ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์เดินหน้าสู่ “New Normal” เปิด Vaccinated Travel Lanes อีก 8 ประเทศ

ASEAN Roundup สิงคโปร์เดินหน้าสู่ “New Normal” เปิด Vaccinated Travel Lanes อีก 8 ประเทศ

10 ตุลาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 3-9 ตุลาคม 2564

  • สิงคโปร์เดินหน้าสู่ “New Normal” เปิด Vaccinated Travel Lanes อีก 8 ประเทศ
  • เวียดนามเล็งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มิ.ย. 2565
  • อินโดนีเซียผ่านร่าง กม. ยกเครื่องภาษีครั้งใหญ่ ขึ้นภาษี VAT ปีหน้า
  • อินโดนีเซียอาจเก็บภาษีส่งออกสินค้าที่มีนิกเกิลต่ำกว่า 70%
  • ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายภาษีบริการดิจิทัล
  • กัมพูชา-สิงคโปร์จับมือเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยไซเบอร์
  • สิงคโปร์เดินหน้าสู่ “New Normal” เปิด Vaccinated Travel Lanes อีก 8 ประเทศ

    ที่มาภาพ: https://hk.asiatatler.com/life/hong-kong-singapore-travel-bubble
    นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ คาดว่าสิงคโปร์จะเข้าสู่ “ความปกติใหม่” หรือ new normal ภายใน 3-6 เดือน

    นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง กล่าวในวันเสาร์ (9 ต.ค. 2564) ว่า สิงคโปร์ยังคงต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันสิงคโปร์อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้วหรือเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

    “บางครั้งเราอาจไม่รู้สึกแบบนั้น แต่เรากำลังก้าวไปสู่ความปกติใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง” นายกรัฐมนตรีลีกล่าวในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และว่าอาจต้องใช้เวลา “อย่างน้อย 3 เดือนและอาจนานถึง 6 เดือน” สำหรับสิงคโปร์ในการก้าวสู่สภาวะ “ปกติใหม่”

    ซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศสามารถผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ มีมาตรการด้านปลอดภัยที่ไม่เข้มงวด และมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ทุกวันทรงตัว “แม้บางวันหลายร้อยราย แต่ไม่เพิ่มขึ้น” นายกรัฐมนตรีลีกล่าว

    ความปกติใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อโรงพยาบาลกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติ และเมื่อประชาชนสามารถกลับมาทำกิจกรรมได้เหมือนยุคก่อนโควิด-19 และมีผู้คนแน่นขนัดอีกครั้งโดยไม่ต้องกังวลหรือรู้สึกแปลกๆ

    นายกรัฐมนตรีลีชี้ว่า บางประเทศได้เข้าสู่สภาวะปกติใหม่แล้ว เช่น ประเทศในยุโรป “แต่พวกเขาได้มาด้วยด้วยบทเรียนราคาแพง มีการเสียชีวิตจำนวนมากกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้”

    แม้การติดเชื้อระลอกนี้ทรงตัว นายกรัฐมนตรีเตือนว่า สิงคโปร์ยังอาจจะเจอกับการระบาดระลอกใหม่ได้ในอนาคต โดยเฉพาะหากมีไวรัสกลายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น

    รัฐบาลอาจต้อง “แตะเบรกอีกครั้ง” หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วเกินไปอีกครั้ง เพื่อปกป้องระบบการรักษาพยาบาลและบุคลากรของระบบ

    “ความสามารถและกระบวนการของเราดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีจำนวนคนที่สัมผัสกับไวรัสและฟื้นตัวมากขึ้น ระดับภูมิคุ้มกันของเราก็จะเพิ่มขึ้น” นายกรัฐมนตรีลีกล่าว

    “โควิด-19 จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่พวกเราน้อยลง ในแต่ละวันที่ผ่านไป พวกเราแข็งแกร่งขึ้นและมีความสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น และเราพร้อมมากขึ้นที่จะอยู่กับไวรัส”

    นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง แถลงผ่านโทรทัศน์ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/leehsienloong

    นายกรัฐมนตรีลีกล่าวอีกว่า สิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ “ด้วยความระมัดระวังและปลอดภัย” โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังและดูแลตัวเอง รวมทั้งมีผู้ป่วยเสียชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตลอดทาง

    “ด้วยความร่วมมือของทุกคน เราจะทิ้งการระบาดใหญ่ไว้เบื้องหลัง หวังว่าในเร็วๆ นี้ เรามีทรัพยากร ความมุ่งมั่น และความกล้าหาญที่จะผ่านวิกฤตินี้ไปได้” นายกรัฐมนตรีลีกล่าว

    “การระบาดใหญ่ได้นำสิ่งที่ดีที่สุดของชาวสิงคโปร์ออกมา เรายังคงสามัคคีและแน่วแน่ แม้จะมีความยากลำบาก ขอให้เรารักษามันไว้ และทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อเดินหน้าสู่การปรับตัวกับโควิด”

    ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ได้ประกาศเปิด vaccinated travel lanes (VTLs) กับอีก 8 ประเทศ ซึ่งเป็นการทยอยเปิดอย่างระมัดระวังนับตั้งแต่การระบาดครั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่แล้ว

    ฝรั่งเศส เดนมาร์ก อิตาลี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สเปน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นประเทศที่สิงคโปร์เพิ่มเข้าในรายชื่อล่าสุดที่จะเปิดใช้ VTL ประเทศกลุ่มนี้ได้เปิดรับนักเดินทางที่ได้ฉีดวัคซีนจากสิงคโปร์มาก่อนหน้านี้แล้ว

    ทั้ง 8 ประเทศยังเป็นคู่ค้าชั้นนำของสิงคโปร์ มีธุรกิจและชุมชนที่แข็งแกร่งในสิงคโปร์

    ในวันที่ 19 ตุลาคมเมื่อ VTL สำหรับ 8 ประเทศในยุโรปและอเมริกามีผลบังคับใช้ ผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนจากสิงคโปร์และประเทศเหล่านี้จะสามารถเดินทางเข้าออกโดยที่ไมต้องกักตัวได้ทั้งสองทาง

    สิงคโปร์ได้ประกาศ VTL ครั้งแรกกับเกาหลีใต้ในวันศุกร์ (8 ต.ค. 2564) แต่จะเริ่มมีผลจริงในวันที่ 15 พฤศจิกายน เนื่องจากเกาหลีใต้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับระบบ ก่อนหน้านี้วันที่ 8 กันยายน 2564 สิงคโปร์ได้ประกาศใช้ VTL กับบรูไนและเยอรมนี

    สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (SIA) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติที่ให้บริการเที่ยวบิน VTL ประกาศว่าได้ขยายเครือข่าย VTL เป็น 14 เมือง โดยคาดว่าจะมีการประกาศเมืองปลายทางเพิ่มในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

    สิงคโปร์แอร์ไลน์จะให้บริการ VTL จากอัมสเตอร์ดัม บาร์เซโลนา โคเปนเฮเกน ลอนดอน ลอสแอนเจลิส มิลาน นิวยอร์ก ปารีส และโรมตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม ขณะที่บริการในลักษณะเดียวกันจากโซลจะเริ่มในวันที่ 16 พฤศจิกายน

    Scoot ซึ่งเป็นสายการบินในเครือของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์จะให้บริการเที่ยวบิน VTL จากเบอร์ลินตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม

    การที่ไม่ต้องกักตัวยังช่วยลดความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เดินทาง เนื่องจากต้องมีการตรวจหาเชื้อแบบ PCR ก่อนออกเดินทางและเมื่อเดินทางมาถึงเท่านั้น ก่อนหน้านี้ กำหนดต้องมีการตรวจในวันที่ 3 และวันที่ 7

    การตรวจ PCR ที่น้อยลงจะมีผลกับนักเดินทางจากบรูไนและเยอรมนีตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม เป็นต้นไป และจะคืนเงินให้กับผู้ที่ชำระเงินล่วงหน้าสำหรับการตรวจในวันที่ 3 และ 7

    เงื่อนไขที่ผู้เดินทางจะต้องอยู่ในประเทศ VTL อย่างน้อยหนึ่งประเทศในช่วง 14 วันก่อนการเดินทางไปสิงคโปร์ยังคงมีผลบังคับใช้ เพื่อความชัดเจน หากผู้เดินทางอยู่ในสิงคโปร์ภายใน 14 วันที่ผ่านมา การพำนักในสิงคโปร์นั้นสามารถนับรวมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านประวัติการเดินทาง 14 วันได้

    ผู้เดินทางเข้าระยะสั้นและผู้ถือบัตรระยะยาวจาก 8 ประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ และเกาหลีใต้จะต้องยื่นขอ vaccinated travel pass (VTP) ล่วงหน้า 7-30 วันก่อนเข้าสิงคโปร์ภายใต้ VTL แต่สำหรับพลเมืองสิงคโปร์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนและผู้อยู่อาศัยถาวร เดินทางเข้าประเทศสิงคโปร์ภายใต้ VTL ไม่จำเป็นต้องขอ VTP

    “เราจะเริ่มต้นด้วยจำนวนผู้โดยสารขาเข้า 2,500 คนต่อวันจาก 9 ประเทศใน VTL ที่เพิ่งประกาศไป” นายเอส อิสวารัน รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมกล่าวในการบรรยายสรุปของคณะทำงานเฉพาะกิจเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2564 “เมื่อรวมกับ VTL สองประเทศในปัจจุบัน หมายความว่าผู้เดินทางถึง 3,000 คนสามารถเข้าสิงคโปร์ทุกวันผ่าน VTL”

    โดยรวมแล้ว กลุ่มประเทศนี้คิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้โดยสารขาเข้ารายปีที่สนามบินชางงีก่อนโควิด-19 ระบาด

    “ประเทศเหล่านี้ติดอันดับ 1 ใน 20 คู่ค้ารายใหญ่ของเรา” นายอิสวารันกล่าวและว่า “พวกเขามีการลงทุนที่สำคัญ มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และชุมชนขนาดใหญ่ในสิงคโปร์”

    สิงคโปร์จะเปิดให้ยื่นขอ VTP ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2564 สำหรับผู้เดินทางจาก 8 ประเทศ ในขณะที่ผู้ที่มาจากเกาหลีใต้สามารถเริ่มขอได้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน

    นอกจากนี้ ผู้เดินทางจะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนที่ออกในประเทศ VTL หรือสิงคโปร์ และยอมรับเฉพาะใบรับรองการฉีดวัคซีนที่สามารถตรวจสอบแบบดิจิทัลได้เท่านั้น

    ผู้เดินทางภายใต้ VTL จะต้องเดินทางเข้าสิงคโปร์ด้วยเที่ยวบิน VTL ที่กำหนด แม้จะเปลี่ยนเครื่องผ่านประเทศ VTL อื่นเพื่อขึ้นเที่ยวบิน VTL ที่กำหนดไปยังสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม จะไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการเดินทางภายใต้ข้อตกลง VTL และไม่มีข้อกำหนดสำหรับแผนการเดินทางหรือผู้สนับสนุนที่มีการกำกับดูแล

    นักท่องเที่ยวระยะสั้นที่ต้องการวีซ่าเพื่อเดินทางไปสิงคโปร์จะต้องขอวีซ่าแยกต่างหาก โดยดำเนินการหลังจากได้รับการอนุมัติ VTP และก่อนออกเดินทางมาสิงคโปร์

    นอกจากนี้ จะต้องซื้อประกันการเดินทางล่วงหน้าก่อนออกเดินทาง ด้วยความคุ้มครองขั้นต่ำ 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และค่ารักษาในโรงพยาบาล รวมถึงใช้แอปพลเคชัน TraceTogether เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด

    สิงคโปร์ได้ออก VTP ให้กับนักเดินทางกว่า 4,500 คนจากบรูไนและเยอรมนีสำหรับการเดินทางเข้าระหว่างวันที่ 8 กันยายน ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 และผู้ถือ VTP จำนวน 1,926 รายได้เข้าสู่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม โดยตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 เพียง 2 รายเท่านั้นที่จุดขาเข้าเมื่อเดือนทางมาถึง และไม่พบผู้ป่วยในการตรวจหาเชื้อในวันที่ 3 และวันที่ 7 หลังจากเดินทางเข้า

    เวียดนามเล็งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มิ.ย. 2565

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/ttnewsstyle/20211008/vietnam-plans-to-fully-reopen-to-intl-travelers-by-june-2022/63477.html
    เวียดนามคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งในเดือนมิถุนายนปีหน้า ตามแผนการเดินทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) ประกาศ

    ภาคการท่องเที่ยวเวียดนามกำลังเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งผ่านกระบวนการที่สอดคล้องกับ ‘ความปกติใหม่’ ของประเทศและรับรองการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ VNATที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เปิดเผยในการประชุมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวครั้งล่าสุด

    เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงในการนำร่องแผนการเปิดเกาะฟูโกว๊กจังหวัดเกียนซาง ทางตอนใต้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

    ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงมีนาคม 2565 จะเริ่มโครงการทดลองนำร่อง โดยให้ฟูโกว๊กเป็นจุดหมายปลายทางแรกที่จะเปิดรับชาวต่างชาติจากประเทศและภูมิภาคต่างๆ ที่รัฐบาลเวียดนามเห็นว่าควบคุมโรคระบาดได้ โดยใช้อัตราการฉีดวัคซีนเป็นเกณฑ์มาตรฐาน

    ประเทศเหล่านี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ประเทศในยุโรป ประเทศในตะวันออกกลาง และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

    นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนฟูโกว๊กจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบถ้วน โดยเข็มที่สองต้องฉีดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 14 วันและไม่เกิน 12 เดือนก่อนการเดินทาง และต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง

    หากโครงการนำร่องได้ผล สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น อ่าวฮาลอง ทางตอนเหนือของจังหวัดกว๋างนิญ เมืองโบราณฮอยอัน ทางตอนกลางของจังหวัดกว๋างนาม และเมืองชายฝั่งญาจางในจังหวัดคั้ญฮหว่าทางตอนใต้ของภาคกลาง อาจเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้อีกครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงมิถุนายน 2565 VNAT คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่สถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมดทั่วประเทศสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีหน้า

    สำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ท้องถิ่นที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดจะได้รับอนุญาตให้รับนักท่องเที่ยวในประเทศได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีนี้ หากได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบถ้วนและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

    กระบวนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทุกระดับ รวมทั้งด้านสุขภาพ การขนส่ง และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวระบุ

    การระบาดใหญ่ทำให้ เวียดนามมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้าเพียง 3.7 ล้านคนและนักท่องเที่ยวในประเทศ 56 ล้านคนในปี 2020 ลดลง 80 เปอร์เซ็นต์ และ 34.1 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับจากปีก่อนหน้าในช่วงเวลาเดียวกัน รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศลดลง 58.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบเป็นรายปี

    รัฐบาลได้ใช้มาตรการจูงใจหลายชุดเพื่อช่วยเหลือบริษัทท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงการขยายกำหนดเวลาชำระภาษีและค่าเช่าที่ดิน การปรับลดราคาไฟฟ้าสำหรับการขายปลีก และการยกเว้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

    เวียดนามปิดพรมแดนตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา โดยอนุญาตให้เฉพาะแรงงานต่างชาติที่มีทักษะ นักลงทุน นักการทูต และผู้เดินทางกลับประเทศเวียดนามเท่านั้น ทั้งหมดจะถูกกักตัวเมื่อเดินทางมาถึง

    อินโดนีเซียผ่านร่าง กม. ยกเครื่องภาษีครั้งใหญ่ ขึ้นภาษี VAT ปีหน้า

    ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/world/asia-pacific/indonesian-parliament-vote-major-tax-overhaul-2021-10-06/

    เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ต.ค. 2564) รัฐสภาอินโดนีเซียให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่สุดของประเทศ ซึ่งรวมถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปีหน้า ภาษีคาร์บอนใหม่ และการยกเลิกแผนการลดภาษีนิติบุคคล

    กฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และปรับปรุงการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านภาษี หลังจากที่รายได้ของรัฐได้รับผลกระทบอย่างหนักในปีที่แล้ว จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมยาซอนนา เลาลี ชี้แจงต่อรัฐสภา

    แต่กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มตั้งคำถามถึงระยะเวลาของการปรับขึ้นภาษีตามแผน เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ถือว่ายังเปราะบาง

    กฎหมายเปิดให้ปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นสำหรับการขายสินค้าและบริการเกือบทุกประเภทจาก 10% เป็น 11% ในเดือนเมษายนปีหน้าและเป็น 12% ภายในปี 2568

    นอกจากนี้ ยังยกเลิกแผนการลดภาษีนิติบุคคลและใช้อัตราภาษีเงินได้ที่สูงขึ้นสำหรับคนรวย ภาษีคาร์บอนใหม่และโครงการนิรโทษกรรมภาษีใหม่

    “ด้วยการบังคับใช้กฎหมายนี้ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการคลัง และการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น เราหวังว่าเราจะสามารถเสริมสร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเร่งการลดความยากจนได้” ยาซอนนากล่าว

    ส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อจากการภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นนั้นถือว่า “จำกัดและน้อยมาก”

    นักวิเคราะห์บางรายมองว่า มาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยให้เก็บภาษีในปีหน้าดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดการขาดดุลทางการคลังให้ต่ำกว่าที่คาดการณ์อย่างเป็นทางการในปัจจุบันที่ 4.85 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และช่วยให้ลดการขาดดุลลงเหลือต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2566

    โจซัว ปาร์เดเด นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพอร์มาตา ในกรุงจาการ์ตา คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว แต่เตือนว่าการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งอ่อนไหวต่อราคาที่สูงขึ้น

    “เราหวังว่ารัฐบาล (สามารถ) ปรับปรุงประสิทธิผลของการใช้จ่ายเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะการดูแลสังคมในปีหน้า” ปาร์เดเดกล่าว โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นถึง 0.3 เปอร์เซ็นต์ และ GDP จะลดลงเล็กน้อยในปี 2565

    สมาคมผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ซึ่งได้คัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มมากว่าสามปี แสดงความเสียใจต่อการผ่านร่างกฎหมาย

    “ผลกระทบของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุดแม้มีการยกเลิกข้อจำกัด การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มท่ามกลางการระบาดใหญ่ที่กำลังแพร่กระจายอยู่ จะทำให้ยอดขายออฟไลน์แย่ลง” อัลฟอนซุส วิดจาจา ประธานสมาคมกล่าว

    อินโดนีเซียอาจเก็บภาษีส่งออกสินค้าที่มีนิกเกิลต่ำกว่า 70%

    ที่มาภาพ: https://www.pipingmart.com/news/indonesia-considers-export-tax-for-products-with-less-than-70-percent-nickel-content-802184
    อินโดนีเซียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ใน การเก็บภาษีส่งออกสำหรับผลิตภัณฑ์นิกเกิลที่มีปริมาณนิกเกิลน้อยกว่า 70% เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมการแปรรูปในประเทศ นายบาห์ลิล ลาฮาดาเลีย รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนกล่าวเมื่อวันศุกร์

    อินโดนีเซียมุ่งมั่นที่จะพัฒนาห่วงโซ่อุปทานนิกเกิลอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การสกัดแร่จากแหล่งแร่นิกเกิลที่อุดมสมบูรณ์ไปจนถึงการผลิตแบตเตอรี่และการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ

    ผลิตภัณฑ์นิกเกิลส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากอินโดนีเซียมีปริมาณนิกเกิล 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และสามารถปรับสัดส่วนในประเทศได้อีกอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ นายบาห์ลิลกล่าวในการบรรยายสรุปสื่อมวลชนผ่านระบบออนไลน์

    “หากผู้ผลิตต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีนิกเกิลน้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เราอาจเรียกเก็บภาษีส่งออก” นายบาห์ลิลกล่าว และว่า การหารือยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและยังไม่มีการตัดสินใจในรายละเอียดใดๆ

    อุตสาหกรรมการแปรรูปของอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนิกเกิลต่ำ เช่น nickel pig iron (NPI) หรือโลหะผสมเหล็กกล้ากับนิคเกิล (ferronickel) ปีที่แล้วหยุดการส่งออกแร่นิกเกิลที่ยังไม่แปรรูปเพื่อสนับสนุนความทะเยอทะยานในห่วงโซ่อุปทาน “ปลายน้ำ

    นายสตีเวน บราวน์ ที่ปรึกษาอิสระอุตสาหกรรมเหมืองแร่กล่าวว่า ประเทศมีอำนาจต่อรองมากมายในการดึงดูดการลงทุนปลายน้ำ แต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายอาจทำให้นักลงทุนบางคนวิตก

    “การจำกัดการส่งออกอย่างกะทันหันอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนและอาจทำให้นักลงทุนที่ระมัดระวังมากขึ้นกลัว” นายบราวน์กล่าว

    “อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของฮุนไดและแอลจี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง”

    เมื่อวันพฤหัสบดี LG Energy Solution (LGES) ของเกาหลีใต้และ Hyundai Motor Group ได้เริ่มสร้างโรงงานมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์เพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

    ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายภาษีบริการดิจิทัล

    ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/world/asia-pacific/philippines-lower-house-approves-vat-big-tech-firms-2021-09-22/

    เมื่อวันที่ 21 กันยายน สภาผู้แทนราษฎรแห่งฟิลิปปินส์ได้อนุมัติการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับธุรกรรมดิจิทัลในอัตรา 12 เปอร์เซ็นต์ โดยจะบังคับใช้กับบริษัทต่างชาติที่ขายบริการดิจิทัลในฟิลิปปินส์

    ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะเรียกเก็บจากบริการดิจิทัลแบบสมัครสมาชิก เช่น Netflix บริการโฆษณาออนไลน์ ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ออนไลน์ และบริการประเภทอื่นๆ ที่จัดส่งหรือส่งมอบทางออนไลน์

    “หากร้านค้าทั่วไป ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการระบาดใหญ่ ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม” นายโจอี ซัลเซดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เขียนหลักของร่างกฎหมาย กล่าวว่า “ไม่ควรยกเว้นยักษ์ใหญ่ของอีคอมเมิร์ซ ”

    การยกเว้นจะมีผลกับธุรกิจขนาดเล็กและบุคคลที่มียอดขายต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่นเดียวกับหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ที่ขายทางอิเล็กทรอนิกส์

    กัมพูชา-สิงคโปร์จับมือเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยไซเบอร์

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50948507/cambodia-and-singapore-agree-to-build-cybersecurity-capacity/

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม กัมพูชา นายเจีย วันเด็ท ได้ประชุมกับนางโจเซฟิน เตียว รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและข้อมูลแห่งสิงคโปร์ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เพื่อหารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของทั้งสองประเทศ

    ในแถลงการณ์กระทรวงโทรคมนาคม นางเตียวได้ขอบคุณนายวันเด็ทที่ได้กล่าวสุนทรพจน์และเข้าร่วมงาน Singapore International Cyber Week 2021 ตลอดจนการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมแสดงความยินดีกับกัมพูชาที่ได้เป็นประธานอาเซียนในปี 2565 และเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่ากัมพูชาจะเดินหน้าหารือในสองประเด็นนี้ต่อเนื่อง

    นายวันเด็ทเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของกัมพูชาในการร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยไซเบอร์ และตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปัจจุบันและในอนาคต และย้ำว่าอีกว่ากัมพูชาพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ไซเบอร์ที่ปลอดภัยและครอบคลุม

    เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กัมพูชาให้คำมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อมุ่งสู่ไซเบอร์สเปซที่เปิดกว้าง ครอบคลุม ปลอดภัย และมั่นคง ในขณะที่กำลังเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยคำมั่นนี้มีขึ้นขณะเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยความปลอดภัยทางไซเบอร์ครั้งที่ 6 และสัปดาห์ไซเบอร์ระหว่างประเทศของสิงคโปร์ ประจำปี 2564 การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยสิงคโปร์ภายใต้หัวข้อ “การใช้ชีวิตกับโควิด-19 –ความเสี่ยงและโอกาสด้านความปลอดภัยทางดิจิทัล”’
    .