ThaiPublica > เกาะกระแส > 10 ปี สัมปทานดิวตี้ฟรี “สนามบินสุวรรณภูมิ-หาดใหญ่-ภูเก็ต-เชียงใหม่” ทอท.จัดเก็บได้แค่ 30,760 ล้าน แต่ 10 ปีข้างหน้าเกือบ 2 แสนล้าน!!!

10 ปี สัมปทานดิวตี้ฟรี “สนามบินสุวรรณภูมิ-หาดใหญ่-ภูเก็ต-เชียงใหม่” ทอท.จัดเก็บได้แค่ 30,760 ล้าน แต่ 10 ปีข้างหน้าเกือบ 2 แสนล้าน!!!

15 กรกฎาคม 2019


หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “บอร์ด ทอท.” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ได้มีมติอนุมัติผลการคัดเลือกผู้ประกอบการ 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ, สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินภูมิภาค (เชียงใหม่, ภูเก็ต และหาดใหญ่) และสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผลปรากฏว่ากลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์เป็นผู้ชนะทั้ง 3 สัญญา

แต่ ทอท.ไม่ประกาศว่าผู้ประมูลแต่ละรายเสนอรายได้ให้แก่รัฐในราคาเท่าไหร่ บอกแต่คะแนนรวม ซึ่งเป็นที่กังขามาจนถึงขณะนี้ รวมทั้งในวันที่แจ้งว่าใครเป็นผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดหรือผู้ที่ชนะการประมูล กลับให้ผู้ประมูลอีก 2 รายออกจากห้อง โดยแจ้งว่าจะขอเจรจาราคากับกลุ่มคิงเพาเวอร์

  • ผู้ร่วมประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ถามหาความโปร่งใส ทอท.ไม่ประกาศ “ราคาผลตอบแทนให้รัฐ-คะแนนเทคนิค” ของผู้ยื่นซองทุกราย
  • อย่างไรก็ตามผลศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรีเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เสนอจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้กับ ทอท. 15,419 ล้านบาทต่อปี ชนะคู่แข่งดิวตี้ฟรีระดับโลก อย่างกลุ่มกิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี เสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีละ 8,516 ล้านบาท ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้าโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน จับมือดูฟรี ดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ของโลก เสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีละ 7,255 ล้านบาท

    ส่วนสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่นั้น บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เสนอผลประโยชน์ตอนแทนขั้นต่ำ 2,331 ล้านบาท ชนะกลุ่มกิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพฯ ที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำแก่ ทอท.ปีละ 2,012 ล้านบาท และกลุ่มกิจการร่วมค้าโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตันฯ เสนอผลประโยชน์ตอบแทน 2,108 ล้านบาท

  • ทอท.ประกาศผลคะแนน-ซองราคา “คิงเพาเวอร์” จ่ายค่าตอบแทนปีแรก 2.35 หมื่นล้าน
  • รวมสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีทั้ง 2 ฉบับ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท.ขั้นต่ำ 17,750 ล้านบาท/ปี หลังจากนั้นก็จะมีการปรับค่าผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีตามจำนวนผู้โดยสารและอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ปัจจุบัน ทอท.มีรายได้จากค่าสัมปทานดิวตี้ฟรีปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ปี 2564 กระโดดขึ้นไปเป็น 17,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 2-3 เท่าตัว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ข้อเสนอของบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ นั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

    นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

    ต่อประเด็นดังกล่าวนี้ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้ชี้แจงผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า การจัดเก็บผลประโยชน์ตอนแทนของ ทอท.มี 2 วิธี คือ จัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ 20% ของรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากร นำมาเปรียบกับวิธีการจัดเก็บตามผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้ชนะการประมูลยื่นซองเสนอราคาเข้ามา วิธีไหน ทอท.ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าให้ใช้วิธีนั้น สำหรับในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งยังไม่หมดปี คาดว่าบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ จะต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท.ประมาณ 5,200 ล้านบาท แต่ในการประมูลครั้งนี้ บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ยื่นข้อเสนอจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้ ทอท.ปีละ 15,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดนั้น

    นายนิตินัยกล่าวต่อว่า รายละเอียดทางด้านเทคนิคคงเปิดเผยได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นแผนธุรกิจของคิงเพาเวอร์ฯ ซึ่งอาจนำไปใช้ในการประมูลครั้งอื่น จึงเปิดเผยได้เฉพาะภาพรวม กล่าวคือ การประมูลครั้งนี้ บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ให้น้ำหนักกับหลุมจอดเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น 28 หลุม ขณะที่ผู้ประมูลรายอื่นใช้อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร ตามองค์กรกลางระหว่างประเทศ ซึ่งมีอัตราการเติบโตตามปกติ การจัดทำประมาณการรายได้จากยอดขาย จึงไม่ได้นำเรื่องการขยายพื้นที่ของสนามบิน และ satellite terminal มาพิจารณา ซึ่งเป็นข้อมูลที่รับทราบกันเป็นการทั่วไป แต่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ มองเรื่องการขยายของพื้นที่ในสนามบิน ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ยังมีแผนการตลาด โปรโมทให้ผู้โดยสารเพิ่มยอดการใช้จ่ายต่อหัว ส่วนรายละเอียดของแผนการตลาดเป็นอย่างไรต้องไปถามคิงเพาเวอร์ฯ

    ถามว่าที่ผ่านมา บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท.น้อยเกินไปหรือไม่ เมื่อมีดิวตี้ฟรีระดับโลกลงแข่งขันด้วยจึงเสนอผลประโยชน์ตอนแทนให้ ทอท.เพิ่มขึ้น นายนิตินัยชี้แจงว่า ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น การจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนมี 2 วิธี คือเก็บตามอัตรากับเก็บตามที่ผู้ชนะประมูลเสนอจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ หรือ “minimum guarantee” วิธีไหน ทอท.ได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าใช้วิธีนั้น หลังจากคิงเพาเวอร์ฯ ชนะการประมูลรอบที่แล้ว คำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ 15% ยอดขายสินค้าปลอดอากรแล้วได้ต่ำกว่า minimum guarantee ทำให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำนานถึง 7 ปีจึงจะเริ่มมีกำไร ประเด็นที่ 2 ขอชี้แจงว่าการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีในปี 2562 ดิวตี้ฟรีระดับโลก เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท.ต่ำกว่าบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอ 1 เท่าตัวนั้น ใกล้เคียงกับค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่คิงเพาเวอร์ฯ เคยจ่ายให้กับ ทอท.เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งในอดีตมีจำนวนผู้โดยสารไม่มากนัก แต่ปัจจุบันและในอนาคตนั้นผู้โดยสารมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดิวตี้ฟรีระดับโลกมองว่า 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท.สูงมากแล้ว การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีครั้งนี้จึงไม่กล้าเสนอราคาสูงกว่า

    ส่วนการประมูลสัมปทานที่สนามบินภูมิภาค ผู้ประมูลยื่นซองเสนอราคาต่างกันประมาณ 10% เนื่องจากสนามบินภูมิภาคไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ ทั้งตัวอาคาร รันเวย์ หลุมจอดเครื่องบินยังคงเหมือนเดิม การให้คะแนนโดยรวมจึงแตกต่างกันไม่มากนัก แพ้-ชนะแตกต่างกันตรงที่แผนการตลาด

    ถามเรื่องการติดตั้งระบบตรวจวัดยอดขายแบบ real-time หรือ point of sale (POS) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนนั้น ปัจจุบันมีความคืบหน้าประการใด นายนิตินัยกล่าวว่า “เป็นคำถามที่ถามกันเป็นประจำ ทั้งสัญญาเก่าและสัญญาใหม่ กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องติดตั้งระบบ POS หรือไม่ หากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ตนไม่แน่ใจว่ามีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ real-time หรือไม่ เท่าที่ทราบ ทอท.มีการติดตั้งระบบ POS มาตั้งแต่เปิดสนามบินแล้ว แต่ไม่ real-time ทุกๆ เย็นก็จะมีการจัดทำรายงานส่งให้ ทอท.เป็นแบบวันต่อวัน ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ส่งให้กรมสรรพากร แต่เพิ่งจะมีการปรับปรุงให้เป็นระบบ real-time หลังจากมีเทคโนโลยีประเภทนี้เข้ามา ตอนนี้เริ่มใช้แล้ว และในสัญญาสัมปทานใหม่ ก็กำหนดให้ต้องมีการติดตั้งระบบ POS แบบ real-time ด้วย”

    จากข้อมูลที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มอบให้สื่อมวลชนช่วงที่นายชาญชัยแถลงข่าวก่อนหน้านี้ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2550-2559) ทอท.มีรายได้จากค่าสัมปทาน หรือ ผลประโยชน์ตอบแทนจากค่าสัมปทานดิวตี้ฟรี ทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและภูมิภาค รวมทั้งสิ้นประมาณ 30,760 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 15.8% ของยอดขายสินค้าปลอดอากรประมาณ 194,775 ล้านบาท เฉพาะปี 2559 มีรายได้จากค่าสัมปทานดิวตี้ฟรี 4,965 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากรในปีนี้ หากนำมาเปรียบเทียบยอดผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปีที่ผู้ชนะประมูลต้องเริ่มจ่ายให้ ทอท. 17,750 ล้านบาท ในปี 2564 เป็นต้นไป แสดงว่าภายในช่วง 5 ปี นับจากปี 2559-2564 ยอดผลประโยชน์ตอบแทนต้องมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 29% ต่อปี

    หากใช้ตัวเลขประมาณการรายได้จากค่าสัมปทานดิวตี้ฟรีของ ทอท. เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าจะจัดเก็บได้ที่ 5,200 ล้านบาท ตามที่นายนิตินัยให้สัมภาษณ์ นำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอที่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปี 2564 (ตามสัญญาสัมปทานใหม่) ประมาณ 15,419 ล้านบาท กรณีนี้แสดงว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า (2562-2564) ทั้งผลประโยชน์ตอนแทนและยอดขายดิวตี้ฟรีต้องเติบโต 72% ต่อปี แต่ถ้าขยายตัวต่ำกว่านี้ ถือเป็นความเสี่ยง

    ประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไป หลังจากมีการขยายพื้นที่สนามบิน เพิ่มหลุมจอดเครื่องบินเสร็จเรียบร้อยแล้ว บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ จะสามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาด กระตุ้นยอดขายได้ตามเป้าหมาย เพื่อรักษา “สัดส่วนของรายได้” ให้มีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับยอดผลประโยชน์ตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร

    อย่างไรก็ตาม นายชายชัญ กลับมองอีกมุมหนึ่งว่า ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปีที่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอต่อ ทอท.ตามสัญญาใหม่ 17,750 ล้านบาทต่อปี อาจสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา ทอท.จัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายปีต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ อย่างไร

    ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เป็นผู้รับสัมปทานดิวตี้รายเดิม ทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและภูมิภาคย่อมทราบข้อมูลรายได้จากยอดขายของตนเองเป็นอย่างดี สามารถประมาณการรายได้จากยอดขายในอนาคตได้อย่างแม่นยำ จึงเสนอค่าผลประโยชน์ตอนแทนขั้นต่ำสูงกว่าผู้ประมูลเจ้าอื่น 1 เท่าตัว แต่ถ้ามาพิจารณาผลการจัดเก็บค่าสัมปทานดิวตี้ฟรีของ ทอท.ในปัจจุบัน มียอดอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับข้อเสนอใหม่ที่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้ ทอท. 17,750 ล้านบาทในอนาคต มีส่วนต่างกว่า 10,000 ล้านบาท จึงมีคำถามตามมาว่าการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอดีตมาจนถึงปัจจุบันนั้น ทอท.จัดเก็บถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

    ส่วนเรื่องความล่าช้าในการติดตั้งระบบตรวจวัดยอดซื้อ-ขายสินค้าปลอดอากรออนไลน์ แบบ real-time ที่เรียกว่า “POS” นายชาญชัยกล่าวว่า ช่วงที่ตนได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สปท. มาทำการศึกษาและตรวจสอบเรื่องนี้ พบว่าการบริหารสัมปทานของ ทอท.ในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่ดำเนินการตามสัญญาหลายเรื่อง เช่น เรื่องการติดตั้งระบบ POS ที่ล่าช้ามานานถึง 9 ปี ตามที่ตนเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนไปแล้วก่อนหน้านี้ จนกลายเป็นคดีความหลายคดีในชั้นศาล กรณีนี้ตนไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมา ทอท.จัดเก็บค่าสัมปทานถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ จึงขอให้ศาลออกหมายเรียกข้อมูลผลการจัดเก็บค่าสัมปทานดิวตี้ฟรี พร้อมยอดขายสินค้าปลอดอากรย้อนหลัง 10 ปี (2550-2559) จาก ทอท.มาตรวจสอบ หลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีแล้ว ทุกครั้งก็จะแถลงข่าวเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น พร้อมกับนำคำพิพากษาและพยานหลักฐานต่างๆ แจกให้สื่อมวลชนที่สนใจนำไปใช้ประกอบการนำเสนอข่าว

  • สตง.บี้ ทอท.เร่งเชื่อม POS เช็คยอดขาย “คิงเพาเวอร์” แบบเรียลไทม์ พบ 9 ปีไม่คืบหน้า แจงบัญชีรายรับต่ำกว่าข้อมูลกรมศุลฯ
  • ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษา ยกฟ้องคดี “คิงเพาเวอร์ฯ” กล่าวหา “ชาญชัย” หมิ่นประมาท