ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เศรษฐกิจมาเลเซียไตรมาสสองหดตัวมากสุดในอาเซียน

ASEAN Roundup เศรษฐกิจมาเลเซียไตรมาสสองหดตัวมากสุดในอาเซียน

16 สิงหาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 สิงหาคม 2563

  • มาเลเซียเศรษฐกิจไตรมาสสองแย่สุดในอาเซียน
  • สิงคโปร์-ญี่ปุ่นผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทางตั้งแต่ ก.ย.
  • กัมพูชากระจายสินค้าและตลาดส่งออก
  • กัมพูชาอนุมัติร่างกฎหมายนโยบายมันสำปะหลังแห่งชาติ
  • กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงประชุมลดหมอกควันข้ามแดน
  • มาเลเซียเศรษฐกิจไตรมาสสองแย่สุดในอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/asia/malaysia-covid-19-kuala-lumpur-conditional-mco-first-day-12700132
    มาเลเซียเป็นประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในอาเซียน หลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สองของปี 2020 หดตัว 17.1%

    สำหรับมาเลเซียตัวเลขดังกล่าวเป็นการหดตัวของตัวเลขสองหลักรายไตรมาสที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 หรือประมาณ 22 ปี เป็นผลจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

    การหดตัวของจีดีพีไตรมาสอสง ส่งผลให้ ธนาคารกลาง (Bank Negara Malaysia) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของประเทศในปี 2020 ลงเหลือ -3.5% ถึง -5.5% จาก -2% ถึง 0.5% ก่อนหน้านี้ เนื่องจากสมมติฐานเบื้องต้นประเมินระยะเวลาการล็อกดาวน์เพียง 4 สัปดาห์แทนที่จะเป็น 7 สัปดาห์

    ดาโต๊ะ นูร์ ชัมชิอะห์ โมฮัมหมัด ยูนุส ผู้ว่าการธนาคาร กล่าวว่า เศรษฐกิจคาดว่าจะฟื้นตัวและเติบโต 5.5% ถึง 8% ในปี 2021

    ในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์เพิ่งประกาศว่าจีดีพีหดตัว 13.2% ในไตรมาสสอง ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคครั้งแรกในรอบ 11 ปี

    ในการแถลงภาวะเศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาสสอง กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ได้ปรับช่วงการคาดการณ์ GDP ในปี 2020 ให้แคบลงเป็น -7% ถึง -5% จาก -7% ถึง -4%

    ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในไตรมาสสอง หลังจากที่ จีดีพีหดตัว 5.32% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 1999 และมีรายงานด้วยว่าในปีนี้มีผู้ตกงานราว 3.7 ล้านคนโดยคาดว่าจะมีจำนวนทั้งหมดราว 10 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้

    เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์หดตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนเนื่องจากจีดีพี หดตัว 16.5% ซึ่งเป็นการลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981

    ประเทศเดียวที่มีการเติบโตในไตรมาสสองแม้ว่าต่ำกว่าปีก่อน คือ เวียดนามซึ่งเศรษฐกิจเติบโต 0.36% โดยนายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก มุ่งมั่นที่จะรักษาอัตราการเติบโตให้สูงกว่า 5%

    สำหรับประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้ประกาศข้อมูลไตรมาสสองนั้น คาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะหดตัว 12% ถึง 13% ซึ่งจะเป็นการเติบโตที่ติดลบเป็นประวัติการณ์สำหรับไทย

    ดร.โมฮัมหมัด อัฟซานิซัม อับดุล ราชิด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Bank Islam Malaysia Bhd กล่าวว่าเศรษฐกิจของมาเลเซียคาดว่าจะหดตัวลึกมากขึ้นในปี 2020 โดยธนาคารได้ปรับคาดการณ์ทั้งปี 2020 จาก -1.5% เป็น -4%

    ดร.โมฮัมหมัดกล่าวว่า การระบาดใหญ่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน โดยผลผลิตของ 735 อุตสาหกรรมมีการหดตัว

    “ในขณะที่เศรษฐกิจยังคงหมุนไปแม้ว่าจะค่อยไปๆ เราคาดหวังว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสสาม และจะเดินหน้าต่อไปในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี” ดร.โมฮัมหมัดกล่าวกับสำนักข่าวเบอร์นามา

    นอกจากนี้ ดร.โมฮัมหมัดยังกล่าวอีกว่า นโยบายการคลังแบบขยายตัวที่รัฐบาลนำมาใช้และนโยบายที่พร้อมจะผ่อนคลายของธนาคารกลาง จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีและในปีหน้า

    การพัฒนาวัคซีนดูเหมือนจะชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดี จากการทดสอบล่าสุดของบริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งบางส่วนได้เข้าสู่ขั้นสูงแล้ว”

    ดร.โมฮัมหมัดกล่าวว่า มีความเป็นได้มากที่ธนาคารกลางจะชปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประเภทข้ามคืนอีก 0.25%

    “มีอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การท่องเที่ยวและการบิน ที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเดินทางข้ามประเทศยังมีข้อจำกัดอยู่มาก “ดังนั้นภาระนี้จึงตกไปที่เครื่องยนต์ในประเทศ เพื่อชดเชยภาวะภายนอกที่อ่อนแอ ขณะที่การค้าภายในภูมิภาคค่อยๆ ฟื้นตัว” ดร.โมฮัมหมัดกล่าว

    นายอิซวน อาห์หมัด นักเศรษฐศาสตร์ของ Bank Muamalat Malaysia Bhd กล่าวว่า มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจของประเทศคาดว่าประสบกับเส้นทางการฟื้นตัวที่ไม่ราบรื่น

    “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียภายในสองไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 จะต้องมีปัจจัยหนุนจากส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่นั่นอยู่บนสมมติฐานที่ว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้ และทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติได้ภายในปีหน้า พร้อมกับการเติบโตของ GDP ที่เป็นบวก” นายอิซวนกล่าว

    นายอิซวนกล่าวว่า ภาคส่วนอื่นๆ ที่หดตัวสูงสุด ได้แก่ การส่งออกสุทธิลดลง 38.6% ซึ่งแสดงว่าการค้าต่างประเทศได้รับผลจากการชะงักงันของกิจกรรมทางธุรกิจทั่วโลก และการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

    การลงทุนภาครัฐลดลง 38.7% เช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด และการใช้คำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน

    เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวเล็กน้อยื0.7% ในไตรมาสแรก ทำให้จีดีพีครึ่งปีแรกของปี 2020 ติดลบ 8.3% เทียบกับการเติบโต 4.7% ในช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้ว

    สิงคโปร์-ญี่ปุ่นผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทางตั้งแต่ ก.ย.

    ที่มาภาพ: https://english.kyodonews.net/news/2020/08/edd923e8f26e-breaking-news-japan-singapore-to-ease-border-restrictions-from-sept-japan.html

    เมื่อวันพฤหัสบดีสิงคโปร์และญี่ปุ่นตกลงกันที่จะผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทาง ที่ได้บังคับใช้เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน โดยเน้นไปที่กลุ่มนักธุรกิจและพนักงานของบริษัทต่างชาติ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

    “เราจะต้องยืนยันรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะเริ่มกลับมาเดินทางระหว่างกันอีกครั้งหนึ่ง” นายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีว่ากระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวผ่านระบบออนไลน์หลังจากบรรลุข้อตกลงกับ ดร.วิเวียน บาลาคริชนัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ ในการประชุมร่วมกันที่สิงคโปร์

    ปัจจุบันญี่ปุ่นห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศทั้งหมดจาก 146 ประเทศและภูมิภาคในหลักการแต่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมได้เปิดเผยว่า จะเข้าสู่การหารือกับ 12 ประเทศเอเชีย รวมถึงสิงคโปร์เกี่ยวกับวิธีการกลับมาอนุญาตให้เดินทาง

    ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นได้อยู่ระหว่างการเจรจากับเวียดนาม ไทย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์แล้ว ในเดือนมิถุนายนรัฐบาลญี่ปุ่นได้นำนักธุรกิจไปเวียดนามด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ

    กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นระบุว่า ข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นและสิงคโปร์จะครอบคลุมถึงนักเดินทางเพื่อธุรกิจระยะสั้น เช่นเดียวกับพนักงานบริษัทต่างชาติและผู้พำนักระยะยาวอื่น

    ผู้ที่เดินทางเพื่อธุรกิจที่มีสิทธิ์จะได้รับการยกเว้นจากการกักกันตัวเอง 14 วันหลังจากเดินทางมาถึงญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ หากได้ส่งแผนการเดินทาง เข้าพัก จำกัดการเดินทางระหว่างสถานที่ที่พักและสถานที่ทำงาน ห้ามใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และหลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้คนที่สุ่มเสี่ยงหรือฝูงชน กระทรวงระบุ

    ในขณะเดียวกันพนักงานบริษัทต่างชาติและผู้พำนักระยะยาวอื่นๆ จะต้องอยู่ที่บ้านหรือสถานที่ที่กำหนดเป็นเวลา 14 วันหลังจากเดินทางมาถึง

    ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นทั้งสองกลุ่มนี้ จะต้องรายงานสุขภาพต่อเจ้าหน้าที่ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ด้วยการส่งข้อความเป็นเวลา 14 วันหลังจากเดินทางมาถึง และติดตั้งแอปติดตามตัวเพื่อการตรวจหาเชื้อโควิด (COVID-19 contact tracing app) ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และตกลงที่จะเก็บรักษาข้อมูล GPS ไว้เป็นเวลาสองสัปดาห์

    รัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้พบปะแบบตัวต่อตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความยึดพื้นที่ทางทะเลของจีนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ตลอดจนโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

    ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวสถานการณ์ความตึงเครียดของฮ่องกง “ญี่ปุ่นกำลังกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดในฮ่องกง” นายโมเตกิกล่าว โดยอ้างถึงการจับกุมแอกเนส โชว นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย, เจ้าของสื่อ จิมมี ไหล และอีก 8 คนภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในสัปดาห์นี้

    การจับกุมและการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจของฮ่องกงไปตรวจค้นสำนักงานใหญ่ของ The Apple Daily ของจิมมี ไหล “ทำให้เกิดข้อสงสัยในเสรีภาพในการพูดและสื่อมวลชนในฮ่องกง” นายโมเตกิกล่าวและเสริมว่า ญี่ปุ่นได้ส่งต่อความกังวลไปยังจีน

    นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะเสริมสร้างการประสานงานในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดรวมถึงการพัฒนาและสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรม กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นระบุ

    นายโมเตกิยังได้พบกับนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า ทั้งคู่ได้ตกลงที่จะประสานงานอย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาครวมทั้งในทะเลจีนใต้และเกาหลีเหนือ

    ในวันศุกร์ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเดินทางไปมาเลเซียเพื่อพูพบปะกับนายโมฮาเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ และนายฮิชัมมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย หลังจากเดินทางกลับญี่ปุ่นแล้วนายโมเตกิจะเดินทางไปเยือนปาปัวนิวกินี กัมพูชา ลาว และเมียนมา ช่วงวันที่ 20-25 สิงหาคม

    นายโมเตกิเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรเป็นเวลาสี่วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเป็นสมาชิกคนแรกของคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่เดินทางไปต่างประเทศนับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นโรคระบาดในเดือนมีนาคม

    กัมพูชากระจายสินค้าและตลาดส่งออก

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50755239/cambodia-diversifying-its-products-and-markets/

    นายไพ สีพัน รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีและประธานสำนักโฆษกรัฐบาลเปิดเผยในเพจเฟซบุ๊ก ทางการของเขาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ว่า การกระจายความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และการตลาดเป็นสิ่งที่รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

    กัมพูชากำลังกระจายสินค้าและตลาดเพื่อส่งเสริมการส่งออก นายไพย้ำหลังเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ที่จัดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 15 สิงหาคม โดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็นประธาน

    กัมพูชาได้กำหนดแผนการที่จะเพิ่มการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอขึ้นให้มีสัดส่วน 15% ของการส่งออกทั้งหมดภายในปี 2025 ขณะที่เพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปเป็น 12%

    ส่วนแบ่งการตลาดของการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 71.6% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2015 เป็น 69.2% ในปี 2018

    ในขณะเดียวกัน การส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นจาก 5.9% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดในปี 2015 เป็น 7.0% ในปี 2018

    ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ากัมพูชามีการกระจายสินค้าส่งออกอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป แทนที่จะขึ้นอยู่กับการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าเท่านั้น

    กัมพูชาอนุมัติร่างกฎหมายนโยบายมันสำปะหลังแห่งชาติ

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50755157/draft-law-on-cassava-national-policy-2020-2025-approved/

    ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีระบุว่า คณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็นประธานได้อนุมัติร่างกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายแห่งชาติมันสำปะหลังปี 2020-2025

    นโยบายนี้นำมาใช้เพื่อให้การเกษตรก้าวสู่ความทันสมัย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของครอบครัวไปสู่การผลิตการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่บริหารจัดการได้

    การพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนและเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันของเศรษฐกิจ และเพิ่มความเป็นเลิศในการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดโลก” ร่างนโยบายระบุ

    รายงานของรัฐบาลระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังขยายตัวอย่างรวดเร็วฃในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีความสำคัญอันดับสองรองจากผลผลิตข้าว โดยมันสำปะหลังมีสัดส่วนระหว่าง 3-4% ของจีดีพี ในแต่ละปีมีการลงทุนประมาณ 300 ล้านดอลลาร์เพื่อปลูกมันสำปะหลังบนพื้นที่มากกว่า 600,000 เฮกตาร์

    รายงานแสดงให้เห็นว่า ขณะที่การส่งออกส่วนใหญ่ของประเทศคือมันสำปะหลังสด แต่มันสำปะหลังอบแห้งมีมูลค่าประมาณ 728 ล้านดอลลาร์ โดยที่มากกว่า 90,000 ครอบครัวในชนบทใน 13 จังหวัดประกอบอาชีพปลูกมันสำปะหลัง

    รายงานของกระทรวงเกษตรให้ข้อมูลว่า กัมพูชาส่งออกมันสำปะหลัง 3.29 ล้านตันในปี 2019 เพิ่มขึ้น 27% จากปี 2018 หรือคิดเป็น 2.59 ล้านตัน

    กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงประชุมลดหมอกควันข้ามแดน

    ที่มาภาพ: https://asean.org/ninth-meeting-sub-regional-ministerial-steering-committee-transboundary-haze-pollution-mekong-sub-region/

    เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2020 ได้มีการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ กลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (The Meeting of the Sub-Regional Ministerial Steering Committee (MSC) on Transboundary Haze Pollution) ครั้งที่ 9 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

    การประชุมของคณะกรรมการดังกล่าว มีรัฐมนตรีหรือผู้แทนรับผิดชอบด้านที่ดินไฟป่าและหมอกควันจากกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน โดยมี ดร.สัญณกร อินทวง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว เป็นประธาน ขณะที่ได้จัดการประชุมครั้งที่ 15 ของคณะทำงานด้านเทคนิคเกี่ยวกับมลพิษหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Technical Working Group on Tranboundary Haze Pollution: TWG) ไปก่อนหน้าแล้ว

    รัฐมนตรีแสดงความกังวลต่อมลพิษหมอกควันข้ามแดนซึ่งเกิดขึ้นทางตอนเหนือของภูมิภาคอาเซียนเมื่อต้นปีนี้และส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

    รัฐมนตรีต่างชื่นชมความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของประเทศในกลุ่ม MSC ในการบรรเทาและระงับเหตุการณ์ไฟและหมอกควัน รวมทั้งความพยายามร่วมกันที่ดำเนินการผ่านการประชุมการประชุมทางไกลเรื่องเหตุการณ์หมอกควันในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา

    ที่ประชุมได้รับทราบการนำเสนอของศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASMC) เกี่ยวกับการทบทวนและแนวโน้มสภาพอากาศและสถานการณ์หมอกควันสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

    ที่ประชุมยังรับทราบว่า ในขณะที่สถานะปัจจุบันของปรากฏการณ์เอลนีโญกับความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ หรือ El Niño Southern Oscillation (ENSO) เป็นกลาง แต่ตัวชี้วัดและแบบจำลองที่สังเกตได้บ่งชี้ว่าเงื่อนไขลานีญา (La Niña) อาจเกิดขึ้นภายในสามเดือนข้างหน้า ทั้งนี้คาดว่าปริมาณฝนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะใกล้เข้าสู่ภาวะปกติในช่วงที่เหลือของปี 2020 และคาดว่าจะมีอุณหภูมิที่อุ่นกว่าปกติในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ และส่วนใหญ่จะมีอุณหภูมิใกล้เคียงปกติในช่วงที่เหลือของปี

    จุดความร้อนในอนุภูมิภาคโดยทั่วไปคาดว่าจะสงบลงจนถึงเดือนตุลาคมนี้ แต่คาดว่าจุดความร้อนจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูแล้งของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หลังจากที่เริ่มมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม

    รัฐมนตรีได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่ตระหนักถึงวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่อาเซียนที่ปราศจากหมอกควันภายในปี 2020 ตามที่กำหนดไว้ในแผนงานความร่วมมืออาเซียนการควบคุมมลพิษหมอกควันข้ามแดน ด้วยวิธีการดำเนินการตามหลักการของข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

    รัฐมนตรีเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของความตกลงนี้อย่างมีประสิทธิผลอย่างครบถ้วน ตลอดจนเพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติตามขั้นตอนปฏิบัติการมาตรฐานอาเซียน (SOP) สำหรับการติดตามประเมินผลและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกันอย่างสมบูรณ์ในระดับการแจ้งเตือนจุดกระตุ้น และปฏิบัติการระงับอัคคีภัยที่การประชุม COP-10 ยอมรับ

    รัฐมนตรีต่างตอบรับกับการเริ่มการทบทวนขั้นสุดท้ายของแผนงานความร่วมมืออาเซียน ด้านควบคุมมลพิษหมอกควันข้ามแดน ด้วยวิธีการดำเนินการ การทบทวนช่วยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนรับทราบความคืบหน้า และรักษาการดำเนินการในการสร้างความมั่นใจว่าจะมีการปรับเปลี่ยนซึ่งแสดงให้เห็นได้ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของอาเซียนที่ปราศจากหมอกควัน นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อเสนอแนะสำหรับโรดแมปที่ปรับปรุงใหม่หรือต่ออายุสำหรับอาเซียน ซึ่งหวังว่าจะได้พิจารณาผลลัพธ์และข้อเสนอแนะที่เป็นผลจากการทบทวนในการประชุมครั้งที่ 17 ของการประชุมภาคีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (COP-17)

    รัฐมนตรีชื่นชมความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจังหวัดเชียงราย 2017 ที่เสริมความก้าวหน้าของแผนงานในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน การลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายการตรวจสอบคุณภาพอากาศ

    รัฐมนตรีต่างชื่นชมความพยายามร่วมกันและความมุ่งมั่นเชิงรุกในการเพิ่มความเข้มข้นของงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการลดจุดความร้อนให้ต่ำกว่า 50,000 จุดภายในปี 2020 ด้วยความพยายามที่เพิ่มขึ้นในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและให้ความช่วยเหลือหากจำเป็นในการจัดการการควบคุมไฟและหมอกควัน

    รัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการที่จะขยายแผนปฏิบัติการจังหวัดเชียงราย 2017 ไปถึงปี 2025 พร้อมกำหนดเป้าหมายการลดจุดความร้อนใหม่ โดยมอบหมายให้คณะทำงานฯ รับผิดชอบ โดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการอาเซียนในการจัดทำรายละเอียดโดยคำนึงถึงการทบทวนแผนงานขั้นสุดท้าย

    รัฐมนตรีต่างยินดีที่ได้ทราบถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของโครงการอาเซียนว่าด้วยการจัดการระบบนิเวศป่าพรุอย่างยั่งยืน (APSMPE 2014-2020) และการมีส่วนร่วมของคู่เจรจาและพันธมิตรภายนอกโดยสหภาพยุโรป ผ่านโครงการการใช้ประโยชน์ป่าพรุอย่างยั่งยืนและบรรเทาหมอกควันในอาเซียน Sustainable Use of Peatland and Haze Mitigation in ASEAN (SUPA) สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สำหรับโครงการ GEF-6 ในการจัดการระบบนิเวศป่าพรุอย่างยั่งยืนในประเทศลุ่มน้ำโขงและกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร (IFAD) ในการดำเนินการประเมินการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนที่ปราศจากหมอกควัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MAHFSA) และสนับสนุนความสนใจของพันธมิตรภายนอกอาเซียน ในการร่วมมือและร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และส่งเสริมการจัดการพื้นที่ป่าพรุอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

    รัฐมนตรียินดีกับความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่พรุของอาเซียน (APMS 2006-2020) และได้รับทราบว่ากำลังดำเนินการทบทวนขั้นสุดท้ายกำลังดำเนินการ และรอการประเมินและความสำเร็จของเป้าหมายในระดับชาติและระดับภูมิภาค เพื่อแจ้งการกำหนดยุทธศาสตร์ต่อไปในการประชุมภาคีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดนครั้งที่ 16 (COP-16) ที่กำลังจะเริ่มขึ้น

    รัฐมนตรีได้ชื่นชมความพยายามอย่างต่อเนื่องของประเทศ MSC ในการเสริมสร้างแผนปฏิบัติการแห่งชาติของตน และการดำเนินการในประเทศให้เข้มข้นขึ้นผ่านการตรวจสอบจุดความร้อนและคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง การสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการการเผาไหม้แบบเปิด การควบคุม การบรรเทา และการประสานงาน ระหว่างหน่วยงานระดับชาติและระดับท้องถิ่น และระหว่างประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เพื่อระงับไฟป่าและป้องกันมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน รัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและเสริมสร้างการดำเนินการร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศ MSC ในลุ่มน้ำโขง เพื่อแสวงหาโอกาสในการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค การเสริมสร้างศักยภาพ การแบ่งปันความรู้ในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค