ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียขยายมาตรการจำกัดการสัญจรแบบมีเงื่อนไขถึง 6 ธ.ค. – คาดเศรษฐกิจปี’64 โต 7.5%

ASEAN Roundup มาเลเซียขยายมาตรการจำกัดการสัญจรแบบมีเงื่อนไขถึง 6 ธ.ค. – คาดเศรษฐกิจปี’64 โต 7.5%

8 พฤศจิกายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-6 พฤศจิกายน 2563

  • มาเลเซียขยายใช้มาตรการ CMCO หลายรัฐถึง 6 ธ.ค.
  • มาเลเซียคาดเศรษฐกิจปีหน้าโต 7.5%
  • ประธานาธิบดีวิโดโด ลงนามกฎหมายสร้างงานฉบับใหม่อินโดนีเซีย
  • เมียนมาทบทวนนโยบายส่งเสริมลงทุนรอบสอง
  • กัมพูชาเตรียมเก็บภาษีโฆษณาดิจิทัลบริษัทต่างชาติ
  • มาเลเซียขยายใช้มาตรการ CMCO หลายรัฐถึง 6 ธ.ค.

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/asia/malaysia-budget-2021-economy-grow-7-5-per-cent-expansionary-13478340

    มาเลเซียขยายการใช้มาตรการ CMCO (conditional movement control order: CMCO) หรือมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวสัญจรอย่างมีเงื่อนไขหลายรัฐจากวันที่ 9 พฤศจิกายนถึง วันที่ 6 ธันวาคม โดยใช้กับทุกรัฐมาเลเซียตะวันตกหรือ Peninsular Malaysia (ฝั่งแผ่นดินใหญ่ที่ติดกับไทยหรือคาบสมุทรมาเลเซีย) ยกเว้น รัฐกลันตัน ปะลิส และปาหัง รัฐมนตรีอาวุโสว่าการกระทรวงกลาโหม อิสมาลอิล ซาบรี ยาคอบ ประกาศ

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า หมายถึงว่า มาตรการ MCO ที่ปัจจุบันใช้บังคับ ในสลังงอร์ กัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และซาบาห์ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ขยายออกไปเช่นกัน

    ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี กล่าวว่า ที่ประชุมพิเศษของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ได้ตัดสินใจที่จะใช้มาตรการ CMCO เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายรัฐ

    “กระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้ที่มีผลตรวจเชื้อไวรัสเป็นบวกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับอัตราการติดเชื้อในเคดาห์ ปีนัง เปรัค เนกรีเซมบิลัน มะละกา ยะโฮร์ และตรังกานู ดังนั้นตามคำแนะนำของกระทรวง ที่ประชุมพิเศษ NSC ตัดสินใจที่จะใช้มาตรการ MCO แบบมีเงื่อนไขในรัฐที่เจอปัญหา”

    การใช้มาตรการ MCO แบบมีเงื่อนไขจะช่วยให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขทำการทดสอบกลุ่มเป้าหมายและจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน

    CMCO ไม่ใช่การล็อกดาวน์ แต่จำกัดการเคลื่อนไหวสัญจรอย่างมีเงื่อนไข และจะมี SOP (standard operating procedures) ให้ปฏิบัติตาม

    หนึ่งใน SPO ตามมาตรฐาน MCO แบบมีเงื่อนไข ได้แก่ ห้ามการเดินทางระหว่างเขตหรือระหว่างรัฐ ยกเว้นกรณีฉุกเฉินและได้รับอนุญาตจากตำรวจ

    “คนงานที่ต้องการเดินทางระหว่างเขตต้องแสดงบัตรผ่านงานและจดหมายจากบริษัท สถาบันการศึกษาทุกแห่งในรัฐที่กำหนดต้องปิดให้บริการ ขณะที่อนุญาตให้เพียงสองคนจากแต่ละครัวเรือนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปซื้อของจำเป็น โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม SOPs ได้ที่เว็บไซต์ NSC”

    ขณะเดียวกัน รัฐกลันตัน ปะลิส และปาหัง ยังอยู่ภายใต้การทยอยผ่อนคลาย MCO เนื่องจากมีผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกจำนวนน้อย แต่ยังคงห้ามการเดินทางระหว่างไปมาจากทั้งสามรัฐ ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจ อย่างไรก็ตาม อนุญาตให้เดินทางระหว่างเขตในสามรัฐ

    สำหรับซาราวัค การเดินทางระหว่างรัฐจากคาบสมุทรมาเลเซีย ซาบาห์ และลาบวน ไม่ได้รับอนุญาต ยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจ แต่อนญาตให้เดินทางระหว่างเขตภายในซาราวัค ยกเว้นไปกูชิง

    มาเลเซียคาดเศรษฐกิจปีหน้าโต 7.5%

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เต็งกู ซาฟรูล เต็งกู อับดุล อาซิส ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/asia/malaysia-budget-2021-economy-grow-7-5-per-cent-expansionary-13478340

    เศรษฐกิจมาเลเซียคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 7.5% ในปีหน้า รัฐบาลประกาศขณะที่จัดทำงบประมาณปี 2564 แบบขยายตัว

    เศรษฐกิจของมาเลเซียคาดว่าจะฟื้นตัว โดยขยายตัวระหว่าง 6.5%-7.5% ในปีหน้า รัฐบาลประกาศทำงบประมาณแบบขยายตัวเพื่อการฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

    รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ได้จัดสรรเงิน 322.54 พันล้านริงกิตมาเลเซีย (77.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือ 20.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นงบประมาณรายจ่ายในปี 2021 ตามรายงานแนวโน้มทางการคลังที่เผยแพร่โดยกระทรวงการคลัง พร้อมกับตารางงบประมาณ

    “ดังนั้น งบประมาณรายจ่ายรวมสำหรับปี 2021 จึงเป็นรายจ่ายที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีวงเงิน 322.5 พันล้านริงกิต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เต็งกู ซาฟรูล เต็งกู อับดุล อาซิส กล่าวในการแถลงต่อรัฐสภา

    จากวงเงินงบประมาณทั้งหมด ได้จัดสรรเงิน 236.5 พันล้านริงกิต เป็นรายจ่ายในการปฏิบัติงานและ 69 พันล้านริงกิตเป็นรายจ่ายในการพัฒนา ขณะที่ 17 พันล้านริงกิตเป็นรายจ่ายสำหรับกองทุนโควิด-19

    งบประมาณรายจ่ายรวมสูงกว่างบปีนี้ประมาณ 2.5% จากที่วางไว้ 3,147 ล้านริงกิตมาเลเซีย ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากงบประมาณเบื้องต้นที่ 297 พันล้านริงกิต นอกจากนี้รัฐบาลยังคาดว่าจะขาดดุลการคลัง 5.4% GDP ซึ่งต่ำกว่า 6% ในปีนี้ ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายนี้เป็นงบประมาณชุดแรกที่จัดทำโดยคณะรัฐบาลของมูห์ยิดดินซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

    ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าสมาชิกรัฐสภาจะขัดขวางการผลักดันงบประมาณและเปลี่ยนเป็นการลงคะแนนแบบไม่ไว้วางใจต่อนายมูห์ยิดดิน แต่เลี่ยงวิกฤติออกไปได้หลังจากที่สมเด็จพระราชาธิบดีเรียกร้องให้ ส.ส. จากทั้งสองฝ่ายการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ อีกทั้งมีการขอความร่วมมือจาก ส.ส. ของฝ่ายค้านในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ

    มาเลเซียก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 4.5% ในปีนี้

    เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาด ได้มีการอัดฉีดเงินผ่านมาตรการการคลังจำนวน 45 พันล้านริงกิตภายใต้กองทุนโควิด-19 ซึ่งเป็นกองทุนชั่วคราวมีอายุดำเนินการกว่า 3 ปีจนถึงปี 2022 โดยจากวงเงินรวม เงินจำนวน 38 พันล้านริงกิต จะถูกเบิกจ่ายในปีนี้ ขณะที่ยอดคงเหลืออีก 17 พันล้านริงกิตคาดว่าจะใช้จ่ายในปีหน้า ในโครงการอุดหนุนค่าจ้าง โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก สินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และความมั่นคงด้านอาหาร

    มาตรการกระตุ้นต่างๆ เพื่อสนับสนุนประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ช่วยให้เศรษฐกิจในปีนี้ชะลอตัวน้อยลง ผลกระทบของมาตรการจะส่งผลต่อเนื่อง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีหน้า

    “จากการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตและการค้าระหว่างประเทศจะดีขึ้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะฟื้นตัวระหว่าง 6.5-7% ในปี 2021

    “การเติบโตจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเศรษฐกิจที่มีการกระจายตัวที่ดี” ทั้งนี้แนวโน้มขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จ และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

    รายรับของรัฐบาลคาดว่าจะมีจำนวน 236.9 พันล้านริงกิตในปีหน้าซึ่งเพิ่มขึ้น 4.2% จากประมาณการที่ปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและทิศทางธุรกิจที่ดีขึ้น

    รายรับที่สูงขึ้นส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ดีขึ้น ขณะที่รายได้ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมคาดว่าจะลดลง 37.8 พันล้านริงกิตในปี 2021

    ในการแถลงถึงการจัดทำงบประมาณ เต็งกู ซาฟรูล กล่าวว่า รัฐบาลจะเสนอให้ขยายเพดานกองทุนโควิด-19 ขึ้นอีก 20,000 ล้านริงกิตเป็น 65 พันล้านริงกิต โดยจุดประสงค์หลัก คือ การจัดสรรเงินช่วยเหลือ ตอบสนองความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในแนวหน้าและการจัดหาวัคซีน

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังกล่าวว่า จะมีการจัดสรรเงินจำนวน 1 พันล้านริงกิตในปีหน้าเพื่อเตรียมรับกับการระบาดระลอกสาม โดยจะใช้เป็นเงินทุนในการซื้อชุดทดสอบ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ตลอดจนน้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และอื่น ๆ

    รัฐบาลยังคาดว่า การซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะมีมูลค่าเกิน 3 พันล้านริงกิต “สงครามยังไม่จบจนกว่าจะมีวัคซีนราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านการเข้าร่วมโครงการ COVID-19 Vaccine Global Access หรือ COVAX” เต็งกู ซาฟรูล กล่าวและว่า จะมีการแจกเงินสดวงเงินรวม 6.5 พันล้านริงกิต เพื่อช่วยเหลือประชาชนจำนวน 8.1 ล้านคน

    ด้านการพักชำระหนี้เงินกู้ซึ่งได้ขยายเวลาไปก่อนหน้านี้สำหรับกลุ่มเป้าหมาย เต็งกู ซาฟรูล กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มล่าง 40% (40%แรกของกลุ่มครัวเรือระดับล่างสุด) ซึ่งเป็นผู้เข้าโครงการช่วยเหลือและผู้ประกอบการรายย่อยจะมีทางเลือกในการเลื่อนการชำระเงินกู้เป็นเวลา 3 เดือนหรือลดค่างวดรายเดือนลงสูงสุด 50% เป็นเวลา 6 เดือน กลุ่ม 40% ที่อยู่ตรงกลางที่รายได้ลดลงจะมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือในการชำระคืนเงินกู้

    เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลยังได้ลดภาษีเงินได้ลง 1% สำหรับผู้ที่มีรายได้ 50,001-70,000 ริงกิตและยังจัดสรรเงินจำนวน 2.7 พันล้านริงกิต เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท

    รัฐบาลคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่ภาวะปกติ 2.5% ในปีหน้า หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคหดตัว 1% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2020 ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าได้ปรับลดลง ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

    แม้มาเลเซียจะพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์และปิโตรเลียมมากในการสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่มาเลเซียเป็นเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย รวมทั้งยังมีภาคบริการและการผลิตที่แข็งแกร่ง โดยภาคบริการซึ่งมีสัดส่วน 58.1% ของ GDP คาดว่าจะหดตัว 3.7% ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น 7% ในปี 2021 และรัฐบาลยังคาดว่าภาคการผลิตการเกษตรและภาคเหมืองแร่จะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า

    ภาคการผลิตคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น 7% ในปี 2021 ส่วนผลิตภัณฑ์เคมีและผลิตภัณฑ์ยางคาดว่าจะเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์โดยได้รับประโยชน์จากความต้องการถุงมือยางและเวชภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

    ภาคการเกษตรซึ่งหดตัว 3.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น 4.7% ในปีหน้าโดยได้รับปัจจัยหนุนหลักจากการผลิตน้ำมันปาล์มและยางพาราที่เพิ่มขึ้น ส่วนภาคการก่อสร้างคาดว่าจะขยายตัว 13.9% ในปีหน้าหลังจากที่หดตัว 18.7% ในปีนี้ เนื่องจากการเร่งและการฟื้นตัวของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญพร้อมกับโครงการที่อยู่อาศัยราคาประหยัด และการส่งออกเบื้องต้นคาดว่าจะขยายตัว 2.7% ในปี 2021 หลังจากที่คาดว่าจะลดลง 5.2% ในปีนี้

    “หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2020 จากการระบาดของโควิด-19 คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะฟื้นตัวอย่างมั่นคงในปี 2021 จากการฟื้นตัวของโลกที่คาดว่าจะสอดคล้องกันมากขึ้น

    “ขณะเดียวกันอุปสงค์ในประเทศคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาวะตลาดแรงงานที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและภาวะทางการเงินที่เอื้ออำนวย ตลอดจนการฟื้นตัวของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทุกภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจคาดว่าจะฟื้นตัว โดยภาคบริการและภาคการผลิตยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

    ประธานาธิบดีวิโดโดลงนามกฎหมายสร้างงานฉบับใหม่อินโดนีเซีย

    ที่มาภาพ: https://en.tempo.co/read/1335248/jokowi-agrees-to-delay-talks-on-employment-in-job-creation-bill

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้ลงนามในกฎหมายการสร้างงานที่กำลังสร้างความขัดแย้ง หลังจากได้รับการอนุมัติจากสภามาแล้วเกือบหนึ่งเดือน การลงนามของประธานาธิบดีส่งผลให้กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว

    กฎหมายการสร้างงาน หรือที่เรียกว่า Omnibus Bill ได้รับการอนุมัติครั้งแรกโดยสภาผู้แทนราษฎรและหลังจากที่มีการจัดทำร่างกฎหมายหลายฉบับ กฎหมายฉบับสุดท้ายมีความยาว 1,187 หน้า

    การสร้างงานภายใต้กฎหมายหมายเลข 11 ปี 2020 นี้แบ่งออกเป็น 15 บทและมี 186 มาตรา ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการแห่งรัฐของอินโดนีเซียได้อัปโหลดกฎหมาย Omnibus ไว้บนเว็บไซต์ State Secretariat Legal Information and Documentation Network (JDIH) เมื่อคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน

    เว็บไซต์ระบุว่า “ประธานาธิดีได้ตัดสินใจให้กฎหมายมีผลบังคับใช้”

    ภายใต้นโยบายนี้ประธานาธิบดีโจโกวีพิจารณาว่า รัฐต้องดำเนินการหลายอย่าง เพื่อรักษาสิทธิของพลเมืองในการทำงาน และมีความเป็นอยู่ที่ดีผ่านกฎหมายใหม่

    กฎหมาย Omnibus Law หรือประมวลกฎหมายฉบับนี้ คาดว่าจะสามารถรองรับแรงงานชาวอินโดนีเซียได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและความต้องการของกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ

    กฎหมายการสร้างงานได้รับการต่อต้านอย่างกว้างขวางจากชุมชน เช่น คนงาน นักศึกษา แนวร่วมภาคประชาสังคม และองค์กรมวลชน จำนวนมาก นอกเหนือจากการเดินขบวนประท้วง ประชาชนหรือกลุ่มที่คัดค้านกฎหมายใหม่ ยังมีแผนจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกด้วย

    เมียนมาทบทวนนโยบายส่งเสริมลงทุนรอบสอง

    เขตเศรษฐกิจพิเศษทิละวา ที่มาภาพ:
    https://www.gnlm.com.mm/singapore-tops-source-of-fdis-in-myanmar-in-2020-2021fy/

    กระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Ministry of Investment and Foreign Economic Relations: MIFER) ได้เริ่มทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุนเป็นครั้งที่สอง เพื่อปรับปรุงและสร้างสภาพแวดล้อมให้จูงใจนักลงทุนมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

    การทบทวนนโยบายได้รับความช่วยเหลือจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยเน้นที่ความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน การวางกรอบการลงทุนเพื่อการพัฒนาสีเขียว ปรับปรุงสิทธิการใช้ที่ดิน และตอกย้ำบทบาทของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    การทบทวนนโยบายลงทุนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 6 ปี จะมีการเปิดเผยผลการทบทวนภายเดือนนี้ แม้มีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัดจากการลงทุนที่ได้มีการทบทวนครั้งแรกในปี 2014 การปฏิรูปยังมีความจำเป็นเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน

    การทบทวนครั้งนี้จะนำสิ่งที่ประสบความสำเร็จและประเมินความท้าทายอุปสรรคที่ยังมีอยู่ ในการดึงการลงทุนใหม่ โดยมุ่งไปที่การสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจอย่างรับผิดชอบและประโยชน์ที่สังคมได้รับ และเน้นหนักตรงที่ให้การลงทุนจากต่างประเทศช่วยให้เมียนมาบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น

    MIFER จะพยายามพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตอุตสาหกรรมใหม่เพิ่ม ในพื้นที่ยุทธศาสตร์และภาคส่วน รวมทั้งร่วมมือกับนักพัฒนาที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ในระดับสากล และตั้งเป้าหมายที่จะปรับปรุงและขยายสิทธิพิเศษจูงใจทางภาษีตามข้อเสนอ ภายใต้กฎหมายการลงทุนของเมียนมาฉบับแก้ไข และแผนปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา อู ตอง ทุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MIFER ระบุ

    ในเดือนที่แล้ว อู ตอง ทุน กล่าวว่า “เราจะดำเนินการตามขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่า นักลงทุนของเราจะได้รับใบอนุญาตจำนวนมากขึ้น และการอนุมัติออนไลน์ผ่านระบบดิจิทัลในขั้นตอนเดียว หรือ single-digital-windows”

    OECD เผยแพร่การทบทวนนโยบายการลงทุนของเมียนมาครั้งแรกในปี 2014 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กฎหมายการลงทุนและกฎหมายบริษัทของเมียนมาถูกตราขึ้นเพื่อสนับสนุนและกำกับดูแลการลงทุนในประเทศ

    การทบทวนนโยบายการลงทุนครั้งแรกครอบคลุม การปฏิรูปภาคการเงิน การส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแนวปฏิบัติของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ

    กัมพูชาเตรียมเก็บภาษีโฆษณาดิจิทัลบริษัทต่างชาติ

    นายเจีย วันเดธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม ที่มาภาพ:
    https://www.khmertimeskh.com/50780534/government-discusses-measures-to-collect-tax-on-digital-ads/

    กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม (MPTC) และกรมสรรพากร (GDT) ระบุว่า จะเก็บภาษีจากโฆษณาดิจิทัลของบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนในกัมพูชา

    การประกาศมีขึ้นหลังการประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนระหว่าง นายเจีย วันเดธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมกับ นายคง วิบูล อธิบดีกรมสรรพากร ทั้งสองหน่วยงานหารือเกี่ยวกับการใช้มาตรการเก็บภาษีบริการดิจิทัลที่ให้บริการโดยบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น เน็ตฟลิกซ์ แอมะซอน อาลีบาบา เฟซบุ๊ก และกูเกิล แม้จะมีรายได้จากผู้ใช้ชาวกัมพูชาและไม่ได้จดทะเบียนในกัมพูชา

    MPTC จะร่วมมือกับ GDT และกระทรวงเศรษฐกิจและการเงินต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าจะออกหลักเกณฑ์การเก็บภาษีได้อย่างรวดเร็ว เพื่อผู้ให้บริการดิจิทัลและผู้ให้บริการโทรคมนาคม ชำระภาระภาษี

    “กัมพูชาและประเทศอื่นๆ ยังคงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน” นายวันเดธกล่าวและย้ำถึง ความสำคัญของการป้องกันโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่สำคัญ (CII) ว่า เป็นวิธีการปกป้องการรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มีอยู่ของ GDT

    นายคง วิบูล กล่าวว่า กรมฯ สนับสนุนแผนของ MPTC ในการสร้างศูนย์กลางข้อมูลขนาดใหญ่ (big data hub) เพื่อบูรณาการและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

    ทั้ง MPTC และ GDT มีแผนที่จะใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน แบ่งปันข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมจากศูนย์บริหารข้อมูล (Data Management Center: DMC) และเพื่อให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการบังคับใช้หลักเกณฑ์การชำระภาษีโดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ (National Internet Gateway: NIG) ที่กำลังจะพัฒนาเสร็จ

    ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันร่างข้อหลักเกณฑ์และพัฒนาความสามารถทางเทคนิคในการเก็บภาษีโฆษณาดิจิทัลและบริการ