หลังจากศาลอุทธรณ์ แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษา “ยืน” ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น “ยกฟ้อง” คดีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ ทอท.” กับพวกรวม 18 คน ในข้อกล่าวหา ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีไม่เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ครบถ้วน ตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งกำหนดให้เก็บ 15% ของรายได้จากการขายสินค้าและบริการ แต่เก็บแค่ 3% ทำให้ ทอท.ขาดรายได้ 14,290 ล้านบาท จึงขอให้ศาลฯ ลงโทษผู้กระทำความผิด และนำเงินที่ยังจ่ายไม่ครบส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ตามที่ไทยพับลิก้าได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้
และจากการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา “ยืน” ตามศาลชั้นต้น “ยกฟ้อง” คดีนี้ เนื่องจากศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่านายชาญชัย “ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง” ทางสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงนำประเด็นดังกล่าวนี้ไปถามนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ทอท.คิดเป็นสัดส่วน 70% ของหุ้นทั้งหมดว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
นายอภิศักดิ์กล่าวว่า “ในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ทอท. ก็ได้มีการแต่งตั้งตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นผู้กำกับดูแล ทาง สคร.มีหน้าที่ไปบอกตัวแทนที่ส่งไปนั่งเป็นกรรมการ ทอท.ให้ทำอะไร และกำกับดูแล ผู้ถือหุ้นใหญ่ไปก้าวก่ายเขาได้อย่างไร หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษา ยกฟ้อง ขณะนี้ผมก็ได้สั่งการไปที่ สคร.แล้ว เพื่อแจ้งให้ตัวแทนกระทรวงการคลังที่ไปนั่งเป็นกรรมการ ให้ไปดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว”
อนึ่ง คดีนี้ ศาลชั้นต้นได้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนคู่ความบรรยายไว้ในคำพิพากษา โดยระบุว่า
คำบรรยาย “ข้อเท็จจริง” ในคำพิพากษา
ที่มาของประเด็นนี้ เกิดขึ้นภายหลังบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI) เป็นผู้ชนะการประมูลสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กลุ่ม คิง เพาเวอร์ มีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจครั้งใหญ่ โดยให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (KPS) เข้าทำสัญญาสัมปทานพื้นที่ดังกล่าวกับทอท.แทน KPI
ส่วน KPI ไปยื่นคำร้องต่อกรมศุลกากร เพื่อประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง (dawntown duty shop) ช่วงปลายปี 2549 KPI ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากร ให้เปิดกิจการดังกล่าวที่ซอยรางน้ำและพัทยา มีจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรตั้งอยู่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สัมปทานเชิงพาณิชย์ของ KPS โดย KPI ได้ว่าจ้างบริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (KPDC) เป็นตัวแทนนำสินค้าปลอดอากรมาส่งที่จุดส่งมอบสินค้า (Pick up Counter) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีรายได้จากค่าบริการขนส่งสินค้าปลอดอากรจาก KPI ประมาณ 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่มาส่งมอบ
ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ KPDC เข้าทำสัญญาเช่าพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรกับ KPS ซึ่งตามสัญญา ฯ KPS จะได้รับค่าส่วนแบ่งรายได้จาก KPDC ประมาณ 20% ของรายได้จากค่าบริการขนส่งสินค้าทุกเดือน โดย KPS ได้จัดเก็บและนำส่งค่าผลประโยชน์ตอบแทน จากการจำหหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมืองของ KPI ให้กับทอท.ในอัตรา 15% ของรายได้จากค่าขนส่งสินค้า 3% คิดเป็นเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ทอท.ได้รับจริง 0.45% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่มาส่งมอบเท่านั้น
วันที่ 17 พฤษภาคม 2555 บอร์ด ทอท.ที่มีพล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เป็นประธานฯ ได้มีมติแต่งตั้งนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาสัมปทานของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กรรมการประกอบด้วย พล.ต.ต.พีรพันธ์ุ เปรมภูติ,นายสมชาย พูลสวัสดิ์,นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ,นายธานินทร์ อังสุวรังษี,น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลางและกรรมการ ทอท.),กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.,นายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะ,พ.ต.อ.ดุษฏี อารยวุฒิ,พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ,ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นเลขานุการ ส่วนพล.อ.อ.สุเมธ และเรืออากาศโท นรหัช พลอยใหญ่ นั่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการตรวจสอบ ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบได้มีการแต่งตั้งนายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงาน ฯ ตรวจสอบพบการประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าปลอดอากรในพื้นที่สัมปทานเชิงพาณิชย์ของ KPS อาจไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ข้อ 1.4 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “ไม่รวมถึงการดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากร” โดยคณะทำงานมีความเห็นว่า การที่ KPS ให้ KPDC เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร อาจถือได้ว่า KPS ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา คณะทำงาน ฯ จึงส่งสรุปผลการตรวจสอบส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ฯ
วันที่ 29 มิถุนายน 2555 ทอท.จึงทำหนังสือบอกกล่าว KPS ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา และยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่จุดส่งมอบสินค้ากับ KPDC ภายใน 90 วัน
วันที่ 7 กันยายน 2555 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ทำหนังสือถึง ทอท. ขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว พร้อมยื่นข้อเสนอ 2 ทางเลือก คือ 1. ขอให้ KPS และ KPDC เปิดให้บริการต่อไป โดย KPS ยอมให้ผู้ประกอบการรายอื่น เข้ามาประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าปลอดอากรได้ด้วย และ 2. กรณีทอท.ประสงค์จะให้ KPI มาทำสัญญาส่งมอบสินค้าปลอดอากร โดยตรงกับทอท. ควรเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนไม่เกิน 3%
วันที่ 4 ตุลาคม 2555 ทอท.ทำหนังสือแจ้ง KPS อนุญาตให้ทำธุรกิจส่งมอบสินค้าได้เป็นการชั่วคราว ระหว่างนี้ให้ KPS จ่ายค่าผลประโยชน์จอบแทนแก่ทอท. 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2555 เป็นต้นไป จนกว่าทอท.จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
วันที่ 18 ตุลาคม 2555 KPS ทำหนังหนังสือถึง ทอท. ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 ทอท.ทำหนังสือแจ้ง KPS โดยขอให้ KPI มาทำสัญญาบริการส่งมอบสินค้า ฯ กับทอท.โดยตรง และให้ KPS ยกเลิกสัญญากับ KPDC โดยทอท.จะเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากร ปรากฎว่ากลุ่ม บริษัทคิง เพาเวอร์ ไม่ตอบรับเงื่อนไขดังกล่าว วันที่ 9 เมษายน 2556 จึงทำหนังสือแจ้งทอท. ขอให้พิจารณามาตรการชั่วคราวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 เป็นมาตรการถาวร แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด
จนกระทั่งมาถึงช่วงที่นายประสงค์ พูนธเนศ (อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น และปลัดกระทรวงการคลังในปัจจุบัน) เป็นประธานคณะกรรมการทอท. ที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 10/2557 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ได้มีมติแต่งตั้งนายนิรันดร์ ธีรนาทสิน เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารายได้ของทอท.
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ มีมติให้ทอท.เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจาก KPS ในอัตรา 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดการที่มาส่งมอบ ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังวินิจฉัยว่าการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรของ KPDC ไม่ถือเป็นการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร แต่เป็นการให้บริการขนส่งสินค้าถือเป็นกิจกรรมที่อยู่ภายในสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ KPS
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 นายนิรันดร์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้ลงนามในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของทอท.ให้ KPS รับทราบ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ทำหนังสือตอบรับเงื่อนไขของทอท.
การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณารายได้ครั้งนั้น จึงเป็นผลทำให้ ทอท.เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรในอัตรา 3% ของมูลค่าสินค้าที่มาส่งมอบ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 มาจนถึงปัจจจุบัน
อย่างไรก็ตามในคดีนี้ทนายฝ่ายจำเลยได้หยิบยกประเด็น “โจทก์ หรือนายชาญชัย เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่” มาต่อสู้ในชั้นศาล ภายหลังศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นนี้แล้ว พิพากษาว่านายชาญชัยไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้องคดีนี้
ต่อมา นายชาญชัยได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คดี โดยศาลอุทธรณ์ แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ รับคำร้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 ใช้เวลาพิจารณาไต่สวนกว่า 5 เดือน วันที่ 19 มิถุนายน 2562 เวลา 10.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อท.4/2562, คดีหมายเลขแดงที่ 7469/2562 มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัย คือ โจทก์ (นายชาญชัย) เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่
เริ่มจากประเด็นที่นายชาญชัยมาขอให้ศาลลงโทษบอร์ด ทอท. ในข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หรือการกระทำความผิดต่อรัฐ กรณีนี้รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย เอกชนคนใดคนหนึ่งย่อมไม่ใช่ผู้เสียหาย ยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำให้โจทก์เสียหายโดยตรง แต่กรณีนี้ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของบอร์ด ทอท.ไม่กระทำต่อโจทก์โดยตรง ประกอบกับนายชาญชัยเข้ามาซื้อหุ้น ทอท.เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ภายหลังจากที่มีการกล่าวหาจำเลยทั้ง 18 ราย ร่วมกระทำความผิด ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์แต่ประการใด เพราะยังถือหุ้นจำนวนเท่าเดิม ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นของโจทก์แต่ประการใด
ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยว่า “โจทก์ (นายชาญชัย) ไม่เป็นผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ไม่มีอำนาจฟ้องบอร์ด ทอท.และพวก รวม 18 ราย”
ส่วนข้อกล่าวหา บอร์ด ทอท.และพวกรวม 18 ราย กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7, 281/2, 311, 314 และ 315 รวมทั้งกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 215 ฐานเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย
ประเด็นหลังนี้ศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยว่า โจทก์ (นายชาญชัย) ไม่เป็นผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 รวมทั้งผลจากการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ ก็ไม่ปรากฏว่าบอร์ด ทอท.กระทำการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่ทอท. เพราะการบริหารงานของบอร์ด ทอท.มิได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าบอร์ด ทอท.กระทำการโดยทุจริตเสมอไป กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ประการอื่น เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีของโจทก์
ศาลอุทธรณ์ แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
อ่านซีรีส์เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทยเจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย