ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ชาญชัย” เตรียมจี้ “บิ๊กตู่ – คลัง – คมนาคม” ทวง 14,290 ล้านจากคิงเพาเวอร์ คืนแผ่นดินใน 60 วัน หลังศาลคดีทุจริตฯยกฟ้อง

“ชาญชัย” เตรียมจี้ “บิ๊กตู่ – คลัง – คมนาคม” ทวง 14,290 ล้านจากคิงเพาเวอร์ คืนแผ่นดินใน 60 วัน หลังศาลคดีทุจริตฯยกฟ้อง

8 ตุลาคม 2018


นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ (ใส่สูท)

ตามที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ยกฟ้องคดี นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตส.ส.นครนายก และรองประธานอนุกรรมาธิการ ด้านกลไกการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เป็นโจทก์ ฟ้องคณะกรรมการบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และพวกรวม 18 ราย เป็นจำเลย ในข้อกล่าวหา ละเว้นปฏิบัติ ไม่เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ครบถ้วน ตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้รัฐโดยทอท.เสียหาย 14,290 ล้านบาท

โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีความเห็นว่า หากมีการกระทำความผิดตามนายชาญชัยกล่าวอ้าง ก็อาจถือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนนายชาญชัยเข้าถือหุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายชาญชัยจึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง และถึงแม้นายชาญชัยจะเข้าถือหุ้นแล้ว และทอท.ยังคงเสียประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว ก็ถือเป็นเพียงผลของการกระทำผิด ไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นใหม่ และไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง ศาลจึงพิพากษาว่านายชาญชัย ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

  • ศาลคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง “บอร์ดทอท.- คิง เพาเวอร์” ระบุ “ชาญชัย” ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เตรียมยื่นอุทธรณ์ – ป.ป.ช.สานต่อ
  • นายชาญชัย เปิดเผยว่า หลังจากได้รับคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯฉบับสมบูรณ์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 โดยในคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้เขียน หรือ บรรยายรายละเอียดข้อเท็จจริงเอาไว้ในคำพิพากษามากพอสมควร แต่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งนี้ เนื่องจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีความเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวหานั้น เกิดขึ้น ก่อนที่ตนเข้าถือหุ้นทอท. กล่าวคือ คณะกรรมการพิจารณารายได้มีมติเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ให้ทอท.เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน 3% ของรายได้จากการขายสินค้าปลอดอากรก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะที่สัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระบุให้เก็บ 15% ทำให้ทอท.ได้รับความเสียหาย 14,290 ล้านบาท หากมีการกระทำผิด หรือ เกิดความเสียหายตามที่ตนกล่าวหา ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนตนเข้าถือหุ้นทอท.เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558

    ดังนั้น ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จึงวินิจฉัยว่า “ตนไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ถึงแม้ตนเข้าถือหุ้นทอท.แล้ว และทอท.ยังคงเสียประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว ก็ถือเป็นเพียงผลของการกระทำผิด ไม่ใช่เป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นใหม่ และไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องจนถึงวันที่บอร์ดทอท.รับทราบมติของคณะกรรมการพิจารณารายได้ของทอท.เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 จึงพิพากษาว่าตนไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

    ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษา ยกฟ้องคดีนี้แล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายชาญชัย กล่าวว่า ประการแรก คงต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฯ ทั้งนี้ เพื่อยืนยันว่าตนยังคงได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในฐานะผู้ถือหุ้นและประชาชนคนไทย

    ประการที่ 2 หลังศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาว่าไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขั้นตอนต่อไป ตนก็จะทำหนังสือร้องเรียน พร้อมแนบคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฉบับสมบูรณ์ 3-4 ชุด ส่งให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล พิจารณา โดยชุดแรกส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน และผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานรัฐ ใช้ประกอบการพิจารณา เรียกเงิน 14,290 ล้านบาท ส่งคืนแผ่นดิน ,ชุดที่ 2 ส่งถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้หุ้นทอท.ในสัดส่วน 70% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และชุดที่ 3 ส่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแลทอท.โดยตรง

    “หลังจากที่ผมส่งหนังสือร้องเรียนพร้อมคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ไปแล้ว ผมจะให้เวลา นายกรัฐมนตรี , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใน 60 วัน จากนั้นผมจะนำผลการดำเนินงานของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ทั้ง 3 ท่าน เขียนลงในคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯด้วย” นายชาญชัย กล่าวว่า

    นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ส่วนหนังสือร้องเรียนชุดที่ 4 นั้น ผมกำลังพิจารณาว่าควรจะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน หรือ หลังการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา กล่าวคือ หากยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าตนมีอำนาจฟ้อง ก็ไม่ต้องส่งป.ป.ช. แต่ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ต้องส่งคดีนี้ให้ป.ป.ช.รับไปดำเนินการต่อไป

    “อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอย้ำว่าคดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริต ยังไม่ได้ตัดสินในประเด็นความเสียหาย 14,290 ล้านบาทว่ามีมูลความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ผมก็ต้องขอขอบคุณศาลอาญาคดีทุจริตฯที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ผมในฐานะอดีตสส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตคณะอนุกรรมาธิการ ด้านกลไกการปราบปรามการทุจริตฯ สปท. ได้ทำหน้าที่นี้จนสุดความสามารถ และได้นำเรื่องนี้ส่งฟ้องศาลด้วยตนเอง จนกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ ขอยืนยันว่าจะทำคดีนี้ต่อไป ไม่หยุด จนกว่าจะทวงเงิน 14,290 ล้านบาท คืนแผ่นดิน และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ซึ่งผมก็เชื่อมั่นในพยานหลักฐานที่ผมนำสืบในชั้นไต่สวน ถือว่ามีน้ำหนักพอสมควร” นายชาญชัย กล่าว

    ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้นำประเด็นที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากนายชาญชัยไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง มาสอบถามนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และในฐานะประธานบอร์ดทอท.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายประสงค์ ตอบสั้นๆว่า “ผมไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯพิพากษาอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น”