เน้นช่วยการฟื้นฟูและกระตุ้นธุรกิจให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ และทำให้ธุรกิจช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด” แถลงการณ์รัฐบาลระบุ

    รัฐบาลจะผ่อนคลายการใช้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ในและต่างประเทศ โดยสินเชื่อใหม่นั้นอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับธนาคารและไมโครไฟแนนซ์จะลดลงเหลือ 5% ทั้งจากแหล่งเงินภายในและนอกประเทศ (กรณีกู้ยืมจากประเทศที่มีสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ กับการกู้ยืมจากประเทศที่ไม่มีสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน) ในปี 2563

    รัฐบาลจะลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับธนาคารและไมโครไฟแนนซ์จากแหล่งเงินได้ในและต่างประเทศเหลือ 10% (ทั้งเงินกู้จากประเทศที่มีสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและประเทศที่ไม่มีสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน) ในปี 2564 และปรับขึ้นไปที่อัตราปกติในปี 2565

    สำหรับแหล่งเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังจะตั้งกองทุนค้ำประกันสินเชื่อมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ โดยกองทุนจะค้ำประกันเงินกู้ได้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อลดภาระด้านสภาพคล่องกระแสเงินสดและเงินทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม

    กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังจะจัดสรรเงินอีก 300 ล้านดอลลาร์เพื่อเร่งสร้างการเติบโตในภาคธุรกิจหลักในช่วงวิกฤติ รวมทั้งขยายวงเงินการช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานและแรงงานที่เดินทางกลับประเทศเป็น 100 ล้านดอลลาร์ ผ่านโครงการพื้นฐานขนาดเล็กและโครงการก่อสร้างเพื่อส่งเสริมการเกษตรและความยั่งยืนของเศรษฐกิจ

    รัฐบาลมีแผนจัดทำโครงการช่วยเหลือสังคม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการแจกเงินแก่ครอบครัวยากจน ภายใต้โครงการ เงินเพื่องาน “Cash for Work” และการฝึกอาชีพระยะสั้น