ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ดีเดย์ 31 พ.ค.นี้ ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรี รอบตัดเชือก จับตากรรมการ AOT เลือกใคร “คิง เพาเวอร์ – ดูฟรี – ล็อตเต้” ?

ดีเดย์ 31 พ.ค.นี้ ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรี รอบตัดเชือก จับตากรรมการ AOT เลือกใคร “คิง เพาเวอร์ – ดูฟรี – ล็อตเต้” ?

30 พฤษภาคม 2019


ร้านค้าปลอดอากรในอาคารผู้โดยสารขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 วันก็จะทราบผลว่า ใครคือผู้ชนะการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ออกประกาศเชิญชวน มีเอกชนมาซื้อซองประกวดราคาทั้งหมด 5 ราย ปรากฏว่ามายื่นซองรอบสุดท้าย 3 ราย คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อีก 2 ราย คือ บริษัท ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กับ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ถอดใจไม่มายื่นซองและนำเสนอผลงานเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา จึงเหลือแค่ 3 รายที่เข้าแข่งขัน โดยนัดเปิดซองราคาพร้อมประกาศผู้ชนะประมูลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ ทอท. ชั้น 7 สำนักงานใหญ่ ทอท.

ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรีครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ตรงที่รอบนี้มีบริษัทดิวตี้ฟรียักษ์ใหญ่และเป็นอันดับหนึ่งของโลกลงแข่งขันด้วย นั่นคือ “กลุ่มกิจการร่วมค้า ดูฟรี รอยัล ออคิด” (Dufry ROH) ที่มีโรงแรมรอยัล ออคิดฯ เป็นแกนนำ พร้อมพันธมิตรทางธุรกิจอย่างบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย และ เวิลด์ ดิวตี้ฟรี กรุ๊ป (WDFG UK) บริษัทในเครือดูฟรี (Dufry) ซึ่งเป็นบริษัทดิวตี้ฟรียักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจด้านนี้มานานกว่า 60 ปี มีเครือข่ายร้านค้าปลอดอากรกว่า 2,200 แห่ง กระจายอยู่ตามสนามบินต่างๆ 292 แห่ง ใน 64 ประเทศทั่วโลก

นี่คือกลุ่มที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ…

ร้านค้าปลอดอากรที่สนามบินนานาชาติ ลอนดอนฮีทโธรว์ ประเทศอังกฤษ

ปี 2560 “ดูฟรี กรุ๊ป” มีรายได้จากการขายสินค้าปลอดอากร 8,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 267,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย มีรายได้ 35,600 ล้านบาท ส่วนบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีรายได้จากการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมือง 56,000 ล้านบาท เทียบขนาดกันแล้ว ดูฟรี กรุ๊ป มีขนาดใหญ่กว่าคิง เพาเวอร์ เกือบ 3 เท่า

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธุรกิจดิวตี้ฟรี กล่าวว่า ก่อนนี้กลุ่มคิง เพาเวอร์ เคยทาบทามดูฟรี กรุ๊ป มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ เนื่องจากดูฟรี กรุ๊ป เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การทำธุรกิจ เน้นความโปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามการประมูลครั้งนี้ ด้วยเจตนารมณ์ของทอท.โดยนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เคยกล่าวไว้ว่า“ความเชื่อของ ทอท. ที่เชื่อว่าต้องการหาคนที่แข็งแรงไปแข่งบนเวทีโลก เราจะเลือกแชมเปียนครับ เราจะเลือกคนเก่งที่สุดไปแข่งขันโอลิมปิก”

  • คำต่อคำ! “นิตินัย” (ตอน1) : ติวสื่อ จั่วหัวข่าว เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว-ระบุหลังเปิดเสรี pick-up counter เวลาผูกขาดดิวตี้ฟรีหมดลงแล้วจริงๆ
  • วันนี้นักลงทุนที่เป็นอันดับหนึ่งของธุรกิจดิวตี้ฟรีโลกลงมาแข่งขันเองกับอันดับหนึ่งของประเทศไทย(คิงเพาเวอร์) จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และจับตามองที่คณะกรรมการคัดเลือก รวมทั้งคณะกรรมการทอท.ว่าจะชี้ขาดอย่างไร

    เงื่อนไขการตัดสินว่าจะเลือกใคร มติบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 5/2562 เห็นชอบให้ ทอท. คัดเลือกผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี โดยกำหนดแนวทางการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการจัดหาสินค้าแบนด์เนมที่ดีมีคุณภาพสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและผู้ถือหุ้นของ ทอท. จึงกำหนดแนวทางในการคัดเลือก โดยให้น้ำหนักคะแนนด้านเทคนิค 80% คะแนนเสนอผลตอบแทนแก่ ทอท. และผู้ถือหุ้น 20%

    นอกจากนี้เงื่อนไขสำคัญของการประมูลครั้งนี้ระบุว่า ผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐ ไม่ใช่ผู้ที่จะชนะเสมอไป เพราะคะแนนที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล จะให้คะแนนทางเทคนิค 80 % ส่วนคะแนนด้านการเงิน(ผลตอบแทนให้รัฐ)แค่ 20 % เท่านั้น และการชี้ขาดในการตัดสินว่าจะเลือกใคร คณะกรรมการคัดเลือก ไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจเอง จะต้องนำเสนอเรื่องนี้ให้คณะกรรมการทอท.เป็นผู้พิจารณาชี้ขาดเท่านั้น

    “คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรีอันดับหนึ่งของไทย”

    สำหรับธุรกิจดิวตี้ฟรีอันดับหนึ่งของไทยนั้น ก่อนหน้านี้ “ไทยพับลิก้า” เคยนำเสนอข้อมูลของกลุ่มธุรกิจคิงเพาเวอร์ ภายใต้การนำของ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว “วิชัย” เริ่มก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจดิวตี้ฟรีครั้งแรก จากการตั้งบริษัท ดาวน์ทาวน์ ดี.เอฟ.เอส (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2532 เข้าร่วมทุนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองเป็นแห่งแรกของเมืองไทยที่อาคารมหาทุนพลาซ่า ถนนเพลินจิต

    จากนั้น วิชัย ศรีวัฒนประภา เริ่มขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจดิวตี้ฟรีอย่างเต็มตัว โดยเข้ารับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลออดอากรในท่าอากาศยานดอนเมือง รวมทั้งได้รับอนุญาตจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และได้รับสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน

    29 ปีที่ผ่านมา กิจการ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว นิตยสาร Forbes ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561 จัดอันดับให้นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ติดอันดับที่ 5 ของมหาเศรษฐีเมืองไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 5.2 พันล้านเหรียญ (1.625 แสนล้านบาท) และจากการตรวจสอบข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2561 พบชื่อของนายวิชัย และครอบครัวศรีวัฒนประภา นั่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือ คิง เพาเวอร์ กรุ๊ป ประมาณ 17 แห่ง ได้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด, บริษัท วี แอนด์ เอ โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล เมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์, บริษัท คิง เพาเวอร์ คลิก จำกัด, บริษัท น้องละมุน จำกัด, บริษัท ชอปสปอท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด, บริษัท เอมธรรมชาติ จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ เอวิเอชั่น จำกัด, บริษัท สยาม โปโล ปาร์ค จำกัด, บริษัท บ้านพราวดาว จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด

    จากข้อมูลงบการเงินของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันสิ้นปี 2560 พบว่า บริษัททั้ง 17 แห่งของครอบครัวศรีวัฒนประภา มีสินทรัพย์รวม 88,941.27 ล้านบาท หนี้สินรวม 70,745.09 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 18,196.24 ล้านบาท ผลประกอบการปี 2560 มีรายได้รวม 108,627.06 ล้านบาท รายจ่ายรวม (ค่าดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้) 97,843.51 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 11,545.25 ล้านบาท

  • “วิชัย” คิงเพาเวอร์ คอนเนกชันลึกล้ำ จากราชวงศ์อังกฤษ ถึงนักการเมืองทุกขั้วที่คลาคล่ำในโรงแรมพูลแมน จากแนวร่วมต้านรัฐประหาร เป็นแขกวีไอพีของนายพล
  • กลุ่มธุรกิจ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” 17 บริษัท สินทรัพย์รวม 8.9 หมื่นล้าน รายได้ 1.1 แสนล้าน/ปี กำไรกว่าหมื่นล้าน
  • อันดับหนึ่งดิวตี้ฟรีโลก เวิลด์ ดิวตี้ฟรี กรุ๊ป “WDFG UK”

    จากเจตนารมณ์ของ ทอท.ที่ต้องการ “เลือกคนเก่งที่สุด” ทางกลุ่มผู้เข้าประมูล “โรงแรมรอยัล ออคิด” จึงชักชวนกลุ่ม เวิลด์ ดิวตี้ฟรี กรุ๊ป (WDFG UK) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ มี “ดูฟรี กรุ๊ป” ถือหุ้น 100% ร่วมเป็นพันธมิตรในฐานะผู้มีประสบการณ์ มีความเป็นมืออาชีพ และความเชี่ยวชาญในการบริหารร้านค้าปลอดอากรที่สนามบินนานาชาติ ลอนดอนฮีทโธรว์ ประเทศอังกฤษ จัดตั้ง “กลุ่มกิจการร่วมค้า ดูฟรี รอยัล ออคิด” เข้าร่วมประมูลครั้งนี้

    จากการรวบรวมข้อมูลดิวตี้ฟรีอันดับหนึ่งของโลกอย่าง “WDFG UK” พบว่าเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร โดย “WDFG UK” เป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นโดย “ดูฟรี” 100% ปัจจุบัน”ดูฟรี” บริหารจัดการร้านค้าปลอดอากร และร้านค้าปลีกที่อยู่ในเมือง 2,200 แห่ง ใน 292 สนามบิน 64 ประเทศทั่วโลก ซึ่งบริหารจัดการธุรกิจดิวตี้ฟรีมา 60 ปี มีนวัตกรรม ระบบจัดการที่ได้มาตรฐานระดับโลก และความเชี่ยวชาญระดับโลกมาปรับใช้กับร้านค้าปลอดอากรทุกแห่ง โดยมีการรวบรวมบิ๊กดาต้า พฤติกรรมของลูกค้าทั้งหมด ลูกค้าประเทศไหนต้องการอะไร ในแต่ละวันที่คนต่างชาติมาจับจ่ายใช้สอยกันเป็นล้านๆทรานแซคชั่น สามารถที่จะรู้ได้ว่าคนชาตินี้ชอบซื้ออะไร คนชาตินี้อยากได้อะไร ราคาแค่ไหนเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวกลุ่มไหน โดยสิ่งเหล่านี้เอามาช่วยในการวางแผน บริหารจัดการในการซื้อสินค้าปลอดอากรต่างๆ และจัดความหลากหลายของสินค้า ความหลากหลายของแบรนด์ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งหมดในแต่ละสนามบิน

    นอกเหนือจากนี้ ดูฟรีมีพันธมิตรคู่ค้า ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมกว่า 1,000 ยี่ห้อ แต่ละปีมีการสั่งซื้อสินค้าลอตใหญ่ๆ เป็นจำนวนมาก จึงสามารถร้องขอให้ซัพพลายเออร์ผลิตสินค้า exclusive เพื่อนำวางขายเฉพาะในสนามบินบางแห่งที่ดูฟรีกำหนดได้อีกด้วย รวมทั้งยังมีการจัดทำบัตร Red Card By Dufry ให้กับสมาชิกใช้สะสมแต้ม และเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า ผ่านสาขากว่า 2,200 แห่งทั่วโลก

    ซัพพลายเออร์ที่เป็นพันธมิตรของ Dufry Group
    คริสเตียโน โรนัลโด เปิดตัวน้ำหอม วางจำหน่ายเฉพาะที่สนามบินมาดริด ประเทศสเปน

    นอกจากนี้ กลุ่มดูฟรี มีระบบการจัดการยอดขายแบบเรียลไทม์ หรือ ที่เรียกว่า “POS” แบบใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินค้าคงคลัง สามารถตรวจสอบยอดขายได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง สินค้าชนิดไหนขายดี ขายไม่ดี แต่เป็นที่นิยมของประเทศอื่น ก็จะบริหารจัดการออกไปวางขายที่ประเทศอื่น

    ขณะเดียวกันมีศูนย์ในการพัฒนาบุคคลากร ซึ่งบุคลากรต้องพูดได้หลายภาษา การนำเสนอสินค้าด้วยเครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสม ทันสมัย รวมถึงกลยุทธ์การสื่อสารและอื่นๆอีกมากมาย

    “ดูฟรี” บริหารจัดการร้านค้าปลอดอากร และร้านค้าปลีกที่อยู่ในเมือง 2,200 แห่ง ใน 292 สนามบิน 64 ประเทศทั่วโลก

    บัตรสมาชิก Red Card by Dufry

    อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวใกล้ชิดกับกลุ่ม “โรงแรมรอยัล ออคิด” ให้ความเห็นว่า “กลุ่มนี้เห็นเทรนของนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย มีจำนวนเยอะมาก และก็มีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มอะไรได้อีกมากจึงเป็นที่มาของการเข้ามาประมูลครั้งนี้ ซึ่งปัจจัยสำคัญก็คือว่าเขาไม่ได้มองว่า เข้ามาทำธุรกิจดิวตี้ฟรีเพื่อนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่มองว่ายังมีโอกาสให้กับคนไทย ยังมีโอกาสให้กับประเทศ ยังมีโอกาสให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น ยังมีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆให้กับคนในประเทศด้วย เพราะฉะนั้นการทำร้านค้าปลอดอากรมันไม่ได้ทำแค่ธุรกิจร้านค้าปลอดอากรแต่มันเป็นการมองไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆให้กับคนไทย มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นแค่จุดหนึ่งและมันจะเป็นพลังที่จะส่งต่อไปยังเศรษฐกิจโดยภาพรวมและภูมิภาคต่อไป และเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้สัมผัสถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่นี้จาก เวิลด์ ดิวตี้ฟรี กรุ๊ป ในเครือ ดูฟรี จะไม่ใช่เพียงเพื่อผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเท่านั้น แต่รวมไปถึงโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย สินค้าไทยผ่านเครือข่ายของ เวิลด์ ดิวตี้ฟรี กรุ๊ป ในเครือ ดูฟรี ที่ครอบคลุมไปทั่วทุกมุมโลก”

    ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี อันดับ2 ของโลก

    สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้าที่มีบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของนพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์” เป็นแกนนำ จับมือกับบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ประเทศเกาหลีใต้ บริษัทดิวตี้ฟรีขนาดใหญ่ที่มียอดขายเป็นอันดับ 2 ของโลก (จัดอันดับปี 2017 ตั้งเป้าขึ้นอันดับ 1 ปี 2020) เข้าร่วมประมูลงานนี้ด้วย

    ข้อมูลจาก สำนักข่าวยอนฮัป (Yonhap News Agency) ระบุว่า Hotel Lotte ผู้ประกอบการโรงแรมและดิวตี้ฟรีรายใหญ่ของเกาหลีใต้ มีกำไรจากการดำเนินงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2017 เนื่องจากได้รับผลทางการเมืองจากความขัดแย้งของเกาหลีใต้กับจีน (จากการที่เกาหลีอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาติดตั้งระบบจรวดสอยจรวดรุ่นใหม่ในชื่อ ระบบต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีปในชั้นบรรยากาศปลายทาง หรือ THAAD (Terminal High Altitude Area Defense) ในเกาหลีใต้ ช่วงต้นปี 2017) แต่ก็ยังมียอดขายในปี 2017 สูงถึง 5.45 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 147,150 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยอดขายของร้านค้าปลอดอากรในต่างประเทศ รวม 140 พันล้านวอน เพิ่มขึ้น 45% กำไรจากการดำเนินงาน 2.5 พันล้านวอน หรือประมาณ 2.4 ล้านดอลลาร์ ปี 2561 ยอดขายเพิ่มเป็น 7.5 ล้านล้านวอน หรือ ราว 6.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปีก่อน 25%

  • สำรวจค้าปลีกท่องเที่ยวดิวตี้ฟรีทั่วโลกชี้มีแต่ขยายตัว เอเชีย-แปซิฟิกตลาดใหญ่สุด เกาหลีให้ SME บริหารร้านขาเข้า จีนแยกประมูลรับสนามบินใหม่
  • ที่มาภาพ: https://locationkorea.com/duty-free-stores/

    ข้อมูลจากเว็บไซต์ moodiedavittreport ระบุว่า ขณะนี้สื่อเกาหลีกำลังจับตาว่า Hotel Lotte จะเสนอขายหุ้น IPO เมื่อไร แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าความสำเร็จของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีขึ้นอยู่กับการขยายร้านค้าในต่างประเทศของล็อตเต้ การรักษาระดับการเติบโตในเกาหลีใต้ ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจาก คับ ลี ซีอีโอ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรีในการให้สัมภาษณ์ Moodie Davitt Report เมื่อเร็วๆ นี้

    ล็อตเต้มีเป้าหมายเพิ่มยอดขายจากร้านค้าในต่างประเทศภายในปี 2020 อีก 1 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 850 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่เปิดร้านใหม่ JR/Duty Free stores ในออสเตรเลียและธุรกิจที่ขยายตัวอย่างมากในเวียดนาม โดยคาดว่าจะมียอดขาย 700-800 พันล้านวอน หรือ ราว 590-674 ล้านดอลลาร์จากร้านค้าในต่างประเทศในปีนี้

    ในงานเปิดร้านดิวตี้ฟรีแห่งใหม่ที่สนามบินบริสเบนในออสเตรเลีย คับ ลี ตอกย้ำเป้าหมายของบริษัทที่เป็นอันดับหนึ่งของโลกในธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยว หรือ travel retail และกล่าวว่า การก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศหมู่เกาะภายในปี 2023 ก็จะเป็นฐานให้บรรลุเป้าหมายที่ว่านี้

    โดยในต้นเดือนพฤษภาคม 2019 ล็อตเต้ดิวตี้ฟรียืนยันว่าได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับสายการบินกรุงเทพ เข้าร่วมประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ หาดใหญ่และภูเก็ต

    ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรีรอบนี้ ถ้ามองในแง่ของเทคนิคแล้ว มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ดิวตี้ฟรียักษ์ใหญ่ของโลก 2 รายจะมาพ่ายแพ้คะแนนทางด้านเทคนิค สุดท้ายคือน่าจะอยู่ที่ “การเคาะราคา” แต่ผู้ที่เสนอผลตอบแทนให้กับ ทอท. สูงสุดจะเป็นผู้ชนะหรือไม่ พรุ่งนี้ 31 พฤษภาคม 2562 น่าจะมีคำตอบ

    อ่านซีรีย์ เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย เพิ่มเติมที่นี่