ThaiPublica > คนในข่าว > การเสียชีวิตของ “สุโตโป เพอร์โว นูโกรโฮ” วีรบุรุษมนุษยธรรมของอินโดนีเซีย

การเสียชีวิตของ “สุโตโป เพอร์โว นูโกรโฮ” วีรบุรุษมนุษยธรรมของอินโดนีเซีย

9 กรกฎาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

สุโตโป เพอร์โว นูโกรโฮ (Sutopo Purwo Nugroho) ที่มาภาพ : https://twitter.com/sutopo_pn?lang=en

เมื่อวันอาทิตย์ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา หน่วยงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ (National Disaster Mitigation Agency) ของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า สุโตโป เพอร์โว นูโกรโฮ (Sutopo Purwo Nugroho) โฆษกของหน่วยงานนี้ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน สถานที่ซึ่งเขาเข้ารับการบำบัดโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สุโตโปมีตำแหน่งเป็นโฆษกของหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย อินโดนีเซีย แม้ในยามที่นอนอยู่บนเตียงนอนของโรงพยาบาล และกำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 เมื่อเกิดภัยพิบัติ เขายังคงทำหน้าที่ให้ข้อมูลอย่างถูกต้องและรวดเร็ว แก่สาธารณชนและสื่อมวลชน ขณะที่เสียชีวิต เขามีอายุ 49 ปี

เมื่อต้นปี 2018 สุโตโปเปิดเผยว่า แพทย์ตรวจพบมะเร็งปอดระยะที่ 4 ในตัวเขา และบอกเขาว่า อาจจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ขณะเดียวกันปี 2018 ก็เป็นปีที่เกิดภัยพิบัติหลายพันครั้ง ที่รุนแรงและมีจำนวนครั้งมากที่สุดของอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม และดินโคลนถล่ม แต่สุโตโป เพอร์โวยังคงทำงานไม่หยุด หลังจากได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด เขายังคงให้ข้อมูลล่าสุดแก่สื่อต่างๆ แถลงข่าว และรับโทรศัพท์จากนักข่าว ที่โทรศัพท์มา ไม่ว่าจะเวลาไหนก็ตาม

ที่มาภาพ : https://twitter.com/sutopo_pn?lang=en

ปีแห่งภัยพิบัติของชาติและส่วนตัว

ในฐานะโฆษกของหน่วยบรรเทาสาธารณภัย สุโตโปกลายเป็นคนมีชื่อเสียง ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของคนอินโดนีเซีย เป็นบุคคลที่เป็นแหล่งข้อมูลเชื่อถือได้ในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด หรือน้ำท่วม ในเวลาเดียวกัน เขาก็ต้องรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง

สุโตโปเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “เมื่อผมทราบการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด ในเดือนมกราคม 2018 ผมตกใจมาก หลังจากนั้น ผมก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องชะตากรรมของผม เหมือนกับคนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว หรือสึนามิ”

หลังจากนั้น สุโตโปก็ยังทุ่มเทเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ให้กับงาน จนได้รับการชื่นชมอย่างมากจากคนอินโดนีเซีย ที่เป็นพี่น้องร่วมชาติ ทวิตเตอร์ของเขาจะขึ้นวีดีโอภาพดินถล่ม ภูเขาไฟที่ปะทุ และน้ำท่วม รวมทั้งภาพที่เขาได้รับการบำบัดด้วยเคมี ในโรงพยาบาลที่กรุงจาการ์ต้า

เดือนสิงหาคม 2018 เมื่อเกิดแผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ ที่เกาะลอมบ๊อก มีคนเสียชีวิต 550 คน เขายังรับโทรศัพท์จากนักข่าว ขณะที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งปอด แม้จะมีอาการปวดที่กระดูก เพราะมะเร็งแพร่ระบาดออกไป เขายังคงแถลงข่าว ที่มีการเผยแพร่ไปทั่วประเทศ เขากล่าวว่า “ในยามวิกฤติ เมื่อตัวผมจะต้องแถลงข่าว พลังพิเศษในตัวจะพุ่งขึ้น ทำให้ผมลืมไปว่าผมยังป่วย แต่ทันทีที่กลับไปบ้าน ผมจะรู้สึกถึงความเจ็บปวด”

ที่มาภาพ : https://twitter.com/sutopo_pn?lang=en

ดินแดนแห่งภัยพิบัติ

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากกว่า 17,000 เกาะ เป็นประเทศที่มีจุดอ่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ และภูเขาไฟระเบิด เพราะตั้งอยู่บริเวณขอบแผ่นเปลือกโลกที่เรียกว่า “วงแหวนไฟ” (Ring of Fire) เฉลี่ยในแต่ละปี อินโดนีเซียจะเกิดภัยพิบัติ 2,300 ครั้ง แต่ ปี 2018 เป็นปีที่ประเทศนี้ ประสบภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด ในรอบ 10 ปี หนังสือพิมพ์ The Guardian กล่าวว่า เพราะเหตุนี้ สุโตโปจึงเป็นคนที่มีงานยุ่งรัดตัวมากที่สุดในอินโดนีเซีย

คนอินโดนีเซียมีความรู้สึกผูกพันกับสุโตโป และเรียกเขาว่า “โตโป” ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาเขาทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ ให้ข้อมูลอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย และข้อมูลล่าสุด ต่อเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้น งานของเขาแทบไม่มีช่วงหยุดพัก เพราะอินโดนีเซียเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม ดินถล่ม และสึนามิ

สื่อมวลชนในประเทศและต่างประเทศ ล้วนชื่นชมอย่างมาก ในการทุ่มเททำหน้าที่ของสุโตโป ในฐานะโฆษกของหน่วยบรรเทาสาธารณภัย อย่างเช่น เขาเขียนข่าวแจกสื่อมวลชน จากเตียงโรงพยาบาลที่เขากำลังรักษาตัว โดยกล่าวว่า “ภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นเวลาไหนก็ได้ จาก 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกลางคืนวันศุกร์และช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นเรื่องแปลก”

หนังสือพิมพ์ Strait Times ของสิงคโปร์เลือกให้สุโตโป เป็น 1 ใน 4 ของบุคคลแห่งปี 2018 ของเอเชีย โดยยกย่องว่า เดือนกันยายน 2018 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่สุลาเวสี สุโตโปทำงานแบบไม่หยุดพักเลย ที่จะให้ข้อมูลแก่สื่อในประเทศและต่างประเทศ แม้ตัวเองกำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดในระยะที่ 4 สุโตโปยังใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อต่อสู้กับ “ข่าวปลอม” ในเรื่องภัยพิบัติ ที่เผยแพร่ได้ง่าย และอาจทำให้คนตื่นตระหนก

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2018 เกิดสึนามิครั้งที่ 2 ที่ช่องแคบซุนด้า สุโตโปเดินทางไปพักผ่อนที่เมืองจ๊อกยาการ์ต้ากับครอบครัว และไปรับการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก แต่เขาก็ยังส่งข้อมูลล่าสุดของเหตุที่เกิดขึ้นแก่สื่อต่างๆ จนถึงเวลา 01.00 น. และกลับมาทำงานใหม่ในเวลา 06.00 น.

ที่มาภาพ : https://twitter.com/sutopo_pn?lang=en

ชีวิตและการศึกษา

สุโตโปเกิดที่เมืองโบโยลาลิ ตอนกลางของเกาะชะวา บิดาของเขาเป็นครู เขาจบปริญญาตรีด้านภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Gadjah Mada ที่จ๊อกจาการ์ต้า และต่อมาสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านการทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการสิ่งแวดล้อม จาก Bogor Agricultural Institute ในเมือง Bogor และเริ่มทำงานกับด้านวิจัยกับหน่วยงานบริหารภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย

เขาทำงานเป็นนักวิจัยนาน 16 ปี ในปี 2009 เกิดเหตุที่เขื่อนใกล้กรุงจาการ์ต้าพังลงมา เพราะฝนตกหนัก ทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 100 คน สุโตโปได้วิเคราะห์ภาพถ่ายของเขื่อน และแถลงข่าวการพบรอยแตกของเขื่อน ที่ทำให้เขื่อนพังลง สุโตโปปฏิเสธที่จะรับงานโฆษกของหน่วยงานบรรเทาภัยพิบัติถึง 3 ครั้ง เพราะเห็นว่างานประชาสัมพันธ์ คือการโปรโมตหัวหน้าหน่วย และเกรงว่าเขาจะต้องพูดในสิ่งที่รัฐบาลอยากให้พูด

แต่ผู้บริหารของหน่วยงานบรรเทาภัยพิบัติบอกเขาว่า ต้องการให้เขารับตำแหน่ง เพราะเขาพูดอย่างซื่อตรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความน่าเชื่อถือในสายตาของคนทั่วไป เมื่อมารับงานแล้ว เขากล่าวว่า “ผมไม่มีพื้นฐานการสื่อสารมาก่อน ผมเพียงแต่ลงมือทำเลย” เขายังมองว่า งานส่วนหนึ่งคือการต่อสู้กับข่าวลือ โดยการอาศัยคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ “สิ่งที่ผมเผยแพร่ออกไปคือของจริง ไม่ใช่ข่าวปลอมเหมือนโดนัลด์ ทรัมป์”

สุโตโปมีคนติดตามในโซเชียลมีเดีย มากกว่าประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ทั้งสองคนได้มาพบกัน และประธานาธิบดีวิโดโด ได้เขียนบันทึกมีข้อความว่า “ขอให้เป็นแรงดลใจแก่คนอื่นๆต่อไป” วันอาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อสุโตโปถึงแก่อสัญกรรมแล้ว วิโดโดเขียนไว้อาลัยในเฟซบุ๊กว่า “ในฐานะโฆษก หน่วยงานสาธารณภัย สุโตโปแจ้งพวกเราอย่างรวดเร็วในเรื่องภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว ดินถล่ม สึนามิ และไฟไหม้ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้เราระมัดระวัง ไม่สับสน”

ที่มาภาพ :https://nasional.kompas.com/read/2019/07/07/12462621/presiden-jokowi-almarhum-sutopo-dedikasikan-hidupnya-untuk-orang-banyak

ประธานาธิบดีวิโดโด กล่าวอีกว่า “อย่างที่ครั้งหนึ่งเขาเองเคยกล่าวไว้ว่า ชีวิตไม่ได้อยู่ที่ว่า มีอายุยืนยาวหรือสั้น แต่อยู่ที่ว่าเราช่วยเหลือคนอื่นมากน้อยเพียงไร และเขา (สุโตโป) ได้นำประโยคนี้มาใช้กับชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี”

ชีวิตของสุโตโปเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนที่ใช้ชีวิตในโลกนี้ อย่างมีคุณค่า ในความหมายของนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่อย่างเบอร์แทรนด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell, 1872-1970) ที่มองความสำเร็จของชีวิตว่า คือการสลายอัตตาของตัวเรา เพื่อไปสู่สิ่งที่ใหญ่ขึ้น เบอร์แทรนด์ รัสเซลล์เคยเขียนไว้ว่า

“ทำให้ความสนใจของคุณค่อยๆกว้างมากขึ้น และที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเราเอง จนกระทั้ง กำแพงของอัตตาค่อยๆหายไปจากตัวคุณ และชีวิตคุณได้ไปรวมกับชีวิตทางสากลมากขึ้น การดำรงชีวิตของเราแต่ละคน ควรจะเหมือนกับแม่น้ำ จุดเริ่มต้นเป็นสายน้ำเล็กๆ ไหลแคบๆแทรกไปตามตลิ่ง แล้วไหลผ่านโขดหิน และไหลอยู่เหนือน้ำตก หลังจากนั้น แม่น้ำก็ค่อยๆกว้างใหญ่ขึ้น ตลิ่งอยู่ห่างออกไปมากขึ้น ลำน้ำไหลนิ่งสงบมากขึ้น จนในที่สุด โดยไม่มีสิ่งขวางกั้นใดๆที่มองเห็น กระแสน้ำก็ไหลไปบรรจบรวมกับทะเล และสลายการเป็นตัวตน โดยไม่เจ็บปวดใดๆ”

เอกสารประกอบ

Sutopo Purwo Nugroho, Indonesia Disaster Spokesman, Die at 49, The New York Times, July 7, 2019.
He Helped Indonesia Through a “Year of Disaster,” While Facing His Own, The New York Times, December 28, 2018.
Indonesia’s much-loved disaster agency chief dies of cancer, July 7, 2019, theguardian.com
Indonesia’s love affair with its dying natural disaster spokesman, November 17, 2018, theguardian.com